ประวัติและปฏิปทา
หลวงพ่อพ่วง ธมฺโชติ
วัดกก
บางขุนเทียน กรุงเทพฯ
หลวงพ่อพ่วง วัดกก พระเกจิอาจารย์ที่มีวิชาอาคมแก่กล้าแห่งบางขุนเทียน กรุงเทพฯ ผู้ถ่ายทอดวิชาอาคมให้แก่หลวงพ่อไปล่ วัดกำแพง
◉ ชาติภูมิ
หลวงพ่อพ่วง วัดกก ท่านเกิดเมื่อปีราว พ.ศ.๒๔๐๐ ที่ตำบลแสมดำ เขตบางขุนเทียน บิดาชื่อ “นายพุ่ม” และมารดาชื่อ “นางพุ่ม พุ่มพยุง” และมีน้องชายชื่อ รอด หลังจากอุปสมบทแล้วก็ได้รับแต่งตั้งเป็น “เจ้าอาวาสวัดแสมดำ” ชาวบ้านมักเรียกท่านว่า “หลวงพ่อรอด”
ในสมัยวัยเยาว์ ด.ช.พ่วง เป็นเด็กว่านอนสอนง่าย ไม่เคยเกเร ให้พ่อแม่ได้รำคาญใจเลยแม้แต่นิดเดียว โดยนิสัยส่วนตัวนั้นเป็นเด็ก ชอบคิดชอบสังเกต มีจิตใจโอบอ้อมอารีย์ มีจิตใจที่เมตตาสูงมาก ไม่ว่าจะกับคนหรือแม้แต่กับสัตว์ต่างๆ ในชีวิตวัยเด็กก็ต่างกับเด็กๆทั่วๆไปเพราะชอบช่วยเหลืองานบิดามารดามาตลอด ชอบศึกษาหาความรู้อยู่ตลอด ด้วยจิตใจที่ใฝ่เรียนใฝ่รู้ ท่านจึงขอบิดามารดาบรรพชาเป็นสามเณรตั้งแต่อายุ ๘ ขวบเพื่อบวชเรียนเขียนอ่าน ด.ช.พ่วง เป็นเด็กฉลาดหัวไว ความจำดีเป็นเลิศ จึงสามารถร่ำเรียนเขียนอ่านได้อย่างแตกฉาน เป็นที่ยกย่องของครูบาอาจารย์มาตลอด
เมื่อท่านอายุครบบวช สามเณรพ่วง ท่านก็ได้อุปสมบทพระที่วัดกก ซึ่งเป็นวัดที่อยู่ใกล้ๆ บ้านของท่าน โดยมี “หลวงพ่อวัดหัวกระบือ” เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงพ่อคง วัดกก เป็นคู่สวดได้รับฉายาว่า “ธมฺโชติ” หมายถึง “ผู้มีธรรมอันสว่างไสวเข้าใจธรรมได้กระจ่างแจ้ง”
หลังจากอุปสมบทแล้วท่านได้ศึกษาทางวิปัสสนา กับ “หลวงพ่อคง” และพระอุปัชฌาย์ของท่านที่ “วัดหัวกระบือ” อยู่หลายพรรษา
หลวงพ่อคง วัดกก ท่านนี้เป็นพระที่เก่งกล้าในทางวิทยาคมสูงมาก ในแถบย่านบางขุนเทียน ในสมัยนั้น และท่านก็ได้ถ่ายทอดวิทยาคมต่างๆ ให้แก่หลวงพ่อพ่วงจนหมดสิ้น นอกจากนี้ หลวงพ่อพ่วง ท่านยังได้ออกธุดงค์ ไปตามสถานที่ต่างๆ เพื่อศึกษาวิปัสสนากรรมฐาน และยังได้ศึกษาสรรพวิชาต่างๆ จากพระอาจารย์อีกหลายองค์ เนื่องจากไม่ได้บันทึกไว้ จึงทำให้ไม่ทราบแน่ชัดว่าท่านได้เดินทางไปศึกษากับ พระอาจารย์ท่านใดบ้าง
