วันพฤหัสบดี, 24 ตุลาคม 2567

พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร พระอริยเจ้าผู้มีพลังจิตเหนือฟ้าดิน

ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่ฝั้น อาจาโร

วัดป่าอุดมสมพร
อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร

หลวงปู่ฝั้น อาจาโร วัดป่าอุดมสมพร จ.สกลนคร

ชาติกําเนิดและชีวิตปฐมวัย

พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ถือกําเนิดในสกุล สุวรรณรงค์ เมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น ๑๔ ค่ํา เดือน ๙ ปีกุน ตรงกับวันที่ ๒๐ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๔๒ ที่บ้านม่วงไข่ ตําบลพรรณา อําเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร

บิดาของท่านคือ เจ้าไชยกุมาร (เม้า) ซึ่งเป็นหลานของพระเสนาณรงค์ เจ้าเมืองพรรณานิคม มารดาชื่อ นัย เป็นบุตรีของหลวงประชานุรักษ์ จะเห็นได้ว่า เชื้อสายของท่านเป็นขุนนางทั้งฝ่ายบิดาและฝ่ายมารดา เป็นเชื้อสายขุนนางเก่าแก่ของหมู่ชน ที่เรียกว่า ภูไท ซึ่งอพยพมาจากประเทศลาว ในสมัยรัชกาลที่สามแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระอาจารย์ฝั้น เคยเล่าว่า บรรพบุรุษของท่านได้ข้ามมาแต่ฝั่งซ้ายของแม่น้ําโขง เป็นครอบครัวใหญ่เรียกว่า ไทยวัง หรือไทยเมืองวัง (ซึ่งเป็นเมืองหนึ่งอยู่ในเขตมหาชัยของประเทศลาว)

บิดาของท่านพระอาจารย์เป็นคนที่มีความเมตตาอารี ใจคอกว้างขวางเยือกเย็น เป็นที่นับหน้าถือตา จึงได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้านม่วงไข่ ต่อมาบิดาของท่านได้อพยพพร้อมกับครอบครัวอื่น ๆ อีกหลายครอบครัว ไปตั้งหมู่บ้านใหม่ในที่อุดมสมบรูณ์กว่าเดิม เพราะเป็นพื้นที่ที่มีลําห้วยอูนผ่านทางทิศใต้ และลําห้วยปลาหางอยู่ทางทิศเหนือ เหมาะแก่การทํานา ทําสวน เลี้ยงสัตว์และเลี้ยงไหม ตั้งชื่อว่าบ้านบะทอง โดยมีบิดาของท่านเป็นผู้ใหญ่บ้านต่อไป

พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร

เมื่อครั้งยังอยู่ในวัยเยาว์ พระอาจารย์ฝั้น มีความประพฤติเรียบร้อยนิสัยใจคอเยือกเย็น อ่อนโยน โอบอ้อมอารีกว้างขวาง เช่นเดียวกับบิดาของท่าน ทั้งยังมีความขยันหมั่นเพียร อดทนต่ออุปสรรคหนักเอาเบาสู้ ช่วยเหลือกิจการงานของบิดามารดา และญาติพี่น้องโดยไม่เห็นแก่ความ ลําบากยากเย็นใด ๆ ทั้งสิ้น

ด้านการศึกษา พระอาจารย์ฝั้นได้เริ่มเรียนหนังสือที่วัดบ้านม่วงไข่ (วัดโพธิ์ชัย) สอนโดย ครูหุน ทองคํา และครูตัน วุฒิสาร ตามลําดับ พระอาจารย์เมื่อครั้งนั้นเป็นผู้มีความขยันหมั่นเพียรในการศึกษาเป็นอันมาก สามารถเขียนอ่านได้รวดเร็วกว่าเด็กอื่นๆ ถึงขนาดได้รับความไว้วางใจจาก ครูให้สอนเด็กคนอื่น ๆ แทน ในขณะที่ครูมีกิจจําเป็น

พระอาจารย์ฝั้น เคยคิดจะเข้ารับราชการจึงได้ตามไปอยู่กับนายเขียน อุปพงศ์ ผู้เป็นพี่เขย ซึ่งเป็นปลัดเมืองฝ่ายขวา ที่จังหวัดขอนแก่น เพื่อศึกษาเล่าเรียนต่อไปชั้นสูงขึ้น ในช่วงนี้เองท่านได้พิจารณาเห็นความยุ่งเหยิงไม่แน่นอนของชีวิตคฤหัสถ์ ได้เห็นการปราบปรามผู้ร้ายมีการฆ่าฟันกัน มีการประหารชีวิต ครั้งนั้นพี่เขยได้ใช้ให้เอาปืนโตไปส่งนักโทษอยู่เสมอ ท่านได้เห็นนักโทษ หลายคนแม้เคยเป็นใหญ่เป็นโต เช่น พระยาณรงค์ฯ เจ้าเมืองขอนแก่นต้องโทษฐานฆ่าคนตาย นายวีระพงษ์ ปลัดซ้ายก็ถูกจําคุก แม้แต่นายเขียน พี่เขยของท่านเมื่อย้ายไปเป็นปลัดขวาอําเภอ กุดป่อง จังหวัดเลย ก็ต้องโทษฐานฆ่าคนตายเช่นกัน สภาพของบรรดานักโทษที่ท่านประสบมาทั้งโทษหนักโทษเบา นับได้ว่าเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทําให้ท่านรู้จักปลง และประจักษ์ถึงความไม่แน่นอนของชีวิต ท่านได้สติบังเกิดความเบื่อหน่ายในทางโลก จึงเลิกคิดที่จะรับราชการและตัดสินใจบวช เพื่อสร้างสมบุญบารมี ในทางพุทธศาสนาต่อไป

ชีวิตสมณะ การแสวงหาธรรม และปฏิปทา

ชีวิตสมณะของพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร เริ่มต้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๑ เมื่อท่านอายุได้ ๑๙ ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณร ที่วัดโพธิ์ทอง บ้านบะทอง อําเภอพรรณานิคม และในปี พ.ศ. ๒๔๖๒ ถัดมา ท่านได้อุปสมบทเป็นภิกษุฝ่ายมหานิกาย ที่วัดสิทธิบังคม ตําบลบ้านไร่ อําเภอพรรณานิคม มีพระครูป้อง นนตะเสน เป็นพระอุปัชฌาย์ มีพระอาจารย์นวล และ พระอาจารย์สังข์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์และพระอนุสาวนาจารย์ หลังจากออกพรรษาปีนั้น ท่านได้ย้ายไปอยู่ที่วัดโพธิ์ทอง บ้านบะทอง จึงได้ปฏิบัติธรรมอบรมกัมมัฏฐานตลอดจนการออกธุดงค์อยู่รุกขมูลกับท่านอาจารย์ อาญาครูธรรม

ปีถัดมา ๒๔๖๓ ท่านได้พบ พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ซึ่งได้เที่ยวธุดงค์มาพร้อมด้วยภิกษุสามเณรหลายรูป และพักที่ป่าช้าข้างบ้านม่วงไข่ (ปัจจุบันเป็นวัดภูไทสามัคคี) เมื่อได้ฟังธรรมจากพระอาจารย์มั่น ท่านบังเกิดความเลื่อมใสศรัทธาในสติปัญญาความสามารถของพระอาจารย์มั่น จึงขอมอบตัวเป็นศิษย์พร้อมท่านอาญาครูดี และพระอาจารย์กู่ ธัมมทินโน เนื่องจากทั้งสามท่าน ยังไม่พร้อมในเครื่องบริขารจึงยังไม่ได้ธุดงค์ตามอาจารย์มั่นไปในขณะนั้น

