วันพฤหัสบดี, 2 มกราคม 2568

หลวงพ่อเยื้อน ขันติพโล เขาศาลาอตุลฐานะจาโร อ.บัวเชด จ.สุรินทร์

ประวัติและปฏิปทา
พระพิศาลศาสนกิจ (หลวงพ่อเยื้อน ขนฺติพโล)

วัดเขาศาลาอตุลฐานะจาโร
บ้านจรัส ต.จรัส อ.บัวเชด จ.สุรินทร์

พระพิศาลศาสนกิจ (หลวงพ่อเยื้อน ขันติพโล) วัดเขาศาลาอตุลฐานะจาโร


หลวงพ่อเยื้อน ขนฺติพโล มีนามเดิมว่า นายเยื้อน หฤทัยถาวร เกิดเมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน พ.ศ.๒๔๙๕ ณ บ้านระไซร์ ต.นาดี อ.เมือง จ.สุรินทร์ โยมบิดาชื่อ นายมอญ หฤทัยถาวร และโยมมารดาชื่อ นางฮิต หฤทัยถาวร มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันทั้งหมด ๙ คน ท่านเป็นบุตรคนแรก

เมื่ออายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ ๑๖ เมษายน พ.ศ.๒๕๑๕ ณ พัทธสีมาวัดบูรพาราม ต.ในเมือง อ.เมือง จ.สุรินทร์ โดยมี พระราชวุฒาจารย์ (หลวงปู่ดูลย์ อตุโล) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระรัตนากรวิสุทธิ์ เจ้าคณะจังหวัดสุรินทร์ (ฝ่ายธรรมยุต) และเจ้าอาวาสวัดบูรพาราม เป็นพระอุปัชฌาย์, พระครูสถิตยสารคุณ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระครูวิมลสีลคุณ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับนามฉายาว่า “ขนฺติพโล” อันมีความหมายเป็นมงคลว่า “ผู้มีความอดทน

ท่านจบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ จากโรงเรียนบ้านระไซร์ ต.นาดี อ.เมือง จ.สุรินทร์

◎ ฝึกอบรมและศึกษาดูงาน
ศึกษาธรรมและปฏิบัติภาวนาตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๑๕ เริ่มในวันแรกที่บวช โดยศึกษากับหลวงปู่ดุลย์ ซึ่งท่านได้สอบจิตทำความสงบ สามารถปฏิบัติภาวนาได้รวดเร็วมีจิตสงบนิ่ง หลวงปู่ดุลย์จึงได้สนับสนุนให้ปฏิบัติธรรม โดยท่านกล่าวว่า “จิตเข้าสู่โลกุตรธรรมแล้ว ไม่ต้องเรียนหนังสือ ให้ปฏิบัติธรรมต่อไป” ต่อมาท่านได้ฝากให้เข้ารับการศึกษาอบรมข้อวัตรปฏิบัติกับ หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน วัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี ตั้งแต่เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๑๖ ได้อยู่ฝึกปฏิบัติกัมมัฏฐานกับองค์หลวงตามหาบัว จนถึงปี พ.ศ.๒๕๑๘

ในช่วงระหว่างปี พ.ศ.๒๕๑๘-๒๕๑๙ เขมรแดงได้เข้ายึดครองประเทศกัมพูชา ทหารเขมรแดงได้เข่นฆ่าประชาชนฝ่ายที่อยู่ตรงข้ามแตกกระเจิงรุกล้ำเข้ามายังเขตแดนของประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ฝ่ายกองกำลังผู้ก่อการร้ายในประเทศไทยเอง ก็สู้รบกับกำลังทหาร ตำรวจไทยอย่างดุเดือดรุนแรง โดยเฉพาะตามแนวตะเข็บชายแดน สาเหตุจากการขัดแย้งด้านการเมือง

ฝ่ายทหารไทยโดยกองทัพภาคที่ ๒ ค่ายสุรนารีต้องการได้พระภิกษุมาปลอบขวัญทหารที่ทำการสู้รบ จึงทูลขอจาก สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) เมื่อครั้งทรงดำรงสมณศักดิ์ที่ สมเด็จพระญาณสังวร แห่งวัดบวรนิเวศวิหาร เพื่อให้พระมาอยู่ประจำกับค่ายทหารที่ชายแดนใน โครงการ “พระสงฆ์นำการทหารเพื่อความมั่นคง”

