วันอังคาร, 2 กรกฎาคม 2567

หลวงปู่บุญมา มหายโส ศิษย์อุปัฏฐากรับใช้ หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล และหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต อย่างใกล้ชิด

ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่บุญมา มหายโส

วัดอรัญญิกาวาส
อ.เมือง จ.นครพนม

พระครูไพโรจน์ปัญญาคุณ (หลวงปู่บุญมา มหายโส) วัดอรัญญิกาวาส อ.เมือง จ.นครพนม
พระครูไพโรจน์ปัญญาคุณ (หลวงปู่บุญมา มหายโส) วัดอรัญญิกาวาส อ.เมือง จ.นครพนม

หลวงปู่บุญมา มหายโส หรือ “พระครูไพโรจน์ปัญญาคุณ” อดีตเจ้าอาวาสวัดอรัญญิกาวาส อ.เมือง จ.นครพนม พระป่าสายวิปัสสนากัมมัฏฐาน พระเกจิอาจารย์อีกรูปที่ชาวนครพนมต่างเคารพเลื่อมใสศรัทธา

หลวงปู่บุญมา มหายโส เป็นลูกศิษย์ที่ร่วมธุดงค์ในกองทัพธรรม อุปัฏฐากรับใช้ หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล และหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต อย่างใกล้ชิด วัดอรัญญิกาวาสแห่งนี้เป็นวัดที่หลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น และหลวงปู่บุญมา ธุดงค์มาปักกลด เดิมเป็นป่าช้า ที่ประหารนักโทษ ก่อนตั้งสำนักสงฆ์และสร้างวัดดังกล่าวขึ้นในปี พ.ศ.๒๔๗๒ ระหว่างที่หลวงปู่เสาร์ไปปฏิบัติธรรมที่ภูเขาควายฝั่งลาว มอบภาระให้หลวงปู่บุญมาเป็นผู้ปกครองดูแลวัดสืบมา

◉ ชาติภูมิ
พระครูไพโรจน์ ปัญญาคุณ (พระอาจารย์บุญมา มหายโส) นามเดิมชื่อ กุมมาร เกิดในตระกูล นะคะจัด เกิดเมื่อวันที่ ๙ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๔๔ ตรงกับวันพฤหัสบดี เดือน ๙ ขึ้น ๘ ค่ำ ปีฉลู เกิดที่บ้านสามผง อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม

บิดาชื่อ พันธุ์ นะคะจัด เป็นผู้ใหญ่บ้าน มารดาชื่อ ดามีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๘ คน ชาย ๔ คน หญิง ๔ คน

◉ การศึกษาเบื้องต้น
เรียนหนังสือลาวจากบิดาของท่าน มีความรู้อ่านออกเขียนได้ เรียนหนังสือไทย ที่โรงเรียนโพธิ์ไทร ต.สามผง จ.นครพนม นายศรีทูล เป็นครูสอน มีความรู้อ่านออกเขียนได้ เมื่ออายุครบ ๒๐ ปี ได้อุปสมบทอยู่ที่วัดกลาง อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม เพราะเวลานั้น ต.สามผงขึ้นอยู่กับ อ.ท่าอุเทน พระครูจรรยาภิรมย์ เป็นเจ้าคณะอำเภอท่าอุเทน และเป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์เกษ เป็นกรรมวาจาจารย์ อุปสมบทแล้วกลับไปอยู่วัดโพธิ์ไทร ต.สามผง โดยพระอาจารย์เถิ่ง เป็นเจ้าอาวาส ศึกษาอักษรธรรม อักษรขอม กับพระอาจารย์เถิ่ง มีความรู้อ่านออกเขียนได้ ประจำอยู่วัดโพธิ์ไทรได้ ๒ พรรษา

เมื่อออกพรรษาแล้วพระอาจารย์เถิ่งได้นำพระภิกษุสามเณรที่มีความสมัครใจอยากจะออกฝึกธุดงค์กรรมฐานแสวงหาความวิเวก ออกฝึกธุดงค์กรรมฐานและแสวงหาพระอาจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญทางกรรมฐาน

