วันพฤหัสบดี, 24 ตุลาคม 2567

หลวงพ่อปาน โสนันโท วัดบางนมโค จ.พระนครศรีอยุธยา

ประวัติและปฏิปทา
หลวงพ่อปาน โสนันโท

วัดบางนมโค
อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา

หลวงพ่อปาน โสนันโท วัดบางนมโค จ.พระนครศรีอยุธยา
หลวงพ่อปาน โสนันโท วัดบางนมโค จ.พระนครศรีอยุธยา

พระครูวิหารกิจจานุการ (หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค) จ.พระนครศรีอยุธยา พระเกจิผู้มีชื่อเสียงโด่งดัง เป็นที่เคารพเลื่อมใสศรัทธามากรูปหนึ่งของเมืองกรุงเก่า

◉ ชาติภูมิ
หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค นามเดิมชื่อ “ปาน สุทธาวงศ์” เกิดเมื่อวันศุกร์ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๘ ตรงกับวันที่ ๑๖ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๑๘ ที่ ต.บางนมโค อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา บิดาชื่อ “อาจ” และมารดาชื่อ “อิ่ม สุทธาวงศ์” ครอบครัวมีอาชีพทำนา

เหตุที่ได้ชื่อว่า “ปาน” เพราะมีตำหนิ คือ ปานแดงที่นิ้วก้อยมือซ้าย ลักษณะเหมือนสวมปลอกนิ้วตั้งแต่โคนถึงปลายนิ้วมาแต่กำเนิด เมื่อยังเล็กเริ่มศึกษาอักขระจากพระใน วัดบางนมโค

หลวงพ่อปาน โสนันโท วัดบางนมโค จ.พระนครศรีอยุธยา
หลวงพ่อปาน โสนันโท วัดบางนมโค จ.พระนครศรีอยุธยา

◉ อุปสมบท
จนเมื่ออายุ ๒๑ ปี โดยเข้าพิธีอุปสมบท ณ วัดบางปลาหมอ เมื่อวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ.๒๔๓๘ ตรงกับวันจันทร์ขึ้น ๗ ค่ำ เดือน ๕ ปีมะแม โดยมี หลวงพ่อสุ่น วัดบางปลาหมอ เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์จ้อย วัดบ้านแพน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ พระอาจารย์อุ่ม วัดสุทธาโภชน์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “โสนันโท

การเรียนพระปริยัติธรรมตลอดพุทธาคมต่างๆ ของ หลวงพ่อปาน นั้นท่านเล่าเรียนจากพระอุปัชฌาย์คือ หลวงพ่อสุ่น วัดบางปลาหมอ ก่อนที่จะฝากตัวในสำนักหลวงพ่อเนียม วัดน้อย จ.สุพรรณบุรี และเป็นสหมิกธรรม ร่วมสำนักกับหลวงพ่อโหน่ง วัดคลองมะดัน (วัดใหม่อัมพวา) จ.สุพรรณบุรี

ตั้งใจศึกษาวัตรปฏิบัติด้วยความขยันหมั่นเพียร สามารถท่องพระปาติโมกข์จนจบด้วยความคล่องแคล่ว ศึกษาวิทยาคมจากหลวงพ่อสุ่นเป็นเวลา ๒ ปี แล้วไปขอเรียนบาลีไวยากรณ์ที่ วัดเจ้าเจ็ดในกับท่านอาจารย์จีน ก่อนจะเข้ามาศึกษาต่อที่กรุงเทพฯ

พักอยู่กับพระอาจารย์เจิ่น วัดสระเกศ ร่ำเรียนทั้งทางคันถธุระและวิปัสสนาธุระ รวมทั้งความรู้ทางแพทย์แผนโบราณ จากนั้นกลับมาจำพรรษาที่ วัดบางนมโค ในปี พ.ศ.๒๔๔๒

หลวงพ่อคล้าย เจ้าอาวาสวัดบางนมโคขณะนั้น มอบหน้าที่ให้เป็นครูสอนหนังสือ โดยริเริ่มจัดตั้งโรงเรียนสอนพระภิกษุ-สามเณรและเด็กวัด ตลอดจนลูกชาวบ้าน และรับหน้าที่ปกครองดูแลทั้งหมด

