วันอังคาร, 26 พฤศจิกายน 2567

หลวงพ่อเปลี่ยน อินทสโร วัดใต้ อ.เมือง จ.กาญจนบุรี

ประวัติและปฏิปทา
หลวงพ่อเปลี่ยน อินทสโร

วัดใต้
อ.เมือง จ.กาญจนบุรี

หลวงพ่อเปลี่ยน อินทสโร วัดใต้ อ.เมือง จ.กาญจนบุรี
หลวงพ่อเปลี่ยน อินทสโร วัดใต้ อ.เมือง จ.กาญจนบุรี

หลวงพ่อเปลี่ยน อินทสโร วัดใต้ อ.เมือง จ.กาญจนบุรี เป็นพระเกจิคณาจารย์ผู้มีชื่อเสียงโด่งดัง เปี่ยมด้วยเมตตาบารมีในยุคสงครามมหาเอเชียบูรพา

◉ ชาติภูมิ
พระวิสุทธิรังสี (หลวงพ่อเปลี่ยน อินทสโร) เกิดเมื่อวันเสาร์ เดือน ๕ ปีจอ ตรงกับวันเสาร์ที่ ๕ เมษายน พ.ศ.๒๔๐๕ ที่เรียกกันว่า “เสาร์ห้า” ที่บ้านม่วงชุม อ.ท่าม่วง จ.กาญจนบุรี บิดาชื่อ “หมื่นอินทร์รักษา (นิ่ม)”และมารดาชื่ “นางจีบ พูลสวัสดิ์

ในวัยหนุ่ม ท่านมีความเป็นนักสู้ เข้มแข็ง ทรหดอดทน เรียกได้ว่าเป็นนักเลงเต็มตัวตั้งแต่ยังเด็ก รูปร่างล่ำสัน ผิวดำ จึงเรียกชื่อว่า “ทองดำ

ด้วยบิดามารดามีความเป็นห่วง เกรงว่าต่อไปในอนาคตจะเอาดีได้ยาก จึงนำไปฝากให้เรียนหนังสือที่วัดใต้ เป็นศิษย์พระครูวิสุทธิรังษี (หลวงปู่ช้าง) เจ้าอาวาสและเจ้าคณะเมืองกาญจน์ในสมัยนั้น ท่านเป็นพระเกจิผู้มีวิทยาคมแก่กล้า เป็นที่เคารพนับถือ

เมื่อมาอยู่วัด พฤติกรรมก็เปลี่ยนไป กลายเป็นคนสุขุมเยือกเย็น สุภาพเรียบร้อย และโอบอ้อมอารี บิดาเลยเปลี่ยนชื่อให้ใหม่ว่า “เปลี่ยน” นับแต่นั้นมา

◉ อุปสมบท
เมื่ออายุครบบวช อุปสมบทที่วัดใต้ มีหลวงปู่ช้าง เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอธิการรอด วัดทุ่งสมอ และพระอธิการกรณ์ วัดชุกพี้ เป็นพระคู่สวด ได้รับฉายา “อินทสโร” ซึ่งเป็นฉายาของผู้เกิดวันอาทิตย์ เนื่องจากพระอุปัชฌาย์เห็นว่า “เสาร์ห้า” เป็นคนชะตากล้าแข็ง ถ้าให้ฉายาเป็นคนวันเสาร์ เกรงว่าจะกล้าแข็งเกินไป

แต่เดิมตั้งใจจะบวชเพียง ๗ วัน แต่ก็อยู่ในสมณเพศจวบจนสิ้นอายุขัย

หลังอุปสมบท มุ่งมั่นศึกษาเล่าเรียนทั้งหนังสือขอม-หนังสือไทย และปฏิบัติพระธรรมวินัยอย่างเคร่งครัด ไม่ย่อท้อต่ออุปสรรคต่างๆ สำเร็จในทุกวิทยาการที่ได้รับการสอนสั่ง เป็นที่ถูกใจของพระอุปัชฌาย์ จึงตั้งให้เป็นพระใบฎีกา พระฐานาของท่าน

