ประวัติและปฏิปทา
พระราชมุนี (โฮม โสภโณ)
วัดปทุมวนาราม
เขตปทุมวัน กรุงเทพมหานคร
◎ ชาติภูมิ
ท่านเจ้าคุณพระราชมุนี หรือ หลวงปู่โฮม โสภโณ นามเดิมชื่อโฮม โพธิ์ศรีทอง ท่านเกิดเมื่อวันพุธ ที่ ๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๔๘ ที่บ้านโนนทรายน้อย ตำบลบึงแก อำเภอฟ้าหยาด จังหวัดอุบลราชธานี หรือ บ้านราชมุนี ตำบลโนนทราย อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร ในปัจจุบัน บิดาชื่อ นายมุล มารดาชื่อ นางสีกา โพธิ์ศรีทอง ท่านเป็นบุตรคนที่ ๓ ในจำนวนพี่น้อง ๕ คน ดังนี้
๑. นายบัวลา โพธิ์ศรีทอง
๒. นางคำ โพธิ์ศรีทอง
๓. พระราชมุนี (โฮม) โพธิ์ศรีทอง
๔. นางน้อย โพธิ์ศรีทอง
๕. น.ส. จันทรา โพธิ์ศรีทอง
◎ การบรรพชาอุปสมบท
ในวัยเด็กท่านได้รับการอุปการะจากคุณยายอ้วน โพธิศรีทอง ซึ่งท่านก็ให้ความนับถือเสมือนมารดา ต่อมาได้ติดตามบิดาไปยังตัวจังหวัดอุบลราชธานี อยู่ในการอุปถัมภ์ของขุนประคุณคดี ( ทองคำ ภาคบุตร ) อัยการจังหวัด กระทั่งพออายุ ๑๖ ปี เมื่อวันที่ ๔ เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๖๔ กลับมาบรรพชาเป็นสามเณรที่วัดโชติการาม ตำบลโนนทราย อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร โดยมีพระอธิการคูณ วัดสระปทุมวนาราม ตำบลบึงแก อำเภอมหาชนะชัย จังหวัดยโสธร เป็นพระอุปัชฌาย์
ในปี พ.ศ.๒๔๖๗ ได้ย้ายไปเรียนธรรมวินัยที่ วัดหอก่องศรีทองมณีวรรณ (วัดหอก่อง) และสามารถสอบนักธรรมชั้นตรีได้สำเร็จ เพราะเป็นผู้มีความวิริยอุตสาหะ มานะอดทน และตั้งใจศึกษาเล่าเรียน เป็นผู้ว่านอนสอนง่าย มีศีลาจารวัตรดี อัธยาศัยโอบอ้อมอารีต่อเพื่อนพรหมจรรย์ ฉลาดและเรียนเก่ง จึงเป็นที่รักของครูอาจารย์ เจ้าอาวาสวัดหอก่องจึงนำท่านเข้ามาฝากกับ ท่านเจ้าคุณพระปัญญาพิศาลเถระ (หนู) เจ้าอาวาสวัดปทุมวนาราม เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรมต่อใน กรุงเทพมหานคร เมื่อวันศุกร์ที่ ๑๗ ก.พ. ปี พ.ศ.๒๔๖๘ ปีนั้นเองที่ท่านได้พบกับหลวงปู่มั่นเป็นครั้งแรก
ลุถึงเมื่อวันที่ ๑๑ เดือนกรกฎาคม พ.ศ.๒๔๖๘ เมื่ออายุครบ ๒๐ ปี ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดปทุมวนารามราชวรวิหาร โดยมี พระปัญญาพิศาลเถร ( หนู ฐิตปุญฺโญ) วัดปทุมวนารามราชวรวิหาร เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูเชฏฐคุณาจาร (บุญมี อินฺทเชฏฺฐโก) เป็นพระกรรมวาจารย์ พระปลัดบัว ฐิตวณฺโณ เป็นอนุสาวนาจารย์ได้ฉายานามทางมคธภาษาว่า “ โสภโณ ” แปลว่า ” ผู้งามด้วยเนื้อนาบุญ “ โดยมี คุณบุญรอด มังคละพฤกษ์ มารดาของอาจารย์เกริก มังคละพฤกษ์ เจ้าของและผู้จัดการมาวิทยาลัยเกริก เป็นเจ้าภาพอุปสมบทและเป็นผู้อุปถัมภ์ตลอดมา
