ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่เจริญ ราหุโล
วัดป่าพระธาตุเขาน้อย
อ.บ้านคา จ.ราชบุรี
หลวงปู่เจริญ ราหุโล ท่านเคยไปศึกษาธรรมอยู่กับหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี หลวงปู่มหาปิ่น ชลิโต หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย เป็นต้น องค์ท่านทิ้งภาระหน้าที่ทางฝ่ายปกครอง ไปอยู่อย่างสันโดษที่วัดป่าพระธาตุเขาน้อย จ.ราชบุรี หลวงปู่เจริญท่านเป็นพระมหาเถระผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบรูปหนึ่ง ท่านเป็นพระนักเทศน์ที่แสดงธรรมได้จับจิตจับใจ เป็นพระผู้มีเมตตาธรรมมาก
◎ ชาติภูมิลำเนาเดิม
พระภัทรสีลคุณ (หลวงปู่เจริญ ราหุโล) เกิดเมื่อวันที่ ๑๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๒ ตรงกับวันพระ ที่ตำบลขนาบนาก อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช บิดาชื่อ นายหนอน คุ้มขนาบ มารดาชื่อ นางแก้ว รัตนรัตน์ ท่านมีพี่น้อง ๕ คน หญิง ๓ ชาย ๒ ดังนี้ ๑.พี่สาวคนโตชื่อ จีบ ๒.พี่สาวชื่อ จู ๓.พี่สาวชื่อ ลิ้นจี่ ๔.พี่ชายชื่อ จำรูญ ๕.คนสุดท้องชื่อ เจริญ เป็นภิกษุ
โยมแม่เล่าว่าเกิดกลางวัน เวลาพระบิณฑบาต คราวตั้งท้องเกิดนิมิตฝันว่าได้มีดทองคำเล่มหนึ่ง สวยงามเหลืองอร่าม น่าจะได้บวชอยู่เป็นพระ อยู่ในผ้าเหลืองตลอดชีวิต แต่เมื่อเจริญเติบโตแล้ว กลับไม่มีนิสัยเด็กดีติดตัวเลย จนพี่สาวพูดว่า ถ้ามิใช่เป็นลูกแม่เดียวกัน จะไม่สนใจคบด้วยเลย
ท่านเข้าเรียนตามเกณฑ์ ป.๑ มิได้เรียน ป.๒ เรียน ป.๓ ป.๔ ไปเรียนต่อมัธยม ๑ มิได้เรียนมัธยม ๒ แต่เรียนมัธยม ๓ จบลาออกกลับไปอยู่กับบิดามารดา ทำไร่ทำนา
◎ ออกบวช
คัดเลือกทหารแล้วไม่ถูก บิดาการพาไปฝากพระอาจารย์พระครูสังวราภิรัตน์ (สิน จนฺทวณฺโณ) เจ้าอาวาสวัดบางอุดมขณะนั้น ไม่มีแววว่าจะได้บวชอยู่ได้ในพุทธศาสนา จะเป็นเพราะเหตุใด ต้องเล่าความจริงของชีวิต จะบวชเพราะโยมพ่อบอกต้องบวชให้ได้ ๓ พรรษา ๓ ปี จึงลาสิกขาได้ และหาคู่ครองให้ เราต้องการคู่ครองจึงบวช
เจ้าอาวาสไม่รับฝากให้บวช อ้างว่าเด็กนิสัยไม่ดี อยู่ไปจะแหกพรรษา เสียชื่อวัดวาอาราม เสียชื่อพ่อแม่พี่น้อง จะบวชอาจารย์ไม่รับให้บวช พ่อแม่ก็หนักใจ จึงสมกับคำว่า “ตัดหางปล่อยวัด” ไม่ดีเสียหายอะไรก็ถวายวัด ทิ้งวัด แต่วัดมีดีอะไรก็เอาเข้าบ้าน
โยมพ่อ โยมแม่จึงอ้อนวอนว่า “ท่านพระครู นิมนต์รับไว้เถิด เสียหายอะไรค่อยว่ากัน”
ท่านพูดว่า “ถ้าอย่างนั้น จงท่องนวโกวาท และเจ็ดตำนานให้จำ จึงจะให้บวช”
ท่องตลอดก่อนบวช อยู่เป็นนาคเตรียมบวชกว่าเดือน และบังคับว่าเข้าวัดแล้วมิให้เข้าบ้าน นอกจากไปบิณฑบาต
◎ บรรพชาอุปสมบท
ครั้นถึงวันที่ ๑๗ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๙๓ อุปสมบทในน้ำ (อุทกุกเขปสีมา) ใช้เรือสองลำต่อกันเอาไม้พาดทำเป็นแพห่างจากฝั่งระยะคนกวักน้ำไม่ถึงในคลองบางหรง ซึ่งแต่ก่อนคลองนี้กว้างใหญ่กว่าปัจจุบันมาก
โดยมี พระครูบริหารสังฆกิจ (เต้ง เขมงฺกโร) เป็น พระอุปัชฌาย์ พระพุทธิสารเถระ เป็น พระกรรมวาจาจารย์ และ พระครูปภัสสรเมธาภรณ์ เป็น พระอนุสาวนาจารย์
พอบวชแล้วเจ้าอาวาสก็ว่า “คุณไปอยู่ห้องนี้” เป็นห้องร้างใครๆ ไม่ชอบอยู่ ห้องร้างก็จริง แต่เคยเป็นห้องสมุดเก่าแก่ มีตู้หนังสือและหนังสือปกขาดอยู่บ้าง ก็เที่ยวเปิดดู
◎ หนังสือเล่มแรก
