วันพฤหัสบดี, 24 ตุลาคม 2567

หลวงปู่โชติ ธมฺมธโร วัดพระแท่นบ้านแดง อ.พิบูลย์รักษ์ จ.อุดรธานี

ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่โชติ ธมฺมธโร

วัดพระแท่นบ้านแดง
อ.พิบูลย์รักษ์ จ.อุดรธานี

หลวงปู่โชติ ธมฺมธโร วัดพระแท่นบ้านแดง

หลวงปู่โชติ เดิมชื่อ โชติ ภูเฮืองแก้ว เกิดเมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๓๕

บิดาชื่อ นายนู ภูเฮืองแก้ว และมารดาชื่อ นางสา ภูเฮืองแก้ว เกิดที่บ้านเลิงแฝก อําเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม มีพี่น้องร่วมบิดาเดียวกัน ๕ คน เป็นบุตรคนแรก นอกนั้นได้ถึงแก่กรรมหมดแล้ว

พระครูวิบูลคุณาทร (หลวงปู่โชติ ธมฺมธโร)

การบรรชาอุปสมบท

เมื่ออายุได้ ๑๔ ปี ก็ได้บวชบรรพชาเป็นสามเณร เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๔ ที่วัดบ้านหนองสิมใหญ่ อําเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม เมื่อได้บรรพชาแล้วก็ได้ศึกษาพระธรรมวินัยในสํานักวัดเลิงแฝกจนได้อายุ ๒๐ปีบริบูรณ์ จึงได้อุปสมบทที่วัดหนองสิมใหญ่ จังหวัดมหาสารคาม โดยพระอุปัชฌาป้อง พระกรรมวาจาจารย์ชื่อ พระมหาบุตร อนุสาวนาจารย์ชื่อ พระอธิการเกตุ เมื่ออุปัชฌาแล้วได้ศึกษาพระธรรมวินัยต่อที่วัดเลิงแฝก อยู่อีก ๓ พรรษา เมื่อปี พ.ศ.๒๔๖๒ ได้ย้ายขึ้นมาอยู่กับหลวงปู่พิบูลย์ที่บ้านแดง (วัดพระแท่น) ตําบลบ้านแดง อําเภอพิบูลย์รักษ์ จังหวัดอุดรธานี

พระครูวิบูลคุณาทร (หลวงปู่โชติ ธมฺมธโร) วัดพระแท่นบ้านแดง

หลวงปู่โชติ ได้ยินข่าวถึงชื่อเสียงของหลวงปู่พิบูลย์ จึงตั้งใจมากราบไหว้ถวายตนเป็นศิษย์และได้เดินทางมากับเณรอีก ๑ รูป ใช้เวลาในการเดินทาง ๑๕วัน ก็เข้ามาถึงบ้านแดง เมื่อเวลาประมาณสามโมงเย็น (๑๕:๐๐ น.) หลวงปู่พิบูลย์ พร้อมด้วยพระเณรที่กําลังเลื่อยไม้อยู่ที่ลานเลื่อยไม้ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของวัดในปัจจุบัน หลวงปู่จึงเอ่ยกับพระเณรว่า “อาจารย์ของพวกเจ้ามาถึงแล้ว” พอหลวงปู่โชติมาถึงก็เข้าไปกราบนมัสการหลวงปู่พิบูลย์ หลวงปู่จึงได้ถามถึงที่มาที่ไปของหลวงปู่โชติ เมื่อทราบแล้วก็บอกให้ไปพักที่กุฏิ พอค่ําทุกคนเลิกงานแล้ว หลวงปู่โชติ จึงนําเครื่องบูชาเข้าไปมอบกายถวายตัวเป็นลูกศิษย์กับหลวงปู่พิบูลย์ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา หลวงปู่โชติจึงเป็นบุคคลที่ใกล้ชิดกับหลวงปู่พิบูลย์มากที่สุด และไม่ว่างานน้อยใหญ่ต่างๆ หลวงปู่พิบูลย์ก็ได้มอบให้หลวงปู่โชติเป็นตัวแทนในการนําชาวบ้านพัฒนา เช่น ตัดถนนหนทาง และการพัฒนาวัดในทุกๆด้าน จึงเป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจของหลวงปู่พิบูลย์ เป็นอย่างมาก

หลังจากที่ หลวงปู่พิบูลย์ ได้ถูกนําไปกักบริเวณยังวัดโพธิสมภรณ์ หลวงปู่โชติก็ได้ดูแลวัดพระแท่น และชาวบ้านแทนหลวงปู่พิบูลย์ เมื่อมีเวลา หลวงปู่โชติท่านก็จะเดินทางไปกราบหลวงปู่พิบูลย์ ที่วัดโพธิสมภรณ์อยู่เสมอ ตราบจนถึงวันที่หลวงปู่พิบูลย์ได้มรณะภาพ ท่านก็อยู่ส่งหลวงปู่พิบูลย์ จนวินาทีสุดท้าย หลังจากที่ท่านได้นําสรีระหลวงปู่พิบูลย์กลับมายังวัดพระแท่น แล้ว ท่านก็ได้มีความตั้งใจสร้างเหรียญหลวงปู่พิบูลย์ เป็นพิมพ์ห้าเหลี่ยม เมื่อ ปี พ.ศ.๒๕๐๔ นับแต่วันนั้นมา วัตถุมงคลหลวงปู่พิบูลย์ที่หลวงปู่โชติสร้างหรือท่าน ปลุกเสกอธิฐานจิต ล้วนแต่เป็นที่ต้องการของคณะศิษย์ทั้งหลายตราบจนทุกวันนี้

พระครูวิบูลคุณาทร (หลวงปู่โชติ ธมฺมธโร) วัดพระแท่น บ้านแดง อำเภอพิบูลย์รักษ์ ภาพนี้ถ่ายเมื่อท่านอายุได้ ๓๐ ปีเศษ ณ ห้องภาพแห่งหนึ่งในอำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม เป็นภาพติดหนังสือสุทธิของท่าน กล่าวถึงสมณศักดิ์ของหลวงปู่นั้น ตามประกาศราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๒๙ ให้พระอธิการโชติ วัดป่านฤนาทพระพุทธบาท จังหวัดอุดรธานี เป็นพระครูวิบูลคุณาทร ท่านได้รับสมณศักดิ์ในขณะเป็นเจ้าอาวาสอยู่ในการปกครองคณะสงฆ์อำเภอเพ็ญ ผู้เขียนได้เคยสอบถามท่านเจ้าคุณพระราชรัตนาลงกรณ์ วัดหลวงเพ็ญ ซึ่งในขณะขอสมณศักดิ์ให้หลวงปู่นั้นท่านเป็นเจ้าคณะอำเภอเพ็ญยังมีชื่อสมณศักดิ์ที่พระครูปุณเขตบริรักษ์ท่านได้เห็นคุณงามความดีของหลวงปู่ที่มีต่อพระพุทธศาสนาจึงอยากจะขอสมณศักดิ์ให้เพื่อเป็นเกียรติแต่หลวงปู่เองได้ปฏิเสธเพราะท่านเองไม่ปราถนา ท่านจึงได้พาพระเถระชั้นผู้ใหญ่ไปช่วยอ้อนวอนหลายครั้งหลวงปู่จึงเมตตาอนุญาตในเวลาต่อมา
เรื่องที่เกี่ยวข้อง