วันเสาร์, 26 ตุลาคม 2567

หลวงปู่สาย จารุวัณโณ วัดป่าหนองยาว อ.เดชอุดม จ.อุบลราชธานี

ประวัติและปฏิปทา
พระครูภาวนานุศาสน์ (หลวงปู่สาย จารุวณฺโณ)

วัดป่าหนองยาว
อ.เดชอุดม จ.อุบลราชธานี

พระครูภาวนานุศาสน์(สาย จารุวณฺโณ) วัดป่าหนองยาว อ.เดชอุดม จ.อุบลราชธานี

พระครูภาวนานุศาสน์ หรือ หลวงปู่สาย จารุวณฺโณ มีนามเดิมว่า สาย ถิ่นขาม เกิดเมื่อวันพฤหัสบดี เดือนอ้าย แรม ๘ ค่ำ ปีมะเมีย ตรงกับวันที่ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ บ้านขามใหญ่ ตําบลขามใหญ่ อําเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี

บิดาชื่อ ทา มารดาชื่อ สุข มีพี่น้อง ๑๐ คน ท่านเป็นคนที่ ๓

บรรพชาเป็นสามเณร ปี พ.ศ. ๒๔๗๔ ขณะอายุ ๑๔ ปี ณ วัดแจ้ง อ.เมือง จังหวัดนครพนม

พระครูภาวนานุศาสน์ (หลวงปู่สาย จารุวัณโณ) วัดป่าหนองยาว อ.เดชอุดม จ.อุบลราชธานี

อุปสมบท ขณะอายุ ๒๐ ปี เมื่อวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๘๑ ณ วัดศรีคุณเมือง บ้านนาจาน ตำบลระเว อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี พระพรหมมา จารุวัณโณ เป็นพระอุปัชฌาย์

เมื่อครั้งที่หลวงปู่สายบวชใหม่ ท่านจําพรรษาอยู่ที่วัดสารพัดนึก อําเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี ศึกษาปริยัติ ธรรมจนสอบได้นักธรรมตรี-โท และได้ขึ้นเป็นเจ้าอาวาส ขณะที่ท่านเรียนปริยัติอยู่ก็เกิดคําถามขึ้นในใจว่า…

“เราเรียนหนังสือมา ๓-๔ ปี แล้วยังไม่ได้ดวงตาเห็นธรรม และยังไม่รู้เลยว่าพระไตรสรณคมน์ที่แท้จริงนั้นคืออย่างไร เรานี้กลัวจะเรียนหนังสือเสียเปล่า”

พ.ศ.๒๔๘๖ ท่านจึงตัดสินใจอย่างแน่วแน่ หยุดเรียนหนังสือ ลาออกจากการเป็นเจ้าอาวาส ตั้งใจไปแสวงหาครูบาอาจารย์ ผู้รู้เรื่องวิชาวิปัสสนากัมมัฏฐาน อยู่ตามป่าตามเขา ท่านได้เดินทางไปนครจําปาสัก (ขณะนั้นนครจําปาศักดิ์ เป็นจังหวัดหนึ่งของไทย) หลวงปู่สายได้มาฝากตัวเป็นศิษย์หลวงปู่บุญมาก ฐิตปุญฺโญ , หลวงปู่กิ ธัมมุตตโม และ หลวงปู่ทองรัตน์ กันตสีโล ท่านได้จําพรรษาและ สอนปริยัติอยู่ที่วัดป่าสาลวัน ตําบลหนองผำ นครจําปาสัก ได้ออกธุดงค์ไปกับหลวงปู่กิ โดยถือรุกขมูล (อยู่โคนต้นไม้) ตามป่าช้า บ่าเปลี่ยว เชิงเขาที่ห่างไกลจากผู้คน เป็นที่อยู่ของสัตว์ป่าเช่น ช้าง เสือ เป็นวัตร

ในช่วงแรกที่ท่านเริ่มธุดงค์ในป่าช้า เกิดความฟุ้งและความกลัวอย่างแรงกล้า แต่ท่านไม่ละความเพียร นั่งภาวนาต่อเนื่อง ๖-๗ ชั่วโมง จนจิตเริ่มคลายความกลัวลง ได้เกิดความสงบ แช่มชื่นเบิกบาน ปรากฎเห็นสัตว์โลกทั้งหลาย เหมือนเป็นพ่อแม่เดียวกัน เห็นนรก สวรรค์อยู่ที่จิตใจอย่างชัดเจน เป็นครั้งแรกที่ท่านได้ประสบกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับใจ จนท่านตั้งใจว่า

“ต่อไปนี้จะถวายชีวิตไว้ในพุทธศาสนา เกิดชาติใหม่ก็จะขอบวชในพุทธศาสนาเป็นพระธุดงค์กรรมฐานตลอดไป”

หลวงปู่สายได้บําเพ็ญเพียร ด้วยจิตใจที่กล้าหาญ เด็ดเดี่ยว มีครั้งหนึ่งที่ท่านได้ธุดงค์ไปตามป่าทึบ เกิดตื่นขึ้นมากลางดึกพบว่ามีเสือยืนอยู่นอกกรดที่ปลายเท้า เมื่อท่านขยับแขนมันจึงวิ่งหนีไป รุ่งเช้าถามชาวบ้านจึงทราบว่า บริเวณนั้นเป็นทางสัญจรของเสือ มันมักจะเอาเหยื่อมากินตรงนี้เป็นประจํา เหตุการณ์ดังกล่าวไม่ได้ทําให้ท่านย่อท้อหรือเกรงกลัว ยังคงปักกรดภาวนาอยู่ที่เดิมต่อไป ท่านเคยกล่าวไว้ว่า

“ด้วยจิตใจที่กล้าหาญ สละเลือดเนื้อยอมเป็นข้าพระรัตนตรัย ปฏิบัติ ตามพระวินัย ศัตรูจะกลับเป็นมิตร คําว่าแพ้จะไม่มีเลย เรามีธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า ถ้าสิ่งร้ายจะมาทําลายเรา เรายอม ตายทุกขณะลมหายใจเข้าออก”

หลวงปู่สายเคยไปอยู่ศึกษาปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่ทองรัตน์ กนฺตสีโล
และช่วงเข้าพรรษาหลวงปู่ชามักจะให้พระเณร วัดหนองป่าพง เดินทางไปทำวัตร
หลวงปู่สายที่วัดป่าหนองยาว อ.เดชอุดม จ.อุบลราชธานี

หลวงปู่สาย ปฏิบัติสมถวิปัสนากรรมฐานมาตลอดชีวิตสมณเพศ มีพุทธบริษัทและลูกศิษย์เลื่อมใสศรัทธามากมาย ก่อตั้งสํานักปฏิบัตินับได้ ๑๒ สํานัก

พระครูภาวนานุศาสน์ (หลวงปู่สาย จารุวณฺโณ) ท่านมรณภาพวันที่ ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๕ สิริอายุ ๖๔ ปี พรรษา ๔๔ พิธีบําเพ็ญกุศลจัดขึ้นที่วัดป่าบ้านหนองยาว อําเภอเดชอุดม จังหวัดอุบลราชธานี

โอวาทธรรม หลวงปู่สาย จารุวณฺโณ วัดป่าหนองยาว
“..ร่างกายสังขารของคนเราไม่นานก็จะกลายเป็นขี้เถ้า เป็นดินไปในที่สุด ก่อนที่มันจะเป็นเช่นนั้น ควรจะใช้มันให้เป็นประโยชน์ มากที่สุด..”