หนังสือเล่มหนึ่งชื่อว่า มโหสถเผด็จ เป็นหนังสือชาดกเล่มหนาปกแข็ง พิมพ์ก่อนเราเกิด เป็นเรื่องที่พระพุทธเจ้าได้เสวยพระชาติเป็นมโหสถ บำเพ็ญปัญญาบารมี ก็เปิดดูสารบัญเรื่องตั้งแต่มโหสถแรกเกิด เติบโต จนถึงพระเจ้าแผ่นดินทดลองสติปัญญาโดยตั้งปัญหาต่างๆ ให้แก้ พออ่านจบก็อ่านอีกราว ๑o เที่ยว ซาบซึ้ง เหลือเกิน
กลับไปบ้านเล่าให้แม่ฟัง แม่ถามว่า “อ้าว นี่เอาความรู้มาจากไหน”
ตอบว่า “ได้มาจากที่อ่านหนังสือในห้องที่อาจารย์ให้อยู่”
“ตอนเดินทางมาอยู่ที่วัดบุปผาราม ก็เอาหนังสือมโหสถเผด็จนี้มาด้วย เพราะกลัวจะลืม และได้เปิดดูอยู่บ่อยๆ แต่พอเที่ยวหลังมา ลืมสนิทเลย ไม่ได้เอามาด้วย หนังสือเล่มนี้หยิบจับไม่ได้แล้ว เป็นหนังสือที่รักมาก ไม่ใช่แค่เรื่องนี้เท่านั้น หนังสืออื่นขาดก็ปะ เหมือนผ้านุ่งผ้าห่มไม่ดีก็เย็บปักถักร้อย บางทีก็เอากาวทาไว้
บวชเรียนอยู่ได้ก็เพราะหนังสือเล่มนี้ ทำให้เกิดปัญญาขึ้นเยอะ รู้เยอะ แล้วก็จำแม่นด้วย จำเรื่องได้ตั้งแต่มโหสถเกิด ปิดตาเล่าได้เลยตั้งแต่เริ่มแรกจนเรื่องสุดท้าย เดี๋ยวนี้ก็ยังจำได้อยู่ ถ้าได้เล่าแล้วก็ต้องเล่ากันเป็นวันเป็นคืนเลย แม่นมาก หนังสือมโหสถทำให้ชีวิตบวชอยู่ได้
ความจริงสมองไม่ใช่ดีนะ อาศัยอ่านซ้ำซาก อย่างเดี๋ยวนี้กำลังอ่านเรื่องพระมาลัยเถระ เป็นของเก่าแก่สมัยนานดึกดำบรรพ์ อ่านมาเที่ยวหนึ่งแล้วที่กรุงเทพฯ มาอยู่ที่นี่ได้อ่านต่อ อ่านแล้วไม่ปล่อยเลยไปทีเดียว ตรงไหนที่ลึกๆ ก็ขีดเส้นแดงไว้ หมั่นทบทวนความจำศัพท์บางอย่างไพเราะ ผ่านหูผ่านตา เช่นว่า เทวคันธีมา (กลิ่นหอมของเทวดา) สวรรณภิงคาร (ที่อุทิศกรวดน้ำแผ่ส่วนบุญ)
หนังสือที่ควรจะศึกษาถือเป็นคลังปริยัติ คือ มิลินทปัญหา วิสุทธิมรรค วิสุทธิมรรคนี้วิเศษเหลือเกิน ศีลนิเทศน์ สมาธินิเทศน์ ปัญญานิเทศน์
การอ่านหนังสือไม่เคร่งเครียดมากเกินไป พอเครียดก็เดินจงกรมไปมา แล้วก็อ่านต่อ พอเพลียก็นอน นอนก็ไม่ได้กะว่าจะนานเท่าไหร่ นอนหลับเต็มอิ่มก็ตื่นมาอ่านต่อทันที ไม่ได้เลือกเวลาไหน ยิ่งที่นี่สงบ อ่านได้ทั้งวัน อ่านหนังสือไม่ได้ตั้งว่าเช้าหรือเย็น แล้วแต่อารมณ์ ถ้าอารมณ์ดี สมองแจ่มใสก็อ่าน อ่านแล้วก็ต้องเตรียมสมุดเอาไว้”
◎ ชาตินี้ไม่ลาสิกขา
ครั้นบวชได้ ๑ พรรษา รับกฐินแล้ว พี่ชายไปเยี่ยมและพูดว่า “ลาสิกขาได้แล้ว”
ตอบพี่ว่า “ลามิได้ เพราะโยมพ่อพูดไว้ว่าต้องบวชให้ได้ ๓ ปี ไม่ครบ ๓ ปี ลาสิกขาออกมา มิให้เหยียบบันไดบ้าน” และตอบกับพี่ว่า “จำไว้เถิด ชาตินี้จะไม่ลาสิกขา”
พี่ชายพูดว่า “ถอนคำพูดเสีย จะเสียสัจธรรม”
ตอบพี่ว่า “ตั้งแต่นี้เป็นต้นไป ไม่ลาสิกขาแล้ว”
พี่ชายพูดต่อไปว่า “มรดกของลูกคนสุดท้อง ตกเป็นของท่าน”
ตอบพี่ว่า “พี่ๆ แบ่งกันเองเถิด เราไม่รับมรดก”
ตั้งแต่พรรษาแรกผ่านไปประมาณ ๓ ปี อาจารย์เจ้าอาวาสพูดกับโยมแม่ว่า “แม่แก้ว ฝ่ามือเป็นหลังมือไปแล้ว”
ฝ่ามือเป็นหลังมือ คือ ชั่วสุดๆ แล้วกลับเป็นดี นิสัยโลเลไม่ค่อยได้เรื่องได้ราว ไม่น่าจะบวชอยู่ได้ เหมือนองคุลิมาลไม่น่าจะกลับตัวได้ คนชั่วช้าสามานย์แต่กลับจิตกลับใจกลับตัวเป็นคนดีได้ ไม่น่าเชื่อ
◎ ชอบบังคับให้ทำดี
บวชไปได้ ๑ ปี ออกพรรษามาแล้ว อาจารย์ถามว่า “ยังจะอยู่เป็นพระไปอีกหรือ”
ตอบว่า “อยู่ต่อไป”
ท่านจึงส่งหนังสือปาฏิโมกข์ แล้วบังคับว่าต้องท่องให้ตลอด และก็ต้องจำใจท่อง ๒๗ วัน ตั้งแต่พรรษาแรก เพราะกลัวอาจารย์จึงทำได้ดี อายุมากขึ้นจึงรู้คุณค่าอาจารย์ชอบบังคับให้ทำดี ปัจจุบันก็ยังท่อง ถึงไม่สวดก็ต้องทวน อากาศดีๆ ไปนั่งที่ต้นโพธิ์ทวนปาฏิโมกข์ไปเรื่อยๆ
