ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่บวร สุชีโว
วัดป่าบ้านหนองแข้ดง
อ.หนองพอก จ.ร้อยเอ็ด
พระครูสุขุมธรรมวัฒน์ (หลวงปู่บวร สุชีโว) นามเดิม บวร เยาวนิตย์ เกิดวันศุกร์ที่ ๒๓ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๘๗ ปีระกา มารดาชื่อ นางอ่อนตา (สาวงาม ลูกสาว คนสวย สาวผู้ดี มีตระกูล บิดาเป็นนายฮ้อย เชื้อสายจีนฮ่อ ) บิดาชื่อ นายตา มีอาชีพเป็นครู ผู้คนให้ความเคารพนับถือ มีความสามารถพิเศษทางด้านโหราศาสตร์ ทำนายทายทักตามแบบฉบับของพราหมณ์ วันตกฟาก (คลอด) หลุดลอดออกมาจากใต้ตีนชิ่น(ผ้าถุง) ผู้เป็นมารดา ตอนท่านกำลังยืนเซอะข้าว(นึ่งข้าวเหนียว ) เวลาเช้ารุ่งอรุณพอดิบพอดี มารดาเล่าว่า “มันหม่นออกมาโลด บ่เจ็บบ่ปวด” พอตกออกมาสายรกพันพาดบ่า มีลักษณะเหมือนผ้าสังฆาฏิของพระ ผู้เป็นบิดาผู้เฒ่าผู้แก่และบัณฑิตนักปราชญ์ (ครูทองแดง) สมัยนั้น จึงตั้งชื่อให้ว่า “บวร” เพื่อความเป็นอุดมมงคลอย่างสูงสุด และสอดคล้องสัมพันธ์กับ “บวรพุทธศาสนา” อันเป็นศาสนาที่เคารพเทิดทูลบูชาสืบต่อกันตามสายโลหิต โดยเฉพาะผู้เป็นมารดา เข้าวัด ฟังธรรม จำศีล เป็นประจำ ท่านหลวงปู่บวรท่าน เป็นบุตรคนที่ ๗ ในบรรดาพี่น้อง ๑๒ คน โดยตายตั้งแต่เป็นเด็กทารก ๓ คน แต่พอท่านเกิดขึ้นมา น้อง ๆ พี่ ๆ ก็มิได้เจ็บไข้ล้มป่วย หรือตายไปอีกเหมือนแต่ก่อน ทั้งนี้ ก็อาจจะเนื่องด้วยบุญญาธิการของท่านก็เป็นได้
◎ นิสัยและอุปนิสัย
วาสนาบารมีในตอนเด็ก ท่านเป็นเด็กดื้อ ซน แต่เฉลียวฉลาด เป็นที่รักใคร่เอ็นดูของญาติผู้ใหญ่ ไม่อดไม่อยาก มีอยู่มีกิน ในตอนเด็กตามประสาเวลาเล่นซุกซนกับคณะเพื่อนฝูง ฝ่ายมารดาก็มักจะจับโกนผมให้เป็นประจำเสมอๆ จึงมักจะสมมุติตนเองเป็นพระเป็นเณร ให้ศีลให้พรตามประสาเด็กๆ ด้านการเรียน เรียนหนังสือเก่ง สอบได้ที่ ๑ ตลอด ตั้งแต่ชั้น ป.๑ – ป.๔ ไหวพริบปฏิฏาณเหนือกว่าเพื่อนฝูงเสมอๆ และมีแนวคิดแปลก ๆ พิเศษ แตกต่างจากเด็ก ๆ หรือผู้ใหญ่คนอื่น ๆ เมื่อมีคนในหมู่บ้านเจ็บป่วยล้มตายลงก็เกิดความสลดหดหู่ สังเวช และสงสัยว่าทำไมต้องตาย หลังจากเรียนหนังสือจบ ป.