วันอังคาร, 26 พฤศจิกายน 2567

หลวงพ่อสามดง จันทโชโต วัดอรัญพรหมาราม อ.ประทาย จ.นครราชสีมา

ประวัติและปฏิปทา
หลวงพ่อสามดง จันทโชโต

วัดอรัญพรหมาราม
อ.ประทาย จ.นครราชสีมา

พระครูวิสิฐพรหมจริยคุณ (หลวงพ่อสามดง จันทโชโต)
เจ้าอาวาสวัดอรัญพรหมาราม อ.ประทาย จ.นครราชสีมา

พระครูวิสิฐพรหมจริยคุณ (หลวงพ่อสามดง จันทโชโต) ปัจจุบัน ท่านอายุ ๖๓ ปี (พ.ศ.๒๕๖๓) ท่านเป็นพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบอีกรูปหนึ่ง ที่งดงามด้วยวัตรปฏิบัติ ปฏิปทาธรรมของท่านนั้นลึกซึ้งและละเอียด เมื่อแสดงธรรมคราวใด เป็นอันว่าลึกซึ้งเข้าไปในหัวใจของผู้ที่ได้รับฟังทุกครั้งไป… ท่านเป็นศิษย์ทายาทธรรมใน พ่อแม่ครูบาอาจารย์หลายรูปด้วยกัน

◎ หลวงตามหาบัวท่านคือพ่อทางธรรม
หลวงพ่อสามดง จันทโชโต วัดอรัญพรหมาราม อ.ประทาย จ.นครราชสีมา นั้น องค์ท่านเคยได้อยู่ปฏิบัติรับใช้กับพ่อแม่ครูอาจารย์ในสายพระกรรมฐานหลายรูปหลายองค์ เป็นต้นว่า หลวงปู่แหวน สุจิณโณ และ หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
โดย หลวงตามหาบัว นั้น ถือเป็นพ่อแม่ครูอาจารย์ที่องค์หลวงพ่อสามดงจะให้ความเคารพบูชาเป็นอย่างมาก องค์ท่านได้ปรารภว่า สำหรับหลวงตามหาบัวนั้น เปรียบเป็น “พ่อทางธรรม” สำหรับท่านเลยก็ว่าได้

หลวงพ่อสามดง ท่านญัติติใหม่ก็ด้วยได้หลวงตามหาบัวเป็นผู้แนะนำให้ ด้วยว่าเดิมทีนั้นท่านบวชที่โคราช กับพระอุปัฏฌาย์รูปหนึ่ง ที่ถือเป็นอาจารย์ในองค์ท่าน ซึ่งอาจารย์รูปนี้ก็รู้จักกันเป็นอย่างดีกับองค์หลวงตามหาบัว

แต่ภายหลังนั้นพระอุปัชฌาย์รูปนี้ต้องมลทิน องค์หลวงตามหาบัวจึงได้แนะนำให้หลวงพ่อสามดงท่านญัติติใหม่ บวชใหม่ เพื่อองค์หลวงพ่อสามดงจะได้ไม่ต้องพลอยมัวหมองและเพื่อความบริสุทธิ์ด้วย โดยขณะนั้นองค์ท่านบวชได้เกือบจะ ๑๐ พรรษาแล้ว

เมื่อเป็นเช่นนี้องค์หลวงพ่อสามดง จึงเลือกที่จะญัติติใหม่ โดยจากคำแนะของพ่อแม่ครูอาจารย์องค์หลวงตามหาบัว ซึ่งพระอุปัชฌาย์รูปใหม่ของหลวงพ่อสามดงคือ หลวงปู่สีทน สีลธโน วัดถ้ำผาปู่ฯ จ.เลย นั่นเอง ซึ่งองค์ท่านเป็นพ่อแม่ครูอาจารย์สายพระป่ากรรมฐานเมืองเลย ผู้เป็นทายาทธรรมในองค์หลวงปู่คำดี ปภาโส และเป็นสหธรรมมิกกับหลวงปู่ท่อน ญาณธโร
(โดยจริง ๆ แล้ว หากหลวงพ่อสามดง ท่านไม่ต้องญัติติใหม่ ปัจจุบันองค์ท่านจะมีลำดับพรรษาที่ ๔๐ พรรษา) เบื้องต้นนี้ คือ หนึ่งในหลายสิ่งที่องค์ท่านได้รับจากพ่อแม่ครูอาจารย์องค์หลวงตามหาบัว ผู้เปรียบเป็น “พ่อทางธรรม” สำหรับองค์ท่าน

