วันพฤหัสบดี, 24 ตุลาคม 2567

หลวงพ่อเชย ญาณวัฑฒโน วัดเจษฎาราม อ.เมือง จ.สมุทรสาคร

ประวัติและปฏิปทา
หลวงพ่อเชย ญาณวัฑฒโน

วัดเจษฎาราม
อ.เมือง จ.สมุทรสาคร

หลวงพ่อเชย ญาณวัฑฒโน วัดเจษฎาราม อ.เมือง จ.สมุทรสาคร
หลวงพ่อเชย ญาณวัฑฒโน วัดเจษฎาราม อ.เมือง จ.สมุทรสาคร

พระครูมหาชัยบริรักษ์ (หลวงพ่อเชย ญาณวัฑฒโน) วัดเจษฎาราม อ.เมือง จ.สมุทรสาคร พระเกจิเรืองนามเมืองมหาชัย ผู้มีวาจาดั่งพระร่วง

◉ ชาติภูมิ
พระครูมหาชัยบริรักษ์ (หลวงพ่อเชย ญาณวัฑฒโน) ​นามเดิมชื่อ “เชย เอกน้อย” เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ ๕ เมษายน พ.ศ.๒๔๒๒ ตรงกับปีเถาะ ณ บ้านวังน้ำคู้ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก บิดาชื่อ “ชื่น เอกน้อย” และมารดาชื่อ “นางหริ่ง เอกน้อย

การศึกษาในวัยเยาว์ บิดาได้นำท่านไปฝากเข้าเรียนที่สำนักสงฆ์ (วัดปากพิง) ตำบลวังน้ำคู้ อำเภอเมืองพิษณุโลก ได้ศึกษาอักขระสมัยวัดนั้น จนมีความรู้แตกฉานอย่างรวดเร็ว จนท่านสมภารออกปากชมเชยในสติปัญญา เมื่อเติบโตก็ได้ย้ายมาประกอบอาชีพ ที่ตำบลมหาชัย อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร ท่านได้ช่วยครอบครัวทำมาหากินด้วยความขยันขันแข็ง

◉ อุปสมบท
จนกระทั่งเมื่ออายุได้ ๒๖ ปี จึงตัดสินใจละทางโลก จึงทำการอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดเจษฎาราม ในวันที่ ๕ เมษายน พ.ศ.๒๔๔๘ ตรงกับวันอาทิตย์ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๕ ปีมะเส็ง จ.ศ.๑๒๖๗ โดยมี พระครูสมุทรคุณากร วัดตึกมหาชยาราม เจ้าคณะจังหวัดสมุทรสาคร เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการใหม่ วัดแหลมสุวรรณาราม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ พระอธิการโต วัดโกรกกราก เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “ญาณวฑฺฒโน

หลังอุปสมบทไม่นาน ก็สามารถท่องบทสวดมนต์ ๗ ตำนาน ๑๒ ตำนาน จนคล่อง มุ่งศึกษาพระธรรมวินัยโดยไปศึกษากับพระอธิการใหม่ วัดแหลมสุวรรณาราม ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กัน ท่านมีใจฝักใฝ่ในพระศาสนา จึงมุ่งหน้าศึกษาพระปริยัติธรรมแต่ขณะนั้นการศึกษาทางด้านนี้ยังไม่เจริญก้าวหน้าเท่าที่ควร ท่านจึงเดินทางเข้ามายังกรุงเทพฯ โดยพำนักอยู่ที่วัดสังกัจจายน์ ธนบุรี ซึ่งทางวัดสังกัจจายน์เองก็ยังไม่มีสำนักเรียน จึงไปศึกษาที่วัดราชสิทธารามบ้าง วัดประยูรวงศาวาสบ้าง

หลวงพ่อเชย ญาณวัฑฒโน ท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดสังกัจจายน์ ถึง ๑๐ พรรษา ก็ย้ายมาพำนักอยู่ที่วัดสวนแก้วอุทยาน อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม ขณะอยู่ที่วัดได้ช่วยบริหารจัดการงานภายในวัดและทำการสอนปริยัติธรรม แก่พระภิกษุ สามเณรด้วย

