วันเสาร์, 26 ตุลาคม 2567

หลวงพ่อพริ้ง อินทโชติ วัดบางปะกอก ราษฎร์บูรณะ กรุงเทพฯ

ประวัติและปฏิปทา
หลวงพ่อพริ้ง อินทโชติ

วัดบางปะกอก
ราษฎร์บูรณะ กรุงเทพฯ

หลวงพ่อพริ้ง อินทโชติ วัดบางปะกอก ราษฎร์บูรณะ กรุงเทพฯ
หลวงพ่อพริ้ง อินทโชติ วัดบางปะกอก ราษฎร์บูรณะ กรุงเทพฯ

หลวงพ่อพริ้ง อินทโชติ วัดบางปะกอก กรุงเทพฯ พระเกจิผู้ทรงพุทธาคมเป็นเลิศ มีชื่อเสียงโด่งดังในยุค “สงครามอินโดจีนและสงครามโลกครั้งที่ ๒” และท่านยังเป็นหนึ่งในพระอาจารย์องค์สำคัญของเสด็จในกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์

◉ ชาติภูมิ
พระครูประศาสน์สิกขกิจ (หลวงพ่อพริ้ง อินทโชติ) วัดบางปะกอก นามเดิมชื่อ “พริ้ง เอี่ยมทศ” เกิดเมื่อ พ.ศ.๒๔๑๓ ชาติภูมิเป็นชาวคลองสาน ฝั่งธนบุรี บิดาชื่อ “นายเอี่ยม” และมารดาชื่อ “นางสุ่น”

◉ บรรพชาอุปสมบท
ในวัยเด็กได้บรรพชาเป็นสามเณรตั้งแต่อายุ ๗ ขวบ ที่วัดราชสิทธารามหรือวัดพลับ ศึกษาวิปัสนากรรมฐานขั้นต้นกับพระสังวรานุวงศ์ (เมฆ) เจ้าอาวาสองค์ที่ ๑๐ และพระมงคลเทพมุนี (เอี่ยม) วัดราชสิทธาราม

เมื่ออายุครบบวช จึงได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๓๕ ที่วัดทองนพคุณ โดยมี พระสุธรรมสังวรเถระ เป็นพระอุปชาฌ์ พระพุทธฺ เป็นพระกรรมวาจารย์ และ พระจนฺทโชโต เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “อินทโชติ”

ศึกษาเล่าเรียนทั้งภาษาไทยและบาลีจนแตกฉาน ประกอบกับเป็นผู้ที่มีความสนใจทางด้านวิปัสสนากัมมัฏฐาน จึงฝึกฝน ทางด้านนี้อย่างจริงจัง รวมทั้งเรียนด้านวิทยาคมเพิ่มเติมอีกกับคณาจารย์ต่างๆ หลายสำนัก

ศึกษาวิปัสสนากัมมัฏฐานและวิทยาคมมาตั้งแต่สมัยยังเป็นสามเณร สำนักใดมี ชื่อเสียงในขณะนั้น ท่านจะไปศึกษาและออกธุดงค์ไปตามสถานที่ต่างๆ เมื่อพบกับพระเกจิอาจารย์ดัง ก็จะฝากตัวเป็นศิษย์แล้วออกธุดงค์ตามไปเรื่อยๆ

ความมานะพากเพียรและจิตที่มุ่งมั่นทำให้ท่านมีชื่อเสียงด้านวิทยาคม และวิชาแพทย์แผนโบราณ เพื่อนำมาสงเคราะห์ต่อชาวบ้านในสมัยนั้นอีกด้วย

ต่อมารับนิมนต์ให้มาอยู่ที่วัดบางปะกอก พ.ศ.๒๔๓๘ ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส พ.ศ.๒๔๗๐ เป็นพระอุปัชฌาย์

