ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่อ่วม สิริภทฺโท
วัดไพรสณฑ์
อ.ปากคาด จ.หนองคาย
พระครูสิริภัทรพิสณฑ์ หลวงปู่อ่วม หรือ (พ่อแม่อ่วม สิริภทฺโท) อดีตเจ้าอาวาสวัดไพรสณฑ์และอดีตที่ปรึกษาเจ้าคณะตำบลสมสนุก อ.ปากคาด จ.หนองคาย บูรพาจารย์ศิษย์สายสำเร็จลุน ในสายของหลวงปู่ญาท่านธรรมผุย (ผู้เป็นสหธรรมกับหลวงปู่สำเด็จลุน) หลวงปู่อ่วม ท่านเป็นคนอุบลราชธานี โดยกำเนิดและเป็นหลายชายแท้ ๆ ของหลวงปู่ด่อน วัดถ้ำเกีย ผู้เป็นศิษย์หลวงปู่สำเร็จลุน ผู้วิเศษเหนือโลก แห่งนครจำปาสัก หลวงปู่อ่วม ท่านเป็นที่เคารพและศรัทธาของคนอำเภอปากคาด จ.บึงกาฬ และชาว จ.หนองคาย มาก จนชาวบ้านส่วนใหญ่นิยมเรียกท่านว่า “พ่อแม่อ่วม”
◎ ชาติภูมิ
พระครูสิริภัทรพิสณฑ์ หลวงปู่อ่วม หรือ (พ่อแม่อ่วม สิริภทฺโท) นามเดิม อ่วม นามสกุล เคียงวงศ์ เกิดเมื่อวันที่ ๑๓ มกราคม พ.ศ.๒๔๖๑ ตรงกับวันศุกร์ แรม ๑ ค่ำ เดือน ๒ ปีมะแม ณ บ้านโคกเลาะ ตำบลข้าวปุ้น อำเภอตระการพืชผล (ปัจจุบันคือ อำเภอกุดข้าวปุ้น) จังหวัดอุบลราชธานี บิดาชื่อ นายแหลว เคียงวงศ์ และมารดาชื่อ นางเหลือง เคียงวงศ์ มีพี่น้องร่วมบิดา ๗ คน คือ
๑. พ่อใหญ่จูม เคียงวงศ์ เสียชีวิตแล้ว
๒. แม่ใหญ่จันทร์ เคียงวงศ์ เสียชีวิตแล้ว
๓. พระครูสิริภัทรพิสณฑ์ หลวงปู่อ่วม หรือ (พ่อแม่อ่วม สิริภทฺโท)
๔. แม่ต่อม เคียงวงศ์ เสียชีวิตแล้ว
๕. แม่ปุ้ง ศรีคำ เสียชีวิตแล้ว
๖. พ่อหลอย เคียงวงศ์ เสียชีวิตแล้ว
๗. แม่ไหล ชมพันธ์ เสียชีวิตแล้ว
◎ การศึกษาเบื้องต้น
พระครูสิริภัทรพิสณฑ์ หลวงปู่อ่วม หรือ (พ่อแม่อ่วม สิริภทฺโท) เมื่อวัยเยาว์ได้ศึกษาเล่าเรียนจนจบชั้น ประถมศึกษาปีที่ ๔ ที่โรงเรียนวัดอาภาราม บ้านโคกเลาะ ตำบลข้าวปุ้น อำเภอตระการพืชผล(ปัจจุบันอำเภอกุดข้าวปุ้น ) จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อเจริญวัยท่านเป็นผู้มีอุปนิสัยสนุกสนาน มีพรสวรรค์ในทางเป่าแคน และเคยเล่นลิเกเรื่องนางแตงอ่อน โดยตัวท่านเป็นพระเอกคือท้าวสุริวงศ์เหล่าแม่ยกทั้งหลายชอบพอท่าน เพราะท่านร้องลิเกเสียงไพเราะเพราะพริ้งมาก
◎ การบรรพชาอุปสมบท
เมื่ออายุได้ ๒๘ ปี ท่านได้อุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดธัญญุตามารามข้าวปุ้น ตำบลข้าวปุ้น อำเภอตระการพืชผล (ปัจจุบันคือ อำเภอกุดข้าวปุ้น) จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อวันที่ ๑๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ โดยมี พระครูตรีรัฐมุนี เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการดี เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ พระใคร เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “สิริภทฺโท” แปลว่า “ผู้มีสิริอันเจริญ”