พ.ศ. ๒๔๖๕ ทราบว่า พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถร พระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม พระอาจารย์มหาปิ่น ปัญญาพโล มาตั้งเผยแผ่วิปัสสนากรรมฐานอยู่ที่บ้านหนองลาด อ.เมืองสกลนคร พระอาจารย์เถิ่งจึงนำพระครูไพโรจน์ และภิกษุสามเณร ที่ร่วมไปในคณะของท่านอาจารย์เถิ่ง เข้าไปกราบนมัสการมอบกายถวายตัว ขอเป็นลูกศิษย์รับการศึกษาฝึกอบรมวิปัสสนากรรมฐานอยู่กับท่าน และขอนิมนต์พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถร ท่านพระอาจารย์สิงห์ ท่านพระอาจารย์มหาปิ่นพาเดินธุดงค์มาทำการเผยแผ่อบรมอยู่ที่ ต.สามผง อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม

ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถร และคณะรับนิมนต์แล้ว พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถร พร้อมคณะ รวมทั้งคณะของพระอาจารย์เถิ่ง เดินธุดงค์มาตั้งทำการเผยแผ่สมถวิปัสสนากรรมฐานอยู่ที่ อ.อากาศอำนวย จ.สกลนคร เป็นเวลา ๓ เดือน ออกจาก อ.อากาศอำนวย แล้วก็เดินธุดงค์มาตั้งอบรมฝึกสอนสมถวิปัสสนากรรมฐานอยู่ที่ ต.สามผง จ.นครพนม เมื่อ พ.ศ. ๒๔๖๕ พอจวนจะเข้าพรรษา โยมแม่ของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถร ก็มาจำพรรษาอยู่ด้วย มีโยมซึ่งบวชเป็นแม่ชีมารับการอบรมรวมอยู่ด้วยจำนวนมาก

พอออกพรรษาแล้ว พ.ศ. ๒๔๖๖ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถร ก็พร้อมคณะของท่านพาโยมแม่ของท่านและคณะแม่ชีลูกศิษย์โยมแม่ของท่าน ก็ออกเดินธุดงค์จากบ้านสามผงกลับไป จ.อุบลราชธานี และไม่ได้กลับมาที่บ้านสามผงอีก ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถร ออกจากป่าสามผงไปไม่นาน พระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล ก็เดินธุดงค์มาที่ จ.อุดรธานี ผ่านมาที่ อ.อากาศอำนวย จ.สกลนคร ตามทางสายที่ท่านพระอาจารย์มั่นภูริทัตตเถร เที่ยวอบรมเผยแผ่ทางปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานมาแล้วจนมาถึงวัดป่าสามผง ๒ พรรษา ได้นำพระอาจารย์บุญมา มหายโส กับพระองค์อื่นๆ ที่ยังเป็นพระมหานิกายอยู่มาญัตติ เป็นพระธรรมยุต กับพระเทพสิทธาจารย์ ที่วัดศรีเทพประดิษฐาราม จ.นครพนม และเปลี่ยนจากนามเดิม ที่ชื่อ “กุมาร” เป็นชื่อ บุญมา ฉายา “มหายโส

ตั้งแต่บัดนั้นมาพระอาจารย์บุญมา มหายโส ได้อยู่ปฏิบัติพระอาจารย์เสาร์มาตลอดจนถึงปี พ.ศ. ๒๔๖๙ พระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล จึงได้นำคณะออกจากวัดป่าสามผงเดินธุดงค์ผ่านมาทาง อ.ท่าอุเทน จ.นครพนม มาตั้งวัดป่า ที่ดงโคกกิ่ว จ.นครพนม ขนานนามว่าวัดโพนแก้ว จนถึง พ.ศ. ๒๔๗๒ พระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล ท่านบอกพระอาจารย์บุญมา มหายโส ว่าท่านจะเที่ยวเดินธุดงค์ไปที่ จ.อุบลราชธานี แล้วจะเลยไปเมืองโขง เขตนครจำปาสัก สปป.ลาว จะไปพัก ณ ที่เผาศพของพระอุปัชฌาย์ของท่าน แล้วทำบุญอุทิศกุศลถวายพระอุปัชฌาย์ท่านด้วย

พระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล ได้มอบหมายให้พระอาจารย์บุญมา มหายโส อยู่ปกครองรักษา ทะนุบำรุงวัดโพนแก้วตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาพระอาจารย์บุญมา มหายโส ก็ได้อยู่ปกครองทะนุบำรุงวัดอรัญญิกาวาส จนถึงวันท่านมรณภาพ รายละเอียดอื่นๆ แจ้งอยู่ในประวัติวัดอรัญญิกาวาสนั้นแล้ว