วัดบางปะกอกนี้ มีพระภิกษุประจำพรรษาอยู่เพียง ๒ -๓ องค์เท่านั้น เนื่องจากวัดบางปะกอกนี้เป็นวัดเก่าแก่สร้างมาแต่ในสมัยใดไม่ปรากฏแน่ชัด กุฏิ โบสถ์และเสนาสนะอื่น ๆ ชำรุดทรุดโทรมมาก สันนิษฐานจากการปฏิสังขรณ์พระอุโบสถมาครั้งหนึ่ง เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๐ ซึ่งก็คงมีมาแต่ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นหรืออาจก่อนกรุงศรีอยุธยาก็ได้ อายุไม่ต่ำกว่า ๓๐๐ ปีขึ้นไป

เดิมทีเดียวบางปะกอกนี้มีชื่อว่าบางคี่ และในสมัยก่อนที่หลวงพ่อพริ้งจะมาเป็นเจ้าอาวาสนั้นมีนักเลงอยู่มาก แม้ในเวลาที่มีการทำบุญตักบาตรในวัด จะต้องมีการตีกันอยู่เป็นประจำ ทำให้ชาวบ้านที่จะมาทำบุญก็ต้องพกมีดไม้มาด้วย นับแต่ท่านได้มาประจำพรรษาเป็นพระอธิการเจ้าอาวาสอยู่ที่วัดนี้ นักเลงเหล่านั้นก็เกรงกลัว ต่างมอบตัวเป็นศิษย์ของท่านหรือไม่ก็หายหน้าหายตาไปหมด ต่อมาท่านก็ได้ร่วมกับชาวบ้านบูรณะปฏิสังขรณ์ กุฏิ โบสถ์ วิหาร และเสนาสนะอื่นๆ ที่ชำรุดทรุดโทรมจนเรียบร้อยสวยงามมาจนถึงปัจจุบัน

สมัยที่เกิดสงครามอินโดจีนและสงครามโลกครั้งที่ ๒ (ระหว่าง พ.ศ.๒๔๘๐-๒๔๘๕) วัดบางปะกอก เป็นอีกวัดหนึ่งที่ประชาชนทั่วไป มาขอพึ่งพาเป็นที่หลบภัย ทั้งที่วัด อยู่ไม่ไกลจากอู่ต่อเรือของทหารญี่ปุ่นที่ เข้ามาสร้างฐานทัพในประเทศไทย

หลวงพ่อพริ้ง ซึ่งชาวบางประกอบและชาวตำบลใกล้เคียงเรียกท่านว่า “หลวงปู่” ได้ศึกษาเล่าเรียนวิชาคาถาอาคมจนแก่กล้ามาตั้งแต่เป็นสามเณรอยู่ที่วัดพลับ แต่ท่านจะศึกษาเล่าเรียนมาจากพระอาจารย์องค์ใดนั้นไม่ปรากฏแน่ชัด ท่านชอบธุดงค์จาริกในป่าต่างๆ หลายครั้งหลายหน ว่ากันว่าท่านเคยเรียนร่วมอาจารย์เดียวกับหลวงปู่ศุข วัดมะขามเฒ่า เข้าใจว่าท่านคงจะศึกษาเล่าเรียนชั้นแรกกับพระอาจารย์ที่วัดพลับ ตอนที่ท่านบรรพชาเป็นสามเณรนั่นเอง โดยท่านได้สนใจศึกษาเล่าเรียนวิชาล่องหนหายตัวและคงกระพันชาตรีตั้งแต่เป็นสามเณร และสามารถทำได้โดยไม่ยาก

ต่อมาท่านได้รับแต่งตั้งสมณศักดิ์เป็น พระครูประศาสน์สิกขกิจ เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม พุทธศักราช ๒๔๗๙ มีประชาชนเคารพนับถือทั่วไป ตลอดจนบรรดาเจ้านายเชื้อพระวงศ์ที่อยู่ในรั้วในวังต่างก็รู้จักท่านดี ในสมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ โดยเฉพาะข้าราชการทหารเรือในสมัยนั้น