พระเจริญสมองทึบ เรียนไม่ค่อยจะทันเพื่อนฝูง จึงต้องเพิ่มความขยัน ความเพียร ความเอาใจใส่การเรียน เรียนเที่ยวเดียวไม่จำ ต้องซ้ำซาก ท่องแล้วท่องอีก อ่านแล้วอ่านอีก อ่านคำสอนของเจ้าคุณนรรัตนราชมานิต (ตรึก ธมฺมวิตกฺโก) ท่านพูดว่า อย่าลืมนะเข้าห้องน้ำนำหนังสือติดมือเข้าไปด้วย ก็ปฏิบัติตามท่าน
◎ ตามหาครูบาอาจารย์
การตามหาครูอาจารย์ที่ดี หายาก พบยาก ทั้งไกลในการไปหา อาจเป็นเพราะชาติก่อนไม่เคยสร้างบุญบารมีมากับอาจารย์ หรือบุญเราน้อย เช่น คราวออกพรรษาที่ ๓ แล้วไปหาหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ที่วัดเจริญสมณกิจ (วัดหลังศาล) จังหวัดภูเก็ต
ต้องไปทางเรือ ลงท่าที่อำเภอกันตัง จังหวัดตรัง ไปจังหวัดภูเก็ต เพื่อไปอยู่กับหลวงปู่ เรือเดินทางทางทะเล เรือจมน้ำ เครื่องเรือแตก ก็ต้องลำเลียงเรือเล็กขึ้นฝั่งที่เกาะลันตา การกินการอยู่ก็ให้ลำบาก
ไปถึงปลายทางเข้าไปหาหลวงปู่ก็กลัวอีก ไม่รู้ทำตัวอย่างไร เพราะชาวใต้ไม่ค่อยรู้ขนบธรรมเนียมของพระกรรมฐานเหมือนอยู่ป่าทางอีสาน อยู่กับหลวงปู่เทสก์ เห็นปฏิปทาธุดงค์ที่ท่านพาดำเนินให้ปฏิบัติเป็นแบบอย่างงดงามน่าเลื่อมใส จึงได้สมาทานธุดงควัตรข้อฉันมื้อเดียว และฉันในบาตรอย่างเคร่งครัดตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา อยู่ไม่นานหลวงปู่กลับไปจังหวัดหนองคาย ฝากไว้กับพระอาจารย์วัน อุตฺตโม
พระอาจารย์วันท่านก็นิ่งลึกอย่างน่าเกรงขาม ท่านก็ไม่ค่อยพูด เราไม่กล้าถาม อยู่อย่างคุมเชิง หมู่คณะไม่แสดงความเป็นกันเอง เราระแวงรอบตัว
เรื่องการใช้บาตร บาตรเรามิได้เผาด้วยไฟ ๕ ไฟขึ้นไปจึงถือเป็นผิด อธิษฐานเป็นบาตรครองมิได้ พระอาจารย์วันท่านจึงให้หาบาตรและเครื่องทัพสัมภาระ เช่น ไม้ไผ่แห้ง ถังใหญ่ขัดบาตรให้ขาวทั้งนอกและภายใน จัดวิธีบ่มเผาบาตรสำเร็จเรียบร้อย จึงอธิษฐานเป็นบาตรครอง
อยู่กับพระอาจารย์วัน ท่านสอนอย่าลงเท้าแรง เดินช้าๆ เบาๆ เหมือนกับแมวเดิน เราไม่ใช่ทหารแตกแถวหนี ถึงว่าในวงกรรมฐานใหญ่ๆ เขาให้เดินเบาๆ ถ้าเดินเบาธรรมะเกิดมาก แต่ถ้าเดินหยาบธรรมะไม่เกิด
ออกจากจังหวัดภูเก็ตไปอยู่จำพรรษากับพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม เป็นเวลา ๕ เดือน ที่วัดอุทัยโพธาราม จังหวัดเพชรบุรี
ตอนที่อยู่กับพระอาจารย์สิงห์ พระที่เคยอยู่กับท่านเห็นจะหายากสมัยนี้ “เราโชคดีได้จำพรรษาด้วย ได้เห็นอากัปกิริยา ท่านจะเดิน ท่านจะพูดจาอะไรเป็นหลักเป็นฐานทั้งนั้น เวลาแสดงเทศน์แบบพูด ไม่ได้ตั้งนะโมหรือสุภาษิตอะไร ว่าธรรมะไปเลย พูดเสียงห้าวๆ เสียงหนักๆ พูดแล้วดึงดูดหัวใจ เราติดใจมานานตั้งบัดนั้นถึงบัดนี้”
พระอาจารย์สิงห์เป็นพระอันดับหนึ่งของภาคอีสานในสมัยนั้น คือเขาถือกันในวงกรรมฐานว่าไก่ป่าขันตัวเดียวเท่านั้น ขันหลายตัวไม่ได้ ไก่บ้านยังขันกันหลายตัว แต่เป็นการภายใน เขาไม่ค่อยบอกกัน ต้องสังเกตเอง
เมื่อออกพรรษาที่ ๔ ได้พบกับหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี และ พระอาจารย์วัน อุตฺตโมอีกครั้งที่วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน กรุงเทพฯคราวนี้หลวงปู่เทสก์ถามว่า “คุณเจริญพรรษาเท่าใดแล้ว”
ตอบว่า “๔ พรรษาแล้ว”
คำพูดของท่านในวันนั้นทำให้เราจำได้ ท่านพูดว่า “อยู่ให้ตลอดชีวิตเสียจึงจะดี” เราจำคำนั้นจนถึงวันนี้ เพราะท่านให้กำลังใจ
◎ กำเนิดนักเทศน์
“เป็นนักเทศน์ตั้งแต่พรรษา ๔ เมื่อก่อนเทศน์ดีกว่านี้เพราะเรี่ยวแรงดี วันหนึ่ง ๕ เที่ยวก็ได้ เดี๋ยวนี้ ๒ เที่ยวก็ยุ่งแล้ว ความจำยังจำดี แต่ต้องท่องบ่อย พุทธสุภาษิต ศาสนพิธี หนังสือนักธรรมชั้นตรี โท เอก พกติดตัว นวโกวาทก็ต้องท่อง ท่องแล้วก็ต้องแปลได้ ต้องขบธรรมะให้แตกแล้วจึงเอาไปเทศน์ เทศน์ให้เข้ากับบุคคล และหาสุภาษิตมารับรอง
