วันอังคาร, 26 พฤศจิกายน 2567

หลวงพ่อชิต สุวัณณโชติ วัดมหาธาตุ อ.เมือง จ.เพชรบุรี

ประวัติและปฏิปทา
หลวงพ่อชิต สุวัณณโชติ

วัดมหาธาตุ
อ.เมือง จ.เพชรบุรี

พระครูสุวรรณมุนี (หลวงพ่อชิต สุวัณณโชติ) วัดมหาธาตุ อ.เมือง จ.เพชรบุรี
พระครูสุวรรณมุนี (หลวงพ่อชิต สุวัณณโชติ) วัดมหาธาตุ อ.เมือง จ.เพชรบุรี

พระครูสุวรรณมุนี (หลวงพ่อชิต สุวัณณโชติ) วัดมหาธาตุ พระเกจิอาจารย์ ผู้ทรงวิทยาคม ผู้มีชื่อเสียงโด่งดังมาตั้งแต่ในอดีต แห่งเมืองเพชรบุรี

◉ ชาติภูมิ
พระครูสุวรรณมุนีนรสีห์ธรรมทายาทสังฆวาหะ (หลวงพ่อชิต สุวัณณโชติ) วัดมหาธาตุ นามเดิมชื่อ “ชิต ชิตรัตน์” เกิดเมื่อวังอังคาร เดือน ๔ แรม ๑๓ ค่ำ ปีขาล อัฏฐศก จุลศักราช ๑๒๒๘ (พุทธศักราช ๒๔๑๐) ที่ตำบลบ้านต้นมะม่วง อำเภอคลองกระแชง จังหวัดเพชรบุรี บิดาชื่อ “หมื่นโยธา (สัง ชิตรัตน์)” และมารดาชื่อ “นางอุ่ม ชิตรัตน์” ท่านเป็นพี่คนโตมีน้อง ๒ คน น้องชายชื่อ “นายเชย” น้องสาวชื่อ “นางจีต

เมื่อท่านอายุได้ ๑๑ ปี บิดาเห็นสมควรที่จะศึกษาเล่าเรียนวิชาหนังสือ จึงได้นำตัวมาฝากไว้กับท่านเจ้าอธิการครุธ วัดมหาธาตุ ซึ่งเป็นตา ท่านได้เล่าเรียนวิชาทางหนังสือไทยและขอม พออ่านออกเขียนได้ตามประเพณีตามประเพณีโบราณ เมื่ออายุ ๒๐ ปี จึงได้ลากลับไปอยู่บ้าน เพื่อช่วยบิดามารดาประกอบอาชีพ ทำงานอยู่ ๒ ปีจึงอุปสมบท

◉ อุปสมบท
ท่านอุปสมทบที่วัดจันทร์ เมื่อวันจันทร์ เดือน ๗ พ.ศ.๒๔๒๙ โดยมี ท่านเจ้าอธิการ กรุด วัดจันทร์ เป็นพระอุปัชฌายะ ท่านเจ้าอธิการ ครุธ วัดมหาธาตุ เป็นกรรมวาจารย์ ท่านอาจารย์พ่วง วัดจันทร์ เป็นอนุสาวนาจารย์ อุปสมทบแล้วพระอุปัชฌายะให้ฉายาว่า “สุวณฺณโชติ

หลังอุปสมบทมาอยู่ที่วัดมหาธาตุกับท่านเจ้าอธิการครุธ ได้เล่าเรียนคันถธุระ และวิปัสสนาธุระ ใน พ.ศ.๒๔๓๕ ท่านเจ้าอธิการครุธถึงแก่มรณภาพ และได้ทำการฌาปนกิจ ใน พ.ศ.๒๔๓๖ หลังจากนั้น ท่านก็ย้ายจากวัดมหาธาตุ จังหวัดเพชรบุรี ไปอยู่ที่วัดโมลีโลกย์ ปากคลองบางกอกใหญ่สมัยนั้นท่านเจ้าคุณวิเชียรธรรม (โสต) เป็นเจ้าอาวาส ท่านได้ช่วยท่านเจ้าคุณฯ สถาปนาการปฏิสังขรณ์ ซ่อมกุฏิที่ชำรุดให้ดีขึ้น ท่านจำพรรษาอยู่วัดนี้ประมาณ ๑๑ พรรษา

ใน พ.ศ.๒๔๔๘ เจ้าคุณพระพิศาลสมณกิจ (สิน) พร้อมด้วยญาติของท่าน ได้นิมนต์ท่านกลับมาเมืองเพชรบุรี โดยให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ ตลอดระยะเวลาที่ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ ท่านได้สร้างความเจริญก้าวหน้าให้แก่วัดมหาธาตุทั้งในด้านการสร้างความเคารพศรัทธาจากประชาชนทั้งหลาย การปฏิสังขรณ์ กุฏิ วิหาร อุโบสถ พระเจดีย์ และพระศรีรัตนมหาธาตุ และได้ส่งเสริมการศึกษาทั้งฝ่ายสงฆ์และฆราวาส คือก่อตั้งโรงเรียนนักธรรมและโรงเรียนสอนวิชาสามัญ (โรงเรียนสุวรรณรังสฤษดิ์)

ในการดำเนินงานต่างๆ ท่านได้ขอความร่วมมือจากผู้มีจิตศรัทธา ให้ร่วมแรงร่วมใจกันทำงานร่วมกันบริจาคทรัพย์ นอกจากนี้ท่านยังได้รับพระราชทานทรัพย์องหลวง ช่วยเหลือ และท่านได้บริจาคเงินส่วนตัวของท่านมาใช้กิจการเหล่านั้นจนงานสำเร็จลุล่วงด้วยดีทุกประการ ถาวรวัตถุโบราณ และโบราณสถาน ที่ท่านได้ชักชวนผู้คนให้ร่วมกันบูรณะ ปฏิสังขรณ์ หรือสร้าง เพิ่มเติม ยังคงใช้การได้ดี เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม ตั้งแต่สมัยนั้น สืบมาถึงปัจจุบันนี้ ดังผลงานบางประการของท่านที่ยกมาแสดงเป็นตัวอย่าง
ผลงานด้านประวัติศาสตร์

