วันอังคาร, 26 พฤศจิกายน 2567

หลวงปู่บุญยัง ผลญาโณ วัดป่าบ้านบาก ต.หนองอึ่ง อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ

ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่บุญยัง ผลญาโณ

วัดป่าบ้านบาก
อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ

หลวงปู่บุญยัง ผลญาโณ วัดป่าบ้านบาก อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ
หลวงปู่บุญยัง ผลญาโณ วัดป่าบ้านบาก อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ

หลวงปู่บุญยัง ผลญาโณ สมณะผู้มีข้อวัตรงดงามเอาจริงเอาจังอย่างเข้มงวด แห่งวัดป่าบ้านบาก ต.หนองอึ่ง อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ ท่านหลวงปู่บุญยัง ได้เคยฝึกอบรมสมาธิภาวนากับหลวงปู่บุญทัน ฐิตปัญโญ ตั้งแต่สมัยเป็นเด็กน้อยก่อนจะบวชเป็นสามเณร และออกวิเวกเดินธุดงค์อยู่รุกขมูล ติดตามปฏิบัติธุดงค์วัตรอย่างเข้มงวดเอาจริงเอาจังกับหลวงปู่นิน ญาณวีโร ผู้เป็นบิดา จากนั้นได้ไปศึกษาธรรมกับองค์หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน หลวงปู่จวน กุลเชฏโฐ หลวงพ่อทองพูล สิริกาโม เป็นต้น จนได้สัมผัสผลอันเป็นอุดมสุข ท่านหลวงปู่บุญยัง ถือกำเนิด ณ บ้านบาก จ.ศรีสะเกษ ได้ออกบวช ใช้ชีวิตในสมณะเพศส่วนใหญ่อยู่ในเขต จ.อุดรธานี และ จ.สกลนคร เพราะเป็นแหล่งที่มีครูอาจารย์ให้การอบรมสั่งสอนได้ดี และในบั้นปลายชีวิตจึงหวนกลับมาบ้านเกิดอีกครั้ง เพื่อให้การอบรมสั่งสอนแก่ญาติและประชาชนในบ้านเกิดของท่าน

• ชาติภูมิ
ท่านหลวงปู่บุญยัง ผลญาโณ ท่านถือกำเนิดที่บ้านบาก หมู่ที่ ๑๑ ต.หนองอึ่ง อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๒๘ เมษายน ๒๔๗๗ ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีจอ เวลาประมาณ ๑๓.๐๐ น. บิดาชื่อ “นายนิน กล่อมปัญญาวงค์” (ภายหลังบวชเป็นพระภิกษุ นาม หลวงปู่นิน ญาณวีโร) ท่านหลวงปู่บุญยัง ผลญาโณ มีพี่น้องร่วมท้องมาดาเดียวกัน ๕ คน ท่านเป็นบุตรคนที่ ๒ ท่านต้องภูมิย้ายลำเนาตามบิดามารดา ไปอยู่ที่บ้านดอนมนต์ ต.ร้อยทอง อ.สตึก จ.บุรีรัมย์

ขณะอยู่บุรีรัมย์นั้น มารดาของท่านได้ถึ่งแก่กรรมลง ซึ่งขนาดนั้นท่านมีอายุเพียง ๖ ขวบเท่านั้น หลังจากมารดาผู้เป็นที่รักยิ่งได้จากท่านพระอาจารย์ไป บิดาของท่านเห็นควรจะย้ายกับมาอยู่ถิ่นเดิมซึ่งมีญาติพี่น้องได้ช่วยดูแลให้ความอบอุ่นต่อจากมารดา ท่านได้เข้ารับการศึกษาเล่าเรียนจบประถม ๔ ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดของโรงเรียนในขนาดนั้น ส่วนครูที่สอนมีชื่อว่า ครูสิงห์ทอง แสงสิงห์ นั้นเป็นผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจในหลักศีลธรรมเป็นอย่างดี เนื่องจากเคยบวชเรียนมาก่อน และก็สามารถประพฤติเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับนักเรียนได้ นอกจากนี้ท่านมักจะมีโอกาสได้ไปพักกับ ครูสิงห์ทอง แสงทอง อยู่เสมอจึงทำให้มีธรรมะหล่อหลอมใจตั้งแต่เด็กทำให้ท่าได้ตั้งสัจจะวาจาไว้ว่า (๑) จะไม่สูบบุหรี่และกินหมาก (๒) จะไม่ดื่มสุรา (๓) จะไม่ลักเล็กขโมยสิ่งของของผู้อื่น ซึ่งท่านก็ได้ตั้งใจประพฤติปฏิบัติตั้งแต่วัยเยาว์จนกระทั่งถึงวันมรณภาพ ทั้งนี้ได้แสดงให้เห็นว่าท่านหลวงปู่บุญยังมีความตั้งใจจริงไม่ละเมิดสิ่งที่ตั้งใจเอาไว้ได้อย่างสมบูรณ์

• บรรพชาเป็นสามเณร
ปลายปี พ.ศ.๒๔๙๒ ขณะนั้นอายุเพียง ๑๕ ปี เมื่อได้เห็นสามเณรประยงค์ ผู้เป็นพี่ชายมารับจะพาไปบวช ศรัทธาที่มีต่อการบวชอันเป็นทุนเดิม บวกกับความเป็นจริงที่มีพี่ชายมารับจึงเป็นศรัทธาที่มีกำลังแรงอย่างยิ่ง ครั้งนี้ทำให้ท่านหลวงปู่บุญยัง เกิดอารมณ์ที่ไม่สามารถจะอธิบายได้ มองดูบ้านเรือนและชาวบ้าน เป็นเหมือนไม่ใช่บ้านไม่ใช่ที่ซึ่งตนเคยอยู่อาศัย และคิดว่าถ้าไปแล้วคงจะไม่ได้กลับมาอีก ทำให้ท่านสบายใจหมดห่วง หมดความกังวลในทุกสิ่งทุกอย่างที่มีอยู่ ท่านอาจารย์บุญยังเล่าว่า จิตใจของท่านเดินทางไปก่อนตัว เวลาเดินออกจากหมู่บ้านถูกผู้คนชาวบ้านทักทาย ก็รู้สึกเก้อเขิน ไม่รู้จะตอบจะพูดกับเขาว่าอย่างไร มันให้ความรู้สึกเบาๆ หวิวๆ อย่างบอกไม่ถูก คงจะเป็นเพราะมัวแต่นึกวาดภาพไปล่วงหน้า ทำให้จิตใจไม่อยู่กับเนื้อกับตัว อันนี้เป็นความรู้สึกของท่านที่มีต่อการออกบวช แม้ว่าจะอยู่ในวัยเด็กก็ตาม แต่ก็เห็นได้ชัดว่า ความรู้สึกนั้นเกิดขึ้นเพราะความปลาบปลื้มยินดี และเกิดขึ้นด้วยความสมหวังนั่นเอง
ช่วงนั้น หลวงพ่อนิน ญาณวีโร ผู้เป็นบิดา ได้มาตามแล้วจึงได้นำท่านไปยัง จ.สกลนครต่อไป การเดินทางในครั้งนั้น ต้องเรียกว่า เป็นการเดินจริงๆ คือเดินเท้าผ่าน จ.ร้อยเอ็ด จ.กาฬสินธุ์ ถึง อ.วาริชภูมิ ท่านได้แวะพักที่วัดป่าสุขุมวารี ในระหว่างที่ท่านหลวงปู่บุญยังเป็นศิษย์วัดอยู่นี้ ได้หมั้นประกอบความเพียรอยู่เนืองๆ พร้อมกับการศึกษาข้อวัตรอุปัฏฐากครูบาอาจารย์ไปด้วย ซึ่งท่านถือว่า เป็นช่วงของการฝึกฝนตนเอง ให้มีความรู้ความอดทน ความคล่องตัว สามารถปรับตัว ให้เข้ากับสภาพแวดล้อมในที่ต่างๆ ได้ ซึ่งการฝึกหัดนั้น ได้ใช้จริงๆ ไม่มีภาคทฤษฎี มีแต่ภาคปฏิบัติ ต้องอยู่ตามป่าตามเขา มีข้าวมื้อเดียวพอประทังชีวิตไปวันๆ หนึ่งเท่านั้น เพื่อหาความวิเวกสงบกายใจ สละสิ่งที่เป็นเครื่องผูกมัดดวงจิตทั้งสิ่งของและอารมณ์ที่ไม่ดี

ท่านพระอาจารย์เล่าว่า การเจริญภาวนาของท่าน ใช้คำบริกรรมว่า “พุทโธ” เป็นหลัก ปรากฏว่า ครั้งหนึ่งได้เกิดสมาธินิมิตขึ้น ในขณะทีท่านหลวงปู่บุญยัง นั่งในกุฏิ มีเสียงดังคล้ายกุฏิจะล้มลง มีเสียงร้องของสัตว์ป่าต่างๆ แต่ก็ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าความเกิดขึ้นนั้นเป็นอะไรกันแน่ ท่านบอกว่าขณะนั้น รู้สึกตกใจกลัวมาก คิดจะร้องให้พ่อช่วย แต่ได้สติขึ้นมา นึกถึงคำที่พ่อเตือนไว้เสมอ ๆ ว่า “ไม่ต้องกลัวอะไร ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม”

