วันอังคาร, 26 พฤศจิกายน 2567

หลวงปู่หล้า ขันติธโร วัดป่าขันติยานุสรณ์ บ้านนาเก็น อ.น้ำโสม จ.อุดรธานี

ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่หล้า ขันติธโร

วัดป่าขันติยานุสรณ์
บ้านนาเก็น อ.น้ำโสม จ.อุดรธานี

หลวงปู่หล้า ขันติธโร
วัดป่าขันติยานุสรณ์ บ้านนาเก็น อ.น้ำโสม จ.อุดรธานี

หลวงปู่หล้า ขันติธโร ท่านเป็นศิษย์ของหลวงปู่เสาร์ กันตสีโล ได้ธุดงค์มาปฏิบัติธรรมตามคำสั่งสอนขององค์พระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าจนบรรลุหนทางหลุดพ้นในถ้ำที่อยู่ภายในอนาเขตนี้ แต่เนื่องจากท่านเป็นผู้เคร่งครัดต่อวัตรปฎิบัติมากประกอบกับพื้นฐานท่านเป็นผู้ใจร้อน ครูบาอาจารย์ท่านจึงขอหลวงปู่หล้าไว้ว่าอย่าได้สร้างวัดเอง ดังนั้นเมื่อหลวงปู่หล้าท่านได้บรรลุธรรม ณ สถานที่แห่งนี้แล้วจึงธุดงค์ไปจำวัด ณ.ที่อื่นจนมรณะภาพ ที่วัดป่าบ้านนาเก็น อ.น้ำโสม จ.อุดรธานี

หลวงตาหล้า เป็นบุคคลที่น่าสนใจคนหนึ่งท่านเกิดเมื่อเดือน ๑๐ ปีมะโรง พ.ศ.๒๔๓๔ ที่ประเทศลาวฝั่งโขงทางโน้น อพยพมาตั้งรกรากทำมาหากินอยู่ที่บ้านห้วยหัด (บ้านพระบาท) นี้หลายปี จนมีครอบครัวได้ลูกชายหนึ่งคน แล้วภรรยาท่านเลยตายหนีจากไป ท่านมีศรัทธาออกบวชปฏิบัติกรรมฐานอย่างเคร่งครัดนับว่าเป็นพระองค์แรก ในบ้านห้วยหัดที่ออกบวชแล้วตั้งใจปฏิบัติกรรมฐาน

ท่านออกบวชเมื่ออายุได้ ๓๔ ปี ที่วัดโพธิสมภรณ์ จังหวัดอุดรธานี โดยมีเจ้าคุณพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์เป็นที่พระราชเวที เจ้าคณะจังหวัดอุดรธานี (ธ.) เป็นพระอุปัชฌาย์ ให้ฉายาว่า “ขันติธโร” ท่านมรณภาพที่วัดป่าบ้านนาเก็น ตำบลหนองแวง อำเภอน้ำโสม จังหวัดอุดรธานี ในคืนวันที่ ๒๒ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๐ เวลาประมาณบ่าย ๓ รวมอายุของท่านแต่เกิดมาได้ ๗๖ ปี พรรษา ๔๒

เดิมท่านบวชเป็นชีประขาวอยู่กับพระอาจารย์คำ หัดภาวนาพุทโธ ๆ ๆ จนจิตรวมเข้าเป็นสมาธิแล้วเกิดนิมิตเห็นตัวหนังสือตัวโตเบ้อเร่อและบอกชัดว่าเป็นตัวอะไร ชื่ออะไร เมื่อออกจากภาวนาแล้วก็ยังจำได้อยู่ ท่านจึงหัดเขียนและอ่านจนได้ชัดเจน ต่อมาท่านก็หัดเขียนตัวหนังสือ สระ และพยัญชนะ จนได้ แล้วเอาหนังสือที่เขาพิมพ์เป็นตำรามาอ่าน ทีแรกก็อ่านได้แต่หนังสือที่เป็นธรรม ต่อมาท่านก็อ่านได้หมดทั้งที่เป็นธรรมและมิใช่ธรรม ต่อมาท่านสั่งซื้อหนังสือ ปุพพสิกขาวรรณา, มหาขันธกะวินัย และวิสุทธิมัคค์ มาอ่านได้สบาย ท่านเป็นคนขยันอยู่แล้ว เมื่ออ่านหนังสือได้แล้วท่านก็อ่านแต่หนังสือเป็นกิจวัตรของท่าน