ท่านได้บันทึกข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ต่างๆ ของวัดมหาธาตุ ตลอดจนเหตุการณ์สำคัญของจังหวัดเพชรบุรี ไว้ในหนังสือชื่อ “ประวัติพระศรีรัตนมหาธาตุและพระครูสุวรรณมุนีสีห์ธรรมทายาท สังฆาวาหะ” ซึ่งท่านได้เรียบเรียงขึ้นใน พ.ศ.๒๔๗๙ นับเป็นเอกสารที่มีคุณค่าอย่างยิ่งเล่มหนึ่ง ให้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์หลายเรื่อง ที่เป็นประโยชน์แก่การศึกษาค้นคว้าในปัจจุบัน ได้แก่

◉ ประวัติพระศรีรัตนมหาธาตุ (ตามคำบอก)
พระศรีรัตนมหาธาตุ (ปรางค์ใหญ่ ๕ ยอด) เป็นโบราณวัตถุที่มีมาช้านาน โดยไม่ปรากฏชัดว่าสร้าง เมื่อใด ใครเป็นผู้สร้าง เมื่อพระครูสุวรรณมุนียังเป็นเด็กท่านก็เห็นพระปรางค์นี้แล้ว อยู่ในสภาพหักพังอยู่ประมาณครึ่งองค์กว่า ท่านพยายามที่จะค้นประวัติเดิม โดยสอบถามอาจารย์ของท่าน ซึ่งมีอายุ ๗๐ ปีเศษ แต่ท่านอาจารย์ก็ไม่ทราบและได้เล่าให้ฟังอีกว่า ท่านเองก็ได้ไต่ถามผู้เฒ่า อายุ ๑๐๐ ปี ผู้เฒ่านั้นก็ไม่ทราบเช่นกัน เมื่อท่านได้อุปสมบทแล้ว ท่านได้รับฟังคำบอกเล่าของนางแจ ซึ่งมีอายุ ๘๐ ปี ว่ายายเล่าให้ฟัง และแม่เล่าให้ตนฟังว่า พระสถูปปรางค์องค์นี้ชั้นเดิมนั้นได้ทำสำเร็จเป็นองค์แล้วแต่ได้หักพังลงในภายหลัง
นายช่างอิฐ มารับจ้างทำอิฐพระปรางค์ที่หักอยู่นั้นได้ขุดดินที่ข้างหลังวัดมหาธาตุนี้ (ตรงป่าช้าวัดแก่นเหล็ก) ขณะที่ขุดดินไปนั้นได้พบอิฐอย่างโบราณ ขนาดยาวประมาณ ๑ ศอก มีอิฐปูนเป็นลำดับ เมื่อขุดและงัดอิฐนั้น มีซากศพอยู่ที่นั้น ร่างและอิฐยังคงบริบูรณ์มีกระโหลกศีรษะใหญ่ประมาณเท่าบาตรอย่างโบราณ มีอักษรจารึกที่แผ่นอิฐนั้นว่า “ข้าพเจ้า จีนแดงได้สร้างพระปรางค์ไว้ไม่สำเร็จขอให้ข้าพเจ้าได้สร้างพระปรางค์นี้อีกต่อไป” มีใจความเท่านี้แต่เมื่อสมัยนั้นพระปรางค์องค์นี้ได้หักพังอยู่แล้ว และไม่ทราบว่าพังมาตั้งแต่ครั้งใด

พระครูสุวรรณมุนี ได้ค้นหาหนังสือที่ตู้ ในพระอุโบสถ ซึ่งมีอยู่นานหลายชั่วสมภารแล้ว ท่านได้พบรูปแปลน และหนังสืออยู่ก้นตู้หนึ่งเล่มซึ่งมีภาษาบาลีทับอยู่หลายชั้น รูปแปลนของพระปรางค์ ๒ รูป รูปหนึ่งหักอยู่ครั้งองค์ อีกรูปบริบูรณ์ดีตลอดองค์ ส่วนหนังสือนั้นเป็นสมุดดำแบบโบราณเขียนด้วยตัวรง ได้ลบเลือนไปบ้างแต่พอได้ความดังนี้ “พระศรีรัตนมหาธาตุ ปรางค์ใหญ่ ๕ ยอดองค์นี้ ได้ชำรุดหักพังอยู่แต่เมื่อใดไม่ปรากฏ แต่ทราบว่าท่านเจ้าอธิการรอด วัดยาง กับเจ้าอธิการวัดมหาธาตุซ่อมขึ้น เมื่อปีจอ ฉศก จุลศักราช ๑๑๗๖ ตรงกับพระพุทธศักราช ๒๓๕๗ ท่านเจ้าอธิการรอดกับท่านเจ้าอธิการถัวทั้งสององค์นี้ ได้เป็นผู้รักใคร่สนิทสนมซึ่งกันและกันในสมัยนั้น ท่านเจ้าอธิการรอดองค์นี้มีอภินิหารและผู้นิยมนับถือมาก จึงได้มีความสามารถซ่อมพระปรางค์องค์นี้พร้อมด้วยท่านเจ้าอธิการถัว สำเร็จได้เป็นองค์คงรูปเดิม จำเนียรกาลต่อมา ถึงปีกุนเบญจศล จุลศักราช ๑๒๒๕ ตรงกับพระพุทธศักราช ๒๔๐๖ ได้หักลงมาอีกเป็นครั้งที่ ๒ คำนวณตั้งแต่ปีจอ ถึงปีกุนมีระยะ ๕๐ ปี

ก่อนที่พระปรางค์จะหักครั้งที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จมาทอดพระเนตรและรับสั่งว่า “พระปรางค์นี้ชำรุดชรามาก จะไม่ถาวรนาน” หลังจากพระองค์เสด็จกลับไม่นานพระปรางค์ ก็หักพังลงมาทั้ง ๕ ยอด เหลือยู่ประมาณ ๑๕ วา ในต้นรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงบริจาค พระราชทรัพย์ของหลวงให้พระยาสุรินฦาไชยนำมาใช้ในการซ่อมพระปรางค์ แต่เมื่อก่อขึ้นไปได้ไม่กี่วา ก็หัก พังลงมาอีกเป็นครั้งที่ ๓ แล้วได้ก่อขึ้นไปอีกประมาณ ๔ ศอก หลังจากนั้นก็ชะงักการบูรณะซ่อมแซมไปหลายปี จนถึงสมัยของพระครูสุวรรณมุนี (ชิต) ท่านจึงได้ชักชวนคฤหัสถ์ บรรพชิตมากมาย ให้ร่วมมือช่วยกันปฏิสังขรณ์จนสำเร็จเป็นองค์คงรูปเดิมใน พ.ศ.๒๔๗๙