หลังจากนั้นพระราชมุนีโฮมก็บุกป่าฝ่าดงครั้งแล้วครั้งเล่าไปขอรับการชี้แนะจากหลวงปู่มั่น ฉะนั้นหากจะนับศิษย์หลวงปู่มั่นก็จึงมิอาจข้ามนามพระราชมุนีรูปนี้ไปได้เลย
ในปีแรกที่ท่านมาอยู่ ณ วัดปทุมวนาราม ก็สอบได้นักธรรมโท ถัดไปอีก ๒ ปี คือ พ.ศ. ๒๔๗๐ สอบได้นักธรรมเอก พ.ศ.๒๔๗๒ สอบได้เปรียญธรรมประโยค ๓ พ.ศ.๒๔๗๗ สอบได้เปรียญ ๔ พ.ศ.๒๔๗๙ สอบได้เปรียญ ๕ พ.ศ.๒๔๘๑ สอบได้เปรียญ ๖ แม้จะเดินสายปริยัติอย่างต่อเนื่อง แต่ขณะเดียวกันก็เดินสายปฏิบัติอย่างมิลดละ
หลังจากได้พบพระอาจารย์มั่นคราวนั้น พระราชมุนีโฮมจะเดินทางไปกราบคารวะพระอาจารย์มั่นเพื่อรับการอบรมเรื่อยมา จนพระอาจารย์มั่นละขันธ์ เมื่อเดือน พ.ย. ปี พ.ศ.๒๔๙๒
พระมหาถาวร จิตถาวโร หนึ่งในศิษย์ของพระราชมุนีโฮมเองก็เล่าถึงประสบการณ์ครั้งอยู่ร่วมกับพระอาจารย์ว่า แม้ท่านจะเป็นพระในเมืองกรุง แต่พระราชมุนีโฮมก็เป็นนักปฏิบัติ
พระราชมุนีโฮมมิได้เดินปริยัติและปฏิบัติแต่เฉพาะในวัยหนุ่มเท่านั้น พระมหาถาวรเล่าภาพที่ปรากฏต่อมาเมื่อยามที่ท่านเจริญวัย เจริญธรรม จนเป็นพระผู้ใหญ่แล้วว่า ปกติท่านจะเลิกจำวัดในเวลา ๐๔.๐๐ น. หลังเสร็จกิจส่วนตัวแล้วจะเริ่มสวดมนต์ไปกระทั่ง ๖ โมงเช้า ไม่เพียงแต่ทำวัตรเช้า ช่วงทำวัตรเย็นท่านก็จะสวดมนต์ยาวมากด้วยเสียงดังฟังชัด
ท่านว่า ที่ต้องสวดมนต์เช่นนี้ก็เพื่อให้ผู้ยังต้องการภพชาติที่เกิดอยู่ได้รับกระแสธรรมที่แผ่ไปอย่างไพศาล จะได้เป็นสุขๆ ตามที่พวกเขาปรารถนา
พอตกค่ำราว ๒ ทุ่ม พระราชมุนีโฮมมักจะชวนศิษย์ผู้สนใจปฏิบัติราว ๓-๔ รูป ออกเดินจากวัดปทุมวนารามไปเจริญสมาธิในป่าช้าวัดดอน ซึ่งยุคนั้นเงียบสงัดนัก เมื่อไปถึงป่าช้าวัดดอนท่านจะให้แยกย้ายกันออกไปภาวนาคนละมุม โดยท่านเจ้าคุณพระราชมุนีโฮมเองนั้น นอกจากจะเจริญกรรมฐานแล้วยังคอยควบคุมตรวจสอบวาระจิตของศิษย์ไปด้วย บางครั้งบางคราวก็ไปนั่งกันถึงป่าช้า จ.ชลบุรี ก็มี
พระมหาถาวรเล่าว่า เจ้าคุณอาจารย์เดินจงกรมได้นานมาก เรียกว่าเดินทั้งคืนเพราะเริ่มตั้งแต่หัวค่ำยันรุ่ง ยากที่จะหาศิษย์หนุ่มๆ สมัยนั้นจะมีความมานะอดทนดังท่านได้เลย
