วันอังคาร, 26 พฤศจิกายน 2567

หลวงปู่มหาทองสุก สุจิตโต วัดป่าสุทธาวาส อ.เมือง จ.สกลนคร

ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่มหาทองสุก สุจิตฺโต

วัดป่าสุทธาวาส
อ.เมือง จ.สกลนคร

พระมหาทองสุก สุจิตฺโต วัดป่าสุทธาวาส

พระครูอุดมธรรมคุณ (หลวงปู่มหาทองสุก สุจิตโต) แห่งวัดป่าสุทธาวาส จ.สกลนคร ท่านเป็นพระมหาที่มีปฏิปทาของนักต่อสู้ในทางธรรมอย่างผู้อาจหาญ

ท่านได้ต่อสู้ผจญภัยในท่ามกลางถิ่นทุรกันดาร เพื่อติดตามหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ซึ่งการติดตามนั้นรู้ได้ว่าหลวงปู่มั่น คือ ธรรมทายาทที่แก่กล้าสามารถยิ่งองค์หนึ่ง

และการแสวงหาโพธิ์ทองแห่งชีวิตในครั้งนั้น ท่านแทบเอาชีวิตไม่รอด เกือบต้องตายจากโรคภัยไข้เจ็บเสียก็หลายครั้ง ความตั้งใจจริงของท่านนั้น มีชีวิตเป็นเดิมพัน

ท่านพระมหาทองสุก สุจิตโต เคยพูดอยู่ทุกครั้งว่า..

“ผู้บวชเป็นพระครองผ้าเหลือง ได้ชื่อว่าสมณศากยบุตร ต้องรักษาพระวินัยยิ่งกว่าชีวิต พระภิกษุนั้นจะต้องปฏิบัติตามพระธรรมวินัย จึงจะเป็นพระที่ดี ถ้าล่วงพระวินัยแล้วเป็นพระเลว”

พระภิกษุสงฆ์ที่ยอมเสียสละได้ทุกสิ่งทุกอย่าง แม้แต่ร่างกายก็ต้องเสียสละเพื่อพระ ธรรมวินัยนี้เป็นปฏิปทาของท่านพระมหาทองสุก สุจิตโต พระผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบองค์นั้น

สัทธานุสารี..ได้แก่ท่านที่ บรรลุธรรม เพราะมีศรัทธาอันแรงกล้า คงจะไม่เกินท่าน

พระมหาทองสุก สุจิตโต นามเดิมท่านชื่อ ทองสุก มหาหิง ท่านเกิดเมื่อวันที่ ๘ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๕๑ ตรงกับวันศุกร์ ขึ้น ๙ ค่ํา เดือน ๖ ปีวอก ณ บ้านตําบลห้วยป่าหวาย อําเภอหนองโดน จังหวัดสระบุรี (ปัจจุบัน เป็นอําเภอพระพุทธบาท)

บิดาชื่อ นายเกลี้ยง มหาหิง มารดาชื่อ นางบุญมี มหาหิง อาชีพ ทํานา-สวน

อายุ ๑๖ ปี บิดามารดาได้นํามาถวายวัด เพื่อบรรพชาเป็นสามเณร ท่านได้รับความเมตตาจากพระผู้กระเดื่องนามแห่งยุค

คือ ท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท) เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๖๖

พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท ป.ธ.๔)
พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท ป.ธ.๔)

เมื่อบวชแล้วท่านได้มาอยู่จําพรรษา ณ ดินแดนนักปราชญ์ วัดปทุมวนาราม กรุงเทพฯ

ขณะเป็นสามเณรท่านก็ได้ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยด้วยความขยันหมั่นเพียร ไม่เคยลืมอดีตว่าการบวชเข้ามานี้เพื่อ ประสงค์อะไร ?…

ต่อมาอายุครบบวช ท่านได้เข้าอุปสมบท ณ วัดปทุมวนาราม เมื่อวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ ๒๔๗๐ โดยมี ท่านเจ้าคุณพระปัญญาพิศาลเถร (หนู) เป็นพระ อุปัชฌาย์ พระปลัดบุญมี อินทเชฏฐโก เป็นพระกรรมวาจาจารย์

พระปัญญาพิศาลเถร (หนู ฐิตปุญฺโญ)
พระปัญญาพิศาลเถร (หนู ฐิตปุญฺโญ)

เมื่อบวชเป็นพระภิกษุทองสุก สุจิตโต แล้ว ท่านได้เล่าเรียนศึกษาพระปริยัติธรรมต่อไป จนสอบธรรมเปรียญ ๓ ประโยคได้

ท่านพระอาจารย์มหาทองสุก ได้รับหน้าที่สนองคุณครูบาอาจารย์ดังนี้

๑. เป็นครูสอนธรรมที่วัดเจดีย์หลวง จ.เชียงใหม่ เป็นเจ้าอาวาสวัดทรายงาม จันทบุรี (หลวงปู่กงมาได้สร้างไว้)
๒. เป็นเจ้าอาวาสวัดป่าบ้าน ห้วยหีบ จ.สกลนคร
๓. เป็นเจ้าอาวาส วัดป่าสุทธาวาส จ.สกลนคร

