วันอังคาร, 26 พฤศจิกายน 2567

หลวงพ่อชม สุธัมโม วัดอินทราราม (ตลุก) อ.สรรพยา จ.ชัยนาท

ประวัติและปฏิปทา
หลวงพ่อชม สุธัมโม

วัดอินทราราม (ตลุก)
อ.สรรพยา จ.ชัยนาท

พระครูธรรมวิทย์โสภณฑ์ (หลวงพ่อชม สุธัมโม) วัดอินทราราม (ตลุก) อ.สรรพยา จ.ชัยนาท
พระครูธรรมวิทย์โสภณฑ์ (หลวงพ่อชม สุธัมโม) วัดอินทราราม (ตลุก) อ.สรรพยา จ.ชัยนาท

พระครูธรรมวิทย์โสภณฑ์ (หลวงพ่อชม สุธัมโม) วัดอินทราราม (ตลุก) พระเกจิอาจารย์ชื่อดัง มีบารมีธรรมขั้นสูง พระผู้ให้แห่งเมืองชัยนาท

๏ ชาติภูมิ
พระครูธรรมวิทย์โสภณฑ์ (หลวงพ่อชม วัดตลุก) นามเดิมชื่อ “ชม พึ่งหอย” เกิดเมื่อ วันเสาร์ เดือน ๘ ปีขาล พ.ศ.๒๔๔๕ ที่บ้านตลุก หมู่๒ ต.ตลุก อ.สรรพยา จ.ชัยนาท บิดาชื่อ “นายลอย” และมารดาชื่อ “นางเขียน พึ่งหอย” มีพี่น้องรวม ๗ คน คือ
๑.หลวงพ่อชม สุธัมโม
๒.นาง ชื่น
๓.นาง จำปี
๔.นาย จำปา
๕.นาง ฉ่ำ
๖.นาง บุญ
๗.นาง สอิ้ง

๏ ปฐมวัย
เมื่อวัยเด็กโยมบิดาท่านได้พาไปฝากเล่าเรียนกับ “พระครูสถิตย์ธรรมวัติ” (หลวงพ่ออ่ำ) วัดอินทาราม (ตลุก) จนอายุท่านได้ ๑๕ ปี จึงลากลับไปช่วยโยมพ่อทำนาแต่เมื่อเวลาว่างจะไปปรณนิบัติ หลวงพ่ออ่ำ อยู่เสมอ

๏ อุปสมบท
จนเมื่อท่านมีอายุครบบวช เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๖ จึงได้อุปสมบทที่ วัดอินทาราม (ตลุก) โดยมี หลวงพ่ออ่ำ เป็นอุปัชฌาย์ พระใบฎีกาเป้า เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ พระสมุห์เพ็ง เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “สุธมฺโม

เมื่ออุปสมบทแล้วก็ได้จำพรรษาที่วัดตลุก และได้ศึกษาธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด พรรษาแรกสอบได้นักธรรมตรี พรรษาที่ ๒ สอบได้นักธรรมโท พรรษาที่ ๓ ได้นักธรรมเอก จนหลวงพ่ออ่ำ เอ่ยชม “ท่านชม มีความมานะดีถ้าบวชไม่สึกท่านจะแทนฉันได้” และเมื่อสอบได้นักธรรมเอกแล้ว ท่านได้เริ่มฝึกสมาธิและพลังจิตกับหลวงพ่ออ่ำ โดยท่านเป็นศิษย์ผู้น้องของ (หลวงพ่อทรัพย์ ซึ่งอยู่ในอารามเดียวกัน) จนเป็นที่พอใจของหลวงพ่ออ่ำ ท่านจึงเริ่มสอนเวมย์มนต์ต่างๆให้อย่างครบถ้วน

หลวงพ่อชม ท่านเคยออกธุดงค์ไปทางแถบเมืองกาญจนบุรี หาอาจารย์เพื่อร่ำเรียนไสยศาสตร์ และ นมัสการพระแท่นดงลัง พระเเท่นศิลาอาสน์ ตระเวนแถบชายแดนพม่า และ พระพุทธบาทสระบุรี พร้อมกับบำเพ็ญกัมมัฎฐานควบคู่กัน โดยท่านผ่านทางบ้านเดิมบาง จ.สุพรรณบุรี ซึ่งสมัยนั้นถือเป็นดงโจร หลวงพ่อปักกรดอยู่ท้ายหมู่บ้าน ที่พวกโจรได้ยกเข้าปล้นหมู่บ้าน เสียงปืนดังเป็นข้าวตอกแตก บางลูกตกมาข้างกรดหลวงพ่อชม พอรุ่งเช้าชาวบ้านรีบเข้ามาดูที่กรดหลวงพ่อ คิดว่าท่านไม่รอดแล้วแต่ปรากฎว่า ท่านไม่ได้เป็นอะไรเลย ชาวบ้านจึงรุมมาขอของดีจากท่าน แต่ท่านกลับบอกว่าท่านไม่มีอะไรให้ แต่บอกทุกคนว่าคนไม่ถึงที่ตาย ทำอย่างไรก็ไม่ตายหรอก แต่ถ้าถึงที่ถึงเวลาไม่มีใครหนีพ้น ขอให้ทุกคนหมั่นสวดมนต์ไหว้พระนึกถึงพุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ ทำความดีอย่าให้ขาด คุณพระจะคุ้มคลองท่านเอง