สมเด็จพระญาณสังวรฯ ทรงมีพระบัญชาให้ทหารไปขอพระภิกษุจากพระราชวุฒาจารย์ (หลวงปู่ดูลย์ อตุโล) ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสอยู่ที่วัดบูรพาราม จ.สุรินทร์ โดยตรง ในฐานะที่ท่านเองก็อยู่ในท้องถิ่นนั้นอยู่แล้ว หลวงปู่ดูลย์พิจารณาแล้วเห็นว่าพระที่จะไปอยู่กับทหารเห็นมีเหมาะสมเพียงองค์เดียว คือ หลวงพ่อเยื้อน ขนฺติพโล เท่านั้น จึงสั่งให้พระจากวัดพร้อมกับทหารไปนิมนต์หลวงพ่อเยื้อนซึ่งขณะยังปฏิบัติธรรมศึกษาอยู่กับองค์หลวงตามหาบัว ณ วัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี ทหารกับพระที่มาด้วยแจ้งต่อหลวงพ่อเยื้อนว่า หลวงปู่ดูลย์ต้องการตัวให้รีบมาด่วน หลวงพ่อเยื้อนจึงกราบลาองค์หลวงตามหาบัวเดินทางกลับสุรินทร์

เมื่อเข้าพบหลวงปู่ดูลย์ท่านก็บอกว่า การอบรมวิปัสสนากัมมัฏฐานเพียงพอแล้ว ให้กลับมาเผยแผ่ศาสนาใน จ.สุรินทร์ โดยมีกองทัพภาคที่ ๒ สนับสนุนสร้างสำนักสงฆ์ให้ไปจำพรรษาที่เนิน ๔๒๔ ช่องพริก ต.จรัส อ.บัวเชด จ.สุรินทร์

หลวงพ่อเยื้อนกราบเรียนหลวงปู่ดูลย์ว่าท่านเองปฏิบัติวิปัสสนามาน้อย พรรษาก็น้อยไม่เพียงพอกับการรับภารกิจนี้ได้ จำเป็นต้องอยู่ศึกษากับองค์หลวงตามหาบัวอีกนาน แต่หลวงปู่ดูลย์ยืนกรานให้มาช่วยทางสุรินทร์ และได้ทำหนังสือขอตัวหลวงพ่อเยื้อนจากองค์หลวงตามหาบัว ในเวลาต่อมา ฝ่ายองค์หลวงตามหาบัวเมื่อได้รับหนังสือขอตัวหลวงพ่อเยื้อนกลับไป ท่านก็กล่าวว่า เสียดายไม่อยากให้กลับเลย แต่จะทำอย่างไรได้ในเมื่อหลวงปู่ดูลย์ขอตัวมาก็ต้องให้กลับไปช่วยท่านก่อน และได้ฝากคำพูดกับหลวงพ่อเยื้อนว่า “ถ้าออกไปแล้วสู้ไม่ไหวก็กลับมา วัดป่าบ้านตาดเปิดประตูรับท่านตลอดเวลา”

หลวงพ่อเยื้อนขัดคำสั่งหลวงปู่ไม่ได้ เมื่อทหารเอารถมารับจึงได้มาอยู่ที่เนิน ๔๒๔ ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๑๘ เหตุการณ์ในช่วงนั้นบ้านเมืองกำลังลุกเป็นไฟ ภัยคุกคามจากผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ และจากทหารเขมรแดงก่อความเดือดร้อนทั้งชาวไทยและชาวเขมร ชาวบ้านหนีตายถึงกับบ้านแตกสาแหรกขาด ถูกล้อมเผาหมู่บ้านต้องอพยพหนีภัยกันอย่างน่าสลดใจยิ่ง

ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๑๙ มีเหตุการณ์ร้ายเกิดขึ้นที่เนิน ๔๒๔ เวลาประมาณ ๐๓.๐๐ น. ถึงประมาณเที่ยงของวันรุ่งขึ้น มีกองกำลังไม่ทราบสัญชาติมาโจมตีหน่วยตระเวณชายแดนที่อยู่ห่างจากวัดประมาณ ๕๐๐ เมตร ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายคน แล้วก็มาเผาวัด เผาโรงเรียน เอาจรวจ อาร์ พี จี ยิงใส่พระพุทธรูปจนระเบิด เวลานั้นหลวงพ่อเยื้อนต้องหลบหนีเอาตัวรอด เมื่อหาที่อยู่ไม่ได้ จึงกลับไปอยู่ที่วัดบูรพาราม และจำพรรษาอยู่ที่นั่น ๑ พรรษา

ในเวลานั้นมีผู้ไม่หวังตีต่อหลวงพ่อเยื้อน ขณะที่ท่านไปสรงน้ำให้หลวงปู่ดูลย์ ได้ลักลอบนำสีกาไปไว้ให้นอนบนเตียงในห้องหลวงพ่อเยื้อน เมื่อท่านกลับมาเข้าห้องไม่ได้จึงให้สามเณรปีนหน้าต่างไปดู พบสีกาอยู่ภายในจึงขับไล่ไปเสีย หลวงพ่อเยื้อนเกิดความสังเวชใจ จึงกราบเรียนปรึกษาหลวงปู่ดูลย์และขออนุญาตปลีกตัวออกวิเวก เมื่อได้รับอนุญาตแล้วท่านจึงออกธุดงค์ไปยังสถานที่อันสงบสงัดตามป่าเขาใน จ.กาญจนบุรี ท่านธุดงค์ด้วยเท้าไปทางด่านเจดีย์สามองค์ จนผ่านด่านลึกเข้าไปในเขตแดนกะเหรี่ยง ถูกทหารกะเหรี่ยงจับไปคุมขังไว้ ๔ วัน เนื่องจากคิดว่าเป็นสายลับของทหารพม่า ต่อมาทหารกะเหรี่ยงสอบสวนแน่ชัดแล้วว่าไม่ใช่ฝ่ายศัตรูจึงปล่อยตัวมา หลวงพ่อเยื้อนเดินทางกลับ แต่หลงป่าเสียอีก ๒๒ วันโดยไม่ได้ฉันอาหารเลย ฉันแต่น้ำ ครั้นหาทางออกจากป่าได้แล้ว จึงเดินทางกลับมากราบหลวงปู่ดูลย์ที่สุรินทร์

◎ รับงานใหญ่ สร้างวัดให้หลวงปู่ดูลย์
ระหว่างปี พ.ศ.๒๕๒๐ หลวงปู่ดูลย์ปรารถนาจะสร้างวัดสาขาขึ้นใน อ.สนม เป็นวัดให้พระภิกษุสามเณรได้ศึกษาปฏิบัติกัมมัฏฐาน จึงมอบหมายให้หลวงพ่อเยื้อนไปสำรวจสถานที่ที่เหมาะสมเพื่อดำเนินงานต่อไป เมื่อได้รับมอบหมายหลวงพ่อเยื้อนจึงนำเรื่องการสร้างวัดไปปรึกษากับแม่ชีกาญจนา บุญญลักษม์ (แม่ชีน้อย) ซึ่งเป็นโยมอุปัฏฐาก และเป็นศิษย์ใกล้ชิดของหลวงปู่ดูลย์คนหนึ่ง แม่ชีกาญจนาจึงมอบหมายให้บุตรชายของท่านคือ นายไพบูลย์ บุญญลักษม์ ซึ่งมีภูมิลำเนาทำการค้าอยู่ใน อ.สนม อยู่แล้วให้ช่วยสำรวจสถานที่สร้างวัด

คณะสำรวจไปพบสถานที่แห่งหนึ่งเป็นที่สาธารณะและเป็นป่าช้าเก่ารกร้างที่ ต.บ้านโดน อ.สนม จ.สุรินทร์ จึงกราบเรียนหลวงปู่ หลวงปู่จึงสั่งให้หลวงพ่อเยื้อนไปปักกลดจำศีลภาวนาปฏิบัติธรรมในป่าช้าแห่งนั้นเพื่อเป็นการบุกเบิก