ใน พ.ศ.๒๔๗๒ เคยมีชาวต่างประเทศได้มาชมพระศรีรัตนมหาธาตุ ได้ไต่ถามประวัติความเป็นมากับท่านพระครูสุวรรณมุนี (หลวงพ่อชิต สุวัณณโชติ) และได้บอกกับท่านตามข้อมูลของเขาว่า เดิมเป็นของพวกเขมรสร้าง และมีอายุได้ใน ๑,๗๑๓ ปี ท่านพระครูสุวรรณมุนี ก็ได้พิจารณาเห็นว่าพระศรีรัตนมหาธาตุนี้มีรูปทรงคล้ายคลึงแบบเขมร เมื่อก่อนรากขุดลงไปดูพื้นล่างพบว่าเป็นศิลาแลงอย่างโบราณตามคำบอกเล่าว่าสร้างพร้อมกับวัดกำแพงแลง ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของเมืองเพชรบุรี”

พระครูสุวรรณมุนี (หลวงพ่อชิต สุวัณณโชติ) วัดมหาธาตุ อ.เมือง จ.เพชรบุรี
แถวนั่งจากซ้ายไปขวา
๑.พระครูสมณกิจพิศาล (หลวงพ่อเทพ วัดพระนอน)
๒.พระเพชรคุณมุนี ปสาทนียสมาจารย์ สังฆปาโมกข์ (หลวงพ่อกร วัดพลับพลาชัย ) อดีตเจ้าคณะจังหวัดเพชรบุรี
๓.พระสุวรรณมุณีนรสีห์ธรรมทายาทสังฆวาหะ (หลวงพ่อชิต สุวัณณโชติ) วัดมหาธาตุ อ.เมือง จ.เพชรบุรี
๔.พระครูมหาสมณวงศ์ (หลวงพ่อเล็ก ฐิตสีโล) วัดมหาสมณาราม(เขาวัง) อ.เมือง จ.เพชรบุรี

◉ ประวัติและผลงานของสมภารวัดมหาธาตุ ๘ รูป ก่อนท่านมาปกครองวัดมหาธาตุ
๑. ท่านเจ้าอธิการถัว ได้สถาปนาการซ่อมพระศรีรัตนมหาธาตุ พร้อมกับท่านเจ้าอธิการรอด วังยาง ซ่อมสำเร็จดีคงรูปเดิม
๒. ท่านอธิการแก้ว
๓. ท่านอธิการวัด
๔. ท่านอธิการครุธ ท่านผู้นี้เป็นอาจารย์ฝ่ายวิปัสสนาธุระ ท่านเป็นผู้มีคุณงามความดีอย่างมากได้ทำนุบำรุงวัดจนเจริญรุ่งเรือง ใน พ.ศ.๒๔๐๐ พระศรีรัตนมหาธาตุได้ชำรุดหักพังลงมาอีกครั้งหนึ่ง กับพระวิหารคดและรูปพระปฏิมากรหักพังเป็นจำนวนมากในทางทิศเหนือและทับท้ายพระวิหารหลวง ซึ่งมีพระปาเลเลย์ทำด้วยหินแดงเป็นของโบราณหักพังกระจัดกระจาย ท่านจึงสถาปนาการก่อสร้าง ซ่อมที่ชำรุดหักพังให้ดีขึ้น แล้วยังได้ซ่อมแซมกุฏิที่ชำรุดให้ดีขึ้น สร้างกุฏิใหม่ขึ้นอีก ในสมัยนั้นพระสงฆ์จำพรรษาอยู่ไม่ต่ำกว่า ๒๐ รูป ขึ้นไป ท่านถึงแก่มรณภาพใน พ.ศ.๒๔๓๘ อายุได้ ๗๐ ปีเศษ
๕. ท่านเจ้าอธิการน้อย ได้สถาปนาการสร้างศาลาหน้าโบสถ์ไว้ ๑ หลัง ต่อมาได้เลื่อนไปข้างอุโบสถทิศเหนือ ส่วนตัวท่านพักอยู่ในอุโบสถนั้น ท่านเป็นเจ้าอาวาเพียงปีเศษ ก็ถึงแก่มรณภาพ
๖. ท่านเจ้าอธิการหลุบ ได้สถาปนาการสร้างพระเจดีย์พรหมสี่หน้าไว้องค์หนึ่ง ซึ่งประดิษฐานอยู่ทางทิศใต้ของพระปรางค์ ริมกำแพงไปทางถนนเขาบันไดอิฐ ครั้งต่อมาเมื่อ พ.ศ.๒๔๔๗ ท่านและทายกได้ร่วมกันหล่อรอยพระพุทธบาทไว้หนึ่งรอยเพื่อเอาไว้สำหรับพระอาราม ครั้นถึงวันนักขัตฤกษ์ วันมหาสงกรานต์ก็ได้เปิดให้มหาชนนมัสการทุกๆ ปี แต่ต่อมาท่านเกิดอธิกรณ์ขึ้น จึงได้ออกจากตำแหน่งเจ้าอาวาส ตั้งแต่นั้นมาวัดก็เลื่อมลง มีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่ ๕ – ๖ รูป
๗. พระครูโศก ในสมัยนั้นพระพิศาลสมณกิจ (สิน) วัดคงคารามเป็นเจ้าคณะจังหวัดได้แต่งตั้งคณะครูโศกเมื่อยังเป็นอันดับอยู่ที่วัดนี้ เป็นเจ้าอาวาสอยู่ได้ ๑ พรรษา ท่านก็กลับไปอยู่วัดเดิมของท่าน คือวัดปากคลองบางครก
๘. พระครูสุวรรณมุนีนรสีห์ธรรมทายาทสังฆวาหะ พระพิศาลสมณกิจได้ไปนิมนต์ท่านมาจากวัดโมลีโลกย์ ให้กลับมาเป็นเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ
เหตุการณ์ครั้งไฟไหม้ เพชรบุรี พ.ศ.๒๔๕๘