ช่วงนี้ท่านได้หันมาสนใจทางวิปัสสนากรรมฐาน และเรื่องของวิทยาคม จึงเดินทางมาศึกษากับหลวงปู่นิล วัดตึก พระอุปัชฌาย์ของท่าน ซึ่งเป็นพระคณาจารย์ที่มีชื่อเสียง และเล่าเรียนวิชาจากพระเกจิอาจารย์ท่านอื่นๆ อีกหลายรูป อาทิ หลวงพ่ออยู่ วัดบางน้อย, หลวงพ่อทรัพย์ วัดบางเกาะเทพศักดิ์ ได้รับการถ่ายทอดวิชาหลายแขนง และยังได้แลกเปลี่ยนวิชากับอาจารย์ ที่อยู่ในรุ่นราวคราวเดียวกัน

จนถึงปี พ.ศ.๒๔๖๒ พระอธิการบัว จันทรังษี เจ้าอาวาสวัดเจษฎาราม มรณภาพลง ท่านจึงได้รับการแต่งตั้งให้มาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสแทน และในปีเดียวกันก็ได้เป็น เจ้าคณะตำบลมหาชัย

ในปี พ.ศ. ๒๔๖๙ ได้รับตราตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์

ในปี พ.ศ. ๒๔๗๖ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น พระครูมหาชัยบริรักษ์ และได้รับตำแหน่งเป็นเจ้าคณะจังหวัดสมุทรสาคร

ต่อมาในปี พ.ศ ๒๔๘๔ ท่านได้ลาออกจากตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัด ด้วยเพราะหลวงพ่อเชยเริ่มชราภาพลงจน ไม่สามารถบริหารกิจการงานได้เต็มที่

พระครูมหาชัยบริรักษ์ (หลวงพ่อเชย ญาณวัฑฒโน) วัดเจษฎาราม อ.เมือง จ.สมุทรสาคร
พระครูมหาชัยบริรักษ์ (หลวงพ่อเชย ญาณวัฑฒโน) วัดเจษฎาราม อ.เมือง จ.สมุทรสาคร

หลวงพ่อเชย นับแต่มาเป็นเจ้าอาวาสท่านได้ทำการปฏิสังขรณ์วัด จนเป็นพระอารามที่เจริญรุ่งเรือง ด้วยวิชาความรู้ ความสามารถ ทางด้านช่าง ถาวรวัตถุต่างๆ ภายในวัดที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน ท่านเป็นผู้ออกแบบเองแทบทั้งสิ้น และจากความศรัทธาที่มีต่อหลวงพ่อนั้น เมื่อดำริทำการสิ่งใดก็จะมี ผู้คน ชาวบ้าน ทั้งใกล้ไกลมาช่วยเหลือกันอย่างเต็มกำลัง จนแล้วเสร็จในเวลาอันรวดเร็ว สิ่งก่อสร้างในสมัยหลวงพ่อ อาทิ พระอุโบสถ วิหาร ศาลาการเปรียญ หอพระไตรปิฎก หอสวดมนต์ ศาลาบำเพ็ญกุศล โรงเรียนประชาบาล

หลวงพ่อเชย ญาณวัฑฒโน แม้จะมีภาระในด้านการบริหารและการปกครองอยู่มาก แต่ท่านก็ปลีกตัวมาต้อนรับผู้ที่มาเยี่ยมเยียนด้วยอัธยาศัยอันดี ด้วยอุปนิสัยที่ติดตัวมาแต่เด็กก็คือความเมตตาผู้น้อย ในแต่ละวันมีผู้คนเดินทางมาหาเป็นจำนวนมาก บ้างก็มาขอของขลังหรือขอให้รดน้ำมนต์ ที่เจ็บไข้ได้ป่วยก็มาขอให้ท่านช่วยรักษา เนื่องจากหลวงพ่อมีความสามารถในทางการแพทย์แผนโบราณ ใครไปพบท่านจะไม่มีคำว่าผิดหวัง นอกจากนั้นยังให้ความช่วยเหลือวัดต่างๆ ที่มาขอความเมตตาจากหลวงพ่ออีกด้วย