เมื่อทั้งสามท่านได้เตรียมเครื่องบริขารเรียบร้อยแล้ว ประจวบกับได้พบกับ พระอาจารย์ดูลย์ อตุโล ซึ่งเป็นศิษย์ของพระอาจารย์มั่นมาก่อน และกําลังเดินธุดงค์ ติดตามหาพระอาจารย์มั่นเช่นกัน พระอาจารย์ฝั้นจึงได้ศึกษาธรรมเรียนวิธีฝึกจิตภาวนาเบื้องต้นจากพระอาจารย์ดูลย์ จากนั้นทั้งสี่ท่านได้ร่วมกันเดินธุดงค์ติดตามพระอาจารย์มั่น โดยพระอาจารย์ดูลย์เป็นผู้นําทาง จนได้พบพระอาจารย์มั่นที่บ้านตาลโกน อําเภอสว่างแดนดิน ท่านทั้งสี่ได้ศึกษาธรรมกับพระอาจารย์มั่นที่นั่น เป็นเวลาสามวัน จากนั้นจึงได้ไปกราบนมัสการพระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล (ผู้ซึ่งได้ร่วมเผยแพร่ธรรมกับพระอาจารย์มั่น) ที่บ้านหนองดินดํา แล้วจึงไปรับการอบรมธรรมจากพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม ที่บ้านหนองหวายเป็นเวลาเจ็ดวัน จากนั้นจึงไปที่บ้านตาลเนิ้ง และได้ไปรับฟังธรรมจากพระอาจารย์มั่นเสมอๆ

พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร

เมื่ออาจารย์ฝั้นได้รับการศึกษาอบรมธรรมะจากพระอาจารย์มั่นและได้ฝึกกัมมัฏฐานจนจิตใจมั่นคงแน่วแน่ บําเพ็ญภาวนาได้ตลอดรอดฝั่ง โดยไม่มีอุปสรรคใด ๆ มารบกวนได้แล้ว ท่านจึงได้ตัดสินใจทําการญัตติเป็นพระภิกษุฝ่ายธรรมยุติกนิกาย เมื่อวันที่ ๒๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๖๘ ที่วัดโพธิสมภรณ์ จังหวัดอุดรธานี โดยมีท่านเจ้าคุณธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์รถ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์มุก เป็นพระอนุสาวนาจารย์

พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร

ท่านพระอาจารย์ฝั้น ได้ไปจําพรรษาแรกกับพระอาจารย์มั่น ที่วัดอรัญวาสี อําเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย ร่วมกับเพื่อสหธรรมิกหลายรูป เช่น พระอาจารย์กู่ ธัมมทินโน , พระอาจารย์อ่อน ญาณศิริ และ พระอาจารย์กว่า สุมโน ออกพรรษาปีนั้นท่านได้เดินธุดงค์เลียบไปกับฝั่งแม่น้ําโขงเที่ยวธุดงค์ไปหลายแห่ง วกกลับมายังวัดอรัญวาสี แล้วธุดงค์ติดตามและพบพระอาจารย์มั่น ที่บ้านสามผง อําเภอท่าอุเทน (ปัจจุบัน อําเภอศรีสงคราม) ซึ่งท่านได้รับมอบหมายให้จําพรรษาและโปรดญาติโยมที่บ้านดอนแดงคอกช้าง อําเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม

หลังออกพรรษาท่านพระอาจารย์ฝั้น ได้ร่วมกับหมู่คณะออกเผยแพร่ธรรมทางจังหวัดอุบลราชธานี โดยได้รับเอาโยมมารดาของพระอาจารย์มั่นไปอุบลฯ ด้วย ในปี ๒๔๗๐ นี้ท่านได้จําพรรษาที่บ้านบ่อชะเนง อําเภอหัวตะพาน จังหวัดอุบลราชธานี ร่วมกับอาจารย์กู่ เทศนาสั่งสอนญาติโยมที่นั่น พ.ศ. ๒๔๗๑ ท่านได้ไปจําพรรษาที่บ้านห้วยทราย อําเภอคําชะอี จังหวัดมุกดาหาร หลังออกพรรษาท่านได้ไปเผยแพร่ธรรมที่จังหวัดขอนแก่นได้จําพรรษาที่จังหวัดขอนแก่น เป็นเวลา ๓ ปี ระหว่างนั้นท่านได้อบรมสั่งสอนชาวบ้านให้เลิกนับถือผีเลิกกลัวผีให้หันมานับถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ถือศีลห้าและภาวนาพุทโธ ท่านเป็นที่พึ่งและให้ความอบอุ่นแก่ชาวบ้านทั่วไป คนคลอดลูกยาก คนไอไม่หยุด คนถูกผีเข้า คนมีมิจฉาทิฏฐิหลอกลวงชาวบ้าน ท่านช่วยเหลือแก้ไขด้วยอุบายธรรมะได้หมดสิ้นตัว ท่านเองบางครั้งก็อาพาธ เช่น ระหว่างที่จําพรรษาบนภูระงํา อําเภอชนบท จังหวัดขอนแก่น ท่านปวดตามเนื้อตามตัวอย่างมาก ท่านก็ใช้ธรรมโอสถ โดยนั่งภาวนาใน อิริยาบทเดียว ตั้งแต่ทุ่มเศษจนกระทั่ง ๙ โมงเช้า ทําให้อาการอาพาธหายไปหมด พ้นจากการทุกข์ทรมาน และทําให้ท่านก้าวหน้าในทางธรรมเพิ่มขึ้นด้วย

หลวงปู่ฝั้น อาจาโร

ระหว่างปี พ.ศ. ๒๔๗๕-๒๔๘๖ พรรษาที่ ๑ ถึง ๑๙ ท่านได้จําพรรษาที่จังหวัดนครราชสีมาโดยตลอด แต่ในระหว่างนอกพรรษา ท่านจะท่องเที่ยวไปเพื่อเผยแพร่ธรรมและตัวท่านเองก็ได้ศึกษาและปฏิบัติธรรมด้วย เช่น ก่อนเข้าพรรษาปี ๒๔๗๕ ท่านพระอาจารย์ฝั้น พร้อมด้วย พระอาจารย์สิงห์ และพระอาจารย์มหาปิ่น ปัญญาพโล ได้เดินทางไปกรุงเทพฯ เพื่อเยี่ยมอาการป่วยของเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท) โดยพักที่วัดบรมนิวาส เป็นเวลา ๓ เดือน เมื่อออกพรรษาปี พ.ศ. ๒๔๗๗ ท่านได้เดินธุดงค์ไปในดงพญาเย็น ท่านได้พบเสือนอนหันหลังให้ในระยะที่ใกล้มาก ท่านสํารวมสติเดินเข้าไปใกล้ ๆ มัน แล้วร้องถามว่า “เสือหรือนี” เจ้าเสือผงก หัวหันมาตามเสียงแล้วเผ่นหายเข้าป่าไป เมื่อเดือน ๓ พ.ศ. ๒๔๗๙ พระอาจารย์ฝั้น พร้อมด้วย พระอาจารย์อ่อน ได้ไปนมัสการพระอาจารย์มั่น ที่วัดเจดีย์หลวง จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อได้อยู่ใกล้ท่านพระอาจารย์มั่น ท่านจึงได้เร่งความเพียรทั้งกลางวันและกลางคืน เล่ากันว่าท่านทั้งสองต่างสามารถมองเห็นกันทางสมาธิได้โดยตลอด ทั้ง ๆ ที่กุฏิห่างกันเป็นระยะทางเกือบ ๕๐๐ เมตร

พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร

ออกพรรษาปี พ.ศ. ๒๔๙๖ พระอาจารย์ฝั้นได้ออกเดินธุดงค์จากวัดป่าศรัทธารวม อําเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ไปพักวิเวกภาวนาตามป่าเขาที่เห็นว่า สงบเงียบพอเจริญกัมมัฏฐานได้ และขณะเดียวกันก็สั่งสอนธรรมะ ช่วยเหลือชาวบ้านที่มีความทุกข์ยาก และพาชาวบ้านพัฒนาหมู่บ้านและ ความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น ท่านธุดงค์ผ่านไปเขาพนมรุ้งต่อไปจังหวัดสุรินทร์ จนกระทั่งถึง จังหวัดอุบลราชธานี โดยจําพรรษาปี พ.ศ. ๒๔๘๗ ที่วัดบูรพา ที่จังหวัดอุบลฯ นี้เอง พระอาจารย์ฝั้นมีหน้าที่เข้าถวายธรรมแก่สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ซึ่งกําลังอาพาธ (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรคชรา) และใช้ความรู้ทางด้านสมุนไพรรักษาโรคปอดแก่ท่านอาจารย์มหาปิ่น จนกระทั่งออกพรรษาปีนั้นปรากฏว่า ทั้งสมเด็จฯ และพระอาจารย์มหาปิ่นมีอาการดีขึ้น

ปี พ.ศ. ๒๔๘๘ ถึง ๒๔๙๖ ท่านพระอาจารย์ฝั้นได้จําพรรษาที่วัดป่าภูธรพิทักษ์ อําเภอเมือง จังหวัดสกลนคร ซึ่งเดิมชื่อวัดป่าธาตุนาเวง เป็นป่าดงดิบอยู่ห่างจากตัวเมืองห้ากิโลเมตรเศษ ท่านได้นําชาวบ้านและนักเรียนพลตํารวจพัฒนาวัดขึ้นจนเป็นหลักฐานมั่นคง ในพรรษาท่านจะสั่งสอนอบรมทั้งศิษย์ภายใน (คือพระเณรและผ้าขาว) และศิษย์ภายนอก (คืออุบาสกอุบาสิกา) อย่างเข้มแข็งตามแบบฉบับของท่านพระอาจารย์ใหญ่มั่น ทุกวันพระ พระเณรต้องฟังเทศน์แล้วฝึกสมาธิและเดินจงกรมตลอดคืน อุบาสกอุบาสิกาบางคนก็ทําตามด้วย ช่วงออกพรรษาท่านก็มักจะ จาริกไปกิจธุระหรือพักวิเวกตามที่ต่าง ๆ เช่น บริเวณเทือกเขาภูพาน เป็นต้น ช่วงปี พ.ศ. ๒๔๙๑ ท่านไปวิเวกที่ภูวัวและได้สร้างพระพุทธรูปบนหน้าผาที่สวยงามมาก ออกพรรษาปี พ.ศ. ๒๔๙๒ ได้ ติดตามพระอาจารย์มั่นถึงวัดสุทธาวาส ที่สกลนคร และเฝ้าอาการพระอาจารย์มั่นจนถึงแก่มรณภาพ ออกพรรษา ปี พ.ศ. ๒๔๙๓-๙๕ ท่านได้ไปเผยแพร่ธรรมแถวภาคตะวันออกเ ช่นที่ จันทบุรี บ้านฉาง (จ.ระยอง) และฉะเชิงเทรา ในระหว่างนั้นก็แวะเผยแพร่ธรรมไปตามที่ต่างๆ ด้วย เช่น ที่วัดบรมนิวาส กรุงเทพฯ และวัดป่าศรัทธารวม นครราชสีมา เป็นต้น

ราวกลางพรรษาปี พ.ศ. ๒๔๙๖ ท่านพระอาจารย์ฝั้นได้ปรารภกับศิษย์ทั้งปวงเสมอว่า ท่านได้นิมิตเห็นถ้ําแห่งหนึ่งทางตะวันตกของเทือกเขาภูพาน เป็นที่อากาศดี สงบและวิเวก พอออกพรรษาปีนั้น เมื่อเสร็จกิจธุระต่าง ๆ แล้วท่านได้พาศิษย์หมู่หนึ่งเดินทางไปถึงบ้านคําข่า พักอยู่ในดงวัดร้างข้างหมู่บ้าน เมื่อคุ้นกับชาวบ้านแล้วท่านได้ถามถึงถ้ำในนิมิต ในที่สุดชาวบ้านได้พาท่านไปพบกับถ้ําขามบนยอดเขายอดหนึ่ง ซึ่งเป็นที่พอใจของท่านมาก เพราะเป็นที่วิเวกจริง ๆ ทิวทัศน์สวยงามมองเห็นถึงจังหวัดสกลนคร อากาศดี สงัดและภาวนาดีมาก

ออกพรรษาปี พ.ศ. ๒๕๐๕ ท่านพระอาจารย์ได้ลงไปพักที่วัดป่าอุดมสมพร เป็นการเปลี่ยนบรรยากาศและเพื่อจะได้สั่งสอนอบรมโปรดชาวบ้านพรรณา อําเภอพรรณานิคมบ้าง วัดป่าอุดมสมพร นี้เดิมเป็นป่าช้าติดกับแหล่งน้ําชื่อหนองแวง ที่บ้านบะทอง ตําบลพรรณา อําเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ซึ่งเป็นบ้านเดิมของท่าน ท่านเคยธุดงค์มาพักชั่วคราวเพื่อบําเพ็ญกุศลทักษิณานุประทาน แด่บุพการี ครั้งเมื่อออกพรรษาปี ๒๔๘๗ พร้อมด้วย พระอาจารย์อ่อน ญาณศิริ และพระอาญาครูดี ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา สถานที่แห่งนั้นก็ได้มีพระภิกษุสามเณรอยู่จําพรรษามาโดยตลอด จนกระทั่งได้ กลายเป็นวัดป่าอุดมสมพร

ด้วยนิสัยนักพัฒนา ช่วงที่พักที่วัดป่าอุดมสมพร (๒๕๐๕) ท่านพระอาจารย์ได้นําญาติโยม พัฒนาเส้นทางจากโรงเรียนบ้านม่วงไข่ไปถึงบ้านหนองโคก ท่านไปประจําอยู่กับงานทําถนนทั้งวันอยู่หลายวันจนอาพาธเป็นไข้สูง และต้องยอมเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลสกลนคร และเดินทางไปรักษาตัวต่อที่กรุงเทพฯ เมื่ออาการทุเลาแล้วจึงเดินทางกลับสกลนคร เนื่องด้วยท่านยังมีความดันเลือดค่อนข้างสูง แพทย์จึงได้ขอร้องให้ท่านงดขึ้นไปจําพรรษาบนถ้ําขาม เพราะสมัยนั้นยังต้องเดินขึ้น ดังนั้นท่านจึงจําพรรษาปี ๒๕๐๖ ที่วัดป่าภูธรพิทักษ์

ช่วงปี พ.ศ. ๒๕๐๗ จนถึงพรรษาสุดท้ายของท่านคือ ปี พ.ศ. ๒๕๑๙ ท่านพระอาจารย์ฝั้น จําพรรษาที่วัดป่าอุดมสมพรโดยตลอด จนกระทั่งถึงวาระสุดท้ายแห่งอายุขัย ท่านได้พัฒนาวัดนั้นเป็นการใหญ่ มีการขุดขยายหนองแวงให้กว้างและลึกเป็นสระใหญ่ สร้างศาลาใหญ่เป็นที่ชุมนุม สําหรับการกุศลต่าง ๆ สร้างกุฏิ โบสถ์น้ํา พระธาตุเจดีย์ ถังเก็บน้ําและระบบท่อส่งน้ํา ถึงแม้ว่าท่านจะจําพรรษาที่วัดป่าอุดมสมพร แต่วัดถ้ําขามและวัดป่าภูธรพิทักษ์ ก็ยังอยู่ในความรับผิดชอบและอุปการะของท่าน ท่านยังคงไป ๆ มา ๆ ด้วยความห่วงใยอยู่เสมอ

