วันอาทิตย์, 27 ตุลาคม 2567

หลวงปู่รอด พุทธสัณโฑ วัดบางน้ำวน อ.เมือง จ.สมุทรสาคร

ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่รอด พุทธสัณโฑ

วัดบางน้ำวน
อ.เมือง จ.สมุทรสาคร

หลวงปู่รอด พุทธสัณโฑ วัดบางน้ำวน ต.บางโทรัด อ.เมือง จ.สมุทรสาคร
หลวงปู่รอด พุทธสัณโฑ วัดบางน้ำวน ต.บางโทรัด อ.เมือง จ.สมุทรสาคร

หลวงปู่รอด พุทธสัณโฑ วัดบางน้ำวน พระเกจิอาจารย์ที่เก่งกล้าทางด้านวิทยาคมมากอีกองค์หนึ่งแห่งลุ่มน้ำแม่กลอง จ.สมุทรสาคร

◉ ชาติภูมิ
หลวงปู่รอด พุทธสัณโฑ วัดบางน้ำวน เกิดเมื่อวันพุธ ขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๓ ปีกุน พ.ศ.๒๔๐๖ ตรงกับสมัยรัชกาลที่ ๔ บิดาชื่อ “นายทองดี” และมารดาชื่อ “นางเกษม บุญส่ง” มีเชื้อสายรามัญ (มอญ) บิดามารดาเดิมเป็นชาวบ้านเสากระโดง ตำบลบางพูน จังหวัดปทุมธานี

เมื่อเยาว์วัย บิดา มารดา นำมาฝากหลวงปู่แคเจ้าอาวาสวัดบางน้ำวนเลี้ยงดู เนื่องจากหลวงปู่รอด ท่านเป็นเด็กที่เลี้ยงยาก อ่อนแอ เป็นเด็กขี้โรค บิดามารดาจึงยกให้เป็นบุตรบุญธรรมของหลวงปู่แค และตั้งแต่นั้นมาท่านก็หายจากโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ หลวงปู่แคจึงตั้งชื่อให้ว่า “รอด

◉ บรรพชาอุปสมบท
เมื่ออายุได้ ๑๒ ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณร ตรงกับปี พ.ศ.๒๔๑๘ หลวงปู่รอด ท่านได้ศึกษาพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า พร้อมทั้งศึกษาวิชาอาคม และวิชาวิปัสสนากรรมฐานจากหลวงปู่แค จนอายุครบ ๒๐ ปี พ.ศ.๒๔๒๖ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ โดยมี พระอธิการแค เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์แจ้ง วัดใหญ่บ้านบ่อ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์ปั้น วัดใหญ่บ้านบ่อ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “พุทฺธฺสณฺโฑ

หลวงปู่รอด พุทธสัณโฑ วัดบางน้ำวน ต.บางโทรัด อ.เมือง จ.สมุทรสาคร
หลวงปู่รอด พุทธสัณโฑ วัดบางน้ำวน ต.บางโทรัด อ.เมือง จ.สมุทรสาคร

หลวงปู่รอด ท่านได้ศึกษาพระธรรมวินัย วิปัสสนา พุทธาอาคมจากหลวงปู่แค พระอุปัชฌาย์ของท่าน หลังจากที่พระอุปัชฌาย์แคมรณภาพลง ท่านก็ได้รับการสนับสนุนจากชาวบ้านและคณะสงฆ์ยกย่องท่านขึ้นเป็นเจ้าอาวาสสืบแทน ด้วยวัตรปฏิบัติของท่านเป็นที่เลื่อมใสของชาวบ้าน ต่างก็พากันมาช่วยเป็นกำลังในการบูรณปฏิสังขรณ์ วัดวาอารามจนเจริญรุ่งเรือง เป็นลำดับ ถึงความเจริญจะเข้าสู่วัดบางน้ำวนแล้ว ท่านก็ยังมีเมตตาช่วยเหลือพัฒนาวัดต่างๆ ด้วยเช่น วัดบางกระเจ้า วัดบางสีคต วัดนาโคก วัดบางลำพู วัดบางจะเกร็ง วัดเจริญสุขขาราม ฯลฯ