เมื่อเดือน ๖ พ.ศ.๒๔๕๘ ได้เกิดไฟไหม้ขึ้นที่ห้องแถว มุมวัดโพธารามเวลาเช้า ๕ นาฬิกาเศษ ไฟลุกลามติดต่อมาไหม้ตลาด บ้านเรือนทั้งสองฝั่งแม่น้ำตามถนนพานิชเจริญจนถึงประตูเมือง มีลมหวนข้ามฟากมาทางตำบลบ้านหม้อ ไหม้บ้านนายแสง นางเหลื่อม ตลอดจนถึงวัดมหาธาตุและถนนนอกถึงตำบลคลองกระแชง และเรือนจำเก่า วัดที่ถูกไหม้ในครั้งนั้นมี ๒ วัด คือวัดพลับพลาชัยและวัดมหาธาตุ วัดมหาธาตุถูกไฟไหมบริเวณกุฏิทั้งหมด ศาลาการเปรียญ ศาลาอาบสงฆ์ (เป็นทรงไทย) และโบราณวัตถุของวัด เช่น ตู้พระธรรมเขียนเป็นลวดลายรดน้ำ จำนวนหลายตู้ สิ่งของอื่น ๆ อีกจำนวนมาก เหลือเฉพาะอุโบสถวิหารหลวง และวิหารคต รอบพระปรางค์เท่านั้น ท่านและพระสงฆ์จำนวน ๒๕ รูป ต้องอาศัยอยู่ในอุโบสถหลายเดือน ท่านได้บอกบุญชาวบ้านที่ไม่ถูกไฟไหม้ ซึ่งบางคนได้บริจาคทรัพย์ บางคนก็ถวายเรือนโรงมาให้เป็นกุฏิ สุดแล้วแต่จะได้และได้จัดการปลูกกุฏิขึ้น ๕ หลังในปีนั้น

◉ ความก้าวหน้าของวัดมหาธาตุ
ใน พ.ศ.๒๔๕๙ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้เสด็จมาตรวจการคณะสงฆ์ในจังหวัดเพชรบุรี ได้มาเยี่ยมวัดมหาธาตุ ทรงตรัสชมเชยการปฏิสังขรณ์ว่าทำได้รวดเร็ว ได้ประทานย่ามกับผ้าให้เป็นของที่ระลึก ในครั้งนี้สมเด็จพระมหาสมณเจ้าฯ ได้ประทานนามวัดว่า “วัดมหาธาตุ” (เดิมราษฎรเรียกวัดหน้าพระธาตุ หรือวัดหน้าประธาตุ) นอกจากนี้พระองค์จะทูลขอให้เป็นวัดหลวงชั้นตรี ส่วนกฐินนั้นให้ราษฎรทอดได้ตามเคย เมื่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้าเสด็จไปเที่ยววัดช้างนอก (วัดราง) ทอดพระเนตรเห็นศาลาการเปรียญยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ดี จึงมีรับสั่งให้รื้อถอนมาปลูกที่วัดมหาธาตุ ส่วนค่ารื้อและค่าปลูกนั้น ท่านประทานทำบุญด้วย ๕๐๐ บาท ในการรื้อถอนปลูกใหม่นี้ พระครูสุวรรณมุนี ได้ดำเนินการจนสำเร็จ เป็นเงิน ๗๐๐ บาท ส่วนการซ่อมแซมสิ่งก่อสร้างอื่น ๆ ในวัดได้ดำเนินการตั้งแต่ถูกไฟไหม้เรื่อยมาอีก ๓ ปี ได้ใช้จ่ายเงินไปประมาณ ๑๐,๐๐๐ บาทเศษ ทั้งที่ได้ทำอย่างประหยัด เพราะทำกันเองบ้างมีผู้มาช่วยเหลือบ้างและจ้างทำบ้าง พ.ศ.๒๔๖๑ ท่านได้ซ่อมพระวิหารหลวง ที่ตัวไม้ชำรุด คือ ขื่อ ๑ ตัว เชิงกลอนทั้งหมดและสิ่งอื่นที่ชำรุด แล้วมุงกระเบื้องใหม่ สมเด็จพระมหาสมณเจ้าทรงพระกรุณาโปรดเบิกพระราชทรัพย์ของหลวงช่วย ๔,๐๐๐ บาท ซ่อมสำเร็จเมื่อ พ.ศ.๒๔๖๒ เมื่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้าสิ้นพระชนม์แล้ว การทอดกฐินที่วัดมหาธาตุก็เป็นกฐินหลวงตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๖๘ ห้ามมิให้ราษฎรทอด
วัดมหาธาตุ เดิมเคยมีพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยาทุกปี แต่ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ได้ยกการพิธีถือน้ำพิพัฒน์ สัตยาจากวัดมหาธาตุไปทำ ณ พระที่นั่ง เวชยันต์วิเชียรปราสาท บนพระนครคีรี ครั้นถึงสมัยรัชกาลที่ ๖ ก็ได้ย้ายกลับมาทำพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาที่วัดมหาธาตุตามเดิม จนเลิกพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา ในสมัยรัชกาลที่ ๗ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

◉ ผลงานด้านการศึกษา
ท่านได้ส่งเสริมการศึกษาทั้งทางฝ่ายสงฆ์ และฝ่ายฆราวาส
พ.ศ.๒๔๗๑ ได้สร้างโรงเรียนนักธรรม ๑ หลัง เป็นอาคาร ๒ ชั้น เป็นเงิน ๑,๕๐๐ บาท
พ.ศ.๒๔๗๕ ได้ริเริ่มจัดทำโรงเรียน ทำการสอบแบบโรงเรียนประชาบาล ไม่เก็บค่าเล่าเรียนเพื่อช่วยเหลือชาวบ้านที่เงินฝืดเคือง โดยท่านได้ออกเงินส่วนตัวของท่านเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจการของโรงเรียน มีชั้นเรียน คือชั้นประถมปีที่ ๑ – ๔ มีครู ๒ คน นักเรียนชายหญิงประมาณ ๕๐ คน และมีนักเรียนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในปลายปี พ.ศ. ๒๔๗๙ ทางราชการได้ให้เลิกโรงเรียนประชาบาลของวัด
พ.ศ. ๒๔๘๐ ได้จัดตั้งโรงเรียนราษฎร์ของวัด ชื่อ โรงเรียนสุวรรณรังสฤษดิ์ ใบอนุญาตลงวันที่ ๑๙ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ พระครูสุวรรณมุนี (ชิต สุวณณโชติ) เป็นเจ้าของ อาศัยโรงเรียนนักธรรมเป็นสถานที่ทำการสอน เปิดสอนวิชาสามัญ ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาถึงชั้นมัธยมศึกษา การดำเนินการของโรงเรียนในระยะแรกท่านก็สละเงินส่วนตัวช่วยไม่น้อยกว่าปีละ ๖๐๐ บาท จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๘๓ ทางโรงเรียนมีรายได้เลี้ยงตัวเองได้ จึงงดขอเงินช่วยเหลือจากท่าน
พ.ศ.๒๔๘๓ ได้สร้างตึก ๒ ชั้น ยาว ๕ ห้อง ๑ หลัง เป็นเงิน ๑๒,๐๐๐ บาทเศษ ใช้เป็นสถานศึกษาฝ่ายสงฆ์ เรียกโรงเรียนปริยัติธรรม ประจำจังหวัดเพชรบุรี มีทั้งแผนกนักธรรมและบาลี ตึกหลังนี้มีชื่อว่า “ตึกสุวรรณมุนี นฤมาน” (ปัจจุบันใช้เป็นสถานที่สอนธรรมแผนกบาลีสนามหลวง) นอกจากการสร้างอาคารแล้ว ท่านยังได้หาทุนตั้งเป็นมูลนิธิโดยซื้อนาไว้ ๑๓๔ ไร่ ได้ดอกผลมาบำรุงการศึกษาพระปริยัติธรรม

