ตำนาน ประวัติ
หลวงพ่อองค์ตื้อ (พระเจ้าองค์ตื้อ)
วัดศรีชมภูองค์ตื้อ
อ.ท่าบ่อ จ.หนองคาย
หลวงพ่อพระเจ้าองค์ตื้อ พระพุทธรูปองค์นี้ได้ก่อสร้างมาแต่ดึกดำบรรพ์มีพระรูปงดงามน่าเลื่อมใส สร้างในสมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราชครองเมืองเวียงจันทร์ พระสงฆ์ในวัดศรีชมภูองค์ตื้อได้ประชุมปรึกษาหารือกัน ลงมติจะหล่อพระพุทธรูปองค์นี้ขึ้นในบ้านน้ำโมง (เดิมเรียกว่าบ้านน้ำโหม่ง) เพื่อเป็นที่เคารพสักการะแก่อนุชนรุ่นหลังต่อ ๆ มา เมื่อตกลงกันแล้วจึงได้ชักชวนบรรดาพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย เพื่อเรี่ยไรทองเหลืองบ้าง ทองแดงบ้าง ตามแต่ผู้ที่มีจิตศรัทธาจากท้องที่อำเภอและจังหวัดใกล้เคียง ได้ทองหนักตื้อหนึ่ง (มาตราโบราณภาคอีสานถือว่า ๑๐ ชั่งเป็นหมื่น ๑๐ หมื่นเป็นแสน ๑๐ แสนเป็นล้าน ๑๐ ล้านเป็นโกฏิ ๑๐ โกฏิเป็นหนึ่งกือ ๑๐ กือเป็นหนึ่งตื้อ) พระสงฆ์และชาวบ้านจึงพร้อมกันหล่อ เป็นส่วน ๆ ในวันสุดท้ายเป็นวันหล่อตอนพระเกศ ในตอนเช้าได้ยกเบ้าเทแล้วแต่ไม่ติด เมื่อเอาเบ้าเข้าเตาใหม่ ทองยังไม่ละลายดีก็พอดีเป็นเวลาจวนพระจะฉันเพล
พระทั้งหมดจึงทิ้งเบ้าเข้าเตาหรือทิ้งเบ้าไว้ในเตาแล้วก็ขึ้นไปฉันเพลบนกุฏิฉันเพลเสร็จแล้วลงมาหมายจะเทเบ้าที่ค้างไว้กลับปรากฏเป็นว่ามีผู้เทติด และตอนพระเกศสวยงามกว่าที่ตอนจะเป็น เป็นอัศจรรย์สืบถามได้ความว่า (มีชายผู้หนึ่งนุ่งห่มผ้าขาวมายกเบ้านั้นเทจนสำเร็จ) แต่ด้วยเหตุที่เบ้านั้นร้อนเมื่อเทเสร็จแล้ว ชายผู้นั้นจึงวิ่งไปทางเหนือบ้านน้ำโมงมีผู้เห็นยืนโลเลอยู่ริมหนองน้ำแห่งหนึ่งแล้วหายไป (หนองน้ำนั้นภายหลังชาวบ้านเรียกว่าหนองโลเลมาจนถึงปัจจุบันนี้ และชายผู้นั้นก็เข้าใจกันว่าเป็นเทวดามาช่วยสร้าง) เมื่อได้นำพระพุทธรูปที่หล่อแล้วมาประดิษฐานไว้ในวัด มีขุนนางชั้นผู้ใหญ่แห่งเมืองเวียงจันทร์มาเที่ยวบ้านน้ำโมงสองท่านชื่อว่า ท่านหมื่นจันทร์ กับ ท่านหมื่นราม ทั้งสองท่านนี้ได้เห็นพระเจ้าองค์ตื้อก็เกิดศรัทธาเลื่อมใสที่จะช่วยเหลือ จึงได้ช่วยกันก่อฐาน และทำราวเป็นการส่งเสริมศรัทธาของผู้สร้าง ครั้นเมื่อขุนนางทั้งสองได้กลับถึงเมืองเวียงจันทร์แล้ว ได้กราบทูลพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ซึ่งครองเมืองเวียงจันทร์ในเวลานั้น พระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ได้เสด็จมาทอดพระเนตรก็ทรงเกิดศรัทธา จึงได้สร้างวิหารประดิษฐานกับแบ่งปันเขตแดนให้เป็นเขตข้าทาสบริวารของพระเจ้าองค์ตื้อดังนี้