ท่านปารภว่าสำหรับท่านเอง เพิ่งจะเปิดตัวมาสู่โลกภายนอกหรือสาธารณะชนได้ไม่นานเท่าไหร่ ออกมาครั้งแรกก็เมื่อประมาณ เดือนเมษายนปี พ.ศ.๒๕๖๐ ที่ผ่านมา จึงทำให้หลายคนไม่ทราบว่าองค์ท่านเป็นพระที่มีความเป็นมาอย่างไร มาจากไหน

หลวงพ่อสามดง ปรารภว่า.. ท่านได้อรรถได้ธรรม ได้หลายสิ่งหลายอย่างก็จากการที่อยู่บ้านตาด อยู่กับองค์ หลวงตามหาบัว แต่ทว่าชื่อของท่านไม่มีอยู่สารบบของสำนักแห่งนี้ เพราะท่านไม่ได้บอกกล่าวกับใคร แต่เป็นสิ่งที่รู้อยู่ภายในใจอยู่เสมอว่าท่านมีทุกวันนี้ได้ก็เพราะ หลวงตามหาบัว ที่ขัดเกลาท่านทุกอย่าง ท่านไม่เคยลืม

“ยังจำได้ครั้งแรกที่ไปบ้านตาดไปหาหลวงตามหาบัว เดินวนอยู่นอกเขตวัด แบกกลดแบกบาตรอัฐบริขารอยู่ ๓ วัน ๓ คืน ตัดสินใจว่าจะเอาอย่างไร จะเข้าไปดีหรือไม่ ใจหนึ่งก็กล้า ใจหนึ่งก็ประหม่า เพราะไม่รู้จักใคร เดินอ้อมด้อมๆ มองๆ ตอนกลางคืนอยู่นอกเขตรั้วลวดหนาม ท้ายสุดชายจีวรก็ไปเกี่ยวโดนหนามเข้า จนชายจีวรมันขาด แล้วก็ต้องมานั่งเย็บ ระหว่างนั่งเย็บนั่นแหละ จึงได้ธรรมบางประการ ได้คิดอะไรบางอย่างขึ้นมาขณะนั่งเย็บ ว่าจะต้องไป จึงทำให้ตัดสินใจที่จะเข้าไปที่บ้านตาดทันที

เข้าไปถึงที่บ้านตาดก็จัดสถานที่ไว้ให้ เก็บข้าวเก็บของ อัฐบริขารอะไร รุ่งเช้าลงฉันร่วมกับหมู่พระ หลวงตาท่านก็ลงมาด้วย ท่านก็เทศน์แบบที่เคยปฏิบัติมา แล้วท่านก็พูดจับใจความในตอนนั้นได้ว่า

“หือๆ เหมือนวัดเรามีพระใหม่มาด้วยหรือ แต่ทำไมเราไม่เห็น พระรูปนั้นอยู่ไหน หรือว่าคลื่นตรวจสัญญาณของเราใช้การไม่ได้แล้วหรือ”

หลังจากหลวงตาฯท่านปรารภจบลง ก็เป็นว่า ท่านนภดล (พระอาจารย์นพดล นันโท วัดป่าดอยลับงา จ.กำแพงเพชร) ก็ได้ปรารภขึ้นกับหลวงตา บอกว่ามีพระใหม่มาจากโคราช มาที่วัดตามที่หลวงตาบอกถูกต้องแล้วครับ”

หลังจากนั้นเป็นต้นมา หลวงพ่อสามดงก็ปรารภว่า.. ท่านก็สามารถอยู่ที่บ้านตาดได้ โดยหลังจากฉันเช้าวันนั้น ท่านได้ถูกหลวงตาเรียกไปพูดคุย สอบถามถึงที่มาที่ไป จากนั้นท่านก็อนุญาติให้หลวงพ่อสามดง อยู่ปฏิบัติที่สำนักของวัดบ้านตาดได้ โดยในตอนนั้นมีพระใหม่อีกหลายรูปที่เข้าไปพร้อมหลวงพ่อสามดง แต่มีเพียงหลวงพ่อสามดงเท่านั้น ที่ผ่านการพิจารณาจากองค์หลวงตาให้อยู่ปฏิบัติที่สำนักของบ้านตาดได้ โดยตอนนั้นหลวงตาจะเรียกหลวงพ่อสามดงว่า “ท่านสูงๆ ที่มาจากโคราช”

หลวงพ่อสามดงปรารภว่า.. ช่วงระยะเวลาที่องค์ท่านอยู่ ณ บ้านตาด เพื่อเรียนรู้ข้อวัตรข้อปฏิบัติต่าง ๆ กับองค์หลวงตานั้น ถือได้ว่าเป็นช่วงที่มีความสุขเป็นอย่างมาก จากที่ไม่รู้อะไร ที่ไม่เป็นอะไรก็เป็นจากที่นี่ ก็ด้วยความเมตตาขององค์หลวงตา ที่เรียกได้ว่าเป็นมหากรุณาธิคุณเลยทีเดียว

