ประวัติและปฏิปทา
พ่อท่านสุทธิ์ ติสฺโส
วักหนองหวาย (วัดมัชฌิมาราม)
อ.ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี
พ่อท่านสุทธิ์ ติสฺโส วัดหนองหวาย พระเกจิอาจารย์จอมขมังเวทย์ยุคเก่าแห่งดินแดนทักษิณ จ.สุราษฎร์ธานี
◉ ชาติภูมิ
พ่อท่านสุทธิ์ ติสฺโส มีนามเดิมว่า “สุทธิ์” ไม่ทราบนามสกุล ไม่ทราบนามบิดามารดา กำเนิดเมื่อประมาณ พ.ศ.๒๔๑๔ ปีมะแม ณ แขวงประสงค์ เมืองไชยา (อ.ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี) ในวัยเด็กได้เรียนหนังสือ อักขระสมัยกับหลวงพ่อนุ้ย จนฺทโชติ ในสำนักเรียนวัดพระใหญ่
◉ อุปสมบท
เมื่ออายุ ๒๐-๒๑ ปี ครบอุปสมบท ช่วง พ.ศ.๒๔๓๔-๒๔๓๕ ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดมหาถูปาราม (วัดพระใหญ่) อ.ท่าชนะ จ.สุราษฎร์ธานี เนื่องจากไม่สามารถสืบทราบได้ว่า พระรูปใดเป็นพระอุปัชฌาย์ จึงเป็นข้อสันนิษฐานตามหลักฐานทางการคณะสงฆ์ที่พบเจอ โดยสันนิฐานว่า มี พระครูโสภณเจตสิการาม (หนู ติสฺโส) ผู้รั้งตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่เมืองไชยา วัดโพธาราม ต่อมาได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ มีราชทินนามว่า พระชยาภิวัฒน์สุภัทรสังฆปาโมกข์ เจ้าคณะใหญ่เมืองไชยานูปสุดท้าย เจ้าคณะจังหวัดสุราษฎร์ธานี รูปแรก
พระครูสังข์ อดีตเจ้าคณะแขวงท่าชนะ วัดสุมังคลาราม (วัดดอนสัก) เป็นพระคู่สวด สำหรับพระครูสังข์ ท่านเป็นศิษย์สำนักวัดในเมืองไชยา สมัยที่พระครูฯกาแก้ว (ทองอยู่) เป็นเจ้าคณะใหญ่เมืองไชยา ท่านเป็นพระที่มีความรู้ความสามารถนักสร้างและพัฒนา เป็นผู้สร้างวัดดอนธูป เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๒ (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นวัดสังขประดิษฐ์) และสร้างวัดดอนสัก เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๒ (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นวัดสุมังคลาราม) สร้างวัดดอนสักได้ ๑ ปีเศษ ท่านพระครูสังข์ก็มรณภาพ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๓ ได้รับฉายาทางธรรมว่า “ติสฺโส”
◉ การปกครองคณะสงฆ์
พ.ศ.๒๔๕๘ ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดมัชฌิมาราม (วัดกลาง) ซึ่งก่อนหน้านั้นเป็นเจ้าอาวาสมาก่อนโดยไม่ได้แต่งตั้งจากทางการ
