วันพฤหัสบดี, 24 ตุลาคม 2567

หลวงปู่ซุน ติกขปัญโญ วัดติกขะมณีวรรณ (วัดบ้านเสือโก้ก) อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม

ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่ซุน ติกขปัญโญ

วัดติกขะมณีวรรณ (วัดบ้านเสือโก้ก)
อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม

หลวงปู่ซุน ติกขปัญโญ วัดติกขะมณีวรรณ (วัดบ้านเสือโก้ก) ต.เสือโก้ก อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม
หลวงปู่ซุน ติกขปัญโญ วัดติกขะมณีวรรณ (วัดบ้านเสือโก้ก) ต.เสือโก้ก อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม

หลวงปู่ซุน ติกขปัญโญ” หรือ “พระครูสุนทรสาธุกิจ” แห่งวัดบ้านเสือโก้ก ต.เสือโก้ก อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม เป็นพระเกจิอาจารย์ยุคเก่าที่เรืองวิทยาคม มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วภาคอีสานรูปหนึ่ง เมื่อเกือบร้อยปีที่ผ่านมา

◎ ชาติภูมิ
หลวงปู่ซุน ติกขปัญโญ นามเดิมชื่อ ซุน ประสงคุณ เกิดเมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๒๙ ณ บ้านเปลือย ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ร้อยเอ็ด บิดาชื่อ คำตัน และ มารดาชื่อ ผล ประสงคุณ โดย หลวงปู่ซุน ติกขปัญโญ เป็นบุตรคนที่ ๘ ในจำนวนพี่น้องร่วมบิดามารดา ๑๐ คน ครอบครัวประกอบอาชีพทำไร่ ทำนา เหมือนกับชาวชนบททั่วไป

◎ ปฐมวัย
ต่อมาเมื่อเด็กชายซุน อายุได้ ๕ ขวบ บิดามารดาได้พาครอบครัวย้ายถิ่นที่อยู่เพื่อหาแหล่งทำกินใหม่ พร้อมกับญาติพี่น้องหลายครอบครัว มาอยู่ที่บ้านหนองเสือโฮ้ก (ปัจจุบันคือ บ้านเสือโก้ก) โดยการเดินเท้า

◎ บรรพชา อุปสมบท
เมื่ออายุได้ ๑๘ ปี ในวันหนึ่ง ขณะที่กำลังเลี้ยงวัวควายตามปกติ ปรากฏว่ากระดิ่งแขวนคอวัวควายหล่นหาย ท่านเกิดความกลัวว่าบิดาจะลงโทษ ประกอบกับเป็นคนใฝ่รู้และมีใจเอนเอียงเข้าหาพระธรรมเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ด.ช.ซุน ประสงคุณ จึงได้ขอร้องบิดาของเพื่อนคนหนึ่ง ให้นำไปบรรพชาเป็นสามเณรที่วัดบ้านเสือโก้ก เพื่อหนีความผิด ครั้นบิดามารดา ทราบว่าบุตรชายได้เข้าสู่ร่มผ้ากาสาวพัสตร์เป็นที่เรียบร้อย ท่านมิได้คัดค้านหรือตำหนิแต่อย่างใด อีกทั้งได้ร่วมอนุโมทนาบุญด้วย

จึงได้บรรพชาเป็นสามเณร ที่วัดบ้านเสือโก้ก โดยมี พระอาจารย์สีดา เป็นผู้บรรพชาให้ หลังจากบวชเป็นสามเณร ท่านได้ออกธุดงค์เพื่อศึกษาหาความรู้ตามสถานที่ต่างๆ

กระทั่งอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ สามเณรซุน ประสงคุณ ได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ในปี พ.ศ. ๒๔๔๙ โดยมี พระครูอินทวงษาภิบาล เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการ วัดบ้านหนองไหล เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ พระอธิการคัมภีร์ วัดบ้านบาก เป็นพระอนุสาวนาจารย์
ภายหลังอุปสมบทแล้ว ท่านได้มุ่งมั่นศึกษาพระธรรมวินัยด้วยความขยันขันแข็ง

◎ การศึกษากัมมัฏฐานและวิทยาคม
ด้วยความเป็นพระภิกษุที่เคร่งครัดในพระธรรมวินัย วัตรปฏิบัติสวดมนต์เช้าเย็นไม่เคยขาด หลังจากฉันภัตตาหารเพล ท่านจะนั่งวิปัสสนากัมมัฏฐานภายในกุฏิ นอกจากนี้ หลังออกพรรษาทุกปี ท่านจะออกเดินธุดงควัตรไปตามพื้นที่ต่างๆ เพื่อแสวงหาความหลุดพ้นตามป่าเขาลำเนาไพรในภาคอีสาน รวมทั้งยังได้ไปศึกษาวิทยาคมจาก หลวงปู่สมเด็จลุน แห่งนครจำปาสัก ประเทศลาว ทำให้หลวงปู่ซุน มีความรู้สามารถเขียนอักษรลาว-ขอม และอักษรไทยอย่างแตกฉาน

