ประวัติและปฏิปทา
หลวงพ่อเส่ง อินฺทสโร
วัดน้อยนางหงษ์
บางยี่ขัน กรุงเทพฯ
พระครูอนุกูลพิทยา (หลวงพ่อเส่ง อินฺทสโร) วัดน้อยนางหงษ์ พระเกจิที่เปี่ยมล้นด้วยเมตตาธรรมและเป็นที่ศรัทธาแก่ชาวบางยี่ขัน กรุงเทพฯ
◉ ชาติภูมิ
พระครูอนุกูลพิทยา นามเดิมชื่อ “เส่ง ธรรมเอี่ยม” เกิดวันพฤหัสบดี ขึ้น ๗ ค่ํา เดือน ๖ ปีมะโรง ตรงกับวันที่ ๑๖ เมษายน พ.ศ.๒๔๒๓ ณ บ้านกระแชง ตําบลตะลุง อําเภอเมือง จังหวัดลพบุรี บิดาชื่อ “นายเอี่ยม” และมารดาชื่อ “นางเม้า ธรรมเอี่ยม” มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ๓ คน คือ
๑.นางสาย
๒.นายชวน ธรรมเอี่ยม
๓.พระครูอนุกูลพิทยา (หลวงพ่อเส่ง อินฺทสโร)
ภายหลังบิดามารดาพามาอยู่บ้านปูน กรุงเทพฯ ซึ่งเคยมาอยู่ก่อนแล้ว ต่อมาบิดา ถึงแก่กรรม มารดานท่านมาฝากเรียนหนังสือกับท่านอาจารย์ริด วัดบางยี่ขัน เวลานั้นอายุ ราว ๑๐-๑๑ ขวบ แล้วมารดากับพี่กลับไปประกอบอาชีพอยู่จังหวัดลพบุรี มารดาได้สามีใหม่ ชื่อนายบุนนาค นาคเม้า มีบุตรอีก ๓ คน คือ
๑.นางม้วน เกษรดา
๒.นางเยือน แซ่จิว
๓.พระภิกษมน นาคเจ้า
หลวงพ่อเส่ง อินฺทสโร ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณร แล้วติดตามมาอยู่วัดน้อยนางหงษ์กับอาจารย์ริด ซึ่ง ย้ายจากวัดบางยี่ขัน (วัดมุขราชธาราม) มาเป็นเจ้าอาวาสวัดน้อยนางหงษ์
◉ อุปสมบท
เมื่ออายุครบ ๒๐ ปี ได้อุปสมบทที่วัดน้อยนางหงษ์ เมื่อวันศุกร์ แรม ๑๒ ค่ำ เดือน ๖ ตรงกับวันที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๔๓ โดยมี พระอาจารย์ริด เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการโพ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ พระปลัดอ่ำ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “อินฺทสโร”
หลังอุปสมบทได้ ๓ พรรษา พระอาจารย์ริดก็มรณภาพ พระอาจารย์ชมหรือโชติ เป็นเจ้าอาวาสแทนแล้วลาสิกขาบท พระอาจารย์แพ เป็นแทน จนถึง พ.ศ.๒๔๖๐ ก็มรณภาพ พระครูอนุกูลพิทยาได้เป็นเจ้าอาวาสแทนต่อมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๖๐ จน กระทั่งมรณภาพ
◉ ด้านการศึกษา
เมื่อท่านบวชแล้วได้เรียนมูลกัจจายน์แต่ไม่ได้เข้าสอบ ได้เรียนแพทย์แผนโบราณจนสําเร็จสอบไล่ได้ ได้รักษาญาติโยมที่อุปการะท่านให้หายโรคภัยไข้เจ็บ เป็นจํานวนมาก และท่านได้ศึกษาค้นคว้าพระธรรมวินัยและวิชาอื่น ๆ มีความรอบรู้จนสามารถ โต้ตอบแก้ไขปัญหาข้อขัดข้องของพุทธศาสนิกชนที่มาไต่ถามได้เป็นอย่างดี
◉ ด้านการงาน
