ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่นาค ปุญญนาโค
วัดหัวหิน
อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์
พระครูวิริยาธิการี (หลวงปู่นาค ปุญญนาโค) วัดหัวหิน พระเกจิอาจารย์ยุคเก่าผู้ทรงวิทยาคม เชี่ยวชาญด้านคาถาอาคม สร้างพระเครื่องได้เข้มขลัง แห่งหัวหิน
◉ ชาติภูมิ
พระครูวิริยาธิการี (หลวงปู่นาค) วัดหัวหิน เกิดเมื่อปีพ.ศ.๒๔๐๐ เป็นบุตรของนายพ่วง นางสุ่ม พ่วงไป มีพี่น้องรวม ๕ คน ท่านเป็นคนที่ ๒ บ้านเดิมอยู่ที่บ้านลัดโพ อ.คลองกระแซง จ.เพชรบุรี หัดเรียนเขียนอ่านอักขระสมัยที่วัดลัดโพ กับพระอธิการเมืองอยู่ ๑ ปี แล้วย้ายไปอยู่กับพระอธิการสุก วัดหลักป้อม จ.สมุทรสงคราม เรียนทางพระปริยัติธรรมและบาลีธรรมอยู่หลายปี จนอายุย่าง ๑๙ ปีจึงบรรพชาเป็นสามเณร
◉ อุปสมบท
กระทั่งอายุ ๒๑ ปี จึงอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดหลังป้อม ได้รับฉายาว่า “ปุญญนาโค” เริ่มศึกษาวิปัสสนาธุระและรับการถ่ายทอดพุทธาคมจาก หลวงพ่อตาด วัดบางวันทอง ซึ่งเป็นอาจารย์ของ หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม นอกจากนี้ ยังได้ศึกษาวิชาอาคมจาก หลวงพ่อเอี่ยม วัดลัดด่าน และ หลวงพ่อภู่ วัดบางกะพ้อม จนมีเกียรติคุณเลื่องลือด้านวิทยาคมอย่างยอดเยี่ยม
ในปี พ.ศ.๒๔๖๔ ท่านได้ลาสิกขาออกมาช่วยครอบครัว และแต่งงานกับนางแจ่ม มีบุตร ๑ คน ก่อนที่จะเลิกร้างกันไป และเกิดความเบื่อหน่ายทางโลกตัดสินใจเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์อีกครั้งที่ วัดโตนดหลวง จ.เพชรบุรี จำพรรษาอยู่ระยะหนึ่ง ก่อนมาสร้างวัดวังก์พง ที่อ.ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์
ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ชาวบ้านหัวหินได้พร้อมใจกันสร้าง “วัดอัมพาราม” ขึ้น ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “วัดหัวหิน” ขุนศรีเสละคาม (พลอย กระแสสินธุ์) กำนันโตและผู้ใหญ่กล่ำ เป็นตัวแทนชาวบ้านไปอาราธนาท่านมาเป็นเจ้าอาวาส เพราะเป็นที่เคารพเลื่อมใสของคนในท้องถิ่นนั้น
นับแต่นั้นมา ท่านได้พัฒนาวัดหัวหินจนกระทั่งมีความเจริญก้าวหน้าทัดเทียมวัดอื่นๆ มีความมั่นคงสืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้
ผู้เฒ่าผู้แก่เล่ากันว่า หลวงปู่นาค เป็นพระเกจิอาจารย์เรืองอาคมอุดมด้วยบุญฤทธิ์และอิทธิฤทธิ์ มีปฏิปทาในทางสมณธรรมเป็นเลิศ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทรงมีพระราชศรัทธาเป็นพิเศษ พระองค์ทรงนับถือเสมอด้วยศิษย์กับครู ทุกครั้งที่เสด็จแปรพระราชฐานมาประทับแรม ณ พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี จะทรงมานมัสการเสมอ พร้อมทั้งทรงมีพระบรมราชานุญาตให้ท่านเข้าเฝ้าได้ตลอดเวลา แม้ในยามราตรี