หลวงปู่สมเด็จลุน (สำเร็จลุน) วัดเวินไซ สปป.ลาว
หลวงปู่สมเด็จลุน (สำเร็จลุน) วัดเวินไซ สปป.ลาว

ในเวลาต่อมา ชื่อเสียงของหลวงปู่ซุนโด่งดังเป็นที่รู้จักในวงกว้างอย่างรวดเร็ว ในแต่ละวันจะมีคณะศรัทธาญาติโยมจากทั่วสารทิศเดินทางมากราบนมัสการ รับฟังธรรม ประพรมน้ำพุทธมนต์ และปรารถนาวัตถุมงคลตะกรุดโทน และตะกรุดคู่ที่เข้มขลังจากหลวงปู่กันอย่างล้นหลาม ยุคสมัยนั้น ราคาเช่าวัตถุมงคลตะกรุดหลวงปู่ซุน ๑ ดอก เท่ากับทองคำหนักหนึ่งบาท

◎ งานด้านการศึกษา
หลวงปู่ซุน ติกขปัญโญ ยังเป็นพระนักการศึกษา ตลอดเวลาที่ท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดบ้านเสือโก้ก ได้ให้ความสำคัญด้านการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง ด้วยทราบดีว่าการบวชเรียนเป็นหนทางหนึ่งของคนยากคนจนชาวอีสาน ท่านรับหน้าที่เป็นครูสอนพระปริยัติธรรมสำนักเรียนวัดบ้านเสือโก้ก พระภิกษุ-สามเณร ที่เรียนกับท่านต้องเรียนหนักมาก บางวันเรียนไปจนถึง ๓ ทุ่ม ทำให้สำนักเรียนวัดบ้านเสือโก้กยุคนั้น มีชื่อเสียงโด่งดัง แต่ละปีจะมีพระภิกษุ-สามเณร มาอยู่จำพรรษาศึกษาพระธรรมวินัย จำนวนกว่า ๑๐๐ รูป

◎ ลำดับงานปกครองและสมณศักดิ์
พ.ศ. ๒๔๖๑ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตำบลเสือโก้ก
พ.ศ. ๒๔๗๗ ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์
พ.ศ. ๒๔๙๗ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรที่ พระครูสุนทรสาธุกิจ

พระครูสุนทรสาธุกิจ (หลวงปู่ซุน ติกขปัญโญ) วัดติกขะมณีวรรณ (วัดบ้านเสือโก้ก)
พระครูสุนทรสาธุกิจ (หลวงปู่ซุน ติกขปัญโญ) วัดติกขะมณีวรรณ (วัดบ้านเสือโก้ก)

◎ สร้างวัดกู่สุนทราราม (วัดกู่สนาม)
หลวงปู่ซุน อยู่จำพรรษาที่วัดบ้านเสือโก้ก จนถึงปี พ.ศ. ๒๔๙๓ ท่านได้มาทำพิธีสรงน้ำที่ซากกู่เทวสถานสมัยขอม ภายในป่าโคกบ้านสนาม ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งวัดกู่สุนทราราม (วัดกู่สนาม) บ้านสนาม ในปัจจุบัน ชาวบ้านญาติโยมลือกันว่า ในป่าโคกบ้านสนามแห่งนี้ผีดุมาก ไม่มีใครกล้าบุกรกุเข้าไป

หลวงปู่ซุน ติกขปัญโญ มีความตั้งใจสร้างวัดขึ้นในบริเวณดังกล่าว จึงขอความร่วมมือจากชาวบ้านญาติโยมในการสร้างวัด ก่อนแล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ วัดแห่งนี้มีชื่อว่า วัดกู่สุนทราราม (วัดกู่สนาม) บ้านสนาม นับแต่นั้นเป็นต้นมา หลวงปู่ซุนได้อยู่จำพรรษาที่วัดกู่สุนทราราม (วัดกู่สนาม) บ้านสนาม มาโดยตลอด ในปัจจุบัน วัดกู่สุนทราราม (วัดกู่สนาม) บ้านสนาม ได้ก่อสร้างศาลาเพื่อใช้เป็นที่ประดิษฐานรูปเหมือนของหลวงปู่ซุน ติกขปัญโญ