◎ วิบากกรรม
เมื่อหลวงพ่อเยื้อนได้รับมอบหมายจากหลวงปู่ดูลย์ แล้วก็มิได้นิ่งนอนใจ เริ่มเดินทางไปอำเภอสนม และเข้าไปปักกลดปฏิบัติภาวนาในป่าช้าสาธารณะแห่งนั้นทันที คืนแรกของการอยู่กลดธุดงค์ หลังจากได้สวดมนต์ทำวัตรเย็น และภาวนาก็ปรากฏเหตุคล้ายฝัน ซึ่งฝันในทางพระพุทธศาสนา ท่านกล่าวไว้ว่าความฝันเกิดได้ ๔ ประการคือ กรรมนิมิต จิตอาวรณ์ เทพสังหรณ์ และธาตุพิการ จะด้วยอย่างใดอย่างหนึ่งใน ๔ เหตุที่ว่ามานี้ พระอาจารย์เยื้อนได้เห็นภูมิเทวดาในชุดสีขาว ๔ องค์ ถือพานดอกไม้ธูปเทียนเข้ามากราบนมัสการและนิมนต์ให้ท่านไปอยู่ที่วัดคู่เมือง พร้อมทั้งชี้ไปรอบๆ พื้นที่ว่างเปล่า ณ ที่นั้นพร้อมกับบอกแก่ท่านว่า หากมาอยู่ที่นี่คิดจะทำกิจการสิ่งใด ก็จักสำเร็จสมความปรารถนาทุกประการ หลวงพ่อเยื้อนอยู่ปฏิบัติที่ป่าช้าสาธารณะแห่งนี้เป็นเวลา ๔ วัน จึงกลับวัดบูรพาราม

ต้นปี พ.ศ.๒๕๒๐ อุบาสิกากาญจนาได้นิมนต์หลวงปู่ดูลย์ หลวงปู่สาม ท่านอาจารย์สมพร และภิกษุสงฆ์อื่นๆ อีก ๖ รูป ไปเจริญพระพุทธมนต์ทำบุญบ้านบุตรชายที่ อ.สนม และได้ถือโอกสนั้นนิมนต์หลวงปู่ดูลย์ไปดูสถานที่ป่าช้าสาธารณะแห่งนั้น เมื่อหลวงปู่ได้พิจารณาแล้วเห็นเหมาะสมที่จะสร้างวัดป่าเพื่อเป็นวัดปฏิบัติสืบต่อไปได้ตามปราถนา จึงได้ให้หลวงพ่อเยื้อนมาปฏิบัติบุกเบิกอยู่ ณ ที่นี้ต่อไป

การมาอยู่ป่าช้าครั้งที่ ๒ นี้ หลวงพ่อเยื้อนได้ปฏิบัติกิจออกบิณฑบาต และกลับไปอยู่ภาวนาที่กลด ปรากฏว่าชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในละแวกนั้น เลื่อมใสสนใจมานมัสการ สนทนาธรรมและรับการอบรมสมาธิภาวนากับพระอาจารย์ แต่เมื่อย่างเข้าวันที่ ๑๓ ปรากฏว่าการมาอยู่ป่าช้าของพระอาจารย์เยื้อนเริ่มมีอุปสรรคขัดขวางและมีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย พระอาจารย์ต้องได้รับความทุกข์จากการถูกขับไล่ให้ออกจากป่าช้านั้นด้วยการกลั่นแกล้งด้วยวิธีต่างๆ เป็นเรื่องราวใหญ่โตจนแทบจะเอาชีวิตไม่รอดในครั้งกระนั้น