◉ การปฏิสังขรณ์และสร้างถาวรวัตถุในวัดมหาธาตุ
ตั้งแต่ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ ท่านก็ได้ปฏิสังขรณ์และสร้างถาวรวัตถุในวัดมหาธาตุเรื่อยมา โดยทานได้ดำเนินการซ่อม กุฏิ วิหาร อุโบสถให้เรียบร้อยดีขึ้น
พ.ศ.๒๔๕๗ หลังจากไฟไหม้วัดแล้ว ท่านได้ดำเนินการบอกบุญ และเร่งบูรณะซ่อมแซมวัดในเวลา ๓ ปี ก็ดำเนินการสร้างและซ่อมแซมกุฏิและศาลาเสร็จเรียบร้อย สิ้นเงินประมาณ ๑๐,๐๐๐ บาท
พ.ศ.๒๔๖๑ ได้ปฏิสังขรณ์ พระวิหารหลวง เสร็จสิ้นในเวลา ๒ ปี สิ้นเงินประมาณ ๕,๐๐๐ บาท
พ.ศ.๒๔๗๓ ได้สร้างกุฏิ เป็นที่พักพระอาคันตุกะ ๑ หลัง (อยู่ใกล้หอสวดมนต์) เป็นเงินประมาณ ๕๐๐ บาท
พ.ศ.๒๔๗๘ ได้สร้างกุฏิ ๒ ชั้น ๑ หลัง เป็นเงิน ๘๐๐ บาทเศษ
นอกจากนี้ท่านยังได้จัดให้บริเวณหน้าวัด เป็นตลาด ได้นำผลประโยชน์ค่าเช่ามาเป็นค่าภัตตาคาร สำหรับบำรุงพระสงฆ์วัดมหาธาตุ และท่านได้สร้างสะพานไม้ชั่วคราวแทนสะพานจริงที่พังลง ท่านมีดำริจะสร้างข้ามแม่น้ำตรงหน้าวัดให้เป็นสะพานถาวร แต่ยังไม่ทันดำเนินการ ท่านก็ถึงแก่มรณภาพ ภายหลังจึงได้จัดสร้างสะพานคอนกรีตขึ้นใน พ.ศ.๒๔๙๒ (ปัจจุบันสะพานนั้นชำรุดได้รื้อและสร้างสะพานคอนกรีตขึ้นใหม่เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๒)

◉ การปฏิสังขรณ์ ปูชนียวัตถุสถานในวัดมหาธาตุ
เจดีย์พรหมสี่หน้า
ใน พ.ศ.๒๔๔๙ หลังจากท่านมารับตำแหน่งเจ้าอาวาสแล้ว ท่านได้สร้างเจดีย์พรหมสี่หน้าองค์ใหญ่ทางทิศเหนือที่ชำรุดหักพังมานานแล้ว โดยท่านและมรรคทายกทั้งหลาย ได้ร่วมกันบอกบุญผู้มีจิตศรัทธาให้ช่วยบริจาคทรัพย์เพื่อการนี้ ซึ่งได้รับเงินบริจาคมากพอที่จะสร้างได้ จึงได้ลงมือรื้ออิฐเก่าที่ชำรุดนั้น รื้ออิฐลึกลงไปประมาณหนึ่งวาเศษก็ได้วัตถุสิ่งของที่เขาบรรจุไว้เดิมในกรุนั้นมีพระปฏิมากร เนื้อทองขาว แต่ชำรุด และมีไหใส่พระพิมพ์แผ่นหนึ่งมี ๓ องค์ติดกัน โตประมาณ ๓ นิ้ว เป็นเนื้อชิน มีประมาณ ๑๐๐ องค์เศษ มีพระเงิน พระทอง แต่เป็นพระมุครึ่งซีกอย่างละ ๑๐๐ กว่าองค์และมีเจดีย์ทองคำ ๑ องค์ สูงประมาณ ๑ กัมมา ทองหนักประมาณ ๑๕ บาท มีผู้มาขอดูมาก ครั้นข่าวนี้แพร่หลายออกไป พระยาสุรพันธ์ฯ (เทียน บุนนาค) ผู้ว่าราชการจังหวัดได้มาขอดูและแนะนำว่า ควรนำเจดีย์ทองคำไปถวายพระเจ้าแผ่นดิน ส่วนสิ่งของอื่น ๆ ให้บรรจุไว้ตามเดิม พระยาสุรพันธ์ฯ ได้นำเจดีย์ทองคำไปถวายรัชกาลที่ ๕ เจดีย์พรหมสี่หน้าองค์นี้เมื่อขุดลงไปถึงพื้นดินประมาณ ๑ ศอก ก็มีน้ำพุไหลออกมาใสสะอาด ตักไม่ใคร่แห้ง มีผู้นิยมอาบกิน ที่มีโรคภัยก็เสื่อมคลาย ผู้คนต่างก็เลื่อมใสศรัทธาได้บริจาคทรัพย์ช่วยในการปฏิสังขรณ์องค์พระเจดีย์มากพอควร นายช่างผู้ก่อสร้างเกรงงานจะล่าช้า จึงปิดปล่องน้ำและเร่งลงมือก่อสร้างไปจนถึงกลางองค์ก็ได้บรรจุสิ่งของที่ได้ไว้ในพระองค์พระเจดีย์ ทำไปจนสำเร็จ ในปี พ.ศ.๒๔๕๑ สิ้นเงินประมาณ ๕๐,๐๐๐ บาทเศษ

