วันพฤหัสบดี, 24 ตุลาคม 2567

หลวงปู่แดง ธมฺมรกฺขิโต วัดประชานิยม อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์

ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่แดง ธมฺมรกฺขิโต

วัดประชานิยม
อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์

พระสุธรรมคณาจารย์ (หลวงปู่แดง ธมฺมรกฺขิโต) วัดประชานิยม
พระสุธรรมคณาจารย์ (หลวงปู่แดง ธมฺมรกฺขิโต) วัดประชานิยม

พระสุธรรมคณาจารย์ (หลวงปู่แดง ธมฺมรกฺขิโต) นามเดิมชื่อ แดง เกิดเมื่อวันเสาร์ที่ ๒๓ เดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๒ หรือ จ.ศ. ๑๒๗๑ ตรงกับเดือน ๑๑ ปีระกา เวลา ๐๔.๐๐ น.บิดาชื่อ อ้วน มารดาชื่อ ดา นามสกุล วันยาว เกิดที่บ้านหาด ตําบลป่าข่านาคําใหญ่ อําเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี

เมื่อ ปี พ.ศ. ๒๔๖๐ บิดามารดาพาอพยพจากบ้านเกิด มาตั้งภูมิลําเนาอยู่ที่ บ้านท่าคันโท (เวลานี้เป็นอําเภอท่าคันโท) จังหวัดกาฬสินธุ์ การศึกษาทางฝ่ายโลก จบประถม ๓ ณ โรงเรียนประ ชาบาลวัดบ้านท่าคันโท

พ.ศ. ๒๔๗๒ ได้อุปสมบทในสังกัดมหานิกาย ในพัทธสีมา วัดศรีธาตุ ตําบลจําปี อําเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี พระชัยบูรณาจารย์ (บุญตา) เป็นพระอุปัชฌายะ พระอาจารย์อ่อนสา สุขเจริญ เจ้าอาวาสวัดศรีธาตุ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์นวล เจ้าอาวาสวัดโพธิ์ชัย เป็นพระอนุสาวนาจารย์

เมื่อบวชเสร็จแล้ว ได้กลับมาอยู่วัดสว่างอารมณ์ บ้านท่าคันโท ระหว่างพักอยู่วัดประมาณเดือน ๓ หรือเดือน ๔ ใน ปีนั้น ท่านอาจารย์กงมา จิรปุญฺโญ ได้เดินธุดงค์กรรมฐานมาจากวัดเหล่างา (วัดป่าวิเวกธรรม) จังหวัดขอนแก่น ซึ่งเป็นสํานักวัดป่าของ ท่านอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม มาพักอยู่ป่าช้าโคกหินฮาว บ้านท่าคันโท ซึ่งเป็นสํานักป่าที่ท่านอาจารย์สิงห์ ได้มาอยู่จําพรรษาพร้อมด้วย พระอาจารย์ดุลย์ (เวลานี้เป็นเจ้าคณะจังหวัดสุรินทร์ ที่พระราชวุฒาจารย์) และอาจารย์เสี่ยว (มรณภาพอยู่ที่นี้) เมื่อท่านเดินธุดงค์มาทางนี้ ท่านอาจารย์สิงห์ จึงได้สั่งให้มาพักและเยี่ยมทายกทายิกา

ระยะนี้เราได้พบอาจารย์กรรมฐาน สายท่านอาจารย์มั่น อาจารย์สิงห์เป็นครั้งแรก ได้เข้าศึกษาอบรมวิธีการปฏิบัติกรรมฐาน ท่านได้แจก หนังสือพระไตรสรณคมน์พร้อมด้วยสมาธิวิธี ให้ ๑ เล่ม ได้ถือเป็นหลักศึกษาปฏิบัติธุดงค์กรรมฐาน นับแต่ในพรรษานั้นมา ได้รักษาธุดงค์เจริญกรรมฐาน เดินจงกรม นั่งภาวนาตลอดมา

จนออกพรรษาแล้ว จึงได้เดินธุดงค์ไปวัดป่าวิเวกธรรม จังหวัดขอนแก่น เพื่อเข้าศึกษาอบรมในสํานักท่านพระอาจารย์สิงห์ ไปพักกับท่านไม่นานเท่าไรนัก ท่านได้พาเดินธุดงค์กรรมฐานออกเผยแผ่พระศาสนา ไปทางบ้านทุ่ม บ้านเป็ด ไปพักอยู่วัดป่าบ้านเม็ง ซึ่งเป็นสํานักวัดป่าที่ ท่านอาจารย์อ่อน ญาณสิริ อยู่จําพรรษา แล้วได้เดินผ่านไปเข้าเขตชัยภูมิ แล้ววกมาอําเภอชนบท พักอยู่ป่าใกล้ตัวอําเภอ ที่นั้นก็ได้เป็นวัดป่าอําเภอชนบท มีอาจารย์ถุ่มเป็นเจ้าอาวาส อยู่ต่อมา

เมื่อพักอยู่ให้การอบรมสั่งสอนสมควรแล้ว ท่านก็พร้อมหมู่คณะ เดินทางกลับมาวัดป่าเหล่างา เราได้พักอยู่ศึกษาอบรม เมื่อจวนพรรษา เราได้ติดตาม ท่านอาจารย์กู่ ซึ่งเป็นพี่ชายอาจารย์กว่า และเป็นญาติ อาจารย์ฝั้น อาจาโร บ้านบะทอง อําเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร ไปจําพรรษาอยู่วัดบ้านจีด อําเภอหนองหาร จังหวัดอุดรธานี ออกพรรษาแล้วได้ลาท่านอาจารย์ เดินทางไปจังหวัดอุดร ผ่านไปอําเภอบ้านด่าน เชียงแตง เขตจังหวัดหนองคาย ตามริมแม่น้ำโขง เข้าไปบ้านท่าสะแบง บ้านโซ่ บ้านเซิม

แล้วไปอําเภอบึงกาฬ เพื่อนมัสการเจ้าคุณชัยบูรณาจารย์ ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์เพื่อขออนุญาตลาท่านไปญัตติเป็นพระธรรมยุต คณะ กรรมฐานในสํานักท่านอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม ในขณะนั้นพอดีไป จอท่านอาจารย์อ่อนตา ซึ่งเป็นพระกรรมวาจาจารย์ ท่านพักวิเวกอยู่ ในป่าใกล้อําเภอบึงกาฬ เมื่อจวนเข้าพรรษาท่านได้ชวนให้มาจําพรรษา ที่วัดศรีธาตุ ตําบลจําปี อําเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี ในพรรษา เราได้ศึกษานักธรรมตรี และสอบได้ในปีนั้น

เสร็จเรียบร้อยแล้วจึงได้เดินธุดงค์มาจังหวัดขอนแก่น จึงได้มาทราบว่าท่านอาจารย์สิงห์ ได้เดินทางออกจากวัดวิเวกธรรมพร้อมด้วยคณะ มีพระอาจารย์อ่อน พระอาจารย์ฝั้น พระอาจารย์ภูมี พระอาจารย์อุ่น ลงมาสร้างวัดป่าสาลวัน จังหวัดนครราชสีมา โดย พ.ต.ต. หลวงชาญฯ ได้ถวายที่ให้สร้างวัดป่าสาลวัน โดยบัญชาของ เจ้าคุณพรหมมุนี เจ้าคณะมณฑลภาคอิสาน มีบัญชาสนับสนุนส่งเสริม ปี พ.ศ. ๒๔๗๕ เป็นปีแรกที่ตั้งวัดป่าสาลวัน

ปี พ.ศ. ๒๔๗๖ เราได้เดินทางตามท่านมาที่โคราช (นครราชสีมา) วัดป่าสาลวัน อยู่อบรมกรรมฐานและฝึกอักขระฐานกรณ์ เพื่อญัตติเป็นธรรมยุต ณ พัทธสีมาวัดสุทธจินดา อําเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา โดย เจ้าคุณพรหมมุนี (สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ติสฺโส อ้วน พระสังฆนายก) เป็นพระอุปัชฌาย์ เจ้าคุณธรรมฐิติญาณ (พระโพธิวงศาจารย์) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระธรรมดิลก (สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ พิมพ์ ธมฺมธโร) เป็นพระอนุสาวนาจารย์ เมื่อญัตติแล้ว จวนพรรษาท่านพระอาจารย์สิงห์ ได้ส่งให้ไปจําพรรษา อยู่สํานักวัดศรัทธารวม ตําบลหัวทะเล จังหวัดนครราชสีมา อยู่กับท่านอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล ซึ่งเป็นน้องชายอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม

เมื่อออกพรรษาแล้ว ท่านอาจารย์มหาปิ่น ได้พาเดินธุดงค์ ไปอําเภอกระโทก (โชคชัย) พักอยู่วัดป่าบ้องชี มี พระอาจารย์ลี ธมฺมธโร อยู่จําพรรษา สมัยนั้นมีขุนอํานาจอํานวยกิจ นายอําเภอกระโทก ให้ความอุปถัมภ์วัด พักอยู่พอสมควรแล้ว ได้เดินธุดงค์ต่อเข้าไปบ้านตะแบก บ้านขุนนคร เข้าไปเขตอําเภอปักธงชัย ได้พบท่านอาจารย์ฝั้น อาจารย์อ่อน ท่านพักวิเวกอยู่เขาตะกุตรัง เขตอําเภอปักธงชัย จวนพรรษา ท่านได้พาเดินทางกลับมาพักอยู่ในป่าไผ่ ใกล้อําเภอปักธงชัย เวลานี้เป็นวัดป่าเวฬวัน เจริญขึ้นมีพัทธสีมาแล้ว แล้วจึงเดินเข้ามาวัดป่าสาลวัน

เมื่อจวนพรรษาท่านอาจารย์สิงห์ ขันตยาคโม ได้ส่งเรากับพวก ให้ไปจําพรรษาวัดป่าบ้านหนองบัว สถานีลาดบัวขาว อําเภอสีคิ้ว ตามคําของโยมผู้ศรัทธาขอมา เมื่อออกพรรษา ปี ๒๔๗๗ ได้เดินธุดงค์ไปทางช่องเหวตาบัว ลงไปจงโก้ ซับแหว่ บ้านแผ่นดินทอง หนองอีโต๊ะ เข้าไปวิเวกพักอยู่ในถ้ำเขาสมโภช (ซับขนมจีน) ขนมจีนนี้มีบ่อน้ำหินอันหนึ่ง เป็นรูลึก ตักไม่รู้หมดไม่รู้แห้ง พักอยู่พอสมควรแล้วจึงได้เดินทางลงมาบุตรชุม ชัยบาดาล บ้านท่ากวาด ท่ากอน แควแม่น้ำสัก ไปนมัสการพระบาทสระบุรี ตอนนี้ได้มาพบกับท่านอาจารย์พิรัตน์ ซึ่งเป็นคนบ้านโนนตากแดด บ้านม่วงลาว อําเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี ท่านแนะนําให้ไปพักที่บ้านโนนตากแดด ซึ่งเป็นบ้านญาติของท่าน

พระสุธรรมคณาจารย์ (พระอาจารย์แดง ธมฺมรกฺขิโต) วัดประชานิยม
พระสุธรรมคณาจารย์ (พระอาจารย์แดง ธมฺมรกฺขิโต) วัดประชานิยม

ระยะมาพักอยู่นี้ ได้พบกับพระมหาสม วัดสุทัศน์ กรุงเทพฯ ท่านออกมาเยี่ยมบ้าน ท่านจึงชวนเราไปเที่ยวกรุงเทพฯ เห็นเป็นโอกาสดีจะได้ไปเห็นกรุงเทพฯ ตัดสินใจไปกับพระมหาสม พักอยู่วัดสุทัศน์ พอสมควรแล้วก็ได้ลาพระมหาสมไปพักวัดพระยายัง ด้วยพระมหาอารีย์ และสามเณรฮวด ซึ่งเป็นพวกกรรมฐาน เข้าไปเรียนหนังสืออยู่ที่นั้น (สามเณรฮวดขณะนี้ได้เป็นเจ้าคณะจังหวัดขอนแก่น ที่พระวินัยสุนทรเมธี) จวนพรรษาได้ลาพระมหาอารีย์เดินธุดงค์ออกไปจังหวัดลพบุรี โดยสารรถไฟไปลงที่อยุธยา โดยสาเหตุที่พักอยุธยานั้น เราไปขึ้นรถไฟขบวนหยุดแค่อยุธยา ตื่นเช้าบิณฑบาตฉันแล้ว มีโยมที่อยุธยามีศรัทธา ซื้อตั๋วรถไฟให้ไปลงสถานีลพบุรี

พระสุธรรมคณาจารย์ (หลวงปู่แดง ธมฺมรกฺขิโต) วัดประชานิยม
(จากซ้าย) หลวงปู่มหาปิ่น ชลิโต วัดป่าพระธาตุเขาน้อย
พระสุธรรมคณาจารย์ (หลวงปู่แดง ธมฺมรกฺขิโต) วัดประชานิยม
พระราชสังวรญาณ (หลวงพ่อพุธ ฐานิโย) วัดป่าสาลวัน

แวะไปนมัสการเจ้าคุณเทพวรคุณ เจ้าอาวาสวัดมณีชลขันธ์ เจ้าคณะจังหวัดลพบุรีซึ่งเป็นน้องชายเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) ท่านจึงแนะนําให้ไปจําพรรษาที่วัดสิริจันทรนิมิตร เขาพระงามกับพระครูสมุห์สิงห์โต (ลําเจียก) ในพรรษานี้ ปี พ.ศ.๒๔๗๘ เราได้ญัตติมาได้ ๓ พรรษา และ ได้ศึกษานักธรรมชั้นโท ในสํานักเรียนวัดสิริจันทรนิมิตร และสอบได้ในปีนั้น สอบแล้วเดินทางกลับวัดป่าสาลวัน นครราชสีมา

ในปี พ.ศ. ๒๔๗๘ ท่านอาจารย์ลี ธมฺมธโร ไปสร้างวัดป่าคลองกุ้งได้หนึ่งพรรษา ปี พ.ศ. ๒๔๗๙ ท่านจึงมีจดหมายมาขอเราจากท่านอาจารย์สิงห์ลงไปอยู่ด้วย โดยขุนอํานาจอํานวยกิจ ได้ส่งเงินค่ารถค่าเรือมาให้จํานวน ๔๐ บาท การลงไปจันทบุรี ซึ่ง เป็นโอกาสที่ท่านอาจารย์สิงห์ จะเดินทางลงไปจําพรรษาที่วัดบรมนิวาส เราก็ได้ติดตามท่านลงไปด้วย พักอยู่วัดบรมนิวาสไม่นาน คุณเยี่ยม ภรรยาหมอใหญ่ ถนนวรจักร กรุงเทพฯ เป็นคนจันทบุรี ได้ทราบเรื่องว่าเราจะไปจันทบุรี จึงได้จัดซื้อตั๋วเรือถวาย ไปเรื่อภาณุรังษี ล่องทะเลไปขึ้นท่าแฉลบ จันทบุรี เวลาประมาณ ๑ โมงเช้า ขุน อํานาจอํานวยกิจเอารถมารับ ไปวัดป่าคลองกุ้ง ทันเวลาฉันจังหันพอดี

วันนั้นเป็นวันที่ท่านเฟื่อง มาญัตติเป็นพระธรรมยุตในสํานักวัดป่าคลองกุ้ง เราได้ไปนั่งหัตถบาสในการบวชด้วย ท่านเป็นพระองค์ แรกที่ได้มาญัตติที่วัดป่าคลองกุ้ง มีชีวิตอยู่จนได้เป็นพระครูสัญญาบัตร ที่ พระครูญาณวิศิษฐ์ เจ้าอาวาสวัดธรรมสถิต จังหวัดระยอง เรา จําพรรษาอยู่จังหวัดจันทบุรี ๒ พรรษา คือปี ๒๔๗๙ และ ๒๔๘๐

ปี พ.ศ. ๒๔๘๑ ได้ลาท่านอาจารย์ลีมาเยี่ยมบ้านท่าคันโท อําเภอท่าคันโท จังหวัดกาฬสินธุ์ กับพระอาจารย์หวัง มาพักอยู่ที่ป่าซึ่ง สร้างเป็นวัดป่าสามัคคีธรรมในปัจจุบันนี้ เจตนาทีแรกก็ไม่ได้คิดจะสร้างวัด มุ่งแต่จะมาเยี่ยมบ้านและญาติโยม แต่อาศัยญาติโยมมีศรัทธา แรงกล้าในตัวเรา ว่าไปนานแล้วและคิดถึง จึงได้นิมนต์อาราธนาให้อยู่จําพรรษา ทายกทายิกาคณาญาติได้จัดเสนาสนะให้อยู่จําพรรษา โดยความพร้อมเพรียงกัน ทั้งบ้านท่าคันโท บ้านนาตาล บ้านยางอุ้ม บ้านเหล่า จึงให้ชื่อวัดว่า วัดป่าสามัคคีธรรม เราได้อยู่จําพรรษาที่ วัดป่าสามัคคีธรรมนี้ ๔ พรรษา

ระยะนี้ ปี พ.ศ. ๒๔๘๒ ท่านเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ ได้ไปตามนิมนต์ท่านอาจารย์มั่น จากจังหวัดเชียงใหม่ ให้มาอบรมพระกรรมฐานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ท่านพักอยู่ที่วัดโนนนิเวศ จังหวัดอุดรธานี เราได้ไปเข้าศึกษาอบรมในสํานักของท่านอาจารย์มั่น แล้วกลับมาจําพรรษาที่วัดป่าสามัคคีธรรม ปี พ.ศ. ๒๔๘๓ ท่านย้ายไป จําพรรษาอยู่ที่วัดป่าหนองน้ำเค็ม ตําบลเชียงพิน เราได้ตามไปศึกษาอบรม ในสํานักของท่านอีก