หลวงพ่อพ่วง ท่านออกธุดงค์แต่ละครั้ง มักไปในสถานที่ไกลๆ เป็นเวลานานๆ เมื่อท่านได้ทราบข่าวว่าหลวงพ่อคงท่านมรณภาพลง จึงได้กลับมาอยู่ที่วัดกก ซึ่งในตอนนั้น (หลวงพ่อดิษ) เป็นเจ้าอาวาสปกครองอยู่ ต่อมาอีกไม่นานนักหลวงพ่อดิษ ท่านก็ลาสิกขาบทออกไป ชาวบ้านและกรรมการวัด ได้เห็นพ้องต้องกันว่า หลวงพ่อพ่วงท่านเป็นพระที่ชาวบ้านเคารพเลื่อมใส และศรัทธาในตัวท่านมาก จึงได้พร้อมใจกันอาราธนาท่านรับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดกกสืบแทน หลังจากท่านได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาสแล้วท่านก็ได้พัฒนาวัดกกให้มีความเจริญ รุ่งเรืองสืบมา
หลวงพ่อพ่วง เป็นพระเถระที่สงบเงียบไม่ค่อยพูด จึงไม่มีใครกล้าคุยกับท่านมากนัก เพราะคิดว่าท่านดุแต่โดยแท้จริงท่านเป็นพระที่มีเมตตามาก คนใกล้ชิดจะทราบดี
หลวงพ่อพ่วง วัดกก ท่านนี้ยังเป็นพระกรรมวาจาจารย์ของ (หลวงพ่อไปล่ วัดกำแพง) และหลวงพ่อไปล่ยังได้ไปเรียนวิชาอาคมจากหลวงพ่อพ่วงอีกหลายแขนง ทั้งคงกะพันชาตรีและเมตตามหานิยม หลวงพ่อพ่วงท่านเป็นพระอาจารย์ที่หลวงพ่อไปล่ ให้ความเคารพนับถือมาก ขนาด หลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง ยังยกย่องว่า “พระอุปัชฌาย์พ่วง วัดกก องค์นี้แหละท่านเก่งจริงๆ”
ต่อมาทางคณะสงฆ์ได้พิจารณาเห็นว่า “หลวงพ่อพ่วง” เป็นพระเถระที่มีความรอบรู้ในทุกๆด้าน เป็นพระที่ชาวบ้านเคารพนับถือมีพุทธาคมเก่งเกล้ามีศีลาจารวัตรดียิ่ง สามารถปกครองพระให้มีระเบียบเรียบร้อย จึงแต่งตั้งให้เป็น “พระอุปัชฌาย์พ่วง” เมื่อปี พ.ศ.๒๔๔๐ ซึ่ง ขณะนั้นท่านมีพรรษาได้เพียง ๒๐ พรรษาเท่านั้น เพราะสมัยนั้นพระอุปัชฌาย์ มิใช่จะตั้งกันได้ง่าย ๆ เพราะช่วงนั้นบางขุนเทียน มีเพียงรูปเดียวคือ “หลวงปู่เอี่ยม” หรือ “เจ้าคุณเฒ่าวัดหนัง” ต่อมาจึงมี “หลวงพ่อพ่วง” เพิ่มอีกเป็น ๒ รูป ดังนั้นสมัยที่ “หลวงพ่อไปล่ วัดกำแพง” ทำการบวชก็มี “หลวงพ่อพ่วง” เป็นพระกรรมวาจาจารย์และหลังบวชแล้ว ก็ได้ศึกษาทางด้านวิปัสสนาและพุทธาคมจาก “หลวงพ่อพ่วง วัดกก” อีกด้วย
◉ ประวัติวัดกก
ตั้งอยู่ที่แขวงจอมทอง เขตบางขุนเทียน กรุงเทพฯ เป็นวัดเก่าแก่มาแต่โบราณตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เล่ากันว่าสร้างโดย “เสนากก, เสนาเทพศักดิ์, เสนาเทพราช” ซึ่งทั้งสามเสนานี้เป็นผู้มีจิตอันเป็นกุศล จึงทำการสร้างวัดเพื่อสืบอายุพระพุทธศาสนา
เรื่องความศักดิ์สิทธิ์ในวัตถุมงคลของ หลวงพ่อพ่วงนั้น เป็นที่กล่าวขานกันมากในสมัยนั้น ถึงเรื่องมหาอุดคงกระพัน และโดยเฉพาะทางด้านเมตตามหานิยม