ท่านประสบกับการต่อต้านทั้งจากฆราวาสและพระสงฆ์ที่อยู่เดิมในอำเภอนั้น พยายามในวิธีการต่างๆ ที่จะขับไล่ไสส่งให้พระอาจารย์ฯต้องออกจากพื้นที่ป่าช้าแห่งนั้นให้ได้ และได้กระทำถึงขั้นการใส่บาตรโดยเอาข้าวผสมผงขัดหม้อ กรวดทราย และการใช้ยาสั่ง และการเผาปะรำที่ชาวบ้านผู้ศรัทธาสร้างถวายให้อยู่ เป็นต้น เรื่องได้ลุกลามถึงขั้นที่เจ้าหน้าที่ทางบ้านเมืองต้องเข้ามาเกี่ยวข้องสืบสวนประชุมชาวบ้านเพื่อให้ลงมติว่าจะให้ท่านอาจารย์ฯออกจากป่าช้าหรือให้อยู่ เมื่อมีการประชุมออกเสียงของชาวหมู่บ้านต่างๆ แล้ว ปรากฏว่าพวกศรัทธาประมาณ ๖๐๐ คน ขอให้อยู่ต่อไป พวกต่อต้านมีประมาณ ๒๐๐ คน จึงยอม แต่ก็ไม่ยุติเรื่องเพียงเลี่ยงมาใช้การปลุกปั่นยุยงโดยการกระจายเสียงไม่ให้ชาวบ้านทำบุญใส่บาตรและไม่ให้คบค้าและซื้อสินค้าจากบุตรชายของแม่ชีกาญจนา อีกคนหนึ่งด้วย

การขัดขวางรุนแรงขึ้นถึงขั้นเอาชีวิตกันทีเดียว โดยที่คืนวันหนึ่งเวลาดึกสงัดขณะที่พระอาจารย์เยื้อนกำลังนั่งภาวนาอยู่ในกลดได้มีชาวบ้านเอาอิฐ หิน มาระดมขว้างปาเข้าใส่กลดที่พระอาจารย์กำลังบำเพ็ญเพียรอยู่อย่างหนัก ซึ่งถ้าเป็นบุคคลธรรมดาแล้วคงจะมีชีวิตอยู่ได้ยาก รุ่งเช้าชาวบ้านที่ต่อต้านท่านได้ออกเที่ยวไปปล่อยข่าวว่าพระป่าตายแล้ว ชาวบ้านที่ศรัทธาในตัวพระอาจารย์พากันเศร้าเสียใจ และเดินทางจะไปเยี่ยมศพ แต่กลับปรากฏว่าท่านยังมีชีวิตอยู่เหตุการณ์ครั้งนั้นท่านก็มิได้เอาเรื่องด้วยถือว่าเป็นกรรมี่ได้เคยร่วมทำกันมา

เมื่อเอาชีวิตพระป่าไม่ได้ ฝ่ายต่อต้านก็เปลี่ยนใช้วิธีใหม่ที่เหมาะสมกับเหตุการณ์ตอนนั้น ด้วยการออกบัตรสนเท่ห์กล่าวหาว่าพระอาจารย์เป็นคอมมิวนิสต์ ซึ่งขณะนั้นสถานการณ์ก่อการร้ายและการขยายงานของพรรคคอมมิวนิสต์ ยังดำเนินการอยู่กว้างขวาง พื้นที่อำเภอสนม ซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่สีชมพู คือเป็นพื้นที่ที่มีคอมมิวนิสต์ดำเนินงานมวลชนอยู่มาก กล่าวหาว่าเป็นพระอวดอุตริมนุสธรรม ทำตนเป็นพระวิเศษ มีเรื่องชู้สาว เป็นต้น เรื่องต่างๆ เหล่านี้ พระอาจารย์เยื้อนได้เล่าถวายหลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ผู้เป็นอาจารย์ด้วยตนเอง ซึ่งท่านได้กล่าวว่า “คนเรามีกัมมัฏฐานดีอยู่แล้ว อยู่ป่าช้าก็ดี ตายแล้วไม่ต้องไปหาที่ฝังที่ไหนอีก และให้มันรู้ไปว่าคนดีจะอยู่ที่นี่ไม่ได้” คำกล่าวเพียงนี้ได้สร้างพลังใจและความอดทนให้แก่พระอาจารย์เพิ่มยิ่งขึ้นอีก เพื่อปลดเปลื้องกรรมที่มีและรอผลตอบแทนจากความสำเร็จซึ่งมิใช่สำเร็จประโยชน์แก่หลวงพ่อเยื้อนเอง เมื่อสามารถเผชิญต่อวิบากและอุปสรรคทั้งหลายได้อย่างไม่หวั่นไหวในฐานะพระป่าแล้ว ปรากฏผลคือสามารถสร้างวัดได้สำเร็จสมปรารถนาของหลวงปู่ดูลย์ อตุโล ครูอุปัชฌาย์อาจารย์ของท่านเอง คือ มีวัดสาขาอยู่ใน อ.สนม ซึ่งเป็นความหมายที่ยิ่งใหญ่แก่หลวงพ่อเยื้อน