ระหว่างจําพรรษาอยู่วัดป่าสามัคคีธรรม เราได้ให้การอบรมสั่งสอน มีทายกทายิกาผู้ศรัทธาส่งกุลบุตรเข้ามาบวชเป็นพระเป็นเณร สืบต่อเรื่อยมา พ.ศ. ๒๔๘๔ ได้ ๔ พรรษาแล้ว เราถึงย้ายเข้าไปสร้างวัดป่าสักกะวัน อําเภอสหัสขันธ์ ปี พ.ศ. ๒๔๘๕ อยู่จําพรรษา ที่วัดสักกะวันเป็นปีแรก ได้อยู่อบรมทายกทายิกา วัดเจริญขึ้นจนได้ วิสุงคามสีมา อยู่จําพรรษาที่วัดป่าสักกะวันได้ ๔ พรรษา ปี พ.ศ. ๒๔๘๙ ลงไปจําพรรษาที่วัดป่าคลองกุ้ง จันทบุรี กับท่านพ่อลี อีกหนึ่งพรรษา ออกพรรษาแล้วได้กลับขึ้นมา ตอนนี้อาจารย์เฟื่องได้ ตามขึ้นมาด้วย เพื่อจะไปศึกษาอบรมในสํานักอาจารย์มั่นด้วยกัน ที่ สํานักวัดป่าบ้านตองโขบ นามน และบ้านหนองแคน อ.เมือง จ.สกลนคร ตอนนั้นท่านได้ย้ายมาที่บ้านหนองผือนาใน เราได้เดินติดตามท่านมา พักที่สํานักหนองผือนาใน จวนพรรษาเราจึงลาท่านลงมาจําพรรษา วัดป่าสักกะวัน อําเภอสหัสขันธ์ กาฬสินธุ์

ปี พ.ศ. ๒๔๙๑ มาจําพรรษาที่วัดป่าสามัคคีธรรม ในปีนี้ได้ เริ่มสร้างศาลาการเปรียญหลังหนึ่งสําเร็จ ได้ฉลองในเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๙๒ สินทรัพย์ในการก่อสร้างและฉลอง ๗,๔๐๑.๒๕ บาท สร้างพระประธานศาลา ๑๖๐๐.๐๐ บาท รวมค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น ๙,๐๐๑.๒๕ บาท ปีนี้ได้เดินธุดงค์ขึ้นไปจังหวัดสกลนคร ข้ามเขาดงภูพานเข้าเขตจังหวัดสกลนคร เกี่ยวด้วยงานศพของ ท่านอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ ซึ่งท่านได้มรณภาพในปี พ.ศ. ๒๕๔๒ ที่วัดสุทธาวาส

ในสมัยนั้นเรามักย้อนวกไปเวียนมาอยู่แถวกาฬสินธุ์ อุดร สกลนคร เพราะระยะปี ๒๔๘๒ – ๒๔๙๒ ท่านอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ ท่านพักอยู่ที่วัดโนนนิเวศ, วัดป่าบ้านหนองน้ำเค็ม อ.เชียงพิน จ.อุดรธานี แล้วท่านย้ายไปสกลนคร พักอยู่วัดสุทธาวาส วัดป่าบ้านตองโขบ เต่างอย บ้านโคกนามน บ้านหนองแคน เขตจังหวัดสกลนคร พวกเราไปศึกษาอบรมก็พักอยู่ในสํานักท่านบ้าง พักอยู่เสนาสนะป่า รุกขมูลตามบ้านอยู่ใกล้ ๆ บ้าง ถึงวันอุโบสถเวลาอบรมก็เข้าไปรวมใน สํานักของท่านอาจารย์ เสร็จแล้วก็กลับที่พัก ระยะที่ท่านย้ายจากบ้าน หนองแคน มาอยู่จําพรรษาที่บ้านหนองผือนาใน เราได้เดินทางติดตาม ท่านมาถึงบ้านหนองผือนาใน ยอดน้ำอูน บ้านนี้อยู่ในหลังเขาภูพาน มีอาณาบริเวณกว้างยาว เป็นที่ราบสูง มีป่าดงพงเขา

ผู้เขียนได้เดินผ่านไปมา จากวัดสักกะวัน อําเภอสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ไปช่องหมาใน ไปบ้านหนองบัว หาดทราย บ้านกุดบาก กุดแฮด เป็นที่อยู่พวก ภูไท ข่าเลิง ย่อ พวกโซ่ แล้วไปทุ่งข่า นาม่อง หนองไสน บ้านลาดกระเชอ บ้านล่างค้อ บ้านทุ่งคลองหลุบเลา นาอ่าง นาผาง นาตาล บ้านเหล่าเชือก ตาดภูวง ขึ้นลงช่องหมาใน ยอดลําพันชาด เหล่านี้อยู่หลังภูพาน เวลาเดินธุดงค์ผ่านบ้านเหล่านี้ สมัยนั้นเป็นป่าดง ไม่มีทางรถ ต้องเดินเท้า มีทางเกวียนข้ามเขาไปสกลนคร เวลานี้มีทางรถยนต์ ถนนลาดยาง สายกาฬสินธุ์ สกลนครแล้ว ระยะทาง ๑๒๐ ก.ม.

บนหลังภูพานเวลานี้มีบ้านตามรายทาง มีคนถางป่าดงลงเป็น บ้านเป็นไร่ เป็นนาเป็นสวน หลังภูพานมีถ้ำฤาษี เวลามีเขื่อนน้ำพุง ใกล้ถ้ำฤาษี เราเคยไปวิเวก ธุดงค์กรรมฐานอยู่กับพระมหาทองสุก สุจิตฺโต เจ้าอาวาสวัดสุทธาวาส หลังภูพานเวลานี้ได้เป็นอําเภอขึ้นแล้ว เรียกว่าอําเภอกุดบาก มีด่านรักษาป่าไม้ และมี ภูพานนิเวศ ซึ่งพระเจ้าแผ่นดินพร้อมด้วยพระบรมราชินีนาถ พระบรมโอรสาธิราช และพระราชธิดาเสด็จมาพักแรมเสมอ เป็นขวัญใจให้ความอบอุ่นแก่พสกนิกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งมีพวก ค.ม. มาปลุกปั้นชาวกาฬสินธุ์สกลนครว่า อย่านอนหลับหลาย ให้ตื่น ให้ลุก ให้เดิน ให้ลืมตา อย่าหลับตาเดินจะตกหลุมตกบ่อ เหยียบขวากเหยียบหนาม ตําหลักตําตอ

เมื่อได้เดินธุดงค์พอสมควร เวลาเข้าพรรษาก็กลับมาจําพรรษา ที่วัดป่าสักกะวัน สิ้นไตรมาสแล้ว ปี พ.ศ. ๒๕๕๔ ได้เดินทางลงมากรุงเทพฯ เฝ้าปฏิบัติพระอุปัชฌาย์ สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ ติสสะเถระ ท่านมีบัญชาให้เข้าอบรมเป็นพระอุปัชฌาย์ อยู่วัดพระศรีมหาธาตกับ พระธรรมปิฎก ธมฺมธโรเถระ และพระธรรมดิลก (ทองคํา จนฺทปโม) วัดบรมนิวาส เมื่อเห็นสมควรถูกต้องควรเป็นอุปัชฌาย์ได้แล้ว ก็ทําหนังสือรับรองเสนอสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ สมเด็จพระสังฆราช เจ้าคณะใหม่คณะธรรมยุตให้รับตราตั้งตาม พ.ร.บ. เป็นพระอุปัชฌายะ ตราตั้งที่ ๑/๒๔๙๔ เสร็จแล้วก็ลากลับไปจําพรรษาที่วัดป่าสามัคคี ธรรม บ้านท่าคันโท

ในปี พ.ศ. ๒๔๙๔ นี้ การปกครองคณะสงฆ์ได้แยกการปกครอง ส่วนภูมิภาคให้ปกครองไปตามนิกาย คือธรรมยุตติกนิกาย และมหานิกาย ให้ปกครองไปตามนิกาย ส่วนกลางรวมกันวางนโยบายบริหารคณะสงฆ์ เสร็จแล้วก็สั่งไปตามนิกายของภาคนั้น ๆ ในกลางพรรษา พ.ศ. ๒๔๙๔ ได้รับหนังสือคําสั่งด่วนจากเจ้าคุณธรรมปิฎก เจ้าคณะผู้ช่วยภาค ฝ่ายธรรมยุต ใจความว่าเวลานี้ได้แยกการปกครองส่วนภูมิภาค ให้เธอรับตําแหน่งเป็นเจ้าคณะอําเภอ (ธรรมยุต) ๓ อําเภอ คืออําเภอเมือง อําเภอกมลาไสย อําเภอสหัสขันธ์ อย่าเห็นเป็นการขัดข้องต่อการปฏิบัติ อาจสะดวกต่อการปฏิบัติให้ดีขึ้น เรารับปฏิบัติตามด้วยความพอใจ ตามบัญชาของพระเดชพระคุณท่าน