๑. ทางตะวันออกถึงบ้านมะก่องเชียงขวา (ทางฝั่งซ้ายตรงข้ามอำเภอโพนพิสัย จังหวัดหนองคาย)
๒. ทางตะวันตกถึงบ้านหวากเมืองโสม (อำเภอน้ำโสม จังหวัดอุดรธานี)
๓. ทางทิศใต้ถึงบ้านบ่อเอือดหรือบ่ออาด (อยู่ในอำเภอเพ็ญ จังหวัดอุดรธานี)
๔. ทางเหนือไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจน คาดว่าน่าจะเป็น บ้านพานพร้าว อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย และเมือง “กินายโม้” ส.ป.ป.ลาว ในปัจจุบัน
พลเมืองที่อยู่ในเขตข้าทาสของพระเจ้าองค์ตื้อตั้งแต่เดิมมาต้องเสียส่วยสาอากรให้แก่ทางราชการ แต่เมื่อตกเป็นข้าทาสของพระเจ้าองค์ตื้อ โดยผู้ใดประกอบอาชีพทางใดก็ให้นำสิ่งนั้นมาเสียส่วยให้แก่วัดศรีชมพูองค์ตื้อทั้งสิ้น เช่น ผู้ใดเป็นช่างเหล็กก็ให้นำเครื่องเหล็กมาเสีย ผู้ใดทำนาก็ให้นำข้าวมาเสีย ผู้ใดทำนาเกลือก็ให้เอาเกลือมาเสียทางวัดก็มีพนักงานคอยเก็บรักษาและจำหน่ายประจำเสมอ ที่ด้านหน้าของพระวิหารมีตัวหนังสือไทยน้อยหรือหนังสือลาวเดี๋ยวนี้อยู่ด้วย แต่เวลานี้เก่าและลบเลือนมากอ่านไม่ได้ความติดต่อกัน พระเจ้าองค์ตื้อเป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ฝีมือช่างฝ่ายเหนือและล้านช้างผสมกัน นับเป็นพระพุทธรูปที่มีลักษณะงดงามมาก เป็นพระประธานซึ่งสร้างด้วยทองสัมฤทธิ์องค์ใหญ่ที่สุดในจังหวัดนั่งขัดสมาธิปางมารวิชัยหน้าตักกว้าง ๓ เมตร ๒๙ เชนติเมตร สูง ๔ เมตร ประดิษฐานอยู่ที่วัดศรีชมภูองค์ตื้อ ตำบลน้ำโมง อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย เป็นพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์ที่มีประชาชนทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขง เคารพนับถือมาก สร้างในสมัยใดและใครเป็นผู้สร้างไม่มีประวัติแน่ชัด แต่พอจะถือหลักฐานได้ดังนี้
หลักฐานการสร้างที่ชาวบ้านเชื่อถือกันทุกวันนี้ซึ่งได้จากศิลาจารึกเขียนเป็นตัวธรรม เป็นภาษาไทยน้อยมีรอยเลอะเลือน แต่พอเก็บข้อความได้ดังนี้
ประวัติในหินศิลาจารึกเรื่องหลวงพ่อพระเจ้าองค์ตื้อ บ้านน้ำโมง ถอดความจากอักษรตัวธรรม หรือภาษาไทยน้อยได้ว่าดังนี้
๑. สร้างเมื่อพุทธศักราช ๒๑๐๕ พระวรรษา
๒. พระไชยเชษฐาเป็นลูกเขยพระยาศรีสุวรรณ ภรรยาของพระไชยเชษฐาคือ พระนางศรีสมโพธิ มีลูก ๔ คน เป็นชาย ๓ คน เป็นหญิง ๑ คน