หลังจากได้ตั้งปณิธานอันแน่วแน่เช่นนั้นแล้ว หลวงพ่อเยื้อนก็ได้ยืนหยัดอยู่ปฏิบัติธรรมที่นั่นสืบไป อย่างไม่ย่อท้อหรือหวั่นไหวต่อเหตุที่จะเกิด ครั้งหนึ่งท่านฉันอาหารโดนยาสั่ง ทำให้อาเจียนและล้มป่วยเกือบเอาชีวิตไม่รอด จนถึงหลวงปู่ดูลย์เมตตาเดินทางมาดูแลอยู่ด้วย ๒ วัน หลังจากหายป่วยแล้ว ชาวบ้านผู้ต่อต้านยังคงดำเนินการฟ้องร้องทางการการว่าท่านเป็นคอมมิวนิสต์ เมื่อเจ้าหน้าที่บ้านเมืองมาสอบสวน ซึ่งมีแม่ทัพภาค ๒ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ ในขณะนั้น และ พ.อ.ชาญ ทองดี ทราบข้อเท็จจริงแล้ว กลับนิเยมเลื่อมใสในพระอาจารย์เยื้อน จึงเห็นเหตุชาวบ้านจะก่อเหตุเผาปะรำ ศาลาน้อยของท่าน แต่นายปัญญา บุญญลักษม์ ได้เข้าขัดขวางไว้ได้

เรื่องที่น่าแปลกคือกลุ่มชาวบ้านที่ร่วมกับพวกต่อต้านหาได้รู้จักพระอาจารย์เยื้อนโดยส่วนตัวไม่ ทั้งยังไม่เคยเห็นว่าพระป่ารูปร่างเป็นอย่างไร การที่เข้าร่วมต่อต้านด้วยก็เป็นไปเพราะแรงยุเท่านั้น จะเห็นได้จากครั้งหนึ่งชาวบ้านประชุมวางแผนจะขับพระป่าออกไป โดยชาวบ้านรวมตัวกันได้ประมาณ ๑,๐๐๐ คน และมีชาวบ้านขบวนหนึ่งได้พบท่าน ซึ่งขณะนั้นพระอาจารย์กำลังจะเดินทางไปกราบนมัสการหลวงปู่ดูลย์ แต่ก็เกิดเปลี่ยนใจไม่ไป ชาวบ้านเหล่านั้นได้ชวนท่านให้ร่วมเดินทางไปด้วยเพื่อขับไล่พระป่า เพราะตั้งแต่พระป่ามาอยู่เป็นเหตุให้คนไม่ทำงาน มัวแต่จับกลุ่มคุยฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล เมื่อถามว่าเคยเห็นพระป่าองค์นั้นไหม ก็ได้คำตอบว่า “ไม่เคยเห็น”

ท่านเดินทางตามชาวบ้านกลุ่มนั้นไป แต่แล้วก็ได้เดินแยกไปอีกทางหนึ่ง พบชาวบ้านระดับหัวหน้ากลุ่มกำลังประชุมวางแผนกันอยู่ พระอาจารย์จึงยืนฟังแผนการที่ชาวบ้านพวกนั้นจะเดินขบวนขับไล่ หากครั้งนี้ทำไม่ได้ผลก็จะบุกเข้าจับมัดเอาตัวไปทิ้งให้ห่างไกลและหากกลับมาอีก ก็จะฆ่าทิ้งเสียให้สิ้นเรื่อง เมื่อชาวบ้านปรึกษาหารือกันแล้ว ท่านจึงได้ออกจากที่ที่ยืนซุ่มอยู่ และถามว่า “ทำไมไม่ไปคุยกันในป่าช้า” พวกชาวบ้านบ้านเหล่านั้นคาดไม่ถึงว่าจะพบหลวงพ่อในลักษณะนั้น ก็พากันตกใจรีบแยกย้ายหนีกลับบ้าน