สุภาษิตไม่ใช่เพิ่งท่อง ต้องท่องอยู่บ่อยๆ สวดมนต์จบเราก็ท่องสุภาษิตที่เราจำมา ก่อนจะนอนก็ต้องเทศน์ส่วนตัวเทศน์ไปเรื่อย เทศน์ไปฟังไปว่าได้เรื่องได้ราวไหม ถ้าไม่ได้เรื่องเราก็ต้องพัฒนาใหม่ พูดสุ่มสี่สุ่มห้าเชื่อมความไม่ได้ ต้องมีบทฝึกตัว เทศน์จนชำนิชำนาญ”
ต่อมากลับไปอยู่วัดพระมหาธาตุ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช แล้วย้ายไปอยู่วัดเขมาภิรตาราม จังหวัดนนทบุรี อีก ๑ พรรษา สอบนักธรรมเอกได้ เมื่อจำพรรษาอยู่วัดเขมาภิรตาราม ในพรรษาที่ ๖ นี่เอง
◎ วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม
ฝึกอบรมกรรมฐานกับท่านเจ้าคุณพระเทพสังวรญาณ (สงวน จิตฺตรกฺโข) วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมาราม กรุงเทพฯ ท่านสอนการทำวิปัสสนา กำหนดยืน เดิน นั่ง นอน กำหนดตั้งสติ ไม่ได้ใช้พุทโธ กำหนดเอาปัจจุบันอย่างเดียว
แม้แต่ฉันอาหาร ให้กำหนดรสชาติเหมือนกับว่ากินฟางอย่าเลยถึงว่าแกงเป็ด แกงไก่ สักว่าเห็น เวลาช้อนตัก จะใส่ปากเคี้ยวเฉยๆ อย่าเลยไปถึงหวาน มัน เค็ม ถ้าสักว่าเคี้ยวตัณหาไม่เกิด ท่านบอกว่าตัณหาเกิดระหว่างรู้สึกว่าเอร็ดอร่อย คำไหนที่รู้สึกว่าเอร็ดอร่อย อย่ากลืน ให้ยั้งไว้ก่อน ให้จิตดับจากตัณหานั้นแล้วค่อยกลืนได้
เวลาเดินจงกรมต้องเก็บมือ ต้องสำรวม หรี่ตาต่ำลงมาช่วงระยะแอกหนึ่ง ระยะวาหนึ่ง กำหนดเสียก่อนว่าเราจักเดิน
การนอน นอนตะแคงข้างขวา วางเท้าเหลื่อมเท้า ถึงมีหมอนก็เหมือนหมอนไม่มีความหมาย เอามือต่างหมอนนอนสีหไสยาสน์ลงไป ทอดขา ทอดเท้าเหลื่อมเท้า แล้วกำหนดมนสิการว่า ไม่ประกอบสุขในการนอน นอนก็รู้ว่านอน อย่าไปนอนเพื่อความสุข อย่าไปนอนว่าดีนักหนา สักว่ากิริยานอน เพราะร่างกายต้องยืน เดิน นั่ง นอน เสมอกัน ทำได้อย่างนี้ผ่านไป ยังอยากอยู่นานวันเข้าจะละเอียด เป็นนิสัยติดตัวมาตั้งแต่วันนั้น
อย่าเลือกอาหาร ให้หนักไปทางผักและผลไม้ เพราะย่อยง่าย ไม่ง่วงนอน ร่างกายเบา กระปรี้กระเปร่า จะยืน เดิน นั่ง นอน ทำอะไรมีพละกำลัง ปฏิบัติธรรมได้ดี ถ้าฉันเนื้ออืดอาด ย่อยยาก
หลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต หลวงปู่ฝั้น อาจาโร ท่านมีเคล็ดลับฉันนิดเดียวและไม่มูมมามฉันเพื่อให้เกิดกำลัง ให้ย่อยหมดไปในทีหนึ่ง แล้วพรุ่งนี้ฉันอีก ให้ท้องพร่องไว้ พระพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า “ผู้ใดมีท้องพร่อง ย่อมทนความหิวได้ เป็นผู้มีความเพียร มุ่งปฏิบัติธรรมนั้น ชื่อว่าเป็นสมณะ” ท้องต้องพร่องไว้ ถ้าตึงมากไม่คล่อง สำหรับพระกรรมฐานในข้างผอม ให้มีเนื้อแก่นแข็งแรง
ถ้าเป็นลูกตถาคตจริง ไม่ต้องรำพันกันเรื่องกิน มีแต่ข้าวเปล่าก็กินได้ มุ่งปฏิบัติอย่างเดียว ถ้าคนกิเลสน้อย มุ่งปฏิบัติจริง เขาไม่กลัว เพราะทำแล้วได้ผล
ถ้าบวชเพื่อกิน เพื่อนอน เพื่อสนุกสนาน แล้วจะบวชทำไม อย่าติดกิน อย่าติดนอน อย่าติดสถานที่ อย่าติดบุคคล อย่าติดที่อยู่ อยู่กันเพื่อสัมพันธ์ในข้อวัตรปฏิบัติ ถึงจากก็จากไปไม่อาลัยอาวรณ์ เหมือนนกกินเสร็จแล้วกลับรังของมัน