นอกจากท่านจะช่วยพัฒนาวัดวาอารามอื่นๆแล้ว ท่านยังช่วยพัฒนาในด้านการศึกษาจัดให้มีการสอนพระปริยัติธรรม และยังสร้างโรงเรียนประชาบาลไว้ให้กุลบุตรกุลธิดาได้ศึกษาเล่าเรียนกัน โดยมีชื่อของโรงเรียนว่า รอดพิทยาคม และยกให้เป็นสถานที่ศึกษาแก่หลวงปู่รอด

หลวงปู่รอด วัดบางน้ำวน ท่านได้ออกธุดงค์ไปยังประเทศพม่า เป็นเวลาหลายปี ธุดงค์ไปเมืองเมาะลำเริง ซึ่งเป็นตระกูลกำเนิดปู่ย่าตายายของท่าน จากนั้นท่านก็ผ่านเมืองย่างกุ้ง ข้ามมาบัสเลียปอยร์ผ่านระนอง เข้าเมืองกาญจนบุรี ในระหว่างหลวงปู่รอดท่านออกธุดงค์นั้น หลวงปู่รอดท่านก็ได้ศึกษาเล่าเรียนวิชาเมตตามหานิยม วิชาคงกระพันชาตรี วิชาทำผ้ายันต์บังไพร วิชาทำธงไม่ให้ฝนตก วิชาเสกของหนักให้เบา วิชาแพทย์แผนโบราณ จากคณาจารย์ชาวมอญ ชาวพม่า ชาวกะเหรี่ยง หรือที่ไหนมีอาจารย์เก่งๆ ท่านจะไปขอเรียนวิชาหมด ในระหว่างที่หลวงปู่รอดท่านออกธุดงค์ หลวงปู่รอดท่านจะสนใจเรื่องสมุนไพรเป็นพิเศษ เกี่ยวกับตำรายาทุกชนิดหลวงปู่รอดท่านจะจดจำได้อย่างแม่นยำ

เมื่อเข้าสู่วัยชราชาวบ้านจึงขอร้องให้ท่านได้โปรดญาติโยมประจำที่วัดและท่านได้ตั้งกฎระเบียบทำวัตรปฏิบัติธรรม ของวัดบางน้ำวนคือ จากสองทุ่มถึงสี่ทุ่มทุกคืนจนเป็นกิจวัตรของวัดบางน้ำวนและมีการตีกลอง ระฆังย่ำค่ำจนถึงปัจจุบัน

◉ สมณะศักดิ์การปกครอง
ในปี พ.ศ.๒๔๓๗ เป็นเจ้าอาวาสวัดบางน้ำวน
วันที่ ๒๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๔๗ เป็นเจ้าอธิการ (เจ้าคณะตำบล)
วันที่ ๑๕ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๕๒ เป็นพระอุปัชฌาย์สามัญ
ในปี พ.ศ.๒๔๘๒ เป็นพระครูชั้นประทวน และพระครูกรรมการศึกษา

หลวงปู่รอด พุทธสัณโฑ วัดบางน้ำวน ต.บางโทรัด อ.เมือง จ.สมุทรสาคร
หลวงปู่รอด พุทธสัณโฑ วัดบางน้ำวน ต.บางโทรัด อ.เมือง จ.สมุทรสาคร

◉ มรณภาพ
หลวงปู่รอด พุทธสัณโฑ วัดบางน้ำวน ท่านมรภาพลง เมื่อวันจันทร์ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๑๒ เวลา๐.๒๐ นาฬิกา พ.ศ.๒๔๘๗ ท่ามกลางสานุศิษย์และคณะสงฆ์ประมาณ ๕๐ รูป รวมอายุของหลวงปู่ได้ ๘๑ ปี พรรษา ๖๑ โดยมีเจ้าคณะจังหวัดสมุทรสาครสมัยนั้นเป็นผู้อำนวยการจัดการศพ ทำพิธีสรงน้ำศพ และเก็บศพไว้ ๑ ปี จึงได้ฌาปนกิจมี มหรสพหลายอย่างถึง ๕ วัน ๕ คืน