ท่านจึงเริ่มคลายความกลัวแล้วบริกรรม “พุทโธ” ต่อ พอท่านเริ่มบริกรรมพุทโธอีกเท่านั้น ก็เกิดความสว่างขึ้นมาเหมือนตอนกลางวัน สามารถมองเห็นไม้กระดานที่มุงกุฏิเหมือนอย่างลืมตาดู เนื่องจากท่านนั่งอยู่ในกลด จึงได้ใช้มือควานหามุ้ง เมื่อมือไปถูกกับมุ้งเข้า ความสว่างที่เกิดขึ้นนั้นก็หายไป กลับเข้าสู่ความมืดมิดตามปกติ ต่อมาท่านออกจากวัดสุขุมวารี หลวงพ่อนินได้พาท่านไปที่วัดป่าวีระธรรม บ้านอุ่มเหม้า อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร ในเวลาต่อมาท่านจึงได้มาบวชเป็นสามเณรที่วัดพุฒาราม อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร เมื่อวันที่ ๔ เมษายน พ.ศ.๒๔๙๔ ขณะนั้นท่านมีอายุได้ ๑๗ ปี โดยมี พระอธิการพุฒ ยโส (พระครูพุฒวราคม อดีตเจ้าคณะอำเภอสว่างแดนดิน) เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อบวชเสร็จแล้ว สามเณรบุญยัง ได้กลับไปอยู่ที่วัดป่าวีระธรรม บ้านอุ่มเหม้า อ.พรรณนานิคม จ.สกลนคร ตามเดิม

• อุปสมบทเป็นพระภิกษุ
ท่านได้อุปสมบทที่วัดป่าวีระธรรม บ้านอุ้มเหม้า อ.พรรณนานิคม จ.สกลนคร สถานที่อุปสมบทนั้นเป็น “สิมน้ำ” เป็นเขตแดนทำสังฆกรรม โดยมี หลวงปู่สีลา อิสฺสโร วัดป่าอิสระธรรม จ.สกลนคร เป็นพระอุปัชฌย์ พระอาจารย์บุญมี อินมุตฺโต เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์อินตา วรเทโว เป็นพระอนุสาวนาจารย์ เมื่อวันที่ ๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๙๘ ได้รับฉายาว่า “ผลญาโณ” ซึ่งแปลว่า “ผู้มีความรู้เป็นผล

หลวงปู่สีลา อิสสโร วัดป่าอิสระธรรม
หลวงปู่สีลา อิสสโร วัดป่าอิสระธรรม

• พรรษาที่ ๑ ปี พ.ศ.๒๔๙๘
หลังอุปสมบทแล้วท่านได้เดินทางกลับไปบ้านทรายมูล จ.ยโสธร สำนักเดิมคือวัดมังคราราม และได้เรียนนักธรรมเอกต่อไป แต่ในปีนั้นการสอบไม่ผ่าน หลังจากการสอบเสร็จก็รอคอยการคัดเลือกทหารอายุ ๒๒ ปี เมื่อเสร็จแล้วจึงได้เดินทางไป จ.มุกดาหาร

• พรรษาที่ ๒ ปี พ.ศ.๒๔๙๙
ออกวิเวกเรื่อยไป การเดินทางครั้งนั้นต้องผ่านดงบังอี่ อ.นิคมคำสร้อย จ.นครพนม (ปัจจุบันขึ้นกับ จ.มุกดาหาร) มีสามเณรมัจฉา กฤษณกาฬ เป็นเพื่อนร่วมเดินทางวัดป่าศรีลาวิเวก อ.มุกดาหาร จ.นครพนม เมื่ออยู่ที่วัดนี้ท่านได้ตั้งใจเริ่มศึกษาเล่าเรียนอย่างจริงจัง โดยเรียนนักธรรมชั้นเอกและบาลีไวยากรณ์ไปพร้อมกัน การเรียนบาลีไวยากรณ์ ได้เจ้าคุณมุกดาหารโมฬีเป็นอาจารย์สอน ในพรรษานี้ แม้ว่าท่านจะเรียนนักธรรมและบาลี ก็ไม่ละทิ้งการปฏิบัติกรรมฐาน ท่านยังปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอมิได้ขาด เพราะถือว่าการฝึกหัดดวงจิตให้มีคุณภาพ เป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับผู้กำลังศึกษาเพราะดวงจิตที่มีสมาธินั้น สามารถเรียนรู้ท่องจำได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากท่านต้องใช้ความเพียรทั้งในการเรียนและการปฏิบัติกรรมฐาน จึงทำให้มีเวลาพักผ่อนน้อย การทบทวนพระปฏิโมกข์ก็ต้องใช้เวลาว่างจากงานอย่างอื่น เช่น เวลาปัดกวาดบริเวณวัด ปรากฏว่าในพรรษานั้นร่างกายซูบผอมเห็นได้ชัด ในปีนั้นท่านสอบนักธรรมชั้นเอกได้ ส่วนบาลีไวยากรณ์นั้นปรากกฏว่าเรียนไม่จบได้หยุดไปกลางพรรษา

หลวงปู่บุญยัง ผลญาโณ วัดป่าบ้านบาก อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ
หลวงปู่บุญยัง ผลญาโณ วัดป่าบ้านบาก อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ

• พรรษาที่ ๓ ปี พ.ศ.๒๕๐๐
จำพรรษาที่วัดศาลาลอย จ.นครราชสีมา
เนื่องจากอุปนิสัยที่ไม่ชอบกับการอยู่ที่เดิมนานๆ จึงทำให้ท่านชอบเดินทางเที่ยวธุดงค์ไปยังสถานที่ต่างๆ ไม่เคยหยุดเพื่อหาความวิเวกและความสงบซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายที่สำคัญของท่าน ดังนั้นเมื่อท่านอยู่ที่วัดป่าศรีลาวิเวก อ.มุกดาหาร (ปัจจุบันเป็น จ.มุกดาหาร) ได้ ๑ ปีแล้ว ท่านก็ได้เดินธุดงค์ไปที่ จ.อุบลราชธานี จนถึง จ.นครราชสีมา การเดินธุดงค์ในสมัยนั้นเป็นการเดินธุดงค์ด้วยเท้าเปล่าตลอดทาง เมื่อถึงเวลาค่ำก็หาที่พักที่อาศัยซึ่งอยู่ใกล้บ้านคนพอจะบิณฑบาตในเวลาเช้าได้

จากนั้นก็เดินทางต่อไป จนกระทั่งมาถึงวัดป่าศาลาลอย อ.เมือง จ.นครราชสีมา และได้เริ่มเรียนบาลีไวยากรณ์ อีกครั้งหนึ่งที่วัดสุทธจินดาในตัวเมืองนคราชสีมานั้น พร้อมกับสามเณรมัจฉา (มหาประพัฒน์ กฤษณกาฬ) แต่ท่านเองไม่ต้องการจะสอบไล่ในสนามจึงไม่ได้เข้าสอบ พระราชพิศาลสุทธี (พระมหาโกศล) เป็นอาจารย์สอนไวยากรณ์
ในปีนั้นการปฏิบัติกรรมฐานได้ผลดีกว่าการเรียน เพราะสมาธิแน่วแน่กว่าปีก่อนๆ สิ่งนี้เองเป็นเหตุให้ท่านสนใจที่จะปฏิบัติกรรมฐานมากกว่าการเรียน

• เปลี่ยนคำบริกรรมภาวนา
การบริกรรมเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่ง เพราะถ้าหากไม่ถูกจริตนิสัยของผู้บริกรรมแล้ว การเจริญภาวนาก็จะไม่ได้ผล โดยปกติในปีก่อนๆ นั้น ท่านใช้คำบริกรรมว่า “พุทโธ” เป็นหลักมาโดยตลอด แต่มาปีนี้ท่านได้เปลี่ยนมาใช้การกำหนดลมหายใจเข้าออก (อานาปานสติ) แทน ซึ่งเมื่อเปลี่ยนมากำหนดอานาปานสติ แทนการบริกรรมว่า “พุทโธ” ก็ปรากฏว่า ได้ผลดี สามารถกำหนดลมหายใจเข้าออกที่ปรายจมูกได้อย่างเด่นชัด

• พรรษาที่ ๔ ปี พ.ศ.๒๕๐๑
จำพรรษาที่บ้านเหล่าใหญ่ วัดป่ามัชฌิมวงศ์ ต.หนองแชแล อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี
หลังจากนั้นท่านอาจารย์ได้ออกธุดงค์หาความวิเวกในสถานที่ต่างๆ ตามที่เคยปฏิบัติมา ท่านอยู่แต่ผู้เดียว มีอารมณ์เดียว คืออารมณ์ในการปฏิบัติธรรม เพราะท่านถือว่าการคลุกคลีกับหมู่คณะมากเกินไปนั้นทำให้อารมณ์ไม่มั่นคง มักหวั่นไหวเอนเอียงไปต่างๆ นานา บางทีก็ชัง บางทีก็รัก ยากที่จะหักห้ามใจไม่ยึดไม่เหนี่ยวได้
ท่านบอกว่า ความสุขที่เกิดจากการอยู่คนเดียวนั้น เป็นความสุขที่ยากที่อธิบาย มันเป็นอิสระเสรีที่หายาก แต่คนส่วนมากแล้ว มักจะติดใจสนใจแต่ความสุขที่เกิดจากการคุกคลียิ่งเพื่อนฝูงมากเท่าไรยิ่งดี จะได้มีเวลาสนุกสนานเฮฮาได้เติมที่ คิดถึงแต่เพื่อนการได้พูดคุยกัน การได้อยู่ใกล้ชิดสนิทสนมกันทำให้เกิดความสุข แท้ที่จริงแล้วหารู้ไม่ว่า เมื่อไม่ได้คุยกัน เมื่อไม่ได้เห็นหน้ากัน เมื่อยามต้องพลัดพรากจากกันเป็นความทุกข์ที่ได้รับที่จะตามมาเป็นสิบๆ เท่า