ครั้นเมื่อถึงปี พ.ศ.๒๔๗๖ วัดศรีมงคล ว่างเจ้าอาวาสลง ชาวบ้านก็นิมนต์หลวงพ่อใหรับตำแหน่งเจ้าอาวาส วัดศรีมงคล ต.หาดอาษา หลวงพ่อท่านดำรงค์ตำแหน่งเจ้าคณะตำบลอยู่ ๒ ปีเศษ จึงกลับไปรับตำแหน่งเจ้าคณะตำบลเขต ๑ ต.ตลุก และจำพรรษาอยู่วัดตลุกเรื่อยมา

ถึงปี พ.ศ.๒๕๐๓ หลวงพ่อชม ท่านได้ไปศึกษาวิชา กัมมัฎฐานอย่างจริงจังกับ อาจารย์พม่า ที่สำนักวัดมหาธาตุ จ.กรุงเทพฯ หลวงพ่อชมท่านเป็นภิกษุรูปเดียวที่มาจาก ชัยนาท รวมกับพระภิกษุสามเณรอีก ๔๐ รูป หลังจากหลวงพ่อบำเพ็ญอยู่ ๔ เดือน ท่านก็สำเร็จการบำเพ็ญกัมมัฎฐานขั้นสูงสุด รองเป็นอันดับสองจากสามเณรรูปหนึ่ง สำหรับการบำเพ็ญกัมมัฎฐานในรุ่นนั้น

เมื่อท่านกลับมาจำพรรษาที่วัด ต่างก็มีลูกศิษย์ลูกหามาหาท่านมากมายจนเต็มวัด ซึ่งท่านก็สร้างศาลากัมมัฎฐานอยู่ด้านข้างวัด เพื่อต้อนรับศิษย์มาจากหลายๆที่ หลวงพ่อชมท่านแสดงการนั่งกัมมัฎฐาน กล่าวคือ เมื่อจิตเข้าระดับสมาธิ จะผลักให้ล้ม หรือ ใช้ของแหลมคมก็ไม่ระคายผิวหนังเลย

ถึงปี พ.ศ.๒๕๐๗ หลวงพ่อชม ก็ได้รับ สมณศักดิ์ ที่ “พระครูธรรมวิทย์โสภณ” หลวงพ่อท่านได้ชื่อว่า “พระผู้ให้” โดยท่านทำการก่อสร้างเสนาสนะ ถนนใหญ่เข้าวัด กำแพงวัด และ สะพาน เหตุที่หลวงพ่อมีสมญาว่า “พระผู้ให้” นั้น โดยหลวงพ่อมีความเชื่อถือจากศิษยานุศิษย์ว่า หากท่านใบ้หวยแล้ว ทุกคนจะร่ำรวยมหาศาล เพราะหลวงพ่อใบ้หวยแม่นมาก

พระครูธรรมวิทย์โสภณฑ์ (หลวงพ่อชม สุธัมโม) วัดอินทราราม (ตลุก) อ.สรรพยา จ.ชัยนาท
พระครูธรรมวิทย์โสภณฑ์ (หลวงพ่อชม สุธัมโม) วัดอินทราราม (ตลุก) อ.สรรพยา จ.ชัยนาท

๏ มรณภาพ
พระครูธรรมวิทย์โสภณฑ์ (หลวงพ่อชม สุธัมโม) วัดตลุก ท่านถึงแก่มรณะภาพลง เมื่อวันที่ ๑๓ ตุลาคม ปี พ.ศ.๒๕๒๕ สิริอายุรวมได้ ๘๐ ปี พรรษา ๕๙

รูปเหมือนบูชา หลวงพ่อชม วัดตลุก
รูปเหมือนบูชา หลวงพ่อชม วัดตลุก

๏ วัตถุมงคล
เครื่องรางของขลังของ หลวงพ่อชม ซึ่งได้ศึกษามาจาก หลวงพ่ออ่ำ และ คณาจารย์หลายท่าน วัตถุมงคลของท่านมีให้เลือกมากมายหลายด้าน เช่น เมตตามหานิยม แคล้วคลาด คงกระพัน ซึ่งโด่งดังไปทุกแห่ง นับตั้งแต่สงครามเกาหลี สงครามเวียดนาม และยุทธภูมิเหี้ยมในลาว ประสบการณ์วัตถุมงคลของท่านต่างมีมากมาย