บรรดาลูกศิษย์ลูกหาต่างก็ร่วมแรงร่วมใจกันทำงานให้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีเสมอ มายามว่างท่านจะเรียก ภิกษุ สามเณร รวมทั้งศิษย์วัด มาอบรมสั่งสอนอยู่เสมอ แม้แต่ชาวบ้านบางคน ที่ทำตัวเกะกะเกเร ท่านจะเรียกตัวมาสั่งสอนให้เลิกประพฤติตัวอย่างที่เป็นอยู่ หันมาประกอบคุณงาม ความดี ซึ่งแต่ละคนนั้นมิได้เกรงการทำชั่ว หากแต่กลัวปากของหลวงพ่อมากกว่า

หลวงพ่อเชย ญาณวัฑฒโน หากท่านกล่าวอย่างไรก็เป็นเช่นนั้น มีเรื่องเล่ากันว่าคราวหนึ่งที่วัดกลาง จัดให้มีพิธีพุทธาภิเษกวัตถุมงคล ทางวัดนิมนต์พระคณาจารย์มาร่วมพิธีหลายรูป หลวงพ่อก็ได้รับนิมนต์ด้วยบังเอิญ ท่านเหลือบไปเห็นหลวงพ่อนาค วัดใหญ่ ที่รู้จักกันเป็นอย่างดีจึงกล่าวสัพยอกขึ้นว่า “ท่านเป็นนาค ท่านเดินออกไปข้างนอกไม่ได้นะ

เมื่อพิธีพุทธาภิเษกเสร็จสิ้น พระคณาจารย์ทั้งหลายต่างเดินออกจากพระอุโบสถกันแทบจะหมดเหลือ แต่หลวงพ่อนาค เพียงรูปเดียวที่หาทางออกจากโบสถ์ไม่ได้ จึงฉุกคิดขึ้นถึงคำพูดของหลวงพ่อเชย หากท่านลุกขึ้นเดินคงหาทางออกไม่เจอ จึงลงคานกับพื้น และก็เห็นประตูทางออก เลยเกิดเรื่องลือกันว่า หลวงพ่อเชย ท่านมีวาจาสิทธิ์ หลวงพ่อปกติท่านไม่ว่าใคร นอกเสียจากตักเตือนซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา

ถ้าใครถูกท่านว่ากล่าวแล้วก็นับว่าผู้นั้นเป็นคนไม่ดีจริงๆ แล้วเรื่องที่มีคนมาทะเลาะวิวาทกันภายในวัดด้วยถ้อยคำมธุรสที่หยาบคาย เป็นที่หนวกหูรำคาญแก่ พระ เณร และญาติโยม ท่านเห็นว่าเป็นการไม่สมควรจึงห้ามปราม แต่คนผู้นั้นหาเชื่อฟังไม่ ท่านจึงบอกให้ออกไปข้างนอกบริเวณวัดก็ไม่ยอมไป หลวงพ่อเลยสั่งศิษย์วัดช่วยกันนำตัวออกไป ศิษย์ของท่านก็พลอยถูกด่าผสมไปด้วย หลวงพ่อจึงกล่าวขึ้นด้วยความไม่พอใจว่า มึงมันบ้า เอาดีไม่ได้ แล้วก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ เมื่อสิบกว่าปีก่อนคนบ้าคู่นี้ยังอยู่บนเวียนอยู่แถวมหาชัย

