วันพฤหัสบดี, 24 ตุลาคม 2567

หลวงปู่ทอกรัก สุวณฺณสาโร วัดอัมพวัน อ.เมือง จ.ลพบุรี

ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่ทอกรัก สุวณฺณสาโร

วัดอัมพวัน
อ.เมือง จ.ลพบุรี

พระอุปัชฌาย์ทอกรัก สุวณฺณสาโร วัดอัมพวัน อ.เมือง จ.ลพบุรี
พระอุปัชฌาย์ทอกรัก สุวณฺณสาโร วัดอัมพวัน อ.เมือง จ.ลพบุรี

พระอุปัชฌาย์ทอกรัก สุวณฺณสาโร วัดอัมพวัน พระเถระที่เคร่งครัดต่อวัตรปฏิบัติในพระธรรมวินัย ถือสันโดษ กระแสจิตแก่กล้าแห่งเมืองลพบุรี

◉ ชาติภูมิ
พระอุปัชฌาย์กรัก สุวณฺณสาโร วัดอัมพวัน นามเดิมชื่อ “ทอกรัก ท่อทอง” เกิดในวันศุกร์ ขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๑๑ ปี ฉลู พ.ศ.๒๓๙๕ (ประวัติบางสำนวนระบุว่าท่านเกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๓๙๘) ที่บ้านบางขันหมาก (ใต้) อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี บิดาและมารดามีเชื้อสายรามัญ ไม่ทราบนามที่แน่นอน

ท่านได้เข้าสู่ร่มเงาแห่งบวรพระพุทธศาสนาแต่เยาว์วัย โดยท่านได้บรรพชาเป็นสามเณร และได้จำพรรษาอยู่ที่วัดอัมพวัน ตำบลบางขันหมาก อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี จนมีอายุครบอุปสมบท และต่อมา (ในปี พ.ศ.๒๔๑๖) ก็ได้อุปสมบทที่วัดอัมพวัน ได้รับนามฉายาว่า “สุวณฺณสาโร

หลวงพ่อกรัก ท่านเป็นพระภิกษุที่เคร่งครัดต่อวัตรปฏิบัติ ฉันอาหารมื้อเดียว ถือสันโดษ นิยมกิจแห่งธุดงควัตร ปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานจนมีบารมีทางกระแสจิตแก่กล้า ได้รับความศรัทธาจากญาติโยมทั้งใกล้และไกล บรรดาชาวรามัญในย่านบางขันหมาก เคารพศรัทธาเลื่อมใสในกิตติคุณความดีของ “พระอุปัชฌาย์กรัก” บรรดาหนุ่มๆ เชื้อสายรามัญในเมืองลพบุรีจะนิยมมานิมนต์พระอุปัชฌาย์กรักไปเป็นพระอุปัชฌาย์อุปสมบทให้ หลวงพ่อกรัก ท่านก็ไม่เคยขัดศรัทธาใคร ไม่ว่ามอญหรือไทยถ้ามานิมนต์ท่านจะไม่ผิดหวังท่านไปทั้งนั้น

◉ ทางด้านการปกครอง
พระอุปัชฌาย์กรัก สุวณฺณสาโร วัดอัมพวัน ท่านได้จำพรรษาอยู่ที่วัดอัมพวันตลอดมาจนถึงปี พ.ศ.๒๔๔๕ อายุได้ ๕๐ ปี พระอาจารย์ทอโหมด เจ้าอาวาสวัดอัมพวันได้มรณภาพลง ท่านจึงได้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสสืบต่อมา เป็นพระอุปัชฌาย์ และเป็นเจ้าคณะตำบลบางขันหมากใต้