เมื่ออุปสมบทแล้วท่านได้ไปเรียนเทศน์มัทรี เทศน์นคร กับอาจารย์สิงห์ บ้านม่วงคอนสาย ทำนองเทศน์เมืองอุบล ท่านไปเทศน์ที่ไหน ญาติโยมแถมสมภาร (ถวายปัจจัย อนุโมทนา) อย่างมากมายจากท่วงทำนองสุ้มเสียงที่ไพเราะ
◎ การเล่าเรียนธรรม
หลวงปู่อ่วม หรือ (พ่อแม่อ่วม สิริภทฺโท) เมื่อท่านได้อุปสมบทแล้วท่านได้ศึกษาเล่าเรียนบาลีคัมภีร์มูลกัจจายนะศึกษาอักษรธรรม ท่านมีความชำนาญแตกฉานในอักษรธรรมสามารถเขียน (จาร) หรือจารึกลงในใบลานและแผ่นทอง ได้อบรมกุลบุตร ผู้สนใจศึกษาในด้านคาถาอาคมหรือเวทมนต์ต่างๆ มีความชำนาญวิทยาคม ขลังในเรื่องมนต์พิธี เมตตามหานิยม เป็นที่เลื่องลือเชื่อถือของชาวบ้าน ทั่วสารทิศและศิษยานุศิษย์เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ท่านสามารถสอบไล่ได้นักธรรมชั้นโทจากสำนักเรียน วัดราชโพนเงิน ตำบลโพนแพง อำเภอโพนพิสัย (ปัจจุบันอำเภอรัตนวาปี) จังหวัดหนองคาย
◎ ด้านการปกครอง
๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๐๕ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดไพรสณฑ์
๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะตำบลหนองยอง
๒๔ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๘ ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์
๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๓ ได้รับแต่งตั้งเป็นสมณศักดิ์พระครูเจ้าคณะตำบล ชั้นตรีราชทินนาม “พระครูสิริภัทรพิสณฑ์”
๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๐ ได้รับเลื่อนสมณศักดิ์พระครูเจ้าคณะตำบลชั้นตรี เป็นพระครู เจ้าคณะตำบลชั้นโท
◎ ด้านการส่งเสริมการศึกษาและเผยแพร่
● พ.ศ. ๒๕๑๐ ได้รับแต่งตั้งเป็นพระธรรมทูตสายที่ ๕ ประจำอำเภโพนพิสัย
● พ.ศ.๒๕๑๖ ได้ร่วมกับชาวบ้านดงบังใต้ ซื้อที่ดินสร้างโรงเรียนสิริภัทรวิทยา
● พ.ศ.๒๕๓๖ ได้รับเกียรติบัตรดีเด่นด้านสนับสนุนการศึกษาจากสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดหนองคาย
● พ.ศ.๒๕๓๙-๒๕๕๒ ได้สร้างประตูฟุตบอลโรงเรียนสิริภัทรวิทยาโรงเรียนบ้านศรีสว่างพัฒนา โรงเรียนชุมชนสมสนุก
● ได้สร้างรั้วคอนกรีตเสริมเหล็กทิศตะวันตกของโรงเรียนสิริภัทรวิทยา
● ได้บริจาคดินลูกรังถมบริเวณโรงเรียนสิริภัทรวิทยา
● ได้สนับสนุนงบประมาณต่อเติมห้องเรียนอนุบาลโรงเรียนสิริภัทรวิทยา
● ได้บริจาคเครื่องครัวสนับสนุนโครงการอาหารกลางวันและเก้าอี้ ให้โรงเรียนสิริภัทรวิทยา
● ได้ติดตั้งพัดลมเพดานอาคารอเนกประสงค์โรงเรียนสิริภัทรวิทยา
● ได้สนับสนุนทุนการศึกษาอาหารกลางวัน ผ้าห่มให้นักเรียนทุกคนโรงเรียนสิริภัทรวิทยา โรงเรียนบ้านศรีสว่างพัฒนาโรงเรียนชุมชนสมสนุก
● ได้สนับสนุนทุนการศึกษา อาหารกลางวันให้โรงเรียนบ้านโคกเลาะ
ซึ่งเป็นถิ่นมาตุภูมิของท่านนอกจากนี้ท่านได้สนับสนุนงบประมาณ