เมื่อวันที่ ๙ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๙ องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จพระราชดําเนินไปทรงทอดผ้าพระกฐิน ที่วัดป่าอุดมสมพร ซึ่งท่านจําพรรษาอยู่ และได้ทรงนิมนต์ท่านเข้าไปพักที่วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อวันที่ ๒๒ เดือนเดียวกัน อีกชั่วระยะเวลาหนึ่ง ระหว่างที่พัก ในวัดบวรฯ ล้นเกล้าฯ ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมเยียน และสนทนาธรรมกับท่าน นอกจากนั้นล้นเกล้าฯ ทั้งสองพระองค์ยังได้เสด็จไปเยี่ยมเยียนท่านที่วัดป่าอุดมสมพร เป็นการส่วน พระองค์เมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๘ อีกด้วย

ท่านพระอาจารย์ฝั้น ได้มรณภาพ เมื่อวันที่ ๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๒๐ ด้วยอาการอันสงบ

ท่านพระอาจารย์ฝั้น เป็นผู้มีระเบียบเรียบร้อย สมกับที่ท่านสืบตระกูลมาจากผู้สูงศักดิ์ นอกจากนั้นท่านมีความขยันหมั่นเพียรอย่างเอกอุ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบําเพ็ญภาวนา การอบรม สั่งสอนศิษย์ หรือการก่อสร้างอาคารถนนหนทาง ท่านถือเอาการงานและหน้าที่ เป็นเรื่องสําคัญข้อแรก ส่วนความสะดวกสบายนั้นเป็นข้อรอง และท่านปฏิบัติเช่นนี้โดยสม่ําเสมอมาตั้งแต่หนุ่มจนถึงวัยชรา

คุณประสพ วิเศษศิริ เล่าถึงกิจวัตรประจําวันตามปกติของท่านพระอาจารย์ฝั้น จาก ประสบการณ์ที่ได้บวชในช่วงปี ๒๕๑๒ ที่วัดป่าอุดมสมพร ไว้ในหนังสืออนุสรณ์อายุครบ ๖๐ ปี ของคุณประสพเองว่า

“๐๓.๐๐ น. ท่าน (พระอาจารย์) ตื่น พระและเณร ผลัดเปลี่ยนเวรกันถวายน้ําบ้วนปาก และล้างหน้า เสร็จแล้วท่านก็นั่งภาวนาบนกุฏิชั้นบน

๐๔.๐๐ น. พระและเณรทั้งวัดอื่นทําความ สะอาดร่างกายแล้วนั่งภาวนา

๐๕.๐๐ น. จัดบาตรลงศาลา กวาดถู จัดที่นั่งฉัน ตั้งกระโถน กาน้ําฯ

๐๖.๐๐ น. เตรียมบาตร ซ้อนผ้าคลุม ยืนรอท่านอาจารย์ใหญ่ ท่านจะนําบิณฑบาตรทุกๆ เช้า ท่านอาจารย์ใหญ่ไม่เคยขาดการบิณฑบาตเลย มาระยะหลังๆ ท่านอาพาธก็ยังพยายาม บิณฑบาตรในวัด พระและเณรทุกๆ รูปก็ต้องออกบิณฑบาตเป็นกฏของวัด นอกเสียจากรูปใด เร่งความเพียรตั้งสัจจะว่าจะไม่ฉันอาหารจึงไม่ต้องบิณฑบาตในวันที่ไม่ฉัน

๐๗.๐๐ น.ถึง ๐๘.๐๐ น. เริ่มฉัน และฉันในบาตรโดยวิธีสํารวม พระ เณร ผ้าชาว ฉันเหมือนกันหมด อาหารอย่างเดียวกัน พระเถระผู้ใหญ่ท่านจะตักอาหารแล้วก็ส่งองค์รองลงมาต่อ ๆ กันไปจนตลอดแถว

ประมาณ ๐๙.๐๐ น. ฉันอาหารเสร็จเป็นอันว่าเสร็จเรื่องการฉันไปหนึ่งวัน เพราะกฎของวัดฉันเพียงมื้อเดียว ท่านอาจารย์ใหญ่ยังคงรับแขกญาติโยมบนศาลา จนกว่าท่านจะเห็นสมควรขึ้นกุฏิ ส่วนพระเณรอื่น ๆ นอกจากรูปไหนที่เป็นเวรคอยรับใช้ปรนนิบัติท่าน ก็ช่วยกันเก็บกวาดอาสนะให้เรียบร้อย และนําบาตรกระโถน กาน้ํา แก้วน้ําไปล้าง สําหรับบาตรต้องรักษาให้ดียิ่ง ล้างให้สะอาดเช็ดให้แห้ง แล้วนําไปเปิดฝาฝั่งแดดบนระเบียงกุฏิ

๑๐.๐๐ น. ถึง ๑๑.๐๐ น. เดินจงกรม

๑๑.๐๐น. ถึง ๑๒.๐๐น. พักผ่อนตามอัธยาศัย

เวลา ๑๒.๐๐ น. ถึง ๑๕.๐๐ น. นั่งภาวนา สาธยายหนังสือ สวดมนต์ ทบทวนพระปาฏิโมกข์ หรือไม่ก็จะเดินจงกรม สุดแต่อัธยาศัย แต่ข้อสําคัญที่สุดก็คือ ห้ามคุยกันเล่นไม่ว่าเวลาไหน

เวลา ๑๕.๐๐ น. ตีระฆังลงศาลา ฉันน้ําปานะ โกโก้ กาแฟ หรือน้ําอัดลม ตามแต่ศรัทธาของเขาจัดถวาย

เวลา ๑๕.๓๐ น. พระเณรทุกรูปลงปัดกวาดลานวัดเสร็จแล้วทําความสะอาดส้วม และตักน้ําใส่ห้องส้วมให้เต็มทุกห้อง

เวลา ๑๗.๐๐ น. ผลัดเปลี่ยนกันไปสรงน้ําอาจารย์ใหญ่ ผู้ที่ไม่ได้รับเวรสรงน้ําอาจารย์ใหญ่ ก็ไปสรงน้ําตามกุฏิของตน เสร็จแล้วไปคอยอาจารย์ใหญ่อยู่บนกุฏิของท่าน เพื่อรับการอบรม จากท่านต่อไป เมื่อท่านอบรมแล้วใครมีปัญหาอะไร เป็นต้นว่า ภาวนาเห็นนิมิตอะไร หรือ สงสัยปัญหาธรรมอะไร ขัดข้องตรงไหน จะเรียนถามท่านได้ ท่านจะคลายปัญหาต่างๆ เหล่านั้นได้อย่างแจ่มแจ้งชัดเจน

เวลา ๑๙.๐๐ น. ตีระฆังทําวัตรเย็น (สวดมนต์เย็น) โดยอาจารย์ใหญ่ ท่านจะเป็นผู้นําไหว้พระสวดมนต์ เสร็จแล้วท่านจะแสดงธรรมโปรด….และนํานั่งสมาธิต่อ

จนถึงเวลา ๒๓.๐๐ น. บางครั้งก็ถึงเวลา ๒๔.๐๐ น. ถ้าเป็นวันพระจะประชุมฟังธรรมจนสว่าง แต่ท่านจะหยุดพักเป็นระยะ ๆ เมื่อเหนื่อยก็อนุญาตให้พักเปลี่ยนอิริยาบถ ยืดเส้นยืดสาย เข้าห้องน้ํา และฉันน้ํา เสร็จแล้วก็เดินจงกรมต่อ สําหรับอาจารย์ใหญ่ท่านจะไม่ลงจากศาลาจนรุ่งเช้า สว่างแล้วก็แยกย้ายกันกลับกุฏิของตนใครจะเดินจงกรมต่อหรือจะทํากิจวัตรสุดแต่ อัธยาศัย