๔ บิดา มารดา อนุญาตให้ออกบวชเรียนเป็นสามเณรน้อย ศึกษาบาลีนักธรรม กับพระผู้ใหญ่ ที่มีศักดิ์เป็นญาติกันห่าง ๆ ซึ่งสมัยนั้นนิยมบวชกันมาก ซึ่งการเรียนในสมัยนั้นต้องตั้งใจเรียนจริง ๆ จึงจะสอบผ่านได้ ณ ตอนที่องค์หลวงปู่เป็นเณรน้อยตัวเล็ก ๆ ขาว ๆ น่าตาน่ารัก ก็มักจะถูกหยิกถูกหยอก จนบางครั้งต้องร้องไห้ ญาติโยมก็มีแต่ผู้เคารพรัก เอ็นดู ไม่อดไม่อยากเหมือนเคย สถานที่พักศึกษาเล่าเรียนก็หลายวัดหลายสำนัก เป็นต้นว่า วัดบ้านหัวหนอง อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม ท่านเรียนหนังสืออย่างเฉลียวฉลาด จนสอบได้นักธรรมเอก บวชอยู่ได้ประมาณ ๕ พรรษาก็รู้สึกเบื่อหน่าย และสลดสังเวชเอือมระอา ในข้อวัตรปฏิบัติของครูอาจารย์ผู้ใหญ่ ที่ล่วงละเมิดศีลธรรม พระวินัย มีการล่วงสีกา จึงได้ลาสิกขาเพศออกมาเป็นคฤหัสถ์ และได้ตั้งสัจจะอธิษฐานไว้ว่า “ถ้าบ่มี บ่พบ บ่เจอ พ่อแม่ครูอาจารย์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ รู้แจ้งเห็นจริงในหลักธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า จะบ่บวชอีก”
หลังจากลาสิกขาเพศออกมาแล้ว ก็เป็นเชียงน้อย หนุ่มน้อย ช่วยบิดามารดาทำนาทำไร่ (ชาวนา ขุดดิน ฟันไม้ ขุดไม่ ไง้โพน เป็นว่าเล่น) ความขยันความอดทน ในช่วงนี้เองได้ฝึกฝนการเป็นศิลปินหมอลำ จนมีความสามารถได้เป็นพระเอกหมอลำ ทั้งลำกลอนและลำเรื่องต่อกลอนรับแสดงทั่วทั้งร้อยเอ็ดเจ็ดย่านน้ำ ถ้าวันไหนฝนตก ก็ได้เงินฟรีเพราะไม่ได้ทำการแสดง ได้ค่าตัวคืนละเป็นพัน (ถือว่าเยอะมากในสมัยนั้น) จึงเป็นผู้มีเงินไม่อดไม่อยาก แต่ถึงกระนั้นด้วยความขยันสู้ชีวิต ไม่อายใคร พอมีเวลายังมารับจ้างถีบสามล้อในเมืองร้อยเอ็ด(เคยมีประสบการณ์ในการพาสามล้อล้มแหกโค้งระเนระนาด เพราะขับยังไม่เก่ง) รับจ้างตัดผม รับจ้างฉีดยา (ได้ประสบการณ์ความชำนาญจากหมอทหารเสนารักษ์) เคยรับจ้างทำงานอยู่กับหมอในเมืองร้อยเอ็ด จนได้ความรู้ความชำนาญด้านการแพทย์เบื้องต้น การฉีดยาและการให้น้ำเกลือ
มากล่าวถึงเรื่องผู้หญิง ในขณะที่ไม่เคยสนใจใยดีกับผู้หญิงคนใดเป็นพิเศษเลย เพราะในความคิด ไม่เคยคิดว่าจะสร้างครอบครัวมีบุตร มีภรรยา แต่ก็คบ ๆ เล่น ๆ ไปวัน ๆ เพียงเท่านั้น แม้กระนั้นก็ยังพลาดท่าให้กับนางเอกหมอลำคนหนึ่งที่อำเภอ โพธิ์ชัย จังหวัดร้อยเอ็ด จนได้กำเนิดบุตรชายคนหนึ่ง (ซึ่งต่อมาบุตรชายผู้นี้ก็ได้ตามมาและบวชเป็นพระให้พึ่งพาอาศัย