๓. พระไชยเชษฐา เกิดที่เมืองเวียงคุก ภรรยาเกิดที่เมืองจำปา ( บ้านน้ำโมง ) ในปัจจุบันนี้
๔. นามวัด โกศีล สร้างได้ ๑ปี ๓ เดือน สมภาร ชื่อ พระครูอินทราธิราช อายุ ๓๔ ปี พรรษา ๑๕ มีพระอยู่ด้วย ๑๒ รูป สามเณร ๕ รูป
๕. ทางวัดโกศีล ทางยาว ๑ เส้น ๕ วา กว้าง ๑ เส้น ๑๐ วา
๖. วัดโกศีล เป็นวัดที่สำคัญมากกงจักรเกิดที่วัดนี้ พระไชยเชษฐาจึงเลื่อมใสจึงชักชวนคณะที่มีศรัทธารวม ๘ คน สร้างพระพุทธรูปใหญ่หน้าตัก กว้าง๓ เมตร สูง ๔ เมตร รายนามบุคคลทั้ง๘ คือ
พระไชยเชษฐา ท้าวอินทราธิราราช ท้าวเสนากัสสะปะ ท้าวอินทร ท้าวเศษสุวรรณ ท้าวพระยาศรี ท้าวดามแดงทิพย์ ท้าวอินสรไกรยสิทธิ์ รวมเป็นคน ๑๒ ภาษาที่มาร่วมกันสร้าง พระไชยเชษฐาเป็นคนหล่อ
๗. พระไชยเชษฐาจึงป่าวร้องบริวาร ๕๐๐ คนมาช่วยหล่อ เป็นทองเหลือง เงิน และคำผสมกันน้ำหนักได้หนึ่งตื้อ ทำพิธีหล่อเท่าไรก็ไม่สำเร็จ ต่อเมื่อพระอินทร์และเทพยุดา ๑๐๘ องค์มาช่วยหล่อจึงสำเร็จ
๘. วัดโกศีล ตั้งอยู่ริมแม่น้ำโขง สร้างอยู่ ๗ ปี ๗ เดือน จึงสำเร็จเป็นหลวงพ่อองค์ตื้อ
๙. เมื่อหล่อแล้ว มีอภินิหารเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ถึง ๑๐๐ อย่าง
๑๐. พระพุทธรูปองค์นี้สิ้นเงิน ๑๐๕,๐๐๐ ชั่ง
๑๑. บ้านที่ขึ้นเป็นบริวารมี ๑๓ บ้านคือ เมืองเวียงคุก กองนาง กำพร้า จินายโม้ ปากโค พานพร้าว ศรีเชียงใหม่หนองคุ้งยางคำ หนองแซงศรี สามขา ท่าบ่อ พร้าว บ่อโอทะนา
◎ ข้อวินิจฉัยในศิลาจารึก
• ในหลักศิลาจารึกข้อที่ ๑ ว่า สร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๑๐๕ นั้น ขัดต่อความเป็นจริง เพราะพระพุทธศาสนาเริ่มแพร่เข้ามาในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ. ๓๐๐ ล่วงแล้วเลข พ.ศ. ข้างหน้าที่ลบเลือนนั้นคงจะเป็น พ.ศ. ๒๑๕๐ เพราะในระหว่าง พ.ศ. ๒๑๐๕ อยู่ในระยะรัชสมัยของพระไชยเชษฐาแห่งเมืองเวียงจันทร์ ซึ่งเป็นระยะไล่เลี่ยกันกับที่พระไชยเชษฐา ได้ร่วมกับกรุงศรีอยุธยาสร้างเจดีย์ ศรีสองรักษ์ขึ้นที่อำเภอด้านซ้าย ในจังหวัดเลย ปัจจุบันนี้ก็ยังคงอยู่พอจะอนุมานได้ว่า ผู้สร้างวัดศรีชมภูองค์ตื้อ คงเป็นพระเจ้าชัยเชษฐาแน่
