วันพฤหัสบดี, 24 ตุลาคม 2567

หลวงพ่อเฮง คงคสุวัณโณ วัดเขาดิน อ.เก้าเลี้ยว จ.นครสวรรค์

ประวัติและปฏิปทา
หลวงพ่อเฮง คงคสุวัณโณ

วัดเขาดิน
อ.เก้าเลี้ยว จ.นครสวรรค์

หลวงพ่อเฮง คงคสุวัณโณ วัดเขาดิน อ.เก้าเลี้ยว จ.นครสวรรค์
หลวงพ่อเฮง คงคสุวัณโณ วัดเขาดิน อ.เก้าเลี้ยว จ.นครสวรรค์

หลวงพ่อเฮง วัดเขาดิน จ.นครสวรรค์ พระเกจิชื่อดัง ต้นตำรับเครื่องรางงาแกะอันโด่งดัง ท่านยังเป็นพระอาจารย์ของหลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ จ.นครสวรรค์ อีกด้วย

◉ ชาติภูมิ
หลวงพ่อเฮง วัดเขาดิน ท่านเกิดเมื่อปี พ.ศ.๒๔๐๒ ที่บ้านมหาโพธิ์ ตำบลมหาโพธิ์ อำเภอเก้าเลี้ยว จังหวัดนครสวรรค์ โยมบิดาชื่อ โยมสังข์ โยมมารดาชื่อ โยมเปี่ยม พอหลวงพ่อเฮง เกิดมาครอบครัวก็มีฐานะดีขึ้นตามลำดับ โยมบิดามารดาจึงตั้งชื่อให้ว่า “เฮง” ท่านมีนิสัยเมตตาต่อสัตว์และชอบให้ทานแก่สัตว์มาตั้งแต่เด็กๆ ขนาดโยมบิดาให้ไปเฝ้านา ท่านเห็นนกมากินข้าวก็ยังไม่ยอมไล่ เพราะท่านถือว่าเป็นการให้ทานแก่นก หลวงพ่อเฮง วัดเขาดิน ท่านเป็นคนที่รักการศึกษา เมื่อมีเวลาว่างจะไปหาหลวงพ่อทับ วัดมหาโพธิ์ ซึ่งเป็นพระเกจิอาจารย์ที่โด่งดังในสมัยนั้น เพื่อให้สอนวิชาให้ คือวิชาแพทย์แผนโบราณ คชศาสตร์ และ วิทยาคมต่างๆ พออายุได้ ๑๒ ปี ท่านก็ขอโยมบิดามารดา บรรพชาเป็นสามเณร ที่วัดมหาโพธิ์ใต้ อยู่ได้ ๔ พรรษาก็ลาสึกออกมาช่วยบิดามารดาประกอบอาชีพ

หลวงพ่อเฮง คงคสุวัณโณ วัดเขาดิน อ.เก้าเลี้ยว จ.นครสวรรค์
หลวงพ่อเฮง คงคสุวัณโณ วัดเขาดิน อ.เก้าเลี้ยว จ.นครสวรรค์

◉ อุปสมบท
พออายุครบบวชในปี พ.ศ.๒๔๒๓ หลวงพ่อเฮง ท่านจึงได้อุปสมบท ที่วัดมหาโพธิ์ใต้ โดยมี พระครูกิ่ม เจ้าอาวาส วัดมหาโพธิ์ใต้ เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อบวชแล้วก็ได้ศึกษาพระธรรมวินัย ตลอดจนวิชาโหราศาสตร์ และ วิทยาคมต่างๆ อีกมากมายจาก พระอาจารย์กิ่ม และที่วัดมหาโพธิ์ใต้ ยังเป็นแหล่งรวบรวมวิชาการและตำราต่างๆ ไว้มากมาย อีกทั้งพระอุโบสถ ของวัดก็เป็นพระอุโบสถแบบมหาอุด ซึ่งเป็นที่ปลุกเสกเครื่องรางของขลังได้ยอดเยี่ยม และมีอายุเก่าแก่กว่า ๓๐๐ ปี วัดมหาโพธิ์ใต้ เป็นวัดที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำปิง จึงมีพระเกจิอาจารย์ที่ออกธุดงค์มาแวะพักอยู่เสมอๆ หลวงพ่อเฮง จึงได้รับการถ่ายทอดสรรพวิชาต่างๆ จากพระเกจิอาจารย์เหล่านั้นไปด้วย

