วันพฤหัสบดี, 24 ตุลาคม 2567

หลวงปู่ยิ้ม สิริโชติ วัดเจ้าเจ็ดใน อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา

ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่ยิ้ม สิริโชติ

วัดเจ้าเจ็ดใน
อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา

พระครูพรหมวิหารคุณ (หลวงปู่ยิ้ม สิริโชติ) วัดเจ้าเจ็ดใน อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา
พระครูพรหมวิหารคุณ (หลวงปู่ยิ้ม สิริโชติ) วัดเจ้าเจ็ดใน อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา

พระครูพรหมวิหารคุณ (หลวงปู่ยิ้ม) วัดเจ้าเจ็ดใน พระเกจิอาจารย์ผู้สร้างตำนานพระงบน้ำอ้อยเมืองกรุงเก่า จ.พระนครศรีอยุธยา

◉ ชาติภูมิ
พระครูพรหมวิหารคุณ (หลวงปู่ยิ้ม สิริโชติ) วัดเจ้าเจ็ดใน นามเดิมชื่อ “ยิ้ม กระจ่าง” เกิดที่ตำบลเจ้าเจ็ด อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เกิดที่บ้านสาลี หมู่ที่ ๑ ตำบลบ้านแถว อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา บิดาชื่อ “นายอ่วม” และมามารดาชื่อ “นางสุด กระจ่าง” เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ ๑๕ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๑๘ (จันทรคติ วันเสาร์ ปีกุน จ.ศ.๑๒๓๗) มีพี่น้องร่วมบิดา มารดารวม ๓ คน คือ บิดามารดาประกอบอาชีพทางกสิกรรม ทำไร่ ทำนา
๑. นายจ่าง กระจ่าง
๒. พระครูพรหมวิหารคุณ (หลวงปู่ยิ้ม สิริโชติ)
๓. นายโชติ กระจ่าง

ต่อมาปี พ.ศ.๒๔๓๐ได้บรรพชาเป็นสามเณรมาตั้งแต่อายุได้ ๑๒ ขวบ พออายุ ๑๘ ปี ก็ย้ายไปศึกษาที่วัดกระโดงทอง ภายใต้การปกครองของหลวงพ่อบุญมี สำเร็จยันต์นะ ปัดตลอด และสามารถเขียนยันต์ผงทะลุแผ่นกระดานชนวนได้อย่างอัศจรรย์ ต่อมาได้เป็นเจ้าอาวาสวัดเจ้าเจ็ดใน ต่อจากพระอุปฌาย์ “ปั้น

หลวงพ่อบุญมี จันทรรัศมี วัดกระโดงทอง
หลวงพ่อบุญมี จันทรรัศมี วัดกระโดงทอง

◉ อุปสมบท
เมื่ออายุครบ ๒๐ ปี พ.ศ.๒๔๓๘ ได้อุปสมบท ณ พัทธสีมา ณ วัดเจ้าเจ็ดนอก โดยมี พระอาจารย์สิน วัดโพธิ์ เป็นอุปัชฌาย์ พระอาจารย์จาด เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์สุ่น เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “สิริโชติ

เมื่อบวชแล้วได้ศึกษาพระธรรมวินัย ขนบธรรมเนียมประเพณีทางศาสนา ศึกษาพระคัมภีร์เจ็ดตำนาน สิบสองตำนาน เขียนอักขระเลขยันต์ ลบผงศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ จากพระอุปัชฌาย์ ครูบาอาจารย์ ผู้สืบสานวิชาอาคมมาตั้งแต่ครั้งกรุงเก่า คือ พระอาจารย์จาด และพระอาจารย์จีน สำนักวัดเจ้าเจ็ดใน (พระอาจารย์จีน เป็นพระอาจารย์สอนอักขร สมัยให้กับ หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค ในครั้งนั้นด้วย)