และต่อมาก็ได้ทราบข่าวว่าเป็นเจ้าอาวาสวันแห่งหนึ่งในอำเภอหนองพอก) ว่ากันว่านางเอกหมอลำคนนี้เจ้าแง่แม่งอน และผูกพยาบาท จองกรรมจองเวร ที่ตนไม่สมหวัง (จนกระทั่งหลังจากหลวงพ่อพระอาจารย์ บวร ได้บวชแล้ว จึงรู้เกี่ยวกับกรรมและผลแห่งกรรม แล้วก็ได้อโหสิให้แก่กันและกัน ต่อมาพระที่เป็นลูกชายก็ได้ไปชักชวนผู้เป็นมารดามาบวชถือศีลภาวนาที่วัดป่าศรีโพธิ์ชัย จนถึงแก่กรรมด้วยโรคมะเร็ง สิริอายุครบ ๔๔ ปี) ต่อมาจากนั้นก็มีนางเอกหมอลำอยู่ที่จังหวัดอุบลราชธานีหลงรัก จึงตกลงปลงใจแต่งงานกัน มีบุตรด้วยกันอีก ๓ คน เป็นบุตรชาย ๒ คน บุตรสาว ๑ คน
ในระหว่างที่เป็นพระเอกหมอลำ รูปงาม เสียงทอง มหาเสน่ห์ ขวัญใจหญิงสาวนั้น ทั้งสาวแก่ แม่ม่าย มีแต่คนรัก อยากกอด อยากได้ แต่ในดวงใจก็เริ่มฝักใฝ่และสนใจฝ่ายธรรมะบ้างแล้ว เมื่อมีโอกาสเหมาะสม ก็เข้าวัดปฏิบัติธรรม กับครูบาอาจารย์ โดยเฉพาะหลวงปู่ชา แห่งวัดหนองป่าพง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี และหลวงปู่ศรี มหาวีโร แห่งวัดป่ากุง อำเภอศรีสมเด็จ จังหวัดร้อยเอ็ด ถึงกับลงทุนเดินเท้าจากบ้านสะอาด อำเภอโพธิ์ชัย จนถึงวัดป่ากุง เพื่อไปกราบคารวะนมัสการ ฟังเทศ ฟังธรรม จนได้รับอุบายธรรม อย่างลึกซึ้ง ตรึงใจ ซึ้งใจสุดประมาณ ในขณะที่เพื่อนฝูงหมู่คณะที่ร่วมเดินทางไปด้วยกันสนใจ ชอบใจแต่เฉพาะคุณแม่ชีสาว ๆ สวย ๆ แก้มแดง ๆ เพราะสมัยก่อนมีคนหนุ่มหญิงสาว ออกจากบ้าน มาบวชปฏิบัติธรรมกับองค์หลวงปู่ใหญ่มากมายจากทั่วสารทิศด้วยความเลื่อมใสเคารพศรัทธาองค์หลวงปู่จริง ๆ ในช่วงเวลาขณะทำการขับร้อง ฟ้อนรำ อย่างสนุกสนานเพลิดเพลิน บางครั้งก็บังเกิดเหตุการณ์อันมิคาดคิด คือเกิดอาการสลดหดหู่ สังเวช สลดจิต ก็ยิ่งส่อแววให้เห็นว่า เป็นผู้เคยสร้างสมบุญวาสนาบารมีไว้แล้ว ตั้งแต่ชาติหนหลัง
ย้อนกลับมาเรื่องมารดา พออายุล่วงมาได้ปีที่ ๕๗ ก็ได้ล้มป่วยลงด้วยโรควัณโรคปอด ได้หาหยูกยารักษาดูแลอุปถัมภ์บำรุงอย่างดี เพราะคลุกคลี ผูกพันกับผู้เป็นมารดามาแต่ไหนแต่ไรแล้ว ก่อนมารดาจะจากไป มารดาก็ยังสั่งเสียไว้ด้วยว่า “บวชให้แม่แน่เด้อลูก” ก็คงเพราะรักลูก ผูกพันเชื่อมั่นไว้ใจบุตรชายผู้นี้มากกว่าคนอื่น ๆ เพราะคลอดง่าย เลี้ยงง่าย ใช้อะไรได้อันนั้น ตลอดแม้กระทั่งผู้เป็นบิดา ก็ทำนายไว้แล้วว่า บุตรชายผู้นี้ต้องได้บวชอย่างแน่นอน