ใฝ่ใจศึกษาวิปัสสนากัมมัฏฐาน พร้อมทั้งยังไปขอศึกษาด้านกัมมัฏฐานเพิ่มเติมจากหลวงพ่อเนียม วัดน้อย พระเกจิชื่อดังเมืองสุพรรณบุรี

นอกจากนี้ ยังเป็นพระนักเทศน์ฝีปากเอก ที่ผู้ฟังจะเกิดศรัทธาเลื่อมใส ด้วยน้ำเสียงที่ไพเราะ การเทศน์ของท่านจะมีเหตุมีผล มีตัวอย่างยกมาเทียบเคียงให้เห็นผลดีผลเสีย ให้เห็นถึงบาปบุญคุณโทษ และชี้ทางสว่างได้อย่างเข้าใจได้ง่าย

กิจนิมนต์มีแทบไม่ว่างเว้น และทุกครั้งที่ได้อดิเรกลาภเป็นสิ่งของหรือปัจจัย จะนำมาถวายพระลูกวัด โดยไม่เก็บไว้

นอกจากความมีมานะ พูดจริงทำจริง อดทนต่อความยากลำบาก และมีจิตใจเข้มแข็ง กล้าหาญเด็ดขาด ทั้งเปี่ยมด้วยเมตตากรุณา ท่านยังชอบแสวงหาความรู้อยู่เสมอแล้ว เป็นนักก่อสร้าง นักพัฒนา หมอแผนโบราณ ฯลฯ

หลวงพ่อปาน โสนันโท วัดบางนมโค จ.พระนครศรีอยุธยา
หลวงพ่อปาน โสนันโท วัดบางนมโค จ.พระนครศรีอยุธยา

นอกจาก คาถาเงินล้าน ที่ หลวงพ่อฤาษีลิงดำ วัดท่าซุง จ.อุทัยธานี ที่ได้นำของ หลวงพ่อปาน มาเผยแพร่ ยังมี คาถาล้างกรรม ที่เป็นที่รู้จักกันอีกหนึ่งคาถา สำหรับที่มาที่ไปของ พระคาถานี้ มีข้อมูลระบุไว้ว่า คุณยายฟื้น ข้างวัดบางนมโค ท่านมักมาขึ้นพระกรรมฐานกับหลวงพ่อปาน เป็นประจำ

วันหนึ่งมีชายสองคนมาคุมร่างแกไปถึงสำนักพระยายมราช เมื่อตรวจดูก็รู้ว่าเอามาผิดคน ท่านพระยายมราช จึงให้เอาไปส่งก่อนกลับท่านได้ฝากสองคาถานี้ให้นำมาถวาย หลวงพ่อปาน คือ
๑. คาถาล้างกรรม เพื่อที่ลูกหลานคนใดได้สวดบรรพบุรุษจะบรรเทากรรมหนักลง
๒. บทกรวดน้ำ ที่สามารถกรวดให้แก่วิญญาณสัมภเวสีให้พ้นทุกข์ เมื่อคืนมายังเมืองมนุษย์คุณยายฟื้น ได้นำมาถวายหลวงปู่ปาน ซึ่งคาถานี้อยู่ในหนังสือเล่มเก่าของ วัดบางนมโค

คาถาล้างกรรม ให้ตั้งนะโม ๓ จบ
พุทโธ อะระหัง อะระหัง พุทโธ ท้าวเวสสุวัณโณ พุทโธ อะระหัง กัมมะโตเมตัง
กัมมะภันทะนัง ชีวิตตังให้ไปจุติ ให้ทุกชีวิตทุกวิญาณจงไปผุดไปเกิด ให้สวด ๓ จบ

หลวงพ่อปาน โสนันโท วัดบางนมโค จ.พระนครศรีอยุธยา
หลวงพ่อปาน โสนันโท วัดบางนมโค จ.พระนครศรีอยุธยา

◉ มรณภาพ
ขณะท่านมีอายุได้ ๖๑ ปี หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค ท่านเริ่มอาพาธและแจ้งให้บรรดาศิษย์ ทราบว่าอีก ๓ ปี ท่านจะมรณภาพในวันแรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๘ เวลา ๖ โมงเย็น กระทั่งครบปีที่ ๓ ย่างเข้าเดือน ๘ ท่านเกิดอุบัติเหตุหกล้มแล้วเริ่มอาพาธ ครั้นพอเวลา ๖ โมงเย็น วันแรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๘ ถึงกาลมรณภาพโดยสงบในวันที่ ๒๖ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๘๑ สิริอายุ ๖๓ ปี พรรษา ๔๓

เสียงกำชับเตือนใจที่ให้แก่ศิษย์เป็นครั้งสุดท้าย ท่านขอ ๒ อย่าง คือ “อย่าดื่มสุรา และอย่าลักขโมย ประพฤติเป็นโจร”

◉ วัดบางนมโค
ถือเป็นวัดที่มีชื่อเสียงมากของ จ.พระนครศรีอยุธยา และยังเป็นวัดเก่าแก่มากเช่นกัน ซึ่งเดิมวัดนี้มีชื่อว่าวัดนมโค มาจากวิถีชีวิตของชาวบ้านในสมัยก่อน และแผลงมาเป็นวัดบางนมโค ซึ่งเป็นชื่อเดียวกับตำบลที่ตั้งของวัดแห่งนี้จนถึงปัจจุบัน

รูปหล่อ หลวงพ่อปาน โสนันโท วัดบางนมโค
รูปหล่อ หลวงพ่อปาน โสนันโท วัดบางนมโค
รูปหล่อ หลวงพ่อปาน โสนันโท วัดบางนมโค
รูปหล่อ หลวงพ่อปาน โสนันโท วัดบางนมโค

โดยในอดีต วัดบางนมโค เป็นเพียงวัดเล็กๆ ที่ยังไม่ได้เป็นที่รู้จักมากนัก จนกระทั่ง หลวงพ่อปาน โสนันโท ท่านได้เป็นเจ้าอาวาส ทำให้ได้รับความศรัทธาเลื่อมใสจากผู้คนมากมาย ทั้งในระแวกพื้นที่ใกล้เคียงของวัด และผู้มีจิตศรัทธาทั่วประเทศ จากคุณงามความดี และวิชาความรู้ที่ หลวงพ่อปาน ได้ช่วยเหลือ และสั่งสอนพุทธศาสนิกชนมาโดยตลอด

ถึงแม้ปัจจุบัน หลวงพ่อปาน จะละสังขารไปแล้วนั้น แต่วัดบางนมโค ยังคงมีผู้ที่เลื่อมใสอยู่มาก และยังคงเดินทางไปทำบุญ ท่องเที่ยว และสักการะบูชา หลวงพ่อปาน ไม่ขาดสาย

◉ ด้านวัตถุมงคล
หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค วัตถุมงคลของท่านล้วนเป็นที่ลือเลื่องในด้านพุทธคุณเป็นเลิศเป็นที่ปรากฏ และได้รับความนิยมสะสมอย่างกว้างขวางจากพุทธศาสนิกชนทั่วทั้งประเทศ พระหลวงพ่อปาน มีหัวใจสำคัญอยู่ที่ ‘ผงวิเศษ 3 สูตร’ ที่บรรจุในองค์พระ คือ ผงวิเศษหัวใจสัตว์ ผงวิเศษจากยันต์เกราะเพชร และผงวิเศษ 5 ประการ อันประกอบด้วย ผงอิทธิเจ ผงปถมัง ผงมหาราช ผงตรีนิสิงเห และผงพระพุทธคุณ ทำให้มีพุทธคุณอเนกอนันต์ ใช้งานสารพัดอย่างเป็นเลิศ เรียกว่าเป็น ‘กฤตยาคมแฝด’ ที่พระพิมพ์อื่นๆ ไม่มี พระหลวงพ่อปาน เป็นพระเนื้อดินเผาทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า เจียนมุมทั้งสี่ด้าน เนื้อดินเป็นดินขุยปูและดินนวลตามทุ่งนา มีความละเอียดปานกลาง จึงมีเม็ดทรายเล็กๆ ปรากฏทั่วองค์พระ และบางส่วนจมอยู่ใต้ผิวกลายเป็นแง่มุมดันเนื้อขององค์พระให้นูนเป็นตุ่มแหลมเล็กๆ อยู่ทั่วองค์พระ ต้องใช้แว่นขยายส่องดู โดยเฉพาะพระที่ไม่ผ่านการใช้เลยจะสังเกตเห็นได้ชัด เรียกว่า “ร่องรอยสาก” และเนื่องจากการเผานั้นใช้แกลบมาสุมไฟ ทำให้สภาพเนื้อขององค์พระจะมี “ร่องรอยแกลบ” สีขององค์พระจะเป็นสีอิฐหรือสีหม้อใหม่ เหมือนพระเนื้อดินทั่วไป แต่ที่พบเห็นสีจะค่อนข้างซีดจนถึงออกเป็นสีชมพูอ่อนๆ เนื่องจากผ่านกาลเวลาและการใช้การสัมผัสมายาวนาน