หลวงพ่ออุปัชฌาย์ปั้น  อดีตเจ้าอาวาสวัดเจ้าเจ็ดใน ภาพถ่ายขณะมรณะภาพ มีหลวงพ่อยิ้ม ยืนร่วมอยู่ในรูปด้วย แถวหน้าขวามือรูปที่ ๒
หลวงพ่ออุปัชฌาย์ปั้น อดีตเจ้าอาวาสวัดเจ้าเจ็ดใน ภาพถ่ายขณะมรณะภาพ มีหลวงพ่อยิ้ม ยืนร่วมอยู่ในรูปด้วย แถวหน้าขวามือรูปที่ ๒

ในสมัยนั้นวัดเจ้าเจ็ดใน ได้แบ่งออกเป็น ๓ คณะ โดยมีหลวงพ่อยิ้ม เป็นเจ้าคณะเหนือ หลวงปู่โฉม เป็นเจ้าคณะใต้ และหลวงปู่คำ เป็นเจ้าคณะตะวันออก และหลวงพ่อยิ้มยังเป็นเจ้าคณะตำบลเจ้าเจ็ด เป็นพระครูกรรมการศึกษาและเป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๘ ได้รับพระราชทานสมณะศักดิ์ เป็น พระครูพรหมวิหารคุณ พ.ศ.๒๔๙๓ เป็นเจ้าคณะอำเภอบางซ้าย

(นั่งกลาง) พระครูพรหมวิหารคุณ หลวงพ่อยิ้ม หลวงพ่อพระอาจารย์คำ ติสโส (นั่งซ้ายมือ) หลวงพ่อพระครูวิหารโสภณ หลวงพ่อรอด วัดเจ้าเจ็ดนอก (นั่งขวามือ)
(นั่งกลาง) พระครูพรหมวิหารคุณ หลวงพ่อยิ้ม หลวงพ่อพระอาจารย์คำ ติสโส (นั่งซ้าย) หลวงพ่อพระครูวิหารโสภณ หลวงพ่อรอด วัดเจ้าเจ็ดนอก (นั่งขวา)

ครั้งเมื่อ หลวงปู่ยิ้ม ยังมีชีวิตอยู่ท่านเป็นพระที่อุดมด้วย ศีลลาจารวัตร ตลอดชีวิตของหลวงพ่อเป็นพระที่อารมณ์เย็น เคร่งครัด แต่มีเมตตาธรรมสูง พูดน้อย และมีผู้คนไปกราบนมัสการหาสู่ท่านมิได้ขาด พระเกจิอาจารย์ดังแห่งกรุงศรีอยุธยา, ยุคสงครามโลกครั้งที่สอง และสงครามอินโดจีน หลวงพ่อยิ้ม มีพระสหธรรมมิกที่ร่วม ครู-อุปัชฌาย์ อาจารย์องค์เดียวกันในยุคนั้นคือ หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก ซึ่งมีอายุมากกว่าหลวงปู่ยิ้ม ๓ ปี อีกรูปหนึ่งคือ หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค ซึ่งเกิดปีเดียวกับหลวงปู่ยิ้ม มีญาติโยมที่เป็นนักเลงสมัยนั้นได้ตั้งสมญานามให้ดูน่ากลัวว่า “สามเสือแห่งกรุงเก่า

◉ พระหมอหลวงพ่อปาน เกจิอาจารย์หลวงพ่อจง เมตตาไหลหลง หลวงพ่อยิ้ม
หลวงพ่อทั้ง ๓ มีความสนิทสนมกลมเกลียวกันยิ่งนัก ต่างคนต่างผลัดไปมาหาสู่ต่อวิชา ซึ่งกันและกันที่วัดของแต่ละองค์ ครั้งละหลายๆ วันชาวกรุงเก่าที่รู้ซึ้ง จึงกระซิบต่อๆ กันว่า พระเครื่องของทั้ง ๓ องค์นี้พุทธคุณขลังเหมือนกัน ทั้งเมตตามหานิยม แคล้วคลาดและคงกระพันชาตรี เมื่อต่างองค์ต่างสร้างพระเครื่องฯ เพื่อสืบทอดพระศาสนาต่างก็มานั่งปรกพุทธาภิเษกแทบทุกครั้งไป

