ประวัติและปฏิปทา
พ่อท่านนุ้ย สุวณฺโณ
วัดอัมพาราม (วัดม่วง)
อ.ท่าฉาง จ.สุราษฎร์ธานี
พ่อท่านนุ้ย สุวณฺโณ วัดอัมพาราม (วัดม่วง) พระเกจิผู้เชี่ยวชาญวิปัสนากรรมฐาน และบรรลุธรรมขั้นสูงแห่งเมืองสุราษฎร์ธานี
◉ ชาติภูมิ
พ่อท่านนุ้ย สุวณฺโณ นามเดิมชื่อ “นุ้ย” ไม่ทราบนามบิดามารดาและนามสกุล เกิดเมื่อ วันที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ.๒๔๐๑ ตรงกับวันศุกร์ แรม ๓ ค่ำ เดือน ๖ ปีมะเมีย ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ กำเนิด ณ บ้านบางคราม แขวงเสวียด เมืองไชยา พื้นที่บ้านเดิมของท่านตั้งอยู่ใกล้วัดบางคราม (ม.๒ ต.ปากฉลุย อ.ท่าฉาง จ.สุราษฎร์ธานีในปัจจุบัน)
วัยเด็กเมื่ออายุได้ ๘ ขวบ ได้เข้ารับการศึกษาอักขระสมัย ขอม-ไทยในสำนักของพระอธิการพัฒน์ วัดประตูใหญ่ แขวงเสวียดเมืองไชยา (ต.เสวียด อ.ท่าฉาง จ.สุราษฎร์ธานี) จนจบหลักสูตรอักขระสมัยเบื้องต้น สามารถอ่านออกเขียนได้
◉ บรรพชา
ต่อมาเมื่ออายุได้ ๑๒ ปี พ.ศ.๒๔๑๓ได้ลาบิดามารดาเข้าบรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดประตูใหญ่ โดยมี พระอธิการพัฒน์ เป็นพระอาจารย์บรรพชาสู่ร่มผ้ากาสาวพัสตร์ได้ศึกษาพระธรรม ควบคู่กับการศึกษาวิชาบางประการมาเรื่อยๆ
◉ อุปสมบท
เป็นสามเณรมาตลอดจนอายุได้ ๒๐ ปี ตรงกับ พ.ศ.๒๔๒๑ ปีขาล จึงได้ญัตติจากสามเณรอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดประตูใหญ่ โดยมี พระครูรัตนมุนีศรีสังฆราชาลังกาแก้ว (ทองอยู่) เจ้าคณะใหญ่เมืองไชยา วัดโพธาราม เป็นพระอุปัชฌาย์ พ่อท่านนวล วัดท่าเสวียด เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอธิการพัฒน์ วัดประตูใหญ่ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาทางธรรมว่า “สุวณฺโณ” แปลว่า “ผู้มีวรรณะดั่งทองคำ”
◉ การศึกษาทางธรรม ธุดงค์ และวิทยาคม
ในเบื้องต้นศึกษาพระธรรม ณ วัดประตูใหญ่ ในสำนักของพระอธิการพัฒน์ ตั้งแต่ยังเป็นสามเณร ตลอดจนญัตติอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ระหว่างศึกษาพระธรรมอยู่นั้น ท่านได้ศึกษาวิทยาคมต่างๆควบคู่ไปด้วย จากพ่อท่านแก้ว วัดประตูใหญ่ เพราะในสมัยนั้นวัดประตูใหญ่มีพระอาจารย์ที่แก่กล้าวิทยาคมอยู่ถึง ๒ รูป คือ พ่อท่านพัฒน์ และ พ่อท่านแก้ว ต่อมาเมื่อมีวิชาพอตัวสามารถพึ่งพาตนได้ ท่านคิดฝักใฝ่ในธุดงควัตรหาประสบการณ์ในเพศบรรพชิต ท่านจึงกราบลาพระอาจารย์ทั้งสองออกจ่ริกธุดงค์ไปทางใต้ได้ไปศึกษาวิทยาคมในสำนักตรรกศิลาวัดเขาอ้อ จังหวัดพัทลุงโดยศึกษากับพ่อท่านเจ้าสำนักเขาอ้อในสมัยนั้นจนแตกฉานในวิชาสายเขาอ้อเป็นอย่างมาก จากนั้นท่านเดินทางกลับมายังบ้านเกิด โดยมาศึกษาวิปัสสนากรรมฐาน และไสยศาสตร์ต่างๆเพิ่มเติม กับพ่อท่านมนต์ ธมฺมปาโล วัดอัมพาราม จนมีความเชี่ยวชาญในทุกด้าน ต่อมาท่านได้จาริกธุดงค์ไปยังพุทธสถานต่างๆในประเทศไทย ประเทศพม่า และดินแดนพุทธภูมิประเทศอินเดีย ธุดงค์อยู่ระยะหนึ่งก็ได้กลับมาถิ่นฐานเดิมโดยได้ไปจำพรรษาที่สำนักไฟ บ้านปากฉลุย ซึ่งเป็นที่พำนักสงฆ์ในสมัยนั้น ท่านได้ใช้ความสามารถที่ท่านมีสงเคราะห์ญาติโยมในด้านต่างๆ อีกทั้งบริจาคที่ดินของทางครอบครัวที่เป็นส่วนของท่านให้เป็นที่ดินของวัดบางคราม ซึ่งต่อมาได้สร้างโรงเรียนประชาบาลประจำตำบลขึ้น (โรงเรียนวัดบางครามในปัจจุบัน) ท่านเป็นพระสงฆ์ผู้บริสุทธิ์ศีล เคร่งครัดพระธรรมวินัย และปฎิบัติกิจของสงฆ์มิได้ขาด จนเป็นที่เคารพศรัทธาของผู้คนตั้งแต่จำพรรษาที่สำนักไฟ ต่อมาพ่อท่านมนต์ วัดอัมพารามได้มรณภาพ ชาวบ้านวัดม่วงต่างพร้อมใจกันไปนิมนต์พ่อท่านนุ้ยให้มาครองวัดอัมพารามต่อจากพ่อท่านมนต์ ท่านก็รับนิมนต์ย้ายมาจำพรรษาในฐานะเจ้าอาวาสวัดอัมพารามสืบต่อมา ท่านก็ได้ใช้วิชาความรู้ที่ท่านมีในการสงเคราะห์ญาติโยมในด้านต่างๆ โดยมีชื่อเสียงเลื่องลือด้านการแพทย์แผนโบราณ กล่าวคือการรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคและอาการต่างๆโดยใช้ยาสมุนไพรบวกกับวิชาอาคม มีผู้คนมาหาเพื่อพึ่งบารมีมิได้ขาด ท่านก็ได้สงเคราะห์ให้หายทุกรายไป
◉ ศีลาจารวัตรของพ่อท่านนุ้ย
พ่อท่านนุ้ย ท่านเป็นพระสงฆ์ผู้บริสุทธิ์ศีล เคร่งครัดในศีลและวัตรปฏิบัติ มีตบะเดชะ สมถะ ซึ่งเกิดจากการสวดมนต์และปฏิบัติสมาธิขั้นสูง ท่านเป็นคนใจคอดี เยือกเย็น มีเมตตากรุณาต่อสรรพสัตว์ทั้งหลาย สงเคราะห์แก่ ปวงชน ตลอดจนเหล่าศิษยานุศิษย์มิตรสหายของท่านในด้านต่างๆด้วยน้ำใจอันเที่ยงแท้ หนักแน่นในความยุติธรรม มีสัจจะวาจา และนอกจากนี้ยังมีวัตรอื่นๆที่ได้รับการจดบันทึกไว้ ได้แก่