หลวงตาจะเข้มงวดเวลาลงอบรมเวลาอยู่ต่อหน้าหมู่ต่อหน้าพระเยอะๆ แต่เวลาอยู่กันแบบส่วนตัวแล้ว กับหลวงพ่อสามดงนั้น องค์ท่านปรารภว่า หลวงตามหาบัวท่านจะเมตตาเป็นอย่างมาก

เหมือนตาคุยกับหลาน พ่อคุยกับลูกอย่างไรอย่างนั้น ไม่ได้เข้มงวดหรือดุเดือดอย่างที่ใครๆ ร่ำลือกัน

นี่คือความเมตตาที่หลวงพ่อสามดงท่านสัมผัสได้และได้รับรู้มากับองค์ท่านเอง จึงทำให้ท่านเกิดความเคารพรักองค์หลวงตาโดยปราศจากเงื่อนไข

ติดขัดปัญหาอะไรก็ได้รับการแก้ไขจากองค์หลวงตาอยู่เสมอๆ ดังเช่นครั้งที่องค์หลวงพ่อสามดงท่านออกจากวัดบ้านตาดแล้ว และได้ไปถือบำเพ็ญเพียรปฏิบัติด้วยองค์ท่านเองอยู่กลางป่าเขาแถบภาคเหนือเพียงรูปเดียวเป็นระยะเวลาหนึ่ง

แต่กระนั้นท่านก็ไม่สามารถที่จะแก้ไขปัญหาในการบำเพ็ญภาวนาที่ว่านี้ได้ จนท้ายสุดองค์ท่านจึงตัดสินใจกลับมาที่บ้านตาด และนำปัญหาในการภาวนาที่ว่านี้เข้าขอความเมตตาจากองค์หลวงตา จนได้รับการแก้ไขในที่สุด ก็ด้วยบารมีจากองค์หลวงตานั่นเอง

หลวงพ่อสามดงท่านปรารภว่า.. สำหรับหลวงตามหาบัวแล้วนั้น หลวงพ่อสามดง ท่านจะให้ความเคารพมาก จนไม่สามารถจะหาคำอธิบายหรือคำบรรยายใดๆ มาบอกได้

ท่านเทิดไว้เหนือเกล้า อยู่เหนือกระหม่อมทุกเวลา ด้วยว่าถ้าไม่มีหลวงตาในวันนั้นก็ไม่มีท่านในวันนี้ หลวงตาท่านเมตตากับหลวงพ่อสามดงเป็นอย่างมาก

จากการที่รับพระที่ตอนนั้นยังไม่ทราบที่มาที่ไป ยังไม่รู้อะไรกับใครเขา ยังไม่เป็นอะไรเข้าอยู่ด้วยที่สำนัก เรียกว่าไม่เป็นอะไรเลย แต่ท่านก็เมตตา จนสามารถปฏิบัติและศึกษาพร้อมเข้าใจในทุกสิ่งทุกอย่างได้ ท่านเมตตาถึงขนาดนั้น

โดยจะให้นิยามออกมาเป็นคำพูดหรืออธิบายอะไรออกมาก็คงจะไม่หมด แต่รู้กันเพียงว่าหลวงพ่อสามดงจะเคารพและเทิดทูนองค์หลวงตามหาบัวเป็นอย่างมาก

กระนั้นองค์หลวงพ่อสามดงได้เมตตาเล่าเหตุการณ์ที่สำคัญให้ฟัง คราวที่องค์หลวงตาท่านละสังขาร ล่วงลับดับขันธ์เข้าสู่แดนธรรมอันเกษมแล้ว

ครั้งนั้นหลวงพ่อสามดงได้เดินทางไปร่วมงานและร่วมพิธีด้วย แต่กระนั้นด้วยความที่เป็นพระที่คนไม่ค่อยรู้จักและไม่ค่อยมีหมู่เพื่อน ด้วยว่าสมัยอยู่ที่บ้านตาดท่านก็ปฏิบัติของท่าน หลังจากนั้นก็บำเพ็ญภาวนาของท่านเพียงลำพังอยู่ตามป่าเขาด้วยองค์ท่านเองอยู่อย่างเอกเทศ