ในเดือนพฤษภาคม ๒๔๙๔ นี้ เราได้เป็นพระอุปัชฌาย์ ในเดือนกันยายน ปีเดียวกัน กลางพรรษาได้เป็นเจ้าคณะอําเภอ อําเภอ เมือง, กมลาไสย, สหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ และได้สร้างวัดประชานิยม ในเขตเทศบาลเมืองกาฬสินธ์ เมื่อ ๒๑ ธันวาคม ๒๔๙๔ ตรงกับวันแรม ๘ ค่ํา เดือน ๑

เมื่อออกพรรษา ปวารณาแล้ว ตอนเดือนพฤศจิกายน ๒๔๙๔ ได้คิดถึงท้องที่ตามอําเภอที่เราเป็นเจ้าคณะอําเภอปกครอง จึงได้เดินทางออกตรวจท้องที่ทั้ง ๓ อําเภอ ปรากฏว่าอําเภอสหัสขันธ์ มี ๗ วัด

๑. วัดป่าสามัคคีธรรม
๒. วัดสักกะวัน
๓. วัดอริโยทัย บ้านโพน
๔. วัดพุทธนิมิต (ภูค่าว)
๕. วัดป่าโนนน้ำเกลี้ยง
๖. วัดป่าวารีวัน บ้านดงไร่
๗. วัดป่าบ้านแก่ง

อําเภอเมืองมี ๒ วัด
๑. วัดประชานิยม
๒. วัดป่าเวฬวัน บ้านดงเมือง

อําเภอกมลาไสย มี ๗ วัด
๑. วัดปฐมแพงศรี
๒. วัดเครือวัลย์ บ้านดอนหวาย
๓. วัดป่าโนนเมือง
๔. วัดป่าบ้านหนองแซง
๕. วัด ป่าบ้านแก
๖. วัดป่ากระเดาเหล่ากลาง
๗. วัดบ้านดอนยูง

ในเขตปกครองสมัยนั้นมี ๑๖ วัด

นับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๕ ได้พักจําพรรษาอยู่วัดประชานิยม เรื่อยมา ปี ๒๔๙๗ ได้สร้างศาลาวัดประชานิยม และสร้างถังน้ำคอนกรีตที่ศาลา การสร้างศาลาไม่มีงบประมาณในการก่อสร้าง แต่ได้รับบริจาคจากผู้ศรัทธาใจบุญหลายคน หลายจังหวัด เป็นเจ้าภาพบริจาคทรัพย์ เช่นทายกทายิกาวัดคลองกุ้ง จันทบุรี ที่เราเคยไปอยู่ กับท่านพ่อลี เราบอกว่ามาสร้างวัดใหม่และจะสร้างศาลา หลวงพ่อคุณหลวงอนุทัยธาดา อดีตนายอําเภอที่บวชอยู่วัดคลองกุ้งซึ่งนับถือเรา ได้จัดแจงบอกบุญหาทุนสมทบสร้างศาลา ได้เงินประมาณห้าพันกว่าบาท ต่อมา แม่ชีกิ๊น ได้บอกผู้ศรัทธาในตลาดจันทบุรี ส่งปัจจัยเพิ่มเติมบ่อย ๆ จนศาลาสําเร็จ นํามาจ้างทําไม้แปรรูป สร้างศาลาสมัย ๒๔๙๗ นั้น ไม้หน้า ๖ หนา ๒ นิ้ว ยาว ๑๒ ศอก ตัวละ ๑๒ บาท และ เสา ๑๔ ศอก ๑๒ ศอก รวมกันเป็นจํานวน ๓๒ ต้น สร้างเป็น ศาลา ๗ ห้อง จ่ายเงินจ้างทําไม้แปรรูป หมดห้าพันกว่าบาท มี เครื่องทัพพสัมภาระพอแล้ว พร้อมด้วยสังกะสีและเครื่องอุปกรณ์ จึงได้ยกศาลาด้วยตั้งเสาตอหม้อคอนกรีตต่อเสาไม้ สําเร็จรูปถาวรจน ทุกวันนี้ ด้วยแรงศรัทธาความเชื่อร่วมบริจาคของทายกทายิกาดังกล่าว และได้รับความอุปถัมภ์สนับสนุนจากเจ้าคณะ ผู้มีอํานาจเหนือ และ ข้าราชการผู้มีหน้าที่ปกครองในท้องถิ่น พร้อมทั้งเพื่อนบรรพชิตก็ได้ให้ความช่วยเหลือเป็นกําลังใจอย่างยิ่ง

การสร้างวัดมาตั้งแต่ปี ๒๔๘๑ ถึง ๒๔๙๔ เช่นการสร้างวัดประชานิยมนี้ ย่อมผ่านอุปสรรคเป็นธรรมดา ตามสุภาษิตที่ว่า “ชีวิต คือการต่อสู้ ศัตรูเป็นยากําลังใจให้สําเร็จ” อุปสรรคเป็นสิ่งขัดข้องก็คือ เป็นการขัดให้แน่น การสร้างวัดประชานิยมก็ได้สําเร็จเรียบร้อยถูกต้อง ตาม พ.ร.บ. ที่ดินสร้างวัดก็จับจองและมีโฉนด เป็นนิติบุคคลทํานิติกรรม แล้วโดยนายเอี่ยม อัครพันธ์ ที่ดินอําเภอ ทําการจับจองให้เป็นที่วัด ๓๕ ไร่ เป็นเขตป่าช้า ๑๒ ไร่ และนายเอี่ยม อัครพันธ์ ยังได้กลับมาทําโฉนดให้เรียบร้อยอีกเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๕ การสร้างวัดประชานิยม ซึ่งเป็นวัดธรรมยุต ให้มีในเขตเทศบาลเมืองกาฬสินธุ์ เป็นการสร้างความเจริญให้แก่จังหวัดกาฬสินธุ์ และให้การปกครองฝ่ายคณะสงฆ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้สะดวกและเจริญขึ้นตลอดมาจนทุกวันนี้ ซึ่งเจ้าคณะภาคและเจ้าคณะใหญ่ก็ได้อนุโมทนาในความสําเร็จของวัดประชานิยมเป็นอย่างยิ่ง

ปีแรกที่มาสร้างวัดประชานิยม มีความลําบากด้วยอดน้ำ ขุดบ่อ ก็ไม่ได้ มีน้ำดีแต่เป็นน้ำเค็มและน้ำกร่อยใช้ประโยชน์ไม่ได้ จึงเป็น เหตุให้รู้สึกนึกคิดจะสร้างถังน้ำฝน ลงไปกรุงเทพฯ จึงเล่าเรื่องนี้ให้ ครูสําราญ ที่รู้จักและนับถือให้ทราบ ครูสําราญจึงได้นําเรื่องนี้ไป บอกเล่าหาเจ้าภาพสร้างถังเพื่อเก็บน้ำฝน ก็พอดีไปเจอกับ คุณนายละมัย ภาสวานิชย์ คุณนายมีศรัทธาจึงให้ครูสําราญมาบอกว่ารับจะสร้าง ถังน้ำให้ แต่จะสร้างถังน้ำอย่างไรจึงจะมีประโยชน์และมั่นคงถาวร มีผู้แนะนําว่า ควรสร้างถังน้ำคอนกรีตเพราะคงทนถาวรมีประโยชน์ มาก คุณนายก็ตกลงสร้างเป็นถังน้ำถาวร สินทรัพย์ไป ๑๕,๐๒๕.๒๕ บาท เป็นถังขนาดกว้าง ๒.๕๐ เมตร ยาว ๔.๕๐ เมตร สูง ๒.๕๐ เมตร มีรากฐานหนาแน่นจนถึงทุกวันนี้ เจ้าภาพคือคุณนายละมัย ภาสวานิชย์ ได้รับความปลื้มปีติเป็นอย่างยิ่ง ในวันฉลองศาลาและถังน้ำ