อีกเรื่องหนึ่งคือราวปี พ.ศ.๒๔๘๗ ขณะที่หลวงพ่อเชยกับลูกศิษย์กำลังช่วยกันซ่อมแซมเรือบิณฑบาตอยู่หน้าวัด มีเรือลำหนึ่งแล่นผ่านมาในเรือมี หลวงพ่อโอภาสี นั่งมาด้วย เพื่อจะไปงานประจำปีเจ้าพ่อพันท้ายนรสิงห์ ที่วัดโคกขาม พวกลูกศิษย์ บอกหลวงพ่อว่าอยากจะไปเที่ยวงาน เพื่อจะได้ของดีจากหลวงพ่อโอภาสี หลวงพ่อบอกว่าไม่ต้องไปให้ช่วยกันซ่อมเรือต่อ ท่านพูดพร้อมกับเอาชายผ้าที่พาดไหล่มาขมวดเป็นปมแล้วดึง

ในทันทีนั้นก็มีเสียงดังปัง เครื่องยนต์เรือ ได้ดับลงเรือลำน้ำต้องลอยลำเข้ามาจอดหน้าวัดผู้คนในเรือถือดอกไม้ธูปเทียนขึ้นมานมัสการท่าน แต่หลวงพ่อบอกให้ไปไหว้ พระในโบสถ์ ไม่ใช่มาไหว้ตัวท่าน และวันนั้นลูกศิษย์ของท่านต่างก็ได้รับแจกของดีจากหลวงพ่อโอภาสี โดยไม่ต้องไปถึงวัดโคกขาม

เล่ากันว่าเมื่อเวลาว่างบางโอกาสท่านจะตัดกระดาษเป็นรูปสัตว์ เช่น ปลา แล้วให้ศิษย์วัดตักน้ำใส่โหลมา ท่านจะเอารูปปลาใส่ลงในโหล ปลาจะกลายเป็นสิ่งมีชีวิต ว่ายน้ำอยู่ไปมา วิชานี้หลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือก็ทำได้เช่นกัน คราวหนึ่งหลวงพ่อลงไปสรงน้ำที่ท่าน้ำที่ท่าวัด เมื่อคืนกลับไปที่กุฏิแล้วท่านนึกได้ว่าลืมสายรัดประคดไว้ที่ท่าน้ำ จึงให้ศิษย์วัดไปเอา

เมื่อศิษย์ไปที่ท่าน้ำก็รีบวิ่งกลับมาบอกหลวงพ่อว่า ไม่เห็นสายรัดประคด แต่เห็นจระเข้ตัวหนึ่งนอนอยู่ เมื่อท่านได้ฟังก็ยิ้มแล้วพูดว่า คงจะตาฝาดลองไปใหม่คราวนี้ ไปดูอีกทีซิ ศิษย์ผู้นั้นจึงไปยังท่าน้ำตามที่หลวงพ่อสั่งและก็เห็นสายรัดประคดแต่ไม่เห็นจระเข้ตัวนั้น ซึ่งเป็นที่น่าอัศจรรย์

พระครูมหาชัยบริรักษ์ (หลวงพ่อเชย ญาณวัฑฒโน) วัดเจษฎาราม อ.เมือง จ.สมุทรสาคร
พระครูมหาชัยบริรักษ์ (หลวงพ่อเชย ญาณวัฑฒโน) วัดเจษฎาราม อ.เมือง จ.สมุทรสาคร

◉ มรณภาพ
หลวงพ่อเชย ตลอดระยะเวลาที่ได้อุปสมบทในบวรพุทธศาสนา ท่านไม่เคยปล่อยเวลาอันมีค่าให้สูญเปล่า ได้สร้างประโยชน์ไว้มาก ทั้งทางโลก และทางธรรม ประกอบคุณความดี มาโดยตลอด จนกระทั่งถึงวาระสุดท้ายท่านเกิดอาพาธมีโรคภัยเข้ามาเบียดเบียนป่วยเป็นโรคนิ่ว ถ่ายปัสสาวะลำบาก หรือถ่ายไม่ออก และเป็นความปวดที่แสนทรมาน แต่ท่านก็มีความอดทน อย่างยอด เมื่อศิษย์พยุงท่านไปถ่ายเบา ท่านกลับหัวเราะและพูดว่า “ถ่ายไม่ออกว่ะ” แต่ในที่สุดก็รักษาจนหายอยู่เป็นปกติสุข