พระอุปัชฌาย์กรัก นอกจากท่านจะเป็นพระภิกษุที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบแล้ว ทางด้านวิทยาคมนั้นนับว่าพระอุปัชฌาย์กรัก ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ระดับแนวหน้าของลพบุรีทีเดียว บางตำนานระบุว่าท่านได้ศึกษาพุทธาคมกับ หลวงปู่แสง วัดมณีชลขันธ์ แต่เรื่องนี้ยังมีข้อสงสัยอยู่ด้วยเหตุที่หลวงปู่แสง วัดมณีชลขันธ์ จ.ลพบุรีนั้นนับถือกันว่าเป็นพระอาจารย์ของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) ซึ่งเป็นคนละสมัยกันกับพระอุปัชฌาย์กรัก จึงยังไม่มีข้อสรุปในเรื่องนี้ แต่มีเรื่องเล่ามากมายที่กล่าวขวัญถึงกิตติศัพท์ด้านวัตถุมงคลของท่าน ที่สามารถสอบถามได้จากปากต่อปากของผู้เฒ่าผู้แก่ในท้องถิ่น ผู้เฒ่าผู้แก่ เคยเล่าให้ฟังว่า พระอุปัชฌาย์กรัก ท่านมีความขลังในด้านลงกระหม่อมด้วยขมิ้นชัน ขนาดถูกตีจนหัวน่วมก็ไม่แตก

ท่านมีศิษย์คือ พระครูอมรสมณคุณ (หลวงพ่อสว่าง อมโร) ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดอัมพวันรูปต่อมาจากหลวงปู่กรัก และมีสหธรรมิกคือ พระอาจารย์ละโว้ วัดปรมัยยิกาวาส นอกจากนี้ยังเชื่อกันว่าท่านยังมีความสนิทสนมกับหลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติ ถึงขนาดตอนที่หลวงพ่อกลั่นสร้างเหรียญรุ่นแรก ปี พ.ศ. ๒๔๖๙ ได้นิมนต์หลวงพ่อกรัก ไปร่วมปลุกเสกเหรียญที่วัดพระญาติอีกด้วย

ซึ่งเรื่องนี้ อาจารย์เภา อดีตนักเล่นเหรียญที่ยิ่งยง เป็นศิษย์ใกล้ชิดหลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม ได้เคยกล่าวถึงหลวงพ่อกรัก วัดอัมพวันเสมอว่า..

ท่านองค์นี้เก่งกล้าวิชาอาคมสูง แม้แต่หลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติ ยังไว้วางใจมาก และกล่าวยกย่องท่านเสมอ..”

เล่ากันว่า หลวงปู่ทอกรัก ท่านเป็นพระเถระที่เคร่งครัดต่อวัตรปฏิบัติในพระธรรมวินัย ฉันภัตตาหารเวลาเดียว ถือสันโดษเป็นผู้มีความเมตตากรุณาเป็นที่ตั้ง มักปฏิบัติวิปัสสนากัมมัฏฐาน นอกจากวัตรปฏิบัติแล้ว ทางด้านวิทยาคมนั้นนับว่าหลวงปู่กรัก เป็นพระคณาจารย์ระดับแนวหน้าของจังหวัดลพบุรี มีเรื่องเล่ามากมายที่กล่าวขวัญถึงกิตติศัพท์ด้านวัตถุมงคลของท่าน

◉ มรณภาพ
หลวงปู่ทอกรัก สุวณฺณสาโร มรณภาพ ในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ อันเป็นวันตักบาตรพระร้อยหรือวันตักบาตรเทโว เช้าวันนั้นท่านนั่งเรือไปรับบาตรจากชาวบ้านเหมือนปกติที่ทำอยู่ทุกปี พอตกเย็นท่านเกิดอาพาธกะทันหันด้วยความชราภาพมาก พระภิกษุสามเณรและคณะศิษย์ให้การอุปัฏฐากดูแลท่านด้วยดี ท้ายสุดท่านก็ได้มรณภาพลงด้วยอาการอันสงบในวันนั้นนั่นเอง ตรงกับวันพฤหัส แรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๑ ปีมะแม ตรงกับวันที่ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๘๖ รวมสิริอายุ ๙๑ ปี พรรษา ๗๐