หลวงตาหล้า เป็นพระชอบสงัดสันโดษ วิเวกอยู่แต่เฉพาะองค์เดียว โดยส่วนมาก วัดหินหมากเป้งนี้ ก็ท่านองค์นี้แหละมาริเริ่มตั้งเป็นองค์แรก จนกระทั่งเป็นวัดพัฒนาตัวอย่างของจังหวัดหนองคาย เมื่อท่านมาตั้งที่นี้ครั้งแรก มีเถระองค์หนึ่งเป็นคนบ้านสามผง อำเภอศรีสงคราม จังหวัดนครพนม มาอยู่ด้วยเถระองค์นั้นเธอมีทิฐิมานะมาก วันหนึ่งเธอโต้วาทะกับหลวงตาไม่ลงรอยกัน คืนวันนั้นดึงสงัดมีเสียอะไรไม่ทราบ ดังโครมครามๆ ขึ้นมาจากแม่น้ำโขงเหมือนเสียงควาย ขึ้นมาชนเสากระต๊อบที่เธออยู่กระเทือนทั้งหลัง เธอกลัวจนตัวสั่นเลยจับไข้ อยู่ไม่ได้กลัวตาย รุ่งเช้าขึ้นมาเมื่อฉันจังหันแล้วเปิดหนีเลย

หลวงตาหล้าท่านไม่ค่อยอยู่เป็นที่ ออกพรรษาแล้วท่านก็เที่ยวไปในที่ต่างๆ โดยส่วนมากเที่ยวอยู่ตามแถบเทือกเขาภูพาน ผาดัก ผาตั้ง(บ้านผาตั้ง อ.สังคม) ถ้ำพระบด(บ้านดอนขนุน อ.โพธิ์ตาก) ถ้ำพระนาหลวง(บ้านนาหลวง อ.บ้านผือ) ถ้ำพระนาผักหอก(บ้านกลางใหญ่ อ.บ้านผือ) และหนองแวง บ้านน้ำซึม อำเภอน้ำโสม

ชาวบ้านที่ถือผียอมเคารพนับถือท่านมาก ที่ไหนผีดุ ๆ มานิมนต์เอาหลวงตาหล้าไปทำพิธีแล้วผีสงบ อยู่กันอย่างสบาย ทำมาหากินคล่อง อย่างบ้านหนองแวง บ้านน้ำซึม เป็นต้น ที่นั้นเป็นหนองกว้างใหญ่ ตรงกลางหนองมีป่าชะโนดเต็มไปหมด เมื่อก่อนใครจะไปแตะต้องไม่ได้เด็ดขาด ต้องมีอันเป็นไปต่างๆ นานา เมื่อนิมนต์เอาหลวงตาหล้าไปภาวนา ณ ที่นั้นแล้วชาวบ้านไปจับจองเอาที่รอบหนองนั้นทำนาได้สบาย ได้นาครอบครองมาจนทุกวันนี้ตั้งหลายเจ้า