เรื่อยมาจนถึงวาระสุดท้าย หลวงพ่อเชย ญาณวัฑฒโน วัดเจษฎาราม ท่านก็ถึงแก่มรณภาพด้วยอาการสงบ เมื่อวันที่ ๒๖ เมษายน พ.ศ.๒๕๐๐ เวลา ๐๔.๑๕ น. สิริรวมอายุได้ ๗๘ ปี พรรษา ๕๒

◉ ด้านวัตถุมงคล
พระครูมหาชัยบริรักษ์” หรือ “หลวงพ่อเชย ญาณวัฑฒโน” พระเกจิเรืองนามวัดเจษฎาราม ริมคลองมหาชัย อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ท่านได้สร้างวัตถุมงคลไว้แก่ลูกศิษย์หลายอย่าง เช่น ตะกรุดโทน, ผ้ายันต์, สีผึ้ง, พระกลีบบัวเนื้อทองเหลือง, พระประจำวันเนื้อทองเหลือง, และเหรียญ

สำหรับวัตถุมงคลของหลวงพ่อเชย กล่าวว่าทุกครั้งที่ท่านสร้างวัตถุมงคลขึ้นมา จะต้องปรึกษากับหลวงพ่อเต๋ วัดสามง่าม อำเภอดอนตูม จังหวัดนครปฐม ซึ่งเป็นสหธรรมิกกันเสมอ วัตถุมงคลที่สร้างขึ้นในระยะแรกๆ คือ พระงบน้ำอ้อย ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อแจกในคราวฉลองสมณศักดิ์ของท่านเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๒ หรือแม้แต่ ‘ตะกรุด’ หรือ ‘ผ้ายันต์’ ที่หลวงพ่อเชยสร้างขึ้นมา หลวงพ่อเต๋ยังได้นำไปแจกจ่ายชาวบ้านละแวกวัดสามง่ามด้วย

เหรียญ รุ่นแรก พระครูมหาชัยบริรักษ์ (หลวงพ่อเชย ญาณวัฑฒโน) วัดเจษฎาราม อ.เมือง จ.สมุทรสาคร
เหรียญ รุ่นแรก พระครูมหาชัยบริรักษ์ (หลวงพ่อเชย ญาณวัฑฒโน) วัดเจษฎาราม อ.เมือง จ.สมุทรสาคร

เหรียญหลวงพ่อเชย รุ่นแรก สร้างในปี พ.ศ.๒๔๙๔ ในงานทำบุญอายุครบ ๖ รอบ อายุครบ ๗๖ ปี เป็นเหรียญรูปเสมา รูปเหมือนหน้าตรงครึ่งองค์ ด้านหลังเป็นยันต์และระบุชื่อ ปี พ.ศ. มีสร้างเนื้อทองแดงและเนื้อเงินและตะกั่วลองพิมพ์แต่พบเจอน้อยมาก มี ๒ พิมพ์ คือ พิมพ์หน้าหนุ่ม และพิมพ์หน้าแก่ ส่วนเหรียญรุ่นสอง ปี พ.ศ.๒๔๙๖ เป็นเหรียญสี่เหลี่ยม ๕ หยัก มีเนื้อเงิน เงินลงยา และทองแดง

เหรียญหลวงพ่อเชยรุ่นแรก สร้างแจกในงานทำบุญอายุครบ ๖ รอบ ๗๖ ปี เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๔ เป็นเหรียญรุ่นแรกของท่าน ถูกจัดเข้าอยู่ในทำเนียบเหรียญยอดนิยม อีกเหรียญหนึ่งของวงการ

จัดสร้างเป็นเหรียญทองแดง ๓,๐๐๐ เหรียญ และเหรียญเงิน ๑๙ เหรียญ ลักษณะของเหรียญเป็นเหรียญปั๊มแบบมีหูในตัว รูปอาร์มด้านหน้าเหรียญแกะขอบเป็นลวดลายกนก ตรงกลางเป็นรูปเหมือน หันหน้าไปทางข้างซ้าย