หลวงปู่ซุน ติกขปัญโญ วัดติกขะมณีวรรณ (วัดบ้านเสือโก้ก) ต.เสือโก้ก อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม
หลวงปู่ซุน ติกขปัญโญ วัดติกขะมณีวรรณ (วัดบ้านเสือโก้ก) ต.เสือโก้ก อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม

◎ มรณภาพ
บั้นปลายชีวิตของ หลวงปู่ซุน ติกขปัญโญ หรือ  พระครูสุนทรสาธุกิจ วัดบ้านเสือโก้ก ต.เสือโก้ก อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม ท่านมีสุขภาพร่างกายไม่แข็งแรง อาพาธบ่อยครั้ง สุดท้ายได้มรณภาพอย่างสงบด้วยโรคชรา เมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ. ๒๔๐๔ สิริอายุรวมได้ ๗๖ พรรษา ๕๖

◎ โอวาทธรรม หลวงปู่ซุน ติกขปัญโญ
“อย่าได้ประมาท และอย่าเบียดเบียนกัน แล้วชีวิตจะพานพบแต่สิ่งดีงาม”

หลวงปู่ซุน ติกขปัญโญ วัดติกขะมณีวรรณ (วัดบ้านเสือโก้ก) ต.เสือโก้ก อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม
หลวงปู่ซุน ติกขปัญโญ วัดติกขะมณีวรรณ (วัดบ้านเสือโก้ก) ต.เสือโก้ก อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม

◎ ปาฏิหาริย์ หลวงปู่ซุน ติกขปัญโญ
• ลองวิชา
ในช่วงปี ๒๔๙๘-๒๔๙๙ ในขณะที่หลวงปู่จำวัดอยู่ ก็มีบุคคลที่ปกปิดใบหน้าคนหนึ่ง นำมะพร้าวมาด้วยสองลูก เพื่อจะมาถวายหลวงปู่ พอเดินมาถึงกุฏิหลวงปู่ ก็ได้ยกลูกมะพร้าวขึ้นเหนือหัว แล้วเอาสองมือจับลูกมะพร้าวบีบมะพร้าวแตกคามือ แล้วเอามือปาดนวนมะพร้าวพร้อมถวายใส่มือ ให้หลวงปู่ บอกหลวงปู่ว่าให้ไปจากนี้เถิด หลวงปู่เลยตอบไปว่า

“สิให้ไปใสน้อพ่อออก เก่งปานนั้นติพ่อออก”

พอพูดจบ หลวงปู่ซุน ก็ยกนิ้วทั้งห้าพนมมือ แล้วใช้มืออีกข้างแทงลงไปในพื้นไม้กุฏิ ซึ่งมีความหนาประมาณ ๔ นิ้ว แล้วสะบัดมือจนไม้แตกเป็นสายไปถึงคนที่นำมะพร้าวมาถวายหลวงปู่ ทันใดนั้นบุคคลนั้นก็กราบหลวงปู่สามครั้ง แล้วเดินจากไป โดยไม่หันหน้ากลับมาอีกเลย

◎ โจรลักวัว
ครั้งนั้น ที่วัดของหลวงปู่ซุน มีวัวที่ชาวบ้านนำมาถวายท่าน เพื่อใช้สำหรับลากเกวียนหรือใช้งานอย่างอื่นภายในวัด หลวงปู่ซุน ท่านเป็นพระนักพัฒนาที่ไม่ยอมหยุดนิ่ง มักหาสิ่งหนึ่งสิ่งใดทำอยู่ประจำตลอดเวลา เนื่องจากในสมัยนั้นยังไม่มีความเจริญเท่าที่ควร วัวจึงเป็นพาหนะชั้นดีในการขนสิ่งของ

ในค่ำคืนอันเงียบสงัดได้มีโจร อยากลองดีเข้ามาลักขโมยวัวภายในวัด โดยไม่ละอายแก่บาปบุญคุณโทษ เเต่เหตุการณ์ที่ไม่น่าเชื่อก็เกิดขึ้น โจรใจบาปเหล่านั้นไม่สามารถนำวัวออกจากวัดไปได้ จูงวัวรอบวัดหาทางออกไม่เจอ เดินวนรอบวัดเป็นรอยเท้าคนและรอยเท้าวัวเต็มไปทั่วบริเวณวัด สันนิษฐานว่าคงจะเดินทั้งคืนเป็นแน่ โจรใจบาปคงจะรู้ตัวว่าเจอดีเข้าให้จึงพากันหลบหนีไป และได้ทิ้งวัวที่คิดจะขโมยไปไว้ภายในวัดเหมือนเดิม

พอรุ่งเช้ามาพระลูกวัดและชาวบ้านต่างพากันมาดูรอยเท้าคนที่จูงวัวรอบวัดกันทั้งคืน สร้างความประหลาดใจต่อสายตากันอย่างมาก ที่มีคนมาขโมยวัวหลวงปู่ไปแต่เอาไปไม่ได้ จนกลายเป็นคำเล่าขานสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน

◎ วัตถุมงคล
วัตถุมงคลของ หลวงปู่ซุน ติกฺขปญฺโญ โดยเฉพาะเหรียญรูปเหมือน ค่อนข้างจะหายากนักในวงการพระเครื่อง เหรียญรูปเหมือนหลวงปู่ซุน ลักษณะเป็นเหรียญดอกจิก มีหู ด้านหน้าเหรียญ ยกขอบมีจุดไข่ปลารอบเหรียญ ตรงกลางเหรียญเป็นรูปเหมือนหลวงปู่ซุนครึ่งองค์ ด้านล่างเขียนว่า “พระครูสุนทรสาธุกิจ” บริเวณใต้ตัวหนังสือเป็นตัวเลขเขียนว่า “๒๕๐๐” หมายถึงปีพุทธศักราชที่จัดสร้างเหรียญ ส่วนด้านหลังเหรียญเป็นยันต์หัวใจแก้ว ๔ ประการ อ่านว่า “นะ มะ อะ อุ” มีพุทธคุณเด่นทุกด้านไม่ว่าจะเป็นแคล้วคลาด คงกระพัน กันบ้านกันเมือง เมตตามหานิยม เป็นต้น สำหรับเหรียญรุ่นนี้ ส่วนใหญ่จะมีรอยร้าวตรงบริเวณช่วงหยักขอบเหรียญ เนื่องจากเนื้อเหรียญค่อนข้างบาง แรงกระแทกจากการปั๊มทำให้เหรียญร้าว ส่วนจำนวนการสร้างไม่แน่นอน แต่ไม่น่าจะเกิน ๕๐๐ เหรียญ และทางวัดได้ให้ช่างแกะบล็อกขึ้นใหม่ เหรียญหนากว่าเดิม แต่ก็ไม่ได้รับความนิยมจากนักสะสมเท่ากับเหรียญบางที่มีรอยร้าว หลวงปู่ซุนได้นำเหรียญทั้งหมดใส่ไว้ในบาตรประกอบพิธีพุทธาภิเษกปลุกเสกเดี่ยว ๑ ไตรมาส ภายในกุฏิที่พักของท่าน หลวงปู่ซุน มีพลังจิตที่แก่กล้า เจตนาการจัดสร้างที่บริสุทธิ์ ทำให้เหรียญดังกล่าว มีพุทธคุณเด่นรอบด้าน ป้องกันภยันตรายได้รอบทิศ ทั้งนี้ ท่านได้มอบเหรียญรุ่นนี้ให้แก่พุทธศาสนิกชนที่มาร่วมทำบุญก่อสร้างถาวรวัตถุภายในวัดเท่านั้น เหรียญหลวงปู่ซุน จัดเป็นเหรียญดังอีกเหรียญหนึ่งของเมืองมหาสารคาม ที่ค่อนข้างจะหายากและติดทำเนียบการประกวดพระภาคอีสานมาโดยตลอด เหรียญรุ่นนี้ผู้ที่ได้บูชาติดตัวไว้ ล้วนแต่มีประสบการณ์อัศจรรย์มากมาย ทำให้ได้รับความนิยมสูงมาก จัดเป็นเหรียญหนึ่งที่นักสะสมนิยมพระเครื่องสายอีสาน ปรารถนาไว้ในครอบครองทั้งสิ้น

ตะกรุด พระครูสุนทรสาธุกิจ (หลวงปู่ซุน ติกขปัญโญ) วัดติกขะมณีวรรณ (วัดบ้านเสือโก้ก)
ตะกรุด พระครูสุนทรสาธุกิจ (หลวงปู่ซุน ติกขปัญโญ) วัดติกขะมณีวรรณ (วัดบ้านเสือโก้ก)
เหรียญรุ่นแรก พระครูสุนทรสาธุกิจ (หลวงปู่ซุน ติกขปัญโญ) วัดบ้านเสือโก้ก ต.เสือโก้ก อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม
เหรียญรุ่นแรก พระครูสุนทรสาธุกิจ (หลวงปู่ซุน ติกขปัญโญ) วัดบ้านเสือโก้ก ต.เสือโก้ก อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม
เหรียญรุ่นสอง พระครูสุนทรสาธุกิจ (หลวงปู่ซุน ติกขปัญโญ) วัดบ้านเสือโก้ก ต.เสือโก้ก อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม
เหรียญรุ่นสอง พระครูสุนทรสาธุกิจ (หลวงปู่ซุน ติกขปัญโญ) วัดบ้านเสือโก้ก ต.เสือโก้ก อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม