วันพฤหัสบดี, 24 ตุลาคม 2567

หลวงพ่อเนียม ธัมมโชติ วัดน้อย อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี

ประวัติและปฏิปทา
หลวงพ่อเนียม ธัมมโชติ

วัดน้อย
อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี

หลวงพ่อเนียม วัดน้อย อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี
หลวงพ่อเนียม วัดน้อย อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี

หลวงพ่อเนียม ธัมมโชติ พระเกจิอาจารย์แห่งสุพรรณบุรี เป็นที่นับถือโดยทั่วไป หนึ่งในอมตเถระแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ผู้ทรงพุทธาคมแก่กล้า

หลวงพ่อเนียม วัดน้อย พระเกจิชื่อดังแห่งจังหวัดสุพรรณบุรี นับเป็นหนึ่งในอมตเถระแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ผู้ทรงพุทธาคมแก่กล้า แม้ท่านจะละสังขารไปแล้วกว่า ๑๐๐ ปี แต่ชื่อเสียงเกียรติคุณยังคงปรากฏให้รำลึกถึงสืบมาชั่วลูกชั่วหลานจวบจนปัจจุบัน

◉ ชาติภูมิ
หลวงพ่อเนียม ธัมมโชติ เกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๓๗๒ ในรัชกาลที่ ๓ กรุงรัตนโกสินทร์ บิดาเป็น ชาวบ้านซ่อง ต.มดแดง อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี มารดาเป็นชาวป่าพฤกษ์ อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี ธรรมเนียมไทยฝ่ายชาย ที่เข้าสู่งานมงคลสมรส จะต้องไปอยู่บ้าน ฝ่ายหญิงก่อน

◉ อุปสมบท
การศึกษาสมัยนั้นไม่มีโรงเรียน จึงมีชีวิตคลุกคลีอยู่กับวัด เรียนอักขระขอมและภาษาบาลีจากวัดข้างเคียงที่ให้กำเนิดท่าน เมื่ออายุครบบวช เข้าพิธีอุปสมบท วัดใกล้บ้าน เมื่อประมาณ พ.ศ.๒๑๙๒

หลังอุปสมบท หลวงพ่อเนียม ธัมมโชติ เดินทางเข้าสู่เมืองบางกอก เพื่อศึกษาพระธรรมวินัย มูลกัจจายนสูตร วิปัสสนากัมมัฏฐาน และวิทยาคมจากสำนักต่างๆ ซึ่งไม่ปรากฏแน่ชัดเช่นกันว่าท่านพำนักอยู่ที่วัดใดและเป็นศิษย์สำนักใด บ้างก็ว่าอยู่วัดพระพิเรนทร์ บ้างก็ว่าวัดโพธิ์ วัดทองธรรมชาติ หรือวัดระฆังโฆสิตาราม

แต่ในสมัยนั้นถ้าจะกล่าวถึงพระเกจิ ผู้เชี่ยวชาญด้านวิปัสสนาต้องยกให้ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) วัดระฆังฯ, หลวงปู่ช่วง วัดรังสี (ปัจจุบัน รวมเป็นวัดเดียวกับวัดบวรฯ), หลวงปู่คำ วัดอัมรินทร์ และหลวงปู่จันทร์ วัดพลับ

หลวงพ่อเนียม วัดน้อย อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี
หลวงพ่อเนียม วัดน้อย อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี

พ.ศ.๒๔๑๒ กลับมาอยู่สุพรรณ หลังจาก ไปอยู่ในกรุงเทพฯ-ธนบุรี นานเกือบ ๒๐ ปี นับว่านานโข ในการกลับมาตอนต้น ท่านไม่ได้มาอยู่วัดที่ท่านอุปสมบท ขึ้นมาอยู่ที่ วัดรอเจริญ ต.บางปลาม้า อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี อยู่ได้ไม่นานเกิดขัดใจกับ เจ้าอาวาส จึงคิดจะไปจำพรรษาที่วัดป่าพฤกษ์ใกล้บ้านเกิด