พระราชมุนีโฮมนั้น เป็นที่รู้จักคุ้นเคยกับหมู่คณะร่วมศิษย์พระอาจารย์มั่นอยู่หลายรูป หลากท่านเหล่านั้นมีกิจเข้ามาใน กทม. หากไม่พำนักที่วัดบรมนิวาสก็จะมาพักที่วัดปทุมวนาราม เช่น พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร เป็นต้น
ว่ากันว่า ท่านเจ้าคุณฯ เป็นช้างเผือกในเมือง ปกติท่านเป็นคนพูดน้อย ปฏิบัติมาก หากจะสั่งสอนศิษย์พออบรมกรรมฐานเสร็จก็สั่งให้ไปปฏิบัติเลย ท่านเป็นคนปราดเปรียว เดินเร็ว ทำอะไรว่องไว รักษาเวลา รักษาสัจจะ ไม่เคยกล่าวร้ายใคร กล่าวแต่ปิยวาจา อ่อนน้อมถ่อมตน และเป็นผู้ใคร่อยู่ในการบำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐานเป็นนิจ และเป็นผู้มีกตัญญูกตเวทิตาธรรมยิ่งนัก
ในประการหลังนี้ นอกจากจะปฏิบัติตามคำสอนของพระอาจารย์มั่นแล้ว เมื่อพระอาจารย์มั่นมีชีวิตอยู่ท่านก็จะดั้นด้นไปสักการะทุกปีไม่มีขาด แม้สิ้นไปแล้วท่านก็ยังเดินทางไปสกลนครเพื่อสักการะอัฐิพระอาจารย์มั่นที่วัดป่าสุทธาวาส จ.สกลนคร ทุกปีไม่มีขาดเหมือนเดิม เหล่าบรรดาผู้มีอุปการคุณเคยเลี้ยงดูมาแต่หนหลังท่านก็ดูแลเช่นกัน
พระมหาถาวรเล่าเรื่องแปลกๆ ของพระอาจารย์ท่านว่ามีหลายเรื่องนัก เช่น มีอยู่วันที่ลงทำวัตรด้วยกันแต่เช้า ระหว่างเดินคุยกันไปเบาๆ โดยท่านพระราชมุนีโฮมเดินนำหน้านั้น จู่ๆ ท่านกลับมองไม่เห็นตัวของเจ้าคุณอาจารย์เฉยๆ เสียอย่างนั้น จนต้องร้องถามว่า “หลวงพ่อหายไปไหนครับ” แล้ว ท่านเจ้าคุณก็ปรากฏกลายกลับมาเดินอยู่ในกิริยาเดิมโดยไม่ได้พูดอะไร
บางหนระหว่างเดินๆ กันไปก็เห็นรูปกายของท่านค่อยๆ เปลี่ยนเป็นหลวงจีนบ้างก็มี พอถามว่า “เอ๊ะ หลวงพ่อทำไมกลายเป็นหลวงจีน” ท่านก็หันมายิ้มให้เฉยๆ ไม่ว่ากระไร ที่เห็นพร้อมกันหลายๆ รูปก็คือ หนหนึ่งมีกิจธุระพากันเดินทางไปภาคเหนือแล้วรถเสียอยู่กลางถนนแห่งหนึ่งที่ จ.พิษณุโลก ล้อรถตกหล่มจนเกือบมิดดุมล้อ เข็นกันจนสิ้นแรงและทำสารพัดหนทางอย่างไรก็ไม่ขึ้น จู่ๆ ท่านเจ้าคุณพระอาจารย์ก็เปรยว่า “ถ้าจะต้องนิมนต์หลวงพ่อยีมาช่วยเข็นรถเสียแล้ว”
พระทุกรูปได้ยินดังนี้ก็ได้แต่มองตากันเพราะต่างก็ทราบว่า หลวงพ่อยี บ้านดงตาก้อนทอง ต.ไผ่ล้อม อ.บางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก ซึ่งเคยต้องอธิกรณ์แต่พระราชมุนีโฮมได้มาแก้ไขเหตุการณ์ให้จนสงบเรียบร้อยนั้นมรณภาพไปแล้ว พอเอ่ยปากถามว่า หลวงพ่อยีมรณภาพแล้ว หลวงพ่อจะนิมนต์มาช่วยพวกเราได้อย่างไร? เจ้าคุณพระอาจารย์ไม่ตอบ แต่ชี้มือไปข้างหน้าแล้วกล่าวขึ้นว่า “ดูเอาเองซี”
