วันอาทิตย์, 5 มกราคม 2568

หลวงพ่อพรหม ถาวโร วัดช่องแค อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์

ประวัติและปฏิปทา
หลวงพ่อพรหม ถาวโร

วัดช่องแค
อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์

หลวงพ่อพรหม ถาวโร วัดช่องแค อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์
หลวงพ่อพรหม ถาวโร วัดช่องแค อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์

หลวงพ่อพรหม ถาวโร วัดช่องแค จ.นครสวรรค์ พระเกจิอาจารย์ชื่อดังแห่งเมืองปากน้ำโพ มีเมตตาธรรมสูง มักน้อยถือสันโดษ

◉ ชาติภูมิ
หลวงพ่อพรหม ถาวโร วัดช่องแค เกิดเมื่อวันพฤหัสบดี ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๕ ปีมะแม ตรงกับวันที่ ๑๒ เมษายน พ.ศ.๒๔๒๖ ที่ ต.บ้านแพรก อ.มหาราช จ.พระนครศรีอยุธยา บิดาชื่อ “นายหมี” และมารดาชื่อ “นางล้อม โกสะลัง” ครอบครัวมีพี่น้อง ๔ คน

ในช่วงวัยเด็ก เรียนหนังสือ ฝึกหัดอ่านเขียนกับพระในวัดใกล้บ้าน รวมทั้งศึกษาอักษรขอมควบคู่ไปกับภาษาไทย อีกทั้งได้ศึกษาวิทยาคมกับอาจารย์ที่เป็นฆราวาส ชื่อ อาจารย์พ่วง

◉ อุปสมบท
เมื่ออายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ เข้าพิธีอุปสมบทที่วัดเขียนลาย ต.บ้านแพรก อ.บ้านแพรก จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ.๒๔๔๗ โดยมี หลวงพ่อถม วัดเขียนลาย เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า “ถาวโร

ศึกษาเล่าเรียนภาษาขอมจนชำนาญและเริ่มฝึกปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน ศึกษาสมถะกัมมัฏฐานและวิปัสสนาจากหลวงพ่อดำ อยู่ประมาณ ๔ ปี

หลวงพ่อพรหม ถาวโร วัดช่องแค อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์
หลวงพ่อพรหม ถาวโร วัดช่องแค อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์

จากนั้นจึงออกเดินธุดงค์เป็นเวลาหลายพรรษา เคยเดินไปประเทศพม่าถึงเมืองย่างกุ้ง นมัสการพระ เจดีย์ชเวดากอง และเดินธุดงค์ผ่านด่านเจดีย์สามองค์ ผ่านเทือกเขาน้อยใหญ่ ธุดงค์อยู่ในประเทศพม่าเป็นเวลานาน ก่อนเดินทางกลับประเทศไทยทางด่านแม่ละเมา จ.ตาก

เดินธุดงค์ไปจนถึงเขาช่องแค ต.พรหมนิมิตร อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ เกิดฝนตกหนัก ได้หลบเข้าไปอยู่ในถ้ำซึ่งเป็นถ้ำเล็กๆ เป็นสถานที่ที่เห็นว่าเป็นที่วิเวกเหมาะสำหรับการบำเพ็ญธรรม จึงได้อยู่ปฏิบัติสมาธิเจริญจิตตภาวนา ณ ช่องเขาแห่งนี้

ขณะที่จำศีลปฏิบัติธรรมอยู่นั้น ที่วัดช่องแคมีพระภิกษุจำพรรษาอยู่แล้ว ๒ รูป แต่ยังไม่มีเจ้าอาวาส ภายในวัดยังไม่มีเสนาสนะใดๆ บริเวณวัดรกร้าง

ต่อมาชาวบ้านเห็นวัตรปฏิบัติ จึงเกิดความนับถือเลื่อมใส นิมนต์ให้จำพรรษาวัดช่องแคจวบจนปัจจุบัน จนได้เป็นเจ้าอาวาสรูปแรก

โดยที่ชาวบ้านได้ร่วมกันบริจาคที่ดินเพิ่มเติม หลวงพ่อพรหมได้เริ่มต้นสร้างวัดจากวัดที่รกร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐ จนกลายมาเป็นวัดที่มีกุฏิ ศาลาการเปรียญ โรงครัว ซึ่งส่วนหนึ่งของทรัพย์สินมาจากการขายสมบัติส่วนตัว และมรดกของหลวงพ่อ