เหตุการณ์สำคัญ อธิเช่นการปลุกเสกทราย และขึ้นเครื่องบินโปรยลงสถานที่สำคัญๆ ในประเทศไทย เมื่อครั้งสมัยสงครามอินโดจีนฯ ช่วงปี พ.ศ.๒๔๘๕ ฝรั่งเศสที่ต้องการจะยึดดินแดนของไทยเป็นประเทศใน อานานิคม มีผลร้ายแรง พอๆ กับสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๕ ซึ่งเป็นเรื่องของความสามัคคี เพื่อให้สถาบันชาติอยู่ได้ สถาบันศาสนาอยู่ได้ และสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ได้ และสืบต่อพระศาสนา ให้มีความเจริญรุ่งเรืองสืบไป

◉ หลวงปู่ยิ้มวาจาสิทธิ์
จากการที่หมั่นสวดมนต์ภาวนา ให้ทาน รักษาศีล และเจริญพระกรรมฐานภาวนา ตลอดจนสั่งสอนให้คนทำความดีเป็นนิตย์ หล่อหลอมให้ภิกษุชราพุทธบุตรรูปหนึ่ง มีวาจาสิทธิ์ดุจเทพเจ้าฯ ทั้งให้พร เสกน้ำพระพุทธมนต์ รักษาโรค เป็นที่ประจักษ์ตาแก่ชาวบ้านใกล้ และไกล หลวงปู่ไม่ชอบคนมุสา คนดื่มน้ำเมา คนกาเม คนฆ่าสัตว์ตัดชีวิต คนลักขโมย (คนที่ชอบละเมิดศีลห้า) และคนที่ งอมืองอเท้า ขี้เกียจทำกิน หลวงปู่ยิ้มท่านมีวาจาสิทธิ์ พูดคำไหนเป็นคำนั้นไม่พูดมาก พูดแต่สิ่งที่ดีๆ เมื่อสั่งสอนครั้ง สองครั้งยังไม่เลิกละ หลวงปู่ก็จะเปรยๆ พอให้ศิษย์ใกล้ชิดได้ยินว่า “พวกนี้มันบัวใต้น้ำ ชี้ทางสวรรค์ให้เดินไม่ยอมเดิน (เป็นการชี้ให้เห็นว่าประตูสู่สวรรค์ก็คือศีลห้านั่นเอง) และในไม่ช้าบุคคลดังกล่าวข้างต้นนี้ก็มีอันเป็นไปในที่สุด”

หลวงปู่ยิ้ม สิริโชติ วัดเจ้าเจ็ดใน อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา
หลวงปู่ยิ้ม สิริโชติ วัดเจ้าเจ็ดใน อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา

◉ มรณภาพ
พระครูพรหมวิหารคุณ (หลวงปู่ยิ้ม สิริโชติ) วัดเจ้าเจ็ดใน มรณภาพด้วยโรคชรา ด้วยอาการอันงบ เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๔๙๙ (วันจันทร์ แรม ๑๒ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีวอก จ.ศ.๑๓๑๘ ) รวมสิริอายุได้ ๘๑ ปี พรรษา ๖๑

◉ ประวัติ วัดเจ้าเจ็ดใน
วัดเจ้าเจ็ดใน ตั้งอยู่ที่ริมคลองเจ้าเจ็ดซึ่งเป็นทางไปยังจังหวัดสุพรรณบุรี ปัจจุบัน วัดเจ้าเจ็ดในตั้งอยู่ที่ ๓๔ ถนนสุขาภิบาลเจ้าเจ็ด หมู่ที่ ๓ ตำบลเจ้าเจ็ด อำเภอเสนา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มีที่ดินตั้งวัดเนื้อที่ ๑๕ ไร่ ๒ งาน ๔๐ ตารางวา วัดเจ้าเจ็ดในเกิดขึ้นหลังจากกรุงศรีอยุธยาเสียให้แก่พม่าใหม่ๆ ปี พ.ศ.๒๓๑๐ ท้องที่เจ้าเจ็ดเป็นดินแดนลุ่มลาดซึ่งเป็นป่ารกร้าง มาก จึงเป็นที่อาศัยของสัตว์ร้าย เช่น จระเข้ ช้าง เสือ เป็นต้น และเป็นที่ลี้ภัยสงครามพม่าของเจ้าฟ้ามหากษัตริย์ในครั้งนั้น

เมื่อเจ้าฟ้ามหากษัตริย์ทั้งหลายลี้ภัยมาพักอาศัยอยู่ที่ตำบลนี้ ซึ่งคงนับได้ ๗ พระองค์ จึงได้สร้างปูชนีย์วัตถุไว้ ต่อมาประชาชนจึงได้ถือเอาที่นี้เป็นวัด จึงได้ซื่อว่า “วัดเจ้าเจ็ด” ต่อมาภายหลังได้เกิดวัดขึ้นอีกวัดตั้งอยู่ทิศเหนือ มีเนื้อที่ติดต่อกัน ดังนั้นวัดเจ้าเจ็ดจึงมีคำว่า “ใน” ต่อท้าย ต่อมาปี ๔๔๙ พระธรรมดิลก (อิ่ม) กับพระอุปัชฌาย์ “ปั้น” เป็นเจ้าอาวาส ขณะนั้นเป็นหัวหน้าประชาชน ชาวเจ้าเจ็ด และกรุงเทพ ร่วมกันสร้างโรงอุโบสถขึ้นโดยสร้างทับที่ของเดิม และผูกพัทธสีมา เมื่อปี ๒๔๕๐ เจ้าอาวาสที่สืบทราบนามได้ มี ๕ รูป ดังนี้

๑. พระอาจารย์จีน (พระอาจารย์ สอนพระปริยัติธรรม และภาษาบาลี ให้กับ หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค และหลวงปู่ยิ้ม วัดเจ้าเจ็ด)
๒. พระอุปัชฌาย์ ปั้น
๓. พระครูพรหมวิหารคุณ (หลวงพ่อยิ้ม)
๔. พระอาจารย์คำ (รักษาการ)
๕. พระครูเสนาคณานุรักษ์ (เจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน)

◉ ด้านวัตถุมงคล
พระครูพรหมวิหารคุณ (หลวงปู่ยิ้ม สิริโชติ) เป็นเกจิ อาจารย์รุ่นราวคราวเดียวกันกับหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค และหลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก หลวงพ่อยิ้มได้สร้างวัตถุมงคลเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๕

หลวงปู่ยิ้ม วัดเจ้าเจ็ดใน เป็นพระที่อุดมด้วยศีลลาจารวัตร ตลอดชีวิตของหลวงปู่เป็นพระอารมณ์เย็นและยิ้มง่าย สมกับชื่อของท่าน จึงมักมีผู้คนไปนมัสการขอของทางเมตตามหานิยมของท่านมิได้ขาด หลวงปู่ยิ้มยังเป็นพระร่วมสมัยกับ หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค และ หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก จนเรียกกันติดปากว่า “พระหมอหลวงพ่อปาน เกจิอาจารย์หลวงพ่อจง เมตตาไหลหลง หลวงปู่ยิ้ม

หลวงปู่ยิ้ม ท่านมีวาจาสิทธิ์ พูดคำไหนเป็นคำนั้นไม่พูดมาก พูดแต่สิ่งที่ดี ๆ หลวงปู่ยิ้มได้สร้างวัตถุมงคล ไว้มากมายเพื่อให้ประชาชนได้บูชาและเก็บใส่กรุไว้เพื่อเป็นการต่ออายุพระธรรมศาสนา หลวงปู่ยิ้มเริ่มสร้างวัตถุมงคลขึ้นในปี พ.ศ.๒๔๗๕ โดยวัตถุมงคลของท่านเป็นพระเนื้อดินเผา พิมพ์ต่างๆ โดยใช้ส่วนผสมมวลสารต่างๆ ดังนี้

๑. ดินใจกลางนาที่ขุดลงไปลึกๆจนเรียกว่าดินนวล
๒. ดินเจ็ดโป่งเจ็ดป่า
๓. ผงวิเศษของหลวงพ่อยิ้ม
๔. ว่านต่างๆ ที่หลวงพ่อสะสม