• พรรษาที่ ๕ ปี พ.ศ.๒๕๐๒
จำพรรษาที่ วัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี
เมื่อออกจากวัดอรุณรังสี จังหวัดหนองคาย ท่านอาจารย์ก็เดินทางไปที่วัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี เพื่อเข้ารับการอบรมทางจิตกับท่านพระอาจารย์มหาบัว ญาญสัมปันโน นอกจากนั้นยังมีคุณโยมชีแก้ว เสียงล้ำ เป็นผู้ช่วยในการอบรมอีกด้วย แม่ชีผู้นี้เป็นผู้มีคุณธรรมสูง สามารถรู้ผลการปฏิบัติล่วงหน้าได้ สามารถทายจิตใจของผู้อื่นได้ เพราะฉะนั้น จึงช่วยท่านพระอาจารย์มหาบัวอบรมพระ-เณรได้เป็นอย่างดี

ในพรรษานั้นจิตเป็นสมาธิขึ้นมาบ้าง แต่กลับเสื่อมลง ถึงแม้ว่าจะได้อาจารย์ผู้อบรมดี แต่ท่านก็ไม่สามารถอยู่ที่วัดได้นาน เพราะดินฟ้าอากาศไม่ถูกกับธาตุขันธ์ของท่าน ทำให้สุขภาพร่างกายไม่สบายอยู่ตลอดเวลา หลังจากออกพรรษาแล้ว ท่านจึงกราบลาพระอาจารย์มหาบัวไปเที่ยววิเวกที่ ถ้ำจันทร์ จ.หนองคาย (ปัจจุบันคือ อ.โซ่พิสัย จ.บึงกาฬ)

• พรรษาที่ ๖ ปี พ.ศ.๒๕๐๓
จำพรรษาที่ถ้ำจันทน์ อ.บึงกาฬ จ.หนองคาย (ปัจจุบันคือ อ.โซ่พิสัย จ.บึงกาฬ)
การหาความวิเวกที่ถ้ำจันทน์ เนื่องจากท่านได้ยินท่านพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ วัดภูทอก เล่าให้ฟังว่า ที่ถ้ำจันทน์นั้นเป็นสถานที่เหมาะแก่การบำเพ็ญเพียนภาวนา อากาศเย็นสบายเต็มไปด้วยสัตว์ป่านานาชนิด ท่านก็ได้คิดอยากไปดู จึงตกลงใจออกเดินทางไปกับท่านพระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ

เมื่อไปถึงถ้ำจันทน์ ท่านพระอาจารย์จวนบอกว่า ถ้าอยากพบสัตว์ป่า ให้ไปดักที่ลานหิน วันหนึ่งท่านได้ยินเสียงหมีออกหากิน แต่ตัวท่านเองสำคัญไปว่าเป็นเสียงช้าง ตอนนั้นท่านว่าเราคึกคะนองอยากเห็นช้างมากที่สุด จึงออกไปดูเป็นเวลาดึกแล้ว ไฟก็ไม่ได้ถือไปด้วย ท่านได้ยืนรออยู่ที่ทางมันจะมา รออยู่ก็ยังไม่เห็นตัวจึงเดินเข้าไปใกล้ๆ ทีนี้มันก็ได้กลิ่นคนสูดเอากลิ่นอย่างแรง และตรงเข้ามาหาตัวท่านเลย แต่ก็ไม่ได้ทำอันตราย เพราะท่านอาจารย์ได้หลบไม่ให้มันเห็นตัว จากนั้นท่านก็เดินกลับที่พัก ท่านพักอยู่ที่ถ้ำจันทน์นาน ในช่วงเวลาเดือนหงาย ป่าเขาก็สว่างไสวไปทั่วทุกหนแห่ง

ท่านอาจารย์เล่าว่า วันหนึ่งขณะที่ท่านเดินจงกรรมอยู่นั้น ก็พลันได้ยินเสียงช้างโขลงหนึ่ง ซึ่งเข้าใจว่าต้องมีจำนวนมาก เพราะส่งเสียงเอ็งอึงไปหมด ท่านก็ได้เดินออกจากที่เดินจงกรม โดยตั้งใจว่าจะไปดูช้างให้เห็นสักที พอออกจากที่ไปยืนสงบนิ่งอยู่ ตอนแรกท่านคิดว่าใครเอาผ้าขาวมาตากทิ้งไว้ จนกระทั่งมันไหวตัว จึงรู้ว่าเป็นช้าง ท่านอาจารย์เล่าว่า เมื่อรู้ว่าเป็นช้าง จึงได้ปรบมือทำเสียงเพื่อไล่มัน ช้างมันตกใจกลัว ร้องให้สัญญาณแก่ลูกน้องของมันให้วิ่งหนีไปหมดทั้งฝูง

ท่านอาจารย์ได้มาอยู่ที่นี่และได้เรียนรู้นิสัยของช้างอยู่นานจึงอ่านใจมันออก เมื่อรู้อย่างนี้ก็ทำให้เกิดความกล้าหาญ รู้จักหลบหลีกอันตรายที่เกิดจากช้าง โดยปกติของช้างนั้น ปีหนึ่งจะมีการรวมตัวกันครั้งหนึ่ง ซึ่งเรียกกันว่า “ช้างรวมโขลง” เมื่อรวมเสร็จแล้ว ก็ออกเดินเรียงหน้ากันไปตามป่า ในที่สุดก็แยกย้ายกันไป เมื่ออยู่นานเข้า ท่านก็ได้สังเกตเสียงร้องของช้าง ซึ่งมีสำเนียงและความหมายแตกต่างกันออกไป ท่านอาจารย์ได้สรุปเสียงร้องของช้างไว้ดังนี้
(๑.) เสียงสัญญาณให้วิ่งหนี โดยปกติของช้าง ไปไหนมักจะมีหัวหน้าโขลงตามไป เมื่อเห็นภัยที่น่ากลัว หัวหน้าก็จะร้องให้สัญญาณหลบภัย โดยร้องเสียงดัง “เก๊ก”ครั้งเดียวสั้นๆ เมื่อได้ยินเสียงนี้ ทุกตัวจะออกวิ่งพร้อมกันทั้งหมด
(๒.) สัญญาณให้ระวังตัว เมื่อมันเห็นสิ่งที่แปลก เช่น แสงไฟ หรือคน มันจะร้องเสียงเบาๆ พอให้ลูกฝูงได้ยินเท่านั้น เมื่อลูกฝูงตัวที่อยู่ใกล้ได้ยินก็จะร้องครางต่อๆ กันไป เป็นสัญญาณระวังตัว ไม่ใช่สัญญาณให้หนี
(๓.) เสียงคำรามหรือขู่คน ช้างเป็นสัตว์ที่ฉลาด เมื่อมันจะเข้าไปกินพืชผักของผู้คนซึ่งปลูกเอาไว้ในบริเวณนั้น มันก็จะร้องครางกระหึ่ม เพื่อทดลองดูว่าจะมีคนได้ยินไหม โดยปกติของชาวไร่ ถ้าได้ยินเสียงช้างก็จะยิ่งปืนไล่ทันที เมื่อมันได้ยินเสียงปืนก็เดินหนีไม่เข้าไป แต่อีกสักพักหนึ่งก็จะเดินกลับมา แล้วทำเสียงทดลองอีก ถ้าคนไม่เผลอมันก็จะไม่เข้าไป แต่ถ้าเผลอตัวเมื่อไหร่ พืชผักในไร่ก็ถูกมันกัดกินทำลายจนหมด
(๔.) เสียงร้องสนุกสนาน ช้างเมื่อกินอิ่มหนำสำราญแล้วก็จะเล่นกัน โดยเฉพาะช้างตัวเล็กๆ ที่ตามแม่ไป จะหยอกกล้อกัน ส่งเสียงร้องอย่างสนุกสนานนี้ เหมือนกับเสียงของลูกสุนัขที่หยอกล้อกัน
(๕.) เสียงร้องสัญญาณเมื่อได้กลิ่นคน เมื่อได้กลิ่นคน ช้างที่เป็นหัวหน้าโขลงก็จะร้องเสียงดังเหมือนคนเป่าหวอดหรือกระบอกไม้ไผ่ โดยสัญชาตญาณแล้วช้างเป็นที่จมูกไวต่อกลิ่น หูไวต่อเสียงมาก แต่ทุกอย่างก็เป็นไปเพื่อป้องกันภัยที่จะเกิดแก่ตัวเอง ซึ่งต่างจากคน “ถ้าหากว่ายิ่ง ตา หู จมูก ไวต่อรูปเสียงและกลิ่น เป็นต้น ที่เกิดขึ้นพียงไร ภัยที่จะตามมาก็เพียงนั้น”
(๖.) เสียงร้องหวงถิ่น เนื่องจากช้างมีเขตแดนในการหากินเฉพาะฝูงของตัวเอง จะอยู่เฉพาะเขตแดนถิ่นที่ตนเคยอยู่อาศัยเท่านั้น แต่ถ้าเกิดวันใด อยากจะไปหากินที่อื่นบ้าง จ่าโขลงก็จะร้องคำรามเพื่อขู่โขลงอื่นเอาไว้ จากนั้นจึงจะพากันออกหากิน