เกียรติคุณของท่านยิ่งได้รับความเชื่อถือมากขึ้นอีก เมื่อพลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์มาขอเป็นศิษย์

ช่วงนั้นฝ่ายพันธมิตร นำเครื่องบินทิ้งระเบิดเพื่อทำลายฐานที่มั่นของทหารญี่ปุ่นมากมายหลายสิบลูก แต่ไม่มีระเบิดแม้แต่ลูกเดียวที่จะลงถึงวัดบางปะกอกเลย

เชื่อกันว่าหลวงพ่อพริ้งประกอบพิธีขจัดปัดเป่าจึงทำให้บริเวณวัดบางปะกอกและ ใกล้เคียงรอดพ้นจากลูกหลง

ด้วยเหตุนี้ชื่อเสียงจึงโด่งดัง เป็นผลให้ประชาชนทั่วสารทิศทั้งใกล้-ไกล ต่างมุ่งไปขอวัตถุมงคล รวมทั้งให้ช่วยรักษาโรคภัย ไข้เจ็บต่างๆ ด้วย

ในตอนต้นสงครามอินโดจีน ท่านก็ได้สร้างเสื้อยันต์ผ้ายันต์และปลุกเสกเครื่องรางชนิดอื่น ๆ อีกหลายอย่างเพื่อมอบให้กับทหารที่ไปราชการสงครามและลูกศิษย์ในครั้งกระนั้น และในโอกาสที่ทางราชการทำพิธีจัดส่งทหารไปราชการสงคราม ท่านก็ได้รับนิมนต์จากทางราชการให้ไปประพรมน้ำพระพุทธมนต์เพื่อเป็นสิริมงคลเป็นที่เลื่องลือในครั้งกระนั้น มักได้รับนิมนต์ให้เข้าร่วมพิธีพุทธาภิเษกใหญ่ๆ ด้วยทุกครั้ง มีอยู่ครั้งหนึ่ง เมื่อสมเด็จพระสังฆราช (แพ) นิมนต์ไปร่วมประกอบพิธีหล่อและพุทธาภิเษก “พระกริ่งสมเด็จ พระสังฆราช (แพ) วัดสุทัศน์” ซึ่งมีพระคณาจารย์ชื่อดังหลายสิบรูปมาร่วมพิธีครั้งนี้ ปรากฏว่าแผ่นยันต์ที่หลวงพ่อพริ้งจารอักขระ และนำไปใส่ในเบ้าหลอมรวมกับของคณาจารย์รูปอื่นๆ ไม่ยอมหลอมละลาย จึงต้องนิมนต์มาท่องมนต์กำกับแผ่นจาร จึงละลายอย่างง่ายดายในเวลาต่อมา เกิด เป็นปรากฏการณ์อัศจรรย์ให้เล่าขานมาถึงทุกวันนี้

บรรดาพระชั้นผู้ใหญ่ที่ประจำพรรษาอยู่ที่วัดสุทัศน์ฯ รู้จักหลวงพ่อดีแทบทุกองค์ ท่านเจ้าคุณหลายองค์ที่วัดสุทัศน์ ต่างก็เล่าเป็นเสียงเดียวกันว่าหลวงพ่อพริ้ง ขณะนั้นโด่งดังมากกว่าพระอาจารย์ อื่นๆ ที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้นจริงๆ รูปร่างลักษณะของท่านเป็นคนที่ท่วงทีสง่างามสมกับเป็นพระชั้นผู้ใหญ่ที่มีคนเคารพนับถือ นี่เป็นคำกล่าวของท่านเจ้าคุณพระญาณโพธิ กับท่านเจ้าคุณพระศรีสัจจญาณมุนี และท่านเจ้าคุณพระวิบูลย์ธรรมาภรณ์