ได้จัดเครื่องไทยธรรมมาถวายพระเจริญพุทธมนต์ ด้วยศรัทธา มีปีติอิ่มใจตลอดคืน ทั้งวันนั้นอยู่ที่บ้านก็ได้เจริญพุทธคุณตลอดคืน เมื่อฉลองศาลาและถังน้ำเสร็จแล้ว เป็นโอกาสที่เราได้ลงไปเยี่ยม ที่กรุงเทพฯ คุณนายได้เล่าให้ฟังอย่างที่เล่ามา ว่ามีความสุขใจมาก จึงมีศรัทธาอยากจะสร้างอะไรอีกต่อไปในวัด เราบอกว่าสิ่งก่อสร้าง ที่ถาวรมั่นคงก็คือสร้างโบสถ์ วัดนี้เป็นวัดสร้างขึ้นใหม่ ยังไม่มีโบสถ์ คุณนายถามอีกว่า โบสถ์จะลงทุนเท่าไรถึงจะเสร็จ เราบอกว่าถ้ามีทุนสัก ๓ แสนบาท การดําเนินการก่อสร้างเบื้องต้นก็จะสําเร็จ ถึง โบสถ์ไม่เสร็จก็พอจะหาเพิ่มเติมไปก็คงจะเสร็จ โดยมีเจ้าภาพหลายคนช่วย คุณนายลมัย ภาสวนิชย์ ตกลงปวารณาสร้างโบสถ์ จํานวนเงิน ๓๐๐,๐๐๐ บาท จึงได้ เริ่มดําเนินการสร้างโบสถ์ เมื่อเดือน เมษายน ๒๕๐๐ ได้ประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์สร้างโบสถ์วัดประชานิยม ซึ่งได้ดําเนินการก่อสร้างมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. ๒๕๑๔ จึงสําเร็จ ได้ประกอบพิธีผูกพัทธสีมา เมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๑๔

ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ เป็นปีฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ ซึ่งเป็นปีที่มีความสําคัญยิ่งในความรู้สึกนึกคิดของพุทธบริษัท ทั้งทางราชการ พ่อค้า ประชาชน ทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิตต่างร่วมจัดการฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษกันทั่วไปในประเทศไทย โดยเฉพาะทางวัดอโศการาม ท่านพ่อลี ธมฺมธโร ผู้ให้กําเนิดวัดอโศการาม ก็มีศรัทธาอันแรงกล้า และสมรรถภาพในการที่จะฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษขึ้นในวัด กําหนดจัดงานฉลองขึ้นในวันเพ็ญเดือน ๖ ปี พ.ศ. ๒๕๐๐ มีโครงการคือ ๑. จัดสถานที่ ๒. จัดสร้างพระพุทธรูปบูชาและพระเครื่องรางของขลัง ๓. บอกเล่าไปยังคณะศิษยานุศิษย์ให้ทราบเพื่อช่วยเหลือกันอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะข้าพเจ้า (พระครูกาฬสินธุ์สหัสคุณ) สมัยนั้น ท่านได้แต่งตั้งให้เป็นกรรมการ ทําหน้าที่รับนาคที่จะมาบวชเป็น พระเป็นสามเณร และอบรมนาค ทั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ประจําบวช พระบวชเณรด้วย บวชแล้วให้ทําการอบรมแนะนําสั่งสอน และให้มีหน้าที่ในการปกครองพระเณร ผ้าขาวนางชี สมัยนั้น โดยได้รับคําสั่งจากท่านตลอดมา

พระสุธรรมคณาจารย์ (พระอาจารย์แดง ธมฺมรกฺขิโต) วัดประชานิยม
พระเถรานุเถระศิษยานุศิษย์ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต บันทึกภาพร่วมกันในงานผูกพัทธสีมาอุโบสถ วัดอโศการาม บ้านนาแม่ขาว ต.ท้ายบ้าน อ.เมือง จ.สมุทรปราการ เมื่อวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๐๓ ตรงกับวันศุกร์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ ปีกุน

– แถวนั่ง จากซ้าย : หลวงปู่มหาปิ่น ชลิโต, หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน, หลวงปู่อ่อนสี ฐานวโร, หลวงปู่แว่น ธนปาโล, หลวงปู่สิม พุทฺธาจาโร, พระเทพวรคุณ (หลวงพ่ออ่ำ ภทฺราวุโธ), ท่านพ่อลี ธมฺมธโร,พระสุธรรมคณาจารย์ (หลวงปู่แดง ธมฺมรกฺขิโต),พระปลัดศรี (วัดมณีชลขัณฑ์ จ.ลพบุรี) และพระอาจารย์จันทร์ เขมปัตโต

– แถวกลาง จากซ้าย : พระอาจารย์ไสว, หลวงปู่หลวง กตปุญฺโญ,พระอาจารย์สวด, พระครูพรหมวิหาร, พระอาจารย์เม้า ธมฺมุตฺตโม,หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร, พระมหาสมจิตร จิตฺตวโร (วัดควนจง จ.สงขลา),ท่านพ่อเฟื่อง โชติโก, หลวงปู่ถวิล จิณฺณธมฺโม,พระอาจารย์บุญมี ปญฺญาปทีโป และพระครูสัน (วัดป่าคลองกุ้ง จ.จันทบุรี)

– แถวหลัง จากซ้าย : พระครูธงชัย (วัดพุทธมงคลนิมิต จ.นครสวรรค์),หลวงปู่ฟัก สนฺติธมฺโม, พระอาจารย์ปทุม (วัดหนองบัว),พระอาจารย์สุพัฒน์ สุขกาโม และพระใบฎีกาตุ๋ย

การฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ ของวัดอโศการามนี้ ท่านประกอบการฉลองอยู่เป็นเวลาถึง ๑๙ วัน รู้สึกว่าเป็นงานใหญ่ยากที่บุคคลใด จะทําได้ เพราะงานนี้ไม่มีงบประมาณและไม่ร้องเรียกงบประมาณจากใคร ทําด้วยกําลังศรัทธาเลื่อมใสของผู้มาบวชและผู้มาบริจาคก็มาด้วยกําลังศรัทธาเลื่อมใส มีผู้มาบริจาคทรัพย์และสิ่งของเป็นจํานวนเหลือเฟือคณานับไม่ถ้วน ข้าวสาร ถ้วยจาน เสื้อ หมอน ผ้าไตรจีวร ผ้าขาว นับไม่ถ้วนคณานับ แต่ข้าพเจ้าไม่ได้เกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านี้ ได้แต่ทําหน้าที่ของตนอย่างแข็งแรง ไม่ก้าวก่ายหน้าที่ของกันและกัน งานใหญ่จึงสําเร็จลุล่วงไป

ท่านอาจารย์เฟืองเป็นกรรมการสาธารณูปการ มีหน้าที่ก่อสร้างปะรําที่พัก พระอาจารย์เม้า มีหน้าที่การเผยแผ่ ข้าพเจ้าทําหน้าที่ให้การอบรม ประชาสัมพันธ์ และปกครองก็ทําไปตามหน้าที่ มีท่านพ่อลีเป็นประธานในงาน ก็ได้ดําเนินการลุล่วงไปด้วยดี เมื่องาน ฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษสําเร็จลง พระเถรานุเถระ ครูบาอาจารย์ ก็ต่างองค์ต่างทยอยกลับวัดของท่าน สําหรับเราก็ไปลาท่านพ่อลีจะกลับวัดเหมือนกัน แต่ท่านพ่อลีบอกว่า “สําหรับท่านไม่ต้องกลับ” แล้วเราก็เรียนถามท่านว่า “วัดผมทําอย่างไรละครับ?” ท่านตอบว่า “วัดท่านเรื่องเล็ก อยู่ที่วัดอโศฯ นี้เรื่องใหญ่” เราก็รับฟังคําของท่าน

สิ่งที่ทําให้รู้สึกนึกคิดในท่านพ่อลีไม่ลืมนั้นคือ เมื่อฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษแล้ว เก็บสิ่งของอะไรทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว เช้าวันหนึ่ง เวลาประมาณตีห้า ท่านพ่อลีเตรียมแบกกลด สะพายบาตร ย่าม กระติกน้ำ เดินออกจากกุฏิผ่านขึ้นมาทางศาลา แล้วเดินออกจากวัด ไปถนนใหญ่ คุณกิมหงษ์ ไกรกาญจน์ สังเกตเห็น จึงสั่งให้คนรถขับรถวิ่งตามท่านไป พอดีตามทันท่านอยู่ระหว่างทางจะถึงถนนใหญ่ คนขับรถก็หยุดรับท่าน ท่านจึงเปิดประตูรถขึ้นนอนสบายเลย แล้วท่านสั่งให้ขับรถวิ่งไปไม่ต้องรอใคร มุ่งหน้าวิ่งไปวัดคลองกุ้ง จังหวัดจันทบุรี ถึงวัดคลองกุ้ง ขึ้นกุฏิแล้วท่านก็ปิดประตูเข้าห้องเงียบ ไม่ห่วงอาหาร และบุคคลใด ๆ เป็นเวลาหลายวัน เมื่อท่านพักผ่อนสบายแล้ว จึงออกรับแขกพอสมควร จากนั้นท่านก็กลับมาวัดอโศการาม

