วันเสาร์, 26 ตุลาคม 2567

พระอาจารย์บุนนาค โฆโส หรือสามเณรบุนนาค ท่องกรรมฐาน

ประวัติและปฏิปทา
พระอาจารย์บุนนาค โฆโส

พระอาจารย์บุนนาค โฆโส หรือสามเณรบุนนาค ท่องกรรมฐาน
พระอาจารย์บุนนาค โฆโส หรือสามเณรบุนนาค ท่องกรรมฐาน

สามเณรบุนนาค หรือพระอาจารย์บุนนาค โฆโส ท่านเป็นบุตรชายคนสุดท้องของ บิดามารดา เมื่ออายุได้ ๖ ขวบ มารดาได้พาไปทําบุญวันเกิดของท่าน ที่วัดใกล้บ้าน เผอิญหน้าหนาว วันนั้นหนาวจัด มองเห็นเจ้าอาวาส คือ ท่านพระครูปาน ห่มจีวรผืนใหญ่ เป็นเด็กจึงเข้าใจว่าจะอุ่นดี จึงร้องเรียกมารดาให้ขอให้ท่าน

ครั้นพอมองขึ้นไปที่ฝากุฏิ ก็ไปเห็นภาพพระพุทธรูปจํานวน ๑๒ องค์ เขาพิมพ์ไว้ในกระดาษ

จึงถามมารดาว่า.. “นั่นอะไร”

มารดาท่านตอบว่า.. “รูปพระเจ้า”

ตั้งแต่นั้นมาท่านนึกรักใคร่เลื่อมใส ในพระพุทธรูปนั้น

สมัยเป็นเด็ก ท่านได้ร้องขอให้มารดาพาไปอยู่วัดและได้อยู่ตามความประสงค์ถึง ๓ ปี

อายุได้ ๙ ขวบ พระอาจารย์ได้บวชให้เป็นสามเณร และได้อยู่เรียนหนังสือกับพระอาจารย์เป็น เวลา ๖ ปี พอดีเวลานั้นอายุครบ ๑๔ ปี ย่างเข้า ๑๕ ท่านจึงได้นิมิต ๔ ข้อ

ในนิมิตฝันเห็นพระพุทธเจ้า พร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์อันเป็นสาวก นั่งประชุมอยู่ใต้ร่มไม้หว้า และได้แสดงธรรมเทศนาว่า..

จะเป็นพระสมณะเพราะศีรษะโล้น ก็หามิได้

คนจะเป็นสมณะเพราะผ้าเหลือง ก็หามิได้

จะเป็นสมณะเพราะไม่มีภรรยา ก็หามิได้

จะเป็นสมณะเพราะเรียน รู้มากก็หามิได้

ผู้เที่ยวไปไม่มีอะไรในชีวิต และถึงพร้อมด้วยความเป็นอยู่และที่อาศัย เช่นนี้จึงได้นามว่า เป็นสมณะ !

ธรรม ๔ ข้อนี้ ทําให้สามเณรบุนนาค นึกถึงมารยาทความเป็นอยู่ของพระสาวก และพระศาสดาเจ้า “คงไม่ตลกคะนองเคลื่อนกันอย่างนี้”

คิดได้ดังนี้แล้ว จึงตกลงใจว่า เราต้องหลีกออกไปบําเพ็ญความสงบ เข้ากราบลาพระอาจารย์ ขอขมาลาโทษทั้งปวงแล้ว นําบริขารออกเดินธุดงค์เดี่ยวเข้าป่าช้า บ้านหนองแสง

ตอนค่ำมืดลง สามเณรบุนนาค รู้สึกกลัวผี ครั้นเมื่อได้พิจารณาอันเที่ยงธรรมแล้ว ความกลัวก็หมดไป และได้คิดว่า.. “แต่วันนี้ เป็นต้นไป ขึ้นชื่อว่า ป่าช้า อยู่ได้ทุกแห่งไปไม่ต้องกลัวผีอีก”

สามเณรบุนนาค ท่านท่องเที่ยวไปในป่าดงพงไพรกว้าง ทั้งในประเทศและนอกประเทศ เช่น พม่า ลาว เขมร เป็นต้น…

แต่ละถิ่นที่ สามเณรบุนนาค ได้ผจญเภทภัยต่าง ๆ นานา ทั้งพวกมนุษย์ด้วยกันและสัตว์ป่านานาอย่าง ซึ่งล้วนแล้วมีทั้งประโยชน์และเสียทั้งประโยชน์ ด้วย ความมานะพยายาม อดทน เด็ดเดี่ยว มีจิตใจอาศัยพระรัตนตรัยไว้ เป็นเบื้องบาท จึงสามารถผ่านพ้นวิบากนั้นไปได้

สามเณรบุนนาค เดินธุดงค์ตั้งแต่ครั้งแรกในชีวิต ท่านนํากลด บาตร ผ้าสามฝืน พร้อมผ้าอาบไปเท่านั้น ภายหลังกลดที่ท่านนําติดตัวไป ถูกช้างป่าจับเหวี่ยงแล้วกระทืบ จนหมดซากแล้ว ท่านก็ไม่มีกลดอีกเลย ในสมัยแรก ๆ

ท่านมีความอดทนชั้นยอด คือ กลางวันท่านออกบิณฑบาต แล้วก็จะนั่งภาวนา เดินจงกรม แล้วหลับพักผ่อน ส่วนกลางคืนท่านไม่นอนเลย คือ อาศัยจีวรที่ห่มนั้นมาคลุมหัว แล้วนั่งนิ่ง โดยมีความคิดว่า “ตนเองไม่มีกลดกําบัง ก็ต้องนั่งภาวนาเสีย เอาจีวรคลุมศีรษะ ถ้าเสือหรือ สัตว์อื่นมาพบเข้า มันก็จะเข้าใจว่า “ตอไม้” เป็นอันว่าทุกคืน ท่านนั่งสมาธิทําพิธีเป็นตอไม้ไปเลย