ขณะนั้นวัดน้อย อ.บางปลาม้า สุพรรณบุรี ซึ่งอยู่เหนือวัดรอเจริญไม่ไกลเป็นวัดมีสภาพร้าง สิ่งก่อสร้างต่างๆ ที่ยังคงเหลืออยู่เพียงวิหารเก่าเท่านั้น ชาวบ้านมีความประสงค์จะบูรณะซ่อมแซม ให้พ้นสภาพวัดร้างขึ้นมาใหม่ จึงให้นายมวนและชาวบ้านแถบนั้น หาปัจจัยสร้างหอฉันให้ หลวงพ่อเนียมไม่ขัดศรัทธา ตกลงใจมาอยู่วัดน้อยตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา สรุปว่าพ้นจากสภาพการเป็นวัดร้าง ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๑๒ เป็นต้นมา

วัดน้อยมีสภาพดีขึ้นเป็นลำดับ มีพระภิกษุ-สามเณร มาจำพรรษามากขึ้นทั้งใกล้และไกล

หลวงพ่อเนียม ธัมมโชติ มีความชำนาญทางวิปัสสนาธุระ สำเร็จวาโยกสิณ มีอภิญญาสูงส่ง เป็นที่เคารพศรัทธาของสาธุชนทั่วหล้า แม้แต่สมเด็จ พระสังฆราช (แพ ติสเทโว) วัดสุทัศนเทพวราราม, หลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว และหลวงพ่อทับ วัดทอง ยอดพระเกจิชื่อดังยัง ให้ความเคารพนับถือ และมีพระเครื่องของท่านสะสมไว้

เป็นปรมาจารย์ของพระอมตเถระ หลายรูปอาทิ หลวงพ่อโหน่ง วัดคลองมะดันหลวงพ่อปาน วัดบางนมโค และหลวงพ่อสดวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เป็นต้น เชื่อว่าวิชาสายหลวงพ่อสด และวิชาสายหลวงพ่อฤๅษีลิงดำ มีต้นกำเนิดมาจากหลวงพ่อเนียม ที่รับช่วงกันมา

ยังเป็นผู้ที่มีความเมตตาต่อสัตว์เลี้ยง ท่านเลี้ยงแมว, สุนัข, ไก่, แม้กระทั่งงูเห่าก็เลี้ยงไว้ในกุฏิของท่านจึงเต็มไปแล้วมูลสัตว์ต่างๆ

ต่อมาในระยะหลัง ท่านไม่ค่อยได้ออกไปบิณฑบาต ด้วยเพราะชราภาพมากแล้ว ในขณะที่ท่านไปส้วมจะมีขันน้ำและข้าวสารไปด้วย โปรยข้าวสารไปตลอดทางจนถึงส้วมเพื่อให้ไก่กิน ออกจากส้วมกลับมาตามทางเดินโปรยข้าวสารที่เหลือให้ไก่กินจนหมด

หลวงพ่อเนียม วัดน้อย อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี
หลวงพ่อเนียม วัดน้อย อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี

◉ มรณภาพ
หลวงพ่อเนียม ธัมมโชติ นับเป็นยอดแห่งพระนักปฏิบัติธรรม ยอดแห่งวิปัสสนากรรมฐานและวิทยาคม จนพระเกจิอาจารย์มากมายดั้นด้นเข้าฝากตัวเป็นศิษย์ เปี่ยมด้วยเมตตาบารมี ท่านได้ถึงแก่มรณภาพ เมื่อวันที่ ๑๗ พฤษจิกายน พ.ศ.๒๔๕๒ สิริอายุรวม ๘๐ ปี พรรษา ๖๐

ในงานประชุมเพลิง สมเด็จพระสังฆราช (แพ) สมัยดำรงตำแหน่งพระธรรมโกศาจารย์ เจ้าคณะมณฑลนครชัยศรี และหลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว ยังได้มาร่วมงานด้วย