◉ การมรณภาพของหลวงปู่รอด
มีเรื่องเล่าว่า หลวงปู่รอด ได้แจ้งแก่ญาติโยมบริเวณวัดบางน้ำวน เมื่อตอนออกบิณฑบาตตอนเช้า ก่อนวันมรณภาพว่า ท่านนั้นถึงเวลาจะต้องตายแล้วตามกฎธรรมชาติในอีก ๓ วัน ครั้นในตอนเช้าวันมรณภาพ ท่านก็ออกบิณฑบาตตามปกติ และบอกลาแก่ญาติโยมทั้งหลายว่า คืนนี้เวลา ๒ ยามท่านจะตาย และขอให้ญาติโยมทั้งหลายมาที่กุฏิของท่านด้วย เมื่อท่านกลับถึงวัดก็ทำกิจวัตรตามปกติ พอตกเย็นท่านก็ออกมารับญาติโยมและพูดคุยกับญาติโยมจนถึงเวลา ๕ ทุ่มเศษ หลวงปู่รอดท่านก็บอกกับญาติโยมว่า ท่านจะเตรียมตัวไปสรงน้ำและเปลี่ยนจีวรใหม่เพื่อเตรียมตัวตาย หลวงปู่ท่านเตรียมตัวเรียบร้อย เวลาประมาณ ๒ ยาม ท่านก็เข้ากุฏิและคลุมผ้าห่มนอนมรณภาพ ตามคำพูดของท่านที่บอกกับญาติโยมไว้

ขนาดท่านมรณภาพไปแล้ว ยังมาเข้าทรงต่อว่าสัปเหร่อ ซึ่งเป็นมัคทายกวัด ซึ่งเรื่องนี้ท่านพระครูสาครธีรคุณ หรือหลวงพ่อประชุมอดีตเจ้าอาวาสวัดบางน้ำวน ได้เล่าว่า ในวันงานฌาปนกิจศพหลวงปู่รอด หลวงปู่รอดได้เข้าประทับทรงยังร่างพระนี อันพระนีนั้นขาพิการจะเดินไปไหนมาไหนไม่สะดวก พอท่านเข้าทรงร่างพระนีเท่านั้น พระนีก็เดินเหินได้เหมือนปกติ ตรงไปที่นายแบน ซึ่งเป็นสัปเหร่อพร้อมกับพูดต่อว่า “มึงไม่ควรทำกับกูอย่างนี้” พอนายแบนได้ยินก็ตกใจหน้าถอดสี เพราะจำเสียงของท่านได้ จึงได้ขอขมาต่อท่าน ท่านจึงเดินกลับไปยังที่เดิมซึ่งเป็นที่พระนีนั่งอยู่เก่า พร้อมกับออกจากร่างไป เหตุที่ท่านมาต่อว่านายแบนนั้น เพราะนายแบนได้นำร่างท่านใส่โกศ ต้องหักแข้งหักขาเป็นธรรมดา มิฉะนั้นจะนำศพใส่โลงหรือโกศไม่ได้ ซึ่งเรื่องนี้ชาวบ้านต่างโจษขานกันไปทั่ว และในงานฌาปนกิจศพหลวงปู่รอดนั้น คณะศิษย์ได้จัดทำหนังสือสวดมนต์เจ็ดตำนาน แจกจ่ายให้กับผู้ที่มาร่วมในงานฌาปนกิจศพด้วย

หลวงปู่รอด พุทธสัณโฑ วัดบางน้ำวน ต.บางโทรัด อ.เมือง จ.สมุทรสาคร
หลวงปู่รอด พุทธสัณโฑ วัดบางน้ำวน ต.บางโทรัด อ.เมือง จ.สมุทรสาคร

◉ คุณลักษณะพิเศษของหลวงปู่รอด
๑. ดวงตาของท่าน เป็นวาวเหมือนดังกงจักรอยู่ในตารูปกลม ใสดุจเพชรตาแมว ไม่มีใครจ้องหน้าท่าน เพราะมีอำนาจซ่อนเร้นอยู่ในดวงตา
๒.ท่านเป็นพระอุปัชฌาย์ที่ ให้การอุปสมบท แต่จะไม่ยอมลาสิกขาให้กับผู้ใด หากจะลาสิกขา ให้ไปลากับพระรูปอื่น เพราะท่านถือว่า ท่านบวชของท่านมาจะไม่ทำลายจากพระสู่ฆราวาสไม่ได้เด็ดขาด
๓. ท่านจะไม่ยอมลอดของต่ำ เช่น ใครมานิมนต์กิจ ถ้าเป็นบ้าน ๒ ชั้น ท่านจะไม่ยอมลอดไต้ถุนบ้านขึ้นไปชั้นบน ต้องใช้บันไดพาดขึ้นทางหน้าต่าง