วัตถุมงคลหลวงพ่อพ่วง วัดกก ท่านได้สร้างไว้มีหลายอย่าง เช่นในสมัยแรกๆ ท่านได้สร้างตะกรุด ลูกอม ผ้ายันต์แจกให้แก่ศิษย์ไว้คุ้มครองตัว ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๗๐ ท่านได้สร้างพระเนื้อผงใบลานเป็นพระพิมพ์สมาธินั่งบัว ปัจจุบันไม่ค่อยมีใหัพบเห็น พระเครื่องเนื้อดินเผาผสมผงมวลสาร สร้างในปี พ.ศ.๒๔๗๓ ซึ่งมีทั้งหมด ๒๔ พิมพ์ทรง และในปี พ.ศ.๒๔๗๘ ท่านได้สร้างพระเหรียญหล่อเนื้อเมฆพัด เป็นรูปท่านนั่ง มีทั้งแบบรูปไข่และทรงกลม ปัจจุบันหาชมได้ยากมาก
พระเครื่องหลวงพ่อพ่วง เป็นที่กล่าวขานกันมากในสมัยนั้นถึงเรื่องมหาอุดคงกระพันและเมตตาแคล้วคราดเป็นเลิศ
นายเยื้อน บุญฟัก เล่าว่า ครั้งหนึ่งคุณแม่ของแกเองชื่อนางแปลก ป่วยหนักจึงนำตัวไปรักษาที่ “บ้านหมอไหม” ย่านบางมด นานหลายวันอาการกลับ “ทรุดลง” ไม่ดีขึ้นเลยวันหนึ่ง “นายเยื้อน” เดินผ่านกุฏิ “หลวงพ่อพ่วง” ท่านเห็นจึงเรียกให้ขึ้นไปหา แล้วบอกว่า “ต้องเปลี่ยนหมอที่รักษาคุณแม่ใหม่แล้วจะหาย ไม่เช่นนั้นแม่แกตายแน่” เมื่อได้ยินเช่นนั้น “นายเยื้อน” รีบไปรับ “คุณแม่” จากบ้าน “หมอไหม” โดยอุ้มลงเรือพาไปหา “หมออ่ำ ปากคลองบางกระแนะ” ซึ่งพอไปถึง “หมออ่ำ” ก็ทำการรักษาไม่นานอาการก็ “ดีขึ้น” กระทั่งหายเป็นปกติตั้งแต่นั้นมา “นายเยื้อน” จึงเพิ่มความเคารพนับถือ “หลวงพ่อพ่วง” มากขึ้นมักบอกใครต่อใครว่า “หลวงพ่อพ่วงท่านแน่จริงไม่ต้องถามอะไรเลย ท่านก็ล่วงรู้ได้แจ่มแจ้งเหมือนตาเห็นแสดงว่าญาณของท่านสูงยิ่งนัก”
ครั้งหนึ่ง “พระอรุณ อรุโณ” สมัยเด็กก็บวชอยู่ที่ “วัดกก” จึงได้เป็น “ลูกศิษย์” ของ “หลวงพ่อพ่วง” เล่าว่า “หลวงพ่อพ่วงเป็นพระที่เคร่งมาก ไม่เคยจับเงินเลย ใครถวายท่านก็ให้ศิษย์เก็บเอาไว้ไม่แตะต้องทั้งสิ้น มีอยู่ครั้งหนึ่ง ท่านไปสวดมนต์ฉันเพลที่บ้านญาติโยมซึ่งเอาเรือมารับ พอท่านลงจากกุฏิไปแล้ว ลูกศิษย์ก็ออกจากกุฏิใส่กุญแจ ซึ่งกุญแจนั้นสามารถกดเข้าไปก็ล็อกได้ แต่วันนั้นเมื่อล็อกแล้ว ปรากฏว่าลืมลูกกุญแจไว้ในกุฏิ ดังนั้นเมื่อ “หลวงพ่อพ่วง” กลับจากกิจนิมนต์จึงเข้ากุฏิไม่ได้แต่ท่านก็มิได้ว่ากล่าวใดๆ สั่งให้ลูกศิษย์ไปหิ้วของที่ท่าน้ำครั้นลูกศิษย์กลับมาก็พบว่า “หลวงพ่อ” เข้าไปอยู่ในกุฏิแล้วโดยที่ประตูกุฏิยังคงปิดอยู่เช่นเดิม ซึ่งเรื่องนี้สร้างความสงสัยให้กับ “พระอรุณ อรุโณ” เป็นอย่างยิ่งแต่ก็ไม่กล้าถามเพราะทราบดีอยู่ก่อนแล้วว่า “หลวงพ่อ” มีวิชาอาคมเข้มขลังมาก