ธรรมโอวาท

ธรรมโอวาทของท่านพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ได้รับการรวบรวมโดย คุณหมออวย เกตุสิงห์ ไว้ในหนังสือ อนุสรณ์งานศพพระอาจารย์ฝั้น อาจารเถระ ซึ่งแบ่งออกเป็น ๒ ส่วน ส่วน แรกเป็นพระธรรมเทศนากัณฑ์ใหญ่ว่าด้วย “พระอภิธรรมสังคินี มาติกา” เป็นงานประพันธ์ของ พระอาจารย์ตั้งแต่สมัยท่านยังหนุ่ม และท่านได้เขียนไว้ด้วย “อักษรธรรม” เป็นลายมือของท่านเอง งดงามมาก ส่วนที่สองเป็นพระธรรมเทศนา (อาจาโรวาท) ที่ท่านแสดงให้ฟังและมีผู้จดจําหรืออัดเทปไว้ ในส่วนนี้มีทั้งหมด ๑๕ กัณฑ์ ในที่นี้จะยกมาเฉพาะบางส่วนในอาจาโรวาท เล่มที่ ๘ ดังนี้

“บุญกุศลนั้นก็ไม่ใช่อื่นไกล ก็ได้แก่ทานบารมี ศีลบารมี ภาวนาบารมีนี้แหละทานก็รู้ อยู่แล้ว คือการสละหรือการละการวาง ผู้ใดละมาก วางได้มาก ก็เป็นผลานิสงส์มาก ผู้ใดวางได้น้อย ละได้น้อยก็มีผลานิสงส์น้อย มัจฉริยะความตระหนี่เหนียวแน่นนี้หละคือความโลภ ต้องสละเสีย ให้เป็นผู้บริจาค ก็บริจาคทรัพย์สมบัติวัตถุทั้งหลายเหล่านั้นหละ ไม่ใช่อื่นไกล แปลว่า ทะนุบํารุงตน เหมือนพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ท่านจะสําเร็จมรรคผล ท่านก็ได้สร้างบารมีมา คือทานบารมีอันนี้ นให้เข้าใจไว้ ทานเป็นเครื่องสะเบียงของเรา เมื่อเราได้ทําไว้พอแล้ว เราจะเดินทางไกล เราก็ไม่ต้องกลัวอุปมาเหมือนกับเดินทางมาวัดนี้หละ ถ้าเราไม่ได้เตรียมอะไรมามันก็ไม่มี ถ้าเตรียมมาแล้วเราก็ไม่ต้องกลัวอดกลัวอยาก กลัวทุกข์กลัวยาก ของเก่าเราได้ทํา มาไว้ ถ้าอะไรเราไม่ได้ทํามาแล้วเราก็ไม่ได้ อยากได้สิ่งโน้น อยากได้สิ่งนี้ อยากเป็นโน้น อยากเป็นนี้ เราไม่ได้ทําไว้ ไม่ได้สร้างไว้ อยากได้มันก็ไม่ได้ ถ้าได้ทําไว้แล้วสร้างไว้แล้ว ไม่อยากได้มันก็ได้ นี่หละทานบารมี เหตุนี้ให้พากันเข้าใจ

พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร

ศีลบารมีล่ะ คนเราเพียงแต่รับศีลไม่ได้รักษาศีล เข้าใจว่า ศีลนั้นเป็นของพระ ถ้าพระ ไม่ให้แล้วก็ว่าเราไม่ได้ศีล อย่างนี้เป็นสีลัพพตปรามาส เพียงแต่ลูบคลําศีลแท้ที่จริงนั้นศีลของเราเกิดมาพร้อมกับเรา ศีลห้าบริบูรณ์ตั้งแต่เกิดมา ขาสอง แขนสองศีรษะหนึ่ง อันนี้คือ ตัวศีลห้า เราได้จากมารดาของเรา เกิดมาก็มีพร้อมแล้ว เมื่อเรามีศีลห้าบริสุทธิ์อย่างนี้ ก็ให้เรารักษาอันนี้หละ รักษากายของเรา รักษาวาจา รักษาใจให้เรียบร้อย อย่าไปกระทําโทษน้อยใหญ่ ทางกาย ทางวาจา ทางใจของเรา โทษห้าคืออะไร คือ ปาณาติปาตา ท่านให้งดเว้น อย่าไปทํานั่นเป็นโทษไม่ใช่ศีล อทินนาทานา นั่นก็เป็นโทษไม่ใช่ศีล กาเมสุมิจฉาจารา นั้นก็ไม่ใช่ศีลเป็นแต่โทษ มุสาวาทา ท่านให้งดเว้นมันเป็นโทษไม่ใช่ศีล สุราเมรยมัชชฯ อันนี้ก็เป็นแต่โทษ ถ้า เราไม่ได้ทําความผิดห้าอย่างนี้ อยู่ที่ไหนเราก็มีศีล อยู่ในบ้านในช่องก็มีศีล อยู่ในป่าในดงก็มีศีล อยู่ในรถในราเราก็มีศีล ให้เข้าใจศีลตามนี้ ที่คอยจะรับจากพระนั่นไม่ใช่ ท่านก็บอกว่าอย่าไปทําห้าอย่างนั้นให้ละเว้น เมื่อเราละเว้นแล้ว อยู่ที่ไหนก็มีศีล เราก็เป็นคนบริสุทธิ์บริบูรณ์ ศีลห้าอย่างนั้น เราไม่อยากได้ไม่ปรารถนา เหตุฉันใดจึงว่าไม่อยากได้ พิจารณาดูซี สมมติว่า มีคนมาฆ่าเราหรือมาฆ่าพี่ฆ่าน้องญาติพงษ์ของเรา เราดีใจใหมล่ะ เราไปฆ่าเขาล่ะเขาดีใจไหม พิจารณาดูซี เราไม่ต้องการอย่างนั้นไม่ใช่เหรอ ถ้าเราไม่ทําอย่างนั้นแล้วโทษของเราก็ไม่มี เกิดมาอายุก็ยืนนาน ไม่ตายแต่น้อยแต่หนุ่ม ก็เพราะเราไม่ได้ทําปาณาติบาตไว้ในหลายภพหลายชาติ แม้ในชาตินี้ก็เหมือนกัน เราฟังธรรมก็ฟังในชาตินี้ แล้วก็ปฏิบัติในชาตินี้ในปัจจุบันนี้ เรา ไม่ต้องคํานึงถึงอดีตอนาคต เรากําหนดให้รู้เดี๋ยวนี้ เรานั่งอยู่นี่ก็เป็นศีลอยู่นี่ข้อสําคัญ

เหตุนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงสอนไว้ให้ละเว้นโทษที่เราไม่พึงปรารถนา เช่น อทินนาทานการขโมยอย่างนี้หละ เขามาขโมยข้าวขโมยของขโมยเล็กขโมยน้อยของเราเราก็ไม่อยากได้ หรือโจรปล้นสะดมอย่างนี้เราก็ไม่อยากได้ ท่านจึงให้ละ ถ้าเราไม่ได้ขโมยของใครไม่ว่าในภพใดภพหนึ่ง เราก็ไม่ถูกโจรไม่ถูกขโมย ไม่มีร้ายไม่มีภัยอะไรสักอย่าง เราละเว้นแล้วโจรทั้งหลายก็ไม่มี โจรน้ำ โจรไฟ.. โจรลมพายุพัดก็ไม่มี นี่เป็นอย่างนั้น กาเมก็เช่นเดียวกัน เกิดมามีสามีภรรยามีบุตรปรองดองกัน อันเดียวกัน เกิดคนมาละเมิดอย่างนี้เราก็ไม่อยากได้ ว่ายากสอนยากหรือทะเลาะเบาะแว้งกันเราก็ไม่อยากได้ ถ้าเราละเว้นโทษกาเมนี้แล้วมันก็ไม่มีโทษหละ มุสาวาทาก็พึงละเว้น มีคนมาฉ้อโกง หลอกลวงเรา เราก็ไม่อยากได้ คิดดูซีเราไปหลอกลวงฉ้อโกงเขา เขาก็ไม่อยากได้เช่นเดียวกัน นี่หละพระพุทธเจ้าท่านจึงได้ละเว้น มันเป็นโทษคนไม่ปรารถนา ถ้าเรารักษาศีลนี้แล้วเราก็สบาย ไปไหนก็สบายซี่ไม่มีโทษเหล่านี้แล้ว สุราการมึนการเมาเราละกันแล้ว เราก็ไม่อยากได้ ภรรยาขี้เมา สามีขี้เมา ลูกขี้เมา พ่อแม่พี่น้องขี้เมา เราก็ไม่อยากได้ เมื่อไม่มีเมาแล้วจะทะเลาะเบาะแว้งกันที่ไหนเล่า เกิดมากรรมให้โทษ เช่น คนเป็นใบ้บ้าเสียจริตผิดมนุษย์เป็นลมบ้าหมู เราก็ไม่อยากได้ หูหนวก ตาบอดเป็นใบ้อย่างนี้เราก็ไม่อยากได้ ขี้ทูดกุดถังกระจอกงอกง่อย เป็นคนไม่มีสติปัญญาเราก็ไม่อยากได้ พระพุทธเจ้าจึงได้ละเว้นโทษเหล่านี้ เมื่อเราทั้งหลายละเว้นแล้ว เราไปไหนก็อยู่เย็นเป็นสุข สนุกสบาย ฉะนี้เมื่อเราสมาทานศีล พระท่านจึงบอกว่า สีเลน สุคติง ยันติ ผู้ละเว้นแล้วมีความสุข สีเลนะ โภคะสัมปะทา เราก็มีโภคสมบัติ ไปในภพไหนก็ดี ในปัจจุบันก็ดีเป็นคนไม่ทุกข์เป็นคนไม่จน ด้วยอํานาจของศีลนี้ สีเลนะ นิพพุติง ยันติ จะไปพระนิพพานก็อาศัยศีลนี้เป็นต้น