ทุกวันเสาร์อาทิตย์ทหารเรือทั้งนายพลจะพากันมาขอของดี ลงกระหม่อมกันแน่นกุฏิ บรรดาท่านผู้มีชื่อเสียงที่ไปมาหาสู่ท่านอย่างใกล้ชิดสนิทสนม เท่าที่พอจะรวบรวมได้ก็มี พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ พระบิดาแห่งกองทัพเรือ ตลอดจนพระโอรส พระธิดาของท่าน เสด็จกรมหลวงชุมพรฯ มีความเลื่อมใสศรัทธาต่อหลวงพ่อมาก ถึงกับนำพระโอรสมาอุปสมบทเป็นสามเณรอยู่ที่วัดนี้ถึง ๓ องค์ด้วยกันคือ พลเรือเอก หม่อมเจ้าครรชิดพลอาภากร (ท่านน่วม) อดีตผู้บัญชาการทหารเรือ หม่อมเจ้าสมรบรรเทิง (ท่านขรัว) และหม่อมเจ้าดำแคงฤทธิ์ (ท่านบ๊วย) โดยที่เสด็จในกรมฯ และหม่อมเจ้าหญิงเริงจิตแจรง พระธิดา ตลอดจนข้าราชบริพารได้มาถือศีลประจำอยู่ที่วัดนี้จนพระโอรสครบกำหนดลาสิกขา และอดีตนายกรัฐมนตรีท่านหนึ่งในอดีตก็เคยเป็นศิษย์ของท่าน พระชายาของกรมหลวงลพบุรีราเมศร์และพระโอรสก็เคยไปมาหาสู่ท่านเป็นประจำ โดยเฉพาะเสด็จกรมหลวงชุมพระเขตรอุดมศักดิ์ นั้นเคารพนับถือเป็นพระอาจารย์องค์หนึ่งเท่าเทียม หลวงปู่ศุข วัดมะขามเฒ่า และเข้าใจว่าคงจะได้ของดีจากหลวงพ่อไปมิใช่น้อย เพราะเท่าที่ทราบกันทั่วๆ ไป เสด็จในกรมฯนั้น เมื่อทราบว่าพระอาจารย์องค์ไหนมีชื่อเสียงแล้วมักจะทรงไปลองดีอยู่เสมอๆ และถ้าไม่แน่จริงแล้วท่านก็ไม่เคยให้ความเลื่อมใสศรัทธา

ข้อความตอนหนึ่งในหนังสือพระประวัติของกรมหลวงชุมพรฯ ซึ่งเขียนโดยชัยมงคล อุดมทรัพย์ มีข้อความตอนหนึ่งว่า..
นายเทียบ อุทัยเวช (นายเทียบฯ นี้เป็นน้องของหม่อมเมี้ยนซึ่งเป็นหม่อมของเสด็จในกรมฯ) ว่าเสด็จในกรมฯ นั้นทรงเคารพเลื่อมใสหลวงพ่อศุของค์เดียวหรือ หรือมีองค์อื่นอีก นายเทียบเล่าว่ามีอีกองค์หนึ่งอยู่วัดบางปะกอกธนบุรี ชื่อพระอาจารย์พริ้ง ท่านอาจารย์พริ้งองค์นี้มาหาเจ้าพ่อที่วังเสมอ แต่ท่านอาจารย์พริ้งจะให้ของหรือประสิทธิ์ประสาทวิชาคาถาอาคมอะไรให้กับท่านเจ้าพ่อยังไงผมไม่ทราบ แต่ท่านเจ้าพ่อเคารพนับถือเป็นพระอาจารย์