◉ ตำแหน่งและหน้าที่ทางคณะสงฆ์
๑. ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส เมื่อวันที่ ๒๐ มิ.ย. ๒๔๘๓

๒. ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยเจ้าคณะอำเภอ เมื่อวันที่ ๑ มิ.ย. ๒๔๘๕

๓. ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะอำเภอ เมื่อวันที่ ๒๔ ก.ค. ๒๕๐๘

๔. ได้รับสมณศักดิ์เป็นพระครูไพโรจน์ปัญญาคุณ เมื่อวันที่ ๕ ธ.ค. ๒๕๐๒ ถึงแก่มรณภาพไปเมื่อวันที่ ๖ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๑ เวลา ๑๔.๐๐ น.

นับตั้งแต่วันที่ท่านพระอาจารย์บุญมา มหายโส ได้รับโอวาทและรับมอบหมายวัดโพนแก้ว (พ.ศ. ๒๔๗๙) จากท่านพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล เป็นต้นมา ท่านพระอาจารย์ ก็ตั้งใจรักษาสิกขาวินัยโดยเคร่งครัด ปฏิบัติทางวิปัสสนากรรมฐาน ตามที่ครูบาอาจารย์สั่งสอนไม่ย่อหย่อน อบรมพระภิกษุสามเณรที่เข้ามาบวชอยู่ในวัดนี้โดยไม่ให้ว่างเว้น กลางวันให้ไปศึกษาพระปริยัติธรรมและศึกษาชั้นสามัญที่วัดศรีเทพประดิษฐาราม เวลากลางคืนให้ศึกษาและอบรมปฏิบัติทางสมถวิปัสสนากรรมฐานไม่ให้อยู่ว่าง อบรมอุบาสกอุบาสิกาให้รู้หลักปฏิบัติสมถวิปัสสนากรรมฐานขั้นมูลฐาน และขั้นสูงตามลำดับอุปนิสัย ในระหว่างเข้าพรรษา ได้มีผู้ส่งบุตรหลานและข้าราชการลาเข้าอุปสมบทและบรรพชาอยู่ที่วัดนี้พรรษาละหลายรูป

ส่วนอุบาสกอุบาสิกาก็เข้าจำศีลรักษาอุโบสถปฏิบัติในทางสมถวิปัสสนากรรมฐานไม่น้อยกว่าตั้งแต่ ๑๐ คนขึ้นไป การปฏิบัติกิจวัตรของพระภิกษุสามเณรในวัดนี้มีการฉันอาหารในบาตรมื้อเดียว

ชาวจังหวัดนครพนมส่วนมากไม่เข้าใจการปฏิบัติต่อพระธุดงค์กรรมฐาน ไม่เข้าใจห่อของกับข้าวใส่บาตร คงใส่บาตรแต่ข้าว มีของหวานเป็นส่วนน้อย จึงมีโยมหรีด รัตนโกศล โยมตุ๊ สมิตยนต์ โยมทองพูล ศิริรัตน์ โยมรอด รัตนโกศล โยมเชื้อ จันทมุข โยมสุธรรมา รัตนโกศล โยมแม่กร ณ นครพนม โยมแม่บัว โยมแม่แวว โภชนะคง เป็นคนส่งปิ่นโตของฉันเป็นประจำ นอกจากนี้ส่งเป็นบางครั้งบางคราว ถึงวันพระก็ไปรวมกันถวายกัปปิยะจังหันและรีบศีลฟังเทศน์กันเป็นจำนวนมาก

ในด้านก่อสร้างพัฒนาการเสนาสนะกุฏิชั่วคราวที่มีผู้ศรัทธาตั้งแต่แรกที่พบอาจารย์เสาร์ กันตสีโล ทรุดโทรมลง ก็มีผู้ศรัทธาสร้างถวายแบบกึ่งถาวร พื้นฝากระดานมุงสังกะสี ๒ ห้องมีระเบียงด้านหน้า ปลูกสร้างขึ้นด้านริมวัดทางทิศใต้ จากทิศตะวันออกเรียงกันทางทิศตะวันตกเป็นแถวเป็นระเบียบ เมื่อมีพระภิกษุสามเณรเข้ามาบรรพชาและอุปสมบทประจำอยู่มาก ก็ได้ก่อสร้างเพิ่มเติมขึ้นจากทางทิศเหนือเรียงไปทางทิศตะวันออกเรียงกันไปเป็นแถวเป็นระเบียบ รักษาสภาพป่าด้านหลังไว้ไม่ทำลาย การรักษาเขตวัดก็ได้ฝังหลักไม้แก่นขึงลวดหนามไว้เป็นเขต