เมื่อกลับมาถึงป่าช้า ท่านก็ได้ชี้แจงต่อชาวบ้านที่เดินขบวนมาถึงว่า เมื่อท่านมาที่นี่เอง และโยมพากันมาขับไล่ด้วยความไม่เข้าใจ ตัวท่านก็จะขออยู่ต่อไปก่อนเพื่อชี้แจงให้หายข้องใจแล้วจึงจะออกไป เมื่อมาเองได้ก็ออกไปเองได้ ไม่ต้องมาขับไล่ แม้จะพยายามชี้แจงอย่างไร ฝ่ายต่อต้านพระป่าก็ไม่ยอมฟัง กลับพากันเผาศาลาปะรำที่อาศัยจนท่านต้องย้ายที่อยู่ใหม่ แต่นั่นยังไม่พอเพียง ได้ส่งคนมายืนด่าเช้าด่าเย็นทุกวัน ร้อนถึงนายลิ้ม นวลตา ต้องนำเรื่องไปกราบเรียนต่อ พระอาจารย์สุวัจน์ สุวโจ ซึ่งท่านได้มาขอร้องให้หลวงพ่อเยื้อนออกจากป่าช้าแห่งนั้นเถิด เพราะเกรงว่าอันตรายจะเกิดขึ้นกับหลวงพ่อ ในที่สุดนายอำเภอต้องรับหน้าที่เข้ามาไกล่เกลี่ย ความขัดแย้งนั้นด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อออมชอม และนำมาซึ่งสันติสุขและความสงบเรื่องราวทั้งหลายในอำเภอนี้

◎ พ้นวิบากกกรรม วัดป่าฯ เกิด
คงจะเป็นเพราะเคราะห์และวิบากกรรมต่างๆ ของหลวงพ่อเยื้อนจะถึงที่สุด จึงเป็นผลให้ชาวบ้านที่ศรัทธาในพระอาจารย์ที่มีจำนวนมากพอสมควร โดยการนำของนายปัญญา บุญญลักษม์ ได้พร้อมใจกันตกลงซื้อที่ดินจำนวน ๒๕ ไร่ ในราคา ๖๕,๐๐๐ บาท จากนางถาวร อึ้งพานิช และถวายเพื่อสร้างวัด โดยให้ชื่อว่า “วัดป่าบุญญลักษม์” ทั้งนี้เพื่อเป็นอนุสรณ์ของตระกูลบุญญลักษม์ ที่มีความศรัทธาปสาทะในพระบวรพุทธศาสนา และเพื่อเป็นมงคลนามตามที่หลวงปู่ดูลย์มอบไว้ในครั้งเริ่มแรกสร้างวัด หลวงปู่ได้ให้รื้อศาลาหลังเก่าจากวัดบูรพารามมาสร้างไว้เป็นศาลาไม้ และท่านได้เคยมาพำนักอยู่ที่วัดนี้เป็นประจำ กุฏิที่ศิษย์สร้างถวายหลวงปู่ ปัจจุบันได้รับการดูแลรักษาเป็นอย่างดี บริเวณวัดครั้งกระนั้นยังลุ่มๆ ดอนๆ แห้งแล้ง แต่ก็ด้วยบุญบารมีของหลวงปู่ดูลย์ ที่แม้จะทิ้งสังขารขันธ์แล้วก็ยังตามมาเกื้อหนุนวัดที่ดำริสร้าง จึงทำให้มีผู้สนใจวัดป่าแห่งนี้ กล่าวคือ ในงานพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่ที่วัดบูรพาราม จ.สุรินทร์ ในปี พ.ศ.๒๕๒๘ หลวงพ่อเยื้อนได้มีโอกาสพบคุณพเยีย พนมวัน ณ อยุธยา ผู้นับถือในองค์หลวงปู่กับพวก ได้เดินทางขึ้นมาร่วมงานบำเพ็ญกุศลถวายหลวงปู่ เกิดความสนใจและได้ขอไปดูวัดป่าฯ ของหลวงปู่ เมื่อมาเห็นสภาพดังกล่าว ก็ให้มีจิตคิดจะบำรุง จึงได้นำญาติมิตรมาร่วมกับปรับพื้นที่ และเริ่มปลูกสร้างถาวรวัตถุ โดยเฉพาะที่สำคัญคือ ศาลาอเนกประสงค์หลังปัจจุบันที่สร้างแทนศาลาไม้ที่ผุพังเหลือกำลังที่จะซ่อมแซมได้แล้ว นอกจากนี้ทางวัดยังประสบปัญหาความกันดารขาดแคลนน้ำดื่ม น้ำกิน น้ำใช้ คณะญาติมิตร ผู้มีจิตศรัทธา ได้ร่วมเป็นกำลังขุดสระน้ำ สร้างถังเก็บน้ำฝนถวาย และเดินทางสายไฟฟ้าเข้าใช้ในวัดด้วย

