วันพฤหัสบดี, 24 ตุลาคม 2567

หลวงพ่ออยู่ ธัมมเตโช วัดบางหัวเสือ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ

ประวัติและปฏิปทา
หลวงพ่ออยู่ ธัมมเตโช

วัดบางหัวเสือ
อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ

พระครูวิบูลสิกขกิจ (หลวงพ่ออยู่ ธัมมเตโช) วัดบางหัวเสือ จ.สมุทรปราการ
พระครูวิบูลสิกขกิจ (หลวงพ่ออยู่ ธัมมเตโช) วัดบางหัวเสือ จ.สมุทรปราการ

พระครูวิบูลสิกขกิจ (หลวงพ่ออยู่ ธัมมเตโช) วัดบางหัวเสือ พระเกจิอาจารย์เรืองวิทยาคมรุ่นเก่าอีกรูปหนึ่ง ที่มีชื่อเสียงโด่งดังแห่งสมุทปราการ

◉ ชาติภูมิ
พระครูวิบูลสิกขกิจ (หลวงพ่ออยู่ ธัมมเตโช) วัดบางหัวเสือ ท่านถือกำเนิดเมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๐๘ บ้านบางหัวเสือ ตำบลบางหัวเสือ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ บิดา-มารดา มีอาชีพทำสวนจาก และค้าขาย

ในวัยเยาว์ บิดาได้นำไปฝากเรียนหนังสือและเป็นศิษย์ (วัดบางหัวเสือ) คอยปรนนิบัติรับใช้ หลวงปู่บัว เจ้าอาวาสวัดบางหัวเสือในขณะนั้น ส่วนบิดาได้ไปค้าขายอยู่แถบ “วัดราชสิทธาราม” (วัดพลับ) แถวฝั่งธนบุรี ใกล้สะพานเจริญพาศน์ โดยมีความคุ้นเคยกับ “พระสังวรานุวงศ์เถร” (เอี่ยม) อดีตเจ้าอาวาสวัดพลับรูปที่ ๑๓

◉ อุปสมบท
ครั้นเมื่อ หลวงพ่ออยู่ อายุได้ ๒๓ ปี บิดาจึงพามาอุปสมบทที่ (วัดพลับ) เมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๓๑ โดยมี “พระสังวรานุวงศ์เถระ” (เอี่ยม) เป็นพระอุปัชฌาย์ “พระมงคลเทพมุนี” (เอี่ยม) เป็นพระอนุสาวนาจารย์ และ “พระอริยศีลาจารย์” (เอี่ยม) วัดสังข์กระจาย ฝั่งธนบุรี เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับฉายา “ธมฺมเตโช” นับว่าเป็นมงคลอย่างยิ่งที่ผู้บวชให้ทั้ง ๓ รูปมีชื่อเดิมว่า “เอี่ยม” เหมือนกัน

เมื่อบวชแล้วก็ได้ศึกษาพระธรรมวินัยอยู่ที่ (วัดพลับ) ได้ ๑ พรรษา จากนั้นจึงขออนุญาตท่านเจ้าอาวาส ขอย้ายวัดมาจำพรรษาอยู่ที่ (วัดบางหัวเสือ) โดยมี “หลวงพ่อพิณ” เป็นเจ้าอาวาสในขณะนั้น วัดบางหัวเสือนี้ มีซุ้มประตูหน้าวัดทำเป็นรูปหัวเสือ กำลังแยกเขี้ยวคำราม บริเวณที่ตั้งของวัดเป็นป่าชายเลน ในสมัยก่อนนั้น มักชุกชุมไปด้วยเสือชนิดหนึ่งตัวโตกว่าแมวบ้านเล็กน้อย ขนสีน้ำตาลอ่อน มีจุดดำคล้ายเสือดาว ชอบกินปลาเป็นอาหาร ชาวบ้านจึงเรียกว่า “เสือปลา” ปัจจุบันนี้ยังมีผู้พบเห็นอยู่บ้างแต่ไม่มากเหมือนสมัยก่อน

พระครูวิบูลสิกขกิจ (หลวงพ่ออยู่ ธัมมเตโช) วัดบางหัวเสือ จ.สมุทรปราการ
พระครูวิบูลสิกขกิจ (หลวงพ่ออยู่ ธัมมเตโช) วัดบางหัวเสือ จ.สมุทรปราการ

วัดบางหัวเสือ คาดว่าสร้างขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ.๒๓๐๐ ไม่ทราบนามผู้สร้าง ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อประมาณ พ.ศ.๒๔๐๐ (วัดบางหัวเสือ) นี้ ฟังแต่ชื่อวัดก็ทำให้รู้สึกครั่นคร้ามยำเกรง ยิ่งได้รู้ว่าวัดนี้มีของดี มีเจ้าอาวาสที่เรืองวิทยาคม ต่อเนื่องกันมามิได้ขาดระยะ ก็ยิ่งชวนให้น่าติดตาม โดยมี
หลวงปู่บัว วัดบางหัวเสือ เป็นเจ้าอาวาส และพระอุปัชฌาย์รูปแรกผ้าจีวรลายดอกพิกุล
หลวงพ่ออ้น เป็นเจ้าอาวาส สืบต่อมาหลวงพ่อพิณ เป็นเจ้าอาวาส และพระอุปัชฌาย์
หลวงพ่อเที่ยง ผู้สร้าง พระปิดตา และเหรียญรุ่นแรก อันโด่งดัง
พระครูวิบูลสิกขกิจ” (หลวงพ่ออยู่ ธมฺมเตโช) เป็นเจ้าอาวาสและพระอุปัชฌาย์
พระครูพิพัฒน์สมุทรคุณ” (หลวงพ่อนพ ปณีโต) เป็นเจ้าอาวาสและพระอุปัชฌาย์
พระครูวิบูลสีลวัฒน์” (จำลอง กนฺตาจารี) เป็นเจ้าอาวาส และพระอุปัชฌาย์
วัดบางหัวเสือ มีประวัติยาวนาน และสำหรับปูชณียวัตถุ เป็นที่เคารพยิ่งของพุทธศาสนิกชน

