ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่รอด
วัดนายโรง
บางกอกน้อย กรุงเทพฯ
หลวงปู่รอด วัดนายโรง พระเกจิที่เชี่ยวชาญด้านวิปัสสนาธุระในระดับสูง และเป็นที่เลื่องลือด้านคุณวิเศษทางพุทธาคมและวิทยาคม
◉ ชาติภูมิ
หลวงปู่รอด วัดนายโรง เป็นชาวบ้านบางพรม อําเภอตลิ่งชัน จังหวัดธนบุรี เกิดประมาณ พ.ศ.๒๔๗๐ กว่าๆ ในสมัยรัชกาลที่ ๓
◉ อุปสมบท
อุปสมบท ณ วัดเงิน หรือ วัดรัชฎาธิษฐาน ที่คลองบางพรม อันเป็นสำนักที่มีชื่อเสียงทางด้านวิปัสนากรรมฐานฝ่ายอรัญวาสี
ต่อมาหลวงปู่ได้ย้ายมาจำพรรษาที่วัดนายโรง จนกระทั่งได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ ๒ ของวัดนายโรง และเป็นพระอุปัชฌาย์ ได้ให้การอุปสมบทให้แก่กุลบุตร นับแต่ชั้น พ่อ ลูก หลาน ของแต่ละตระกูลในแถบย่านคลองบางกอกน้อย คลองชักพระ ตลิ่งชัน บางระมาด บางพรม บางกรวย บางใหญ่ บางคูเวียง จึงมีลูกศิษย์เป็นจำนวนมาก
หลวงปู่รอดเป็นพระเถระที่สำคัญองค์หนึ่งในย่านคลองบางกอกน้อย ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในด้านวิปัสสนากัมมัฏฐาน และมีเกียรติคุณเป็นพิเศษในทางพุทธาคมและเวทย์วิทยาคม หลวงปู่รอด เป็นองค์ปฐมนามแห่งเบี้ยแก้ ท่านได้สร้างเบี้ยแก้ขึ้น เป็นสำนักแรก ถือว่าเป็นเครื่องรางอมตะ จนมีคำกล่าวว่า หมากดี ต้องวัดหนัง เบี้ยขลัง ต้องวัดนายโรง เบี้ยแก้หลวงปู่รอด เป็นหนึ่งในเบญจภาคีที่ได้รับความที่นิยมสูงสุดในปัจจุบัน จัดเป็นเครื่องรางสารพัดดี มีพุทธานุภาพเข้มขลัง ใช้สำหรับแก้และป้องกันคุณไสย ภูตผี ปีศาจ สัตว์ที่มีพิษ เป็นเครื่องรางเมตตา และมหานิยมอีกด้วย
ตลอดเวลาที่ท่านอยู่วัดนายโรง ได้สร้างความเจริญรุ่งเรื่องให้กับวัดและมีลูกศิษย์ให้ความเคารพนับถือท่านเป็นจํานวนมาก ด้วยท่านมีวิชาอาคมที่เข้มขลังและอยู่ในยุคสมัยเดียวกับ หลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง, หลวงปู่ทับ วัดทอง ฯลฯ
◉ มรณภาพ
หลวงปู่รอด วัดนายโรง เป็นเจ้าอาวาสวัดนายโรง เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ จนกระทั่งมรณภาพประมาณปี พ.ศ.๒๔๕๖
◉ ด้านวัตถุมงคล
วัตถุมงคลของ หลวงปู่รอด วัดนายโรง มีเพียงตะกรุด ผ้ายันตร์ ลูกอมชานหมากและที่โด่งดังเป็นที่ปรารถนาของลูกศิษย์อย่างมาก เพราะลือลั่นในด้านพุทธคุณคือเบี้ยแก้นั่นเอง หลวงปู่รอด ท่านเริ่มสร้างเบี้ยแก้ตั้งแต่เมื่อไหร่ไม่ปรากฎหลักฐานเอาไว้แต่เป็นที่ต้องการของชาวบางกอกน้อย และท้องที่ใกล้เคียงโดยผู้ที่ต้องการจะต้องนําของสี่อย่างมาให้ท่านคือตัวหอยเบี้ย (ส่วนมากจะมีขนาดเล็ก) ชันโรงใต้ดิน ปรอท และแผ่นตะกั่ว ซึ่งหลวงปู่ท่านมักจะทําให้ต่อหน้าผู้ที่ต้องการเลยโดยท่านจะเริ่มจากนําปรอทมากรอกใส่ตัวหอยเบี้ยแล้วนําชันโรงมาปิดให้แน่นกันปรอทใหลออกมา หลังจากนั้นจะนําแผ่นตะกั่วมาหุ้มให้เรียบร้อยและจารยันตร์โดยรอบพร้อมกับปลุกเสกไปด้วยหลังจากนั้นจะมอบให้กับผู้ที่มาขอให้ท่านทําให้ ซึ่งผู้ที่ได้รับไปแล้วมักจะนําไปถักเชือกและลงรักหรือยางไม้เพื่อความคงทนแต่ส่วนมากมักจะนําไปให้หลวงตาชมพระที่อยู่ในวัดนายโรงท่านช่วยถักให้เพราะท่านมีฝือมือถักเชือกได้สวยงาม