นายเทียบเล่าต่อไปว่า..พระอาจารย์พริ้งองค์นี้มีคนนับถือมาก เล่าลือกันว่าเป็นผู้ที่เชี่ยวชาญวิชาทางไสยศาสตร์ไม่แพ้หลวงพ่อศุข วัดมะขามเฒ่าเหมือนกัน น้องชายของผมชื่อจำเรียง ทัศนเวช บวชเป็นพระครูเป็นเจ้าอาวาสอยู่วัดส้มเกลี้ยง ตำบลสามเสน พระนคร (ปัจจุบันนี้เป็นพระวิบูลย์ธรรมาภรณ์ อยู่วัดราชาธิวาส) ได้นิมนต์พระอาจารย์พริ้งไปปลุกเสกองค์เดียว เกิดเหตุการณ์มหัศจรรย์ ปรากฏว่าผ้ายันต์ที่กองอยู่นั้นกระพือพรึบเหมือนลมกระทบคลื่นอยู่ไปมา ทั้ง ๆ ที่การกระทำพิธีก็กระทำอยู่ในพระอุโบสถของวัดชนะสงคราม หน้าต่างประตูก็ปิดหมด พัดลมก็ไม่มีสักอัน และมีผู้ร่วมเป็นสักขีพยานอยู่หลายท่าน กองผ้ายันต์เคลื่อนไหวเป็นอยู่พักหนึ่งจนเสร็จพิธี”

หลวงพ่อพริ้ง เป็นอาจารย์สักและหมอยา มีเครื่องรางของขลังที่มีชื่อเสียงมากทางคงกะพันและเมตตามหานิยมในสมัยนั้น หากใครไม่รู้จักหลวงพ่อพริ้งก็อาจจะเรียกได้ว่ายังไม่ได้เป็นนักเลงพระอย่างแท้จริง ประชาชนทั่วๆ ไป ให้ความเคารพเลื่อมใสกันอย่างมาก

นอกจากนั้นท่านยังดูฤกษ์ยามทายโชคชะตาได้แม่นยำ ท่านได้สร้างเครื่องรางของขลังขึ้นครั้งแรก เท่าที่ทราบกันดีคือ ลูกอมดำ ซึ่งมีชื่อเสียงในทางคงกระพันเมตตามหานิยมและอาราธนาทำน้ำมนต์ให้คนป่วยรับประทานเป็นที่รู้จักกันทั่ว ๆ ไปอย่างกว้างขวาง และสร้างลูกอมสีขาวปนเทา พระสมเด็จผงใบลานสีเทา สีปูน แหวนปลอกมีดขึ้นอีกซึ่งก็ได้รับความนิยมมากเช่นกัน และในโอกาสต่อมาท่านก็ได้สร้างเหรียญรูปท่านขึ้นอีกใน พ.ศ.๒๔๘๓ โดยคุณหลวงพัสดุฯ เป็นผู้จัดทำถวายให้หลวงพ่อปลุกเสก

โดยเฉพาะลูกอมดำซึ่งเป็นเครื่องรางชนิดแรกที่ท่านสร้างขึ้น มีอภินิหารทางคงกะพันมาก ซึ่งมีผู้ประสบเหตุมาแล้วจำนวนมาก ลูกอมดำนี้มีชื่อเสียงโด่งดังเลื่องลือไปไกล เหตุที่มีผู้นำติดตัวไปแล้วประสบภัยต่างๆ หลายต่อหลายสิบรายแต่ก็รอดชีวิตมาได้ เป็นเหตุให้มีผู้ต้องการมาก หาเช่าได้ยากจึงมีผู้รู้จักลูกอมดำมากกว่าเครื่องรางชนิดอื่นๆ ที่หลวงพ่อสร้าง

ในบรรดาพระเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่ป็นลูกศิษย์ของหลวงพ่อพริ้ง คือ หลวงพ่อพระร่วง พระเกจิอาจารย์ผู้มีชื่อเสียงองค์หนึ่งแห่งวัดยางสุทธาราม บางกอกน้อย ธนบุรี ในอดีต พระอาจารย์เฉลิม เกตุแก้ว ที่วัดยางสทธาราม