หลวงปู่รอด พุทธสัณโฑ วัดบางน้ำวน ต.บางโทรัด อ.เมือง จ.สมุทรสาคร
หลวงปู่รอด พุทธสัณโฑ วัดบางน้ำวน ต.บางโทรัด อ.เมือง จ.สมุทรสาคร

◉ ด้านวัตถุมงคล
หลวงปู่รอด วัดบางน้ำวน เป็นพระเกจิอาจารย์ที่เก่งกล้าทางด้านวิทยาคมมาก ท่านได้สร้างวัตถุมงคลไว้หลายอย่าง เช่น ตะกรุดโทน เหรียญหล่อเหรียญปั๊มรุ่นแซยิด เหรียญหล่อพิมพ์พนมมือ เหรียญปั๊มพิมพ์เสมาอัลปาก้า เป็นต้น เหรียญเสมาหลวงปู่รอด รุ่นแรก พ.ศ.๒๔๘๒ เหรียญเสมาเนื้อฝาบาตรช้อนส้อม นับได้ว่าเป็นเหรียญรุ่นสุดท้ายของท่าน สร้างแจกในงานฉลองสมณศักดิ์พระครู ในปี พ.ศ.๒๔๘๒ ลักษณะการออกแบบเป็นเหรียญรูปเสมามีลวดลายกนกงดงาม ตรงกลางเป็นรูปจำลองหลวงปู่รอดครึ่งองค์ หันหน้าตรง ห่มจีวรลดไหล่ ด้านล้างเป็นอักษรภาษาไทยว่า “พระครูรอด” ด้านหลังเหรียญเป็นอักขระภาษาขอมสี่แถว อักขระภาษามอญหนึ่งแถว อ่านได้ว่า “อะระหัง สัยยะ ยาวะเท อุเย อะเย เวี่ยเปี๊ยเที่ยจะ” เหรียญรุ่นนี้ อาจารย์เทพ สารีบุตร เป็นผู้รับมอบหมายจากหลวงปู่รอด เป็นผู้ดำเนินการสร้าง

เหรียญเสมา หลวงปู่รอด รุ่นแรก พ.ศ.๒๔๘๒
เหรียญเสมา หลวงปู่รอด รุ่นแรก พ.ศ.๒๔๘๒
เหรียญหล่อ พิมพ์สามเหลี่ยมพนม หลวงปู่รอด วัดบางน้ำวน
เหรียญหล่อ พิมพ์สามเหลี่ยมพนม หลวงปู่รอด วัดบางน้ำวน
เหรียญหล่อรุ่นแซยิด หลวงปู่รอด วัดบางน้ำวน ปี พ.ศ.๒๔๗๗
เหรียญหล่อรุ่นแซยิด หลวงปู่รอด วัดบางน้ำวน ปี พ.ศ.๒๔๗๗

นอกจาก นั้นยังมีเครื่องรางของขลัง เช่น ชูชก ถือว่าเป็นต้นตำหรับเป็นตำนานที่ได้นำไม้ที่เป็นมงคลมาแกะ เช่น ไม้ขนุน งาช้าง แกะเป็นชูชก ส่วนงาท่านจะนำเอางากำจัด งากำจาย งากระเด็น ซึ่งมีความเชื่อกันว่าเป็นของคงทนสิทธิ์ มีดีอยู่ในตัวไม่มีอะไรมาทำให้เสื่อมสลายได้ นอกจากกฎแห่งกรรม สิงห์ หรือ ราชสีห์ ก็เป็นเครื่องรางของขลังอีกชนิดหนึ่ง ที่ผู้ใหญ่ผู้ที่จะมีอำนาจให้ยั่งยืนก็ใฝ่หาสิงห์หลวงปู่รอด

ปัจจุบัน วัตถุมงคลของท่านไม่ว่าจะเป็นเหรียญหล่อ เหรียญปั๊ม เครื่องรางของขลัง วัตถุที่เป็นมงคล เช่น ผ้ายันต์ หรือตะกรุด หรือแผ่นยันต์หัวเสา ก็เป็นที่นิยมปรารถนาของศิษยานุศิษย์และบุคคลทั่วไป ที่มีความเชื่อว่าวัตถุมงคลของหลวงปู่รอด เมื่อได้มาแล้วพกพาอาราธนาติดตัวก็จะรอดพ้นจากภัยพิบัตินานัปการ รอดพ้นจากความยากความจน รอดพ้นจากโรคภัยไข้เจ็บ และที่สำคัญรอดพ้นจากความทุกข์ ทั้งกายและใจ ตรงกันข้ามจะดลบันดาลให้มีความสุข ความเจริญ มี อายุยืนยาวนานตลอดกาลนาน