และในเวลาต่อมาบั้นปลายชีวิตของผู้เป็นมารดา ก็มีโอกาสเห็นชายผ้าเหลืองของผู้เป็นลูกชาย ยังได้ฟังเทศน์ ฟังธรรมจนเกิดความเคารพศรัทธา เลื่อมใสในคุณ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มากกว่าเดิมอีก เพราะเห็นผลของการนั่งสมาธิภานา จิตสงบ ร่มเย็น เป็นธรรมตามสมควรแก่ฐานะ (เคยเล่าให้พระลูกชายฟังเรื่องการภาวนาอัศจรรย์ในธรรม กราบพระลูกชายได้อย่างสนิทใจ)
◎ อุปสมบท
ในที่สุดวันที่ได้ตัดสินใจออกบวชก็มาถึง เมื่ออายุล่วงมาได้ ๓๐ ปี ทั้ง ๆ ที่มีความตั้งใจเดิมจะหนี จะออกจากโลกมาบวชตอนอายุ ๒๙ ปี เหมือนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเราทั้งหลายถือว่าเป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญครั้งหนึ่งในชีวิต ถึงแม้ว่าภรรยาคู่ชีวิตยังตั้งท้องอยู่ ว่ากันว่า ถ้าเอาช้างมาฉุดให้อยู่ก็ไม่อยู่อีกแล้ว แสดงว่าเบื่อหน่ายในโลกในกามคุณ อย่างสุดกำลังเสียแล้ว จึงได้เดินมาวัดมอบกายถวายชีวิตแด่องค์หลวงปู่ใหญ่ (หลวงปู่ศรี มหาวีโร) ในปี พ.ศ.๒๕๒๐ ซึ่งในขณะนั้นหลวงปู่ยังหนุ่มแข็งแรง ไป ๆ มา ๆ ระหว่างวัดป่ากุงและวัดผาน้ำย้อย หรือวัดถ้ำผาน้ำทิพย์ในปัจจุบัน และสมัยนั้นกำลังดำเนินการสร้างศาลาใหญ่วัดผาน้ำย้อยพอดี พอมีคนมาประสงค์จะออกบวช องค์หลวงปู่ก็เมตตาให้บวช ลงมารับนาคใหม่ พร้อมกับถามว่า “บักหล่าสิบวชจังได๋” นาคพระเอกหมอลำตอบด้วยความมั่นใจว่า จะบวชตลอดชีวิต ทำให้หลวงปู่พอใจหนักหนา หลวงปู่ได้ทดลองฝึกทรมาน อย่างหนักอยู่เป็นเวลา ๗ เดือน จึงผ่านการทดสอบ และอนุญาตให้บวชในที่สุด ด้วยความมุ่งมั่นอดทน แต่ยังมีผู้สบประหม่าว่าจะบวชได้กี่วัน ด้วยความตั้งใจมุ่งมั่นตั้งใจปฎิบัติจริงจึงทำให้ภาวนาได้ความตั้งแต่เป็นนาค ผู้ฝึกสอนขานนาคคือหลวงปู่อินทร์ แห่งวัดนาเมือง อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด ได้บวชเมื่อวันที่ ๑ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๒๑ ณ สิมน้ำวัดผาน้ำย้อย โดยมีพระประภัสสรมุณี (พระราชธรรมานุวัตร) วัดเหนือ จังหวัดร้อยเอ็ด เป็นพระอุปัชฌาย์ พระสิงห์ (หลวงปู่สิงห์ แห่งวัดวาปีปทุม) และพระอุดร เป็นคู่สวด ได้รับฉายาว่า “สุชีโว” แปลว่า “ผู้มีชีวิตอันงาม”