ต่อมาถึง พ.ศ. ๒๔๙๑ ก็ได้ลงมือทำการก่อสร้างพระอุโบสถ โดยใช้กำลังพระเณรและญาติโยมผู้มีศรัทธา ขุดดินปั้นอิฐในบริเวณวัดตรงมุมวัดด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งยังเห็นเป็นหลุมอยู่จนบัดนี้ เมื่อปั้นอิฐเผาได้จำนวนเพียงพอแล้วก็ชักชวนญาติโยมพระภิกษุสามเณรออกไปจัดหาตัวไม้ และจัดการเลื่อยอยู่ที่ป่าเชดาใกล้เขตบ้านวังตามัว

โดยท่านพระอาจารย์บุญมา มหายโส เป็นผู้นำฝ่ายฆราวาส มี ร.ต.อ.หมื่น กณฑ์พิทักษ์ (เยสวัสดี) ข้าราชการบำนาญ และโยมเบ็ง ศรีบัณฑิตย์ เป็นผู้อุปถัมภ์จัดการบอกบุญจตุปัจจัยเสบียงอาหาร ชักชวนอุบาสกอุบาสิกาเป็นแม่ครัวประกอบอาหารถวายพระเณรและเลี้ยงดูผู้ที่ออกไปเลื่อยไม้อยู่ในป่า

เมื่อหาตัวไม้พอแก่การก่อสร้างแล้วก็ได้ตกลงจ้างเหมานายแมค จันดี เป็นนายช่างก่อ ส่วนหลังคาได้จ้างนายช่างคนไทยต่างหาก

ได้ลงมือก่อสร้างตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๑ สร้างเสร็จ พ.ศ. ๒๔๙๓ และได้ขอพระราชทานที่วิสุงคามสีมา และประกอบพิธีผูกพัทธสีมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๓ นามวัดโพนแก้ว ก็ได้เปลี่ยนเป็นวัดอรัญญิกาวาส ตั้งแต่วันขอพระราชทานที่วิสุงคามสีมา มาจนถึงวันนี้

พระพุทธรูปองค์ประธานประจำพระอุโบสถ นายหวล บุรชาติ เป็นผู้สร้างถวาย

เมื่อสร้างพระอุโบสถเสร็จแล้วก็ได้สร้างกำแพงแก้วรอบพระอุโบสถ และสร้างประตูซุ้มกำแพงแก้วล้อมรอบพระอุโบสถต่อมา ประตูตรงทางเข้าหน้าโบสถ์ทางทิศตะวันออกเป็นของสกุลปิติพัฒน์สร้างถวายอุทิศกุศลให้แก่บิดามารดาและญาติที่วายชนม์ไปแล้ว ประตูซุ้มกำแพงแก้วทางทิศใต้เป็นของคุณน้อย ปิติพัฒน์ บุตรภรรยาและบุตรเถ้าแก่ถ่ายสร้างถวายอุทิศกุศลให้แก่เก้าแก่ถ่ายบิดา ประตูซุ้มกำแพงแก้วโบสถ์ทางด้านทิศตะวันตกเป็นของโยมบุญยม กัณฑวงศ์ สร้างถวายอุทิศส่วนกุศลให้นายแดง กัณฑวงศ์ สามีที่วายชนม์ไปแล้ว สร้างถวายอุทิศส่วนกุศลให้คุณวาส สมิตยนต์ สามีและบิดามารดา ญาติที่ล่วงลับไปแล้ว

