ตำนานประวัติ หลวงพ่อพระเสี่ยง
วัดมณีโคตร
ต.จุมพล อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย
“หลวงพ่อพระเสี่ยง” พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองโพนพิสัย ที่ผู้คนให้ความเคารพกราบไหว้ขอพรอย่างสม่ำเสมอไม่ขาดสาย ประดิษฐานอยู่ที่ วัดมณีโคตร ตำบลจุมพล อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย
พระเสี่ยง หรือ หลวงพ่อพระเสี่ยง เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หล่อจากทองสัมฤทธิ์ หน้าตัก ๘ นิ้ว สูง ๒๔ นิ้ว หนักประมาณ ๑๐๐ กิโลกรัม เป็นพระพุทธรูปศิลปล้านช้างที่เก่าแก่และสวยงามมาก
ตามตำนานได้กล่าวไว้ว่า หลวงพ่อพระเสี่ยง เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ที่กษัตริย์ล้านช้างสร้างขึ้นให้เป็นพระเสี่ยงทายประจำเมือง และใช้เป็นพระเสี่ยงทายในโอกาสเสด็จขึ้นครองราชย์ หรือมีเหตุการณ์สำคัญ ในโอกาสต่าง ๆ
อีกตำนานได้กล่าวว่า หลวงพ่อพระเสี่ยง ป็นพระพุทธรูปประจำวันเกิดของธิดาเจ้าเมืองล้านช้าง เมืองหลวงพระบาง เดิมชื่อเสียงแต่จะเป็นวันเดือนปีใดไม่ปรากฏ แต่เป็นพระพุทธรูปที่มีอยู่ในเมืองหลวงพระบาง มานานหลายสมัยสืบทอดกันมา เนื่องจากการรบราฆ่าฟันกัน พระพุทธรูป (องค์นี้) จึงได้ตกมาอยู่เมืองเวียงจันทน์ เมื่อ พ.ศ.๒๓๒๑ (สมัยรัชการที่ ๑) ไทยยกทัพไปตีนครเวียงจันทน์ พระเจ้าธรรมวงศ์แห่งเวียงจันทน์นำพระเสี่ยงไปไว้ที่เมืองเชียงคำ ต่อมาได้นำไปไว้ที่วัดโพนชัย เมืองเวียงจันทน์ ส.ปป ลาว อีก
ต่อมาปีพ.ศ. ๒๓๖๙ (สมัยรัชกาลที่ ๓) เจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์เป็นกบฏ ทางกรุงเทพฯได้ส่งกองทัพไปปราบ ฝ่ายลาวรู้ว่าทางกองทัพไทยเข้ามาตีเอาเวียงจันทน์ จึงมีผู้นำเอาพระเสี่ยงไปหลบซ่อนไว้ในถ้ำภูเขาควายใกล้เมืองมหาชัยเสียก่อน เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๐๐ กิติศัพท์ข่าวลือเกี่ยวกับอภินิหารของพระเสี่ยงได้ทราบไปถึงพระกรรณของพระปรเมนทรมหามงกุฏ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ จึงได้ส่งราชเสวกซึ่งเป็นเชื้อชาติลาว ชื่อ “โสฌังกูร” ไปยังแค้วนลาวด้วยพระราชกรณียกิจบางอย่าง ไปถึงเมืองมหาชัย จึงอ้างพระบรมราชโองการอัญเชิญเอาพระพุทธรูปที่สำคัญ มาพร้อมกันมี พระใส พระแสน พระเสริม พระสุก และ พระเสี่ยง ใส่แพลองมาตามลำน้ำงึม ขณะที่ล่องแพมานั้น เมื่อมาถึงปากน้ำงึมกลางแม่น้ำโขง พระสุกได้แสดงอภินิหารเกิดพายุแรง แพแตก พระสุกจมลงกลางแม่น้ำโขง ตรงบ้านปากเป อำเภอโพนพิสัย พวกเราจึงไม่เคยเห็นพระสุก จะเป็นองค์เล็กองค์ใหญ่ ไม่มีใครจดบันทึกไว้ ต่อจากนั้นก็นำเอาพระใส พระแสน พระเสริม และพระเสี่ยงใส่แพขึ้นมาตามลำน้ำโขง