หลวงพ่อเส่ง อินทสโร เมื่อท่านเป็นเจ้าอาวาส ขณะนั้นวัดน้อยนางหงษ์ เกือบจะเป็นวัดร้าง กุฏิ ศาลา อยู่คนละทิศละทาง และชํารุดทรุดโทรมมาก เต็มไปด้วยต้นไม้ต้นหญ้าสารพัด ทุกอย่าง ท่านมีอุสาหะวิริยะอย่างแรงกล้าพยายามจัดการแผ้วถางรื้อถอนโยกย้ายกุฏิศาลา ให้รวมเข้าอยู่เป็นหมู่เดียวกันจนเป็นระเบียบเรียบร้อย สร้างศาลาการเปรียญ ศาลาฌาปนสถาน ขึ้นใหม่ เทปูนซีเมนต์เกือบทั่วบริเวณวัด ทําให้ลานวัดสะอาดสะอ้าน ที่สําคัญที่สุด คือท่าน ได้บูรณะปฏิสังขรณ์พระอุโบสถที่ชํารุดทรุดโทรมเป็นอันมาก ให้กลับมีสภาพถาวรมั่นคง, เป็นปูชนียสถานที่สวยสดงดงามเป็นสง่า ดังที่เห็นปรากฏอยู่ในขณะนี้ เป็นที่นํามาซึ่งความปิติยินดี และศรัทธาเลื่อมใสของศิษยานุศิษย์และพุทธศาสนิกชนทั่วไป
◉ ด้านการปกครอง
หลวงพ่อเส่ง อินทสโร ท่านได้เอาใจดูแลทุกข์สุขของพระภิกษุสามเณร ตลอดถึงเด็กวัด ที่อยู่ในความปกครองให้อยู่ดีกินดี สนับสนุนช่วยเหลือเกื้อกูลให้เล่าเรียนนักธรรมบาลี และ ภาษาไทย คอยแนะนําพร่ําสอนให้ตั้งอยู่ในศีลธรรม ประพฤติดีปฏิบัติชอบตามพระธรรมวินัย โดยตัวท่านเองก็ได้ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยโดยเคร่งครัดเป็นตัวอย่าง และท่านได้อุปการะ โรงเรียนประชาบาลที่ตั้งขึ้นที่วัดบางยี่ขัน (วัดมุขราชธาราม) เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๕ จนเป็นสาเหตุ หนึ่งที่ทําให้ท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครู มีราชทินนามว่า พระครูอนุกูลพิทยา
ภาระกิจที่สําคัญอีกอย่างหนึ่งที่ท่านได้กระทําประโยชน์ยิ่งใหญ่ให้แก่วัดน้อยนางหงษ์ ก็คือ ท่านได้ร่วมกับพลโท ชิต มั่นศิลป์ สนาดโยธารักษ์ ริเริ่มก่อตั้งมูลนิธิพระครูอนุกูลพิทยา (เส่ง อินทสโร) ขึ้น เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๙ เพื่อเก็บเฉพาะดอกผลบํารุงวัดน้อยนางหงษ์ โดยไม่ใช้ทุน ซึ่งนับว่าเป็นหลักประกันที่มั่นคงที่สุดที่จะทําให้วัดน้อยนางหงษ์ดํารงอยู่ตลอดไปชั่วฟ้าดินสลาย
◉ ด้านสมณศักดิ์ และหน้าที่ทางพระ
พ.ศ.๒๔๖๑-๒๔๖๒ ได้เป็นคู่สวดบวชพระ
พ.ศ.๒๔๗๗ ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌายะ
พ.ศ.๒๔๗๘ เป็นพระครูสามัญศึกษา
พ.ศ.๒๔๘๐ เป็นพระครูสัญญบัตรชั้นสามัญ ราชทินนามว่าพระครูอนุกูลพิทยา
พ.ศ.๒๕๐๒ เลื่อนเป็นพระครูสัญญบัตรชั้นโทในนามเดิม
พ.ศ.๒๕๑๒ เลื่อนเป็นพระครูสัญญบัตรเจ้าอาวาสวัดราษฎร์เทียบชั้นโท
พ.ศ.๒๕๑๖ เลื่อนเป็นพระครูชั้นเอกฝ่ายวิปัสสนาธุระ
◉ วาระสุดท้ายแห่งชีวิต
พระครูอนุกูลพิทยา (หลวงพ่อเส่ง อินทสโร) ท่านได้เริ่มเจ็บป่วยด้วยโรคท้องร่วง ท้องผูก และถ่ายปัสสาวะไม่ออกติดต่อกันมา ตั้งแต่วันที่ ๒๕ มกราคม พ.ศ.๒๕๒๑ นายแพทย์สิงหพันธ์ ทองสวัสดิ์, นายแพทย์บรรจบ อินทรสุขศรี และนายแพทย์ประเวศน์ วสี ได้ร่วมกันรักษาพยาบาลทั้งที่วัดและที่โรงพยาบาลศิริราช อาการของโรคก็มีแต่ทรงกับทรุด อาหารและน้ำก็ฉันไม่ได้ ในที่สุดท่านก็ได้ถึงมรณภาพไปด้วยอาการอันสงบ ณ กุฏิของท่านที่ วัดน้อยนางหงษ์ ท่ามกลางภิกษุสามเณร และศิษย์ที่ อยู่เฝ้าพยาบาล เวลา ๐๒.๓๐ น. ของวันที่ ๗ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๒๑ นับอายุได้ ๙๘ ปี ๒๒ วัน พรรษา ๗๘