เมื่อสร้างพระอุโบสถและกำแพงแก้วเสร็จแล้ว ก็พอดีศาลาการเปรียญที่สร้างขึ้นสมัยพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล มาประจำอยู่ที่วัดโพนแก้วชั้นแรกก็ชำรุดทรุดโทรม ไม่สามารถที่จะซ่อมแซมให้ใช้การได้ ก็ได้สร้างขึ้นใหม่เป็นแบบกึ่งถาวร เสาก่ออิฐวางคานต่อเสาไม้ พื้นฝากระดานหลังคามุงสังกะสี หลังคาทรงปั้นหยาสี่เหลี่ยมจัตุรัสรูปโดมสี่เหลี่ยม ยอดโดมเป็นรูปรังมดแดง โดยนายวาส สมิตยนต์ เป็นผู้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้างตลอดถึงบริจาคทุนสมทบการก่อสร้างจนเป็นผลสำเร็จ

การพัฒนาการวัดและก่อสร้างเสนาสนะได้ดำเนินการมาเรื่อยๆ เมื่อสร้างศาลาการเปรียญแล้วก็ได้ก่อสร้างกำแพงวัดทั้งทิศใต้และทิศตะวันตกค่อยทำค่อยไปตามกำลังปัจจัยที่มีผู้มาถวายทาน การก่อกำแพงตรงไหนที่พื้นดินราบเสมอกันก็ขุดรากถมรากและก่ออิฐขึ้นเป็นกำแพงสูง ๒ เมตร ให้ได้ระดับเดียวกัน พื้นดินตอนใดต้องเทเสาหล่อคอนกรีตเสริมเหล็กระยะห่าง ๓ เมตร เทเสาค้ำกลางผูกเหล็กหล่อคานรับอิฐที่จะก่อขึ้นไปให้ได้ระดับเดียวกัน สร้างกำแพงด้านทิศใต้และด้านทิศตะวันตกเสร็จแล้ว เริ่มก่อด้านทิศตะวันออกไปทางด้านทิศเหนือจนบรรจบมุมด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ

พื้นที่วัดตรงมุมทิศตะวันออกเฉียงเหนือที่ติดต่อกับป่าช้าญวนที่เป็นบริเวณที่ตั้งสถานที่ทำการไฟฟ้าและชุมสายโทรศัพท์เวลานี้เดิมเป็นสวนร้างของคุณประดิษฐ์ นานนท์ กรมการเมืองสมัยเก่า เมื่อตั้งวัดป่าขึ้นแล้ว เจ้าของท่านก็ปวารณาถวายให้เป็นที่วัด ทางวัดก็ได้ล้อมรั้วลวดหนามไว้เป็นเขต ต่อมาทางวัดก็ได้ก่อเตาเผาศพขึ้นในที่ดินแปลงนี้ หลายปีต่อมาเห็นว่าเตาเผาศพตรงนี้ไม่สะดวกเพราะอยู่ห่างไกลศาลาอย่างหนึ่ง และเป็นที่ลุ่มชื้นแฉะ ถ้าเป็นฤดูฝนยิ่งเป็นการลำบาก ท่านพระอาจารย์บุญมา มหายโส เจ้าอาวาส กับคุณวาส สมิตยนต์ ผู้อุปถัมภ์วัด จึงได้ตกลงกันเข้ามาสร้างเตาเผาศพถาวรที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน โดยตกลงจ้างเหมานายไชยตันสังวรณ์ เป็นนายช่างก่อ ค่าก่อสร้าง ๓.๕ หมื่นบาท ทุนของวัด ๕,๐๐๐ บาท ครั้นเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๓ ได้สร้างใหม่อีกครั้งโดยทุนของวัดและศรัทธาญาติโยม สิ้นค่าก่อสร้างประมาณ ๔ แสนบาท

ต่อมาสมัยนายหวล บุรชาติ เป็นนายกเทศมนตรีเมืองนครพนม ได้วางแผนผังตัดถนนริมวัดอรัญญิกาวาสทางทิศตะวันออก จากหมู่บ้านแขวงการทางไปบรรจบถนนนิตโย ทางหลวงแผ่นดินสายท่าด่านป่าไม้ไป จ.สกลนคร และตัดถนนซอยจากสายริมวัดอรัญญิกาวาสทางทิศตะวันออกไปบรรจบถนนจากถนนเฟื่องนครเข้าวัดอรัญญิกาวาส ที่ดินยังเหลือติดกับรั้ววัดอรัญญิกาวาสอยู่เล็กน้อย จะสร้างอาคารสถานที่อะไรก็ไม่พอ คุณหวล จึงปวารณาด้วยวาจายกที่ดินที่เหลืออยู่นี้ถวายให้เป็นของวัด ทางวัดจึงได้ถอนหลักรั้วออกมาฝังล้อมลวดหนามเป็นเขตไปจนถึงประตูถนนเข้ารั้วเขตวัดทางทิศตะวันออกกับทิศตะวันตกที่ติดกับที่นาท่านขุนอนุสรกรณี ก็ไม่ตรงกันลักลั่นกันอยู่

