ประวัติและปฏิปทา พระครูสุทธิธรรมรังษี (หลวงปู่เจี๊ยะ จุนฺโท) วัดป่าภูริทัตตปฏิปทาราม อ.สามโคก จ.ปทุมธานี
“พระอริยเจ้าผู้เป็นดั่งผ้าขี้ริ้วห่อทอง”
พระเดชพระคุณหลวงปู่เจี๊ยะ จุนโท พระอริยเจ้าผู้เด็ดเดี่ยวอาจหาญในสายกรรมฐานของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ท่านได้รับการยกย่องจากท่านพระอาจารย์มั่นว่า “เป็นผ้าขี้ริ้วห่อทอง” อุปนิสัยของท่านเป็นคนตรงไปตรงมา มีปฏิปทา ยอมหักไม่ยอมงอ ท่านสละอวัยวะทรัพย์ และชีวิตเพื่อธรรม เป็นผู้มีความกตัญญูกตเวที จงรักภักดีต่อท่านพระอาจารย์มั่น ยิ่งกว่าชีวิต ท่านได้รับความไว้วางใจจากท่านพระอาจารย์มั่น ให้เดินทางไปเฝ้าอุปัฏฐากหลวงปู่เสาร์ ซึ่งอาพาธหนักถึงเมืองนครจําปาศักดิ์ ประเทศลาว จนกระทั่งหลวงปู่เสาร์มรณภาพ
ประวัติ ปฏิปทา คติธรรม ของท่านอาจแตกต่างจากพระกรรมฐานรูปอื่นในแง่ปลีกย่อย ท่านไม่กว้างขวางเรื่องปริยัติธรรมภายนอก รอบรู้เฉพาะเรื่องจิตตภาวนา อันเป็นธรรมภายใน ท่านปฏิบัติลําบากแต่รู้เร็ว คําสอนของท่านก็เป็นประเภทปัจเจกะ มุ่งเน้นทางด้านจิตใจเป็นส่วนใหญ่ ประกอบกับท่านมีบารมีธรรม ที่บ่มบําเพ็ญมาแต่ชาติปางก่อนเป็นสิ่งที่ช่วยเกื้อหนุนอยู่อย่าง ลึกลับ การปฏิบัติของท่านจึงนับว่ารู้ธรรมเร็วในยุคปัจจุบัน
ท่านจึงเป็นแบบอย่างทางสงบแก่โลกที่ระงมปนเปื้อนไปด้วย กองทุกข์นานัปการ ท่านสอนให้พวกเรามองอะไร ไม่ควรมองแต่ เพียงด้านเดียว การมองอะไร ไม่เพียงใช้สายตาเป็นเครื่องตัดสิน เท่านั้น แต่ต้องใช้แววตาคือปัญญา เพราะผู้ปฏิบัติธรรมไม่ควร มองข้ามปมคําสอนเพียงเพราะสายตาเท่านั้น ควรพิจารณาให้ถ้วนถี่ เปรียบเสมือนดวงอาทิตย์ที่ส่องแสงสว่างแก่โลก ย่อมไม่ละเลย ทั้งกอไผ่และภูผา
หลวงปู่เจี๊ยะ ท่านจึงเป็นผู้มีจิตอิสระมานาน ไม่เกี่ยวเกาะยึดติดพัวพันในบุคคล กาล สถานที่ การปฏิบัติของท่านมุ่งเน้น ที่ผลการปฏิบัติมากกว่ารูปแบบแห่งการปฏิบัติ เพราะนี่เป็นนิสัยสะท้านโลกาและปฏิปทาที่เป็นปัจจัตตัง ยากที่ใคร ๆ จะเลียนแบบได้
หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน ได้กล่าวยกย่องชมเชยในคุณธรรมว่า
“พระอาจารย์เจี๊ยะเป็นผ้าขี้ริ้วห่อทอง เป็นเพชรน้ําหนึ่งที่หาได้โดยยากยิ่ง”
ท่านเกิดเมื่อวันที่ ๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๕๙ ตรงกับวัน อังคาร เดือน ๗ ขึ้น ๖ ค่ํา ปีมะโรง ณ บ้านคลองน้ําเค็ม ตําบลคลองน้ําเค็ม อําเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี เป็นบุตรของ นายซุ่นแฉ่ และ นางแฟ โพธิกิจ
ในวัยหนุ่มทํามาค้าขายผลไม้ นิสัยออกจะติดทางนักเลง ต้นตระกูลเป็นคนตรงไปตรงมา เป็นคนจริงจังในหน้าที่การงาน ยอมหักแต่ไม่ยอมงอ พูดจาโฮกฮากไม่กลัวคน