ต่อไปนี้ให้ทําบุญโดยเข้าที่ภาวนา นั่งดูบุญดูกุศลของเรา จิตใจมันเป็นยังไงดูให้มันรู้มันเห็นซี่ อย่าสักแต่ว่าสักแต่ทํา เอาให้มันเห็นจริงแจ้งประจักษ์ซี่ เราต้องการความสุขความสบาย แล้วมันได้ตามต้องการไหม เราก็มาฟังดูว่าความสุขความสบายมันอยู่ตรงไหน เราก็นั่งให้สบาย วางกาย ของเราให้สบาย วางท่าวางทางให้สง่าผ่าเผยยิ้มแย้มแจ่มใส เมื่อกายเราสบายแล้วเราก็วางใจให้สบาย รวมตาเข้าไปหาดวงใจ หูก็รวมเข้าไป เมื่อใจสบายแล้ว นึกถึงคุณพระพุทธเจ้าอยู่ในใจ พระธรรมอยู่ ในใจ พระอริยสงฆ์อยู่ในใจ..เราเชื่อมั่นอย่างนั้นแล้ว จึงให้นึกคําบริกรรมภาวนา ว่า “พุทโธ ธัมโม สังโฆ” สามหนแล้วรวมเอาคําเดียว ให้นึกว่า “พุทโธ พุทโธ” หลับตา งับปากเสีย ตาเราก็เพ่งเล็งดูตําแหน่งที่ระลึกพุทโธนั่น มันระลึกตรงไหน หูเราก็ไปฟังที่ระลึกพุทโธนั้น สติเราก็จ้องดูที่ระลึก พุทโธ พุทโธ จะดูทําไมเล่า ดูเพื่อให้รู้ว่าตัวของเรานี้เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ มันดีหรือมันชั่วจิตของเราอยู่ในกุศลหรืออกุศลก็ให้รู้จัก..ถ้าจิตของเราเป็นกุศลมันเป็นยังไง คือจิตมีความสงบ มันไม่ส่งหน้าส่งหลังส่งซ้ายส่งขวา เบื้องบนเบื้องล่าง ตั้งอยู่จําเพาะท่ามกลางผู้รู้ มันมีใจเยือกใจเย็นใจสุขใจสบายจิตเบากายมันก็เบาไม่หนักไม่หน่วงไม่ง่วงไม่เหงา หายทุกข์หายยากหายความลําบากรําคาญ สบายอกสบายใจ นั่นแหละตัวบุญตัวกุศลแท้ นี้จะได้เป็นบุญเป็นวาสนาเป็นบารมีของเราเป็นนิสัยของเรา ติดตนนําตัวไปทุกภพทุกชาติ นี่แหละให้เข้าใจไว้ จิตของเราสงบเป็นสมาธิ คือ กุศล อกุศล เป็นยังไง คือจิตเราไม่ดี จิตทะเยอทะยาน จิตดิ้นรนพะวักพะวง จิตทุกข์จิตยาก จิตไม่มีความสงบ มันเลยเป็นทุกข์ เรียกว่า อกุศลธรรมทั้งหลาย กุศลธรรมอกุศลธรรม อันนี้ว่าเป็นกรรม ในศาสนา ท่านว่ากรรมทั้งหลายไม่ได้อยู่ในที่อื่น กมฺมสฺสโกมฺหิ กรรมนั้นเป็นของ ๆ ตน กลฺยาณํ วา ปาปกํ วา ตสฺส ทายาทา ภวิสฺสนฺติ เราทํากรรมอันใดไว้ เป็นบุญหรือเป็นบาป เราจะได้รับผลของกรรมนั้นสืบไป เราจะรู้ได้ยังไงกุศลกรรม พิจารณาดูชี้กรรมทั้งหลายมันไม่ได้อยู่อื่นกายกรรม แน่ะ มันอยู่ ในกายของเรานี้ มันเกิดจากกายของเรานี้ วจีกรรม มันเกิดจากวาจาของเรานี้ ไม่ได้เกิดจากอื่นไกล มโนกรรม มันเกิดจากดวงใจของเรานี้แหละให้รู้จักไว้ต่อไปเราไม่ต้องสงสัยว่ากรรมมันมาจากไหน ใครเป็นผู้ทําล่ะ เดี๋ยวนี้เรารู้ เราเป็นผู้ทําเอาเอง ไม่ใช่เทวบุตรเทวดาทําให้เราทําเอาเอง ที่นั่งอยู่เดี๋ยวนี้หละเราทําบุญ บุญอันนี้เป็นอย่างเลิศอย่างประเสริฐแท้ คือเราให้ทานร้อยหนพันหนก็ตาม อานิสงส์ไม่เท่าเรานั่งสมาธิ นี้มีผลานิสงส์เหมือนทําบุญอย่างที่สุดแล้ว”

ปัจฉิมบท

เมื่อครั้งที่พระอาจารย์ฝั้น ยังเป็นสามเณรอยู่นั้น ท่านได้เอาใจใส่ศึกษาและเคร่งครัดในพระธรรมวินัยเป็นอันมาก ถึงขนาดคุณย่าของท่านได้พยากรณ์เอาไว้ว่า

“ในภายภาคหน้า ท่านจะเข้าไปอาศัยอยู่ในป่าขมิ้นจนตลอดชีวิต ระหว่างนั้นจะสร้างแต่คุณความดีอันประเสริฐเลิศล้ําค่า จะเป็นผู้บริสุทธิ์ผ่องใส ประชาชนทุกชั้นตั้งแต่สูงสุดจนต่ําสุด ทุกเชื้อชาติศาสนาที่ได้ฟัง พระธรรมเทศนาของท่าน จะบังเกิดความเลื่อมใสในตัวท่านและรสพระธรรมที่ท่านเทศนาเป็นอันมาก”

คําพยากรณ์ของคุณย่าของท่านมิได้ผิดความจริงเลย เมตตาธรรมและคุณความดีของท่าน เป็นที่ประจักษ์แก่บรรดาสานุศิษย์และบรรดาสาธุชนโดยทั่วไป