พอบวชแล้ว ก็ตั้งใจทำความเพียร มีความอดนอน ผ่อนอาหารงดการคลุกคลี ไม่พูดไม่คุยกับใครถ้าไม่จำเป็นจริง ๆ จนได้ผลแห่งการปฎิบัตินั้น ศรัทธามั่นคงในคุณ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ สุดชีวิตจิตใจ
◎ ประวัติการอาพาธ
ครั้งสำคัญมี ๓ ครั้ง คือครั้งแรกเป็นอหิวาตกโรค ถ่ายท้องอย่างรุนแรง เหตุเกิดที่วัดป่ากุง คือโรคเก่าที่ติดตัวมาแต่ปุพชาติ การเจ็บป่วยครั้งนี้ไม่ได้ไปหาหมอ ใช้ธรรมโอสถ ภาวนาสู้ตาย ผลที่ได้อัศจรรย์ใจคือหายที่สุด ครั้งที่สอง ป่วยเป็นโรคเส้นโลหิตในสมองแตก เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๓ ด้วยอำนาจบุญบารมีหลวงปู่ใหญ่ (หลวงปู่ศรี มหาวีโร) ท่านเมตตาเอาคำหมากให้ฉันและสั่งไม่ให้ผ่าตัด โดยนายแพทย์วินิจฉัยว่า ป่วยหนัก หลวงพ่อโชคดีที่สุดในโลกมีกรณีอย่างนี้แค่หนึ่งในล้านคนที่จะหายได้ สาเหตุหลวงพ่อว่าเป็นเพราะกรรมเก่า ที่มีเจตนาไปตีหัวสุนัข กรรมเลยนำทันในชาตินี้ ครั้งที่สาม ป่วยหนักเป็นโรควัณโรคผิวหนัง รักษาอยู่ที่โรงพยาบาลหนองพอก กว่าจะตรวจพบเชื้อก็นานพอสมควร แต่โชคยังดีที่ได้พบเจอหมอภูริทัต (หมอคู่บารมี) หมอจัดยาให้ฉัน ๙ เดือน ฉันยาครบกำหนดแล้ว สุขภาพเกือบปกติแล้ว
◎ ประวัติการสร้างวัดป่าหนองแข้ดง
วัดป่าหนองแข้ดง ตั้งอยู่เลขที่ ๑๐๕ หมู่ที่ ๓ บ้านหนองแข้ดง ต.บึงงาม อ.หนองพอก จ.ร้อยเอ็ด ๔๕๒๑๐ เป็นวัดสาขาของวัดประชาคมวนาราม (วัดป่ากุง) ต.ศรีสมเด็จ อ.ศรีสมเด็จ จ.ร้อยเอ็ด (วัดหลวงปู่ศรี มหาวีโร) ห่างจากตัวอำเภอหนองพอกประมาณ ๑๓ กิโลเมตร ไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และห่างจากพระมหาเจดีย์ชัยมงคล วัดผาน้ำทิพย์เทพประสิทธิ์วนาราม (ผาน้ำย้อย) จ.ร้อยเอ็ด ๕ กิโลเมตร มีพื้นที่ภายในวัดเขตกำแพงประมาณ ๑๕๐ ไร่
จุดเริ่มต้นของวัดป่าหนองแข้ดง เริ่มต้นขึ้นเมื่อราวปี พ.ศ.๒๕๒๓ หลวงปู่บวร สุชีโว ท่านได้เดินธุดงด์มาปักกลด ซึ่งมีป่าทึบรกร้างและยังเป็นป่าช้า (เผาผี) ของหมู่บ้านอีกด้วย มีต้นยางใหญ่เป็นส่วนมาก ต้นบาก ต้นตะเคียนทอง สาเหตุที่ป่าส่วนนี้ยังไม่ถูกบุกรุกถากถาง เพราะชาวบ้านเชื่อกันว่ามีอำนาจลึกลับแฝงเร้นอยู่ในดงนั้น เพราะปรากฏอยู่เสมอว่า คนที่เข้าไปตัดไม้หรือล่าสัตว์ เมื่อกลับออกไปมักมีอันเจ็บป่วยล้มตายไปเกือบทุกราย โดยที่หาสาเหตุไม่ได้ ชาวบ้านจึงพากันเกรงกลัวภัยมืดนั้น หรือแม้กระทั่งวัวควายของชาวบ้านเมื่อผลัดหลงเข้าไปก็มักจะหาไม่เจอเลย