• ในศิลาจารึกข้อที่ ๒ ที่ว่าพระไชยเชษฐาเป็นลูกพระยาศรีสุวรรณนั้น ขัดกับพระราชพงศาวดาร เพราะพระไชยเชษฐาธิราช ซึ่งเป็นเจ้าผู้ครองเวียงจันทร์นั้น เป็นบุตรพระยาโพธิสาร ดังแจ้งในพงศาวดาว่าพระยามหาพรหมราช เจ้าเมืองเชียงใหม่ถึงแก่พิลาลัยเมื่อ พ.ศ. ๒๐๘๒ พระโอรสทรงนามว่า เจ้าทรายดำ ได้ครองเชียงใหม่อยู่ ๓ปีก็ทิวงคต ไม่มีโอรสราชนัดดาสืบสันติวงศ์ เสนาบดีเมืองเชียงใหม่ลงไปเฝ้าพระเจ้าล้านช้าง พระเจ้าล้านช้างพร้อมเจ้าเชษฐาวงศ์ ไปเยี่ยมพระศพถึงเชียงใหม่ และต่อมาในปี พ.ศ. ๒๐๙๑ เสนาพฤฒามาตย์พร้อมกันยกราชสมบัติให้เจ้าเชษฐวงศ์เป็นเจ้าเชียงใหม่ ทรงพระนามว่าพระไชยเชษฐาธิราช พระยาโพธิสารเสด็จกลับหลวงพระบางได้ ๒ ปี ก็ทิวงคตในปี พ.ศ. ๒๐๙๓ พระไชยเชษฐษธิราชจึงกลับไปครองนครล้านช้าง (จากหนังสือฝั่งขวาแม่น้ำโขง) ข้อนี้ไม่มีหลักฐาน พระยาศรีสุวรรณกัลป์พระยาโพธิสารอาจเป็นคน ๆ เดียวกันก็ได้
• ในศิลาจารึกข้อที่ ๓ ว่า พระไชยเชษฐาเกิดที่เมืองเวียงคุก ไม่น่าเป็นไปได้ เพราะพระยาโพธิสารธรรมมิกราชบิดาครองราชย์สมบัติอยู่ที่นครล้านช้าง หลวงพระบาง พระไชยเชษฐาต้องเกิดที่ล้านช้าง ส่วนเวียงคุกนั้นมาเจริญรุ่งเรืองขึ้นทีหลัง เมื่อพระเจ้าชัยเชษฐาได้ขึ้นครองราชย์สมบัติที่เวียงจันทน์แล้ว แล้วที่ว่าภรรยาเกิดที่เมืองจำปาน้ำโมงนั้นไกลความจริงมาก เพราะพระอัครมเหสีของพระเจ้าชัยเชษฐเป็นธิดาพระเจ้าเชียงใหม่ หรือว่าจะเป็นภรรยาน้อย ข้อนี้ไม่มีหลักฐานยืนยัน
• ในศิลาจารึกข้อ ๔ ชื่อวัดว่า “วัดโกศีล” นั้นน่าจะเป็นโกสีย์มากกว่า แต่ปัจจุบันนี้ ชื่อวัดศรีชมภูองค์ตื้อ
• ในศิลาจารึกข้อ ๕ เขตวัดทางยาวและทางกว้างแคบกว่าที่กล่าวไว้ในศิลาจารึก ทั้งนี้เข้าใจว่า ทางหน้าวัดน้ำเซาะทางทิศเหนือและทิศใต้ให้แคบลง (เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๘๙) ได้ตรวจสอบวัดดูปรากฏว่า แคบไม่ตรงกับศิลาจารึกแต่ปัจจุบันนี้ทางวัดได้ซื้อขยายออกไปมากแล้วทางด้านทิศเหนือและทิศตะวันตก
• ในศิลาจารึกข้อ ๖ ว่า กงจักรเกิดขึ้นนั้น คงมีรูปกงจักรอันเป็นรูปธรรมจักร ซึ่งมีตามวัดเก่า ในสมัยก่อน แต่ปัจจุบันนี้หาดูไม่ได้แล้ว
• ในศิลาจารึกข้อ ๗ พระไชยเชษฐามีบริวารถึง ๕๐๐ นี้ ต้องเป็นที่เชื่อได้ว่าเป็นพระไชยเชษฐาผู้ครองนครเวียงจันทน์แน่