ความเมตตาของท่านพระอาจารย์ แสดงออกตั้งแต่การให้ของเล็ก ๆ น้อย ๆ หรือการยอมทําตามคําขอร้องง่าย ๆ ขึ้นไปจนถึงการให้ของที่สําคัญๆ และการกระทําที่ยาก ๆ แม้จนกระทั่งสิ่งที่ท่านเองไม่อยากกระทํา แต่ถ้าถึงขีดที่เป็นการผิดพระวินัย ท่านจะไม่ยอมเป็นอันขาด คุณหมออวย ได้เล่าไว้ใน หนังสืออนุสรณ์งานศพพระอาจารย์ฝั้น อาจารเถระ ตอนที่ ๘ กรุณามหณณโว ความว่า

“ผู้เขียนเคยเห็นครั้งหนึ่งมีพระอธิการจากวัดหนึ่งในจังหวัดอื่น มาขออนุญาตทําของอะไรบางอย่างเกี่ยวกับตัวท่าน เพื่อเอาไปให้เช่าหารายได้ปรับปรุงวัด พยายามอ้อนวอนเท่าไร ๆ ท่านก็ไม่ยอม เพราะท่านขัดข้องต่อการขายสิ่งมงคลต่างๆ ทั้งสิ้น นอกจากไม่อนุญาตแล้ว ท่านยังว่ากล่าวตักเตือนให้สังวรในพระวินัยให้เคร่งครัดอีกด้วย ซึ่งเป็นการแสดงเมตตาอีกแบบหนึ่ง คือช่วยไว้ให้พ้นจากอบายภูมิ”

ตัวอย่างความเมตตาของท่านมีมากมาย แทรกอยู่ในประวัติของท่านทุกๆ ตอนไม่สามารถจะกล่าวได้หมดสิ้น จะขอยกมาเป็นตัวอย่างสักเล็กน้อย เช่น

ช่วงที่ท่านพํานักอยู่ในป่าริมห้วยเสนง จังหวัดสุรินทร์ ได้มีพุทธบริษัทเลื่อมใสในตัวท่านเป็นอันมาก ผู้คนพากันไปฟังพระธรรมเทศนาและรับการอบรมจากท่านอย่างเนืองแน่นมิได้ขาด เมื่อท่านได้ทราบถึงความเจ็บป่วยของชาวบ้านบางคน ท่านได้ให้ลูกศิษย์หาเครื่องยามาประกอบเป็นยาดอง โดยมีผลสมอเป็นตัวยาสําคัญกับเครื่องเทศอีกบางอย่างปรากฏว่ายาดองที่ท่านประกอบขึ้น คราวนั้นมีสรรพคุณอย่างมหาศาล แก้โรคได้สารพัดแม้คนที่เป็นโรคท้องมานมาหลายปี รักษาที่ไหน ก็ไม่หาย พอไปฟังพระธรรมเทศนารับพระไตรสรณคมน์ และรับยาดองจากท่านไปกินเพียง ๓ วัน โรคก็หายทั้งปลิดทิ้ง แม้คนที่เป็นโรคอื่น ๆ ก็เช่นกัน ชาวสุรินทร์ถึงกับขนานนามท่านว่า “เจ้าผู้มีบุญ”

หลวงปู่ฝั้น อาจาโร

ช่วงเข้าพรรษาปี พ.ศ. ๒๔๘๙ ที่วัดป่าภูธรพิทักษ์ จังหวัดสกลนคร เกิดฝนฟ้าไม่ตกต้องตามฤดูกาล ชาวบ้านกลัวอดข้าวเพราะทํานาไม่ได้ จึงไปปรารภกับท่าน ท่านจึงได้แนะนําให้รักษาศีล ให้เคร่งครัดโดยพร้อมเพรียงกัน ท่านกล่าวว่าหากยึดมั่นในพระรัตนตรัยแล้วจะไม่อดตายอย่างแน่นอน กุศลความดีทั้งหลายจะรักษาผู้ปฏิบัติชอบเสมอ บรรดาญาติโยมทั้งหลายต่างพากันเข้าวัด ปฏิบัติถือศีลห้าศีลแปดกันอย่างมั่นคง ต่อมาวันหนึ่งพระอาจารย์ฝั้นให้ลูกศิษย์ปูเสื่อบนลานวัดกลางแจ้ง ท่านพร้อมกับพระภิกษุ ๒ รูป สามเณร ๒ รูป นั่งสวดคาถาท่ามกลางแสงแดดจ้า ไปได้ประมาณครึ่งชั่วโมง ท้องฟ้าที่กําลังมีแดดจ้าพลันมีเสียงฟ้าคําราม บังเกิดมีก้อนเมฆกับมีฝนเทลงมาอย่างหนัก ท่านได้ให้พระและเณรหลบฝนไปก่อน ส่วนตัวท่านเองยังคงนั่งอยู่ที่เดิมอีกนานจึงได้ลุกไป ฝนตกหนักเกือบ ๓ ชั่วโมง เมื่อฝนหยุดแล้วท้องฟ้าก็แจ่มใสดังเดิม ปีนั้นฝนฟ้าก็ตกต้องตามฤดูกาล ชาวบ้านได้ทํานาตามปกติโดยทั่วถึง

จากถ้อยคําของผู้ที่เคยเป็นศิษย์ท่าน ทราบว่าท่านเป็นอาจารย์ที่เข้มงวดกวดขันมาก คอยเคี่ยวเข็ญพระเณรตลอดจนผ้าขาวให้ปฏิบัติภาวนาโดยเข้มแข็งเสมอ ถ้าใครเกียจคร้านหรือเหลาะแหละ

ท่านก็จะว่ากล่าวตักเตือน เช่นว่า บวชแล้วอย่าให้ชาวบ้านเปลืองข้าวเปล่า ๆ หรือว่า พระกรรมฐาน เป็นพระนั่งไม่ใช่พระนอน เป็นต้น ถ้าใครปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ท่านก็ชมเชยและเอาใจใส่อบรมเป็น พิเศษเพื่อจะได้ก้าวหน้าไปไกลยิ่งขึ้นอีก

พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร

ท่านพระอาจารย์ฝั้นเป็นนักปฏิบัติธรรม เป็นนักพัฒนา เป็นนักวิทยาศาสตร์ ที่มีสติปัญญาล้ําเลิศ มีความรอบรู้กว้างขวางและมีปฏิภาณไหวพริบฉลาดเฉลียว จะเห็นได้จากในประวัติของท่าน ท่านมักจะได้รับมอบหมายให้ไปตัดสินปัญหาพิจารณาความเป็นธรรมอยู่เนือง ๆ เช่น กรณีแก้มิจฉาทิฏฐิของไท้สุข กรณีแก้วิปัสนูปกิเลสของแม่ชีตัด กรณีระงับเหตุการณ์ไม่สงบที่วัดเทพนิมิตร จังหวัดฉะเชิงเทรา และการได้รับบัญชาจากสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ให้อยู่ใกล้ชิดและคอยแนะนําเรื่องภาวนาที่วัดสุปัฏน์ จังหวัดอุบลราชธานี เป็นต้น

พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร

การพัฒนาทางวัตถุของท่านมีให้เห็นมากมาย ท่านได้ก่อตั้ง และบูรณะวัดให้มีหลักฐานมั่นคงหลายวัด เช่น วัดป่าศรัทธารวม วัดป่าโยธาประสิทธิ์ วัดป่าภูธรพิทักษ์ สํานักสงฆ์ถ้ําขาม และวัดป่าอุดมสมพร ส่วนถาวรวัตถุอื่น ๆ ที่เป็นสาธารณประโยชน์ก็มีมากมาย เช่น ถนนสายบ้านคําข่า-บ้านไร่ ถนนสายบ้านม่วงไข่-บ้านหนองโคก สะพานข้ามห้วยทราย เขื่อนกั้นน้ําอูน ตึกพิเศษสงฆ์ที่โรงพยาบาลสกลนคร และโรงพยาบาลพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ที่อําเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร เป็นต้น

