ประวัติและปฏิปทา
หลวงพ่อสาคร มนุญโญ
วัดหนองกรับ
อ.บ้านค่าย จ.ระยอง
พระครูมนูญธรรมวัตร (หลวงพ่อสาคร มนุญโญ) วัดหนองกรับ พระเกจิอาจารย์ชื่อดังเมืองระยอง ผู้สืบสานพุทธาคม หลวงปู่ทิม อิสริโก วัดละหารไร่
◉ ชาติภูมิ
หลวงพ่อสาคร มนุญโญ วัดหนองกรับ นามเดิมชื่อ “สาคร ไพสาลี” เกิดเมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๘๑ ตรงกับวันอังคาร แรม ๙ ค่ำ เดือน ๓ ที่บ้านท้ายทุ่ง หมู่ ๒ ต.หนองกรับ อ.บ้านค่าย (เป็นสถานที่เดียวกับบ้านเกิดของหลวงปู่ทิม วัดละหารไร่) บิดาชื่อ “นายกุ” และมารดาชื่อ “นางนิด” มีพี่น้องทั้งหมด ๒ คน คือ “นางอยู่ ไพสาลี” และ หลวงพ่อสาคร ครอบครัวมีอาชีพทำไร่ทำนา
◉ ปฐมวัย
ท่านได้เข้ารับการศึกษาเบื้องต้นจนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๐ ตั้งแต่เล็กจนโตท่านก็ติดตามโยมพ่อโยมแม่ไปทำบุญที่วัดละหารไร่เป็นประจำ ขณะนั้นที่วัดละหารไร่มี หลวงปู่ทิม เป็น “ขรัววัด” เมื่อไปทำบุญบ่อยๆ เข้าก็พบว่าหลวงปู่ทิม ท่านเป็นพระปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ สงบนิ่ง สำรวม ทำให้หลวงพ่อสาครเกิดความเลื่อมใส และหลวงปู่ทิมท่านยังเก่งรอบด้านทั้งเป็นหมอยาสมุนไพรรักษาชาวบ้าน แก่กล้าด้านคาถาอาคม ปลุกเสกเครื่องรางของขลัง เมื่อโยมพ่อโยมแม่มอบถวายท่านให้เป็น “ลูกบุญธรรม” ของหลวงปู่ทิมแล้ว ท่านก็เที่ยวไปมาที่วัดละหารไร่ตลอด ชอบไปคุยกับคนเฒ่าคนแก่แถววัด ใครมีวิชาดีๆ ก็จะไปดูไปลอง ไปขอเรียนด้วย หลวงพ่อสาครท่านมาปรนนิบัติรับใช้หลวงปู่ทิม โดยมากินมานอนค้างที่วัดบ้าง ตั้งแต่อายุประมาณ ๑๓-๑๔ ปี จวบจนเติบใหญ่เป็นหนุ่ม ก็ไปเรียนเรื่องงานปั้น งานศิลป์ ถึงแม้ว่าโยมพ่อท่านจะไม่อยู่แล้ว แต่ท่านก็ยังมีหลวงปู่ผู้เปรียบเสมือนบิดาบังเกิดเกล้าคอยอบรมสั่งสอน
◉ อุปสมบท
เมื่ออายุย่างเข้า ๒๑ ปี โยมแม่ก็บอกกับหลวงพ่อท่านว่า อยากให้บวช ท่านก็ตกลงจะบวชให้ โดยมี “หมอเพี้ยน พงษ์ศรี” เป็นผู้ดำเนินการ หมอเพี้ยนท่านนี้ถือเป็นผู้มีบุญคุณกับครอบครัวของหลวงพ่อมาก เพราะท่านอุปการะต่อครอบครัวหลวงพ่อมานาน ครอบครัวของหลวงพ่อมีฐานะยากจน หมอเพี้ยนท่านส่งเสียดูแลหลวงพ่อให้ศึกษาเล่าเรียนในสมัยที่โรงเรียนวัดหนองกรับเปิดสอน โดยนำไปฝากกับครูกรี และครูต๊ะ จนเรียนจบชั้น ป.๔ หลวงพ่อสาครอุปสมบทเมื่อวันที่ ๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๐๑ ณ พัทธสีมาวัดหนองกรับ ได้รับฉายาว่า “มนุญฺโญ” แปลว่า “ผู้มีใจฟูขึ้น (ประเสริฐ)”