“เวลาเข้ากรรมฐานให้มุ่งปฏิบัติอย่างเดียว ไม่ให้อ่านหนังสือ อ่านไปก็เป็นบัญญัติ บัญญัติคือภาษา ครูบาอาจารย์จึงไม่ให้อ่านหนังสือ เหมือนอย่างพระอาจารย์เสถียร สมาจาโร วัดวาชูคุ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี เมื่อปฏิบัติให้สังเกตว่าท่านไม่เอาตำรา แต่ตำรานี้ก็อ่านได้ เรียนได้ ศึกษาได้ เพื่อเป็นเครื่องวัดว่าถูกหรือผิด ตอนที่ไปอยู่จังหวัดภูเก็ต หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ท่านก็เอาพระไตรปิฎกมาอ่านเวลาว่างๆ ให้สังเกตดูคำเทศน์ของท่านมีตำราแฝงอยู่เรื่อยๆ ของพระอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโนก็มีตำราอยู่
คนอ้างตำรากับปฏิบัติประยุกต์กันเป็นเส้นขนาน ปฏิบัติกับปริยัติต้องคู่กัน สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชท่านก็สอนอย่างนั้น เรียนต้องเรียนเพื่อรู้หลักปฏิบัติ อย่าให้การปฏิบัติล้ำหน้าการเรียนเกินไป และการเรียนล้ำหน้าการปฏิบัติ ต้องให้คู่ขนานกันไปอย่างนี้ จะได้เปรียบเทียบว่าเราถูกหรือผิด จะทิ้งตำราทีเดียวไม่ได้ จะติดมากก็ไม่ได้ ถ้าติดมากเกิดทิฏฐิมานะว่าเรารู้มากกว่าเขา รู้มากกับการเรียนจะยากอะไร ใครๆ ก็รู้ได้ รู้มากด้วยการปฏิบัตินี้สำคัญ”
ฝึกทั้งหมดเพื่อตั้งสติให้รู้จักปัจจุบัน กำหนดหายใจเข้าออกก็รู้ ตาเห็น รู้ขึ้น แล้วก็ดับไป จิตคิด รู้ขึ้น แล้วก็ดับไป โลกนี้มีแต่เกิด-ดับ เกิด-ดับถี่ยิบ เขาว่าโยคีผู้ปฏิบัติธรรม เมื่อเห็นความเกิดดับของชีวิตถี่ยิบอย่างนี้แล้ว จึงเบื่อเหลือเกินที่จะดูจะฟัง โลกนี้ไม่มีอะไรเที่ยง โลกนี้ไม่มีอะไรสุข ครูบาอาจารย์องค์นี้ท่านสำคัญมาก ให้มุ่งปฏิบัติอย่างเดียว
หลวงปู่เจริญ ราหุโล ท่านพำนักอยู่ในกรุงเทพฯ บ้าง ออกไปอยู่ตามวัดตามต่างจังหวัดบ้าง เข้าๆ ออกๆ แต่ตลอดเวลานั้นท่านเจริญกรรมฐานตลอด ความนี้ปรากฏอยู่เมื่อตอนที่ท่านเล่าถึง แม่ชีกิ้ม รัตนรัตน์ ซึ่งเป็นผู้ที่เลี้ยงดูท่านมาว่า…
“…ครั้งหนึ่งได้สนทนาธรรมกับป้าชี ป้าชีว่า “ทำกรรมฐาน ได้อะไร”
เราถามกลับว่า “โยมทำกรรมฐานทั้งหมดต้องการอะไรล่ะ”
“ต้องการรู้”
เราซักต่อไปว่า “ต้องการรู้อะไร”
“ไม่รู้เหมือนกัน”
“ก็ให้รู้อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อนิจจังได้อะไรล่ะโยม มันไม่เที่ยง ดูสิ รูปนามเที่ยงที่ไหน เกิดดับอยู่เรื่อย”
“โอ๊ย บวชมาตั้งนานเพิ่งรู้วันนี้เอง รู้แต่ว่ากำหนด แต่ไม่เห็น วันนี้กำหนดเห็นแล้วว่ารูปนามเกิดดับจริง”
“เมื่อไม่เที่ยงแล้ว มันแสนจะทุกข์ด้วย ตั้งแต่โยมเกิดมาจนบัดนี้ อายุ ๗๐ กว่าแล้ว มันสุขตรงไหนบ้างล่ะ”
“โห จริงของท่าน”
“นอกจากทุกข์แล้ว ทีนี้ก็ดูอนัตตาสิ อนัตตาเป็นเนื้อเป็นตัวหรือเปล่า ไม่มีเลย จะทำไร่ทำนาได้เงินได้ทองเป็นเนื้อเป็นตัวแต่อนัตตาได้อะไร ได้ของเปล่าทั้งนั้น ของเปล่าๆ ตรงนี้พระพุทธเจ้าท่านได้มา ท่านว่าโลกเป็นของว่าง เป็นของเปล่า พอว่างกิเลส โลภะ โทสะ โมหะ ก็ว่างด้วย เรียกว่าอนัตตาไม่ใช่ตัวตน”
พูดอย่างนี้ก็เข้าใจ “โอ บวชมาตั้งนานเพิ่งรู้จากท่านนั่นแหละ”
หลวงปู่เจริญ ราหุโล ท่านเคยพำนักที่วัดราชประดิษฐ์ฯ จากนั้นไปพำนักที่วัดสัมพันธวงศ์ในช่วงสั้นเพื่อเตรียมออกไปช่วยสร้างวัดสารนารถธรรมาราม จ.ระยอง เมื่อเสร็จเรียบร้อยดีแล้ว ปี พ.ศ.๒๕๐๔ ซึ่งเป็นพรรษาที่ ๑๒ ท่านได้ย้ายไปอยู่วัดบุปผาราม คราวนี้อยู่วัดนี้นานถึง ๓๗ ปี แล้วไปอยู่วัดป่าพระธาตุเขาน้อย จ.ราชบุรี ๖ ปี จึงกลับมาอยู่วัดบุปผารามอีก ๒ ปี
วัดบุปผารามยุคนั้นอยู่ภายใต้การดูแลของพระธรรมวราลังการ (กล่อม อนุภาโส) ท่านว่าหลวงปู่กล่อม รูปนี้เคยได้รับการอบรมจากหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี มาก่อน
ท่านเล่าว่า หลวงปู่กล่อมกำหนดให้ท่องหลักสูตรเจริญพุทธมนต์แบบมคธ ปากเปล่าทั้ง มหาสมัยสูตร มหาสติปัฏฐานสูตร ธชัคคสูตร วัดบุปผารามเป็นสถานที่เจริญด้วยปริยัติและปฏิบัติธรรม