ณ วัดเจดีย์หลวง จ.เชียงใหม่ ท่านพระอาจารย์มหาทองสุก สุจิตโต ได้มีโอกาสเข้า นมัสการ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต เพราะหลวงปู่มั่นท่านเป็นเจ้าอาวาส วัดเจดีย์หลวง มีสมณศักดิ์ พระครูวินัยธร

นับได้ว่าบุญกุศลที่ท่านเคย ประพฤติปฏิบัติธรรมมาแต่อดีตชาติก็เป็นได้ บัดนี้ท่านได้พบพระบุพพาจารย์ฝ่ายสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน ซึ่งสามารถอบรมสั่งสอนท่านให้พ้นความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ได้อย่างสิ้นเชิง

ท่านพระอาจารย์มหาทองสุก ขณะที่ท่านอยู่วัดเจดีย์หลวงนี้ ท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น พระครูอุดมธรรมคุณ และได้เลื่อนเป็นพระครูชั้นเอกอีกด้วย แต่พระกรรมฐาน ศีล สมาธิ ปัญญาธรรม ได้ฝังลึกลงรากสู่กั้นบึงจิตใจเสียแล้ว ท่านมองดูการเดินธุดงค์จากไปของหลวงปู่มั่น อย่างแสนเสียดาย เพราะจะตามไปในขณะนั้นไม่ได้

ท่านคิดแล้วว่า..“เอาละ ไปเหมือนกัน กับตําแหน่งหน้าที่ จะเสียดายอะไรกัน ไม่ใช่ทางหลุดพ้นเลย”

ท่านพระอาจารย์มหาทองสุก จึงเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ลาออกจากตําแหน่งตามขั้นตอน แล้วท่านก็แบกกลดสะพายบาตร ออกมุ่งหน้าติดตามหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต

ชีวิตที่สละแล้ว ไม่มีตัวตนอีกแล้ว นอกจากความตั้งใจประ พฤติปฏิบัติธรรมหาความหลุดพ้นในระยะแรกๆ ก็มีความกลัวอยู่บ้าง เพราะกิเลสนั้นขัดเกลาออก จากจิตใจชนิดค่อยขัดค่อยเกลา แต่นานไปความอดทนรู้สภาวธรรมแล้วท่านวางใจจนหมดสิ้น

ธรรมะ ต้องทุ่มเทชีวิตจิตใจลงไป จึงจะแลกมาได้เป็นของๆตน ความนึกคิดมีอยู่ว่า “ถ้าจะตาย ก็ขอตายในสมาธิ ขอถวายชีวิต”

ท่านหลวงปู่มหาทองสุก สุจิตโต มีความพากเพียรเป็นเลิศ ท่านไม่ได้ฉันอาหารหลายวัน เพราะเดินหลงป่า บางคราวเบื้องบนก็มาทดสอบจิตบ้างตามธรรมเนียม อย่างที่เรียกว่า “รับน้องใหม่” เดินอยู่กลางป่า เกิดพายุฝน ลูกเห็บ งูพิษ เสือ ช้าง บางครั้งต้นไม้โตๆล้มทับกุฏิโครมเดียวกุฏิแหลกเป็น ชิ้นเล็กชิ้นน้อย แล้วท่านต้องยืนเจริญภาวนาท่ามกลางพายุลมฝน อันหนาวสะท้าน

การติดตาม หลวงปู่มั่น มิใช่ของง่าย เพราะต่างคนต่างเดิน เมื่อไปถึงควรจะได้พบ กลับคว้าน้ําเหลวเพราะท่านได้ออกธุดงค์ไปแล้ว แม้ไม่มีจิตใจที่อดทนศรัทธาจริงแล้ว ย่อมทําไม่ได้อาจเสียผู้เสียคนเพราะหมดสัจจะ

ท่านพระอาจารย์มหาทองสุก องค์นี้ได้ต่อสู้ทนลําบากลําเค็ญอย่างแสนสาหัส จนที่สุดท่านก็ได้พบกับความเป็นจริง ได้พบกับยอดธรรมขั้นสูง ซึ่งยากที่จะอธิบาย

นี้แหละบุตรพระตถาคตเจ้าผู้บริสุทธิ์ ท่านได้ขัดเกลา กิเลสออกจากจิตใจได้จนหมดเชื้อ น่ากราบไหว้บูชายิ่ง…!

ณ บ้านแม่กน ท่านได้อยู่ปฏิบัติธรรมกับพระคณาจารย์ ถึง ๔ ท่าน คือ หลวงปู่มั่น หลวงปู่ขาว อาจารย์มนู อาจารย์สาร และอาจารย์มหาทองสุก นับได้ว่าธรรมะในครั้งนั้นเป็นประโยชน์ ต่อมาไม่ขาดสาย

ท่านได้ออกแสดงเผยแพร่ธรรมปฏิบัติจนสุดท้ายแห่งชีวิตของท่าน ชาตินักรบยอมตายกลางสนามแม้จะตรากตรําเพียงใดท่านก็ไม่หวั่นไหว เมื่อความตายมาถึงท่านก็ยิ้มรับด้วยจิตใจชื่นบาน เพราะท่านเป็นผู้ชนะกิเลสจนหมดสิ้นแล้ว

หลวงปู่มหาทองสุก สุจิตโต ได้มรณภาพเมื่อวันที่ ๑๖ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๐๘ เวลา ๐๖.๐๔ นาฬิกา ณ โรงพยาบาลศิริราช กรุงเทพฯ