ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่คำมา ธัมมราโม
วัดบุญญานุสรณ์ บ้านบุ่งผักหนาม
ต.แม่เล่ย อ.แม่วงค์ จ.นครสวรรค์
◎ ชาติภูมิ
หลวงปู่คำมา ธมฺมราโม วัดบุญญานุสรณ์ บ้านบุ้งผักหนาม ต.แม่เลย์ อ.แม่วงก์ จ.นครสวรรค์ องค์ท่านเป็นพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบรูปหนึ่ง พื้นเพเดิมท่านเป็นคนจังหวัดมหาสาคาม ได้ออกบวชเมื่อมีครอบครัวแล้ว เมื่อวัย ๕๐ ปี และได้ถวายตัวเป็นศิษย์ในองค์ของหลวงปู่ขาน ฐานวโร ที่วัดป่าบ้านเหล่า อ.เวียงเชียงรุ้ง จ.เชียงราย
หลวงปู่คำมา ธัมมราโม ท่านชอบออกเที่ยววิเวกไปทางเขตภาคเหนือโดยอยู่อย่างเงียบๆ สันโดษเรื่อยมา แต่ก็เป็นที่รู้จักของพระกัมมัฏฐานด้วยกันในเรื่องความเด็ดเดี่ยวในทางธรรมของท่าน แม้ในวัยชราภาพ ท่านก็ยังแข็งแรง ยังคงไว้ซึ่งข้อวัตรออกรับบิณฑบาตโปรดญาติโยมอยู่ การอาพาธ เมื่อปลายปี พ.ศ. ๒๕๖๑ ท่านได้ไปตรวจพบมะเร็งในลำไส้ขั้น ๓ แต่ด้วยวัยชรามากแล้ว ท่านจึงทำการรักษาด้วยการฉันยาสมุนไพร พักฟื้นอยู่ที่วัด และรักษาด้วยธรรมโอสถ ปฏิบัติธรรมตามปฏิปทาของท่านเป็นปกติ
หลวงปู่คำมา ธมฺมราโม ท่านละสังขารลงอย่างสงบ เมื่อเวลา ๐๐.๒๓ น. ตรงกับวันพฤหัสบดีที่ ๑๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๔ สิริอายุ ๙๓ ปี ๕ เดือน ๑๑ วัน พรรษา ๔๓
◎ ลำดับการจำพรรษา
• พ.ศ.๒๕๒๑ วัดบ้านเหล่าจ.เชียงราย
• พ.ศ.๒๕๒๒ – ๒๕๒๔ วัดป่าอรัญญวิเวก จ.เชียงราย
• พ.ศ.๒๕๒๕ วัดบ้านไทรทอง จ.เชียงราย
• พ.ศ.๒๕๒๖ วัดบ้านหนองทม จ.ขอนแก่น
• พ.ศ.๒๕๒๗ วัดป่าอรัญญวิเวก จ.เชียงราย
• พ.ศ.๒๕๒๘ วัดโปร่งเคียน จ.เชียงราย
• พ.ศ.๒๕๒๙ วัดปางกื๊ด จ.เชียงใหม่
• พ.ศ.๒๕๓๐ วัดบ้านแม่ปาง จ.แม่ฮ่องสอน
• พ.ศ.๒๕๓๑ – ๒๕๓๒ วัดบ้านห้วยทราย จ.เชียงราย
• พ.ศ.๒๕๓๓ วัดช่องลมนาเกลือ จ.ชลบุรี
• พ.ศ.๒๕๓๔ – ๒๕๓๕ วัดบ้านบุ่งผักหนาม (วัดบุญญานุสรณ์) จ.นครสวรรค์
• พ.ศ.๒๕๓๖ – ๒๕๓๘ วัดสวน (วัดสุทธิทาวัน) จ.ชลบุรี
• พ.ศ.๒๕๓๙ – ๒๕๔๕ วัดบ้านบุ่งผักหนาม (วัดบุญญานุสรณ์) จ.นครสวรรค์
• พ.ศ.๒๕๔๖ – ๒๕๕๐ วัดคำตะกร้า (วัดบ้านหนองบัวสิม) จ.หนองคาย
• พ.ศ.๒๕๕๑ วัดป่าโนนสมบูรณ์(วัดป่าสันติสามัคคี) จ.หนองคาย
• พ.ศ.๒๕๕๒ – ๒๕๕๓ วัดพูเตย จ.กาญจนบุรี
• พ.ศ.๒๕๕๔ วัดสวน จ.ชลบุรี
• พ.ศ.๒๕๕๕ – ๒๕๕๖ วัดบุญญานุสรณ์ (บ้านบุ่งผักหนาม) จ.นครสวรรค์
• พ.ศ.๒๕๕๗ วัดบ้านปางลาว จ.เชียงราย
• พ.ศ.๒๕๕๘ ถึง ๒๕๖๔ วัดบุญญานุสรณ์ (บ้านบุ่งผักหนาม) จ.นครสวรรค์
◎ บัญชีบำเพ็ญกุศลถวายองค์หลวงปู่คำมา ธัมมราโม วัดบุญญานุสรณ์ ต.แม่เลย์ อ.แม่วงก์ จ.นครสวรรค์
ท่านสามารถร่วมบุญได้ที่บัญชี
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์(ธกส.)