ตัวอย่างอันหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าท่านเป็นนักวิทยาศาสตร์และนักพัฒนาก็คือ ในระหว่างพรรษา ปี พ.ศ. ๒๔๙๘ ท่านจําพรรษาบนถ้ําขาม ซึ่งตั้งอยู่บนยอดเขา บนไหล่เขาช่วงใกล้จะถึงยอดเขาถ้ําขามมีที่ค่อนข้างราบอยู่ประมาณครึ่งไร่ ซึ่งมีดินขังอยู่ระหว่างก้อนหิน ท่านให้ชาวบ้านถางหญ้า แล้วหาหน่อกล้วยมาปลูก ชาวบ้านหลายคนคัดค้านว่า ที่อย่างนั้นปลูกกล้วยไม่ขึ้น เอามาปลูกก็เสียเวลาเสียของเปล่า ๆ แต่ท่านพระอาจารย์บอกว่าไปหามาปลูกก็แล้วกัน ขึ้นหรือไม่ขึ้นก็จะรู้เอง พอ ปลูกแล้วก็งอกงามเป็นป่ากล้วยและยั่งยืนมาจนทุกวันนี้ ท่านถือป่ากล้วยนี้เป็นบทเรียนสําหรับชาวบ้าน ให้เห็นว่าการลงความเห็นว่า อ้ายโน่นทําไม่ได้อ้ายนี้ทําไม่ได้ โดยไม่พยายามลองดูนั้น คือความโง่ และความเกียจคร้านซึ่งเป็นเหตุแห่งความทุกข์และยากจน ส่วนความสนใจใคร่ทดลองทําอย่างโน้น อย่างนี้แม้ไม่เคยทํามาก่อนเป็นความฉลาดและความขยัน จะนําไปสู่ความสุขและความร่ํารวย ในปัจจุบันที่ตรงนั้นมีทั้งกล้วย มะม่วง และขนุน เป็นที่อาศัยของพระเณรและลูกศิษย์ ในบางโอกาส พวกลิงก็แห่กันมาเป็นฝูง ๆ เพื่อขอแบ่งไปบ้าง

ภาพเจ้าประคุณสมเด็จฯ ในงานพระราชทานเพลิงศพ
หลวงปู่ฝั้น อาจาโร ณ วัดป่าอุดมสมพร อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร
เมื่อวันเสาร์ที่ ๒๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๒๑
พร้อมพระกรรมฐานสายพระอาจารย์มั่นที่มาร่วมงาน ได้แก่
หลวงปู่เทสก์ เทสรํสี วัดหินหมากเป้ง จ.หนองคาย
หลวงปู่บุญมา ฐิตเปโม วัดสิริสาลวัน จ.อุดรธานี
หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ วัดป่านิโครธาราม จ.อุดรธานี
หลวงปู่ดูลย์ อตุโล วัดบูรพาราม จ.สุรินทร์
หลวงปู่ซามา อาจุตฺโต วัดป่าอัมพวัน จ.เลย
หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร วัดถ้ำผาปล่อง จ.เชียงใหม่
หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน วัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี
หลวงปู่สาม อภิญฺจโน วัดป่าไตรวิเวก จ.สุรินทร์
หลวงปู่มหาปิ่น ชลิโต วัดพระธาตุเขาน้อย จ.ราชบุรี
พระอาจารย์วัน อุตฺตโม วัดถ้ำอภัยดำรงธรรม จ.สกลนคร
พระอาจารย์จวน กุลเชฏฺโฐ วัดเจติยาคีรีวิหาร จ.บึงกาฬ
พระอาจารย์สิงห์ทอง ธมฺมวโร วัดป่าแก้วชุมพล จ.สกลนคร
หลวงปู่แบน ธนากโร วัดดอยธรรมเจดีย์ จ.สกลนคร
หลวงปู่มหาเขียน ฐิตสีโล วัดรังสีปาลิวัน จ.กาฬสินธุ์
หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย วัดเขาสุกิม จ.จันทบุรี
หลวงตาพวง สุขินทริโย วัดศรีธรรมาราม จ.ยโสธร
หลวงปู่ถวิล จิณณธมฺโม วัดธรรมหรรษาราม (วัดยางระหง) จ.จันทบุรี
หลวงพ่อพุธ ฐานิโย วัดป่าสาลวัน จ.นครราชสีมา
หลวงปู่แปลง สุนทโร วัดป่าอุดมสมพร จ.สกลนคร
หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร วัดธรรมมงคล กรุงเทพมหานคร
หลวงปู่บุญรักษ์ ฐิตปุญโญ วัดสำราญนิเวศ จ.อำนาจเจริญ เป็นต้น
พิพิธภัณฑ์ท่านพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร วัดป่าอุดมสมพร จ.สกลนคร

อนุสรณ์สถานที่ถือว่าสําคัญที่สุดของท่านพระอาจารย์ฝั้น น่าจะเป็น วัดป่าอุดมสมพร ซึ่งห่างจากตัวเมืองสกลนครราว ๓๔ กม. เป็นที่ที่ท่านได้จําพรรษาช่วงสุดท้ายของชีวิตเป็นเวลากว่า ๑๒ ปี ท่านมรณภาพที่นี่เมื่อวันที่ ๔ มกราคม ๒๕๒๐ และมีพิธีพระราชทานเพลิงศพของท่านที่นี่ เมื่อวันที่ ๒๐ มกราคม ๒๕๒๑ ในบริเวณที่พระราชทานเพลิงศพได้มีการสร้างพระเจดีย์พิพิธภัณฑ์ พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร องค์พระเจดีย์สูง ๒๗.๙ เมตร ลักษณะเป็นทรงสี่เหลี่ยมยอดแหลม บรรจุพระอัฐิและพระอังคารพระอาจารย์ฝั้นที่ส่วนยอดของพระเจดีย์ ฐานของพระเจดีย์เป็นรูป ซุ้มโดยรอบลดหลั่นกันลงมาเป็น ๓ ชั้น ซึ่งซุ้มชั้นล่างหมายถึงศีล ชั้นกลางหมายถึงสมาธิ และชั้น ยอดหมายถึงปัญญาในองค์พระเจดีย์จัดเป็นพิพิธภัณฑ์แสดงเครื่องบริขารของท่าน ตรงกลางเป็นที่ประดิษฐานรูปปั้นของท่าน ลานชั้นล่างรอบองค์เจดีย์ จัดเป็นลานพระธรรมมีซุ้มโดยรอบ ๕๖ ซุ้ม ถ้ามองจากภายในลานจะมีหินจารึกคําสอนธรรมะของท่านติดอยู่บนหลังซุ้ม หากมองจากภายนอก จะเป็นซุ้มแสดงประวัติของท่านซึ่งประดับด้วยประติมากรรมดินเผา เป็นเรื่องราวตั้งแต่ท่านถือกําเนิด มาบวชเรียนจนถึงมรณภาพบริเวณโดยรอบเป็นสวนป่าอันเงียบสงบ ร่มรื่น อันเป็นบรรยากาศของ การปฏิบัติภาวนาโดยเฉพาะ

พิพิธภัณฑ์ท่านพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร วัดป่าอุดมสมพร

พระคุณของท่านพระอาจารย์ฝั้นไม่อาจจะบรรยายให้หมดสิ้นได้ พุทธศาสนิกชนทั้ง หลายควรจะถือเป็นแบบอย่าง เพื่อให้ตัวเอง สังคม และประเทศชาติ เจริญรุ่งเรือง อยู่เย็นเป็นสุข ปราศจากทุกข์โดยประการทั้งปวง ดั่งในโคลงดั้นวิวิธมาลี “อาจารศิรวาท” พระราชนิพนธ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตอนหนึ่ง ความว่า

ใครเอยเคยกอบเกื้อ เอาภาร

แนะเรื่องประเทืองหทัย ทุกข์กั้น

เสาะแสวงสิทธิศานต์ สุขทั่ว

“อาจารย์” ท่านเดิม “ฝั้น” ตั้ง ต่อนาม