◉ วัตถุมงคล
หลวงปู่ทอกรัก ได้รับขนานนามเป็นที่เลื่องลือกันทั่วไปในด้านเสื้อแดงลงอักขระในสมัยสงครามอินโดจีน ซึ่งว่ากันว่าทหารที่ออกรบในสมัยนั้นมักจะนำเสื้อกั๊กสีแดงหรือผ้าประเจียดสีแดงมาให้หลวงปู่ลงอักขระยันต์ให้ก่อนออกรบ แคล้วคลาดปลอดภัยกลับถึงบ้านทุกคน จึงเป็นที่กล่าวขานกันทั่วไปในสมัยนั้น ครั้งต่อมาคณะศิษย์ได้สร้างเหรียญขึ้นมาเป็นรุ่นแรกคือ รุ่นปี พ.ศ.๒๔๖๙ เป็นเหรียญกลมลงยันต์ และเหรียญรูปไข่หลังยันต์แบบเดียวกัน รุ่นหนึ่งจึงจัดได้ว่ามีสองแบบ ต่อมาได้สร้างเหรียญขึ้นมาอีกในปี พ.ศ.๒๔๗๘ โดยพระอาจารย์กาว อดีตเจ้าอาวาสวัดกลาง ตำบลบางขันหมาก อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี เป็นผู้จัดสร้างขึ้น พระอาจารย์กาวเป็นหลานของหลวงปู่กรัก เป็นเหรียญรุ่นที่ ๒ ที่สร้างขึ้นในขณะที่หลวงปู่มีชีวิตอยู่ เหรียญทุกรุ่นได้รับความนิยมเป็นที่ต้องการของศิษยานุศิษย์

เหรียญรุ่นแรก หลวงพ่อกรัก วัดอัมพวัน ลพบุรี ปี พ.ศ.๒๔๖๙
เหรียญรุ่นแรก หลวงพ่อกรัก วัดอัมพวัน ลพบุรี ปี พ.ศ.๒๔๖๙

◉ ประวัติความเป็นมาของการชักรูปเหมือนหลวงปู่ทอกรัก
ครั้งนั้น หลวงปู่ทอกรัก ชราภาพมากแล้ว ศิษยานุศิษย์ได้พาท่านไปถ่ายรูปที่ร้านอมรศิลป์ ในตัวเมืองลพบุรี เมื่อถึงกำหนดวันรับรูปศิษยานุศิษย์ของท่านได้นั่งเรือไปรับรูปถ่าย รูปมีขนาดใหญ่มาก ต้องตั้งรูปไว้กลางลำเรือและพายเรือกลับวัด ตลอดทางประชาชนทั่วไปเมื่อเห็นรูปหลวงปู่ พากันกราบไหว้ตลอดทาง เพราะหลวงปู่เป็นพระเถระที่เคร่งครัดในวัตรปฏิบัติ มีชื่อเสียงด้านวิทยาคมเป็นที่เคารพศรัทธา อีกทั้งหลวงปู่ยังเป็นพระอุปัชฌาย์รูปเดียวในลุ่มแม่น้ำลพบุรี ซึ่งสมัยนั้นพระอุปัชฌาย์มีน้อยมาก