หากแต่จะกลับไปสำนักก็คราวที่ติดขัดในข้อธรรมและมีปัญหาในการภาวนา จึงจะกลับไปสอบถามข้ออรรถข้อธรรมกับพ่อแม่ครูอาจารย์เท่านั้น จึงทำให้หลายท่านคิดว่าท่านเป็นพระที่ไม่มีอยู่ในสาระบบของสำนักวัดบ้านบ้านตาด

วันงานของหลวงตามหาบัว จึงไม่มีแม้แต่ชื่อหรือที่นั่งให้สำหรับหลวงพ่อสามดง แต่กระนั้นองค์ท่านก็ไม่ได้สนใจอะไรก็แต่ว่าด้วยความที่องค์ท่านมาเพื่อกราบคารวะต่อพ่อแม่ครูอาจารย์ผู้เปรียบเป็นพ่อทางธรรมที่ท่านมีความรักและผูกพันเป็นอย่างมากเกินกว่าใครจะเข้าใจ ได้มากราบ ได้มาทำความเคารพ ได้มาส่งท่านเป็นครั้งสุดท้าย ถือว่าเพียงพอแล้ว

เพราะสำหรับหลวงตามหาบัว หลวงพ่อสามดงบอกว่า ถ้าจะให้นิยามความรักหรือความเทิดทูนแล้ว ก็ไม่สามารถจะสรรหาคำใดๆ มาอธิบายได้หมด

เอาเป็นว่า หลวงพ่อสามดงจะเทิดทูนและให้ความเคารพองค์หลวงตามหาบัวไว้อยู่เหนือหัวเหนือเกล้าเสมอ ไม่เคยคิดอาจเอื้อมหรือก้าวล่วงพ่อแม่ครูอาจารย์อย่างองค์หลวงตาฯ แต่อย่างใด แม้แต่จะคิดก็ไม่กล้า

หลวงพ่อสามดงท่านปรารภไว้ให้ฟังถึงเพียงนี้
ความเคารพและเทิดทูนที่หลวงพ่อสามดงมีต่อองค์หลวงตามหาบัวนั้นมากมายขนาดไหน สังเกตุได้ว่าขณะที่องค์ท่านกำลังปรารภนั้น

ได้ปรากฏหยาดน้ำตาแห่งความเทิดทูนหยาดน้ำตาแห่งความเคารพบูชาเป็นสักขีพยาน เป็นน้ำตาแห่งความระลึกนึกถึงในพระคุณ และความเมตตาที่พ่อแม่ครูอาจารย์ท่านได้ประทานให้

โดยที่ผู้อื่นไม่อาจรู้ แต่องค์หลวงพ่อสามดงท่านทราบดีว่ามันมากมายมหาศาลแค่ไหนในสิ่งที่ท่านได้รับ

และน้ำตาที่เห็นนั้นหาได้เป็นน้ำตาของความอ่อนแออันใดไม่ หากแต่น้ำตาที่เห็นนั้น นั่นมาจากผู้ที่เรียกได้ว่าคือนักรบธรรม นักฆ่ากิเลส ที่เผชิญหน้ากับความท้าทายมาทุกรูปแบบ แต่กระนั้นก็ยังพ่ายแพ้ต่อกระแสแห่งความเมตตาและพระคุณของพ่อแม่ครูอาจารย์ที่ท่านได้ประทานให้

หลวงพ่อสามดงท่านปรารภปิดท้ายให้ฟังว่า จะหาพระปฏิบัติดีอย่างหลวงตาไม่มีอีกแล้ว นี่คือเหตุผลว่าทำไมท่านจึงรักและเคารพหลวงตาจนหมดหัวใจ ด้วยว่าท่านได้เห็นและได้รู้อีกมุมหนึ่งของหลวงตาที่คนทั่วไปยังไม่รู้และไม่เห็นนั่นเอง

กับหลวงตามหาบัว สำหรับหลวงพ่อสามดงแล้ว เปรียบได้ว่า “หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน” คือ “พ่อทางธรรม” ที่หลวงพ่อสามดง จันทโชโต ให้ความเคารพเหนืออื่นใด เกินกว่าอะไรเทียบเทียม

พระอาจารย์สามดง จนฺทโชโต วัดอรัญพรหมาราม จ.นครราชสีมา

ปัจจุบันนี้ พระครูวิสิฐพรหมจริยคุณ (หลวงพ่อสามดง จันทโชโต)
ท่านดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดอรัญพรหมาราม อ.ประทาย จ.นครราชสีมา สิริอายุ ๖๓ ปี (พ.ศ.๒๕๖๓)

ที่มา : ขอขอบคุณจากกลุ่มลูกศิษย์หลวงปู่สามดง จนฺทโชโต และอนุโมทนากับผู้จัดทำข้อมูลนี้เป็นอย่างสูง