เมื่ออุปสมบทแล้วได้เดินทางไปจำพรรษาที่วัดละหารไร่ และได้ฝากตัวเป็นศิษย์หลวงปู่ทิม เพื่อศึกษาพระธรรมวินัยและพุทธาคมอย่างจริงจัง จึงได้รับการถ่ายทอดวิชาอาคมต่างๆ เรียกได้ว่าเรียนได้กระจ่างชัดรู้จริง เมื่อมีความเชี่ยวชาญในพระคาถาที่เรียนแล้วด้วยใจรักในด้านนี้ จึงได้เสาะแสวงหาศึกษาวิชาอาคมจาก หลวงพ่อเพ่ง สาสโน วัดละหารใหญ่ ซึ่งหลวงพ่อเพ่งเดิมเป็นมหาดเล็กในเสด็จเตี่ย ท่านได้ศึกษาวิชาอาคมจาก หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า มีวิชาด้านคงกระพันเป็นเยี่ยม เขียนอักขระลงบนแผ่นตะกั่วเพียงตัวเดียวให้คนทดลองยิงก็ยิงไม่ออก เมื่อหลวงพ่อสาคร ศึกษาวิชาอาคมจากหลวงพ่อเพ่งเป็นอย่างดีแล้ว ก็ได้รับคำแนะนำจากหลวงปู่ทิม ให้ไปศึกษาวิชาจากหลวงปู่หิน วัดหนองสนม ซึ่งท่านได้รับความเมตตาจากหลวงปู่หินถ่ายทอดวิชาให้เป็นอย่างดี หลังจากนั้นท่านยังเดินทางไปศึกษาวิชากับ หลวงปู่โสม วัดบ้านช่อง จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นพระที่มีวิชาอาคมแก้กล้าอีกองค์หนึ่งของภาคตะวันออก
◉ การศึกษาพุทธาคม
หลวงพ่อสาคร ยังได้รับการถ่ายทอดวิชาอาคมจากบรรดาเกจิอาจารย์ต่างๆ อีกหลายองค์ อาทิ
ในปี พ.ศ.๒๕๐๓ ได้เดินทางไปศึกษากับอาจารย์เชียงคำ ที่เมืองย่างกุ้ง ประเทศพม่า
ในปี พ.ศ.๒๕๐๖ ศึกษากับอาจารย์สิน วัดนาวัง อ.บางละมุง จ.ชลบุรี
ในปี พ.ศ.๒๕๑๘ เดินทางไปศึกษากับอาจารย์สุพจน์ ที่ประเทศเขมร
ในปี พ.ศ.๒๕๒๓ ศึกษากับพระอาจารย์สุมล คำเสียง ที่จังหวัดศรีษะเกษ
ในปี พ.ศ.๒๕๒๕ ศึกษากับหลวงพ่อบุญเย็น วัดแจ้งนอก จ.นครราชสีมา
ในปี พ.ศ.๒๕๒๖ ศึกษากับหลวงพ่อคูณ วัดบ้านไร่ อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา
ในปี พ.ศ.๒๕๒๗ ศึกษากับหลวงพ่ออาคม วัดดาวนิมิตร จ.เพชรบูรณ์
ในปี พ.ศ.๒๕๒๘ ศึกษากับหลวงพ่อบึม วัดปราสาทกิน จ.ปราจีนบุรี
นับตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๐๘ เป็นต้นมา ที่หลวงพ่อสาครเป็นเจ้าอาวาสดูแลวัดหนองกรับนั้น ท่านใช้ความรู้ความสามารถของท่านรังสรรค์ผลงานต่างๆ ทั้งงานด้านสถาปัตยกรรม ประติมากรรม ฝากไว้ในพระศาสนา ท่านบูรณะปฏิสังขรณ์เสนาสนะต่างๆ ที่ชำรุดทรุดโทรม ก่อสร้างอีกหลายอย่าง และพัฒนาวัดหนองกรับให้สวยงาม หากท่านใดมีโอกาสเข้าไปที่วัด ไปกราบท่าน ก็จะได้เห็นความสวยงามตั้งแต่ประตูวัด สร้างหอยันต์ ล้วนแต่เป็นผลงานที่ท่านออกแบบ เขียนแบบเองทั้งหมด
◉ อาพาธ
ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๓๕ หลวงพ่อท่านเริ่มมีอาการป่วยให้ลูกศิษย์เห็น ศิษย์ใกล้ชิดจึงพาไปหาหมอ ตรวจพบว่า ท่านเริ่มมีอาการป่วยเป็นวัณโรค และการรักษาไม่ค่อยต่อเนื่องเท่าที่ควรนัก จนสุดท้ายท่านก็ตัดสินใจเลิกเข้ารับการรักษา ในปี พ.ศ.๒๕๔๑ หลวงพ่อท่านซูบผอมลงมาก ขาดสารอาหาร และมีอาการไทรอยด์เป็นพิษ ท่านก็เก็บตัวในกุฏิปลีกตัวมากขึ้น เข้าใจว่าท่านคงไม่ต้องการให้เป็นภาระกับใคร จนกระทั่งเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๗ ลูกศิษย์มาขอบิณฑบาตนิมนต์หลวงพ่อให้ลองรับการรักษาอีกสักครั้ง ที่โรงพยาบาลพระราม ๙ ภายหลังเริ่มมีภาวะแทรกซ้อนเป็น “ถุงลมโป่งพอง” และ “หลอดลมตีบ” เนื่องมาจากสมัยก่อนท่านสูบบุหรี่จัด และฉันกาแฟมาก เพราะต้องตรากตรำทำงาน และรับแขกมากทำให้พักผ่อนน้อย