ครั้นต่อมา เมื่อวัดจะสร้างอุโบสถ ซึ่งต้องใช้ทุนทรัพย์สูง คณะกรรมการของวัด จึงขออนุญาตหลวงพ่อสร้างวัตถุมงคล ด้วยหลวงพ่อพรหมชอบระฆัง การสร้างวัตถุมงคลของหลวงพ่อ จึงเน้นรูประฆัง ทั้งพระผง เหรียญรูประฆัง จนกลายเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของ หลวงพ่อพรหม

จากผลการศึกษาพระธรรม การปฏิบัติจิต เจริญสมาธิภาวนาและการเดินธุดงค์ รวมไปถึงการศึกษาวิชาอาคมต่างๆ จากหลายครูบาอาจารย์ ทำให้ท่านได้ชื่อว่าเป็นพระเถระที่มีวิทยาคม มีวัตถุมงคลที่เลื่องลือในด้านประสบการณ์บ่อยครั้ง

หลวงพ่อพรหม ถาวโร วัดช่องแค อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์
หลวงพ่อพรหม ถาวโร วัดช่องแค อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์

ด้านการปลุกเสกวัตถุมงคล หลวงพ่อพรหม มีวิธีการปลุกเสกวัตถุมงคลที่ไม่เหมือนใคร ส่วนใหญ่หลวงพ่อจะปลุกเสกในบาตร ถ้ามีเทียนชัยจะจุดเทียนชัยหยดน้ำตาเทียนลงในบาตรน้ำมนต์แล้วนำเทียนชัยวน ๙ รอบ ต่อจากนั้นจึงนำดินสอพองมาเจิมที่วัตถุมงคล เอามือคนไปรอบๆ โดยที่ลืมตาเพ่งกระแสจิตอัดพลัง แล้ว จึงนำน้ำพระพุทธมนต์ประพรมวัตถุมงคลทั้งหลาย แล้วจับบาตรใส่วัตถุมงคล

พิธีสรงน้ำ หลวงพ่อพรหม ถาวโร วัดช่องแค อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์
พิธีสรงน้ำ หลวงพ่อพรหม ถาวโร วัดช่องแค อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์

ดังนั้น เป็นที่สังเกตได้ว่าพระเนื้อผงจะมีรอยบิ่น เล็กบ้าง ใหญ่บ้าง ด้วยเกิดจากหลวงพ่อเอามือคนในบาตร

ลาออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาส เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๔ รวมเวลาที่เป็นเจ้าอาวาสวัดช่องแค ๕๔ ปี เพื่อให้พระปลัดแบงค์ ธัมมวโร เป็นเจ้าอาวาสสืบแทน ตลอดเวลาที่หลวงพ่อพรหมจำพรรษาอยู่ที่วัดช่องแค ท่านสร้างคุณประโยชน์มากมายให้กับชุมชนและประชาชนทั่วไป ตั้งแต่การทำนุบำรุงพระศาสนา รักษาพยาบาลผู้เจ็บป่วย สร้างเสนาสนะในวัด

◉ มรณภาพ
กระทั่ง หลวงพ่อพรหม วัดช่องแค มรณภาพอย่างสงบ เมื่อวันที่ ๓๐ มกราคม พ.ศ.๒๕๑๘ เมื่อเวลา ๑๕.๐๐ น. ที่โรงพยาบาลบ้านหมี่ จ.ลพบุรี สิริรวมอายุ ๙๑ ปี พรรษา ๗๑ หลังมรณภาพแล้ว สังขารของท่านกลับไม่เน่าเปื่อย เส้นเกศา เล็บ และหนวดเครางอกออกมาได้อย่างน่าอัศจรรย์

รูปหล่อบูชา หลวงพ่อพรหม ถาวโร วัดช่องแค อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์
รูปหล่อบูชา หลวงพ่อพรหม ถาวโร วัดช่องแค อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์
สรีระสังขาร หลวงพ่อพรหม ถาวโร วัดช่องแค อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์
สรีระสังขาร หลวงพ่อพรหม ถาวโร วัดช่องแค อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์

◉ ด้านวัตถุมงคล
วัตถุมงคล พระเครื่องรางของขลัง ที่ท่านได้ปลุกเสกให้ชาวบ้านนำไปใช้แล้วมีประสบการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเมตตามหานิยม ค้าขายดี มีโชคลาภ ตลอดจนเรื่องแคล้วคลาด ปลอดภัย และคงกระพันชาตรี