ท่านอุปสมบทเมื่อวันที่ ๑๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๐ เวลา ๑๖.๑๙ น. ณ พัทธสีมาวัดจันทนาราม ตําบลจันทนิมิต อําเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี โดยมี พระครูครุนารถสมาจาร (เศียร) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูพิพัฒน์พิหารการ (เชย) เป็นพระกรรม วาจาจารย์ ท่านพ่อลี ธัมมธโร เป็นพระอนุสาวนาจารย์
เมื่ออุปสมบทแล้ว ท่านได้ร่วมปฏิบัติธรรม จําพรรษากับท่าน พระอาจารย์กงมา จิรปุญโญ ที่เสนาสนะป่าช้าผีดิบบ้านหนองบัว ปัจจุบันคือ วัดทรายงาม จังหวัดจันทบุรี
ท่านปฏิบัติกรรมฐานด้วยอิริยาบถ ๓ คือ ยืนภาวนา เดิน จงกรม นั่งสมาธิ แบบสละตาย ด้วยการตั้งสัจจะอธิษฐานว่า
“ข้าพเจ้าจะถือเนสัชชิ คือในเวลาค่ําคืนไม่นอนตลอดไตรมาส ด้วยพุทธานุภาพ ธัมมานุภาพ สังฆานุภาพ ถ้าหากแม้นว่าข้าพเจ้าไม่ทําตามสัจจะนี้ขอให้ข้าพเจ้าถูกฟ้าผ่าตาย แผ่นดินสูบตาย ไฟไหม้ตาย น้ําท่วมตาย แต่ถ้าหากว่าข้าพเจ้าปฏิบัติตามสัจจะ ที่ตั้งไว้ได้ ขอจงเป็นผู้เจริญงอกงามในธรรมวินัยที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ดีแล้วเทอญฯ”
พรรษาที่ ๓ จิตของท่านเกิดรวมครั้งใหญ่ใต้ต้นกระบก ด้วยการหยั่งสติปัญญาลงในกายานุปัสสนา หยั่งลงสู่ความจริง ประจักษ์ใจ โลกสมมุติทั้งหลายไม่มีปรากฏขึ้นกับใจ ประหนึ่งว่าแผ่นดินแผ่นฟ้าละลายหมด เหลือแต่จิตดวงบริสุทธิ์เท่านั้น
ปลายปีพุทธศักราช ๒๔๘๒ ท่านได้กราบลาท่านพระอาจารย์กงมา จิรปุญโญ และท่านพ่อลี ธัมมธโร เดินทางไปยังจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมกับสหธรรมิก คือ ท่านพระอาจารย์เฟื่อง โชติโก เพื่อนําธรรมที่รู้เห็นไปเล่าถวายท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต
เป็นที่น่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง เมื่อถึงเสนาสนะวัดร้างป่าแดง อําเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ท่านพระอาจารย์มั่นทราบ เหตุการณ์ล่วงหน้าโดยตลอด จึงปูอาสนะนั่งรอท่าอยู่บนแคร่น้อย ๆ เมื่อได้โอกาสอันสมควรจึงเล่าเรื่องภาวนาให้ท่านพระอา จารย์มั่นฟังว่า “ได้พิจารณากาย จนกระทั่งใจนี้มันขาดไปเลย”
ท่านพระอาจารย์มั่นนั่งฟังนิ่ง ยอมรับแบบอริยมุนี ไม่คัดค้านในสิ่งที่เล่าถวายแม้แต่น้อย
ต่อมาอีกไม่นานนัก ฟันของท่านพระอาจารย์มั่นหลุดแล้ว ท่านก็ยื่นให้ การที่ท่านมอบฟันให้นั้น หลวงปู่เจี๊ยะเล่าว่า
“ท่านคงรู้ได้ด้วยอนาคตังสญาณ ว่าเราจะมีวาสนาสร้างภูริทัตตเจดีย์บรรจุทันตธาตุถวายท่านเป็นแน่แท้”
ตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๔๘๓-๒๔๘๕ หลวงปู่เจี๊ยะ เป็นพระคิลานุปัฏฐาก และเป็นปัจฉาสมณะ เป็นประดุจเงาติดตามตัว ท่านพระอาจารย์มั่นมาโดยตลอด เมื่อท่านพระอาจารย์มั่นรับ
นิมนต์ท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) เดินธุดงค์จากทางภาคเหนือมายังภาคอีสานพักจําพรรษาที่เสนาสนะป่าเป็นที่ทิ้งศพโนนนิเวศน์จังหวัดอุดรธานี ๒ พรรษา จึงธุดงค์จาริกต่อไปยังจังหวัดสกลนคร พักจําพรรษาที่เสนาสนะป่าบ้านโคก ที่เสนาสนะป่าบ้านโคกนี้เอง ท่านพระอาจารย์มั่นได้กล่าวชมเชย ในคุณธรรมและนิสัยวาสนาของ หลวงปู่เจี๊ยะท่ามกลางหมู่สงฆ์ว่า
“ทุกขาปฏิปทา ขิปปาภิญญา ท่านรูปนี้ปฏิบัติลําบากแต่รู้เร็ว ปฏิบัติเพียง ๓ ปี เท่ากับเราปฏิบัติภาวนามาเป็นเวลา ๒๒ ปี อันนี้อยู่ที่นิสัยวาสนาเพราะนิสัยวาสนาของคนมันต่างกัน”
ต้นปีพุทธศักราช ๒๔๙๒ ขณะที่ท่านเข้าที่หลีกเร้นภาวนาในป่าดงลึก ณ เชิงเขาบายศรี อําเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี เกิดป่วยเป็นไข้มาลาเรียอย่างหนัก ในขณะป่วยหนักนั้นท่านเล่าว่า
“จิตเป็นธรรมชาติที่อัศจรรย์ตลอดเวลา พิจารณาจนกระทั่งจิตมันดับหมด หยุดความคิดนั้น จิตปล่อยวางสิ่งทั้งปวง คว่ําวัฏฏจักร วัฏฏจิต แหวกอวิชชาและโมหะอันเป็นประดุจตาข่าย กิเลสขาดสะบั้นออกจากใจ จิตมีอิสระอย่างสูงสุดเกินที่จะประมาณได้”
ต้นปีพุทธศักราช ๒๔๙๓ หลังจากถวายเพลิงศพท่านพระอาจารย์มั่นแล้ว ท่านจึงย้อนกลับไปจังหวัดจันทบุรี อันเป็นบ้านเกิด เพื่อโปรดโยมมารดาซึ่งป่วยหนัก ด้วยหวังจะทดแทนบุญคุณข้าวป้อนด้วยอรรถด้วยธรรม ท่านจึงดําริปักหลักสร้างวัดเขาแก้ว ตําบลท่าช้าง อําเภอเมือง และได้สร้างวัดบ้านสถานีกสิกรรม อําเภอพลิ้ว ถวายหลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน
ปีพุทธศักราช ๒๕๒๐ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ได้นิมนต์ท่านมาเป็นเจ้าอาวาส และร่วมสร้างวัดญาณสังวราราม จังหวัดชลบุรี
ปีพุทธศักราช ๒๕๒๖ คณะศรัทธาได้ถวายที่ดินบริเวณบ้านคลองสระ ตําบลคลองควาย อําเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี แก่ หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน หลวงตาได้นิมนต์ท่านมาอยู่เป็นเจ้าอาวาส และท่านได้สร้าง “วัดป่าภูริทัตตปฏิปทาราม” และ อยู่จําพรรษามาโดยตลอด
แม้ว่าท่านจะเป็นพระเถระผู้ใหญ่และได้สร้างวัดวาอารามใหญ่โตแล้ว ท่านก็ยังเที่ยวภาวนาตามป่าตามเขาท้องถ้ำและเงื้อมผา จนกระทั่งร่างกายเดินไม่ไหว
ท่านละขันธ์เข้าสู่อนุปาทิเสสนิพพานด้วยความสงบและอาจหาญในธรรม ณ โรงพยาบาลศิริราช กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ เวลาประมาณ ๒๓.๕๕ น.
สิริอายุรวม ๘๘ ปี ๒ เดือน ๑๗ วัน ๖๘ พรรษา