• พรรษาที่ ๗ ปี พ.ศ.๒๕๐๔
จำพรรษารูปเดียวที่ภูวัว อ.บึงกาฬ จ.หนองคาย (ปัจจุบันคือ อ.เซกา จ.บึงกาฬ)
เมื่อถึงฤดูแล้ง แม้จะร้อนบ้าง แต่ก็เป็นช่วงเวลาที่เหมาะแก่การเที่ยววิเวกออกธุดงค์กรรมฐานไปตามป่าเขาได้ เพราะไม่ต้องลำบากกับลมฝนที่จะเกิดขึ้น ดันนั้นในปีนี้ท่านจึงมุ้งหน้าไปทาง อ.บึงกาฬ ไปเรื่อยไปจนถึง ถ้ำฝุ่น ภูวัว ภูลังกา อ.บ้านแพง จึงได้พักทำความเพียรอยู่ที่นั้น

ในการธุดงค์ครั้งนี้ ได้ ท่านอาจารย์ทองพูล สิริกาโม (วัดภูกระแต) เป็นหัวหน้า เป็นผู้ให้การอบรม ต่อมาท่านเห็นว่า การอยู่รูปเดียวนั้นเป็นอิสระไม่คุกคลีกับหมูคณะอันจะทำให้เกิดอารมณ์ที่เป็นอกุศล ท่านมั่นใจว่าแม้อยู่คนเดียวก็สามารถเอาตัวรอดได้ การปฏิบัติที่ได้เคยอบรมมาจากครูอาจารย์นั้นก็เข้าใจลึกซึ้งพอสมควร ด้วยความเชื่อมั่นในตัวเองอย่างนี้ เมื่อจวนจะเข้าพรรษา ท่านจึงได้ขอแยกจากคณะที่มาด้วยกัน ไปจำพรรษาอยู่แต่เพียงผู้เดียว ที่วัดบ้านดอนวังแคนแถบชายเขตภูวัว ที่จงกรมในร่มไม่มี ต้องเดินตากตลอดวันก็มี ในพรรษานั้น ท่านได้ประกอบความเพียรอย่างหนัก การพูดคุยนั้นแทบจะไม่มีเลย เพราะไม่รู้จะไปพูดคุยกับใครนอกจากชาวบ้านที่ท่านได้อาศัยบิณฑบาตเลี้ยงชีพ การอยู่ในที่นั้นเป็นการอยู่เพื่อปฏิบัติธรรมจริงๆ เพราะงานที่จะต้องพัฒนาในด้านอื่นไม่มี นอกจากการอบรมจิตของตัวเองให้มีคุณภาพ ซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายสำคัญของท่าน ชาวบ้านเขาจัดให้คนไปส่งอาหารวันละหนึ่งคนเท่านั้น การเจริญกรรมฐานในพรรษานั้น ปรากฏมีธรรมะผุดขึ้นมาสอนใจอยู่บ่อยๆ คิดอะไรก็มักจะเป็นธรรมไปหมด

• พรรษาที่ ๘ ปี พ.ศ.๒๕๐๕
จำพรรษาที่วัดป่าศรีไพรวัลย์ จ.สกลนคร
ปัญหาสำหรับท่านอีกเรื่องหนึ่งคือ เรื่องสุขภาพร่างกาย ซึ่งไม่ถูกกับดินฟ้าอากาศ และเนื่องจากการเป็นอยู่ในภูเขาดงดิบอันเต็มไปด้วยไข้ป่า ก็มักจะไม่สบายขึ้นมาทันที การเป็นอยู่ในภูเขาดงดิบอันเต็มไปด้วยไข่ป่า เมื่อออกพรรษาแล้ว ท่านเห็นว่าควรจะเดินทางไปหา ท่านพระอาจารย์ทองพูล สิริกาโม และ ท่านอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ เพราะท่านได้ถือเอาท่านทั้งสองรูปเป็นอาจารย์ผู้ให้การอบรมกรรมฐานมาโดยลำดับ
เมื่อถึงฤดูการเข้าพรรษาท่านพระอาจารย์ทองพูลได้จัดให้ท่านไปจำพรรษาที่วัดป่าศรีไพรวัลย์ บ้านเดื่อศรีคันไชย อ.วานรนิวาส จ.สกลนคร ปรากฏว่าในพรรษานั้นท่านได้รับเชื้อไข้ป่าและป่วยตลอดพรรษาไม่สามารถจะทำความเพียรได้เต็มที่ ถึงกระนั้นก็ยังได้สอนนักธรรมกับสามเณรที่เข้าร่วมพรรษาด้วย

• พรรษาที่ ๙-๑๐ ปี พ.ศ.๒๕๐๖ – ๒๕๐๗
จำพรรษาที่หนองปิง จ.ศรีสะเกษ
เนื่องจากท่านได้ทราบข่าวว่า หลวงพ่อนิน ญาณวีโร ซึ่งเป็นบิดาของท่านไม่สบาย และในขณะนั้นได้พักอยู่ที่วัดป่านิโครธาราม บ้านหนองบัวบาน จ.อุดรธานี กับ หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ เมื่อออกพรรษาแล้ว ท่านจึงได้รีบเดินทางไปหาทันที เมื่อไปถึง ท่านได้พิจารณาเห็นว่าควรจะพากลับไปรักษาตัวที่ศรีสะเกษบ้านเกิด เพื่อจะได้รับความสะดวกเกี่ยวกับการรักษา ดังนั้น ท่านอาจารย์สุพัฒน์ สุขกาโม จึงได้นำหลวงปู่นิน กลับที่ศรีสะเกษ และได้พักจำพรรษาที่วัดป่าหนองปิง บ้านหนองครก อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ

ส่วนท่านพระอาจารย์สุพัฒน์ สุกาโม ท่านได้กลับไปที่ จ.อุดรธานี ก่อนเข้าพรรษา ท่านพระอาจารย์จึงต้องดูแลรักษาปฏิบัติหลวงปู่นิน อยู่ที่นั้นถึง ๒ พรรษาติดต่อกัน ซึ่งนอกจากได้อุปัฏฐากผู้มีพระคุณแล้ว ท่านก็ยังให้การอบรมปลูกนิสัยที่ดีให้กับหนุ่มสาว ชาวบ้านที่อยู่บริเวณใกล้เคียง ซึ่งเรื่องนี้ไม่ว่าท่านจะไปอยู่ที่ไหน ท่านให้ความสนใจในการอบรมกุลบุตรลูกหลานคนหนุ่มสาวอยู่เสมอ เพราะท่าถือว่าคนเหล่านี้ต่อไปจะเป็นผู้รับผิดชอบ ทุกสิ่งทุกอย่างแทนพ่อแม่ เป็นผู้สืบสกุล ถ้าเขาเป็นคนดีตั้งแต่เวลายังเป็นหนุ่มสาว ก็เป็นอันเชื่อได้ว่า ความดีจะต้องฝังอยู่ในใจเขาตลอดไป แม้เป็นพ่อแม่ของคนมีลูกหลานก็สามารถอบรมสั่งสอนลูกหลานนั้นให้เป็นคนดีได้ตามแนวทางที่ตนเคยอบรมมา

• พรรษาที่ ๑๑ ปี พ.ศ.๒๕๐๘
จำพรรษาที่วัดป่าประชาอุทิศ จ.สกลนคร
เมื่อหลวงพ่อนิน หายดีแล้ว ท่านจึงเห็นว่าควรจะหาโอกาส เที่ยววิเวกบ้าง เพราะการอยู่ในที่แห่งเดียวนานถึง ๒ ปีติดกันนั้นเป็นครั้งแรกที่ท่านเคยอยู่ โดยปกติแล้วท่านจะไม่จำพรรษาในที่แห่งเดียวซ้ำกัน แต่ก็เพื่อทำประโยชน์ช่วยปฏิบัติดูแลผู้มีพระคุณ ท่านจึงต้องอยู่

เมื่อถึงฤดูแล้ง ท่านก็เดินทางไปที่ จ.สกลนคร ตามเดิมเพราะสถานที่สกนครนั้นมีครูบาอาจารย์อบรมสอนกรรมฐานอยู่มาก สถานที่ภูเขาก็เหมาะแก่การประกอบความเพียร มีความสงบวิเวกดี คือสะดวกสบายทั้งบุคลและสถานที่
ในปีนี้ท่านได้จำพรรษาที่วัดป่าประชาอุทิศ บ้านดงม่วงไข่ อ.พรรณานิคม จ.สกลนคร(ปัจจุบันเป็น อ.พังโคน) ในพรรษานั้น ท่านอาจารย์ได้ทำความเพียรอย่างเต็มที่ จนมีธรรมะผุดขึ้นสอนใจอยู่ตลอดเวลา เช่น มีพระพุทธภาษิตและที่เป็นคำสอนของพระอาจารย์ต่างๆ อย่างเช่นครั้งหนึ่ง ท่านได้นิมิตว่า ท่านพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร มาสอนกล่าวเป็นภาษิตว่า “ชีวสุตฺตํ เอกํ มม” หมายความว่า ศึกษาให้ความรู้ในเรื่องชีวิตของตัวเองดีกว่า เพราะชีวิตของตัวเองนั้น สำคัญยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด รู้ตัวเองก่อนจึงค่อยสั่งสอนคนอื่น