พระหลวงพ่อปาน พิมพ์ต่างๆ
พระหลวงพ่อปาน พิมพ์ต่างๆ

พุทธลักษณะองค์พระ ด้านบน เป็นพระพุทธรูปประทับนั่ง แสดงปางสมาธิ อยู่เหนือฐานบัลลังก์ก็มี ฐานเขียงก็มี ฐานผสมก็มี ฐานรูปกลีบบัว ทั้ง บัวชั้นเดียว สองชั้น บัวเม็ด หรือ บัวตุ่ม ก็มี ส่วนด้านข้างพระประธานทั้งสองข้าง มีอักขระขอมตัวนูนข้างละ ๒ ตัว คือ มะ อะ อุ อุ อันเป็นยอดพระคาถาหัวใจพระไตรปิฎก ‘ตรีเพชร’ ส่วน ด้านล่าง ใต้ฐานองค์พระ จะเป็นรูปสัตว์พาหนะ ๖ ชนิด อันได้แก่ ไก่ ครุฑ หนุมาน ปลา เม่น และ นก อยู่ในลักษณาการแบกฐานองค์พระปฏิมา เหาะเหินขึ้นสู่เบื้องบน มี ‘รอยอุดผงวิเศษ’ ซึ่งสภาพเดิมเป็นสีเขียวของซีเมนต์ผสมกับสีขาวของผงวิเศษ งดงามมาก แต่ส่วนใหญ่ผู้ที่ได้พระมักจะแคะเอาผงวิเศษออก เพื่อนำไปรักษาโรคบ้า งหรือตามแต่จะนำไปใช้ จึงหาที่คงสภาพเดิมๆ ยากยิ่งในปัจจุบัน พุทธคุณและทัศนคติความเชื่อและความศรัทธาที่สืบทอดกันมา แห่ง “พระเครื่องหลวงพ่อปาน” ในแต่ละพิมพ์ทรง มีดังนี้
๑. พระหลวงพ่อปาน พิมพ์ทรงไก่ มีดีทางการทำมาค้าขาย เมตตามหานิยม
๒. พระหลวงพ่อปาน พิมพ์ทรงครุฑ มีดีทางอำนาจราชศักดิ์ เหมาะสำหรับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ หรือนักบริหารระดับสูง
๓. พระหลวงพ่อปาน พิมพ์ทรงหนุมาน ดีทางด้านการปกครอง แคล้วคลาด คงกระพัน เหมาะกับข้าราชการ ตำรวจ ทหาร
๔. พระหลวงพ่อปาน พิมพ์ทรงเม่น ดีทางเกษตรกรรม ทำสวน ทำนา หรือนักค้าที่ดิน
๕. พระหลวงพ่อปาน พิมพ์ทรงปลา โบราณว่าค้าขายทางน้ำ ช่วยได้จริง
๖. พระหลวงพ่อปาน พิมพ์ทรงนก เสริมความสำเร็จให้ผู้มีอาชีพด้านการสื่อสาร นักพูด นักแสดง นักกฎหมาย นักการทูต และพ่อค้าที่จำเป็นต้องเดินทางค้าขายอยู่เป็นนิจ

◉ ยันต์เกราะเพชร ตำรับวิชาแห่ง หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค
สำหรับ “ยันต์เกราะเพชร” ในการเป่าของหลวงพ่อปาน เวลาท่านจะเป่าให้ใครนั้น ท่านเขียนยันต์ใส่กระดานดำไว้ แล้วท่านก็ยืนอยู่ข้างหลังให้ทุกคนจุดธูปเทียน แล้วภาวนาว่า พุทโธ ถ้าคนไหนมีครรภ์ ผู้หญิงมีครรภ์ก็ให้จุดธูป ๑ ดอกแทนลูกในครรภ์ แล้วท่านก็เป่า เวลาเป่ายันต์เข้าตัวจะมีความรู้สึกหนักที่ศีรษะหรือว่าคันที่หน้า ยังงี้เรียกว่ายันต์เข้าจับตัวแล้วถ้ายันต์เข้าจับตัวทุกคนก็เป็นอันว่าเลิกกัน ท่านเป่าเฉพาะวันเสาร์ห้า คือว่าเป็นเดือนอะไรก็ตาม เป็นขึ้น ๕ ค่ำวันเสาร์ หรือวันเสาร์ตรงกัน ๕ ค่ำ อันนี้ใช้ได้ เรียกว่าท่านทำเป็นปกติ แล้วก็วันเสาร์ ๕ เป็นวันยกครูของท่าน ท่านจะยกครูหมอครูอะไรก็ตามก็ทำกันวันเสาร์ห้า
ผู้ที่รับการเป่า “ยันต์เกราะเพชร ” ไปแล้ว หากรักษาศีล ๕ อยู่เป็นนิจเชื่อกันว่าจะมีอานุภาพดังนี้
๑. จะไม่ตายโหงอย่างเด็ดขาด
๒. จะไม่ตายด้วยสัตว์มีพิษอีกทั้งเขี้ยวงาทุกชนิด
๓. ปลอดภัยจากไสยศาสตร์ทุกชนิดประหนึ่งมีเกราะแก้วคุ้มครองป้องกันภัย อีกทั้งยังสะท้อนย้อนกลับไปสู่ผู้มีจิตคิดร้ายใจอกุศลแก่เรานั่นเอง

ยันต์เกราะเพชร หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค
ยันต์เกราะเพชร หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค

ยันต์เกราะเพชร” ถือกันมาแต่โบราณกาลว่าเป็นยันต์ที่ทรงอานุภาพมากด้วยพุทธคุณ ด้วยครูท่านรจนาอักขระยันต์ขึ้นจากบท “อิติปิโส” พุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ แต่ล่อช่องห้องคาถาแตกย่อยไปต่างกันมีอานุภาพครอบคลุม ในทุกด้านอีกทั้งยังเป็นการน้อมนำอำนาจแห่งพุทธคุณเป็นเครื่องรักษากายและจิตของผู้มีใจศรัทธา

ยันต์เกราะเพชร” โด่งดังกล่าวขานสืบต่อกันมาแต่โบราณ หลวงพ่อปาน โสนันโท วัดบางนมโค โดยท่านนั้น ได้ศึกษาจาก ตำราพระร่วง โดยตัดมาจากส่วนหนึ่งของธงมหาพิชัยสงครามเป็นการนำเอาพุทธคุณบทต้นมาเขียนเป็น ตัวขอม
อ่านตามขวางว่า

อิ ระ ชา คะ ตะ ระ สา

ติ หัง จะ โต โร ถิ นัง

ปิ สัม ระ โล ปุ สัต พุท

โส มา ณะ กะ ริ ถา โธ

ภะ สัม สัม วิ สะ เท ภะ

คะ พุท ปัน ทู ทัม วะ คะ

วา โธ โน อะ มะ มะ วา

อะ วิ สุ นุต สา นุส ติ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก komchadluek.net