ที่วัดอรัญญิกาวาส ทางทิศเหนือจากประตูกำแพงวัดไปทางทิศตะวันตก จนสุดเขตวัด จำนวนเนื้อที่ดิน ๓๐๐ ตารางวา เป็นของขุนอนุสรกรณี ยกถวายให้เป็นที่ของวัด ซึ่งทางวัดได้ปักหลักเขตล้อมรั้วไว้และก่อกำแพงล้อมวัดเรื่อยๆ ตลอดมาจนรอบบริบูรณ์ทั้งสี่ด้านจนทุกวันนี้

ต่อมาพระภิกษุสามเณรมีจำนวนมากขึ้น กุฏิที่มีอยู่แล้วไม่พอให้พระภิกษุสามเณรอาศัย พระอาจารย์บุญมา พระครูไพโรจน์ ปัญญาคุณ จึงได้บอกบุญขอร้องให้ผู้มีฐานะดีพอที่จะสร้างได้ พร้อมทั้งมีศรัทธา ให้ช่วยสร้างกุฏิถวาย โดยท่านจัดหาเครื่องวัสดุก่อสร้าง และหานายช่างมาก่อสร้างเองเป็นแบบก่อเสาวางคาน ๒ ห้อง มีระเบียงด้านหน้า มุงสังกะสีพื้นฝาไม้กระดานทาสีฝาทางนอกทางใน ได้มีผู้ศรัทธาเป็นเจ้าของบริจาค ราคาก่อสร้างเท่ากับที่ทางวัดได้จ่ายไป รวมทั้งค่าอุปกรณ์ก่อสร้างและค่าแรงงานนายช่างทั้งหมด ได้กุฏิรวม ๓ หลังเรียงจากทางทิศตะวันตกไปตะวันออกเป็นแถวแนวเดียวกันเป็นระเบียบ ส่วนด้านหลังกุฏิยังรักษาป่าไว้ไม่ได้ถากถางให้คงสภาพเดิมไว้

ต่อมาถึง พ.ศ. ๒๕๐๘ ศาลาการเปรียญที่ท่านพระอาจารย์บุญมา กับคุณวาส สมิตยนต์ สร้างขึ้นนั้นมีการชำรุดบางส่วน หลังคารั่วและรู้สึกว่าจะคับแคบ ทั้งไม่มีฝาล้อมรอบขอบชิด ไม่เป็นที่ปลอดภัยแก่ผู้มาพักรักษาอุโบสถในเวลาค่ำคืน

ท่านพระอาจารย์บุญมา จึงได้ปรึกษาหารือกับคุณสิงห์ทอง พัสดุแขวงการทางผู้มีความรู้ในทางแบบแปลนก่อสร้าง ตกลงรื้อถอนศาลาการเปรียญหลังเก่าสร้างใหม่โดยใช้ตัวไม้เก่าบ้าง สร้างแบบพื้นสูง

ฝาด้านทิศตะวันตกให้บานพลิก ด้านทิศตะวันออก ทิศเหนือ ทิศใต้ ชั้นล่างตีกระดานเกล็ดสูง ๑ เมตร ต่อจากฝาเกล็ดขึ้นไปตีฝากระดานยืน มีบันไดขึ้นทางทิศเหนือและทิศใต้ มีฝาเหล็กยืดปิดใส่กุญแจแน่นหนา มีพื้นที่ศาลากว้างขวางมาก ใต้ถุนมีลูกกรงล้อมรอบและเทซีเมนต์ขัดพื้น เป็นที่เรียบร้อย ฝากั้นห้องเป็นที่เก็บพัสดุเครื่องใช้ ใต้ถุนด้านทิศตะวันตก ๑ ห้อง แถวเสาสุดความกว้างของพื้นศาลา กว้าง ๙ เมตร ยาว ๑๑ เมตร การก่อสร้างได้จ้างช่างก่อสร้างเป็นตอนๆ โดยท่านพระครูไพโรจน์ และนายสิงห์ทอง เป็นผู้ควบคุมก่อสร้างจนเสร็จ ใช้ค่าก่อสร้าง ๔ หมื่นบาท สร้างเสร็จในปีเดียว