การนับน้ำหนักและจำนวนในสมัยก่อนนั้น เขานับ สิบ-ร้อย-พัน-หมื่น-แสน-ล้าน-โกฏิ-ตื้อ แต่ถ้าหมายถึงจำนวน ก็เติมอะสงไขยเข้าไปอีกเป็นอันดับสุดท้าย เพราะฉะนั้น คำว่า ตื้อ จึงเป็นน้ำหนักที่มากที่สุดแล้ว การสร้างพระมานานถึง ๗ ปี ๗ เดือน เห็นจะรวมน้ำหนักที่แน่นอนไม่ได้ พระก็องค์ใหญ่ที่สุดในสมัยนั้น สร้างก็ยาก หมดเปลืองก็มาก เพื่อให้สมกับความยากลำบากจึงกำหนดเอาว่า สร้างด้วยทองหนัก ๑ ตื้อ ซึ่งความจริงสมัยนั้นจนถึงสมัยนี้ก็ไม่มีใครรู้จริง ๆ ว่า โกฏิและตื้อนั้นมีค่าเท่าใดกันแน่ คงนับกันไปอย่างนั้นเอง
การหล่อพระศักดิ์สิทธิ์ มักจะเป็นพระอินทร์หรือตาปะขาวมาช่วยจึงสำเร็จ ทั้งนี้เพราะเหตุผล ๒ ประการ คือ ประการแรกต้องการจะให้คนนับถือ ประการที่สองสมัยนั้น คนดีมีวิชาอยู่ไม่ค่อยได้ เพราะจะถูกรังแก จึงแกล้งปกปิดไว้ว่า เป็นเทวดามาหล่อ
• ในศิลาจารึกข้อ ๘ ว่า วัดโกศีลตั้งอยู่ริมน้ำโขงนั้น เป็นความจริง เพราะตามธรรมดาแม่น้ำย่อมคดเคี้ยว และเกิดมีคุ้งน้ำขึ้น น้ำโขงซึ่งกว้างราว ๑ กม.เศษ ไหลผ่านศรีเชียงใหม่ พุ่งไปปะทะตอนใต้นครเวียงจันทน์ จินายโม่และบ่อโอทะนา เมื่อปะทะฝั่งลาวแล้ว กระแสน้ำก็กลับพุ่งมาปะทะฝั่งไทยตอนใต้ท่าบ่อ กระแสน้ำจะไหลปะทะสลับฝั่งกันเช่นนี้เรื่อยไป เมื่อถึงหน้าน้ำราว ๆ เดอน ๗-๙ น้ำจะเต็มฝั่งหรือล้นฝั่ง กระแสน้ำในแม่น้ำโขงจะไหลเชี่ยวเร็วประมาณ ๑๕.๒๐ กม. ทีเดียวฝั่งที่ถูกปะทะก็จะพัง ฝั่งตรงข้ามตอนใต้คุ้งน้ำ น้ำจะไหลค่อยและวน ดินจะตกตะกอนเมื่อน้ำลดก็จะเกิดเป็นดินงอกทุกปี วัดน้ำโมงก็เช่นเดียวกัน เดิมตั้งอยู่ริมโขงจริง แต่อยู่ใต้คุ้งน้ำตรงข้ามกับจินายโม่และบ่อโอทะนา ดินหน้าวัดจึงงอกออกเรื่อยมาเราจึงเห็นกันว่า วัดน้ำโมงจะอยู่ห่างจากตลิ่งแม่โขงไปทุกทีอย่างเช่นทุกวันนี้
• ในศิลาจารึกข้อ ๙ เมื่อหล่อแล้วมีอภินิหารเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ถึง ๑๐๐ อย่างนั้น ในข้อนี้ ความเชื่อถือของชาวเมืองเชื่อมั่นว่า มีผีหรือเทวดารักษา คนนับถือมาก บางคนเจ็บไข้ได้ป่วยไปขอน้ำมนต์มากินก็หายได้ คนไม่มีลูกไปขอก็มีได้ อะไรต่อมิอะไรร้อยแปดมากกว่า ๑๐๐ อย่างเสียอีก
• ในศิลาจารึกข้อ ๑๐ ว่า การสร้างสิ้นเงินไปถึง ๑๐๕,๐๐๐ ชั่ง แต่ถ้าจะคิดถึงค่าราคาแห่งพระพุทธรูปงามองค์นี้ ในปัจจุบันแล้วมีค่าเหลือที่จะคณานับได้ เมื่อผู้ใดเข้าไปใกล้เฉพาะพระพักตร์แล้ว จะหายทุกข์โศกทันที พระพักตร์อมยิ้มนิด ๆ พระเนตรลืมสนิท พระนลาฏกว้างพระร่างอูม ส่วนพระกายนั่งตรงได้ส่วนสัด ประทับอยู่ในท่าสงบ ผินพระพักตร์ไปทางทิศตะวันออก ทำให้ผู้ได้พบเห็นองค์พระองค์ตื้อ เกิดมโนภาพคล้าย ๆ เข้าไปนั่งอยู่เฉพาะพระพักตร์ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทำให้เกิดความปีติและมีศรัทธาขึ้นทันที อันเป็นธรรมาภินิหารเกิดขึ้นแก่ผู้ที่ได้พลเห็น ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีค่ายิ่งกว่าสมบัติใด ๆ ที่ท่านโบราณาจารย์วางราคาไว้ถึง ๑๐๕,๐๐๐ ชั่ง ข้าพเจ้าคิดว่ายังถูกไป
