ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่เหรียญ ถาวโร
วัดบางระโหง
อ.เมือง จ.นนทบุรี
พระครูนนทสมณวัตร (หลวงปู่เหรียญ ถาวโร) วัดบางระโหง พระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงลือนามแห่งเมืองนนทบุรี
◉ ชาติภูมิ
หลวงปู่เหรียญ ถาวโร วัดบางระโหง นามเดิมชื่อ “เหรียญ สังฆรัตน์” เกิดเมื่อวันที่ ๗ มกราคม พ.ศ.๒๔๓๙ ตรง กับวันขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๒ ปีวอก บ้านเดิมของท่านอยู่ที่ ต.คลองมะดัน อ.เมือง จ.นครราชสีมา บิดาชื่อ “นายแดง” และมารดาชื่อ “นางอยู่ สังฆรัตน์”
ในช่วงวัยหนุ่ม ตัดสินใจเดินทางเข้ากรุงเทพมหานคร โดยการอาศัยเรือโยงจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เข้ามาผ่านทางจังหวัดนนทบุรี จึงหางานทำที่จังหวัดนนทบุรี และได้งานเป็นคนสวนที่บ้านของนายอุ่น อยู่แถวคลองอ้อม
◉ อุปสมบท
เมื่อลูกชายของชาวสวนที่อาศัยอยู่นั้นบวช นายเหรียญ จึงตัดสินใจบวชพร้อมกับลูกชายของชาวสวนบ้านนั้น เมื่อวันที่ ๑ กรกฏาคม พ.ศ.๒๔๗๐ ณ วัดขวัญเมือง ต.บางกร่าง อ.เมือง จ.นนทบุรี โดยมี พระครูชุ่ม วัดประชารังสรรค์ เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอธิการบัว ซึ่งภายหลังได้รับสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะ ชั้นสามัญที่ พระสรนาถธรรมาจารย์ วัดขวัญเมือง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอธิการเผื่อน วัดโตนด เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายา “ถาวโร”
สอบนักธรรมเอก เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๗ ณ สำนักเรียนวัดกลาง อ.เมือง จ.ขอนแก่น
จากนั้นได้กลับจากจำพรรษาที่วัดขวัญเมือง หลวงพ่อบัวกลับจากธุระได้เข้าไปในโบสถ์ โดยที่โบสถ์ยังใส่กลอนอยู่ มีศิษย์หลวงพ่อบัว เป็นใบ้ เรียกว่า “ตาใบ้” หลวงพ่อบัวสอนคาถาให้ตาใบ้ สามารถประทัดไม่ให้แตกได้ จึงเขียนยันต์ที่ฝ่ามือ และตบไปที่เสา แล้วยันต์จะไปโผล่อีกด้านหนึ่งเรียกว่า “นะปัดตลอด” นอกจากหลวงปู่เหรียญ จะเรียนคาถาอาคมกับหลวงพ่อบัวแล้ว ท่านยังเรียนคาถากับอาจารย์เที่ยง ซึ่งเป็นคนบ้านเดียวกันกับหลวงปู่ อาจารย์เที่ยงเป็นคนมีวิชาอาคมเข้มขลัง และเป็นโยมบิดาของพระครูสมุห์บรรจง วัดขวัญเมือง ตอนหลังพระครูสมุห์บรรจง ได้มาเป็นศิษย์ของหลวงปู่เหรียญ อีกทีหนึ่ง หลวงปู่เคยธุดงค์ไปในป่าสมัยก่อน การธุดงค์นั้น ไม่ได้ใช้กลดเลย เพราะท่านบอกว่า ท่านฉันบอระเพ็ดเป็นประจำ จนยุ่งไม่กัดเลย