เมื่อท่านไปวิเวกพักผ่อนตามสมควร แล้วกลับวัดอโศการาม เรานําพระ-เณร เข้าไปกราบต้อนรับท่าน ท่านจึงออกอุทานว่า “ก็มี ท่านองค์เดียวได้ช่วยผมอย่างเต็มที่ ขอแสดงความยินดีและขอบใจ มีท่านพอให้เป็นที่พึ่งอาศัยของพระเณร ถ้ามิฉะนั้นก็แย่” สมัยนั้น พระ เณร อุบาสก อุบาสิกา นุ่งขาว ห่มขาว เป็นชี เป็นพราหมณี รวมกันประมาณสามร้อยกว่าคน เราก็อยู่เป็นหัวหน้าปกครองโดย เป็นกันเอง ให้การอบรมแนะนําสั่งสอน แนะทางประพฤติปฏิบัติดี ต่างคนต่างเข้ามาวัดด้วยความศรัทธาเลื่อมใส ต่างคนจึงต่างตั้งใจปฏิบัติดี ไม่มีเรื่องยุ่งยากวุ่นวาย ต่างคนต่างทําด้วยความหวังดี ให้เกิดผลดี ต่อชีวิตของตน ไม่ได้มุ่งสรรเสริญหรือนินทา คนที่มารวมกันที่วัด อโศการามสมัยนั้นมาจากหลายทิศหลายทาง หลายจังหวัด หลายจิต หลายใจ เรียกว่า นานาจิตตัง เมื่อมารวมลงจุดเดียวกันแล้ว คือ สงบ อยู่ในพุทโธ ก็ไม่มีอะไรจะยุ่งยาก ก็อยู่ด้วยความสันติสุข

ท่านพ่อลี ธมฺมธโร หรือ พระสุทธิธรรมรังสีคัมภีรเมธาจารย์ ในเมื่อฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษแล้ว กลางคืนวันหนึ่งเราได้เข้าไปพบท่านพ่อลีในกุฏิ “ปุณณสถาน” ท่านบอกว่า “อายุ ๕๕ ผมต้องตาย ให้ท่านอยู่ช่วยผมอยู่นี้แหละ เมื่อผมตายแล้วพอให้เขาได้พึ่งพาอาศัย” และเราได้เรียนถามท่านว่า “แล้ววัดของผมเล่า?” ท่านก็ตอบว่า “วัดของท่านมันเรื่องเล็ก” อย่างเคยมา เราก็รับฟังและตั้งใจ ช่วยท่านอยู่ตามความสามารถ ในการเทศน์อบรมสั่งสอน และบรรพชา อุปสมบท ที่วัดอโศการาม ไป ๆ มา ๆ

ที่ท่านบอกว่าจะตายอายุ ๕๕ ในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ นั้น เราก็ลืมไป จนมาถึงปี พ.ศ. ๒๕๐๔ ท่านไปนอนป่วยอยู่โรงพยาบาล พระปิ่นเกล้า ธนบุรี เราก็ได้มาเยี่ยมและเข้าปฏิบัติท่าน กลับไปกลับ มาอยู่เสมอ ในระยะที่ท่านพักอยู่ที่โรงพยาบาลพระปิ่นเกล้า ครั้งหนึ่งเราจากท่านมาวัดประชานิยม กาฬสินธุ์ไม่กี่วัน ท่านก็โทรเลขด่วนมา ให้เรากลับไปพบท่านที่โรงพยาบาล เมื่อเราได้ไปเยี่ยมพบท่านนอนพัก บนเตียงในห้องพยาบาล กราบแล้วถามท่านว่า “ท่านโทรเลขด่วนให้ ผมรีบกลับมานั้น มีเรื่องอะไร?” ท่านพ่อลีตอบว่า “ผมจะลาตายแล้ว” เราก็ถามว่า “จะตายยังไงครับ” ท่านตอบว่า “ก็ตายขาดลมหายใจ” เราถามว่า “เอ๊ะ ทําไมจะตาย” ท่านตอบว่า “เราได้รับนิมนต์เขาแล้ว” เราเรียนถามว่า “รับนิมนต์ใคร” ท่านตอบว่า “รับนิมนต์เทวดา เขาอาราธนา” เราถามว่า “เขาอาราธนาไปทําไม” ท่านตอบว่า “เขาอาราธนาไปสอนมนต์ให้” เราถามว่า “ไปสอนมนต์ อะไรครับ สอนให้ผมด้วยครับ” ท่านบอกว่า “มนต์ก็ไม่มีอะไรมาก
ก็พรหมวิหารสี่ของเรานี้แหละ แต่คนอื่นสอนมันไม่ขลัง ต้องเราสอน มันถึงขลังเขาบอกอย่างนี้”

สองต่อสองก็นั่งสนทนากันไปสนทนากันมา ท่านก็บอกว่า “เมื่อผมตายแล้ว ก็ให้ท่านอยู่แทนผม” เราก็รับว่า “ครับ ผมมาช่วยบารมี ท่านพ่อ เมื่อท่านพ่อมรณะไปแล้ว ผมจะช่วยไหวหรือไม่ไหวก็ไม่รู้ เพราะลูกศิษย์ท่านพ่อปากตระไกรเป็นจํานวนมาก” ท่านตอบว่า “อย่าไปหัวซา (สนใจ) มันปากหอยปากปู” เราก็มาคิดถึงเรื่องปากหอย ปากปู นี่มันก็เป็นปัญหา ปากหอยนี้เป็นปัญหา มันทั้งกินด้วย ขี้ออก มาทางปากด้วย เอาปากเดินด้วย เป็นปัญหาน่าคิด เราฟังแล้วก็รู้สึกจะงง ๆ ก็ไปคิดถึงเรื่องที่ท่านจะมรณะ และเรื่องพระอานนท์ไม่อาราธนา พระพุทธเจ้าตอนจะปรินิพพาน ที่พระพุทธองค์ตรัสเป็นนิมิต แต่พระอานนท์ไม่ได้อาราธนา จึงได้เรียนอาราธนาท่าน “ผมขออาราธนา ท่านพ่อไว้ อย่าพึ่งมรณะหรือตายเลย ผมก็จะอยู่ช่วยอย่างนี้แหละ” แล้วผลที่สุดท่านก็ตอบว่า “ได้ตกลงรับอาราธนาเขาแล้ว อยู่ไม่ได้”

เราก็ระลึกย้อนหลังไปเมื่อสมัยท่านพูดอยู่ที่ปุณณสถาน ในปี พ.ศ. ๒๕๐๐ ว่าเมื่ออายุ ๕๕ ท่านจะมรณภาพ เมื่อมาคิดอายุของ ท่าน บัดนี้ก็ ๕๕ แล้ว ก็ได้แต่อึ้ง ไม่มีทางที่จะแก้ไขชีวิตของท่านไว้ได้ และท่านได้พูดอีกว่า “ในสมัยประชุมคณะกรรมการจะสร้าง เจดีย์และโบสถ์ เราปรารภว่า ให้สร้างเจดีย์ก่อน เพราะเป็นการช่วยชีวิตของเรา กรรมการที่ประชุมมีความเห็นว่า สร้างโบสถ์ก่อน ก็เป็นอันตกลง ซึ่งเขาไม่รู้จักจุดลึกในชีวิตของเรา จะมาแก้ในเวลานี้ก็ สายเสียแล้ว” เมื่อเป็นเช่นนี้ เราก็หมดหวังในชีวิตของท่านต่อไป เราจึงเรียนท่านว่า “เมื่อท่านพ่อมรณะไปแล้ว ก็ขอให้มาช่วยเหลือวัด อโศการาม” ท่านก็หัวเราะอีก ๆ ตอบว่า “เราก็เป็นห่วงเหมือนกัน คิดว่าจะคายอะไรไว้ให้เขากินกัน แต่ชีวิตก็จวนเสียแล้ว ก็ให้พวกยังอยู่หากินกันไป ถ้าไม่มีปัญญาก็ช่างมัน” และเราเรียนถามท่านว่า “ท่านพ่อมีคาถาอะไรดี ๆ ก็สอนให้ผมด้วย” ท่านตอบว่า “คาถานั้น มีอยู่ แต่สู้ใจเราไม่ได้ ให้ตั้งใจบําเพ็ญเพียรให้สําเร็จคุณธรรม เมื่อเราทําความเพียรอย่างสุดยอด เสียสละชีวิตแล้ว จะสําเร็จหรือไม่ สําเร็จก็ขึ้นอยู่กับวาสนาบารมีของแต่ละคน และประการที่สอง ที่ได้โทรเลขให้มานี้ ให้ไปบวชพระหรือเณร ที่วัดอโศการามให้ด้วย”