• ในศิลาจารึกข้อ ๑๑ นั้น แสดงให้เห็นว่า เป็นวัดซึ่งพระเจ้าชัยเชษฐาเป็นผู้สร้างแน่ เพราะมีบริวารถึง ๑๓ บ้าน วัดที่จะมีบริวารได้ต้องเป็นวัดหลวง ชาวบ้านเหล่านั้นต้องส่งส่วยแก่วัดโดยไม่ต้องกระทำกิจใด ๆ แก่ทางราชการ คงเป็นแต่ข้าของพระองค์ตื้อ เช่นเดียวกับข้าพระธาตุพนม ซึ่งยังคงถือเป็นประเพณีมาจนทุกวันนี้ ในวันเทศกาลนมัสการพระองค์ตื้อ ชาวบ้านที่เป็นข้าจะต้องนำเครื่องมาสักการะบูชา ถ้ามิฉะนั้น ผีหรือเทวดาผู้รักษาจะลงโทษ
ชาวบ้านที่อยู่ในเขตข้าทาสของหลวงพ่อพระเจ้าองค์ตื้อตั้งแต่เดิมมาต้องเสียส่วยอากรให้แก่ทางราชการ แต่เมื่อตกเป็นทาสของหลวงพ่อพระเจ้าองค์ตื้อแล้ว โดยผู้ใดประกอบอาชีพทางใด ให้นำสิ่งนั้นมาเสียส่วยให้แก่วัดศรีชมภูองค์ตื้อทั้งสิ้น ผู้ที่เป็นช่างเหล็กก็ต้องนำเครื่องเหล็กมาเสีย ผู้ที่ทำนาก็ต้องนำข้าวมาเสีย ผู้ที่ทำเกลือก็ต้องนำเกลือมาเสียดังนี้เป็นต้น ทางวัดก็มีพนักงานคอยเก็บรักษาและจำหน่ายประจำเสมอ (ที่หน้าพระวิหารมีหนังสือไทยน้อย หนังสือลาวอยู่ด้วย แต่เวลานี้เก่าและลบเลือนมากอ่านใจความเล็กน้อยพอมีหลักฐาน)
หลวงพ่อพระเจ้าองค์ตื้อ เป็นพระพุทธรูปขนาดใหญ่หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์คงเป็นฝีมือช่างฝ่ายเหนือและล้านช้างผสมกันนับว่าเป็นพระพุทธรูปที่มีพระพุทธลักษณะงดงามเป็นพระประธานองค์ใหญ่ที่สุดในจังหวัดหนองคาย นั่งขัดสมาธิปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๓ เมตร ๒๙ เซนติเมตร สูง ๔ เมตร ซึ่งประดิษฐานอยู่ในพระวิหาร วัดศรีชมภูองค์ตื้อ บ้านน้ำโมง ตำบลน้ำโมง อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย ถือว่าเป็นพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์มีประชาชนทั้งสองฝั่งแม่น้ำโขงเคารพนับถือมาก สร้างในสมัยใดและใครสร้างไม่มีประวัติแน่ชัด
◎ ปาฏิหาริย์หลวงพ่อพระเจ้าองค์ตื้อ