หลวงปู่เหรียญ ท่านเคยเล่าให้ฟังว่า ตอนยังหนุ่มได้ออกจากบ้าน ไปเป็นคนงานรับจ้างทำนาที่อยุธยา ครั้งหนึ่งมีคนมาลักเกี่ยวข้าว หลวงปู่พร้อมพวก มีพี่ใหญ่ ชื่อ “ก้าน” ได้เสกว่านให้พวกหลวงปู่กิน แล้วออกไปไล่จับคนที่มาลักข้าว ซึ่งมีอยู่ประมาณ ๒๐ คน (ทั้งสองฝ่ายเกิดการต่อสู้กัน) ส่วนฝ่ายหลวงปู่มี ๗ คน อาวุธมีแค่คันหลาวกับไม้เท่านั้น การต่อสู้กับพวกลักข้าว ปรากฎว่าฝ่ายหลวงปู่ไม่ได้รับบาดเจ็บเลย แต่ละคนถูกตี แทง ไม่เข้า จนทำให้พวกโจร ที่มาลักข้าวนั้น แตกกระจายหนีไปหมด
◉ ลำดับงานด้านการปกครองสงฆ์
ในปี พ.ศ.๒๔๘๒ หลวงปู่เหรียญ ดำรงตำแหน่งผู้รักษาการเจ้าอาวาสวัดบางระโหง และเป็นเจ้าอาวาสวัดบางระโหง
ในปี พ.ศ.๒๕๐๙ เป็น เจ้าคณะตำบลบางกร่าง-บางรักน้อย
ในปี พ.ศ.๒๕๑๖ เป็นพระอุปัชฌาย์
ในปี พ.ศ.๒๕๒๐ เป็นพระครูสัญญาบัตร เจ้าคณะตำบลชั้นตรี ในราชทินนามที่ “พระครูนนทสมณวัตร”
◉ มรณภาพ
หลวงปู่เหรียญ วัดบางระโหง ท่านเป็นคนมีสุขภาพแข็งแรง มีเจ็บป่วยบ้างเล็กน้อย, ช่วงปลายปี พ.ศ.๒๕๓๐ หลวงปู่พิ่มฉันยาถ่าย แต่ก็ไม่ถ่าย และมีอาการปวดท้อง ท่านจึงฉันยาธาตุ ยิ่งทำให้ท้องปั่นป่วนมาก ผู้ใหญ่และบรรดาลูกศิษย์จึงพาท่านส่งโรงพยาบาลนนทบุรี พักรักษาตัวหลายวันจึงกลับวัด แต่พักอยู่ได้ไม่นาน ก็เข้าออกโรงพยาบาลอีกหลายครั้ง และย้ายโรงพยาบาลธนบุรี แพทย์วินิจฉัยว่าท่านเป็นมะเร็งปอด ราววันที่ ๑๗ เมษายน พ.ศ.๒๕๓๑ หลวงปู่ก็อาพาธอีก และได้เข้าโรงพยาบาลสงฆ์ เมื่อไปโรงพยาบาลแล้ว อาการของท่านไม่ดีขึ้นเลย
จนถึงวันที่ ๒๗ เมษายน พ.ศ.๒๕๓๑ หลวงปู่เหรียญ ถาวโร วัดบางระโหง ท่านได้มรณภาพลง ด้วยอาการสงบ สิริอายุรวมได้ ๙๒ ปี พรรษาที่ ๖๒
◉ ด้านวัตถุมงคล
ด้านวัตถุมงคลของ หลวงปู่เหรียญ ถาวโร วัดบางระโหง ปัจจุบันได้รับความนิยมในหมู่ลูกศิษย์ลูกหาและนักสะสม สนนราคาเล่นหาสูง ทั้งพระเครื่อง และเครื่องรางของขลัง อาทิ มีดหมอ, ตะกรุด, ผ้ายันต์, น้ำเต้า, ล็อกเกต, ภาพถ่าย, แผ่นปั๊มพญาไก่เถื่อนมีทั้งเนื้อใบลาน, ตะกรุดสาลิกา, ตะกรุดโทน, ตะกรุดกษัตราธิราช, ตะกรุดมหาอุด, ตะกรุดสามกษัตริย์, ตะกรุดพิสมร, ตะกรุดพระพุทธเจ้า ๒๘ พระองค์ และตะกรุดกระบองเพชร เป็นต้น