อีกเรื่อง หลวงพ่อน้อม อดีตเจ้าอาวาสวัดกกเล่าว่า ขณะ หลวงพ่อพ่วง สร้างพระเนื้อดิน ในปี พ.ศ.๒๔๗๓ นั้น นายจง พึ่งพรหม ซึ่งเดินผ่านมาหลวงพ่อจึงเรียกแล้วบอกว่า “ให้ไปดูนายตู้ พึ่งพรหม น้องชายที่บ้านซิว่ายังอยู่ดีหรือ” นายจงได้ยินจึงรีบไปดูปรากฏว่า นายตู้ ผู้น้องชายกำลังเจ็บไข้ไม่สบาย จึงกลับมาบอกหลวงพ่อซึ่งท่านก็ไม่ว่ากระไรแต่ พอวันรุ่งขึ้น นายตู้ก็เสียชีวิต หลวงพ่อจึงได้แต่บอกว่า “เขาหมดอายุแล้ว” ซึ่งเรื่องนี้ หลวงพ่อน้อม เล่าว่าได้ยินมากับหูของท่านเองในเหตุการ จึงแสดงว่า “หลวงพ่อพ่วง” มีอภิณญาฌาณหรือญาณวิเศษ หยั่งรู้กาลชะตาของคนอื่นได้เหมือนตาเห็นนอกจากนี้ “พระอรุณ อรุโณ” ยังพูดถึงมงคลวัตถุของหลวงพ่อพ่วงว่า “พระเนื้อดินเผา” ของ หลวงพ่อพ่วง วัดกก มีพุทธคุณเยี่ยมมีคนได้รับประสบการณ์กันมากมายนับไม่ถ้วน
◉ อภินิหารฝนตกไม่เปียก
คุณทวดกรับ ผู้อาวุโสคนเก่าคนแก่ที่คนละแวกวัดกกให้ความนับถือมากๆ ได้เล่าให้ฟังว่า เมื่อครั้งที่ หลวงพ่อพ่วง กลับจากกิจนิมนต์จากในวัง ใกล้จะถึงวัดแล้ว เกิดพายุฝน วันนั้นฝนตกแรงมาก พอมาถึงหน้าวัด นายทหารที่มารับส่งได้บอกกับหลวงพ่อว่า “หลวงพ่อครับ ผมลืมเอาร่มมาด้วย ไว้ฝนหยุดตกก่อนแล้วค่อยไปครับ” หลวงพ่อพ่วง ท่านเอ่ยขึ้นว่า “ไม่เป็นไรฉันไม่เปียกหรอก” ว่าแล้วท่านก็ก้าวเท้าขึ้นจากเรือ มุ่งหน้าเดินเข้าวัด โดยมีนายทหารและคณะเดินตามมาส่ง ขณะที่เดินมานั้นฝนตกหนักและแรงมากจนเเทบมองไม่เห็นทางเลยทีเดียว พอมาถึงกุฏิ ทุกคนที่มาส่งถึงกับตะลึงกับภาพที่เห็นกับตา *ตามเนื้อตัวของหลวงพ่อไม่เปียกน้ำฝนแม้แต่หยดเดียว อีกทั้งสบงจีวรแม้แต่ย่ามสะพายก็ยังไม่เปียกฝนเลยแม้แต่หยดเดียว
◉ เรียกเรือถอยหลังทวนน้ำกลับมาได้
สมัยก่อนนั้นการเดินทางต่างๆก็จะใช้เรือ เป็นพาหนะในการเดินทาง หลังจากทำวัดเช้าเสร็จ หลวงพ่อกำลังเดินทางไปกิจนิมนต์ต่อ พอมาถึงท่าน้ำหน้าวัด ปรากฎว่าเรือที่ผูกไว้กับเสาเกิดเชือกขาด เรือจึงลอยแล่นไปตามกระแสน้ำเชี่ยวจนเกือบลับสายตา หลวงพ่อท่านยืนนิ่งหลับตาสักพัก ท่านก็พูดขึ้นว่า “กลับมา” จากเรือที่ลอยไปตามน้ำไหลเชี่ยวจนสุดลับสายตา ปรากฎว่าเรือลำนั้นแล่นถอยหลังทวนน้ำกับมาจอดที่เดิมอย่างน่าอัศจรรย์
◉ หลวงพ่อพ่วงเดินเหนือผิวน้ำได้
