ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่แย้ม ฐานยุตโต
วัดสามง่าม
อ.ดอนตูม จ.นครปฐม
หลวงปู่แย้ม ฐานยุตโต พระเกจิชื่อดังแห่ง วัดสามง่าม หรือ วัดอรัญญิการาม ต.สามง่าม อ.ดอนตูม จ.นครปฐม ศิษย์เอกหลวงพ่อเต๋ คงทอง
◉ ชาติภูมิ
หลวงปู่แย้ม ฐานยุตโต นามเดิมชื่อ “แย้ม เดชมาก” เกิดเมื่อวันที่ ๕ มกราคม พ.ศ.๒๔๕๘ ที่บ้านเลขที่ ๔๒ หมู่ที่ ๔ ต.ดอนตูม อ.บางเลน จ.นครปฐม
◉ อุปสมบท
อุปสมบทที่พัทธสีมาวัดสามง่าม (วัดอรัญญิการาม) จ.นครปฐม เมื่อวันที่ ๒ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๘๑ โดยมี พระครูอุตตรการบดี (สุข ปทุมสุวัณโณ) วัดห้วยจระเข้ เป็นพระอุปัชฌาย์, พระครูภาวนาสังวรคุณ (หลวงพ่อเต๋ คงทอง) วัดสามง่าม (วัดอรัญญิการาม) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระอาจารย์เพชร วัดสามง่าม เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับนามฉายาว่า “ฐานยุตโต”
หลังอุปสมบทได้อยู่จำพรรษาศึกษาพระปริยัติธรรมจนสอบได้นักธรรมชั้นตรี พร้อมกันนี้ได้ศึกษาวิปัสสนากัมมัฏฐาน เล่าเรียนวิทยาคม เรียนเขียนอ่านอักขระขอม ลงอักขระเลขยันต์ คาถาอาคม โหราศาสตร์ และแพทย์แผนโบราณ โดยมี หลวงพ่อเต๋ คงทอง วัดสามง่าม เป็นผู้ถ่ายทอดวิชาความรู้ คอยอบรมสั่งสอน ฝึกหัดขัดเกลาให้เกิดความรู้ความเชี่ยวชาญครบถ้วนสมบูรณ์แบบ เต็มเปี่ยมด้วยภูมิรู้ภูมิธรรม
ท่านได้ช่วยแบ่งเบาภารกิจของพระครูภาวนาสังวรคุณ (หลวงพ่อเต๋ คงทอง) ผู้เป็นอาจารย์อย่างมาก ด้วยการเป็นศิษย์คอยอุปัฏฐากรับใช้ใกล้ชิดอยู่ตลอด จนได้รับความไว้วางใจจนได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรองเจ้าอาวาส และเป็นพระกรรมวาจาจารย์ เมื่อพ.ศ.๒๕๐๐
หลังจากนั้นได้ออกธุดงค์ตามป่าเขาลำเนาไพร แสวงหาความวิเวกในการปฏิบัติธรรม และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ถ่ายทอดวิทยาคมกับครูบาอาจารย์สำนักต่างๆ เช่น ได้พบกับ หลวงพ่อเหลือ วัดสาวชะโงก อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทราเป็นต้น
ปฏิปทาเจริญรอยตามครูบาอาจารย์ทุกประการ ตั้งแต่เรื่องของวัตรปฏิบัติการปฏิบัติศาสนกิจ การพัฒนาความเจริญให้วัดสามง่ามและชุมชนใกล้เคียง การสงเคราะห์สังคม ที่สำคัญคือการสืบทอดตำรับมหาพุทธาคมของสำนักวัดสามง่าม กระทั่งถึงทุกวันนี้ชื่อเสียงเกียรติคุณของท่านเป็นที่ประจักษ์ทั่วไป
◉ ลำดับสมณศักดิ์
ในปี พ.ศ.๒๕๓๐ ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรเจ้าอาวาสวัดราษฎร์ ชั้นโทที่ พระครูประยุตนวการ
ในปี พ.ศ.๒๕๓๖ ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร เจ้าอาวาสวัดราษฎร์ชั้นเอก ในราชทินนามเดิม
ในปี พ.ศ.๒๕๔๕ ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรเจ้าอาวาสวัดราษฎร์ชั้นเอก ในราชทินนามเดิม
◉ งานปกครองคณะสงฆ์
ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดสามง่าม (วัดอรัญญิการาม) เมื่อวันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๒๕ โดยท่านรับภาระหน้าที่ปกครองดูแลคณะพระสงฆ์สามเณรวัดสามง่าม สืบต่อจาก พระครูภาวนาสังวรคุณ (หลวงพ่อเต๋ คงทอง) ที่ละสังขารไป เมื่อวันที่ ๒๔ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๒๔
วัตถุมงคลต่างๆ ที่หลวงปู่แย้ม ได้สร้างไว้มีครบทุกประเภทและเป็นที่นิยมทั่วไป ที่ได้รับความนิยมอย่างสูง คือ กุมารทองที่สร้างตามตำรับหลวงพ่อเต๋
◉ มรณภาพ
ด้วยสังขารเป็นสิ่งไม่เที่ยง พระครูประยุตนวการ (หลวงปู่แย้ม ฐานยุตโต) มรณภาพอย่างสงบด้วยโรคชรา เมื่อเวลา ๐๖.๔๐ น. วันอาทิตย์ที่ ๒๗ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๖๐ ที่โรงพยาบาลธนบุรี ๑ กรุงเทพฯ สิริอายุรวมได้ ๑๐๒ ปี พรรษา ๗๙
◉ ด้านวัตถุมงคล
หลวงปู่แย้ม วัดสามง่าม ท่านเป็นพระเกจิที่มีชื่อเสียงโด่งดัง และวัตถุบูชาที่นิยมสูงสุดนั่นคือ กุมารทอง ท่านเป็นพระเกจิที่อยู่ในศีล ในธรรม ประพฤติตามแนวทางที่บรมครูอาจารย์ได้สั่งสอนไว้เป็นอย่างดี เป็นวิธีของพระสงฆ์ที่มีคุณลักษณะอันดีงาม
นับเป็นพระเกจิอาจารย์อีกรูปหนึ่งที่ควรยกย่องให้เป็นมงคลแก่พุทธศาสนาของชนชาติไทย ท่านมีอายุยืนยาวกว่า ๑๐๐ ปี จนได้ชื่อเป็นหลวงปู่ ๕ แผ่นดิน
เหรียญรุ่นแรก หลวงปู่แย้ม สร้างเมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๖ เพื่อเป็นที่ระลึกงานบุญฉลองอายุครบ ๕ รอบ (๖๐ ปี) ของหลวงปู่ ซึ่งขณะนั้นเป็นรองเจ้าอาวาส โดยคณะศิษย์ผู้จัดสร้างไม่ได้บอกกล่าวให้ท่านทราบก่อนล่วงหน้า เมื่อสร้างเสร็จได้นำมาถวายให้ท่านปลุกเสก ปรากฏท่านไม่ยอมปลุกเสกให้ เพราะผู้สร้างไม่ได้บอกกล่าวก่อน และเห็นว่ายังไม่สมควรแก่กาลเวลา (อาจจะเนื่องจากหลวงพ่อเต๋ ยังอยู่ จึงไม่เหมาะสม) ท่านจึงร่อนถาดที่ใส่เหรียญออกนอกหน้าต่างกุฏิ จนเหรียญกระจัดกระจาย ลูกศิษย์สมัยนั้นจึงเรียกเหรียญรุ่นนี้ว่า “เหรียญจานบิน”
หลังจากนั้น คณะลูกศิษย์ผู้สร้างได้เก็บเหรียญทั้งหมดไปถวาย “หลวงพ่อเต๋” ท่านก็ได้เมตตาปลุกเสกให้ ต่อมาลูกศิษย์ได้นำเหรียญทั้งหมดมาถวายหลวงปู่แย้มอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้ท่านไม่ปฏิเสธ ได้เมตตาปลุกเสกเหรียญให้อีกครั้งหนึ่ง พร้อมกับลงเหล็กจารให้ด้วย นับเป็นเหรียญที่ได้รับการปลุกเสกทั้งหลวงพ่อเต๋ และหลวงปู่แย้ม
เหรียญรุ่นแรกหลวงปู่แย้ม ปี พ.ศ.๒๕๑๖ ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่ หูในตัว ยกขอบหน้า-หลัง
ด้านหน้าเหรียญ มีขอบเส้นลวดอีกชั้นหนึ่ง ตรงกลางเป็นรูปเหมือน หลวงปู่แย้ม ห่มคลุมจีวรหันข้างไปทางขวา ด้านล่างมีอักษรไทยว่า “พระอาจารย์แย้ม ฐานยุตฺโต” ด้านหลังเหรียญ เป็นยันต์พุทธะสังมิ ซึ่งเป็นยันต์ประจำตัวของท่าน มีข้อความว่า “ทำบุญฉลองครบอายุ ๕ รอบ รองเจ้าอาวาส วัดสามง่าม นครปฐม” และมีการตอกโค้ดตัว “ย” ทุกเหรียญ
เหรียญรุ่นแรกนี้สร้างด้วยเนื้อเงิน, นวโลหะ และทองแดง จำนวนไม่เกิน ๒,๕๐๐ เหรียญ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก khaosod.co.th