หลวงพ่อสาคร เข้ารับการรักษามาตลอด อาการก็ทุเลาบ้าง ทรงตัวบ้าง จนเมื่อเดือนมกราคมปี พ.ศ.๒๕๕๖ อาการของท่านเริ่มทวีความรุนแรงชัดเจนขึ้น เปรียบเหมือนกล้วยที่แก่งอมเต็มที่ ธาตุขันธ์ท่านทรุดโทรมรวดเร็วมาก ท่านเข้ารักษาที่โรงพยาบาลสมิติเวช พักฟื้นอยู่นานเวียนเข้าๆ ออกๆ ห้อง ICU และห้องพักพิเศษ ช่วงเข้าพรรษา ท่านพยายามประคับประคองธาตุขันธ์ของท่าน เพราะเป็นกาลเข้าพรรษาท่านสั่งว่า หากไม่ไหวก็จะนอนโรงพยาบาล แต่ไม่ให้ล่วงเกิน ๗ ราตรีเพื่อไม่ให้ขาดพรรษา หลายต่อหลายครั้ง ท่านได้เคยปรารภกับลูกศิษย์ลูกหาว่า “หากเราตายให้เอาเราไปจัดการที่วัดไร่ (ละหารไร่) เราต้องการจะกลับไปอยู่กับหลวงปู่”
◉ มรณภาพ
จนกระทั่งวันที่ ๑๗ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๖ เวลาประมาณสี่โมงเย็น หลวงพ่อสาคร มนุญโญ วัดหนองกรับ ท่านหายใจไม่ออก หมอต้องเจาะคอดูดเสมหะที่อุดตัน และในเวลาประมาณสี่ทุ่มห้าทุ่ม ท่านหยุดหายใจ ต้องช่วยปั๊มหัวใจ คณะแพทย์ได้ทำการรักษาอย่างสุดความสามารถ แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถช่วยเหลือยื้อชีวิตหลวงพ่อไว้ได้ ล่วงสู่วันที่ ๑๘ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๖ เวลา ๐๐.๑๕ น. หลวงพ่อสาคร มนุญฺโญ ได้จากไปด้วยอาการสงบ สิริรวมอายุ ๗๕ ปี ๗ เดือน ๑๕ วัน พรรษา ๕๕
◉ ด้านวัตถุมงคล
ด้านวัตถุมงคล สร้างพระเครื่องวัตถุมงคลขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๘ มีด้วยกันสองพิมพ์ พิมพ์แรกเป็นพระสมเด็จรัศมี เนื้อผงใบลานเก่าสีดำอีกพิมพ์หนึ่งเป็นรูปปั้นหลวงปู่ทิม เนื้อผงใบลาน สีดำ หลวงพ่อสาครนำออกมาแจกแก่ญาติโยมครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๐ ในงานทอดผ้าป่า
ส่วนวัตถุมงคลที่ได้รับความนิยม เช่น เหรียญรูปเหมือนหลวงพ่อสาคร, พระขุนแผน พิมพ์ใหญ่รุ่นแรก ปี พ.ศ.๒๕๓๐ และพระขุนแผนผงพรายกุมาร ฝังตะกรุดทองคำ พ.ศ.๒๕๓๘ และพ.ศ.๒๕๔๕ เหรียญรูปเหมือนรุ่นแรก (๕๐ พรรษา) หลังยันต์ห้า และหลังยันต์นะโภคทรัพย์ กริ่งชินบัญชร (หน้าจีน) พ.ศ.๒๕๓๐ รวมทั้งชูชกหลวงพ่อสาครด้วย
ด้วยความเชื่อถือในความเป็นศิษย์ผู้สืบทอดจากหลวงปู่ทิมที่มีประวัติอย่างชัดเจน และปรากฏพุทธคุณเป็นที่ประจักษ์ จึงกลายเป็นที่ศรัทธาและนิยมสะสมอย่างกว้างขวาง และที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้เลย เพราะค่านิยมสูงขึ้นเรื่อยๆ นั่นคือ “สมเด็จพุทธนิมิต และเหรียญปิดตารุ่นฉลองสมณศักดิ์” ที่สร้างในปี พ.ศ.๒๕๒๔