หลวงปู่ทอกรัก ท่านทำหน้าที่เป็นพระอุปัชฌาย์หลายวัดด้วยกันตั้งแต่วัดพยัคฆารามหรือวัดเสือ อำเภอท่าวุ้ง จังหวัดลพบุรี ลงมาตลอดลำน้ำลพบุรี มีวัดสิงห์ทอง วัดทองแท่งนิสยายราม วัดโพธิ์ระหัต วัดกลาง วัดอัมพวัน วัดราษฎร์ศรัทธาทำ วัดมะปรางหวาน ฯลฯ จนถึงตัวเมืองลพบุรี หลวงปู่จึงมีสัทธิวิหาริกมากมาย เมื่อศิษยานุศิษย์ที่อยู่ริมแม่น้ำลพบุรีเห็นรูปถ่ายพระอุปัชฌาย์ของตนผ่านมาจึงเคารพกราบไหว้บูชากันทั่วไป เมื่อศิษยานุศิษย์ในเรือได้เห็นเช่นนั้นก็เกิดความปลาบปลื้มปีติยินดีเป็นอย่างมาก มีความคิดจะแห่รูปหลวงปู่ทุกๆ ปี เพื่อให้ประชาชนคณะศิษย์ใกล้ไกลทั่วไปได้กราบไหว้บูชากัน โดยกำหนดวันคือวันแรม ๖ ค่ำ เดือน ๑๑ ของทุกปี เป็นวันที่ทำการแห่รูปหลวงปู่ทางเรือ ตั้งต้นขบวนเรือที่วัดมะปรางหวาน ทวนแม่น้ำขึ้นไปถึงวัดพยัคฆารามหรือวัดเสือ อำเภอท่าวุ้ง และล่องแม่น้ำลพบุรีกลับมายังวัดอัมพวัน ซึ่งมีชาวบ้านนำเรือมาร่วมชักจูงเรือหลวงปู่มากมาย มีการเล่นเรือแย่งเรือหลวงปู่กันเป็นที่สนุกสนานและเกิดความสมัครสมานสามัคคากันในหมู่คณะ

ในวันรุ่งขึ้นคือวันแรม ๗ ค่ำ เดือน ๑๑ เป็นวันตักบาตรเทโวหรือเรียกว่าตักบาตรพระร้อยของชาวไทยรามัญวัดอัมพวัน ตำบลบางขันหมากด้วย จึงเกิดประเพณีชักรูปเหมือนหลวงปู่ขึ้นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

รูปเหมือนบูชา พระอุปัชฌาย์ทอกรัก สุวณฺณสาโร วัดอัมพวัน อ.เมือง จ.ลพบุรี
รูปเหมือนบูชา พระอุปัชฌาย์ทอกรัก สุวณฺณสาโร วัดอัมพวัน อ.เมือง จ.ลพบุรี

◉ การหล่อรูปเหมือน
กาลต่อมา พระอาจารย์ฉัว อดีตเจ้าอาวาสวัดมะปรางหวาน อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี สัทธิวิหาริกของหลวงปู่ได้จัดสร้างรูปหล่อเท่าองค์จริงของหลวงปู่ขึ้น โดยท่านได้นำช่างปั้นมาปั้นรูปเหมือนหลวงปู่ขณะมีชีวิตอยู่ หลวงปู่นั่งเป็นแบบให้ช่างปั้น รูปปั้นมีขนาดเท่าองค์จริงและหล่อด้วยเนื้อสำริด เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๕ เป็นรูปหล่อที่มีลักษณะเหมือนหลวงปู่มากที่สุดราวกับว่าเป็นองค์ท่านจริง ๆ และได้ใช้รูปหล่อนี้แห่ทางเรือแทนรูปถ่ายหลวงปู่จนถึงทุกวันนี้

ในปัจจุบันการคมนาคมเปลี่ยนไป ทางวัดได้ทำการแห่หลวงปู่ทางบกแทน โดยระยะทางคือออกจากวัดอัมพวันแห่รอบหมู่บ้านบางขันหมากไปถึงวัดสิงห์ทอง ออกถนนสายลพบุร-สิงห์บุรี และเข้าสู่ตัวเมืองลพบุรีกลับสู่วัดอัมพวัน มีประชาชน ชาวบ้าน ศิษยานุศิษย์จากทั่วสารทิศมาร่วมขบวนแห่นับพันนับหมื่นและมีโรงทานเลี้ยงตลอดเส้นทางที่แห่ ซึ่งตรงกับวันแรม ๖ ค่ำ เดือน ๑๑ ของทุกปีและวันแรม ๗ ค่ำ เดือน ๑๑ เป็นวันตักบาตรเทโวหรือตักบาตรพระร้อย