ด้านหลังเหรียญไม่มีขอบเหรียญ ตรงกลางเหรียญเป็นอักษร เขียนคำว่า “พระครูมหาชัยบริรักษ์ (เชย)” ล่างลงมาเป็นอักขระขอม ๓ บรรทัด โดยบรรทัดแรกเรียงตามโค้ง อีก ๒ บรรทัดเรียงเป็นแถวตรง ถัดลงมาเป็นอักษรไทย ๒ บรรทัด อ่านว่า “อายุครบ ๗๒ ปี พ.ศ.๒๔๙๔” ปัจจุบันกลายเป็นเหรียญหายาก

วัตถุมงคลที่หลวงพ่อเชย จัดสร้างล้วนแต่มีความประณีต พิถีพิถันด้านพิธีกรรมทุกเหรียญ ทั้งนี้ หลวงพ่อเชย อธิษ ฐานจิตปลุกเสกเดี่ยว ทำให้ได้รับการยอมรับจากวงการพระเครื่อง

เหรียญหลวงพ่อเชยทุกรุ่น เป็นเหรียญที่ได้รับความนิยมในวงการ มีพุทธคุณโดดเด่นด้านแคล้วคลาดปลอดภัย คงกระพันชาตรี อาวุธไม่ระคายผิว ผู้ที่มีเหรียญรุ่นนี้ไว้ในครอบครองต่างมีประสบ การณ์อัศจรรย์ให้เล่าขานกันนับไม่ถ้วน

หลวงพ่อเชย เป็นที่เคารพนับถือกันว่า ท่านมีวาจาสิทธิ์ และเหรียญของท่านยังเป็นที่หวงแหนยิ่งของคนสมุทรสาคร โดยเฉพาะละแวกมหาชัย
ประการสำคัญยิ่งแล้ว เหรียญนี้ค่อนข้างหายากเสียด้วย

◉ ประวัติวัดเจษฎาราม
วัดเจษฎาราม อันตั้งอยู่ริมคลองมหาชัย อำเภอเมือง จังหวัดสุมทรสาคร เป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่ง ซึ่งไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างขึ้นมาแต่ครั้งไหน และถูกปล่อยทิ้งร้างไว้ จนกระทั่งในปี พ.ศ.๒๔๐๑ เมื่อ หลวงพ่อน่วม แห่งวัดแสมดำ ได้ผ่านมาพบเข้าเกรงว่าจะร้างไปเสีย จึงได้ชักชวนชาวบ้านช่วยกันสร้างกุฏิขึ้น ๒ หลัง และได้อยู่จำพรรษาที่วัดแห่งนี้ เพื่อบูนรณปฏิสังขรณ์วัดขึ้นมาใหม่ ซึ่งได้ใช้เวลาเกือบ ๒๐ ปีกว่าจะบูรณะวัดให้คงเดิมขึ้นมาได้ มีชื่อวัดว่า ‘วัดธรรมสังเวช’ หากชาวบ้านเรียกขานกันว่า ‘วัดกระเจ็ด

ต่อมาเมื่อเจ้าจอมมารดาโหมด ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จมายังตำบลมหาชัย มาประทับแรมที่วัดกระเจ็ดเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๙ เป็นเวลา ๓ คืน จึงได้เปลี่ยนชื่อวัดใหม่ว่า ‘วัดเจษฎาราม’ ซึ่งปรากฎเจ้าอาวาสที่ ครองวัดแห่งนี้มา คือ
๑. หลวงพ่อน่วม
๒. พระอธิการยา
๓. พระอธิการบัว
๔. พระครูมหาชัยบริรักษ์ (เชย ญาณวฒฺโน)
๕. พระครูโอภาสธรรมสาคร ต่อมาได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็น ‘พระราชสาครมุนี’
๖. พระราชสิทธิเวที (สมบูรณ์ ปญฺญาวุโธ)