เนื่องจากที่วัดนี้เป็นป่าช้า ท่านจึงมักพบภูตผีบ่อยๆ แต่ก็ไม่แสดงออกมาให้เห็นชัด เป็นแต่เพียงได้สัมผัสทางกายบ้าง ทางจมูกบ้าง บางครั้งเวลาท่านเดินจงกรมอยู่ รู้สึกว่ามีอะไรสักอย่างหนึ่งเดินตัดหน้า บางครั้งก็เหมือนมีใครเดินตามไปมา บางครั้งก็ได้กลิ่น แต่ท่านก็ไม่รู้สึกว่ากลัวอะไร เพราะเมื่อความกลัวเกิดขึ้นท่านก็จะเข้าป่าช้าพิจารณาอยู่อย่างนั้นไม่ไปไหน ท่านพยายามฝึกหัดตนอยู่เช่นนี้จนหายกลัว สิ่งเหล่านี้นับว่าช่วยท่านให้ตั้งใจบำเพ็ญภาวนาอย่างมาก ทำให้ท่านมีดวงจิตมั่นคง มีสติอยู่กับตัวเองตลอดเวลา จนกระทั่งท่านเกิดความมั่นใจในเพศบรรพชิตของตนอย่างมาก

• พรรษาที่ ๑๒-๑๓ ปี พ.ศ.๒๕๐๙ – ๒๕๑๐
จำพรรษาที่วัดป่าประสิทธิ์สามัคคี จ.สกลนคร
หลังจากนั้น ท่านได้เดินทางไปที่วัดป่าประสิทธิ์สามัคคี บ้านต้าย อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร ซึ่งได้เริ่มก่อสร้างขึ้นมาใหม่ โดยการิเริ่มของ ท่านพระอาจารย์บุญ ชินวังโส กับชาวบ้าน เสนาสนะที่อยู่อาศัยยังไม่ถาวรมีน้อย เนื่องจาก ท่านได้นำหลวงพ่อนิน ญาณวีโร มาคอยดูแลอุปัฏฐากอยู่ที่นี่ด้วยดังนั้นจึงตกลงใจจำพรรษา ณ วัดป่าประสิทธิ์สามัคคี ท่านได้เก็บศพของหลวงพ่อนิน ญาณวีโร ไว้ก่อน เพราะยังไม่พร้อมที่จะทำฌาปนกิจ
เมื่อออกพรรษาแล้ว ท่านเห็นว่าเป็นเวลาที่เหมาะสมแก่การฌาปนกิจศพหลวงพ่อนิน จึงได้บอกญาติโยมและเรียนพระเถรานุเถระในถิ่นนั้นทราบ ซึ่งงานก็ได้สำเร็จไปด้วยดี ด้วยความช่วยเหลือของเพื่อนสหธรรมิกและอุบาสกอุบาสิกา โดยเฉพาะ ท่านพระอาจารย์อาจารย์สุพัฒน์ สุขกาโม เดิมท่านจำพรรษาที่วัดถ้ำกลองเพลอยู่กับ หลวงปู่ขาว อนาลโย เมื่อเสร็จงานแล้ว ท่านอาจารย์จึงได้นิมนต์มาอยู่จำพรรษาที่วัดป่าประสิทธิ์สามัคคี เพื่อช่วยธุระในการอบรมพระภิกษุสามเณรและกุลบุตรหนุ่มสาวในหมู่บ้านนั้น

หลวงปู่บุญยัง ผลญาโณ วัดป่าบ้านบาก อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ
หลวงปู่บุญยัง ผลญาโณ วัดป่าบ้านบาก อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ

เมื่อจำพรรษาในปีนี้ เนื่องจากไม่ต้องกังวลกับงานอะไรมาก ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้างพัฒนาเสนาสนะ ก็ได้พระอาจารย์สุพัตน์ สุขกาโม เป็นผู้ช่วยอีกแรงหนึ่ง ท่านจึงมุ่งมาเพื่อการทำประโยชน์ตนให้มาก ในขณะเดียวกัน แม้ว่าท่านจะได้ประโยชน์ตน ก็ได้ทำประโยชน์ส่วนร่วมอย่างอื่น โดยเฉพาะการอบรมหนุ่มสาวในหมู่บ้านใกล้เคียง จัดอบรมเป็นรุ่นๆ เพื่อให้รู้ขนบธรรมเนียมประเพณี ข้อวัตรปฏิบัติ ตลอดถึงธรรมะในการครองเรือน การดำเนินชีวิตโดยมีจุดมุ่งหมาย คือ ให้คนหนุ่มสาวแต่ละบ้านได้รู้จักมักคุ้นกัน มีความสามัคคีกัน และเพื่อปลูกฝังคุณธรรมในจิตใจของคนหนุ่มสาว ให้เข้าใจในพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง

• พรรษาที่ ๑๔ ปี พ.ศ.๒๕๑๑
จำพรรษาที่วัดป่าคำหวายยาง จ.ขอนแก่น
เนื่องจากท่านพระอาจารย์คิดว่า เยาวชนของชาตินั้นเป็นทรัพยากรที่หายาก ไม่ว่าท่านจะไปอยู่ในถิ่นใด ท่านจึงได้มุ่งอบรมหนุ่มสาว หลังจากที่ท่านได้ออกธุดงค์ไปในหน้าแล้ง ในปีนี้ก็ได้เข้าจำพรรษาที่วัดคำหวายยาง ต.ป่าหวายนั่ง อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น ซึ่งในพรรษานั้นมีพระภิกษุ จำพรรษาด้วยกัน ๑๕ รูป โดยมีหลวงปู่อ้น เป็นประธานสงฆ์และเป็นผู้ให้การอบรม ท่านอาจารย์ได้เที่ยวธุดงค์อยู่ในเขต จ.ขอนแก่นอยู่นาน โดยเฉพาะเขต อ.ภูเวียง อากาศดี สัปปายะเหมาะแก่การบำเพ็ญเพียรอย่างยิ่ง

• พรรษาที่ ๑๕ ปี พ.ศ.๒๕๑๒
จำพรรษาที่ วัดป่าภูวังงาม จ.อุดรธานี
ออกจากขอนแก่น ท่านก็ได้เดินธุดงค์ไปในสถานที่ต่างๆ จนกระทั้งมาถึงวัดป่าภูวังงาม ซึ่งก่อนหน้านั้นยังไม่เป็นวัด ท่านอาจารย์เห็นว่าเหมาะแก่การบำเพ็ญเพียร เพราะอากาศดีป่าโปร่ง เป็นภูเขาไม่ใหญ่เกินไป ชาวบ้านก็ให้การสนับสนุนดี ทั้งยังตั้งอยู่ไม่ไกลจากหมู่บ้าน หมู่บ้านที่ตั้งอยู่ใกล้ที่สุดคือ บ้านคำเลาะ อ.หนองหาน (ปัจจุบันเป็นอำเภอไชยวาน จ.อุดรธานี) ท่านจึงคิดสร้างเป็นสำนักสงฆ์อย่างถาวร

ในระยะแรกนั้น เป็นแต่เพียงปลูกศาลาที่ฉันไว้เชิงภูเขา เพราะการจะขึ้นภูเขานั้น เป็นการลำบาก ตอนเช้าท่านและพระภิกษุสามเณรจะลงมารวมกันที่ศาลาเชิงเขา เพื่อออกบิณฑบาต ฉันเช้าเสร็จ จึงจะขึ้นไปที่พักซึ่งอยู่บนเขา ต่อมาก็ได้มีการพัฒนาขึ้น โดยทำทางขึ้นไปบนเขาซึ่งรถยนต์สามารถขึ้นลงได้ มีกุฏิถาวร มีถังน้ำฝนขนาดใหญ่ เพราะเมื่อก่อนออกจะกันดานน้ำ ท่านอาจารย์จึงคิดหาหนทาง แก้ไขโดยการสราถังน้ำขึ้นมา ต่อมาได้สร้างพระเจดีย์ไว้บนยอดเขา ท่านอาจารย์เมื่อรู้ว่าอยู่ในที่นี้ ปรากฏว่าสามารถทำความเพียรได้อย่างดี มีกำลังใจสูง ท่านเล่าว่านิมิตเกิดขึ้นบ่อยๆ และสามารถบอกเหตุการณ์ล่วงหน้าต่างๆ ได้อย่างแม่นยำด้วย

• พรรษาที่ ๑๖ ปี พ.ศ.๒๕๑๓
จำพรรษาที่วัดป่าประสิทธิ์สามัคคี จ.สกลนคร
ท่านอาจารย์อยู่ที่วัดป่าภูวังงามได้ ๑ ปี ก็ไปอยู่ที่อื่น เพราะท่านมีความคิดว่าการอยู่ในที่แห่งเดียวนานเกินไป มักจะทำให้ติดสถานที่ ไม่อยากไปไหน เพราะเห็นแก่ความสะดวกสบาย อันเป็นกิเลสอย่างหนึ่งที่สำคัญมาก ไม่ว่าจะไปไหนก็ตามก็จะมัวพะวงห่วงอยู่ตลอดเวลา เมื่อดวงจิตมีห่วงมาผูกมาคล้อง ความอิสระทางใจก็มีน้อย ซึ่งข้อนี้จะมีผลไปถึงการบำเพ็ญเพียรด้วย