ในระหว่างก่อสร้างศาลาการเปรียญ การก่อสร้างกำแพงล้อมรอบวัดต่อไม่หยุดยั้ง โดยค่อยๆทำ ตามจำนวนปัจจัยที่มีผู้ศรัทธาถวาย

ท่านพระครูไพโรจน์ได้ใช้ความอุตสาหวิริยะสร้างวัดอรัญญิกาวาสมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๙๗ สร้างกำแพงรอบวัดเสร็จเรียบร้อยเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๑ ประตูซุ้มกำแพงเข้าวัดทางทิศตะวันออกเป็นของสกุลวัฒนสุชาติ สร้างถวาย ประตูซุ้มกำแพงเข้าวัดทางทิศเหนือเป็นของท่านผู้ว่าราชการจังหวัด สมพร กลิ่นพงษา พร้อมด้วยข้าราชการ พ่อค้าคหบดีจังหวัดนครพนมร่วมกันสร้างถวายเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๑

รวมเวลาที่ท่านพระครูไพโรจน์ ได้ก่อสร้างพัฒนาการทางวัตถุธรรมมาแต่ พ.ศ. ๒๔๙๗ มาถึง พ.ศ. ๒๕๒๑ รวม ๒๕ ปี เห็นมีความเจริญมาเท่าที่เห็นอยู่นี้ ส่วนทางคติธรรมนั้นจะได้ผลมากน้อยเพียงใดไม่สามารถทราบได้ เพราะเป็นนามธรรม

◉ ด้านวัตถุมงคล
ก่อนที่จะมรณภาพ ๓ ปี วัดและคณะศิษย์จัดสร้างวัตถุมงคลเป็นรุ่นพิเศษ คือ “เหรียญหลวงปู่บุญมา รุ่นแรก ปี ๒๕๑๘” เนื้อเงินและเนื้อทองแดง
เพื่อระลึกถึงคุณงามความดี อีกทั้งสำหรับมอบให้ญาติโยมและทหารเรือหน่วยปฏิบัติการตามลำแม่น้ำโขง (นปข.) ในขณะนั้น

ลักษณะเป็นเหรียญกลมรูปไข่ มีหูห่วง ด้านหน้าเหรีย มีรูปเหมือนหลวงปู่บุญมาครึ่งองค์ ด้านล่างสลักตัวหนังสือนูน ระบุ “อาจารย์บุญมา มหายโส” ขอบเหรียญรอบวงรีสลักเส้นคล้ายรอยฟันปลา

ครึ่งเหรียญส่วนบน ถ้าใช้กล้องส่องพระ จะสังเกตเห็นการลงเหล็กจารไว้ที่ขอบเหรียญ โดยใช้เหล็กแหลมเขียนยันต์คาถานกยูงทอง เป็นคาถาที่หลวงปู่มั่นถ่ายทอดให้ลูกศิษย์ไว้เป็นเกราะกำบังตนเองขณะอยู่ในป่า

ด้านหลังเหรียญ ถัดจากเส้นนูนของเหรียญ ระบุ “พระครูไพโรจน์ปัญญาคุณ วัดอรัญญิกาวาส รุ่นพิเศษ” ส่วนบรรทัดที่ ๓-๕ เป็นยันต์อักขระคาถาของพระพุทธเจ้า “นะโมวิมุตตานัง นะโมวิมุตติยา” ระบุปี พ.ศ. สร้าง “๒๕๑๘” มีดอกจันกำกับ ๒ ดอก ก่อนระบุชื่อจังหวัด “นครพนม”

เหรียญหลวงปู่บุญมา มหายโส (ด้านหน้า)
เหรียญหลวงปู่บุญมา มหายโส (ด้านหน้า)
เหรียญหลวงปู่บุญมา มหายโส (ด้านหลัง)
เหรียญหลวงปู่บุญมา มหายโส (ด้านหลัง)

เหรียญรุ่นนี้หลวงปู่บุญมาลงจารด้วยมือทีละเหรียญ พร้อมกับสวดแผ่เมตตาจิตขณะใช้เหล็กแหลมทิ่มเขียนในโลหะ และมีคาถากำกับซึ่งต้องใช้สมาธิสูง จัดเป็นอีกเหรียญที่หายากยิ่ง