หลวงปู่มิ่ง วัดกก ท่านเคยเล่าว่า “ครั้งหนึ่งนั้นในเวลาย่ำค่ำมากเเล้วในฤดูฝน หลวงปู่มิ่ง ท่านนึกขึ้นมาได้ว่า ท่านลืมเก็บผ้าสบง-จีวรที่ตากไว้ ฝนก็เริ่มจะลงเม็ดมากขึ้นเรื่อยๆแล้ว ท่านจึงรีบออกจากกุฎิ อย่างรวดเร็ว พอเดินมาถึงสระน้ำหน้าโบสถ์ ท่านได้ก็เห็น “หลวงพ่อพ่วง กำลังเดินเหนือผิวน้ำ” เดินจากฝั่งหนึ่ง ข้ามไปอีกฝั่งหนึ่ง ไปเก็บสบง-จีวรที่ตากไว้เหมือนกัน หลวงพ่อพ่วงท่านเก็บสบงจีวรเสร็จ ท่านก็เดินเหนือผิวน้ำ กลับมาอีกรอบ ก่อนเดินลับหายเข้าไปในกุฎิ” และตั้งแต่ครั้งนั้นมา หลวงปู่มิ่ง ท่านก็เริ่มตั้งใจศึกษา เพื่อให้เข้าถึงมรรคผลภูมิแห่งญาณอย่างจริงจังกับหลวงพ่อพ่วง ผู้เป็นอุปัชฌาย์อาจารย์ตลอด
◉ อภิญาญา ๕ ทิพยจักขุญาณ
กำหนดรู้ ด้วยทิพยจักขุญาณ รู้เห็น เหตุเหตุการณ์ล่วงหน้า เมื่อเสร็จสิ้นถวายกิจจากในวัง หลวงพ่อพ่วง ท่านกราบลาหลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง เพราะเดินทางกลับด้วยเรือคนละลำ หลวงพ่อพ่วง ท่านขอตัวกลับก่อน ส่วนหลวงปู่เอี่ยม ท่านยังคงอยู่ถวายกิจอื่นต่อ หลังจากกราบลาหลวงปู่เอี่ยมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว หลวงพ่อพ่วงท่านเอ่ยถาม ใครที่รับหน้าที่ไปส่งหลวงปู่เอี่ยม ให้เปลี่ยนเรือลำใหม่ด้วย เพราะเรือที่จะไปส่งรั่ว เกรงว่าจะไม่ไม่ถึง นายทหารผู้ดูแลรับส่ง จึงรีบสั่งใจลูกน้อง ไปตรวจเรือทันที เมื่อตรวจดูจนทั่วปรากฎว่า เรือลำนั้นมีรอยรั่วจริงๆ หลวงปู่เอี่ยมท่านนั่งนิ่งอยู่พัก ท่านก็เอ่ยขึ้นว่า “ท่านพ่วงนี้สิเก่งจริง”
“คุณปู่เยื้อน บุญฟัก” เป็นอีกผู้หนึ่งที่รู้เห็นเรื่องอภินิหารของ “หลวงพ่อพ่วง วัดกก” โดยได้เล่าให้ผู้ใกล้ชิดฟังว่า “คราวหนึ่งหลวงพ่อพ่วง” ไปงานสวดสดับปกรณ์ครั้นสวดจบในหลวง “รัชกาลที่ ๕” ทรงถวายเงินที่ห่อด้วยผ้าให้ท่านโดยที่ หลวงพ่อพ่วง ไม่รู้ว่าในห่อผ้านั้นเป็นเงินจึงหยิบ แต่เมื่อมารู้ภายหลังท่านรีบยกเงินห่อนั้นให้ “ปู่เยื้อน” ซึ่งขณะนั้นยังเป็นเด็ก และคอยติดตามหลวงพ่อไปในทุกงานรับกิจนิมนต์ พร้อมทั้งยกย่องหลวงพ่อว่า เป็นผู้ไม่ติดในโทสะ เพราะท่านไม่เคยโกรธหรือดุด่าว่าใครเลย แต่ท่านมีตบะแรงกล้าคนเห็นจึงเกรงกลัว แม้แต่รสอาหาร ท่านก็ไม่หลง เพราะตลอดชีวิตสมณะของท่านเอาแต่ “ฉันเจ” กระทั่งมรณภาพ
◉ มรณภาพ
หลวงพ่อพ่วง วัดกก ละสังขาร เมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๐ สิริอายุ ๘๐ปี พรรษา ๖๐ ทิ้งไว้แต่อนุสรณ์แห่งคุณงามความดีและพระเครื่องอันทรงคุณค่าและเข้มขลัง ไว้ช่วยเหลือ ผู้เลื่อมใสศรัทธามาจนถึงปัจจุบัน