ดังนั้นท่านอาจารย์ไม่ประสงค์จะอยู่ในสถานที่เดียวนานๆ แม้ว่าจะถูกใจสักเพียงไร ถ้าหากมีโอกาส ท่านก็จะออกเทียววิเวกไปที่อื่นทันที ในปีนี้ท่านกำหนดจำพรรษาที่วัดป่าประสิทธิ์สามัคคี จ.สกลนคร กับท่านพระอาจารย์สุพัฒน์ สุขกาโม ท่านบอกว่า ที่วัดป่าประสิทธิ์สามัคคีนี้ ภูมิประเทศดี เงียบสงัด แต่อากาศไม่ดี ไม่ถูกกับท่าน จึงทำให้ท่านอยู่ที่นี้ไม่นาน

• พรรษาที่ ๑๗ ปี พ.ศ.๒๕๑๔
จำพรรษาที่วัดอัมพวนาราม จ.ศรีสะเกษ
การไปครั้นนี้ท่านออกเดินทางจาก จ.สกลนคร มุ่งไปศรีสะเกษอันเป็นถิ่นกำเนิด ท่านไปจำพรรษาที่วัดอัมพวนาราม บ้านชำม่วง อ.กันทราลักณ์ จ.ศรีสะเกษ การประกอบความเพียรในปีนั้นก็พอเสมอตัว ในเวลานั้นคณะธรรมยุตในจังหวัดศรีสะเกษนั้นมีน้อย คำว่า “พระกรรมฐาน” ก็ยังไม่แพร่หลายเป็นที่รู้จักของคนมากนัก การที่จะอยู่นานๆ ก็ทำให้อึดอัดใจ ซึ่งต่างกับสมัยนี้ที่มีคนทั้งหลายรู้จักดี

• พรรษาที่ ๑๘ ปี พ.ศ.๒๕๑๕
จำพรรษาที่บ้านเหล่าหลวง จ.อุดรธานี
เมื่อถึงหน้าแล้ง ท่านอาจารย์ได้วิเวกขึ้นมาทางสกลนคร หยุดพักที่ จ.อุดรธานี ซึ่งในปีนี้ท่านจำพรรษาที่บ้านเหล่าหลวง อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี ซึ่งเป็นวัดตั้งใหม่ โดยท่านพระครูวิศิษฏ์ธรรมคุณ (วิชิต ปภสฺสโร) เจ้าคณะอำเภอบ้านดุง-เพ็ญ (ธรรมยุต) เป็นผู้นำ เพราะท่านเห็นว่าสถานที่แห่งนี้เป็นป่าดงทึบสงบสงัดดี อีกอย่างหนึ่ง ทั้งวัดและบ้านก็ตั้งขึ้นใหม่พร้อมกัน ท่านอาจารย์จึงได้ไปจำพรรษาตามความประสงค์ของท่านพระครูวิศิษฏ์ธรรมคุณ จากสภาพของวัด ที่รกชัฏ มืดครึ้ม เมื่อเข้าไปก็รู้สึกเย็นเงียบสงัดวังเวง ทั้งยังมีสัตว์ป่าอาศัยอยู่ และอยู่ห่างไกลจากหมู่บ้าน ดังนั้นจึงเป็นสถานที่เหมาะแก่การบำเพ็ญเพียรอย่างยิ่ง แต่เนื่องจากดินฟ้าอากาศไม่ถูกกับธาตุขันธ์ของท่านอาจารย์ จึงทำให้สุขภาพรางกายของท่านไม่ดี เพราะโดยปกติแล้วท่านอาจารย์จะชอบอยู่ป่าโปร่ง มีลมโชยเย็นสบาย มากกว่าการอยู่ในที่มืดครึ้ม

• พรรษาที่ ๑๙ ปี พ.ศ.๒๕๑๖
จำพรรษาที่วัดป่าศรีดอนเงิน จังหวัดอุดรธานี
หลังจากที่ท่านอาจารย์ออกจากวัดป่าศรีดอนเงิน บ้านเหล่าหลวงแล้ว ในปีนี้ก็ได้มาจำพรรษาที่วัดป่าศรีดอนเงิน บ้านดอนเงิน ตำบลหนองแชแล อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี วัดป่าศรีดอนเงินนี้เป็นวัดซึ่งสร้างขึ้นใหม่ ด้วยความกรุณาของท่านอาจารย์ และด้วยแรงสนับสนุนของชาวบ้านเพราะเห็นว่าที่บ้านดอนเงินนี้ แม้ว่าจะเป็นถิ่นกำเนิดของท่านพระอาจารย์อ่อน ญาณสิริ ซึ่งเป็นพระกรรมฐานที่โด่งดัง แต่ก็ยังไม่มีวัดป่าพอที่จะให้พระภิกษุฝ่ากรรมฐานมาพักอาศัยได้ ด้วยเหตุนี้เองท่านจึงต้องฉลองศรัทธาญาติโยม จนกระทั่งปัจจุบันนี้ วัดอยู่ในสภาพสมบูรณ์ ท่านพระอาจารย์เมื่ออยู่จำพรรษาที่นี้ นอกจากจะช่วยดูแลการก่อสร้างแล้ว ก็ยังให้การอบรมญาติโยม พระภิกษุสามเณรอยู่เป็นประจำ และที่สำคัญคือ ท่านได้นำชาวบ้านในการพัฒนา เช่น การตัดถนน ซ่อมถนนภายในหมู่บ้านที่ทรุดโทรม นอกจากนั้น ท่านก็ยังสอนนักธรรมแก่สามเณรที่จำพรรษาอยู่ด้วยประมาณ ๗-๘ รูป ซึ่งนับว่าท่านเป็นผู้มองการไกล ไม่ปล่อยปละละเลยต่อการศึกษาของภิกษุสามเณรที่ยังเยาว์วัย

• พรรษาที่ ๒๐ ปี พ.ศ.๒๕๑๗
จำพรรษาที่วัดป่าบ้านบาก จ.ศรีสะเกษ
พรรษานี้ท่านอาจารย์ได้พักจำพรรษาที่ ดอนปู่-ตา ของบ้านบาก อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ ซึ่งเป็นบ้านเกิดของท่านเอง เนื่องจากเป็นสถานที่เล็ก ทั้งยังไม่เหมาะสมที่จะเป็นวัดได้ ท่านจึงไม่คิดจะสร้างวัดขึ้น เป็นแต่เพียงทำที่พักอาศัยเมื่อมาเยี่ยมญาติพี่น้องเท่านั้น แต่ต่อมาปรากฏว่ามีผู้มีศรัทธาเลื่อมใสในท่าน ช่วยสนับสนุนให้ท่านสร้างวัด สร้างเสนาสนะปลูกต้นไม้ ขยายที่วัดออกไปอีก ปัจจุบันนี้จึงปรากฏว่าที่แห่งนี้เป็นสถานที่น่าอยู่ มีต้นไม้ร่มเย็น เนื่องจากอยู่กลางท้องทุ่งอากาศจึงดี ปลอดโปร่งเย็นสบาย จากดอนปู่ตา จึงกลายมาเป็นวัดป่าบ้านบาก
ท่านอาจารย์เมื่อพักอยู่ที่นี่ก็ได้สร้างสาธารณวัตถุ เช่น ศาลาประชาคม สำหรับเป็นที่ประชุมของชาวบ้าน เมื่อมีงานสร้างที่พักริมทาง พร้อมกับขุดบ่อน้ำไว้ในบริเวณใกล้ๆ นั้นด้วยและการสร้างที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ การสร้างคน สร้างความคิดของคนในถิ่นนั้น ซึ่งไม่มีความเคยชินกับพระกรรมฐาน ไม่เข้าใจขนบธรรมเนียม วิธีปฏิบัติตน ท่านก็ได้ปลูกฝังแนวคิดใหม่ๆ ขึ้นมา ซึ่งในเบื้องต้นก็ดูลำบากเพราะประชาชนยังไม่เข้าใจ แต่ต่อมาก็ให้ความช่วยเหลือเป็นอย่างดี ท่านอาจารย์เป็นผู้ที่เชื่อมความสามัคคีระหว่างชาวบ้านกับวัด หรือระหว่างวัดกับวัดได้เป็นอย่างดี เพราะฉะนั้น ชาวบ้านในละแวกที่ท่านอยู่นั้นจึงเป็นเหมือนพี่เหมือนน้องไปมาหาสู่กันเสมอ

