ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่เจือ ปิยสีโล
วัดกลางบางแก้ว
อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม
หลวงปู่เจือ ปิยสีโล วัดกลางบางแก้ว พระเกจิอาจารย์ชื่อดัง ผู้สืบสานตำนานการสร้างเบี้ยแก้ และยาวาสนาจินดามณีแห่งเมืองนครปฐม
◉ ชาติภูมิ
หลวงปู่เจือ ปิยสีโล วัดกลางบางแก้ว เกิดเมื่อวันที่ ๑๔ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๖๘ ที่บ้านท้ายคุ้ง ต.ไทยยาวาส อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม บิดาชื่อ “นายแพ” และมารดาชื่อ “นางบู่ เนตรประไพ” วัยเยาว์ ศึกษาเล่าเรียนจบชั้นประถมปีที่ ๔ จากโรงเรียนวัดประชานาถ (วัดโคกแขก) แล้วมาช่วยครอบครัวทำนาหาเลี้ยงชีพ
◉ อุปสมบท
อายุ ๒๖ ปี เข้าพิธีอุปสมบท ที่พัทธสีมาวัดกลางบางแก้ว โดยมี พระครูพุทธวิถีนายก (หลวงปู่เพิ่ม ปุญญวสโน) เจ้าอาวาสวัดกลางบางแก้ว เป็นพระอุปัชฌาย์, พระธรรมธรมูล วัดกลางบางแก้ว เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระครูพุทธชัยสิริ (หลวงพ่อผูก) วัดใหม่สุประดิษฐาราม เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “ปิยสีโล”
ภายหลังอุปสมบทอยู่จำพรรษาที่วัดกลางบางแก้ว ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมอย่างมุ่งมั่น จนสอบได้นักธรรมชั้นตรี–โท–เอก จากนั้น ได้รับหน้าที่เป็นครูสอนพระปริยัติธรรมและกรรมการสอบพระปริยัติธรรม
พ.ศ.๒๕๐๔ เป็นพระสมุห์ ฐานานุกรมพระพุทธวิถีนายก (เพิ่ม) พ.ศ.๒๕๒๘ เป็นรองเจ้าอาวาสวัดกลางบางแก้ว และเป็นพระกรรมวาจาจารย์
แม้เคยได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดกลางบางแก้ว แต่ปฏิเสธในการรับตำแหน่งดังกล่าว ทั้งที่เพียบพร้อมทั้ง วัยวุฒิและคุณวุฒิ
เป็นศิษย์สายตรงวัดกลางบางแก้ว เริ่มจากเป็นพระลูกวัด ศิษย์อุปัฏฐากรับใช้สนองงานของหลวงปู่เพิ่ม โดยมีหน้าที่คอยจัดสร้าง เบี้ยแก้ตามคำสั่งของหลวงปู่เพิ่ม ประกอบพิธีกรรมตั้งแต่เริ่มบรรจุปรอท ใช้ตะกั่วหุ้มหอยเบี้ย ลงอักขระเลขยันต์ ถักเชือกหุ้มหอยเบี้ยด้วยมือ
เมื่อทำสำเร็จจะนำไปขอบารมีให้หลวงปู่เพิ่มปลุกเสกอีกครั้ง ก่อนจะนำออกแจกจ่ายลูกศิษย์ผู้เลื่อมใส สืบทอดวิธีจัดสร้างเบี้ยแก้ อันเป็นสุดยอดวิชาของหลวงปู่บุญและหลวงปู่เพิ่มไว้อย่างสมบูรณ์แบบที่สุด
เบี้ยแก้หลวงปู่เจือ เป็นที่ร่ำลือในด้านแคล้วคลาดปลอดภัย เมตตามหานิยม และป้องกันคุณไสยต่างๆ สามารถกันถูกกระทำย่ำยี กันคุณผี คุณไสยเวท อาถรรพณ์ ยาสั่ง ฝังรูปฝังรอย กันมนต์ยาดำย่ำยีด้วยเล่ห์กลมายาสารพัด เป็นต้น นอกจากเบี้ยแก้อันลือลั่นแล้ว ยังทำยาจินดามณี อันเป็นวิชาที่สืบทอดตำรับของวัดกลางบางแก้วด้วย