“การทำวัตรเช้า-เย็น เราถือเป็นข้อวัตรสำคัญ คือ ตั้งใจทำมิได้ขาด เช่นครั้งเมื่อเราอยู่ที่วัดบุปผารามตลอด ๓๙ ปีนั้นเราก็ตั้งใจลงทำวัตรทุกวันมิได้ขาด ยกเว้นเมื่อมีธุระนอกวัดหรือคราวเราออกไปธุดงค์”
หลวงปู่เจริญ กล่าวถึงครูบาอาจารย์ของท่านอีกรูปหนึ่งคือ พระอาจารย์สมชาย ฐิตวิริโย ว่า
“ยังมีพระกรรมฐานอีกรูปหนึ่งที่เราให้ความเคารพ คือ พระอาจารย์สมชาย ฐิตวิริโย พระอาจารย์สมชาย ใช้ระบบของหลวงปู่เทสก์ เพราะถ่ายทอดมาจากหลวงปู่มั่น หลวงปู่ฝั้น ก็มุ่งทางสมถะ องค์นี้สมถะอ่อนไป แต่วิปัสสนาดี เช่น กำหนดเห็นอยู่นี้ อย่าเลยว่าเห็นหญิงเห็นชาย กำหนดสักว่าเห็น ถ้าเห็นเป็นหญิงนั้นเป็นสมมติ หญิงไม่มีในโลกนี้ ให้สักว่าเห็น เห็นบ้าน เห็นเรือน เห็นสีขาว สีเขียว ให้สักว่าเห็น เอาเสียงกระทบ เสียงใกล้ เสียงไกล เสียงใหญ่ เสียงเล็ก สักว่ากระทบเท่านั้น แล้วก็หายไป ดูผิวพรรณหน้าตาลูกศิษย์ ท่านก็รู้แล้วว่า นอนมากหรือน้อย หรือปฏิบัติมาก”
ท่านเล่าว่า ถึง พ.ศ.๒๕๔๐ ก็ได้กราบลา พระธรรมรัตนดิลก (อาคม อุตตฺโร) ไปอยู่จำพรรษาวัดป่าพระธาตุเขาน้อย จ.ราชบุรี ครั้งแรก ๖ ปี ก่อนกลับไปอยู่วัดบุปผารามอีก ๒ ปี ระหว่างที่อยู่วัดบุปผาราม มีหลายครั้งที่ออกธุดงค์ไปภาวนาในป่า มีครั้งหนึ่งที่ไปทางภาคตะวันตก ถึง จ.กาญจนบุรี ไปอยู่ที่วัดธุดงคนิมิต ซึ่งสร้างขึ้นโดย พระอาจารย์สุพิศ กตปุณฺโญ
ท่านว่าพระอาจารย์สุพิศรูปนี้ “เป็นชาว จ.มหาสารคาม เคยมีครอบครัวมาก่อน เกิดเบื่อหน่าย จึงออกบวช ท่านเป็นพระเด็ดขาด ปฏิบัติเคร่งครัดมากพอๆ กับพระอาจารย์เสถียร สมาจาโร วัดวาชูคุ…ในวันที่ท่านจะสิ้นบุญ ไม่มีใคร มีแต่น้องสาวคนหนึ่งนั่งอยู่ข้างล่างเตียง ท่านนอนอยู่บนเตียง แล้วพูดว่า “น้องเอ๊ย เราเกิดสายเลือดเดียวกัน เธอเป็นผู้หญิง ฉันเป็นพระ เธอถูกฉันไม่ได้ ฉันจะตายแล้วนะ ฉันจะพลิกตัวไม่ตายบนเตียง เธออย่ามาถูก ท่านก็พลิกตัวจากเตียงลงข้างล่าง แล้วก็มรณภาพ จึงได้นำศพกลับไป จ.มหาสารคาม”
มีผู้บอกท่านว่า พระอาจารย์สุพิศบรรลุชั้นอนาคามี ไปได้ไกลสำเร็จชั้นสุทธาวาส
หลวงปู่เล่าถึงประสบการณ์การภาวนาที่วัดธุดงคนิมิตว่า “เมื่อเข้าไปภาวนาในถ้ำหลังวัด เราได้เข้าไปในถ้ำลึกนั้นได้ ๓ คืน ก็มีคนมาเยี่ยม พอมาถึงก็ส่องไฟฉายเข้าตัวเอง เราคิดว่าถ้ำนี้เห็นจะมีปัญหา
“ผมมาดีครับ ผมไม่มีอะไรหรอก”
“เข้ามาสิ เชิญๆ”
“สังเกตว่าพาเด็กมาด้วย เอาชากาแฟมาถวาย แล้วก็นั่งอยู่ข้างเตียง เขาเล่าว่าเมื่อไม่กี่วันมีพระตายหามออกไปองค์หนึ่งดูว่าบีบคอตัวเองตาย เป็นพระเชียงใหม่ พี่น้องมารับศพกลับไปแล้ว เขาว่าพระนั้นตายอยู่บนเตียงที่เรานั่ง ก่อนจะกลับก็พูดทิ้งท้ายว่า ‘หลวงพ่ออย่าไปกลัวอะไรเลย คนเราสูงที่สุดก็แค่ตาย’ ได้อุดมคติจากเขาว่า ชีวิตเพียงแค่ตาย เหนือจากนั้นไม่มีอะไรแล้ว
“พอเขากลับไป เราก็เริ่มป่วย เหงื่อออกเต็มจีวรเปียกเป็นเมือกไปหมด มันดูดอย่างไรไม่ทราบ เพราะว่ามืดและทึบ หายใจลำบาก อากาศเข้าทางเดียวทางปล่องข้างบน ตกเย็นค้างคาวบินเข้าออก เหม็นขี้เหม็นเยี่ยวค้างคาว เราเป็นลมเพราะกลิ่นนั้น
“นึกขึ้นได้ถึงคำสั่งของโยมแม่ที่เคยบอกว่า ‘ท่านบวชก็บวชนะ อย่าเที่ยวอดๆ อยากๆ ฉันข้าวฉันปลาให้เป็นเวล่ำเวลา ไปเที่ยวอย่าเข้าลึกนัก’
“เราคงจะไม่ได้พบแม่แล้ว เลยอธิษฐานว่า ถ้าชีวิตนี้จะได้พบแม่อีกครั้งหนึ่งขอให้หาย ไม่ต้องกินยาเถิด พออธิษฐานเช่นนั้น เหงื่อก็แห้งอย่างรวดเร็ว รุ่งเช้าจึงเก็บบริขารขึ้นมาที่เชิงเขาที่พระอาจารย์สุพิศอยู่