เนื่องจากศรัทธาที่หลั่งไหลจากญาติโยมทั้งใกล้ไกลมาช่วยทำนุบำรุงก่อสร้างเสนาสนะเพิ่มเติม ชั่วระยะเวลา ๑๐ ปี จึงทำให้ปัจจุบันวัดมีถาวรวัตถุหลายสิ่งเพยงพอแก่การอยู่ใช้ เช่น ศาลาอเนกประสงค์ ขนาดกว้าง ๑๐ เมตร ยาว ๒๔ เมตร ๑ หลัง เป็นที่ประกอบศาสนกิจต่างๆ หากได้ฝังลูกนิมิตและผูกพัทธสีมาเสร็จแล้ว ก็จะใช้เป็นอุโบสถเพื่อให้สงฆ์ได้ลงทำสังฆกรรมได้ถูกต้องตามพุทธบัญญัติต่อไป เพราะปัจจุบันวัดนี้ก็ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาแล้ว เมื่อวันที่ ๒๒ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๓๑ โดยมีนางพงส์ สารสิน รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ลงนามสนองพระราชโองการ

นอกจากนั้นมีกุฏิพระ ๙ หลัง กุฏิชี ๖ หลัง และที่พักของผู้มาปฏิบัติธรรม ๑ หลัง ยังขาดแต่โรงครัว บริเวณรอบนอกมีกำแพงคอนกรีตล้อมรอบ ภายในมีต้นกะถินณรงค์ปลูกไว้พอเป็นร่มเงาให้ความร่มรื่นได้พอสมควร

◎ การเผยแผ่พระพุทธศาสนา
พ.ศ.๒๕๒๖ เผยแผ่พุทธศาสนา-ปฏิบัติธรรม ณ กรุงบอน ประเทศเยอรมัน

พ.ศ.๒๕๒๗ ธุดงค์เผยแผ่พุทธศาสนา ปฏิบัติธรรมพร้อมคณะพระสังฆราช ณ ประเทศเนปาล

พ.ศ.๒๕๔๙ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ในพระราชทินนามที่ พระพิศาลศาสนกิจ

พ.ศ.๒๕๕๐ เป็น ๑ ใน ๕ ของผู้ได้รับรางวัลผู้บำเพ็ญประโยชน์ในการพัฒนาจิตประจำปี พ.ศ.๒๕๕๐ ของสภาชาวพุทธและมูลนิธิโลกทิพย์

พระพิศาลศาสนกิจ (หลวงพ่อเยื้อน ขันติพโล) วัดเขาศาลาอตุลฐานะจาโร

ปัจจุบัน หลวงพ่อเยื้อน ขันติพโล ท่านสิริอายุได้ ๖๘ ปี พรรษา ๔๙ จำพรรษาอยู่ที่วัดเขาศาลาอตุลฐานะจาโร จ.สุรินทร์

ที่มา :ขอขอบคุณข้อมูลจากเว็บ www.dhammajak.net