วัตถุมงคล มีพุทธคุณโดดเด่น โดยเฉพาะ “เหรียญหลวงพ่อพรหม รุ่นแรก ปี พ.ศ.๒๕๐๗” จัดสร้างโดยคณะกรรมการวัดช่องแค จ.นครสวรรค์ เพื่อหารายได้สมทบทุนสร้างโบสถ์ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๗

เหรียญรุ่นแรก หลวงพ่อพรหม ถาวโร วัดช่องแค อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์
เหรียญรุ่นแรก หลวงพ่อพรหม ถาวโร วัดช่องแค อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์

เป็นเหรียญปั๊มรูปไข่ สร้างด้วยเนื้อทองแดงผิวไฟ และทองแดงกะไหล่ทอง โดยมากเนื้อทองแดงกะไหล่ทอง มักจะเป็นแบบตัดหูเหรียญ ด้านหน้าเหรียญ เป็นรูปหลวงพ่อพรหม นั่งขัดสมาธิ ห่มจีวรเฉียงบ่า พาดสังฆาฏิ ด้านบนศีรษะหลวงพ่อพรหมมีปรากฏอักขระโบราณ ด้านล่างใต้ฐานองค์หลวงพ่อเขียนชื่อ “หลวงพ่อพรหม” ขอบเหรียญหลวงพ่อพรหม วัดช่องแค ด้านหน้าตั้งนูนทำเป็น ๓ ชั้น ในชั้นที่ ๒ ทำเป็นจุดไข่ปลาเล็ก

ด้านหลังเหรียญ ตรงกลางจารึก คำว่า “อายุ ๗๙ ปี พรรษา ๕๙ ครั้งที่ ๑” ขอบเหรียญด้านหลังซ้าย เขียนว่า “วัดช่องแค” ขวาเขียนว่า “อำเภอตาคลี” ล่างเขียนว่า “จังหวัดนครสวรรค์

ในบรรดาพระเครื่องของ หลวงพ่อพรหม วัดช่องแค พระเครื่องประเภท “พระรูปหล่อ” หรือ “พระรูปเหมือน” นับว่าได้รับความนิยมสูงสุด มีการสร้างหลายรุ่นด้วยกัน ได้แก่

รุ่นนิ้วกระดก (ปี ๒๕๐๗), รุ่นหูกาง (ปี ๒๕๐๘), รูปหล่อโบราณ (ปี ๒๕๑๒), รุ่นเสาร์ห้า (ปี ๒๕๑๒), รุ่นก้นระฆัง (ปี ๒๕๑๒), รูปเหมือนปั๊ม เนื้ออัลปาก้า บรรจุกริ่ง รุ่นผู้ใหญ่ลี อิ่มดุลย์ (ปี ๒๕๑๓), รูปเหมือนปั๊มพิมพ์เล็ก รุ่นคุณกุหลาบ มณเฑียร (ปี ปี ๒๕๑๓), รุ่นชาร์ฟรถไฟ คุณวินัย อยู่เย็น (ปี ๒๕๑๓)

สำหรับรุ่นสุดท้าย คือ พระหลวงพ่อพรหม รูปเหมือนปั๊ม รุ่นเสาร์ห้า (๒๕๑๖) มีหลายพิมพ์ ได้แก่ รูปเหมือนปั๊ม พิมพ์หลังเตารีด, รูปเหมือนปั๊ม พิมพ์ใบเสมา, รูปเหมือนปั๊ม พิมพ์เข่ากว้าง หลังเรียบ, รูปเหมือนปั๊ม พิมพ์เข่ากว้าง หลังเต็ม, รูปเหมือนปั๊ม พิมพ์เข่ากว้าง หลังเข็มกลัด และรูปเหมือนปั๊ม พิมพ์เข่ากว้าง พิมพ์ลังยันต์สิบ เป็นต้น

เป็นที่น่าสังเกตว่า พระรูปเหมือนหลวงพ่อพรหม ที่สร้างในสมัยท่านยังมีชีวิตอยู่นั้น ส่วนใหญ่เป็นพระรูปเหมือน แบบปั๊ม (ยกเว้น รุ่นรูปหล่อโบราณ ปี พ.ศ.๒๕๑๒ ซึ่งสร้างด้วยวิธีเททองหล่อแบบโบราณ)

พระรูปเหมือนหลวงพ่อพรหม จะไม่มี แบบหล่อฉีด เหมือนที่สมัยใหม่นิยมสร้างกัน ส่วนที่มีอยู่ในวงการพระทุกวันนี้นั้น ล้วนเป็นการสร้างขึ้นภายหลังจากที่หลวงพ่อมรณภาพแล้ว

ขอขอบคุณข้อมูลจาก khaosod.co.th