เลขที่ 020 1 47118 657
บัญชีชื่อ วัดบุญญานุสรณ์ สาขาชุมตาบง
*บัญชีวัดนี้ได้โทรถามทางวัดแล้ว ยังทำบุญได้เช่นเคย
◎ โอวาทธรรมคำสอน หลวงปู่คำมา ธัมมราโม
“..ถ้าขาดความดีแล้ว ทุกสิ่งมันจะไม่ดีหมด ให้อยู่กับใจให้อยู่กับจิต การประพฤติปฏิบัติ ทำอย่างไรมันถึงจะปล่อยได้ ทำอย่างไรมันถึงจะวางได้ พระภิกษุเราเนี่ยให้หาทาง อย่าให้เกี่ยวข้องอะไร การนั่งสมาธิ ไม่ใช่จะเอาชื่อเสียง ไม่ใช่จะเอากายข่มเหงเอาสมาธิ ข่มรู้จิตให้เป็นสมาธิไม่ได้ ตัวนั้นมันเป็นกิเลส ปล่อยวาง นั่งไม่ให้เอียงตรงนั้น ไม่ให้เอียงตรงนี้ ไม่ให้หย่อนตรงนั้น ไม่ให้ตึงตรงนี้ “วาง” นั่งให้เสมอกันไป นั่งเฉยๆ ไปก่อน แล้วจึงว่า “พุทโธ ธัมโม สังโฆ” หายใจยาวๆ เข้า นั่งสมาธิที่เเรกๆ หายใจยาวๆ ก่อน หายใจ ๕-๗ ครั้งก่อน แล้วก็หยุดนิ่ง นั่งให้สบาย อย่าให้ยุ่มย่ามกับอะไร ทิ้งวัตถุสิ่งของอย่าให้พัวพัน นั่งต่อไปมันจะแสดงทุกข์ให้เห็น..เรานี่ พระพุทธองค์ตรัสอริยสัจ ทุกข์นี่ขึ้นก่อน มันจะไม่เห็นทุกข์ถ้ามันไม่เกิดขึ้นในเวลาทำจิต มันต้องเกิดขึ้นให้เห็น เดี๋ยวก็เจ็บหลัง เดี๋ยวก็เจ็บเอว เจ็บแข้งเจ็บขา มึนหัวมึนหน้า มันมีอยู่อย่างนั้น กายมันเป็นอย่างไรมันก็เป็นได้ เป็นเวลาไหนก็เป็นได้ เป็นกลางวันก็เป็นได้ เป็นกลางคืนก็เป็นได้ จิตนี่อย่าไปผูกพัน ที่มันเป็นเวลานั่งสมาธินี่ อย่าเอาจิตไปผูกพันที่เวทนา ให้เอามาไว้กับ “พุทโธ ผู้รู้” เข้าใจมั้ย นั่งอย่าไปเกี่ยวข้องกับอะไรปล่อยวางตลอดไป
สิ่งที่หาได้อยู่ทุกวัน เต็มบ้านเต็มเรือนอยู่นั้น มาหาได้ข้างหน้านี้ เรามาได้แต่ตัว ผ้าผืนหนึ่งก็ไม่ได้มาด้วย นี่ วัตถุสิ่งของก็ไม่ได้ติดตัวมา ถ้าเราออกจากร่างหยาบนี้ จะไป วัตถุสิ่งของอะไรก็ไม่ได้เอาไปซักอย่าง เขาไปทิ้งเลย ร่างกายอสุภะ ความเปื่อยเน่าพุพอง เขาไปสุมไฟทิ้งเลย ไปแต่จิต อันนี้เลย มาทำบุญอยู่นี้ นี้แหละ สิ่งอื่นนำพาไปไม่ได้ วัตถุสิ่งของนำพาไปไม่ได้ เพราะอะไร เพราะมันเป็นของโลก
ธรรมคำสอนของพระพุทธองค์จะเป็นบุญเป็นกุศลนำส่งไปถึงต่อปราสาทวิมาน ให้มีขันติ อดทนต่อการประพฤติปฏิบัติ กล้าทำ กล้าสู้ มันจะเป็นอะไรมากก็กล้าสู้ อย่าให้มันขาด เราทำ เราจะทำเล่นๆ ไม่ได้ เพราะธรรมจริง พระธรรมของพระพุทธองค์ตรัสไว้เป็นของจริง เราต้องทำจริง ธรรมแท้เราต้องทำแท้ อย่าไปเห็นแก่หลับแก่นอนนะ ภิกษุเรานะ เรานอนมานานแล้ว หลังเปแล้วใช่ไหม ผู้นอนมาพอแรงแล้วไม่เห็นได้อะไรหรอก เออ..กูจะเอาตายในการปฏิบัตินี้นะ เอาสู้หน้าไปเลย วันนี้ได้ ๓๐ นาที ๔๐ นาที ๕๐ นาทีขึ้นไป ต่อไปนั่ง ๖ โมงเย็นถึง ๖ โมงเช้า นี่ แข็งๆ ขึ้นไป มันจะได้อย่างไรก็ตามจริตนิสัยของเรา ได้น้อยก็เอาน้อย ไม่ได้อะไรเราก็นั่งเอาทำเอา นั่งไปอย่ากระวนกระวายตามนั่ง มันจะวนกระวายทางจิตก็ดูเอา มันกระวนกระวายไปทางไหน ทางกามคุณทั้ง ๕ ก็ดูเอา ทางรูป เสียง กลิ่น รส โผฎฐัพพะ ธัมมารมณ์ทางนั้นหรือ อันนั้นมันเป็นของโลก…ไม่ต้องไป