สำหรับพุทธคุณ ที่บรรดาสาธุชนที่เลื่อมใสหลวงปู่ยิ้มได้พบประสบการณ์ในวัตถุมงคลหลวงปู่นั้น จะเป็นไปในทางเมตตามหานิยม ช่วยให้ทำมาค้าขายเจริญรุ่งเรืองมีคนรักใคร่ และแคล้วคลาดจากเหตุภัยอันตรายต่างๆ ป้องกันเขี้ยวงา คุณไสยต่างๆได้เป็นอย่างดี รวมไปถึงทางด้านคงกระพันชาตรี เนื่องจากเคยได้ยินได้ฟังจากชาวบ้านในละแวกนั้นบอกกล่าวไว้ว่า ชาวบ้านเคยนำพระงบน้ำอ้อย ของหลวงปู่ยิ้ม อาราธนาและนำเอาไปทดลองใส่ปากปลาช่อน แล้วเอามีดฟันแต่ไม่เข้า จึงถือเป็นของดีที่น่าใช้วัดหนึ่งเหมือนกันจนเป็นที่เคารพศรัทธา ของประชาชนใน อำเภอเสนา และในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตลอดจนจังหวัดใกล้เคียง เช่น สุพรรณบุรี และอ่างทอง เนื่องจากพระของท่านสร้างไว้จำนวนมาก จึงพบเห็นในสนามพระบ่อยๆ ทำให้ราคาถูก หากแต่ว่าสมัยนี้พระของท่านนั้นมีให้เห็นในสนามพระน้อยลงไปทุกวันแล้ว

◉ พระพิมพ์งบน้ำอ้อย
พระงบน้ำอ้อย เป็นพระเครื่องอีกพิมพ์หนึ่งที่มีลักษณะแตกต่างไปจากพิมพ์อื่นๆ ตรงที่ว่าสัณฐานของพระเครื่องจะเป็นรูปกลม ส่วนด้านหลังจะแบนราบ และเอกลักษณ์ ของพระงบน้ำอ้อยอีกอย่างหนึ่งที่คุ้นตาพวกเรากันดีก็คือ ด้านหน้าจะเป็นรูปพระหลายๆ องค์นั่งเรียงกันโดยหันพระเศียรเข้าหาจุดศูนย์กลาง พระพิมพ์งบน้ำอ้อย ของหลวงปู่ยิ้มเป็นพระพิมพ์เนื้อดินเผาที่นิยมมากที่สุดของหลวงปู่ยิ้ม มีลักษณะกลมมีองค์พระพุทธอยู่ในทรงกลมนับได้ ๑๐ องค์ หรือแทนพระพุทธเจ้า ๑๐ พระองค์ หรือพระพุทธเจ้า ๑๐ ชาติ บางองค์ยังพบมีพระพุทธเจ้า ๕ พระองค์ก็มี และ แบ่งออกเป็น ๓ ขนาดพิมพ์ คือ พิมพ์ใหญ่ พิมพ์กลาง พิมพ์เล็ก ทุกพิมพ์นั้นได้รับความนิยมเท่าๆกัน และยังแยกประเภทเป็น ๒ ประเภทคือ พิมพ์มีเส้น และพิมพ์ไม่มีเส้น (นิยมเรียก พิมพ์เทวดา)

พระงบน้ำอ้อย หลวงปู่ยิ้ม วัดเจ้าเจ็ดใน
พระงบน้ำอ้อย หลวงปู่ยิ้ม วัดเจ้าเจ็ดใน

๑. พระงบน้ำอ้อยพิมพ์ใหญ่ ขนาดองค์พระกลมใหญ่ เส้นผ่าศูนย์กลางใหญ่โดยประมาณ ๓๕ มิลลิเมตร ถึง ๓๗ มิลลิเมตร
๒. พระงบน้ำอ้อยพิมพ์กลาง ขนาดองค์พระกลม เส้นผ่าศูนย์กลาง โดยประมาณ ๓๐ มิลลิเมตร
๓. พระงบน้ำอ้อยพิมพ์เล็ก ขนาดองค์พระกลม เส้นผ่าศูนย์กลาง โดยประมาณ ๒๐ มิลลิเมตร