อันนี้ก็เป็นปัญหา เมื่อเราออกไปวัดอโศการามแล้ว ไม่มีนาค พระจะมาบวช เห็นมีแต่เด็ก ลูกชายของคุณอะไร จําไม่ได้ มาขอบวชเป็นสามเณร องค์สุดท้ายก่อนการมรณะของท่านพ่อลี ในการที่ ท่านสั่งให้มาบวชนาคที่วัดอโศการาม ที่ว่าเป็นปัญหานั้น ที่วัดอโศการาม ในระยะนั้น เขากําลังชุมนุมกันเสนอเรื่อง จะขอตั้งให้มีพระอุปัชฌาย์ ในวัดอโศการาม โดยเป็นการมิชอบ ไม่ได้ปรึกษา เป็นการก้าวก่าย ข้ามกรายท่าน ก็เป็นอันว่าไม่ได้ตั้ง

แต่นั้นมาไม่นานนัก ท่านก็กลับจากโรงพยาบาลออกมาวัดอโศการาม พักที่กฏิของท่านตามเคย เราก็กลับจากไปประชุมที่วัดป่าสาลวัน ซึ่งมีเจ้าคุณญาณวิศิษฐ์ (พระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม) เป็นประธาน ประชุมกันเรื่องจะผูกพัทธสีมาโบสถ์วัดป่าสาลวัน

กลับมาถึงวันนั้น ตอนกลางคืนท่านได้พูดปรับปรุงพระธรรม เทศนาของท่าน เป็นวันสุดท้าย มีพระบุญกู้ อนุวฑฺฒโน อยู่ทําการบันทึกพระธรรมเทศนา พอสมควรแล้วท่านก็เข้าห้องที่พักผ่อน ตื่นเช้า ไม่เห็นท่านเปิดประตู จนสายเกินเวลาจึงได้เปิดหน้าต่างเข้าไปดูท่าน ก็หมดลมหายใจเสียแล้ว ทําให้บรรดาศิษยานุศิษย์ทั้งหลายเศร้าสลดใจ ไปตาม ๆ กัน

เมื่อบรรดาศิษย์ทั้งหลายได้เฝ้าสังเกตว่า ท่านไม่กลับฟื้นขึ้นมาแล้ว ก็ได้อัญเชิญศพของท่านขึ้นมาบนศาลา ทําการสรงน้ำศพ ปฏิบัติ สรีระและบําเพ็ญกุศลถวาย ตามกําลังศรัทธาของคณะศิษยานุศิษย์ ทั้งฝ่ายคฤหัสถ์และบรรพชิต มีสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (จวน อุฏฺฐายี) สังฆนายก เป็นประธาน มีบัญชาให้เก็บศพท่านไว้ยังไม่ถวายเพลิง เอาตัวอย่างพระมหากัสสป และท่านมีบัญชาอีกว่า ให้บําเพ็ญกุศล และสวดมนต์อุทิศถวายท่านทุกคืน บรรดาบรรพชิตซึ่งเป็นคณะศิษย์ ของท่านก็ดี ก็ได้ปฏิบัติตามบัญชาตลอดมา และคณะทายกทายิกาก็ ได้ทําบุญอุทิศถึงด้วยความเคารพคารวะ จุดธูปเทียนบูชาด้วยศรัทธา เลื่อมใส เปลี่ยนดอกไม้บูชาไม่ให้เที่ยวแห้งมาจนกระทั่งทุกวันนี้

ต่อมาระยะหนึ่ง เป็นปี พ.ศ. อะไรจําไม่แน่ บรรดาศิษย์ผู้ใหญ่ทางฆราวาสปรารภจะทําฌาปนกิจศพของท่านพ่อลี และอีกฝ่ายหนึ่ง ปรารภจะเก็บไว้สักการะบูชาให้เป็นที่อบอุ่นอยู่ตลอดไป เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงมีเสียงขึ้นเป็นสองเสียง เสียงฝ่ายหนึ่งจะทําฌาปนกิจศพของท่าน อีกฝ่ายหนึ่งว่าไม่ควรทํา ควรเก็บไว้อย่างนี้ ถึงกับเป็นเหตุให้มีการ ประชุมบรรดาศิษยานุศิษย์ ทั้งฝ่ายบรรพชิตและคฤหัสถ์ลงคะแนน เอาเสียงข้างมาก ก็ปรากฏว่า เสียงที่ไม่ให้ทําการฌาปนกิจมีเสียงข้างมาก เนื่องด้วยชาวจันทบุรี คณะวัดคลองกุ้งพากันมาออกเสียง เป็นจํานวนมาก จึงตกลงไม่ได้ถวายเพลิง จึงได้เก็บศพท่านไว้ตลอดมา จนทุกวันนี้

พระสุธรรมคณาจารย์ (พระอาจารย์แดง ธมฺมรกฺขิโต) วัดประชานิยม
(จากขวา) พระครูญาณวิศิษฏ์ (ท่านพ่อเฟื่อง โชติโก) วัดธรรมสถิต
พระสุธรรมคณาจารย์ (พระอาจารย์แดง ธมฺมรกฺขิโต) วัดประชานิยม

เมื่อก่อนท่านพ่อลีจะมรณภาพ ท่านได้ฝากฝังวัดอโศการาม และ พระภิกษุสามเณร พร้อมทั้งทายกทายิกา ให้สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (จวน อุฏฺฐายี) ช่วยดูแลปกครอง เมื่อถึงวาระท่านมรณภาพแล้ว สมเด็จท่านก็ได้เอาใจใส่ ไปมาดูแล ตักเตือนและอบรมสั่งสอนแล้วก็ กลับไปวัดมกุฏกษัตริยารามของท่าน จากนั้นสมเด็จท่านก็ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาคณะหนึ่ง เพื่อบริหารวัดอโศการาม โดยสมเด็จฯ เป็นองค์ประธาน สั่งการในหน้าที่เจ้าอาวาสตลอดมา เมื่อบรรลุถึงปี พ.ศ. ๒๕๐๕ ท่านจึงได้เลือก เจ้าคุณราชวรคุณ (พระมหาสํารอง คุณวุฑฺโฒ) มาเป็นเจ้าอาวาสสืบต่อมาจนทุกวันนี้ โดยพิจารณาเห็นว่า เป็นสายญาติของท่านพ่อลีมาก่อน

ในปี พ.ศ. ๒๕๐๕ นี้ เมื่อได้มีพระมาเป็นตัวแทนเราแล้ว และ เป็นที่ไว้ใจในสมรรถภาพของท่าน เราก็ลากลับวัดประชานิยม จังหวัดกาฬสินธุ์ ดําเนินการสร้างโบสถ์วัดประชานิยมอยู่หนึ่งพรรษา เมื่อออกพรรษาแล้ว ขึ้นปี พ.ศ. ๒๕๐๖ เจ้าคณะภาค ๗ – ๘ – ๙ – ๑๐ มีคําสั่งบัญชาให้เรา (พระสุธรรมคณาจารย์) มาครองวัดป่าสาลวัน เราก็ปฏิบัติตามคําสั่งของเจ้าคณะภาค มาอยู่วัดป่าสาลวันเป็นเจ้าอาวาส

เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๗ ทางกรมการศาสนาพร้อมด้วยคณะสงฆ์ ได้จัดให้มีการเผยแผ่อบรมประชาชน เราได้เป็นหัวหน้าคณะพระธรรมทูต ไปยังเขตจังหวัดศรีสะเกษ พร้อมด้วยคณะ เป็นเวลานาน ถึง ๓ เดือน ได้จาริกไปในจังหวัดศรีสะเกษทั่วทุกอําเภอ เมื่อจวนสิ้นเดือน ๖ จึงได้กลับมาวัดป่าสาลวัน

พ.ศ. ๒๕๐๘ ได้เป็นหัวหน้าพระธรรมทูต จังหวัดกาฬสินธุ์ เมื่อครบกําหนดการจาริกของพระธรรมทูตแล้ว ก็กลับมาจําพรรษา ที่วัดป่าสาลวัน นครราชสีมา

พ.ศ. ๒๕๑๒ ได้รับคําสั่งเจ้าคณะภาค (สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ พิมพ์ ธมฺมธโร) ให้กลับไปครองวัดประชานิยม เพื่อดําเนินการสร้างโบสถ์ต่อให้สําเร็จ จาก พ.ศ. ๒๕๑๒ ถึง พ.ศ. ๒๕๑๖ จําพรรษา
ที่วัดประชานิยม

พ.ศ. ๒๕๑๗ ไปจําพรรษาวัดช้าง (วัดนาควัชรโสภณ) จังหวัด กําแพงเพชร โดยเจ้าอาวาสวัดช้างได้ขอผ่านทางเจ้าคณะภาค เพื่อ เห็นแก่ประโยชน์ทางพระพุทธศาสนาและหมู่คณะ จึงรับปฏิบัติตามบัญชา ของเจ้าคณะภาคอยู่หนึ่งพรรษา ก็กลับมาจําพรรษาที่วัดประชานิยม อีก เพราะธุระทางวัดยังไม่เรียบร้อย ซึ่งเป็นหน้าที่ของเรารับรอง ความผิดชอบมีอยู่