บอกมัน…เดี๋ยวนี้มาทำอริสัจ วิปัสสนา กรรมฐาน อยากรู้ความทุกข์ ความทรมานของมนุษย์ ของอริยสัจ ทำตามหน้าที่ของพระพุทธองค์ นั่งสมาธิภาวนา บูชาคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ นั่งก็บอกพุทโธ ธัมโม สังโฆ จะขอนั่งสมาธิ บูชาคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จะเดินจงกรมก็ถอดรองเท้าตรงหัวทางจงกรม ยืนขึ้นพนมมือไหว้พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ผมจะเดินจงกรมถวายคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ คุณบิดา คุณมารดา ขอให้คุ้มครองกระผม ขอให้การประพฤติปฏิบัติก้าวหน้า ในใจเรา แล้วก็เดินต่อ อย่าเอาจิตออกจากทางจงกรม อย่าเอาตาออกจากทางจงกรม เดี๋ยวจะเหยียบตะขาบ เดี๋ยวจะเหยียบงู เพราะมันอยู่ป่าอยู่ดง หลวงปู่เคยมีประสบการณ์มาแล้ว อสรพิษมันแสดงความกล้าหาญของมัน มันไม่เกรง
เนี่ยแหละ…เรามาทำบุญก็ให้รู้จักว่าบุญ มารักษาศีลก็ให้รู้จักว่าศีล วันนี้เรามาทานศีล ออกไปจากศีลเรารู้ไหม ข้อห้ามเรารู้ไหม ข้ออนุญาตแล้วรู้ไหม อย่างข้อมุสา ออกไปนี่ไปโกหกเขา เขาไม่รู้นะ แต่เรารู้ จิตมันจดเอาไว้แล้ว จดเอาไว้แล้วจิต ออกจากร่างนี้ไปนี่มันจะบอกหมดเลยนะ ไปทำบุญกี่ครั้ง ไปทำบาปกี่ครั้ง มันโกหกไม่ได้เลยนะ มันโกหกได้ก็แต่ตอนนี้ นี่แหละ ห้าม ตำหนิติเตียนคนอื่น ดูถูกคนอื่น ว่ากล่าวคนอื่น สามีภรรยาว่ากัน อย่าเลยทีนี้ มาทำบุญแล้วให้ได้บุญ บุญคือความดี มันจะเป็นลูกโซ่ติดไปภพหน้าอีก มันจะไม่ได้ไปทางพ่อพระอินทร์ ถ้าเรายังติเตียนว่ากล่าวชาวบ้านเขาอยู่ เลิกซะ ทุกๆ คนทำความดีหวังความดีแล้ว ให้มันมีบุญมีความดีเอาไว้ สิ่งตำหนิติเตียนอย่าให้มีในใจต่อไป นะ มันถึงจะเป็นบุญ ถ้ามันยังมีติเตียนอยู่ มันยังมีความโศกเศร้ามีความยึดมั่นถือมั่นอยู่ การติเตียนคือความโกรธ ก็เลยมีกรรมเป็นลูกโซ่ กัมมะโยนิ กัมมะพันธุ กัมมะปะฏิสะระโณ มันจะเป็นกรรมไปเรื่อยไป ออกจากนี่มันก็ต่อไปหน้าอีก
ทำให้มันขาด ว่าง ปลง เลิก ลด ละ สิ่งที่เป็นพิษเป็นภัย เข้าใจไหม ขอให้ตั้งใจต่อไป อย่ามีพิษ มีภัย ไปทางไหนก็ขอให้ได้ความดีต่อไป ทุกสิ่งทุกอย่างจะดีขึ้น..”
ที่มา : ขอขอบคุณข้อมูลจากเพจ : ท่องถิ่นธรรม พระกัมมัฏฐาน