พ.ศ.๒๔๕๗ ท่านได้เลื่อนพระเจดีย์องค์หนึ่ง และพระปรางค์องค์เล็กเดิมประดิษฐานอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของพระปรางค์ มีต้นโพธิ์ล้อมอยู่ ๒ ต้น เจดีย์อยู่ในระหว่างกลาง แต่มีฐานใหญ่โอบรอบต้นโพธิ์ทั้ง ๓ ต้น แต่โพธิ์นั้นตายเสีย ๓ ต้น ยังคงอยู่บัดนี้ (พ.ศ.๒๔๗๙) ๑ ต้น ส่วนเจดีย์นั้นชำรุดมาก จึงได้รื้อไปก่อใหม่ ซึ่งประดิษฐานอยู่ริมกำแพงด้านทิศตะวันออก คือองค์ที่มีกำแพงแก้ว เมื่อสำเร็จแล้วได้บรรจุอัฐิธาตุท่านอธิการครุธไว้ที่ฐานเจดีย์องค์นี้ (องค์เดิมที่ท่านสร้างไว้) และเจดีย์องค์เล็ก ๆ อีก ๓ องค์ ก็ได้เลื่อนไปเข้าแถวเป็นระเบียบกัน ทำสำเร็จ เป็นเงิน ๘๐๐ บาทเศษ

◉ การปฏิสังขรณ์ พระศรีรัตนมหาธาตุ (พ.ศ.๒๔๗๑ – พ.ศ.๒๔๗๙)
พระครูสุวรรณมุนี คิดมาตั้งแต่เยาว์วัยที่จะเห็นพระศรีรัตนมหาธาตุซึ่งหักพังประมาณครึ่งองค์นั้นได้สร้างสำเร็จเรียบร้อย ท่านคิดเช่นนี้มาตลอดจนเติบใหญ่ เมื่อท่านได้เป็นเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุและเจ้าคณะจังหวัด ท่านยิ่งมีความประสงค์ที่จะปฏิสังขรณ์พระศรีรัตนมหาธาตุมากยิ่งขึ้น

วันหนึ่งท่านเห็นเจดีย์ที่ชำรุดหักพัง มีเถาวัลย์ขึ้นรกปกคลุม เจดีย์องค์นี้ประดิษฐานอยู่บนฐานพระปรางค์ ท่านก็หวังว่าจะซ่อมขึ้นใหม่ จึงให้ลูกศิษย์แผ้วถางทางต้นไม้ที่ปกคลุมนั้นออกให้หมด และได้ช่วยกันรื้ออิฐขุดลงไปประมาณ ๒ ศอกเศษ งัดอิฐนั้นขึ้นมา เห็นเป็นโพรงลึกสุดมือเอื้อม ได้เห็นฝาโถและตลับลายคราม ถูกชะแลงขุดแตก ครั้นรื้อลงไปหยิบเอาโถนั้นขึ้นมาดู ในนั้นมีพระองค์เล็ก ๆ เป็นพระพิมพ์บ้าง พระเงินบ้าง พระทองบ้าง แต่ตลับนั้นแตกกระจาย ท่านจึงกวาดมูลดินในปล่องนั้นมาล้างน้ำตรวจดูก็ได้พระบรมธาตุ ๒ องค์ขนาดใหญ่เท่าเมล็ดถั่วเขียวแตก มีรัศมีเปล่งปลั่ง ท่านจึงตั้งสัตยาธิษฐาน ขอให้ท่านสร้างสำเร็จท่านก็บังเกิดอาการขนพองสยองเกล้าทั้งสรรพางค์กาย มีปีติอิ่มเอิบกว่าปรกติธรรมดา นับว่าเป็นมงคลนิมิต ต่อมานั้นท่านได้ปรึกษาหารือกับพวกคฤหัสถ์ และบรรพชิต ในการซ่อมพระปรางค์ให้สำเร็จ ปรากฏว่ามีผู้ศรัทธาบริจาคทรัพย์ในการปฏิสังขรณ์พระศรีรัตนมหาธาตุเป็นจำนวนมาก
พระครูสุวรรณมุนีได้กระทำการบวงสรวงที่พระศรีรัตนมหาธาตุอีก ก็เกิดอาการที่นับเป็นมงคลนิมิตอีก ท่านจึงเกิดความมั่นใจว่า คงบูรณะปฏิสังขรณ์ได้สำเร็จ นอกจากนี้เงินบริจาคก็มีจำนวนพอเพียงที่จะบูรณะได้แล้ว ต่อมาได้ทราบข่าวว่านายทองดี ได้พระบรมธาตุ ๒๐ กว่าองค์ และทองรูปพรรณ เงินและทองอยู่ในโถที่ติดอยู่ที่เจดีย์ชำรุดในวัดป่าแก้ว พระยาสุรพันธ์เสนี (อิ้น บุนนาค) ผู้ว่าราชการจังหวัดได้ไปตรวจดูและถือว่าเป็นของรัฐบาล จึงได้ไปนำสิ่งของเหล่านั้นไปถวายแก่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระองค์ท่านรับสั่งว่าเป็นพระบรมธาตุของจริง และให้นำพระบรมธาตุกลับไปบรรจุไว้ในพระเจดีย์เดิม หรือนำไปบรรจุไว้ในสถานที่ที่เหมาะสม เมื่อพระยาสุรพันธ์เสนีนำเรื่องมาหารือกับพระครูสุวรรณมุนี ท่านเห็นว่า วัดป่าแก้วเป็นวัดร้าง ถ้านำพระบรมธาตุไปบรรจุในพระเจดีย์ อาจถูกคนร้ายลักลอยขุด มิฉะนั้นก็ต้องซ่อมเจดีย์ ซึ่งต้องใช้เงินจำนวนมาก ดังนั้นจึงควรนำพระบรมธาตุไปบรรจุไว้ในพระศรีรัตนมหาธาตุ เมื่อซ่อมเสร็จเรียบร้อยแล้ว พระยาสุรพันธ์เสนี จึงได้มอบพระบรมธาตุไว้ให้ ๙ พระองค์

พระครูสุวรรณมุนีได้แต่งตั้งกรรมการ ๔ คน สมาชิกอีก ๘ คณะเป็นผู้ช่วย ฝ่ายบ้านเมืองมีพระพัฒน์ เพ็ชรภูมิ ปลัดจังหวัดแทนพระยาสุรพันธ์เสนี และ ขุนอักษรสิทธิวินัย ธรรมการจังหวัด ฝ่ายคณะสงฆ์มีพระครูมหาสมณวงศ์ และเจ้าคณะหมวดเจ้าคณะแขวง พระครูสุวรรณมุนี เป็นประธาน ได้มีการประชุมและเรียกช่างจากกรุงเทพฯ มาประมูลราคา จีนหลาประมูลราคาต่ำกว่าช่างอื่นเป็นราคาค่าแรง ๑๓,๓๕๐ บาท จึงได้ตกลงทำสัญญากันตามแบบแปลนและรายการ เมื่อสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชนุภาพทรงทราบเรื่อง ท่านได้ตรวจดูแล้วก็ทรงเห็นชอบด้วย

ในเดือนเมษายน พ.ศ.๒๓๗๑ ได้ลงมือก่อสร้าง ใช้เวลาก่อสร้าง ๑ ปี ๑๑ เดือน จึงสำเร็จเป็นองค์รูปเดิม แต่ไม่มีลวดลายเครื่องประดับ (เพราะช่างจีนทำไม่ได้) แล้วบรรจุพระบรมธาตุในองค์พระปรางค์เล็ก (ฐานกว้าง ๔ ศอก สูง ๖ ศอก อยู่ภายในองค์พระปรางค์ใหญ่) เมื่อ พ.ศ.๒๔๒๒

พระบรมธาตุบรรจุไว้ในหลอดแล้ว ๒ หลอด หลอดหนึ่งบรรจุพระบรมธาตุที่พระครูสุวรรณมุนีพบ ๒ องค์ และพระบรมธาตุที่พระยาสุรพันธ์เสนีนำมามอบให้อีก ๙ องค์ รวมเป็น ๑๑ องค์ ส่วนอีกหลอดหนึ่งบรรจุพระบรมธาตุที่ประชาชนนำมามอบให้ รวมทั้งสิ้น ๕๐ กว่าองค์ แล้วนำหลอดแก้วทั้ง ๒ ใส่ลงในโกศทอง เอาโกศทองใส่ลงในโกศนาค เอาโกศนาคใส่ลงในโกศเงิน แล้วเอาพระโกศทั้งสามนี้ใส่ในตู้กระจกที่ตรึงไว้แน่นดีแล้ว อัญเชิญพระบรมธาตุเข้าไปประดิษฐานในรถออกแห่จากวัดมหาธาตุไปตามถนนหลวงแล้วกลับไปวัด เชิญพระบรมธาตุเข้าไปประดิษฐานที่โรงพิธี มีพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์เย็น เวลาเช้าได้ถวายอาหารบิณฑบาตรแก่พระสงฆ์ และมีการมหรสพสมโภช ๕ วัน ๕ คืน ถึงวันที่ ๕ เวลาบ่าย ๓ โมง ได้นำพระบรมธาตุมาตรวจดู พบว่าในหลอดแก้วที่มีพระบรมธาตุ ๑๑ องค์นั้นได้เพิ่มเป็น ๒๓ องค์ ส่วนอีกหลอดหนึ่งก็มีจำนวนมากขึ้น (แต่ไม่ได้นับ) ครั้นได้ฤกษ์เวลาบ่าย ๓ โมงเศษ ได้อัญเชิญพระบรมธาตุขึ้นไปบรรจุไว้ในองค์พระเจดีย์ บรรจุไว้ทั้ง ๕ ยอด ยอดใหญ่พระบรมสารีริกธาตุ ถัดมา ยอดเล็ก ทิศตะวันออก คืออุเทสิกเจดีย์ ทิศใต้คือธาตุเจดีย์ ทิศตะวันตกคือ บริโภคเจดีย์และทิศเหนือคือ ธรรมเจดีย์

ท่านได้ตกลงกับช่างไทย ทำลวดลายเครื่องประดับ ทำได้เล็กน้อยก็หมดทุนทรัพย์ งานจึงหยุดชะงักไปประมาณ ๓ ปี
พ.ศ.๒๔๗๕ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระบรมราชินีได้เสด็จประพาสจังหวัดเพชรบุรี ได้เสด็จมายังวัดมหาธาตุ ทรงมีพระกระแสรับสั่งถึงการซ่อมพระศรีรัตนมหาธาตุ ทรงมีพระกระแสรับสั่งถึงการซ่อมพระศรีรัตนมหาธาตุเมื่อทรงทราบรายละเอียดในการก่อสร้างจึงโปรดเกล้า พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จำนวน ๑,๕๐๐ บาท ช่วยในการซ่อมพระศรีรัตนมหาธาตุด้วย นอกจากนี้มีผู้ศรัทธาบริจาคทรัพย์กันอีก ได้ทรัพย์จากที่ธรณีสงฆ์ และรายได้จากงานปีเปิดพระพุทธบาท จึงสามารถดำเนินการซ่อมต่อจนสำเร็จใน พ.ศ.๒๔๗๙ พระศรีรัตนมหาธาตุ (พระปรางค์ใหม่ ๕ ยอด) เท่าที่ได้ซ่อมแล้ว สูง ๕๕ เมตร ฐานวัดโดยรอบ ๑๒๐ เมตร

เดือนเมษายน พ.ศ.๒๔๘๐ ได้จัด งานฉลอง โดยผู้คนทั้งฝ่ายฆราวาสและบรรพชิต ได้นำรูปจำลองของพระปรางค์ออกแห่งออกจากวัดมหาธาตุ เวลาบ่าย ๓ โมงเศษไปตามถนนหลวง ข้ามสะพานช่างไปถนน พานิชเจริญ ตรงไปข้ามสะพานอุรุพงษ์ วกลงมาถนนดำเนินเกษม มีกระบวนแห่ต่าง ๆ ผู้คนมากมายแห่มาถึงวัดมหาธาตุแล้ว เชิญพระศรีรัตนมหาธาตุจำลองเข้าประดิษฐานอยู่ที่พักกระทำการสักการบูชา มีพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์ รุ่งขึ้นถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ที่มาเจริญพระพุทธมนต์ ชาวบ้านที่มีศรัทธาได้นำอาหารคาวหวานมาถวายพระสงฆ์องค์ละ ๑ คู่ เวลาบ่ายโมงได้มีปฐมสังคายนา มีพระอันดับ ๕๐๐ รูปสวดแจง และได้มีการสมโภชงานนี้ ๕ วัน ๕ คืน มีการมหรสพต่าง ๆ ผู้คนมาร่วมงานมากมายล้นหลาม ด้วยความศรัทธา เลื่อมใส และเพื่อมาสักการบูชา พระบรมธาตุให้เป็นศิริมงคลแก่ตน นับว่างานฉลองครั้งนี้เป็นงานใหญ่ของจังหวัดเพชรบุรี
จากผลงานดีเด่นของพระครูสุวรรณมุนี ที่มุ่งมีประโยชน์ส่วนรวมเป็นสำคัญ มีผลให้ท่านได้รับพระกรุณาโปรดเกล้า เลื่อนสมณศักดิ์สูงขึ้น คือ

พ.ศ.๒๔๖๓ อายุ ๕๔ ปี ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานสมณศักดิ์ เป็น พระครูญาณพิลาปเจ้าคณะอำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี

พ.ศ.๒๔๗๑ อายุ ๖๒ ปี ทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานสมณศักดิ์ เป็น พระครูสุวรรณมุนีนรสีห์ธรรมทายาทสังฆวาหะ เจ้าคณะจังหวัดเพชรบุรี

พระครูสุวรรณมุนี (หลวงพ่อชิต สุวัณณโชติ) วัดมหาธาตุ อ.เมือง จ.เพชรบุรี
แถวนั่งจากซ้ายไปขวา
๑.พระครูสมณกิจพิศาล (หลวงพ่อเทพ วัดพระนอน)
๒.พระเพชรคุณมุนี ปสาทนียสมาจารย์ สังฆปาโมกข์ (หลวงพ่อกร วัดพลับพลาชัย ) อดีตเจ้าคณะจังหวัดเพชรบุรี
๓.พระสุวรรณมุณีนรสีห์ธรรมทายาทสังฆวาหะ (หลวงพ่อชิต สุวัณณโชติ) วัดมหาธาตุ อ.เมือง จ.เพชรบุรี
๔.พระครูมหาสมณวงศ์ (หลวงพ่อเล็ก ฐิตสีโล) วัดมหาสมณาราม(เขาวัง) อ.เมือง จ.เพชรบุรี

◉ มรณภาพ
ตลอดอายุของท่าน พระครูสุวรรณมุนี (หลวงพ่อชิต สุวัณณโชติ) วัดมหาธาตุ ท่านได้อุทิศตนให้กับงาน ทั้งด้านการบูรณะ ซ่อมแซมโบราณวัตถุโบราณสถานในวัด การพัฒนาวัด การพัฒนาการศึกษาและเผยแพร่อบรมจริยธรรมแก่ชุมชน แม้ในช่วงสุดท้ายแห่งชีวิต ก่อนมรณภาพ ในวันที่ ๑๗ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๘๗ เวลา ๑๘.๐๐ น. ท่านได้อาราธนาพระสงฆ์ทั้งวัด มาประชุมล้อมรอบเตียงนอนของท่าน ได้ให้โอวาทแก่พระที่มาประชุมว่า “ขอท่านทั้งหลายจงมีความสามัคคีกัน ฉันเป็นห่วงพวกเธอมาก” และได้ถามถึงอาหารการบริโภคว่า “คนครัวยังทำครัวเลี้ยงพระเป็นปรกติดีอยู่หรือ

ต่อจากนั้นท่านได้อาราธนาพระสงฆ์ให้สวดมนต์พระสูตรต่างๆ ตามที่ท่านระบุอาราธนา และท่านได้ตั้งใจฟังพระสงฆ์สวดมนต์ อยู่ด้วยอาการอันสงบ จนถึงแก่มรณภาพด้วยอาการอันสงบ
วันศุกร์ แรม ๘ ค่ำ เดือน ๘ ปีวอกตรงกับวันที่ ๑๑ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๘๗ ท่านได้เริ่มอาพาธเป็นโรค นิวมอเนีย แม้จะได้รับการรักษาพยาบาลเป็นอย่างดีแต่อาการก็ไม่ทุเลาลง ในวันที่ ๑๗ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๘๗ เวลา ๒๐.๕๘ น. ท่านก็ถึงแก่มรณภาพ รวมอายุได้ ๗๘ ปี ๔ เดือน ๑๔ วัน พรรษา ๕๗ และพระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุวัดมหาธาตุ จังหวัดเพชรบุรี เมื่อ ๖ – ๙ มีนาคม พ.ศ.๒๔๙๒

◉ ด้านวัตถุมงคล
หลวงพ่อชิต สุวรรณโชติ – ชิตรัตน์ วัดมหาธาตุวรวิหาร ตำบลคลองกระแซง อ.เมือง จ.เพชรบุรี ท่านเป็นพระนักพัฒนา ท่านได้สร้างวัตถุมงคล ๒ รุ่น เหรียญรุ่นแรกเนื้อเงิน สร้างในปี พ.ศ.๒๔๘๐ เป็นเหรียญเสมา รูปเหมือนหน้าตรงครึ่งองค์ ระบุสมณศักดิ์ พระครูสุวรรณมุนี ขอบเหรียญประดับด้วยซุ้มกนก ด้านหลังเป็นรูปองค์พระปรางค์ ระบุ พ.ศ.๒๔๘๐

เหรียญรุ่นแรก หลวงพ่อชิต วัดมหาธาตุ จ.เพชรบุรี ปี พ.ศ.๒๔๘๐ เนื้อเงินลงยา
เหรียญรุ่นแรก หลวงพ่อชิต วัดมหาธาตุ จ.เพชรบุรี ปี พ.ศ.๒๔๘๐ เนื้อเงินลงยา
เหรียญรุ่นแรก หลวงพ่อชิต วัดมหาธาตุ จ.เพชรบุรี ปี พ.ศ.๒๔๘๐ เนื้อเงิน
เหรียญรุ่นแรก หลวงพ่อชิต วัดมหาธาตุ จ.เพชรบุรี ปี พ.ศ.๒๔๘๐ เนื้อเงิน
เหรียญรุ่นแรก หลวงพ่อชิต วัดมหาธาตุ จ.เพชรบุรี ปี พ.ศ.๒๔๘๐ เนื้อทองแดง
เหรียญรุ่นแรก หลวงพ่อชิต วัดมหาธาตุ จ.เพชรบุรี ปี พ.ศ.๒๔๘๐ เนื้อทองแดง

เหรียญรุ่นแรกนี้ ประกอบด้วยเนื้อทองคำ เนื้อเงินลงยา เนื้อเงิน เนื้อนาก และเนื้อทองแดง ซึ่งคณาจารย์ที่ร่วมปลุกเสกในรุ่นนี้ประกอบด้วยหลวงพ่อเปี่ยม วัดเกาะหลัก หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม หลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง หลวงปู่นาค วัดหัวหิน หลวงพ่อโศก วัดปากคลองบางครก หลวงพ่ออินทร์ วัดยาง หลวงพ่อทองสุข วัดโตนดหลวง หลวงพ่อจันทร์ วัดมฤคทายวัน