เบี้ยแก้ เป็นหอยชนิดหนึ่งในตระกูล Cypraea วงศ์ Cypraeidea จะมีลักษณะหลังนูนท้องแบน เปลือกแข็ง ผิวเป็นมัน ช่องปากยาวแคบเป็นลำราง ไปจนสุดปลายทั้งสองข้างริมปากทั้งสองด้านเป็นหยัก ๆ คล้ายฟัน ไม่มีแผ่นปิด คนทั่วไปจะเรียกว่า หอยเบี้ย ในสมัยโบราณเคยใช้หอยชนิดนี้เป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนซื้อขาย แทนเงิน และเบี้ยชนิดนี้มีชื่อเรียกหลายอย่างเช่น เบี้ยจั่น เบี้ยแก้ว เบี้ยนาง อัตราการแลกเปลี่ยนจะอยู่ที่ ๑๐๐ เบี้ย เท่ากับ ๑ อัฐ หรือสตางค์ครึ่ง
ครั้นนำมาประกอบพิธีปลุกเสกด้วยพุทธาคมและเวทย์วิทยาคม ตามกรรมวิธีหลวงปู่แล้ว เรียกว่า เบี้ยแก้ เชื่อกันว่า เป็นวัตถุมงคลที่มีความศักดิ์สิทธิ์ ช่วยให้ผู้ถือครองตั้งอยู่ในความดี และสามารถป้องกันหรือแก้ไขอันตรายต่าง ๆ จากคุณไสย และภูตผีปีศาจได้เป็นอย่างดี ตามความเชื่อของคนในสมัยนั้น
◉ เบี้ยแก้ของหลวงปู่จะประกอบด้วยวัตถุ ๔ อย่าง คือ
๑. หอยเบี้ย
๒. ปรอท
๓. ชันโรงใต้ดิน
๔. แผ่นตะกั่วนม
หลวงปู่รอด จะนำวัตถุทั้ง ๔ อย่างมาส่วนประกอบและมวลสาร หลังประกอบพิธีปลุกเสกด้วยพุทธาคมและเวทย์วิทยาคมตามกรรมวิธีของท่าน เมื่อผ่านพิธีปลุกเสกแล้ว หลวงปู่จะมอบให้ลูกศิษย์ไว้ติดตัวเพื่อป้องกันและแก้ไขอันตรายต่าง ๆ ปัจจุบันเบี้ยแก้ของหลวงปู่รอด เป็นวัตถุมงคลที่มีค่าสูง และหาได้ยากมาก
◉ ลักษณะพิเศษเบี้ยแก้หลวงปู่รอด
เบี้ยแก้ของหลวงปู่ จะมีลักษณะพิเศษที่พอสังเกตได้ดังนี้
๑. ตัวเบี้ย หรือที่คนทั่วไปนิยมเรียกว่า เบี้ยพลู มีขนาดไม่ใหญ่เกินไปนัก จะมีขนาดความยาว
ประมาณ ๓.๔ -๓.๕ ซ.ม. และกว้าง ๒.๔-๒.๕ ซ.ม.
๒. ลักษณะภายใน หากจับเขย่าดู จะมีเสียงดังเบา ๆ ซึ่งเป็นเสียงปรอทที่บรรจุไว้ภายใน
๓. บริเวณใต้ท้องเบี้ยแก้ จะมีชันโรงใต้ดินปิดอยู่ ตั้งปากเบี้ยจนถึงท้องเบี้ย และชันจะเกาะติด
แน่นอยู่กับท้องเบี้ย
๔. เบี้ยแก้ทุกตัว จะหุ้มด้วยแผ่นตะกั่วนมอย่างดีและประณีตบรรจง โดยจะเปิดส่วนที่นูนของ
เบี้ยไว้
๕. แผ่นตะกั่วที่หุ้มเบี้ยแก้ จะมีการลงอักขระกำกับไว้ โดยการใช้เหล็กจาร หากดูผิวเผินอาจจะ
มองไม่เห็นชัด และตัวอักษรที่จารจะมีรอยเส้นเรียบ
๖. เบี้ยแก้ทุกเบี้ยจะถักด้ายหุ้มไว้ ในการถักด้ายจะมี ๒ แบบ คือ ถักหุ้มปิดหลังเบี้ย และถัก
หุ้มเปิดหลังเบี้ย แล้วทาด้วยยางมะพลับ หรือยางหมาก ปิดทับไว้อีกชั้นหนึ่ง
ขอขอบคุณข้อมูลจาก watnairong.com