“พระอาจารย์สุพิศถามว่า ‘ทำไมท่านอยู่ไม่ครบ ๗ วันล่ะ ๖ วันก็ออกมาแล้ว ผมดูท่านหน้าซีดๆ เมื่อคืนท่านมีอะไร’
“ไม่มีอะไรครับ”
“แหม อย่าพูดอำพรางนะ ผมโดนมาแล้วที่ถ้ำนี้ ผมไปอยู่ ๒๔ วัน ญาติโยมต้องไปหามผมมา มันดูดผมซีดหมด แพ้อำนาจในภูเขา มันมีสารฟอสฟอรัสอยู่มาก” เราจึงบอกตรงๆ ว่า ‘เมื่อคืนผมป่วยหนัก โยมแม่เคยสั่งว่าอย่าเข้าลึก นี่ผมเข้าไปลึกในถ้ำ ผมต้องลาท่านกลับไปกรุงเทพฯ จะเดินทางไปปักษ์ใต้ไปหาโยมแม่ คิดถึงโยม’
“มานึกได้ว่า คำสั่งของโยมแม่สำคัญจริงๆ ว่าอย่าเข้าไปที่ลึก ไม่ใช่ป่าลึก แต่หมายถึงถ้ำที่ลึก คำสั่งของแม่เหมือนคำพระสอน สมัยบวชใหม่ๆ โยมแม่เตือนว่าอย่าสักว่าบวช |ให้ว่าปัจจเวกบ้าง คนปักษ์ใต้เขาว่าปัจจเวก คือ พิจารณาจีวร บิณฑบาตที่อยู่ ยารักษาโรค อะไรปัจจเวก บทที่ขึ้นว่า ยะถาปัจจะยัง ปะวัตตะมานังฯ ปฏิสังขา โยนิโสฯ อัชชะมะยาฯ เป็นปัจจเวก อย่าว่าแต่เพียงปัจจเวกเลย”
ท่านว่า “เมื่อโยมพ่อสิ้นบุญ โยมแม่ได้มาอยู่กับเราที่วัดบุปผารามเป็นเวลา ๒ ปี ได้นิมนต์พระไปเทศน์ทุกคืน ด้วยอานิสงส์นี้เราจึงสนใจฟังเทศน์ สืบหาพระที่เทศน์ดีจากวัดประยุรวงศาวาส วัดกัลยาณมิตร วัดราชสิทธาราม วัดโมลีโลกยาราม วัดอนงคาราม และวัดพิชัยญาติการาม ไปนิมนต์เองให้ท่านเทศน์ โปรดโยมแม่ที่กุฏิเจ้าจอมเลียม โดยเตรียมจีวรให้โยมแม่ถวาย คืนละผืน พวกแม่ชี ผ้าขาวในวัดมาร่วมฟังเทศน์ทุกคืนตลอดเวลา ๒ ปี
“อยู่มาได้ ๒ ปี โยมแม่ก็เริ่มป่วย เราเที่ยวหายาไปทั่ว เขาว่ามีหมอรักษาโรคได้ดีที่ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ก็ไปหา โยมแม่อาการ|ทรุดลงทุกวันจนถึงแก่กรรมในปี พ.ศ.๒๕๑๖ ตั้งศพที่วัดบุปผาราม ๙ วัน เรายังนึกว่า ถ้าตั้งศพที่บ้าน หมู เป็ด ไก่ คงจะต้องตายไปหลายตัว แต่แม่สิ้นบุญไปโดยไม่มีสัตว์ตายเลย
“เราได้กรรมฐานจากโยมแม่ในเวลาเผาศพ หลังจากญาติพี่น้องกลับไปหมดแล้ว เหลือแต่เรากับสัปเหร่อ ในราว ๓ ทุ่ม ได้ขอสัปเหร่อเปิดดูศพที่กำลังเผา เห็นกะโหลกศีรษะของแม่ยังเหลืออยู่ เหมือนกับแม่ให้กรรมฐานไว้ ให้เห็นความจริงทั้งหมดนึกสังเวชว่ากะโหลกพระอรหันต์ของเราขาว ไฟกินเนื้อหมด เหลือแต่กะโหลกขาวผ่อง ก็ได้อารมณ์กรรมฐานตั้งแต่วันนั้น จนบัดนี้เรายังเห็นภาพกะโหลกของโยมแม่อยู่”
ท่านเล่าถึงเหตุที่มาอยู่ที่วัดป่าพระธาตุเขาน้อยว่า
“เพราะรู้จักกับพระอาจารย์มหาปิ่น ชลิโต ที่ จ.นครศรีธรรมราช ตั้งแต่พรรษาที่ ๓ ท่านเดินทางไปแสดงธรรมที่วัดพระมหาธาตุ วัดคงคาวดี และสำนักต่างๆ ที่ จ.นครศรีธรรมราช ผู้คนนิยมชมชอบมากมายและท่านมีบทบาทสำคัญมากที่บุกเบิกปักษ์ใต้ให้มีข้อวัตร|ปฏิบัติตามระเบียบของพระอยู่ป่า
เวลานั้นออกพรรษา ท่านก็เที่ยวรูปเดียว แล้วไปพักวัดพระมหาธาตุ เราก็เข้าไปกราบ ท่านถามว่า “ท่านอยู่วัดไหน ชื่ออะไร”
“ชื่อเจริญ ผมอยู่วัดนี้”
ท่านว่า “ไปอยู่กับผมซิ ผมอยู่พังงานี้เอง หลวงปู่เทสก์ก็อยู่วัดหลังศาล ถ้าคุณไป ไปอยู่วัดผมก็ได้”
พอเราไปภูเก็ต จึงไปหาท่าน แต่มิได้อยู่ประจำกับท่านพระครูสีลาภิรัต (สงวน ยุตฺตธมฺโม) ซึ่งเคยติดตามพระอาจารย์มหาปิ่นไปเที่ยวธุดงค์ด้วยกันเล่าให้ฟังว่า พระอาจารย์มหาปิ่นเป็นพระสำคัญ เป็นพระบุกเดี่ยว เรียกว่า ช้างโทน ไปผู้เดียวในป่า เป็นพระปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ
ปี พ.ศ.๒๔๙๙ พระอาจารย์มหาปิ่นมาจากพังงามาสร้างวัดป่าพระธาตุเขาน้อย ท่านมาแบบปิดตามา คือนั่งกรรมฐานแล้วเห็นนิมิตว่า มีที่แห่งหนึ่งอยู่บนเชิงเขา ท่านคิดสร้างวัดขึ้นในป่าจึงเดินดั้นด้นข้ามลำห้วยมากางกลดอยู่ ที่ตรงนี้เป็นของพวกกะเหรี่ยงมาก่อน กะเหรี่ยงเห็นพระมาอาศัย จึงรวมกันถวายที่รอบภูเขาเป็นวัด ท่านก็ได้สร้างวัดนี้เป็นวัดแรก
สร้างเสร็จไปได้สัก ๔-๕ ปี เราก็ยังอยู่ที่กรุงเทพฯ ไม่ทราบว่าท่านมาอยู่ที่นี่ จนกระทั่งมีผู้ถามว่า “ท่านๆ รู้จักพระอาจารย์มหาปิ่นไหม”
“รู้จักสิ เรารู้จักมานานแล้ว เป็นพระดี”
เขาว่า “เดี๋ยวนี้อยู่ที่วัดบ้านคา ท่านไม่ได้ไปเที่ยวบ้างหรือ”
“บ้านคา มีต้นหมากรากไม้บ้างไหม”
“มีอยู่ อุดมสมบูรณ์ดี”
“แต่เราก็ยังไม่ได้ไปหา จนกระทั่งผ่านมาราวสัก ๑๐ ปี เมื่อเราเข้ามาดู ท่านก็มรณภาพไป ๒ ปีแล้ว เหลือแต่กุฏิที่ท่านเคยอยู่และร้างไป จึงติดต่อเจ้าอาวาสรูปปัจจุบัน (พระอาจารย์สุนันท์ ปุญฺญนนฺโท) ขออนุญาตบูรณะซ่อมแซม จึงประจำอยู่มาจนบัดนี้”
ท่านสรุปหน้าที่การงานในอดีตของท่านไว้ด้วยความเพียง ๓ บรรทัดว่า “เคยได้รับแต่งตั้งและหน้าที่การงานของคณะธรรมยุติกนิกาย พ.ศ.๒๔๑๙ ทำบัญชีกลางปี สถิติวัดหลวง วัดราษฎร์ สำนักสงฆ์ พำนักสงฆ์ เจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัด เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล จำนวนพระภิกษุ สามเณร เนื้อที่วัดสัทธิวิหาริกอุปัชฌาย์ ทั่วประเทศ จนถึง พ.ศ.๒๕๔๐ ลาออก ทำหน้าที่นี้”
ทุกวันนี้ท่านเป็นเพียง หลวงปู่เจริญ ราหุโล วัดป่าพระธาตุเขาน้อย เป็นพระบุกเดี่ยว เป็นพระปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ เช่นเดียวกับพระอาจารย์มหาปิ่นผู้ก่อตั้งวัดป่าพระธาตุเขาน้อยนั่นเอง
◎ การจำพรรษา
พรรษาที่ ๑ วัดบางอุดม อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช
พรรษาที่ ๒ วัดบางอุดม
พรรษาที่ ๓ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช
พรรษาที่ ๔ วัดอุทัยโพธาราม อำเภอเมือง จังหวัดเพชรบุรี
พรรษาที่ ๕ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร
พรรษาที่ ๖ วัดเขมาภิรตารามราชวรวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี
พรรษาที่ ๗ วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมารามราชวิหาร กรุงเทพฯ
พรรษาที่ ๘ วัดสารนารถธรรมาราม อำเภอแกลง จังหวัดระยอง
พรรษาที่ ๙ วัดสารนารถธรรมาราม
พรรษาที่ ๑๐ วัดเขมาภิรตารามราชวรวิหาร
พรรษาที่ ๑๑ วัดราชประดิษฐ์สถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร
พรรษาที่ ๑๒ ถึง ๔๘ วัดบุปผารามวรวิหาร กรุงเทพฯ
พรรษาที่ ๔๙ ถึง ๕๔ วัดป่าพระธาตุเขาน้อย อำเภอบ้านคอ จังหวัดราชบุรี
พรรษาที่ ๕๕ ถึง ๕๖ วัดบุปผารามวรวิหาร
พรรษาที่ ๕๗ ถึง ๗๐ วัดป่าพระธาตุเขาน้อย
(ปี ๒๕๖๓ นี้ จะเป็นพรรษาที่ ๗๑ ขององค์ท่าน)
ปัจจุบัน หลวงปู่เจริญ ราหุโล เจริญอายุวัฒนมงคลครบ ๙๑ ปี พรรษา ๗๐ (พ.ศ.๒๕๖๓)
คัดลอกมาจากหนังสือ “ประวัติและปฏิปทา คำสอนของพระภัทรศีลสังวร (หลวงปู่เจริญ ราหุโล) อนุสรณ์เนื่องในวาระครบรอบอายุวัฒนะมงคล ๘๐ ปี” ; จัดพิมพ์โดย วัดป่ามณีกาญจน์ จ.นนทบุรี ; พิมพ์ปี ๒๕๕๒
ที่มา : ขอขอบคุณข้อมูลจากเพจ ท่องถิ่นธรรม พระกัมมัฏฐาน กราบขออนุโมทนาบุญมา ณ โอกาสนี้ครับ สาธุ
◎ โอวาทธรรม หลวงปู่เจริญ ราหุโล วัดป่าพระธาตุเขาน้อย อ.บ้านคา จ.ราชบุรี
“..ยึดถือความไม่เที่ยงจะได้อะไร
เหมือนดักลมด้วยตาข่าย
จะได้อะไรติดขึ้นมา..”
“..ยึดถือความไม่เที่ยงจะได้อะไร เหมือนดักลมด้วยตาข่าย จะได้อะไรติดขึ้นมา..”