มีเรื่องเล่ากันว่า ครั้งหนึ่งพวกฮ่อได้ยกทัพข้ามโขงมาขึ้นที่ฝั่งวัดน้ำโมง เพื่อหวังจะทำลายพระองค์ตื้ออันเป็นที่เคารพสักการะของปวงชนแถบนั้น เพื่อเป็นการทำลายขวัญของพวกชาวบ้าน ขณะที่ข้าศึกได้จ้วงขวานฟันลงไปที่พระชานุของพระองค์ตื้อนั้น ก็ปรากฏเสียงร้องออกจากพระโอษฐ์ และมีพระดลหิตไหลออกจากแผลที่พระชานะ พร้อมกับมีน้ำพระเนตรไหลซึมออกมาเป็นที่น่าเวทนายิ่งนัก ข้าศึกเป็นอัศจรรย์เช่นนั้นก็เกรงจะเกิดภัยจึงได้รีบยกทัพกลับ แต่ก็ปรากฏว่าพวกฮ่อถึงแก่ความตายจนหมดสิ้น ทุกวันนี้แผลเป็นที่พระชานุก็ยังปรากฏอยู่
ในสมัยก่อนผู้คนสัญจรไปมาจะสวมรองเท้าเข้าไปในวัดไม่ได้จะต้องมีอันเป็น ไปโดยประการต่าง ๆ แม้แต่เจ้านาย ที่เข้ามาถือน้ำพิพัฒนสัตยา จะสวมรองเท้าเข้าไปในวิหารนั้นก็ไม่ได้ ถ้าบุคคลใดฝ่าฝืนก็จะได้รับโทษโดยประการต่าง ๆ เช่นเจ็บป่วยโดยกระทันหัน เป็นต้น
บุคคลที่ไม่มีบุตรธิดาสืบสกุล มีดอกไม้ธูปเทียนหรือเครื่องสักการะอย่างอื่นมาทูลขอบุตรธิดาจากพระองค์ บุคคลผู้นั้นก็จะได้กุลบุตรธิดาสืบสกุล สมความมุ่งมาดปรารถนา แต่บุตรธิดาที่พระองค์ประทานให้แล้วนั้น บิดามารดาจะทำโทษหรือเฆี่ยนตีโดยประการใด ๆ ไม่ได้ ต้องสั่งสอนเอาโดยธรรมเท่านั้น
บุคคลผู้ใดของหาย เช่น เงิน ทอง โค กระบือ เป็นต้น มีดอกไม้ธูปเทียนเครื่องสักการะมาบูชาบวงสรวง เพื่อให้ได้สิ่งของนั้นคืนมา ก็จะได้คืนมาสมประสงค์ทรัพย์สมบัติของใครหาย ไม่ทราบว่าผู้ใดมาลักขโมยเอไป เจ้าของทรัพย์มีความสงสัยผู้ใด ก็นำบุคคลผู้นั้นมาทำสัตย์สาบานต่อพระพักตร์ของพระเจ้าองค์ตื้อ ถ้าบุคคลนั้นไม่ได้เอาก็ไม่เป็นอะไร แต่ถ้าบุคคลนั้นเอาไปจริง ๆ แต่ปฏิเสธไม่ยอมรับตามความเป็นจริง บุคคลผู้นั้นก็จะได้รับโทษ เช่น เจ็บป่วยหรืออาจถึงแก่ความตายได้
บุคคลผู้ใดไปศึกสงครามได้มาบนบานขอให้พระเจ้าองค์ตื้อคุ้มครอง บุคคลผู้นั้นก็จะปลอดภัยประสพแต่ความสวัสดีมีชัยกลับมา และบุคคลผู้ใดมีความปรารถนาอยากจะให้มีความเจริญรุ่งเรืองในชีวิต นำเครื่องสักการะมาบูชาพระเจ้าองค์ต้อ ขออานุภาพของพระองค์ตื้อคุ้มครอง และบันดาลให้เกิดมีความเจริญรุ่งเรืองในการประกอบอาชีพที่สุจริต บุคคลผู้นั้นก็จักเจริญสมความมุ่งมาดปรารถนาทุกประการ
อนึ่ง การเจ็บไข้ได้ป่วยจนถึงกับล้มหมอนนอนเสื่อไปมาไม่ได้ บางคนก็ให้ญาติพี่น้องไปบูชาแผ่นทองปิดองค์หลวงพ่อใหญ่ หรือพรพุทธรูปจำลอง ตั้งจิตอธิษฐานปิดตรงที่เจ็บปวดนั้น ปรากฏว่าโรคนั้นได้หายไปดังจิตอธิษฐาน
ที่มา :ขอขอบคุณข้อมูลจากเว็บ http://www.watongtue.com