หลวงพ่อเชื้อ วิสุทธสีโล วัดบางปะกอก เล่าว่า…เมื่อตอนเป็นเด็กอายุ ๑๒-๑๓ ปี ได้ติดตามพระจำรัส ประสารเกตุ พี่ชายของนายแจ่ม ประสารเกตุ (คนเก่าแก่ตำบลบางปะกอก) ไปหา หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค เพื่อขอของดีของท่านซึ่งกำลังเริ่มจะมีชื่อเสียง เมื่อเข้าไปถึงวัดก็เข้าไปกราบมนัสการท่าน

หลวงพ่อปาน จึงได้ถามว่ามาทำไม พระจำรัส ฯ จึงตอบว่ามาขอของดีจากหลวงพ่อท่านจึงได้ถามว่าอยู่กันที่ไหนล่ะ
พระจำรัสฯ จึงตอบว่าอยู่วัดบางปะกอก ธนบุรี หลวงพ่อปาน จึงบอกว่าไม่มีหรอกของดีที่นี่น่ะ พระภิกษุเชื้อฯ ตอนนั้นยังเป็นเด็กอยู่และยังไม่ได้บวชเรียน จึงพูดว่าที่หน้าหลวงพ่อมีตั้ง ๕ บาตรแน่ะ ท่านจึงหัวเราะและกล่าวว่าอยู่วัดบางปะกอกก็มีของอาจารย์ฉันอยู่แล้วนี่นา จะมาเอาของฉันทำไมอีก “หลวงพ่อพริ้งไงล่ะ” และท่านก็ได้มอบให้มาคนละ ๕ องค์ พร้อมกับฝากมาให้หลวงพ่อพริ้งอีกจำนวนหนึ่ง

เมื่อกลับมาถึงวัดก็มีมีความสงสัย เพราะหลวงพ่อปานท่านบอกว่าเคยเป็นลูกศิษย์หลวงพ่อพริ้ง แต่ทำไมเราไม่เคยเห็นหน้าสักที เราก็อยู่เป็นเด็กวัดมานาน จึงได้ถามหลวงพ่อพริ้งว่า “หลวงลุง หลวงพ่อปานเขาบอกว่าเคยเป็นลูกศิษย์ของหลวงลุง ผมไม่เคยเห็นหน้าสักที”

หลวงพ่อจึงกล่าวว่า เขาไม่ได้เป็นลูกศิษย์แบบเองนี่ เขามาเรียนกับข้าเพียงคืนเดียวเท่านั้น สอบถามต่อจึงได้ความว่าหลวงพ่อปานขณะนั้นมีอายุมากกว่า หลวงพ่อ ได้มาขอเรียนวิปัสสนาธุระ โดยบอกว่าทราบว่าอาจารย์สำเร็จวิปัสสนา ผมขอสมัครตัวเป็นศิษย์เพื่อเรียนด้วย เพราะเรียนมาหมดธูปเป็นกระบุงๆ แล้วไม่สำเร็จสักที หลวงพ่อจึงดำเนินการสอนให้ ซึ่งหลวงพ่อปานศึกษาเพียงคืนเดียวเท่านั้นก็สำเร็จ โดยบอกกับหลวงพ่อปานว่า “เอาละท่านเรียนสำเร็จแล้ว

◉ สมณศักดิ์
สมณศักดิ์สุดท้ายที่ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นพิเศษ ในราชทินนามที่ พระครูประศาสน์สิกขกิจ ในปี พ.ศ.๒๔๗๙

ไม่ว่าจะมีพิธีสำคัญที่ใดก็ตามจะต้องมีการนิมนต์หลวงพ่อพริ้งอยู่ด้วยเสมอ เช่น พิธีพุทธาภิเษกเหรียญหลวงพ่อมงคลบพิตร พ.ศ.๒๔๘๕ หรืองานหล่อพระรูปของสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ ณ วัดราชบพิธฯ หลวงพ่อจะได้รับนิมนต์ด้วย