• พรรษาที่ ๒๑ ปี พ.ศ.๒๕๑๘
จำพรรษาที่วัดป่ามัชฌิมวงศ์นาราม จ.อุดรธานี
เมื่อออกพรรษา ท่านอาจารย์ได้พาคณะภิกษุสามเณรออกเที่ยววิเวกเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศเพื่อไม่ให้ติดในที่อยู่ ความสะดวกสบายที่ได้รับ และที่สำคัญคือเพื่อไม่ให้เป็นที่รู้จักของผู้คนจนเกินไป ข้อหลังนี้ ท่านอาจารย์ได้ให้เหตุผลว่า เนื่องจากสุขภาพร่างกายของท่านไม่ค่อยจะดีนัก การนั่งหรือการพูดคุยนานจนเกินไปก็ยิ่งจะทำให้สุขภาพร่างกายของท่านแย่ลงไปอีก แม้ว่าการพูดคุยกับญาติโยมผู้ใจบุญจะได้มีโอกาสในการสอนธรรมะอบรมจิตใจก็ตาม แต่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องที่ท่านไม่ค่อยถนัด และพยายามปลีกตัวอยู่เสมอ ดันนั้นในพรรษานี้ ท่านได้กลับไปที่อุดรธานีและได้พักจำพรรษาที่วัดป่ามัชฌิมวงศ์รัตนาราม บ้านเหล่าใหญ่ อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากวัดป่าศรีดอนเงินเท่าไรนัก เมื่อออกพรรษาแล้ว ท่านได้นำคณะสามเณรไปสอบนักธรรมและฝากผู้ที่เห็นว่าเหมาะสมให้ไปเรียนต่อ เพราะท่านเห็นว่าการที่ปฏิบัติอย่างเดียวนั้นย่อมไม่เหมาะแน่ เพราะทุกคนต่างก็อยู่ในวัยที่จะศึกษาเล่าเรียน การเรียนรู้ในหลักปฏิบัติเสียก่อนแล้วจึงปฏิบัติตามนั้น จึงจะเป็นการดี

• พรรษาที่ ๒๒ ปี พ.ศ.๒๕๑๙
จำพรรษาที่วัดป่าบ้านบบาก จ.ศรีสะเกษ
หลังจากออกพรรษาแล้วท่านอาจารย์บุญยังพักอยู่ที่วัดมัชฌิมวงศ์รัตนาราม ท่านได้รวบรวมสามเณรที่ท่านฝากจำพรรษาไว้ในที่ต่างๆ กัน และสอบถามความสมัครใจที่จะไปเรียนต่อ และท่านก็ได้จัดแจงฝากไปเรียนที่สำนักต่างๆ การงานในปีนี้ พัฒนาวัดและเผยแพร่พระธรรมวินัย

• พรรษาที่ ๒๓ ปี พ.ศ.๒๕๒๐
จำพรรษาที่วัดป่าศรีดอนเงิน จ.อุดรธานี
ปีนี้ท่าได้กับไปจำพรรษาที่วัดป่าศรีดอนเงินอีก เพราะตั้งใจจะทำความเพียรเป็นพิเศษ คือการเปลี่ยนอิริยาบถให้สมส่วน แต่ก่อนการทำความเพียรหนักไปทางการเดิน คือ เดินมากไป และอดนอน ผ่อนอาหาร เป็นต้น ปีนี้ ใช้อิริยาบถนั่งให้มากขึ้นกว่าท่าอื่น ๆ จึงให้ได้รับความสะดวกสบายมากขึ้น ตามความปรารถนาไว้

• พรรษาที่ ๒๔ ปี พ.ศ.๒๕๒๑
จำพรรษาที่วัดป่าบ้านค้อยางหล่อ จ.ศรีสะเกษ
เหตุจะได้อยู่ทีนี้ก็เพราะเห็นว่าวัดป่าบ้านบากไม่เป็นที่สัปปายะในการทำความเพียร จึงได้เลือกที่ใหม่ซึ่งเป็นที่เหมาะสมกว่า และเป็นเขตที่อยู่ของสายญาติทางบิดา ท่านอยากให้มีสำนักเกิดขึ้นในตำบลหัวช้าง ซึ่งเป็นถิ่นของท่านพระอาจารย์บุญทัน ฐิตปุญฺโญ

• พรรษาที่ ๒๕-๒๘ ปี พ.ศ.๒๕๒๒-๒๕๒๕
จำพรรษาที่วัดป่าบ้านโพธิ์ จ.ศรีสะเกษ
เนื่องจากสุขภาพของท่านไม่ดี เพราะท่านมีโรคประจำตัวซึ่งยากแก่การรักษา โดยมากท่านก็รักษาด้วยธรรมโอสถหมั่นตรวจสุขภาพอยู่เสมอ เป็นผู้ไม่ประมาทไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถใด สถานที่ใด เพราะท่านถือว่าชีวิตไม่มีอะไรแน่นอน ถ้าเราไม่ทำวันนี้ให้แน่นอนแล้วก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้ประมาท คนที่ประมาทเมื่อมองย้อนไปในอดีตจะเศร้าเสียใจในภายหลัง ท่านถือว่าชีวิตของท่านที่ผ่านมานั้นได้บำเพ็ญประโยชน์มามากแล้วนั้น แม้จะไม่สมบูรณ์ มีทั้งประโยชน์ที่ทำให้ตัวเองและเพื่อเกื้อกูลเพื่อความสุขของผู้อื่น ความสุขของท่านอยู่ที่การสามารถช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นจากความทุกข์ ปลดเปลื้องทุกข์ออกจากใจของเขาได้ ความสุขของท่านอยู่ที่การทำให้ผู้อื่นสมหวัง พอใจในสิ่งที่พอใจ
ท่านไม่ละเลยในการอบรมฝึกหัดนิสัยกุลบุตรลูกหลานในถิ่นนั้น การบำเพ็ญเพียรนั้นดีมาก เพราะอากาศที่นี่เข้ากันกับท่านคือไม่แสลงเหมือนอากาศบางแห่ง ฉะนั้นท่านจึงอยู่ติดต่อกันถึง ๔ ปี ความดีในด้านจิตใจ เมื่อคราวอยู่วัดป่าบ้านโพธิ์นั้น ว่ามีความสะดวกอยู่บ้าง คือการตั้งสมาธิได้ดีและจิตไม่ยุ่งในกิจการอะไร ถึงมีงานเกิดขึ้นบ้างก็ไม่หนักใจอะไร คืองานทุกอย่างจะทำหรือไม่ก็ตาม จะทำค้างอยู่ก็ตาม จิตใจก็ไม่กังวลเหมือนอยู่แห่งอื่น ส่วนเรื่องสมาธินิมิตนั้นก็มักจะเกิดขึ้นบ่อยๆ จะมีผู้คนต่างหน้ามาหาหรือจะได้ไปธุระอะไรที่อื่นก็มักมีการแสดงทางสมาธินิมิตบอกเหตุล่วงหน้าได้ง่ายดี การตั้งสติก็สืบต่อกันไปได้นาน การกำหนดดูส่วนต่างๆ ของร่างกายก็เห็นได้ง่ายและเห็นติดต่อกันได้นาน นับว่าเป็นที่สัปปายะในการบำเพ็ญภาวนาอยู่บ้างถึงแม้จะไม่ได้บำเพ็ญมากมายอะไร จิตก็มีกำลังในการทรงตัว และเกิดปีติอยู่เสมอ ความเป็นอยู่ในธาตุขันธ์ก็พอทรงตัว

• พรรษาที่ ๒๙ ปี พ.ศ.๒๕๒๖
จำพรรษาที่วัดป่าบ้านค้อยางหล่อ จ.ศรีสะเกษ
ในพรรษานี้ท่านอาจารย์ได้ย้ายจากวัดป่าบ้านโพธิ์ ไปจำพรรษาที่วัดป่าบ้านค้อยางหล่อ ซึ่งเป็นวัดที่ตั้งขึ้นในเขตที่อยู่ของญาติสายบิดา ท่านเคยจำพรรษาที่นี่ครั้งหนึ่งเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๑ การอยู่อบรมสั่งสอนชาวบ้านได้เน้นหนักไปที่เยาวชนหนุ่มสาว โดยมีการประชุมหนุ่มสาวจากหมู่บ้านต่างๆ ในละแวกนั้นมาประชุมอาทิตย์ละครั้ง เพื่ออบรมธรรม ะเป็นการเชื่อมโยงให้เกิดความสามัคคีกลมเกลียวกัน ให้เขาเหล่านั้นได้รู้จักมักคุ้นกัน ไปมาหาสู่กันเหมือนญาติพี่น้อง ทุกคนจึงรักและเคารพเลื่อมใสในตัวท่าน

นอกจากนั้น ท่านยังได้ประสานประโยชน์ระหว่างนิกายไม่ว่าทางวัดบ้านจะมีกิจกรรมอะไร เช่น ทำบุญผ้าป่า บุญประเพณี ก็จะชักชวนญาติโยมไปร่วมบุญกุศลนั้นด้วย บางวัดที่สร้างขึ้นมาแล้วก็มอบให้พระฝ่ายวัดบ้านอยู่อาศัย จึงทำให้ครูบาอาจารย์ พระเณรในสายมหานิกายมีความเคารพรักท่านพระอาจารย์เป็นอย่างมาก เพราะท่านอาจารย์เป็นผู้อยู่เหนือนิกายใดๆ หากแต่มุ่งเอาประโยชน์ส่วนร่วมเป็นสำคัญ ท่านเป็นผู้มีสภาพจิตสูงอยู่เหนือความขัดแย้งใดๆ ทั้งปวง