ครั้นถึงปี พ.ศ.๒๔๖๓ หลวงพ่อพิณ เจ้าอาวาสในขณะนั้น ก็ได้มรณะภาพลง ชาวบ้านบางหัวเสือ จึงได้นิมนต์ หลวงพ่อเที่ยง ให้เป็นเจ้าอาวาส ต่อจากหลวงพ่อพิณ แต่หลวงพ่อเที่ยง ท่านปฎิเสธไม่รับตำแหน่งเจ้าอาวาส ขอเป็นพระลูกวัดเท่านั้น

ต่อมาตำแหน่งเจ้าอาวาส จึงเป็นของ หลวงพ่ออยู่ ซึ่งตอนแรกหลวงพ่ออยู่ ท่านก็ปฏิเสธไม่รับตำแหน่งเช่นกัน ท่านเห็นว่าหลวงพ่อเที่ยงอยู่วัดนี้มาก่อน ควรที่จะได้รับตำแหน่งมากกว่า ด้านหลวงพ่อเที่ยงก็ปฏิเสธเช่นกัน เพราะเห็นว่าหลวงพ่ออยู่อาวุโสกว่า และเชี่ยวชาญในด้านพัฒนาวัด จึงยกตำแหน่งเจ้าอาวาสให้กับหลวงพ่ออยู่ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

เมื่อหลวงพ่อทั้ง ๒ มาอยู่ด้วยกัน ต่างก็ช่วยกันพัฒนาวัดในด้านต่างๆ ให้เจริญรุ่งเรืองจนถึงที่สุด ด้านวิทยาคมก็นำมาสาธยายค้นคว้าต่อกัน จนมีความสามารถมิได้ยิ่งหย่อนกว่ากัน ตลอดจนการออกธุดงค์ไปต่างจังหวัด ท่านก็มักไปคู่กันเสมอ ญาติโยมที่มาทำบุญที่วัดก็ให้ความเคารพนับถือท่านเท่าเทียมกัน

◉ สมณศักดิ์ ที่ได้รับ
ในปี พ.ศ.๒๔๔๗ เป็น “พระครูวินัยธร
ในปี พ.ศ.๒๔๕๔ เป็น “พระอุปัชฌาย์
ในปี พ.ศ.๒๔๖๑ ได้เป็นเจ้าคณะตำบลบางหัวเสือ
ในปี พ.ศ.๒๔๘๒ ได้เป็น “พระครูวิบูลสิกขกิจ

พระครูวิบูลสิกขกิจ (หลวงพ่ออยู่ ธัมมเตโช) วัดบางหัวเสือ จ.สมุทรปราการ
พระครูวิบูลสิกขกิจ (หลวงพ่ออยู่ ธัมมเตโช) วัดบางหัวเสือ จ.สมุทรปราการ

◉ มรณภาพ
หลวงพ่ออยู่ วัดบางหัวเสือ ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ ที่ได้รับการนิมนต์ให้ทำพิธีพุทธาภิเษก งานสำคัญๆอยู่บ่อยครั้ง ท่านล่วงรู้วันมรณภาพของท่านเอง โดยรุ่งเช้าวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๐๕ หลังจากท่านสวดมนต์ไหว้พระเสร็จ ก็ล้มตัวลงนอน ละสังขารไปด้วยอาการสงบ สิริอายุรวม ๙๗ ปี พรรษา ๗๔

◉ ด้านวัตถุมงคล
วัตถุมงคลที่ หลวงพ่ออยู่ วัดบางหัวเสือ ท่านสร้างไว้มีหลายอย่างด้วยกัน เช่น ตะกรุด, ผ้ายันต์, นางกวัก, ลูกอม, เหรียญ, รูปหล่อ และ พระปิดตา สำหรับพระปิดตาของหลวงพ่ออยู่ มีหลายพิมพ์ ทั้งเนื้อเมฆพัด เนื้อทองเหลือง และเนื้อผงใบลาน

เหรียญหลวงพ่ออยู่ วัดบางหัวเสือ รุ่นแรก จ.สมุทรปราการ ปี ๒๕๐๕
เหรียญหลวงพ่ออยู่ วัดบางหัวเสือ รุ่นแรก จ.สมุทรปราการ ปี ๒๕๐๕

วัตถุมงคลประเภท “พระปิดตา” ปัจจุบันได้รับความนิยมมากในหมู่นักสะสม ที่โดดเด่นและน่าจับตามองอีกรุ่น “พระปิดตามหาอุตม์” (หลวงพ่ออยู่) พระเกจิอาจารย์ที่ได้สร้างพระปิดตามหาอุตม์ เนื้อว่าน พิมพ์กลีบบัว ฝากไว้ให้เป็นชื่อเสียงแก่วัดบางหัวเสืออีกพิมพ์หนึ่ง พระปิดตาหลวงพ่ออยู่ วัดบางหัวเสือ เนื้อผงผสมว่านเก่า ได้อายุ พื้นที่รู้ประสบการณ์กันดี สำนักวัดนี้เก่าแก่เชื่อถือได้ ในด้านคงกระพันชาตรี