ประวัติและปฏิปทา
หลวงพ่อห่วง สุวณฺโณ
วัดท่าใน
อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม
พระครูสิริวุฒาจารย์ (หลวงพ่อห่วง สุวณฺโณ) วัดท่าใน เกจิอาจารย์องค์หนึ่งที่มีความแก่กล้าด้านพุทธาคมแห่งเมืองนครปฐม และผู้เป็นที่เคารพศรัทธาของสาธุชน กระทั่งพระเกจิดังด้วยกันอย่าง “หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม” ยังให้ความเคารพนับถือ
◉ ชาติภูมิ
พระครูสิริวุฒาจารย์ (หลวงพ่อห่วง สุวณฺโณ) วัดท่าใน ท่านเป็นชาวนครปฐมโดยกำเนิด เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ ๑๙ กันยายน พ.ศ.๒๔๒๘ ตรงกับวันเสาร์ ขึ้น ๑๑ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีระกา ที่บ้านตำบลทรงคะนอง อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม บิดาชื่อ “นายผึ้ง” และมารดาชื่อ “นางอ่อง” มีพี่สาวร่วมสายโลหิตเพียงคนเดียวชื่อ “บุญ” (ถึงแก่กรรมแล้ว) มีอาชีพเป็นกสิกร
ได้เป็นกำลังในการช่วยบิดา-มารดาประกอบอาชีพมาตั้งแต่เยาว์วัย
◉ อุปสมบท
จนอายุย่างเข้า ๒๒ ปี บิดา-มารดาของท่าน ซึ่งเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาก็ปรารภอยากให้บวชเพื่อจะได้เป็นศาสนทายาทในพระพุทธศาสนา และเพื่อได้สืบต่ออายุพระพุทธศาสนาให้ยืนยาวสืบไป ประกอบกับท่านเองก็มีอัธยาศัยโน้มน้อมในบรรพชิตเพศอยู่แล้ว จึงได้อุปสมบท ณ วัดทรงคนอง ต.ทรงคนอง อ.สามพราน จ.นครปฐม เมื่อวันที่ ๙ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๔๙ เวลา ๑๓.๓๐ น. โดยมี หลวงพ่อรุ่ง เป็นพระอุปัชฌาย์, หลวงพ่อมี เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และหลวงพ่อแจ่ม เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายา “สุวณฺโณ”
เป็นพระภิกษุที่เคร่งครัดในวัตรปฏิบัติ ถือสมถะ รักสันโดษ และใฝ่ใจศึกษาพระธรรมวินัยและวิปัสสนาธุระจนแตกฉาน เมื่อถึงช่วงออกพรรษาท่านมักจะออกธุดงค์ไปตามสถานที่ต่างๆ แสวงหาที่สงบ เพื่อปลีกวิเวกและปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ท่านได้เดินทางไปฝากตัวเป็นศิษย์ หลวงพ่อหรุ่น วัดช้างเผือก อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม พระอาจารย์รุกขมูลชื่อดัง
พรรษาที่ ๖ มาปักกลดที่บริเวณวัดท่าใน ซึ่งขณะนั้นชำรุดทรุดโทรมมาก ชาวบ้านเห็นวัตรปฏิบัติแล้วเกิดความเลื่อมใสศรัทธา พร้อมใจกันอาราธนาท่านให้จำพรรษาที่วัดท่าใน เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการบูรณปฏิสังขรณ์วัด ซึ่งนอกเหนือจากพัฒนาและบำรุงเสนาสนะต่างๆ ภายในวัดให้เจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับแล้ว ท่านยังคงปฏิบัติกิจสงฆ์อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง สั่งสอนธรรมะ แนะนำช่วยเหลือผู้เดือดร้อน เป็นที่เคารพเลื่อมใสของชาวบ้านและพื้นที่ใกล้เคียง
ในปี พ.ศ.๒๔๗๕ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาส วัดท่าใน
ในปี พ.ศ.๒๔๘๑ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะตำบลท่าพระยา
ในปี พ.ศ.๒๔๙๐ ได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์
ในปี พ.ศ.๒๔๙๙ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรที่ พระครูสิริวุฒาจารย์
ถ้ากล่าวถึงพระเกจิอาจารย์ชื่อดังแห่งเมืองนครปฐม นาม “หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม” จะเป็นหนึ่งในพระเกจิอาจารย์ที่ทุกคนเคารพเลื่อมใสและลูกศิษย์ลูกหามากมาย ด้วยเมตตาบารมีและพุทธคุณแห่งวัตถุมงคลเป็นที่กล่าวขวัญ เลื่องลือ แต่มีพระเกจิอาจารย์รูปหนึ่งที่หลวงพ่อเงินให้ความเคารพนับถืออย่างมาก ถึงกับออกปากว่า “เก่งกว่าท่านมากนัก” และจะเรียกขานว่า “หลวงพี่” มาโดยตลอด