มีผู้บันทึกนิสัย ปฏิปทา และศีลวัตรของท่านไว้ว่า เป็นผู้มีอัธยาศัยรักสงบ เยือกเย็นและสุขุม ประกอบด้วยความเมตตากรุณา มีเมตตาธรรมแก่คนทั่วไปโดยไม่แบ่งชั้นวรรณะ เป็นพระที่พูดน้อย เวลาจะตักเตือนหรือสั่งสอนใคร มักใช้คำพูดสั้นๆ ไม่เยิ่นเย้อ แต่เป็นคำที่เฉียบคม แฝงด้วยความหมายลึกซึ้งยิ่งนัก
หลวงปู่นาค เป็นพระเกจิอาจารย์องค์หนึ่งซึ่งสร้างพระเครื่องได้เข้มขลัง เนื่องจากสืบสายพุทธาคมมาจากเกจิทรงวิทยาคมหลายท่าน วัตถุมงคลและเครื่องรางของขลังที่ขึ้นชื่อลือชาได้แก่ ผ้ายันต์เช็ดหน้า ผ้าประเจียดสีแดง สีผึ้งทาปาก ตะกรุดลูกอม พระพิมพ์เนื้อผงชุดวัดมฤคทายวันคือ พระสมเด็จมฤคทายวัน สมเด็จปรกโพธิ์ สมเด็จพระพุทะชินราช พระผงพิมพ์ป่าเลไลย์ นางกวัก และเหรียญ ปี พ.ศ.๒๔๗๗
ในด้านพุทธคุณความศักดิ์สิทธิ์ กล่าวขานกันว่าดีในทางอยู่ยงคงกระพัน เมตตาค้าขาย วัตถุมงคลบางชนิดจึงเป็นสิ่งหายาก และมีราคาสูง ในจ.ประจวบฯหรือใกล้เคียง หาได้ยากและหวงแหนกันมาก แม้จะให้ราคาสูงเท่าไหร่ ก็ไม่มีใครกล้าแลกเปลี่ยนหรือให้เช่าบูชา …
◉ มรณภาพ
บั้นปลายชีวิต หลวงปู่นาค เริ่มอาพาธด้วยโรคบวมตามข้อ ปีพ.ศ.๒๔๗๕ รักษาตัวเรื่อยมา อาการไม่หายขาด เพียงทุเลาได้เป็นครั้งคราว ก่อนที่จะมรณภาพลงเมื่อเวลา ๑๕.๕๓ น. วันที่ ๒๔ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๗๗ ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสปกครองยาวนานถึง ๓๘ ปี (พ.ศ.๒๔๓๙-๒๔๗๗) มีอายุพรรษาได้ ๔๓ พรรษา
ได้รับพระราชทานเพลิงศพเมื่อวันที่ ๑๗ มีนาคม พ.ศ.๒๔๗๘
ทุกวันนี้แม้จะมีเพียงรูปหล่อแทนตัวท่านประดิษฐานให้กราบไหว้ แต่ชาวหัวหินเชื่อว่า บารมีของหลวงปู่นาค ยังคอยคุ้มครองช่วยเหลืออยู่ เช่นเดียวกับคุณงามความดีที่ไม่มีวันถูกลบเลือนไป
◉ ด้านวัตถุมงคล
วัตถุมงคลที่เป็นสุดยอดปรารถนาคือ “เหรียญรูปเหมือน รุ่นแรก หลวงปู่นาค วัดหัวหิน” ลักษณะเป็นเหรียญรูปทรงเสมา มีหู จัดสร้างโดย พระครูประสิทธิสมณการ (ต้าน เมนะจินดา) วัดจักรวรรดิราชาวาส กรุงเทพฯ ผู้เป็นศิษย์สร้างถวายเพื่อเป็นที่ระลึกในวาระมงคลที่ หลวงปู่นาค สิริอายุครบ ๖ รอบ หรือ ๗๒ ปี
ด้านหน้าเหรียญแกะขอบเป็นลวดลายกนก ตรงกลางเป็นรูปเหมือนครึ่งองค์หันหน้าตรงด้านบนรูปเหมือนเขียนคำว่า “ที่ระลึก” ด้านล่างรูปเหมือนเขียน คำว่า “พระครูวิริยาธิการี” ด้านหลังเหรียญไม่มีขอบเหรียญ ตรงกลางเหรียญเป็นยันต์อุณาโลม ล่างลงมาเป็นอักขระขอม