เมื่อหลวงปู่ช้าง มรณภาพลง ทางการจึงแต่งตั้งให้พระใบฎีกาเปลี่ยน เป็นเจ้าอาวาสสืบแทน และได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ที่ พระครูวิสุทธิรังษี

ท่านปกครองและพัฒนาวัดจนเจริญรุ่งเรือง ส่งเสริมและพัฒนาด้านการศึกษาทั้งด้านปริยัติธรรมและกุลบุตรกุลธิดา โดยจัดตั้งโรงเรียนประจำจังหวัด คือ โรงเรียนวิสุทธิรังษี

นอกจากนี้ ยังร่วมพัฒนาวัดวาอารามต่างๆ ในจังหวัดมาโดยตลอด จนได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะจังหวัดกาญจนบุรี

ต่อมา รัชกาลที่ ๖ โปรดเกล้าฯ เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะที่ พระวิสุทธิรังษี และสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราช ได้พระราชทานสร้อยต่อท้ายเป็น พระวิสุทธิรังษี ชินศาสนโสภี สังฆปาโมกข์

หลวงพ่อเปลี่ยน วัดใต้
รูปถ่าย ๙ พัด พระวิสุทธิรังษี (หลวงพ่อเปลี่ยนวัดใต้) จากซ้ายมาขวา
พัดที่ ๑ พัดรองในงานฉลองพระชนมายุ สมเด็จพระมาตุจฉาเจ้า พระบรมราชเทวี ครบ ๖๐ พรรษา พ.ศ. ๒๔๖๗
พัดที่ ๒ พัดรองที่ระลึกในงานถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ในปีพุทธศักราช ๒๔๕๓
พัดที่ ๓ พัดรัตนาภรณ์ พระราชทานในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ เป็นพัดที่พระมหากษัตริย์พระราชทานแก่พระเถระที่ทรงพระราชศรัทธา
พัดที่ ๔ พัดรัตนกรัณฑ์ ในงานฉลองพระชันษาครบ ๖๐ ปี ของพระอัครชายาเธอ พระองค์เจ้าสายสวลีภิรมย์ ในปีพุทธศักราช ๒๔๖๖
พัดที่ ๕ พัดยศพระราชาคณะ ชั้นสามัญยก พระราชทินนามที่ “พระวิสุทธิรังษี ชินศาสนโสภี สังฆปาโมกข์ ” ในปีพุทธศักราช ๒๔๖๐ ในรัชกาลที่ ๖
พัดที่ ๖ พัดสมโภชพระนคร พัดรองงานพระราชพิธีสมโภชพระนคร ครบ ๑๕๐ ปี กรุงรัตนโกสินทร์ พุทธศักราช ๒๔๗๕ ล้อมอักษรพระปรมาภิไธยย่อ ๗ รัชกาล
พัดที่ ๗ พัดสามศร พัดรองงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ในปีพุทธศักราช ๒๔๖๘
พัดที่ ๘ พัดรอง ในงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖
พัดที่ ๙ พัดรอง ที่ระลึกในงานถวายพระเพลิงพระบรมศพ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ในปีพุทธศักราช ๒๔๖๘

หลวงพ่อเปลี่ยน วัดใต้ เป็นอมตเถระรูปหนึ่งที่มีชื่อเสียงในยุคสงครามอินโดจีน เป็นที่กล่าวขานว่า ท่านมีพุทธาคมเข้มขลัง แม้ขุนโจรชื่อดังยังต้องเคารพยำเกรง พิธีปลุกเสกและพุทธาภิเษกต่างๆ ต้องมีชื่อของท่านร่วมด้วยเสมอ แม้แต่พระราชพิธีสำคัญๆ อาทิ งานถวายพระเพลิง ร.๕, เสวยราชย์ ร.๖, งานฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ ๑๕๐ ปี ฯลฯ