เหรียญรุ่นแรก หลวงปู่เหรียญ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๖ ลักษณะเป็นเหรียญเสมา มีหูห่วง จัดสร้างด้วยกัน ๒ เนื้อ คือ เนื้ออัลปาก้าและเนื้อทองแดง จำนวนการสร้างรวม ๑,๐๐๐ เหรียญ แยกเป็น ๔ แม่พิมพ์ ๑.เนื้ออัลปาก้าข้างหยัก ๑ แม่พิมพ์ ๒.เนื้อทองแดง ๓ แม่พิมพ์
ด้านหน้าเหรียญ ตรงกลางเป็น รูปเหมือนหลวงปู่เหรียญ ครึ่งองค์หันหน้าตรง ด้านบนมีตัวอักษรเขียนคำว่า “หลวงพ่อเหรียญ” ด้านล่างเขียนคำว่า “วัดบางระโหง นนทบุรี” ด้านหลังเหรียญ ไม่มีขอบ ตรงกลางเป็นอักขระยันต์ ด้านล่างเขียนคำว่า “เจ้าคณะตำบลบางกร่าง” ปัจจุบันเหรียญรุ่นนี้ หายาก
ส่วนพระกริ่งที่ได้รับความนิยม คือ “พระกริ่งใหญ่ ถาวโร” ดอกพิกุลเล็ก เนื้อนวโลหะ สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๓ ฉลองอายุครบ ๗ รอบ ๘๔ ปี จำนวน ๕๐ องค์ พระกริ่งถาวโร ดอกพิกุลใหญ่สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๗ รุ่นฉลองอายุครบ ๙๐ ปี เนื้อเงินสร้างจำนวน ๓๙ องค์ เนื้อนวโลหะกะไหล่นาก สร้างจำนวน ๒๙ องค์ พิมพ์หน้าหนุ่ม เนื้อชนวนผสม สร้างจำนวน ๒๙ องค์
วัตถุมงคลที่โด่งดังของ หลวงปู่เหรียญ ที่สร้างประสพการณ์และปาฏิหาริย์ คือ ตะกรุดพิศมร มีเด็กที่หลวงปู่ให้เด็กแขวน แล้วเด็กตกน้ำไม่จม , ตะกรุดโทนมีคนที่พกติดตัว โดนยิงเสื้อพรุนหมด แต่กระสุนไม่ระคายผิวแม้แต่น้อยเลย, ตะกรุดจักรพรรดิ์ มีพระวัดจักรวรรดิ์ มาบูชาไปฝากศิษย์ที่มาเลเซีย ลูกศิษย์ที่แขวนตะกรุด เคยโดนทำร้ายด้วยมีดปาดยางพารา เสื้อขาดหมด แต่คมมีดไม่สามารถทำให้ศิษย์คนดังกล่าวได้รับบาดเจ็บเลย แม้เพียงน้อยนิด ทำให้เป็นที่เลื่องลือโด่งดังมากในเรื่องคงกระพันแคล้วคลาด ของตะกรุดหลวงปู่เหรียญ, ตะกรุดที่ท่านเคยสร้างไว้ อันได้แก่ :
ตะกรุดโทน, ตะกรุดพิศมรเล็ก, ตะกรุดพิศมร๑๙, ตะกรุดแคล้วคลาด, ตะกรุดสาริกา, ตะกรุดจักรพรรดิ์ จักรพรรดิ์สามกษัตริย์, ตะกรุดโภคทรัพย์ และ ตะกรุดหัวใจ
◉ ปาฏิหาริย์ตะกรุดหลวงปู่เหรียญ
ตะกรุดของ หลวงปู่เหรียญ นั้นทั้งคนในพื้นที่ และนอกพื้นที่ ต่างเล่าขานกันมากมายว่า “เหนียวสุดๆ” เป็นที่แสวงหากันมาครอบคองตั้งแต่อะดีตจนถึงปัจจุบันเลยก็ว่าได้ เพราะของแท้นั้น หายากสุดๆ