สามเณรบุนนาค หรือพระอาจารย์บุนนาค โฆโส ท่านเคยต้องอธิกรณ์ ๔ ครั้ง เหตุทั้งหลายนั้นก็เพราะว่า ท่านเป็นพระผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ เที่ยวธุดงค์ไปอยู่ป่าอยู่ถ้ำ ไม่ยอมคลุกคลีตีโมงกับหมู่หาว่าเป็นชะมด กระรอก กระแต เที่ยวหากินในป่า

อีกเรื่องหนึ่งก็คือ มองเห็น พระเณรหย่อนยานในพระธรรมวินัย ก็อดที่จะเตือนมิได้ จึงถูกกลั่นแกล้ง

พระอาจารย์บุนนาค โฆโส ท่านเป็นพระที่เคร่งครัดในพระธรรมวินัยมากที่สุดองค์หนึ่ง แม้ถ้าเห็นผู้ทรงอยู่ในเพศพรหมจรรย์ เกิดทําผิดพระวินัยธรรมแล้ว ท่านจะเข้าตักเตือน หรือพูดธรรมะให้ฟัง เจตนาของท่านนั้น ก็เพื่อความบริสุทธิ์ให้แก่วงการพระพุทธศาสนาโดยแท้

ด้วยเหตุนี้ท่านจึงต้องถูกกลั่นแกล้ง ฟ้องร้อง หรือถูกขังในพระอุโบสถเสียหลาย ๆ วันก็มี

สมัยหนึ่งท่านยังเป็นสามเณรบุนนาคอยู่ ท่านได้ท่องเที่ยวเดินธุดงค์ไปในที่ต่าง ๆ มากมาย แต่ในการเดินธุดงค์คราวนี้ ท่านได้เข้าไปในเขตของประเทศเขมร และได้เดินธุดงค์ไปถึงหมู่บ้านหนึ่ง สามเณรบุนนาคก็เห็นว่า ใกล้มืดค่ำแล้ว ท่านจึงหยุดพักปักกลดเสียก่อน แม้จะเดินต่อไปก็คงไม่นานก็จะมืดแล้ว

บังเอิญวันนั้น เป็นวันให้ทานประหลาดแก่พระภิกษุสงฆ์ คือ ให้ทานนม! สตรีไม่ว่าสาวแก่แม่ม่าย มายืนเปลื้องเสื้อเข้าแถว แล้วจะมีพระภิกษุสามเณร เดินเอามือไป สัมผัสอกของสตรีเหล่านั้นอย่างทั่วถึง…โดยเขาถือว่าได้บุญ!

ครั้นแล้ว สามเณรบุนนาค มีโอกาสพบกับคณะญาติโยมที่ผ่านมาก็พูดว่า “โยมเอ๋ย การให้ทานอย่างนี้มันไม่ดีหรอก มันไม่เกิดบุญเลย มันจะเป็นบาปทั้งผู้ให้ และผู้รับ”

เมื่อโยมคนนั้นกลับไปแล้ว นําเรื่องที่สามเณรบุนนาคบอกว่า ไม่ได้บุญหรอก เรื่องการทําบุญนั่น ก็ได้ยินเข้าหูพระภิกษุสงฆ์ ที่ชอบทานแบบนั้น จึงยกพวกมาขว้างกลด หวังทําร้ายท่าน จะนําก้อนหินหรือไม้ขว้างมาสักเท่าไร ก็หาถูกตัวท่านไม่ จนก้อนหินที่ขว้างปามานั้นกองสูง

สามเณรทนดูความสังเวชใจมิได้ จึงถอนกลดออกเดินธุดงค์ หายไปในคืนนั้นเอง นี่แหละครูบาอาจารย์สอนนักว่า.. “บุคคลใดเมื่อยอมให้กิเลส ขึ้นขี่คอได้แล้ว มันจะสับมันจะโขกอย่างไม่ยั้งมือ และมันก็ไม่เข้าใจว่าบุคคลผู้นั้นจะเป็นใคร แม้แต่พระสงฆ์มันไม่เว้นละ”

ท่านพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม และ พระอาจารย์มหาปิ่น ปัญญาพโล ท่านเจ้าคุณพรหมมุนี อีกหลายท่านได้ช่วยเหลือ พร้อมกับให้การอบรมแนะนํา คือให้แสวงหาความพ้นทุกข์โดยส่วนตัวนั้นเถิด

ในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ สามเณรบุนนาค ได้อุปสมบทเป็น พระภิกษุบุญนาค โฆโส ที่วัดบรมนิวาส กรุงเทพฯ โดยได้รับพระเมตตาจาก ท่านพระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณพระพรหมมุนี (อ้วน ติสโส) และท่านพระเดชพระคุณท่านเจ้าจอมมารดาทับทิม ที่วังกรมหลวงนครไชยศรีสุรเดช เป็นผู้จัดอัฐบริขารอุปสมบท

เมื่อบวชเป็นพระภิกษุแล้ว ก็ได้ติดตามท่านเจ้าคุณไปอยู่จําพรรษาที่วัดป่าสาลวัน กับท่านพระอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม บําเพ็ญสมณธรรมและต่อมาก็ได้เที่ยวกรรมฐานไปเรื่อย ๆ จนกระทั่ง ราวปี พ.ศ.๒๔๘๑ ท่านพระอาจารย์บุนนาค โฆโส ท่านได้อาพาธและถึงแก่มรณภาพลง ณ วัดบรมนิวาส จังหวัดพระนคร