● เรื่องของ (นายอำนวย เที่ยงประสาท) อยู่บ้าน หมู่ ๒ ต.หาดอาษา ขับรถไถไปทำไร่ที่บ้านบุเรง อ.ตากฟ้า จ.นครสวรรค์ ได้ถูกรถบรรทุกพุ่งชน รถไถกระเด็นขาดครึ่ง รถบรรทุกหน้าหม้อแหลกลาน คนขับบาดเจ็บปางตาย นายอำนวย ถูกชนกระเด็นเสื้อผ้าขาดรุ่งริ่ง แต่ผิวหนังไม่มีรอยบาดแผลใดๆ ชาวบ้านเห็นเหตุการณ์คิดว่าบี้แบนไปแล้ว โดยนายอำนวยได้แขวนรูปหล่อหลวงพ่อชมเนื้อตะกั่วไว้ที่คอนั้นเอง

● เรื่องของ (นายสำราญ ดีเหมือน) บ้านอยู่ใต้เขื่อนเจ้าพระยา ไปทำไร่อยู่ที่ อ.วิเชียรบุรี จ.เพรชบูรณ์ ถูกคู่อริจ่อยิงด้วยปืนลูกซองยาว กระสุนเจาะเสื้อเป็นรู ๙ แห่ง แต่ไม่ระคายผิวหนังเลย เจ้าหน้าที่ตำรวจท้องที่ได้รับแจ้ง จึงทราบว่า นายสำราญแขวนเหรียญหลวงพ่อชมเนื้อทองแดงไว้เป็นประจำ ทำให้ชาวไร่แห่ไปบูชาเหรียญหลวงพ่อชมกันที่วัด

● เรื่องของ (นายไฉน ทองวิโรจน์) อยู่บ้านริมคลองบางโพ มักชอบแขวนรูปถ่ายหลวงพ่อชม วันนั้นที่วัดตลุกมีหนังกลางแปลง ทางวัดจัดฉายเพื่อฉลองกาาสร้างสะพานเพื่อเป็นสาธารณะประโยชน์แก่ประชาชน นายขณะที่หนังกำลังฉาย นายไฉน กับเพื่อนอีก ๔ คน ปะทะกับนักเลงทุ่งต่างถิ่น พอชกต่อยขึ้นชาวบ้านก็แตกฮือกันอลหม่าน นายไฉลเห็นคู่อริล้วงปืนออกมา จึงวิ่งหนีไปทางหลังจอฉาย คู่อริวิ่งตามไปใช้ปืนจ่อยิงระยะประชิดแต่ลั่นไกรไม่แตกสักนัด ขณะนั้น (นายสวรรค์ คำวิชิต) ผู้ใหญ่บ้านพร้อมพวกมรรคทายกเข้าระงับเหตุการณ์ ไล่กวดมือปืน นักเลงลูกทุ่งก็ใช้ปืนยิงปะทะป้องกันตัวไป ๒-๓ นัด แล้ววิ่งเลียบคันคลองเข้าป่าหนีไป ผู้ใหญ่บ้านได้สอบถามสาเหตุจาก นายไฉนกับเพื่อน ปรากฎว่า นายไฉนแขวนรูปหล่อรมดำ หลวงพ่อชม ติดตัวอยู่เสมอนั้นเอง

รูปถ่ายอัดกระจก หลวงพ่อชม รุ่นแรก ปี๒๔๙๗
รูปถ่ายอัดกระจก หลวงพ่อชม รุ่นแรก ปี๒๔๙๗
เหรียญหลวงพ่อชม วัดตลุก รุ่นแรก
เหรียญหลวงพ่อชม วัดตลุก รุ่นแรก
รูปหล่อ หลวงพ่อชม วัดตลุก รุ่นแรก
รูปหล่อ หลวงพ่อชม วัดตลุก รุ่นแรก
รูปหล่อปั๊ม หลวงพ่อชม วัดตลุก ปี ๒๕๑๕
รูปหล่อปั๊ม หลวงพ่อชม วัดตลุก ปี ๒๕๑๕

นับว่า วัตถุมงคลของ หลวงพ่อชม นั้นต่างมีประสบการณ์มากมาย ที่มีประสบกับตัวเองและมีการเล่าต่อกันมา ต่างก็รอดภัยอันตรายมามากมาย ซึ่งวัตถุมงคลของหลวงพ่อชมที่ท่านสร้างก็มีหลายแบบ ทั้ง รูปถ่าย, เหรียญ, ลูกอม, ตะกรุด, ผ้ายันต์, เสื้อยันต์, พระผง, สีผึ้ง, ธง, ด้ายมงคลต่างๆ, รักยม, นางกวัก, ต่างมีประสบการณ์และปาฎิหารย์คุ้มครองป้องกันภัย