ยาจินดามณี ใช้อธิษฐานทำน้ำมนต์ อาบ กิน ป้องกันและปัดเสนียดจัญไร บูชาติดตัวไว้จะเป็นเสน่ห์ เมตตามหานิยม เจริญด้วยโชคลาภ หญิงมีครรภ์รับประทาน ๓ เม็ดคลอดลูกง่าย มีผิวพรรณวรรณะผุดผ่องใส สติปัญญาดี นอกจากนี้ หลวงปู่เจือยังได้สร้างวัตถุมงคลไว้อีกหลายแบบหลายรุ่น
เช่น เหรียญเสมาหลวงปู่เจือ รุ่น ๑ พ.ศ.๒๕๓๔ เนื้อเงิน เนื้อกะไหล่ทอง รูปหล่อลอยองค์ รูปเหมือนบูชา พระพิฆเนศวร บูชาพระกริ่งนเรศวรตรึงไตรภพ พระพิมพ์ปรกโพธิ์เนื้อผง พระนางพญาสะดุ้งกลับเนื้อผงขมิ้นเสก และเนื้อดินเผา พระพิมพ์เศียรโล้น พระพิมพ์ซุ้มแหลม พระขุนแผนเคลือบ เหรียญหล่อหลวงปู่เจือ พระปิดตา เนื้อผง ผ้ายันต์และยาจินดามณี
หลวงปู่เจือ ดำเนินชีวิตด้วยความมักน้อยสันโดษ ไม่ยินดียินร้ายในลาภสักการะทั้งหลายทั้งปวง เคร่ง ครัดในศีลาจารวัตร ส่งผลให้ท่านเป็นที่เคารพนับถือของศิษยานุศิษย์ตลอดทั้งพุทธศาสนิกชนทั่วไป
ความเรียบง่ายของหลวงปู่เจือ เห็นได้อย่างชัด เจน เมื่อมีชาวบ้านไปขอบูชาเบี้ยแก้ที่กุฏิ แล้วให้ท่านประสิทธิ์ประสาท หลวงปู่เจือจะเมตตาทำให้ทุกคน บางคนให้ท่านปลุกเสก ลงเหล็กจาร ท่านจะเมตตาตั้งใจทำอย่างดีเป็นที่ประทับใจของผู้พบเห็น
ตลอดชีวิตในช่วงที่ครองตนอยู่ในเพศบรรพชิตของหลวงปู่เจือ ท่านได้เคยปรารภว่า เจอมาทั้งความสำเร็จและอุปสรรคขัดขวาง ทั้งจากทางตรงและทางอ้อม ทั้งมนุษย์และสัตว์ที่เรียกได้ว่ามารผจญ แต่ท่านก็ยึดหลักยึดมั่นจนฟันฝ่ามาได้ คือ ทนเอา อดทน อดกลั้น รวมทั้งแนวความคิดรับสืบทอดมาจากครูบาอาจารย์ ท่านได้นำมาสั่งสอนแก่ลูกศิษย์ว่า ให้มีความเพียร ขยัน อดทน
หลวงปู่เจือ จึงนับเป็นพระเกจิอาจารย์ ที่มีวัยวุฒิอาวุโสรูปหนึ่งแห่งลุ่มแม่น้ำนครชัยศรี จ.นครปฐม เป็นพระเกจิอาจารย์ ที่สมถะเรียบง่าย มักน้อย สัน โดษ มีความเป็นอยู่แบบพระที่เคร่งครัดในพระธรรมวินัย เมตตาบารมีสูง เป็นพระเถระที่ควรแก่การกราบไหว้โดยแท้
ในอดีตเมืองนครปฐม ปรากฏนามสุดยอดพระเกจิอาจารย์ หลายรูป โดยเฉพาะ วัดกลางบางแก้ว มีหลวงปู่บุญ ขันธโชติ และ หลวงปู่เพิ่ม ปุญญวสโน
แม้บูรพาจารย์ทั้ง ๒ ท่าน จะล่วงลับดับสังขารไปแล้ว แต่วัดกลางบางแก้ว ยังมี หลวงปู่เจือ ปิยสีโล ศิษย์เอกสายตรงหลวงปู่เพิ่ม เป็นผู้สืบทอดวิทยาคมอันเข้มขลัง
◉ มรณภาพ
ด้วยสังขารเป็นสิ่งไม่เที่ยง ช่วงกลางดึกคืนวันที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๒ หลวงปู่เจือ ปิยสีโล วัดกลางบางแก้ว ท่านได้มรณภาพลงอย่างสงบ สิริอายุรวมได้ ๘๔ ปี พรรษา ๕๘