พระมหาถาวร เล่าว่า ท่ามกลางแสงจันทร์นวลผ่องวันนั้นทุกคนเห็นพระภิกษุชรารูปร่างผ่ายผอม อายุราว 70 ปี ศีรษะค่อนข้างใหญ่ห่มจีวรสีคล้ำเดินมาตามถนนช้าๆ พอมาถึงตัวรถท่านก็โบกมือเหมือนบอกให้คนขับสตาร์ตเครื่อง พอใส่เกียร์รถก็ทะยานขึ้นจากหล่มทันที
“ท่านมหาต้องปฏิบัติเองถึงจะรู้เห็นเอง” ท่านว่า
◎ การศึกษา
จบชั้นประถมศึกษา ที่โรงเรียนวัดศรีทอง จังหวัดอุบลราชธานี
สอบได้เปรียญธรรม ๖ ประโยค พ.ศ.๒๔๘๑
◎ สมณศักดิ์
๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๙๗ เป็น พระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ พระโศภนปัญญาจารย์
๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๐๘ เป็น พระราชาคณะชั้นราช ที่ พระราชมุนี ตรีปิฏกาลังการ ไวยัติญาณ ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี
◎ ตำแหน่งและหน้าที่การงาน
พ.ศ. ั๒๔๗๙ ไดัรับแต่งตั้งเป็นกรรมการตรวจธรรมสนามหลวง
พ.ศ. ั๒๔๘๑ เป็นครูสอนปริยัติธรรม ถึง พ.ศ.๒๕๑๘
พ.ศ. ั๒๔๘๑ เป็นครูสอนแผนกภาษาบาลี
วันที่ ๖ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๐๙ ได้รับแต่งตั้งใหเ้ป็นพระอุปัชฌายะ
พ.ศ.๒๕๑๑ ไดร้ับแต่งตั้งเป็นรองเจ้าอาวาส วัดปทุมวนาราม
วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๑๙ เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาส วัดปทุมวนาราม
◎ การอาพาธและมรณภาพ
ท่านเริ่มมีอาการเจ็บป่วยตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ.๒๕๑๙ จนถึงวันที่ ๔ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๑๙ อาการไม่ดีขึ้น จึงนำส่งโรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า วันที่ ๕ กันยายน พ.ศ.๒๕๑๙ ไดนำตัวหลวงพ่อไปรักษาที่โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน อาการป่วยของท่านทรุดหนักลงตามลำดับ พอถึงวันที่ ๑๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๙ ท่านก็ลืมตาขึ้นแล้วบอกกับแพทย์ที่รุมล้อมอยู่ว่า “พรุ่งนี้อาตมาก็สบายแล้ว” รุ่งขึ้นวันที่ ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๑๙ เวลา ๐๙.๒๔ น. ท่านก็ได้ถึงแก่มรณภาพด้วยอาการสงบด้วยโรคมะเร็งในตับ ที่โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน รวมอายุได้ ๗๐ ปี ๙ เดือน ๕ วัน พรรษา ๕๑
ที่มา :ขอขอบคุณข้อมูลจากเว็บ https://www.posttoday.com