ต่อมาหลวงพ่อเฮง ท่านก็ได้ออกธุดงค์ไปในป่าดงดิบต่างๆ ถึงพม่า เขมรและลาวหลายครั้ง และท่านก็เข้าใจธรรมชาติของสัตว์ป่าได้ดี และสามารถเรียกอาการ ๓๒ ของสัตว์ที่ตายแล้วให้มาเข้ารูปจำลองที่ได้สร้างขึ้นได้

เครื่องรางของขลังหลวงพ่อเฮง จากการที่หลวงพ่อเฮงท่านได้ธุดงค์ไปตามป่าเขาต่างๆ ท่านจึงได้รู้ว่างาช้างที่มีการทนสิทธิ์ในตัวเองมี ๒ ประเภทคือ งากำจัดและงากำจาย งากำจัดคืองาที่ช้างตัวผู้ตกมันแทงงาหักติดกับต้นไม้ และงากำจายคืองาที่ช้างตัวผู้ต่อสู้กันเพื่อแย่งชิงเป็นจ่าฝูง และแตกหักตกอยู่ในป่า เมื่อหลวงพ่อเฮง ท่านพบก็จะเก็บไว้เพื่อนำมาสร้างเป็นเครื่องรางของขลังต่อมา ซึ่งส่วนมากก็จะมาแกะเป็นรูป ตะกรุด เสือ คชสีห์ สิงห์ และหมู หลวงพ่อเฮงเป็นต้น

หลวงพ่อเฮง ได้กลับมาจากธุดงค์พอดีกับทางวัดว่างเจ้าอาวาส ท่านก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสปกครองวัดมหาโพธิ์ใต้ ในปี พ.ศ.๒๔๓๔ และได้เป็นพระกรรมวาจาจารย์

หลวงพ่อเฮง คงคสุวัณโณ วัดเขาดิน อ.เก้าเลี้ยว จ.นครสวรรค์
หลวงพ่อเฮง คงคสุวัณโณ วัดเขาดิน อ.เก้าเลี้ยว จ.นครสวรรค์

ต่อมา หลวงพ่อเฮง วัดเขาดิน ท่านก็ได้รับตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสปกครองวัดเขาดินควบคู่กันไปสองวัด เนื่องจากวัดทั้งสองตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำปิง ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กัน

ซึ่งวัดเขาดินนี้สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ท่านเคยเสด็จมาแวะพักตอนที่ท่านเสด็จประพาสต้นเมืองกำแพงเพชรทางชลมารค และพระองค์ได้ทรงบันทึกเป็นจดหมายเหตุไว้

ในปี พ.ศ.๒๔๔๙ ก็ได้เป็นเจ้าอาวาสปกครองถึง ๒ วัด คือวัดมหาโพธิ์ใต้และวัดเขาดิน ซึ่งอยู่สองฝั่งแม่น้ำปิง ต่อมาท่านก็ได้มาจำพรรษาอยู่ที่วัดเขาดินเนื่องจากทางวัดกำลังก่อสร้างศาลา การเปรียญอยู่ และได้มีเหตุการณ์ที่ทำให้ชาวบ้านเลื่อมใสมากก็คือท่านได้บอกกับชาวบ้านว่า ให้จัดทำปะรำพิธีต้อนรับที่วัดเขาดิน ชาวบ้านต่างไม่เข้าใจว่าให้สร้างทำไม และในวันที่ ๒๘ สิงหาคม พ.ศ.๒๔๔๙ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเสด็จประพาสต้นไปกำแพงเพชร ทางชลมารคได้จอดเรือพระที่นั่งแวะที่วัดเขาดินโดยไม่มีหมายกำหนดการ และชาวบ้านแถบนั้นไม่มีใครรู้