• พรรษาที่ ๓๐-๓๒ ปี พ.ศ.๒๕๒๗-๒๕๒๙
จำพรรษา ณ วัดป่าบ้านบาก อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ
วัดนี้ถือว่าเป็นแหล่งพำนักครั้งแรกและครั้งสุดท้ายของท่านพระอาจารย์ ที่ได้มุ่งเข็มมาเผยแผ่พระศาสนาในถิ่นนี้ เนื่องจากเป็นบ้านเกิดของท่านเอง ในช่วงระยะเวลา ๓ ปีสุดท้ายที่จำพรรษาที่นี่ ท่านได้เร่งความเพียรอย่างหนัก แม้ว่าสังขารร่างกายธาตุขันธ์เวลานั้น จะอยู่ในสภาพที่ทรุดโทรมอย่างหนัก แต่ดวงใจของท่านพระอาจารย์ยังเข้มแข็งเด็ดเดี่ยวต่อการบำเพ็ญเพียร ไม่ยอมอ่อนข้อให้กับอำนาจธรรมฝ่ายต่ำได้สัมผัสย่ำยีจิตใจได้ง่ายๆ

นอกจากการบำเพ็ญเพียรอันเป็นประโยชน์ตนแล้ว ท่านก็ยังได้อบรมสั่งสอนญาติโยมพุทธบริษัทที่ไปมาหาสู่ท่านเป็นประจำ ในเวลากลางคืนหลังจากทำวัตร ท่านอาจารย์จะอบรมหัวข้อที่น่าสนใจอยู่เสมอ บางคราวเมื่อมีผู้มานิมนต์ไปเทศน์ในต่างถิ่นก็จะรับไป แต่ไม่บ่อยนัก เนื่องจากท่านเป็นโรคประจำตัวอย่างหนึ่งคือแพ้เครื่องเสียง เมื่อเทศน์ที่ไรก็จำเป็นที่จะต้องเจ็บไข้ได้ป่วยทุกทีไป ในพรรษาสุดท้ายนี้ มีเหตุการณ์หลายอย่างที่บอกให้รู้ว่าสังขารร่างกายของท่านไปไม่ไหวแล้ว ท่านพยายามส่งพระเณรที่เคยอยู่กับท่านให้กระจายกันไปอยู่จำพรรษาในถิ่นอื่น ที่มีครูบาอาจารย์ให้การอบรมสั่งสอนให้หลักมั่นคง และตัวท่านก็เร่งทำความเพียรตามที่อัตภาพจะอำนวยให้ การพูดคุยในบางครั้ง ท่านก็พูดเป็นนัยๆ ให้ผู้ใกล้ชิดได้รับฟังถึงสภาพธาตุขันธ์ของท่าน พร้อมปลุกย้ำให้ศิษย์ทุกคนไม่ประมาทเป็นธาตุของกิเลสตันหา

งานถวายเพลิง สรีระสังขาร หลวงปู่บุญยัง ผลญาโณ วัดป่าบ้านบาก อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ
งานถวายเพลิง สรีระสังขาร หลวงปู่บุญยัง ผลญาโณ วัดป่าบ้านบาก อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ
งานถวายเพลิง สรีระสังขาร หลวงปู่บุญยัง ผลญาโณ วัดป่าบ้านบาก อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ
งานถวายเพลิง สรีระสังขาร หลวงปู่บุญยัง ผลญาโณ วัดป่าบ้านบาก อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ

• มรณกาล
ในพรรษานี้ มีพระเณรอยู่จำพรรษากับท่านไม่กี่รูป จนกระทั่งถึงกลางพรรษา สิ่งที่ทุกคนไม่อยากให้เกิดก็เกิดขึ้น ในคือวันที่ ๒๓ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๒๙ ท่านหลวงปู่บุญยัง ผลญาโณ ได้ประชุมพระเณรภายในวัดป่าบ้านบาก และทำวัตรเย็นที่ศาลาการเปรียญเช่นเคยปฏิบัติมาทุกวัน วันนี้ท่านหลวงปู่บุญยัง ได้เล่าให้พระเณรว่า ฝันเห็นคนจุดบั้งไฟ แล้วพุ่งเข้าไปในบ้านบาก และเลี้ยวกับมาชนที่ก้นท่าน แต่ไม้เจ็บ ท่านเล่าเพียงเท่านั้น ท่านหลวงปู่บุญยังได้ให้พระอ่านประวัติหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ให้พระเณรฟัง ซึ่งท่านได้ทำมาเป็นประจำ จนกระทั่งถึงเวลา ๒๑.๑๕ น. ท่านหลวงปู่บุญยังบอกว่าวันนี้รู้สึกว่าเจ็บหัวใจ แน่นหน้าอกมาก จึงให้พระเณรเลิกประชุม ส่วนตัวท่านเองได้กราบพระและออกไปเดินรอบๆ ศาลาการเปรียญ ซึ่งกำลังปรับปรุงเปลี่ยนแปลงขยายใหม่ โดยท่านนายอำเภอราษีไศลเป็นผู้นำ จากนั้นท่านหลวงปู่บุญยัง ได้กลับกุฏิและเดินจงกรมตามปกติ ในระหว่างนี้ ไม่มีใครเห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทราบแต่เพียงว่าท่านอาจารย์บุญยังเดินจงกรม เพราะเป็นกิจวัตรประจำวัน ทั้งนี้ศิษยานุศิษย์เข้าใจว่าเมื่อท่านอาจารย์บุญยังเดินจงกรมไปสักพัก ท่านคงรู้สึกว่ามีอาการผิดปกติของหัวใจอย่างรุนแรง เพราะได้บอกพระเณรอยู่ที่ศาลาการเปรียญก่อนแล้วจึงหยุดและกับขึ้นที่พักกุฏิที่อยู่ติดกับทางเดินจงกรมนั้น แต่ยังไม่ทันจะขึ้นก็ฟุบลงก่อน(ท่านเคยมีอาการแบบนี้ แต่เป็นเวลากลางวัน มีคนพบก่อนและช่วยนวดก็หาย) ในวันที่ ๒๔ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๒๙ เวลา ๐๕.๑๕ น. เด็กวัดที่ไปรับบาตรของท่านหลวงปู่บุญยัง ได้พบว่าท่านมรณภาพแล้ว จึงได้บอกให้พระเณรและญาติโยมทราบดังนั้น

เจดีย์ พิพิธภัณฑ์อัฐบริขาร หลวงปู่บุญยัง ผลญาโณ วัดป่าบ้านบาก อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ
เจดีย์ พิพิธภัณฑ์อัฐบริขาร หลวงปู่บุญยัง ผลญาโณ วัดป่าบ้านบาก อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ
เจดีย์ พิพิธภัณฑ์อัฐบริขาร หลวงปู่บุญยัง ผลญาโณ วัดป่าบ้านบาก อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ
เจดีย์ พิพิธภัณฑ์อัฐบริขาร หลวงปู่บุญยัง ผลญาโณ วัดป่าบ้านบาก อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ
เจดีย์ พิพิธภัณฑ์อัฐบริขาร หลวงปู่บุญยัง ผลญาโณ วัดป่าบ้านบาก อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ
เจดีย์ พิพิธภัณฑ์อัฐบริขาร หลวงปู่บุญยัง ผลญาโณ วัดป่าบ้านบาก อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ
อัฐิธาตุ หลวงปู่บุญยัง ผลญาโณ วัดป่าบ้านบาก อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ
อัฐิธาตุ หลวงปู่บุญยัง ผลญาโณ วัดป่าบ้านบาก อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ
อัฐิธาตุ หลวงปู่บุญยัง ผลญาโณ วัดป่าบ้านบาก อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ
อัฐิธาตุ หลวงปู่บุญยัง ผลญาโณ วัดป่าบ้านบาก อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ
เจดีย์ พิพิธภัณฑ์อัฐบริขาร หลวงปู่บุญยัง ผลญาโณ วัดป่าบ้านบาก อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ
เจดีย์ พิพิธภัณฑ์อัฐบริขาร หลวงปู่บุญยัง ผลญาโณ วัดป่าบ้านบาก อ.ราษีไศล จ.ศรีสะเกษ


ข่าวการมรณภาพของท่านหลวงปู่บุญยัง ผลญาโณ จึงกระจายไป ทำให้ศิษยานุศิษย์ทุกหนแห่งเศร้าสลดใจเป็นอย่างยิ่งจนคณะศิษยานุศิษย์ได้จารึกเป็นตัวอักษรถึงท่านหลวงปู่บุญยังใน “หนังสืออนุสรณ์งานถวายเพลิงศพ ท่านหลวงปู่บุญยัง ผลญาโณ” ว่า ถึงแม้ท่านอาจารย์จะจากไป แต่เราทุกคนก็ยังมีความรู้สึกอยู่ไม่เสื่อมคลายว่าท่านยังอยู่กับพวกเรา เพราะเสียงเทศนาก็ดี เสียงอบรมสั่งสอนก็ดี กิริยาอาการข้อวัตรปฏิบัติที่เคร่งคัดของท่านยังตรึงตาตรึงใจของเราอยู่ ไม่มีวันจะหมดสิ้นไปได้ เราในฐานะเป็นศิษย์จึงดำเนินการท่านสั่งสอนเอาไว้ ยึดถือประพฤติตามให้ได้ผลให้สมกับที่ท่านอุทิศชีวิตสั่งสอนมา ดังนี้จะได้ชื่อว่าเป็นศิษย์มีอาจารย์ เพราะนานๆ จะมีคนเช่นนี้เกิดมาบนโลกสักครั้งหนึ่ง

บรรณานุกรมอ้างอิง คัดลอกมาจากหนังสืออนุสรณ์ถวายเพลิงศพท่านหลวงปู่บุญยัง ผลญาโณ ; พิมพ์เมื่อ มีนาคม ๒๕๓๐