◉ มรณภาพ
หลวงพ่อพริ้ง วัดบางปะกอก ท่านได้มรณภาพลงเมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๙๐ ในวันที่ท่านมรณภาพนั้นท่านได้ให้ลูกศิษย์ประคองท่านลุกขึ้นนั่ง แล้วท่านก็ประสานมือในท่าทำสมาธิ ครู่เดียวท่านก็มรณภาพลงอย่างสงบ สิริอายุได้ ๗๘ ปี

◉ ด้านวัตถุมงคล
หลวงพ่อพริ้ง วัดบางปะกอก ท่านได้สร้างวัตถุมงคลมากมายหลายชนิด ทั้ง พระเครื่อง เหรียญ และเครื่องรางของขลัง อาทิ พระผงใบลาน, ลูกอมเนื้อผง, ตะกรุด, ผ้ายันต์ ฯลฯ เพื่อแจกจ่ายแก่ศิษยานุศิษย์และผู้มาขอ ซึ่งได้สร้างชื่อเสียงอย่างมากในคราวเกิดสงครามอินโดจีน

เหรียญรุ่นแรก หลวงพ่อพริ้ง อินทโชติ ปี พ.ศ.2483
เหรียญรุ่นแรก หลวงพ่อพริ้ง อินทโชติ ปี พ.ศ.๒๔๘๓

วัตถุมงคลที่ได้รับความนิยม โดยเฉพาะ เหรียญปั๊มรุ่นแรก สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๘๓ ลักษณะเป็นเหรียญรูปไข่ หูเชื่อม ด้านหน้าเหรียญ ตรงกลางเป็นรูปเหมือนหลวงพ่อเต็มองค์นั่งเหนืออาสนะฐานสิงห์ สองข้างจารึกอักษรไทยว่า “พระครูวิสุทธิ์ศิลาจารย์ (พริ้ง)” ซึ่งเป็นสมณศักดิ์ที่ไม่ถูกต้อง เพราะสมณศักดิ์ที่ถูกต้อง คือ พระครูประศาสน์สิกขกิจ ซึ่งอาจเป็นความเข้าใจผิดของช่างผู้แกะแม่พิมพ์ก็เป็นได้ ส่วนใต้ฐานอาสนะนั่งเป็นปีที่สร้าง “พ.ศ.๒๔๘๓” ส่วนพิมพ์ด้านหลัง ตรงกลางเป็นพระพุทธรูปนั่งแสดงปางมารวิชัยเหนืออาสนะฐานบัว ด้านบนเป็นอักขระขอมอ่านว่า “นะ โม พุท ธา ยะ” พิมพ์ด้านหลังยังแบ่งออกเป็น ๓ พิมพ์ สังเกตที่พระพักตร์ของพระพุทธรูป คือ พิมพ์หน้าใหญ่เกศเปลวเพลิง พิมพ์หน้ากลางเกศตุ้ม และ พิมพ์หน้าเล็กเกศแหลม พุทธคุณ โดดเด่น ทั้งด้านแคล้วคลาด คงกระพันชาตรี และ เมตตามหานิยมครับผม

สำหรับนาม พระครูวิสุทธิ์ศิลาจารย์ ที่ปรากฏในเหรียญของท่าน เป็นนามสมณศักดิ์ หลวงพ่อวงศ์ วัดมะกอก อันมีที่ตั้งอยู่ในเขตและแขวงตลิ่งชัน สาเหตุที่ชื่อบนเหรียญผิดพลาดนั้นอาจมาจาก (วัดมะกอก กับวัดบางประกอก มีชื่อคล้ายกันมาก จนอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการสลับชื่อกัน เมื่อมีคนไปสั่งทำเหรียญ คนแกะเหรียญอาจจะดูในทำเนียบ และอาจจะสำคัญผิดว่าเป็นพระเถระรูปเดียวกัน) จัดเป็นเหรียญดีที่ ค่อนข้างจะหายาก

ขอขอบคุณข้อมูลจาก www.dharma-gateway.com