มีจดหมายเหตุของล้นเกล้ารัชกาลที่ ๕ บันทึกไว้ว่า
“เมื่อมาถึงวัดเขาดินได้ยินเสียงมโหรีและพระสวด เห็นเวลายังวันอยู่จึงได้คิดแวะถ่ายรูป แต่ชายหาดน้ำตื้นเรือใหญ่เข้าไปไม่ถึง ต้องลงเรือเล็กลำเลียงเข้าไปอีก เดินหาดร้อนเหลือกำลังทั้งเวลาก็บ่ายสี่โมงแล้ว ไม่ตั้งใจจะขึ้นเขา แต่ครั้นเข้าถ่ายรูปที่เขาแล้วเห็นวัด วัดตระเตรียมแน่นหนามาก จึงเลยไปถ่ายรูป ครั้นเข้าไปใกล้ดูคนตะเกียกตะกายกันหนักขึ้น จะต้องยอมขึ้นวัดๆ นี้มีเจ้าอธิการชื่อเฮง รูปพรรณสัณฐานดีกลางคนไม่หนุ่มไม่แก่ เป็นพระฝ่ายวิปัสสนาธุระ ที่คนจะนับถือมากเพิ่งมาจากวัดมหาโพธิ์ใต้ที่ฝั่งตรงกันข้ามได้ ๒ ปี แต่มีคนแก่สัปบุรุษและชาวบ้านหลายคนมาคอยอธิบายชี้แจงโน้นนี่ เจ้าอธิการว่าได้สร้างศาลาไว้หลังหนึ่งขัดเครื่องมุง จึงให้เงิน ๑๐๐ บาท ช่วยศาลานั้น แล้วสัปบุรุษทายกชักชวนให้เข้าไปดูในวัด ซึ่งเชื่อเสียแล้วว่าจะไม่มีอะไร แต่ทนเสียงอ้อนวอนไม่ได้ ครั้นเข้าไปถึงลานวัดเห็นวัดใหญ่โตมาก เป็นที่รักษาสะอาดหมดจดอย่างยิ่ง รู้สึกสบาย ถ่ายรูปแล้วพวกสัปบุรุษชวนให้ไปดูพระอุโบสถซึ่งอยู่บนเขา จึงรู้ว่ามีทางอีกทางหนึ่งสำหรับขึ้นมา มีบันไดอิฐขึ้นตลอดจะต่ำกว่าเขาบวชนาคสักหน่อยแต่ทางขึ้นง่าย ไม่ใช่เขาดินเป็นเขาศิลามีดินหุ้มอยู่แต่ตอนล่างๆ พวกสัปบุรุษพากันตักน้ำขึ้นไปไว้สำหรับให้กินจะให้อาบ โบสถ์นั้นรูปโปร่งเป็นศาลา ไม่มีฝา หลังใหญ่มีพระเจดีย์องค์หนึ่ง แต่ข้างหลังโบสถ์และดูภูมิที่งดงามดี คือมีบึงใหญ่เห็นจะเป็นลำเดียวกันกับบึงบ้านหูกวาง และเห็นเขาหลวงเมืองนครสวรรค์สกัดอยู่ ในที่สุดถ่ายรูปแล้วไล่เลียงเรื่องวัดนี้ ได้ความว่า พระครูหวาอยู่วัดมหาโพธิ์ใต้มาเริ่มสร้างได้ ๘๐ ปีมาแล้วได้ปฏิสังขรณ์ต่อๆ กันมา เจ้าอธิการได้เอาแหวนถักพิรอดมาแจก แหวนนั้นทำนองเดียวกับขรัวม่วงวัดประดู่ แต่ขรัวม่วงถักด้วยกระดาษลงรัก แต่นี่ถักด้วยด้ายทำเรียบร้อยดี”

ขณะที่อยู่ที่วัดเขาดิน การที่หลวงพ่อเฮงไปช่วยสร้างศาสนสถานที่วัดเขาดิน ท่านจึงปกครองทั้ง ๒ วัด คือวัดมหาโพธิ์ใต้และวัดเขาดิน ซึ่งอยู่ตรงกันข้ามฝั่งแม่น้ำถือว่าเป็นวัดพี่วัดน้องกัน หลวงพ่อเฮงท่านเป็นพระสมถะ กินง่ายอยู่ง่าย พบง่าย ชอบช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก ท่านโปรดที่จะฉันข้าวกับกล้วยน้ำหว้าสุกงอม กับน้ำปลา ปลาเค็ม ท่านเป็นที่รักเคารพและศรัทธาของชาวบ้าน

รูปเหมือนบูชา หลวงพ่อเฮง วัดเขาดิน อ.เก้าเลี้ยว จ.นครสวรรค์
รูปเหมือนบูชา หลวงพ่อเฮง วัดเขาดิน อ.เก้าเลี้ยว จ.นครสวรรค์

ต่อมาหลวงพ่อเฮง ท่านก็ปรารถนาที่จะกลับมาจำพรรษา ที่วัดมหาโพธิ์ใต้ และอยู่ตลอดเรื่อยมาจนท่านมรณภาพ ในเดือน ๑๒ พ.ศ.๒๔๘๕ สิริอายุรวม ๘๓ ปี พรรษา ๖๓

เครื่องรางของขลังที่มีชื่อเสียงของท่าน หลวงพ่อเฮง วัดเขาดิน ก็คืองาช้างแกะ เป็นรูปสิงห์ เสือ คชสีห์ ซึ่งในปัจจุบันหาได้ยากมาก สนนราคาสูงมากพอสมควร พุทธคุณเด่นทางด้านแคล้วคลาด คงกระพันชาตรี