◉ ประวัติวัดบางน้ำวน
วัดบางน้ำวน เป็นวัดเล็กๆ สร้างขึ้นประมาณปี พ.ศ.๒๓๕๗ สร้างขึ้นโดยการนำของสามเณรและชาวมอญ ที่อพยพโยกย้ายถิ่นฐานมาอยู่ที่ตำบลนี้ เพื่อใช้เป็นสถานที่ปฏิบัติศาสนกิจของสงฆ์ ให้ชาวบ้านได้ทำบุญสุนทาน เป็นแหล่งบวชเรียนและศึกษาวิชาความรู้ของบุตรหลานชาวมอญ เมื่อได้ร่วมกันสร้างกุฏิขึ้นแล้วเสร็จ สามเณรผู้เป็นผู้นำการสร้างวัดได้ มรณภาพลง ชาวบ้านจึงได้นิมนต์พระจากเมืองมอญเป็นเจ้าอาวาส แต่ไม่ปรากฏชื่อเป็นเจ้าอาวาสอยู่กี่ปี ไม่มีหลักฐานปรากฏ เป็นเพียงคำบอกเล่าของชาวบ้านบางน้ำวนเมื่อครั้งอดีตเท่านั้น และคงได้ร่วมกันสร้างหมู่เจดีย์ขึ้นมาในคราวนั้นเอง ต่อมาชาวบ้านบางน้ำวนจึงได้นิมนต์พระอาจารย์แค จากจังหวัดปทุมธานีมาเป็นเจ้าอาวาสและพระอาจารย์แคท่านได้บูรณปฏิสังขรณ์วัดสืบต่อมา วัดบางน้ำวนได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาในสมัยพระอาจารย์แคเมื่อ พ.ศ.๒๔๐๗ และได้ผูกพัทธสีมาเมื่อ พ.ศ.๒๔๐๗ นั่นเอง

วัดบางน้ำวนในอดีต
วัดบางน้ำวนในอดีต

วัดบางน้ำวน ตั้งอยู่เลขที่ ๘๑ หมู่ที่ ๔ ต.บางโทรัด อ.เมือง จ.สมุทรสาคร สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มีที่ดินตั้งวัดจำนวน ๕๔ ไร่ ๑งาน ๗๔ ตารางวา ได้รับหนังสือรับรองสภาพวัดเมื่อ วันที่ ๑๑ เมษายน พ.ศ.๒๕๒๘ โดยกรมการศาสนา วัดบางน้ำวนตั้งอยู่ใกล้กับถนนสายธนบุรี-ปากท่อ ก.ม.ที่ ๔๐ จากกรุงเทพอยู่ทางซ้ายมือ มีถนนเชื่อมต่อถึงวัดระยะทางประมาณ ๑,๖๐๐ เมตร บริเวณหน้าวัดติดกับคลองซึ่งเป็นแม่น้ำสามสายมาบรรจบกัน

สายที่หนึ่ง คือลำน้ำแยกมาจากแม่น้ำท่าจีนไหลมาทางด้านหน้าของวัดมีความกว้างประมาณ ๑๐๐ เมตร

สายที่สอง เชื่อมต่อกับคลองสุนัขหอนไปออกแม่น้ำแม่กลอง และสายที่สาม เป็นคลองท่าแร้งซึ่งไหลมาบรรจบกันที่บริเวณหน้าวัด จนเกิดเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ คือ “น้ำวน” ชาวบ้านจึงนิยมเรียกวัดแห่งนี้ว่า “วัดบางน้ำวน”

อาณาเขตของวัด ด้านหน้าวัดทางทิศตะวันออกติดชายคลอง ซึ่งห่างจากวัดใหญ่บ้านบ่อและวัดใต้บ้านบ่อเป็นระยะทาง ๒ ก.ม. ด้านทิศตะวันตกห่างจากวัดเกตุมดีศรีวรารามเป็นระยะทาง ๓ ก.ม. ทิศใต้ติดกับคลองสุนัขหอน ทิศเหนือห่างจากถนนธนบุรี-ปากท่อ ๑.๖ กม.