ให้ส่วนราชการต่างๆงบประมาณที่ท่านมีเมตตาให้การสนับสนุนประมาณ ๑,๒๐๐,๐๐๐ บาท (หนึ่งล้านสองแสนบาทถ้วน)
◎ ด้านสาธารณูปการ
พ.ศ. ๒๕๐๐ – ๒๕๐๒ เป็นประธานสร้างพระพุทธรูปที่วัด สว่างอารมณ์ (ถ้ำศรีธน) และวัดชัยศรี บ้านต้อนใหญ่ วัดสว่างมีชัย บ้านศรีสว่างพัฒนา
เป็นประธานสร้างเสนาสนะถาวรวัตถุวัดไพรสณฑ์ บ้านดงบังใต้ มูลค่าการก่อสร้างประมาณ ๖,๒๘๖,๐๐๐ บาท (หกล้านสองแสนแปดหมื่นหกพันบาทถ้วน)
◎ การรับพระราชทานสมณศักดิ์
● ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๓ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์สัญญาบัตรพัดยศตำแหน่งพระครูเจ้าคณะตำบลชั้นตรีที่ “พระครูสิริภัทรพิสณฑ์”
● ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๐ ได้รับเลื่อนสมณศักดิ์พระครูเจ้าคณะตำบลชั้นตรี เป็นพระครูเจ้าคณะตำบลชั้นโทที่ “พระครูสิริภัทรพิสณฑ์”
◎ ปฏิปทาและจริยวัตร
ท่านพระครูสิริภัทรพิสณฑ์ (หลวงปู่อ่วม สิริภทฺโท) เป็นผู้มีจริยวัตรที่น่าเคารพบูชาอย่างยิ่ง เคร่งครัดในพระธรรมวินัย ไม่ถือยศศักดิ์ มีเมตตานุเคราะห์ สงเคราะห์ ลูกศิษย์ และนำพาในการปฏิบัติเป็นการปลูกฝังศรัทธาอย่างมั่นคงต่อพระรัตนตรัย เมื่อมีศรัทธาอันแน่วแน่มั่นคงแล้ว ก็จะให้เกิดเป็นความกล้าหาญ ไม่เกรงกลัวต่อความชั่วร้าย แม้กระทั่งต่อสิ่งที่อยู่เหนือธรรมชาติ เช่น ภูตผี ปีศาจ หรืออมนุษย์ในภพภูมิอื่นๆ มักเกรงกลัวและไม่มารังควาน หลวงปู่อ่วม ท่านมีตะบะเดชะแรงกล้า ท่านทรงไว้ซึ่งวิทยาคมมีเครื่องรางของขลังและวัตถุมงคล เป็นต้นว่า ตะกรุดโทน ตะกรุดร้อยแปด ตะกรุดสามกษัตริย์ คำหมากแห้ง น้ำมนต์ สีผึ้งมหานิยม สีผึ้งทาบาดแผล ยาสมุนไพร ชื่อเสียงขจรกระจายไปทั่วทุกสารทิศ เป็นพระมหาเถระที่เปี่ยมเมตตาธรรมสถิตในใจของพุทธศาสนิกชนและศิษยานุศิษย์อย่างล้นพ้น
◎ ปัจฉิมวัยและมรณภาพ
หลวงปู่ได้สร้างบารมีสั่งสมคุณความดีให้เกิดกับตนอย่างสม่ำเสมอท่านยังอนุเคราะห์เมตตาเกื้อกูล ลูกศิษย์ ญาติ มิตร ห่วงใยในทุกข์สุขพระภิกษุ สามเณร ญาติโยมชาวบ้านตลอดเวลา ท่านเป็นผู้วางรากฐานพัฒนาวัด สร้างกุฎิ ศาลาการเปรียญ อุโบสถ หอฉัน กำแพงวัด ฌาปนสถาน (เมรุ ) เทพื้นคอนกรีตเสริมเหล็กทั่วบริเวณวัด เป็นสถานที่เด่นสง่า เป็นบุญเขตของพุทธศาสนิกชน
เมื่อวันที่ ๒๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๒ ท่านมีอาการชาตามแขน มือและเท้าคุณพ่อศรีไสว ชมพันธ์ หลานชายของท่านได้นิมนต์ไปตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาลรวมแพทย์ จังหวัดหนองคาย แพทย์ลงความเห็นว่า เป็นโรคเส้นเลือดในสมองตีบตันและโรคเบาหวาน โรคชรา
๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๒ หลวงปู่จะลุกขึ้น ได้หกล้มในห้องนอนเริ่มมีอาการปวดหลังอย่างรุนแรง ลูกหลานได้ดูแลรักษาแต่อาการไม่ดีขึ้น
๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๒ ศิษยานุศิษย์และลูกหลานได้นิมนต์ท่านเข้ารับการตรวจรักษาที่คลินิกหมออุดม อำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร หมอได้ฉีดยาให้อาการก็ไม่ดีขึ้น บางวันท่านได้ปรารภ กับหลานชาย ของท่านว่าชีวิตเป็นของไม่เที่ยง ความตายเป็นของเที่ยงแท้แน่นอน สัตว์โลกทุกคนอยู่ในกงกำกงเกวียน แห่ง อนิจจัง ทุกขา อนัตตา ท่านจากไปไม่ต้องเก็บร่างท่านรักษาไว้นาน เพราะว่าสังขาร หาวิญญาณไม่ได้ เป็นอสุภะ หากลูกหลานหรือพุทธศาสนิกชนมีศรัทธา ต้องการสร้างเจดีย์หรือมณฑป ขอให้มีหลังคาเหมือนหอระฆัง อันสวยงามดังที่คุณแม่บุญภา รุ้งจรัสภาณุ และคุณเฉิดสมร รุ้งจรัสแสง และญาติพี่น้องได้สร้างไว้
● นิมิต คือ เครื่องหมายบอกให้รู้ก่อนละสังขารและคำสั่งก่อนมรณภาพ
๑. บอกให้หลานรดน้ำที่มือ แต่ทำเหมือนรดน้าศพ แล้วนำมาลูบที่ศีรษะ
๒. ให้รีบจัดอัฐบริขารไปถวายพระที่วัดทางบ้านโคกเลาะให้ทันก่อนเข้าพรรษา ให้หลานที่มาเยี่ยมรีบกลับไป
๓. บอกหลานผู้อุปัฎฐาก ให้พิจารณาคนเดียว ไม่ให้คนอื่นลำบากไม่ให้สิ้นเปลือง
๔. ป่วยก็ไม่หาย
● ฉันยา เพราะรักษาศรัทธาเขา
● ห่มผ้าเพื่อรักษาศรัทธาเขา
● อย่างไรก็ไม่อยู่ มีเกิด ก็มีดับ ถ้าไม่งั้นก็ไม่แล้ว
๕. ไม่ไปโรงพยาบาลอีกแล้ว ไปหาหมออุดมก็เพราะเคยรักษาเมื่อหลายปีมาแล้ว จะไปดูตอนที่หมออายุมาก
๖. ตอนกลางคืนนอนอยู่ ดูเหมือนหลวงปู่จะเสกคาถาอาคมเป่าไปในบริเวณห้อง บอกว่าไม่เอาอะไรไปสักอย่างแม้แต่ร่างกายก็ไม่มีอะไร “ถ้าจะทำวัตถุมงคลอะไรให้มาอธิษฐานจิตในห้องนี้”
๗. ตอนเช้า ขณะที่นอนทำตาค้างอยู่ แต่การหายใจยังปกติดูอาการอ่อนเพลียมาก หลานอธิษฐานขอไว้ให้อยู่ก่อน เพราะคณะสงฆ์ ๓ ตำบล คือ หนองยอง สมสนุก นาดง จะมาคารวะพร้อมกันในตอนบ่าย
เมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๒ ในตอนเช้าหลวงปู่อ่วม ได้เกิดอาการท้องร่วง ร่างกายอ่อนเพลียมาก ในระหว่างที่นอนพัก ได้ทำมือคล้ายกับว่าจะให้รดน้ำลงในฝ่ามือ พ่อศรีไสว หลานชายผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด คิดว่าวันนี้ท่านคง ละสังขารอย่างแน่นอน จึงได้อธิษฐานจิตให้ท่านรอรับคารวะจากคณะสงฆ์ก่อน คณะสงฆ์ตำบลหนองยองคณะสงฆ์ตำบลสมสนุก และคณะสงฆ์ตำบลนาดงจะมาลงอุโบสถ หลังจากลงอุโบสถกรรมแล้วก็ไปรวมกันที่กุฏิของหลวงปู่ได้ทำการคารวะโดยการนำของ พระครูสิริวรยุต (พ่อแม่อ่อนสา) ที่ปรึกษาเจ้าคณะตำบลหนองยอง พอพระครูสิริวรยุต ได้นำขันดอกไม้เข้าไปถวายใส่มือท่าน พอสัมผัสเท่านั้น ท่านก็ได้มรณภาพด้วยอาการสงบ เมื่อเวลา ๑๔.๔๐ น. ปี พ.ศ.๒๕๔๒ สิริอายุได้ ๙๑ ปี ๕ เดือน ๒๔ วัน พรรษา ๖๓ พรรษา
◎ ด้านวัตถุมงคล หลวงปู่อ่วม สิริภทฺโท
ที่มา :ขอขอบคุณข้อมูลจากเว็บ ubonpra.com