จนกระทั่งถึงเมืองปากห้วยหลวง (ปัจจุบันคือ อำเภอโพนพิสัย) ได้อัญเชิญพระพุทธรูปทั้งหมด ประดิษฐานไว้ที่วัดปากห้วยหลวง (ปัจจุบันคือ วัดมณีโคตร) อำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย เพื่อเตรียมอัญเชิญเข้าสู่เมืองหลวงของสยามประเทศ ตามคำบัญชาของพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ แห่งอาณาจักรสยาม โดยอัญเชิญพระเสี่ยงขึ้นบนหลังช้าง ซึ่งพระเสี่ยงได้แสดงอภินิหาร ทำให้ช้างหนักจนไม่สามารถเดินทางไปได้ แล้วตกลงจากหลังช้าง เป็นเหตุให้พระกรรณบิ่น พระเกศคด ชาวเมืองจึงเชื่อว่า “วัดมณีโคตร” น่าจะเป็นสถานที่ประดิษฐานถาวร จึงได้อัญเชิญเอา “พระเสี่ยง” เอาพระเสี่ยงประดิษฐานไว้ที่วัดมณีโคตร ต.จุมพล อ.โพนพิสัย จ.หนองคาย ตั้งแต่บัดนั้นจวบจนกระทั่งถึงปัจจุบัน
ดังนั้น หากไม่มองในเรื่องปาฏิหาริย์ ก็อาจแสดงนัยถึงในการต่อต้านอำนาจรัฐ ที่คนโบราณมีวิธีการบรรยายให้คลาสสิค และบัวไม่ช้ำน้ำไม่ขุ่นอีกด้วย
• วัดมณีโคตร จึงมีความเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ลาว เช่นเดียวกับ พระสุก พระเสริม พระใส เนื่องจากเป็นพระพุทธรูปสำคัญที่ล่องแพตามลำนํ้างึมมายังประเทศไทย ตามหลักศิลาจารึกด้วยตัวหนังสือไทยน้อย โดยได้กล่าวว่าพระโพธิวรวงศาได้มีพระราชโองการอุทิศที่ดินแก่วัดที่เมืองปากห้วยหลวง (ชื่อเดิมของอำเภอโพนพิสัย)
ข้อความจารึกด้านที่ ๒ บรรทัดที่ ๒๐ ระบุ จ.ศ. ๙๖๓ ซึ่งตรงกับ พ.ศ. ๒๑๔๔ อันเป็นสมัยที่พระวรวงศาธรรมิกราชปกครองราชอาณาจักรล้านช้าง (พ.ศ. ๒๑๔๑-๒๑๖๕) (ในหนังสือ จารึกในประเทศไทย กำหนดอายุจารึกหลักนี้เป็น พ.ศ. ๒๑๑๘)
ต่อมาทางการได้เปลี่ยนชื่อ วัดปากห้วยหลวง เป็น วัดมณีโคตร คำว่า “มณีโคตร แปลว่าแก้วอันมีค่า” วัดมณีโคตรจึงแปลว่าวัดที่มีมณีอันมีค่ามาก ภายในวัดมีพระอุโบสถและพระธาตุสำคัญ
งานประเพณีเกี่ยวกับหลวงพ่อพระเสี่ยง คือ งานสงกรานต์ วันที่ ๑๓ เมษายน และงานบุญบ้องไฟ ในวันเพ็ญเดือน ๖ ของทุกปี ถือเป็นประเพณี ที่สำคัญของชาวโพนพิสัยปฏิบัติสืบกันมาจนถึงปัจจุบัน และมีคำขวัญว่า
“หลวงพ่อพระเสี่ยงคู่บ้าน ปรากฏการณ์บั้งไปพญานาค”
• คำนมัสการหลวงพ่อพระเสี่ยง
อะระหัง พุทโธ มะหาปัญโญ มะหาลาโภ พุทธัง ธัมมัง สัมพุทโธ ภะคะวา
◎ วัตถุมงคล