พ.ศ. ๒๕๑๙ ไปจําพรรษาที่วัดป่าคลองกุ้ง จังหวัดจันทบุรี โดย คําขอของเจ้าอาวาสวัดป่าคลองกุ้ง ซึ่งเป็นวัดที่เราเคยไปอยู่สมัยท่านพ่อลี เมื่อออกพรรษาเสร็จธุระแล้ว ได้ไปแสวงบุญ ณ ประเทศอินเดีย เมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๑๙ เป็นเวลาหนึ่งเดือน

พ.ศ. ๒๕๒๐ กลับจากอินเดียมาพักอยู่วัดอโศการาม ถึงพรรษา ก็อยู่จําพรรษาที่วัดอโศการาม เมื่อออกพรรษาแล้ว เดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๐ ก็กลับมาพักอยู่ที่วัดป่าสามัคคีธรรม เพื่อช่วยศาสนกิจ และเป็นประธานสอบธรรมสนามหลวง สํานักเรียนวัดป่าสามัคคีธรรม และช่วยสร้างศาลาการเปรียญ ที่คณะกรรมการวัดทําการก่อสร้าง ยังไม่สําเร็จเรียบร้อย ก็ทําการก่อสร้างต่อโดยเราเป็นประธาน

จนถึงวันเข้าพรรษา คือ ปี พ.ศ. ๒๕๒๑ ก็จําพรรษาที่วัดป่าสามัคคีธรรม ทําการสร้างศาลาหรือสนับสนุนส่งเสริม ให้ศาลาสําเร็จ
ไปตามแบบแปลน เป็นประโยชน์สาธารณะทางพระพุทธศาสนา และเป็นวัดที่เราได้ให้กําเนิดมาแต่ปี พ.ศ. ๒๔๘๑ มาถึงบัดนี้ อายุวัด ได้ ๔๑ ปี เราจากวัดนี้ไปแต่เมื่อออกพรรษาปี พ.ศ. ๒๔๙๔ ไป สร้างวัดประชานิยม เป็นเวลา ๒๗ พรรษา จึงได้กลับมาอยู่จําพรรษาอีก

พระสุธรรมคณาจารย์ (หลวงปู่แดง ธมฺมรกฺขิโต) วัดประชานิยม
พระสุธรรมคณาจารย์ (หลวงปู่แดง ธมฺมรกฺขิโต) วัดประชานิยม

ชีวประวัติที่ได้เรียบเรียงเขียนมานี้ ด้วยความจําอันเป็นจริงทุกอย่างของชีวิตประจําวันของข้าพเจ้า พิจารณาแล้วไม่ได้อยู่ประจํา ที่เป็นหลักฐาน “อนาคาเร” ไม่มีบ้านเรือน ธุดงค์ไปศึกษาในสํานักครูบาอาจารย์ฝ่ายกรรมฐาน และไปช่วยหมู่คณะศิษยานุศิษย์ของครูบาอาจารย์ สายกรรมฐานพระอาจารย์มั่น เป็นจเรทั่วไป จะตายที่ไหนไม่รู้ จึงมีพระบางองค์คันปาก แล้วถามว่า “หลวงพ่อจะตายที่ไหน ไม่อยู่เป็นที่ ไม่มีวัดอยู่หรือ?” เราตอบว่า “ตายที่ขาดลมหายใจ สถานที่ตายไม่แน่นอน เราตายอยู่ทุกลมหายใจ” แล้วกลับถามพระองค์นั้นว่า “ท่านจะตายที่ไหน?” เขาก็ตอบไม่ได้ ก็กลับมาตอบเป็น กําปั้นทุบดินเหมือนเรานี่แหละ ข้อที่เขาถามว่าไม่มีวัดอยู่หรือนั้น เราตอบว่า “วัตรหมายความปฏิบัติ เราปฏิบัติอยู่ไหน วัดก็อยู่ที่นั้น สถานที่ อาณาเขต ที่ปลูกกุฏิ ศาลา โบสถ์นั้น เป็นที่อยู่ของผู้มีข้อปฏิบัติ ถ้าอยู่ไม่มีข้อปฏิบัติก็แปลว่าไม่มีวัตร หรือวัดร้าง”

ในที่สุดแห่งชีวประวัติของข้าพเจ้านี้ ขอนําเอา “สมาธิวิธี” ของ ท่านอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม (พระญาณวิศิษฎ์สมิทธิวีราจารย์) มาลงพิมพ์ไว้ด้วย เพราะเป็นหนังสือที่ข้าพเจ้าได้ศึกษาแต่แรก ที่จะ ออกเที่ยวธุดงค์กรรมฐาน เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๓ เป็นต้นมา

วัดป่า “กรรมฐาน” สายพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต ในเขต จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งพระสุธรรมคณาจารย์ ได้รวบรวมรายชื่อไว้ มีดังต่อไปนี้

๑. วัดป่าสามัคคีธรรม อําเภอท่าคันโท
๒. วัดป่าสักกะวัน บ้านคําคา อําเภอสหัสขันธ์ (ย้ายไปภูกุ้มข้าว)
๓. วัดพุทธนิมิต ภูค่าว บ้านนาสีนวล อําเภอสหัสขันธ์
๔. วัดป่าโนนน้ำเกลี้ยง บ้านโนนน้ำเกลี้ยง
๕. วัดป่าอริโยทัย บ้านโพน ตําบลโพน
๖. วัดป่าวารีวัน บ้านดงไร่ – คอนเผิ่ง
๗. วัดป่าโคกน้ำเกลี้ยง บ้านแก่ง หมู่ม้น
๘. วัดป่าภูกุ้มข้าว (วัดป่าสักกะวันใหม่)
๙. วัดป่าท่าเรือ บ้านท่าเรือ เขื่อนลําปาว
๑๐. วัดภูผักหวาน บ้านคําม่วง อําเภอคําม่วง
๑๑. วัดป่าเครือวัลย์ บ้านดอนหวาย อําเภอกมลาไสย
๑๒. วัดป่าปฐมแพงศรี
๑๓. วัดป่าหนองแซง บ้านหนองแซง
๑๔. วัดป่าบ้านกระเดา เหล่ากลาง
๑๕. วัดป่าโนนเมือง บ้านดงเมือง
๑๖. วัดป่าบ้านแก ตําบลบ้านแก
๑๗. วัดประชานิยม บ้านโคกเวียง ดอนกลอย อําเภอเมือง
๑๘. วัดเวฬวัน บ้านดอนเมือง
๑๙. วัดป่าท่าสีดา บ้านท่าสีดา
๒๐. วัดป่าท่าลําดวน บ้านท่าลําดวน
๒๑. วัดป่าเสียว บ้านเสียว อําเภอยางตลาด
๒๒. วัดป่ากุง บ้านกง
๒๓. วัดป่าโจด บ้านโจด
๒๔. วัดป่าช้า บ้านโคกสี
๒๕. วัดป่าภูกระแต บ้านเขาวง อําเภอเขาวง
๒๖. วัดป่าชลประทานอุทิศ

หมายเหตุ :- เฉพาะในจังหวัดกาฬสินธุ์ มีวัดป่า กรรมฐาน สายพระอาจารย์มั่น รวม ๒๖ วัด อนึ่งนับตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๗๓ มาถึงปี พ.ศ. ๒๕๒๑ นี้ มีวัดป่า พระกรรมฐาน สายพระอาจารย์มั่น ทุกทิศทั่วประเทศไทย สมกับเทวปัญหาของท่านอาจารย์สิงห์ ที่ว่า “น้ำมัน หอมเอ้าเท่าสยาม” ดังนี้

พระสุธรรมคณาจารย์ (หลวงปู่แดง ธมฺมรกฺขิโต) วัดประชานิยม
พระสุธรรมคณาจารย์ (หลวงปู่แดง ธมฺมรกฺขิโต) วัดประชานิยม

พระสุธรรมคณาจารย์ (แดง ธมฺมรกฺขิโต) วัดประชานิยม ต.กาฬสินธุ์ อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ มรณภาพ เมื่อวันที่ ๑๘ เมษายน พ.ศ.๒๕๓๐

◎ โอวาทธรรม พระสุธรรมคณาจารย์ (หลวงปู่แดง ธมฺมรกฺขิโต) วัดประชานิยม จ.กาฬสินธุ์

“..เราไม่มองเห็นความจริงตามความจริง ก็เพราะจิตเราไม่เป็นสมาธิ ให้จำไว้..”

“..ตายที่ขาดลมหายใจ สถานที่ตายไม่แน่นอน เราตายอยู่ทุกลมหายใจ..”

“..วัตรหมายความปฏิบัติ เราปฏิบัติอยู่ไหน วัดก็อยู่ที่นั้น สถานที่ อาณาเขต ที่ปลูกกุฏิ ศาลา โบสถ์นั้น เป็นที่อยู่ของผู้มีข้อปฏิบัติ ถ้าอยู่ไม่มีข้อปฏิบัติก็แปลว่าไม่มีวัตร หรือวัดร้าง..”