วัดบางน้ำวนในอดีต บริเวณหน้าวัดจะมีน้ำวนที่เชี่ยวกราดผู้ใดที่ไม่รู้จักร่องน้ำในการเดินเรือ เรือจมกันมาหลายต่อหลายลำแล้ว และในบริเวณน้ำวนหน้าวัดนี่เองมีจระเข้ชุมมากคนเฒ่าคนแก่เล่ากันว่าใต้น้ำวนนี้มีถ้ำจระเข้เข้าไปถึงใต้พื้นโบสถ์เก่า

โดยจะสังเกตได้จากเมื่อฤดูฝนเวลาที่ฝนตกหนักน้ำจะไหลเข้าสู่ใต้โบสถ์โดยรอบกำแพงโบสถ์จะมีร่องระบายน้ำอยู่และเมื่อนำไฟฉายไปส่องดูจะพบน้ำในนั้นใสจนมองเห็นตัวปลา และบางครั้งยังได้ยินเสียงปลาลิ้นหมาร้องด้วย บริเวณหน้าวัดยังมีศาลเจ้าแม่ทับทิมทอง ซึ่งสมัยก่อนจะมีหัวจระเข้เรียงอยู่เต็มไปหมด แต่ปัจจุบันไม่มีแล้ว

วัดบางน้ำวนในอดีต บริเวณหน้าวัดจะมีน้ำวนที่เชี่ยวกราดผู้ใดที่ไม่รู้จักร่องน้ำในการเดินเรือ เรือจมกันมาหลายต่อหลายลำแล้ว และในบริเวณน้ำวนหน้าวัดนี่เองมีจระเข้ชุมมากคนเฒ่าคนแก่เล่ากันว่าใต้น้ำวนนี้มีถ้ำจระเข้เข้าไปถึงใต้พื้นโบสถ์เก่า โดยจะสังเกตได้จากเมื่อฤดูฝนเวลาที่ฝนตกหนักน้ำจะไหลเข้าสู่ใต้โบสถ์โดยรอบกำแพงโบสถ์จะมีร่องระบายน้ำอยู่และเมื่อนำไฟฉายไปส่องดูจะพบน้ำในนั้นใสจนมองเห็นตัวปลา และบางครั้งยังได้ยินเสียงปลาลิ้นหมาร้องด้วย บริเวณหน้าวัดยังมี ศาลเจ้าแม่ทับทิมทอง ซึ่งสมัยก่อนจะมีหัวจระเข้เรียงอยู่เต็มไปหมด แต่ปัจจุบันไม่มีแล้ว
รายนามเจ้าอาวาสผู้ปกครองวัดรวมทั้งหมด ๘ รูปคือ

๑. พระอาจารย์ชาวมอญ ไม่ปรากฏนาม พ.ศ.๒๓๕๗ ถึง พ.ศ.๒๔๐๖ มรณภาพ
๒. พระอธิการแค พ.ศ.๒๔๐๖ ถึง พ.ศ.๒๔๓๗ มรณภาพ
๓. พระครูรอด พุทธสณฺโฑ พ.ศ.๒๔๓๗ ถึง พ.ศ.๒๔๘๗ มรณภาพ
๔. พระอธิการเชื่อม โชติปาโล พ.ศ.๒๔๘๘ ถึง พ.ศ.๒๕๐๗ มรณภาพ
๕. พระอธิการบุญกรี ติสฺสวํโส พ.ศ.๒๕๐๗ ถึง พ.ศ.๒๕๑๗ (ย้ายไปเป็นเจ้าอาวาส วัดบางกระเจ้า ต.บ้านบ่อ อ.เมือง จ.สมุทรสาคร)
๖. พระครูสาครธีรคุณ (ประชุม ธีรปญฺโญ) พ.ศ.๒๕๑๗ ถึง พ.ศ.๒๕๓๘ มรณภาพ
๗. พระใบฎีกาพงษ์ศักดิ์ ขนฺติพโล พ.ศ.๒๕๓๘ ถึง พ.ศ.๒๕๕๖ ลาออก
๘. พระอธิการสามารถ ผลปญฺโญ พ.ศ.๒๕๕๖ ถึง ปัจจุบัน