ก่อนปี พ.ศ.๒๔๖๖ ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระสมุห์ ที่ พระสมุห์สุทธิ์ ติสฺโส ฐานานุกรมใน พระครูโสภณเจตสิการาม (คง วิมโล) เจ้าคณะแขวงไชยา (เจ้าคณะอำเภอไชยา) วัดโพธาราม
ก่อนปี พ.ศ.๒๔๖๖ ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะหมวดประสงค์ (เจ้าคณะตำบล)
◉ เล่าขานพ่อท่านสุทธิ์
เมื่ออุปสมบทแล้ว ได้จำพรรษา ณ วัดพระใหญ่ ศึกษาทางธรรมกับ พระอาจารย์นุ้ย จนฺทโชติ ต่อมาได้เรียนวิชาอาคมกับเรียนพ่อท่านนุ่น อดีตเจ้าอาวาสวัดกลาง และกล่าวกันว่า พ่อท่านสุทธิ์ ได้เดินทางมาจำพรรษา และศึกษาวิชาอาคมกับ พ่อท่านวัฒน์ พรหมฺสีโล วัดชมพูพนัส หรือวัดนอก ด้วย (สมัยนั้นเรียก วัดชมพูพล) เมื่อมีวิชาพอตัวแล้ว ต่อมาได้ออกจาริกธุดงค์ไปตามสถานที่ต่างๆของไทย กล่าวกันว่าท่านธุดงค์ไปทั่วทุกภาค โดยใช้เวลาหลายปี และขณะจาริกธุดงค์นั้น ได้พบกับสหธรรมิกรุ่นน้องต่างถิ่น คือ หลวงพ่อปาน โสนนฺโท แห่งวัดบางนมโค จ.พระนครศรีอยุธยา หลวงพ่อปานกำเนิด พ.ศ.๒๔๑๘ ซึ่ง หลวงพ่อสุทธิ์ มีความอาวุโสกว่า ๔ ปีเศษ แต่หลวงพ่อปาน มรณภาพ พ.ศ.๒๔๘๑ อายุ ๖๓ ปี ก่อนหลวงพ่อสุทธิ์
ต่อมาเมื่อเต็มที่กับการจาริกธุดงค์แล้ว ได้เดินทางกลับบ้านเกิด มาปักกลดแถบป่าชายเขาริมหมู่บ้านวัดกลาง และในขณะนั้นวัดกลางได้ว่างเว้นเจ้าอาวาส เพราะ พ่อท่านนุ่นของท่านได้มรณภาพไปแล้วชาวบ้านได้นิมนต์ท่านมาเป็นเจ้าอาวาสวัดกลาง ต่อมาได้รับการแต่งตั้งเป็นพระสมุห์ฐานานุกรม และเป็นเจ้าคณะหมวด (ตำบล) และจำพรรษาตลอดมาจนมรณภาพ ณ วัดกลาง หรือ วัดมัชฌิมาราม นั่นเอง
พ่อท่านสุทธิ์ ท่านมีนิสัย สมถะ ชอบสงบ ท่านมีตบะสูง เป็นพระสงฆ์ที่มีชื่อเสียงมากในสมัยนั้น มีผู้เคารพนับถือมากมาย โดยเฉพาะในกลุ่มชายชาตรี นักเลง จะให้การเคารพและเกรงใจท่านมากๆ ในเดือน ๖ ท่านจะจัดงานไหว้ครูทุกปี งานดำเนินได้ด้วยความราบรื่น ท่านมีชื่อเสียงด้านการสร้างพระเครื่อง และ เครื่องรางของขลัง สำหรับวัตถุมงคลของท่าน เช่น พระชัยวัฒน์พิมพ์ใหญ่ พิมพ์เล็ก พระปิดตามหาอุด ตะกรุด (พบเห็นแต่เนื้อตะกั่ว) ผ้ายันต์ เสื้อยันต์ เป็นต้น
◉ ด้านวัตถุมงคล
สำหรับการสร้างพระชัยวัฒน์ สร้างประมาณ พ.ศ.๒๔๘๓-๒๔๘๕ ทำการสร้างโดยการหล่อพระในวัดกลาง โดยท่านจะเคร่งครัดเรื่องพิธีมากๆ โดยจัดมณฑลพิธีขึ้น มีราชวัตรฉัตรธง ผู้อยู่ในพิธีต้องนุ่งขาวห่มขาว ชำระกายบริสุทธิ์ก่อนเข้าพิธี สำหรับการปลุกเสก พ่อท่านสุดท่านจะปลุกเสกเดี่ยว พระภิกษุอื่นๆที่นิมนต์มา จะให้สวดเจริญพระพุทธมนต์ ซึ่ง พ่อท่านเขียว ญาณสุทฺโธ คือ ๑ ในพระสงฆ์ที่รับนิมนต์ไปสวดเจริญพระพุทธมนต์ในพิธีหล่อพระชัยวัฒน์พ่อท่านสุทธิ์อยู่ครั้งหนึ่ง คุณตาเชื่อม ทองภู่ ปราชญ์ชาวบ้าน ต.