อนึ่ง ผู้เฒ่าผู้แก่ยังเล่าขานสืบต่อๆ กันมาอีกด้วยว่า ญาท่านเสาร์ (หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล) และญาท่านมั่น (หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต) เคยธุดงด์ผ่านมา และยังมาปักกลดพักภาวนาหลายครั้งหลายคราว ก็ยิ่งแสดงว่าเป็นสถานที่อันอุดมมงคลเป็นยิ่งนัก ที่หลวงปู่เสาร์และหลวงปู่มั่นผ่านมาเมตตาอนุเคราะห์และเหยียบแผ่นดินแห่งนี้ ฝากรอยเท้าเอาไว้ให้ลูกหลานชาวพุทธผู้เกิดในภายหลัง ให้ได้เดินตามรอยพระบาทของสมเด็จพระบรมศาสดาเจ้า สานุศิษย์รุ่นแรกๆ ที่ประพฤติปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่บวร สุชีโว ก็มีหลวงพ่อประคิ่น จาครโต (ชาวจังหวัดนครศรีธรรมราช) , หลวงปู่บุญเพ็ง อาจิณโณ (ชาวอำเภอโกสุมพิสัย) , หลวงปู่เลิง (ชาวบ้านหนองแข้ดง ซึ่งออกบวชด้วยความศรัทธา)
ช่วงเวลาที่หลวงปู่บวร สุชีโว เข้ามาอยู่วัดป่าหนองแข้ดงใหม่ๆ ตอนกลางคืนชาวบ้านเห็นลำแสงพุ่งขึ้นท้องฟ้าสว่างไสวทั่วบริเวณป่า มองเห็นใบไม้ ต้นไม้เจิดจ้า จนชาวบ้านล่ำลือเล่าขานกันไปต่างๆ นาๆ (ต่อมาพ่อแม่ครูบาอาจารย์เล่าว่าสถานที่่แห่งนี้จะมีผู้มาบรรลุธรรมชั้นสูง และเคยเป็นวัดมาตั้งแต่ชาติหนหลัง) เคยเจริญรุ่งเรืองมาก่อน หลักฐานยืนยันที่พอค้นพบก็คือ บริเวณหมู่บ้านทุ่งไร่ปลายนาของชาวบ้าน เคยขุดค้นพบถ้วยชามโบราณ (ยังสันนิษฐานไม่ได้ว่าอายุกี่ร้อยปี) แสดงให้เห็นว่าเคยมีชุมชนที่่เคยเจริญรุ่งเรืองมาพอสมควร
ครั้งเมื่อสมัยองค์หลวงปู่ใหญ่ (หลวงปู่ศรี มหาวีโร) แห่งวัดประชาคมวนาราม (วัดป่ากุง) จ.ร้อยเอ็ด ท่านยังดำรงอยู่ องค์ท่านได้เมตตามาอนุเคราะห์โปรดศรัทธาญาติโยมประมาณ ๖ ครั้ง แต่ละครั้งที่องค์หลวงปู่ใหญ่ท่านมาก็นำความสงบสุข ร่มเย็น และสร้างประโยชน์ให้แก่วัดแห่งนี้อย่างมากมายมหาศาล
ครั้งหนึ่งมาเมตตาเรื่องที่ดิน จนทำให้ชาวบ้านและญาติโยมธรรมที่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาทั้งทางใกล้-ทางไกล ร่วมบริจาคที่ดินถวายวัด ณ ตอนนั้นมีผู้บริจาคที่ดิน ดังนี้
(๑) นางอารีย์ หลายอำนวย (เจ๊หมวย) กรุงเทพฯ เป็นเจ้าภาพถวายที่ดินจำนวน ๕ ไร่