พ่อท่านนุ้ยสรงน้ำปีละครั้ง นับว่าเป็นวัตรที่แปลกประหลาดมาก จะทำพิธีสรงน้ำในวันสงกรานต์ คือ วันที่ ๑๓ เมษายนของทุกปี ซึ่งเดิมทีนั้นถือว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่ ซึ่งหลายคนเชื่อว่า ท่านเป็นผู้ปฏิบัติธรรมในขั้นสูง เจริญด้วยเมตตา และอำนาจฌานสมาธิที่แก่กล้า เจริญด้วยเมตตาต่อบรรดาสรรพสัตว์ต่างๆ ทำให้เชื้อโรคและจุลินทรีย์ไม่กล้าเบียดเบียนท่าน เนื่องจากท่านตั้งอยู่ในคุณธรรมข้อที่ว่าไม่เบียดเบียนชีวิตซึ่งกันและกันจนเป็นผลทำให้มรณภาพไปแล้วร่างกายสังขารไม่เน่าไม่เปื่อย เพราะบรรดาสรรพสัตว์เหล่านี้ไม่รบกวนยังเปรียบเสมือนเกราะคุ้มครองป้องกันร่างท่านไว้ และจากการศึกษาประวัติของพระอริยสงฆ์หลายท่านที่มีวิชาที่แก่กล้าหรือคุณวิเศษบางอย่าง พบว่าบางท่านได้สรงน้ำปีละครั้งเช่นกัน บางท่านอาทิตย์ละครั้ง เดือนละครั้ง หรือ ๓ เดือนครั้งก็มี พระสงฆ์ที่มีวัตรปฏิบัติเช่นนี้ เช่น พ่อท่านขำ รตโน วัดหนองไทร อ.พุนพิน พ่อท่านเขียว ญาณสุทฺโธ วัดวิโรจนาราม (ปากหมาก) อ.ไชยา ซึ่งพ่อท่านเขียวเป็นลูกศิษย์ของพ่อท่านนุ้ย มีวัตรปฏิบัติและคุณวิเศษเหมือนพ่อท่านนุ้ยหลายประการ เป็นต้น
พ่อท่านนุ้ยชอบฉันผัก เท่าที่ศิษย์ผู้ใกล้ชิดได้สังเกตจากการที่ท่านฉันภัตตาหารในแต่ละมื้อ ท่านชอบฉันพืชผักต่างๆมากๆ สิ่งนี้ย่อมพิจารณาได้ว่า แท้จริงของท่านนั้นไม่อยากฉันเนื้อสัตว์ แต่ท่านอาจยังยึดถือหลักที่ว่าเมื่อเป็นภิกษุซึ่งยังชีพด้วยศรัทธาจากสาธุชน ก็ควรจะยังชีพด้วนอาหารการกินที่ง่าย จะได้ไม่เป็นภาระที่ยุ่งยากของสาธุชนผู้มีจิตศรัทธา
ชมหนังตะลุงและมโนราห์ หนังตะลุงคือศิลปะการแสดงพื้นเมืองประจำท้องถิ่นอย่างหนึ่งของภาคใต้ เป็นการเล่าเรื่องราวที่ผูกร้อยเป็นนิยาย ดำเนินเรื่องด้วยบทร้อยกรองที่ขับร้องเป็นสำเนียงท้องถิ่น หรือที่เรียกกันว่าการ “ว่าบท” มีบทสนทนาแทรกเป็นระยะ และใช้การแสดงเงาบนจอผ้าเป็นสิ่งดึงดูดสายตาของผู้ชม ซึ่งการว่าบท การสนทนา และการแสดงเงานี้ นายหนังตะลุงเป็นคนแสดงเองทั้งหมด ส่วนมโนราห์เรียกโดยย่อว่าโนรา เป็นศิลปะการแสดงพื้นเมืองประจำถิ่นของภาคใต้มีบทร้องเป็นกลอนสด ผู้ขับร้องต้องมีไหวพริบในการสรรหาคำให้สัมพันธ์กันอย่างฉับไวด้วยการด้นกลอนสด บวกกับท่าร่ายรำที่อ่อนช้อยงดงาม ชาวปักษ์ใต้รุ่นเก่าจึงมีความผูกพันธ์สนิทแน่นกับการชมมหรสพทั้ง ๒ ประเภทนี้ สมัยก่อนไม่ค่อยมีภาพยนตร์ให้ชมมากเหมือนปัจจุบันนี้ ยิ่งชนบทแล้วจะไม่มีโอกาสเลย จะดูสักครั้งก็ต้องเข้าไปในเมือง หรือรอเวลาคณะหนังตะลุงหรือมโนราห์เดินผ่านมาแถบนั้น การแสดงจะมีหัวหน้าวงคือ นายหนัง และ นายโรง เมื่อมีการเล่นหนังตะลุงและมโนราห์ทุกครั้ง มักจะเกิดการกลั่นแกล้งกันระหว่างนายหนังฝั่งตรงข้ามโดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมีการแข่งขันมักจะมีเหตุการณ์ที่ไม่ดีเกิดขึ้น เรียกว่าการทำวิชาด้านไสยดำหรือคุณไสยใส่กันเพื่อให้อีกฝ่ายทำการแสดงไม่ได้และแพ้ไปในที่สุด ดังนั้นนายหนังตะลุงและนายโรงมโนราห์จะต้องครอบครูให้ดี มอบตัวเป็นศิษย์กับพระอาจารย์ที่แก่กล้าวิทยาคม เพื่อขอให้มีบารมีท่านคุ้มครอง พ่อท่านนุ้ยก็มักจะถูกนิมนต์ให้ช่วยแก้มนต์ดำเหล่านั้น เมื่อนายหนังหรือนายโรงนั้นโดนกระทำ เมื่อหายดีแล้ว ก็ทำการแสดงถวายให้พ่อท่านนุ้ยได้รับชม ในบางครั้งพ่อท่านนุ้ยก็ไม่ได้อยากดู เพราะไม่ใช่กิจของสงฆ์ แต่บางครั้งชาวบ้านนิมนต์ท่านไว้ให้ดูให้ได้ ท่านก็ชมเพื่อฉลองศรัทธาสาธุชน อีกนัยหนึ่งคือเมื่อมีพ่อท่านนุ้ยอยู่หน้าโรง นายหนังหรือนายโรงจะได้ทำการแสดงได้เต็มที่ไม่ต้องห่วงหน้าพะวงหลังกลัวใครจะมาทำร้ายโดยอิงบารมีพ่อท่านนุ้ยไว้คุ้มครอง มีเรื่องเล่าทำนองนี้เกิดขึ้นที่อำเภอเกาะสมุย ครั้งหนึ่งมีคณะมโนราห์จากอำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราชได้มาท้าแข่งกับมโนราห์พันธ์ซึ่งเป็นมโนราห์เจ้าถิ่นที่อำเภอเกาะสมุย ทางมโนราห์จากปากพนังมีพระอาจารย์รูปหนึ่ง (ขอสงวนนาม) ทำการผูกหุ่นพยนต์เป็นตัวต่อขับไล่มโนราห์เจ้าถิ่นให้ไม่สามารถทำการแสดงได้หรือแสดงไปด้วยความทุลักทุเล จนมโนราห์พันธ์ต้องรีบวิ่งไปหาหลวงพ่อพุ่ม ธมฺมิโย วัดศิลางู และ หลวงพ่อพริ้ง โกสโล (พระครูอรุณกิจโกศล) วัดแจ้ง เพื่อให้ช่วยแก้วิชาให้ จนในที่สุดมโนราห์พันธ์ก็ชนะ นอกจากนายหนังและนายโรงจะมีพระอาจารย์คุ้มครองแล้ว นายหนังและนายโรงเองจะต้องมีวิชาอาคมติดตัวไว้ทั้งกันและแก้ เพื่อคุ้มครองตนเองและลูกวง และในสมัยก่อนเมื่อเคลื่อนเคลื่อนโรงถ้าเดินผ่านหน้าวัดที่มีพระอาจารย์แก่กล้าวิชาอาคมมักไม่ผ่านเฉยๆ จะต้องเปิดการแสดงให้พระอาจารย์วัดนั้นและชาวบ้านแถบนั้นได้ชม ถ้าเดินผ่านไปเฉยๆมักมีเหตุการณ์เป็นไปต่างๆนานา เช่น ปวดท้อง ก้าวเดินไม่ได้ คอตะแคง เป็นต้น มีเรื่องเล่าทำนองนี้ คือ ร่วมสมัยพ่อท่านนุ้ยนั้น ทางวัดหัวเตยมีสมภารชื่อ พ่อท่านเจียม คงฺคสุวณฺโณ ท่านเป็นพระอาจารย์ที่แก่กล้าวิทยาคมท่านหนึ่ง มีคณะมโนราห์เดินผ่านวัด โดยผ่านไปเฉยๆ เมื่อเลยเขตวัดทำให้คอตะแคงกันทั้งคณะ ซึ่งคอได้ตะแคงไปทางวัดหัวเตย พยายามหมุนคอกลับเท่าไหร่ก็ไม่กลับ จากนั้นทางคณะมโนราห์จึงทำพิธีขอขมาและทำการแสดงให้พ่อท่านเจียม และชาวบ้านแถบวัดหัวเตยได้รับชม
พ่อท่านนุ้ย ท่านชอบเล่านิทานและตำนานต่างๆ ที่สอดแทรกข้อคิดธรรมะให้เด็กๆและประชาชนที่สนใจได้ฟัง วันใดที่ท่านว่างจากภารกิจสงเคราะห์ญาติโยม ท่านมักจะเล่านิทานให้ชาวบ้านและเด็กๆฟังในตอนเย็นหรือหัวค่ำ เช่นนิทานเรื่องพระสุธน กับ นางมโนราห์ นิทานเรื่องขนมโค (ขนมต้มขาว) เป็นต้น ในบางครั้งท่านเล่าให้ฟังฟังกันเป็นค่อนคืน แต่ตัวท่านเองมิได้อ่อนเพลียแต่อย่างใด เนื้อหาในนิทานท่านได้ดัดแปลงเล่าโดยชี้ให้ได้ทราบถึงบาปบุญคุณโทษจากการกระทำ ข้อคิดที่สามารถนำไปใช้ได้ในชีวิตประจำวัน เป็นกุศโลบายในการสั่งสอนเปรียบเสมือนการเทศนาในการสอนคน ให้เป็นคนดีของสังคม ให้ยึดหลักความไม่ประมาทในการดำรงชีวิต
◉ มรณภาพ
พระอธิการนุ้ย สุวณฺโณ อดีตเจ้าอาวาสวัดอัมพาราม ถึงแก่มรณภาพด้วยความชราอย่างสงบ ณ กุฏิของท่านวัดอัมพาราม เมื่อวันที่ ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๙๗ เวลาประมาณ ๑๗.๓๐ น. ตรงกับวันเสาร์ ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๙ ปีมะเมีย สิริอายุ ๙๖ ปี (๘ รอบ) ๗๖ พรรษา
◉ การจัดการสรีระสังขาร
สรีระสังขารของ พ่อท่านนุ้ย สุวณฺโณ ไม่ได้ฉีดยาเพื่อรักษาสภาพศพแต่อย่างใด แต่สังขารท่านมิได้มีการเน่าเปื่อย สัขารได้แห้งไปโดยธรรมชาติ ซ้ำยังไม่มีกลิ่นเหม็น ได้ตั้งบำเพ็ญกุศลเป็นเวลา ๙ คืน ตั้งแต่วันที่ ๑ สิงหาคม – วันที่ ๘ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๙๗ มีการสวดพระอภิธรรม และ แสดงพระธรรมเทศนาทุกคืน และทำการปิดศพวันที่ ๘ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๙๗ ตรงกับวันอาทิตย์ ขึ้น ๙ ค่ำ เดือน ๙ ปีมะเมีย โดยทำการเก็บศพไว้ประมาณ ๑ ปีเศษ ด้วยความเห็นของคณะกรรมการวัด จึงทำการฌาปณกิจ เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๙
ขอขอบคุณข้อมูลจาก คุณจักรกฤษณ์ แขกฮู้ ผู้เรียบเรียง