หลวงพ่อเปลี่ยน มีลูกศิษย์มากมาย ที่เป็นพระเกจิผู้มีชื่อเสียงต่อมา เช่น พระเทพมงคลรังษี (หลวงปู่ดี) วัดเหนือ จ.กาญจนบุรี และพระเทพสังวรวิมล (หลวงปู่เจียง) วัดเจริญสุทธาราม จ.สมุทรสงคราม เป็นต้น

หลวงพ่อเปลี่ยน อินทสโร วัดใต้ อ.เมือง จ.กาญจนบุรี
หลวงพ่อเปลี่ยน อินทสโร วัดใต้ อ.เมือง จ.กาญจนบุรี

◉ มรณภาพ
พระวิสุทธิรังสี (หลวงพ่อเปลี่ยน อินทสโร) มรณภาพเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๐ สิริอายุ ๘๕ ปี พรรษา ๖๔

รูปหล่อ หลวงพ่อเปลี่ยน วัดใต้
รูปหล่อ หลวงพ่อเปลี่ยน วัดใต้

◉ วัตถุมงคล
เหรียญวัตถุมงคลของ หลวงพ่อเปลี่ยน วัดใต้ จึงเป็นที่เสาะแสวง หาของผู้นิยมสะสมและแสวงหากันอยู่ โดยเฉพาะวัตถุมงคลเหรียญ รุ่นแรก “เหรียญรูปเหมือนหลวงปู่เปลี่ยน รุ่นแรก ปี ๒๔๗๒” สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกในการทำบุญอายุครบ ๖๗ ปี

เหรียญรุ่นแรก หลวงพ่อเปลี่ยน วัดใต้
เหรียญรุ่นแรก หลวงพ่อเปลี่ยน วัดใต้

ลักษณะเป็นเหรียญปั๊มรูปอาร์ม หูในตัว ขอบเลื่อย เนื้อทองแดงกะไหล่ทอง ด้านหน้าเหรียญ ตรงกลางเป็นรูปเหมือนหลวงปู่เต็มองค์ นั่งสมาธิบนธรรมมาสน์ ด้านล่างระบุปีที่สร้าง “พ.ศ.๒๔๗๒” โดยรอบจารึกอักษรไทยว่า “ที่ระลึกในการทำบุญอายุครบปีพระวิสุทธิรังษี วัดไชยชุมพรการบุรี

ด้านหลังเหรียญ พื้นเรียบ ผูกเป็นยันต์รูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด จำนวน ๔ ช่อง แต่ละช่องบรรจุอักขระหัวใจพระอริยสัจสี่ ๑ ตัว มีด้วยกัน ๒ บล็อก คือ บล็อกยันต์ตรง และบล็อกยันต์เบี่ยง จำนวนจัดสร้างทั้งหมดประมาณ ๒,๐๐๐ เหรียญ

ส่วนด้านหลัง พื้นเรียบ เป็นยันต์มี ๒ แบบ คือ ยันต์ตรงและยันต์เบี่ยง นอกจากนี้ หลวงพ่อเปลี่ยนยังสร้างวัตถุมงคลไว้อีกมากมายหลายชนิด เช่น เข็มกลัดวิสุทธิรังษี พ.ศ.๒๔๖๐ พระผงรูปไข่เนื้อเงินลงถม พ.ศ.๒๔๘๔ แหวนเงินลงถม พ.ศ.๒๔๘๕ ตะกรุดลูกอม เสื้อยันต์ ธงมหารูด หนังหน้าผากเสือ และตะกรุดชนิดต่างๆ

เหรียญ รุ่นสอง หลวงพ่อเปลี่ยน วัดใต้ เนื้อเงินลงถม
เหรียญ รุ่นสอง หลวงพ่อเปลี่ยน วัดใต้ เนื้อเงินลงถม

ขอขอบคุณข้อมูลจาก matichonweekly.com