หลวงพ่อห่วง องค์นี้เป็นเกจิอาจารย์เหมือน “คมอยู่ในฝัก” เพราะเป็นสหธรรมิกกันกับ “หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม” เคยเดินออกธุดงค์ร่วมกันมาตั้งแต่วัยหนุ่ม แลกเปลี่ยนพุทธาคมกัน จนหลวงพ่อเงินถึงกับเอ่ยปาก “หลวงพ่อห่วง” องค์นี้มีอาคมขลังทำของได้ขึ้นไว ชาวบ้านแถบ วัดท่าใน ท่ากระชับ เมื่อเดินทางไปขอวัตถุมงคลจากหลวงพ่อเงิน ท่านจะบอกว่า “คุณเลยของดีมาเสียแล้ว ท่านห่วงวัดท่าใน นั่นไง ของดีจริง กลับไปเอาที่นั่น ไม่ต้องมาถึงที่นี่ก็ได้”
ย้อนไปสมัยยังหนุ่มแน่น พระเกจิ ๓ รูปจะออกธุดงค์ร่วมกันเสมอทุกปีมิได้ขาด ประกอบด้วย หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม, หลวงพ่อห่วง วัดท่าใน และหลวงพ่อเต๋ คงทอง วัดสามง่าม ครั้งหนึ่งขณะที่เดินธุดงค์ผ่านเข้าไปในป่าดงดิบแถบกาญจนบุรี ไปพบกระทิงโทนตัวหนึ่ง มันไล่ขวิดเข้าทำร้าย หลวงพ่อเงิน และหลวงพ่อเต๋ได้เดินหลบไป แต่หลวงพ่อห่วงกลับไม่หลบ ยังคงยืนภาวนาพระคาถาอยู่ตรงที่เดิม เมื่อเจ้ากระทิงโทนวิ่งเข้าใส่ไล่ขวิดก็เป็น ที่น่าอัศจรรย์ที่มันขวิดไปไม่ถึงตัวท่าน คงขวิดได้แค่ดินตรงหน้าท่านเท่านั้น จนฝุ่นตลบอบอวลไปทั่ว หลังจากขวิดได้สักพักมันก็แผดเสียงร้องคำรามแล้ววิ่งหนีไป
◉ มรณภาพ
หลวงพ่อห่วง สุวณฺโณ วัดท่าใน มรณภาพลงด้วยอาการสงบ เมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๐๖ ตรงกับวันอังคาร ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีเถาะ เวลา ๒๑.๓๐ น. ในวันวิสาขบูชา สิริอายุได้ ๗๘ ปี พรรษาที่ ๕๗ พระราชทานเพลิงศพวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๐๗
◉ ด้านวัตถุมงคล
วัตถุมงคลที่ท่านสร้างมีมากมายหลายแบบ ทั้งตะกรุดโทน ด้ายมงคล พระพิมพ์ผงเกสร และเหรียญรูปเหมือน ว่ากันว่าการปลุกเสกวัตถุมงคลของท่านนั้นฉมังนัก อย่าง “พระผงเกสร” เมื่อท่านตากพระแห้งสนิทแล้วก็จะนำไปใส่ในบาตรที่มีน้ำเต็มขอบบาตรและนั่งบริกรรมปลุกเสก จนพระลอยขึ้นมาเหนือน้ำจึงจะใช้ได้ องค์ไหนที่จมถือเป็นพระเสีย พระเครื่องของท่านจึงเปี่ยมด้วยพุทธานุภาพเป็นที่ประจักษ์แก่ผู้บูชา ทั้งด้านเมตตามหานิยม แคล้วคลาด และคงกระพันชาตรี เป็นที่หวงแหนยิ่งนัก ประการสำคัญเมื่อท่านจะมอบวัตถุมงคลให้ใครท่านจะพิจารณาอย่างมากและสำทับด้วยว่า“มึงอย่าไปเที่ยวปล้นเขานะ”
ปัจจุบันวัตถุมงคลของท่านหาดูค่อนข้างยากเอามากๆ ที่พอจะเห็นได้อยู่ก็จะเป็น “เหรียญรูปเหมือน” ซึ่งมีทั้งหมด ๓ รุ่น และรุ่นที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ “เหรียญรูปเหมือนรุ่นแรก หลวงพ่อห่วง วัดท่าใน” ที่สร้างในปี พ.ศ.๒๔๙๙ โดยลูกศิษย์เป็นผู้สร้างถวาย เนื่องในงานฉลองสมณศักดิ์ จำนวนประมาณ ๕๐๐ เหรียญ โดยส่วนใหญ่จะเป็น เนื้อเงิน เนื้อทองแดงรมดำมีบ้างแต่น้อยมาก
เหรียญรูปเหมือนหลวงพ่อห่วง รุ่นแรก ปี พ.ศ.๒๔๙๙ ลักษณะเป็นเหรียญปั๊ม ทรงเสมาคว่ำ หูในตัว ด้านหน้าเป็นรูปเหมือนหลวงพ่อห่วงครึ่งองค์ หน้าตรง มีอักษรไทยระบุชื่อ “หลวงพ่อห่วง” ตกแต่งโดยรอบด้วยลายกนก ด้านหลังเป็นหลังเรียบ ตรงกลางเป็น “ยันต์กระต่ายสามขา” ซึ่งเป็นยันต์ด้านคงกระพันชาตรีซ้อนกัน ๒ ยันต์ โดยรอบเป็นอักขระขอมอ่านว่า “นะ มะ อะ อุ” ยอดบนเป็น “อุณาโลม” ด้านล่างเป็นอักขระขอมว่า “นะ อุ ทะ”
ขอขอบคุณข้อมูลจาก khaosod.co.th