(๒) พ่อใหญ่จันทร์ วิชัยศรี ชาวบ้านหนองแข้ดง บริจาค ๒ ไร่
(๓) พ่อใหญ่พรม คันสินธ์ และแม่นาน ศักดิ์วงศ์ ชาวบ้านหนองแข้ดง บริจาคคนละ ๑ ไร่
(๔) นางบุษบา คันสินธ์ ชาวบ้านหนองแข้ดง บริจาค ๑ งาน
อีกครั้งหนึ่งองค์หลวงปู่ใหญ่เมตตาเรื่องสร้างศาลา มาเป็นประธานรับผ้าป่าสามัคคี ได้ปัจจัยทั้งสิ้น ๒,๐๐๐ บาท องค์หลวงปู่ใหญ่เมตตาให้เพิ่มอีก ๕,๐๐๐ บาท ซึ่งถือว่าเป็นเงินที่มากสุดในสมัยนั้น พร้อมทั้งให้พรอีกว่า “หมอวอนเฮ็ดอีหยั่งบ่ยากดอก”
หลวงปู่บวรก็พนมมือขึ้นรับสาธุสุดหัวจิตหัวใจ ใช้เวลาในการก่อสร้างไม่นานนัก ก็เป็นอันสำเร็จลุล่วงบริบูรณ์ด้วยดีทุกอย่างทุกประการ
ดั่งคำที่องค์หลวงปู่ใหญ่กล่าวไว้ ไม่ว่าจะเป็นศาลาปฏิบัติธรรม กุฏิที่พักภาวนา กำแพงล้อมวัด ศาลาพักญาติ แม้กระทั่งโรงครัวก็สร้างให้แล้วเสร็จภายในปี พ.ศ.๒๕๕๔
กล่าวโดยสรุป วัดแห่งนี้นับว่าเป็นสถานที่อันอุดมมงคลที่พ่อแม่ครูบาอาจารย์มาเมตตาฝากรอยเท้าเอาไว้เพื่อเป็นมรดกธรรมเป็นสถานที่ภาวนาปฏิบัติธรรมแก่สาธุชน เพื่อหลุดพ้นจากกองกิเลสทั้งปวง
ปัจจุบัน พระครูสุขุมธรรมวัฒน์ (หลวงปู่บวร สุชีโว) ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดป่าบ้านหนองแข้ดง (ธ) บ้านหนองแข้ดง ตำบลบึงงาม อำเภอหนองพอก จังหวัดร้อยเอ็ด เจริญอายุวัฒนมงคลครบ ๗๖ ปี ๔๓ พรรษา (๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๖๓)
◎ โอวาทธรรมคำสอน หลวงปู่บวร สุชีโว
“..ได้ตน กะได้ธรรม ได้ธรรม กะได้พระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าอยู่นำเป็นหยังซิมาจน เป็นหยังซิบ่พ้นทุกข์ ซิจนตรอก จนมุมได้จั่งใด๋ นั่น! มันเป็นจั่งซั่นดิ บ่มีพระพุทธเจ้าต่างหาก จั่งว่า ไปหาคว้าตั้งแต่น้ำเหลว สัตว์โลกทั่วไป ประมาทมัวเมาอยู่อย่างซั่นแหล่ว นี้คือบ่ได้ไปตามพระพุทธเจ้าเพิ่นสอน เพิ่นจั่งว่า อย่าไปหาหม่องอื่น หาอยู่นำเจ้าของนี้ หม่องอื่นบ่มี สุขอื่น หมื่นแสนอยู่ทางใด๋บ่มีดอก มีอยู่ในนี้ อยู่กายก้อนนี้ ออกจากนี้ไปบ่มี แมน บ่มีผิด พระพุทธเจ้าสอนจั่งซี้ อย่าซิเมาเลยเฮา เมานำโลก กะมีผู้บอก กะฮู้จัก เอ่อ ขั่นบ่มีผู้บอกซิไปนรกดิ ตั้งแต่บอกกะยังบืนอยู่นี้ ! สัตว์โลกผู้ประมาทกะซิเป็นแบบนี้ บืน ! บืนลงนรก..”
ที่มา :ขอขอบคุณข้อมูลจากเพจ ท่องถิ่นธรรม พระกัมมัฏฐาน