ปากหมาก อ.ไชยา ศิษย์พ่อท่านเขียว เล่าผู้เขียน เมื่อ พ.ศ.๒๕๖๐ ว่า สมัยก่อนพ่อท่านเขียวจะไปมาบ่อยมาก ระหว่างวัดกลาง วัดโมถ่าย เพราะไปช่วยงานในช่วงเดือน ๖ และเมื่อหลวงพ่อสุทธิ์ วัดโมถ่าย ไชยา มรณภาพ พ่อท่านเขียวก็จะไปช่วยงานหลวงพ่อสุทธิ์วัดกลาง ท่าชนะทุกปี และในพิธีน่าจะมีพ่อท่านเทศ ธมฺมสํวโร วัดคอกช้าง มาร่วมสวดเจริญพระพุทธมนต์ด้วย (ความเห็นของผู้เขียน)
ในด้านความเหนือโลก อภินิหารก็มีมาก เช่นวาจาสิทธิ์ รู้เหตุการณ์ล่วงหน้า สำหรับเรื่องที่เล่าขานกันจนถึงปัจจุบัน คือ เอาพรกครอบควายทั้งฝูง (กะลามะพร้าวครอบฝูงควาย) ของชาวมุสลิม ที่เข้ามาถ่ายเพ่นพ่านในวัด เป็นต้น
เมื่อพูดถึงพ่อท่านสุทธิ์ ชาวท่าชนะ จะยกมือท่วมหัว ชาวบ้านจะให้การเคารพนับถืออย่างมาก เชื่อในพุทธคุณ ความศักดิ์สิทธิ์ โดยเฉพาะพระเครื่อง ไม่ว่าจะเป็นพระชัยวัฒน์ หรือเหรียญที่สร้างขึ้นหลังมรณภาพ เป็นที่หวงแหน ตรึงใจในศรัทธาที่มีต่อพ่อท่านสุทธิ์ ไม่ใช่เฉพาะชาวพุทธเท่านั้น ท่านยังเป็นที่เคารพของชาวมุสลิมอีกด้วย
“หนองหวาย” ไม่ใช่ชื่อวัด ไม่มี วัดหนองหวาย แต่ ทำไมถึงเรียกชื่อว่า พ่อท่านสุทธิ์ วัดหนองหวาย? เพราะว่าสมัยช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ช่วง พ.ศ.๒๔๘๔-๒๔๘๘ ท่านได้ทำตะกรุดเพื่อแจกทหารไว้เป็นขวัญกำลังใจติดตัวป้องกันภัยในการทำหน้าที่รั้วชองชาติ โดยท่านนำไปแจกทหารที่สถานีรถไฟบ้านหนองหวาย พอทหารถามว่าพ่อท่านชื่ออะไรอยู่วัดไหน ท่านได้ตอบว่า ชื่อพระสุทธิ์อยู่วัดแถวนี้แหละ โดยไม่บอกชื่อวัด ทหารเหล่านั้นจึงเรียกชื่อว่า หลวงพ่อสุทธิ์ วัดหนองหวาย ตามชื่อสถานีรถไฟ และก็เรียกติดปากกันมาจนถึงปัจจุบัน พอทหารรอดมาจากสงคราม เจอะเจอประสบการณ์รอดชีวิตจากอันตรายจากการพกตะกรุดท่าน ก็ได้เดินทางมาหาท่านกันหลายคน
วัตถุมงคลของท่านทุกชนิด ขึ้นชื่อมากด้านมหาอุดคงกระพันชาตรี มีประสบการณ์มากมาย เป็นที่กล่าวขานตั้งแต่อดีต ถึงปัจจุบัน
◉ มรณภาพ
พ่อท่านสุทธิ์ ติสฺโส อาพาธด้วยโรคชรา และได้ถึงแก่มรณภาพ ณ วัดมัชฌิมาราม (วัดกลาง) เมื่อวันที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๙๐ ตรงกับ วันพฤหัสบดี แรม ๘ ค่ำ เดือน ๓ ปีจอ สิริอายุ ๗๖ ปี พรรษา ๕๖