ผู้เขียน (หลวงปู่เทสก์) ได้ถามท่านถึงวิธีทำให้ผีสยบกลัว ท่านบอกว่า เมื่อเขานิมนต์ให้ไปก็ไปอย่างนั้นแหละ ไม่ทราบว่ามีผีหรือไม่มีก็ไม่รู้ เมื่อไปถึงก็ทำพิธีไหว้พระธรรมดา ๆ อย่างของเราที่เคยทำนี้แหละ แล้วก็แผ่เมตตาไปทั่วทุกทิศจึงนั่งสมาธิภาวนา พิจารณากายของเรานี้เป็นของอสุภะแตกดับไปตามสภาพของมัน แล้วจิตจะรวมเข้ามาเป็นสมาธิ ท่านใช้คำว่า “รวมกึ๊ก” แล้วจิตจะนิ่งเฉยอยู่พักหนึ่ง แล้วเข้าไปมองดูจิตตรงนั้นอยู่สักพักหนึ่ง แล้วจิตจะรวมเข้าไปอีกท่านใช้คำว่า “กึ๊ก” แล้วจะสว่างจ้ามองเห็นสิ่งรอบ ๆ ตัว หรือรู้อะไรต่างๆ มากมาย ตอนนั้นถ้ามีผีชื่ออะไร เป็นอย่างไรจึงมาอยู่ที่นี้ ทำไมจึงมาอาละวาดเขา ก็จะรู้ขึ้นมาทันที และจะต้องภาวนาคาถาบทไหนผีมันจึงกลัวที่สุด ก็จะรู้ขึ้นในขณะเดียวกัน โดยส่วนมากคาถาที่ท่านรู้ขึ้นมานั้นก็จะอยู่ในบทสวดมนต์เจ็ดตำนาน เช่น นักขัตตะยักขะภูตานัง ปาปัคคะหะนิวาระณา, เมตตาจิตตัง นุภาเวนะ เป็นต้น ผู้เขียนถามว่า (หลวงปู่เทสก์) แปลว่าอย่างไรรู้ไหม ท่านบอกไม่รู้ แล้วท่านก็จะนำเอาคาถานั้นไปสอนใช้ชาวบ้านเขาภาวนา

ก่อนจะสอนให้เขาภาวนา ท่านจะให้เขาปฏิญาณตนให้ถึงพระไตรสรณคมน์ก่อน คือทำพิธีไหว้พระแล้วกล่าวพระไตรสรณคมน์ คือตั้งแต่ พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ…….. ไปจนจบ แล้วต่อด้วยแผ่เมตตาตน เมตตาสัตว์ จบแล้วจึงให้สมาทานศีลห้า ต่อนั้นก็สอนให้ภาวนาคาถาที่ท่านรู้ขึ้นมาทัน เป็นอันเสร็จพิธีของท่าน

ท่านจะสอนให้เขารักษาศีลจริง ๆ เมื่อเขากลัวผีอยู่แล้วเขาก็ยิ่งตั้งใจรักษาศีลจนเต็มกำลัง แล้วบอกเขาว่าไม่ต้องกลัวผีต่อไปอีกแล้ว ที่พากันถือมาแต่ก่อนนั้นว่า ค่ำแล้วแบกไม้เข้าบ้านไม่ได้ วันศีลก็เอาไม้เข้าบ้านไม่ได้ กลางคืนก็ตำกระเดื่อง(ตำข้าว ด้วยครกกระเดื่อง หรือ ครกมอง) หรือทำการงานที่เสียงดัง ๆ ไม่ได้ ต่อนี้ไปให้พวกเธอทำได้เลย เมื่อเขาทำตามที่ท่านบอกก็ไม่เห็นมีอะไรเกิดขึ้น เขาก็ยิ่งเชื่อมั่นตามคำสอนของท่านมาก มันก็แปลกเหมือนกัน แต่ก่อนแต่ไรมา การทำสิ่งเหล่านั้นต้องมีอันเป็นไปต่าง ๆ นานา เป็นต้นว่าจะปรากฏรอยเสือเข้าบ้าน อยู่ตรงกองไฟที่ควายหรือสุนัขนอนอยู่ เฉพาะบ้านคนที่ทำเท่านั้น แต่ควายหรือสุนัขก็ไม่ตื่นและเห่าแต่อย่างไร เมื่อเขาเหล่านั้นทำตามท่านสอนแล้วสิ่งเหล่านั้นจะทำอย่างไร ๆ ก็ไม่ปรากฏ นี่เป็นสิ่งอัศจรรย์อย่างหนึ่งของพวกเขาที่ไม่เคยถือพระไตรสรณคมน์

ผู้เขียนถามท่านต่อไปอีกว่า เมื่อทำอย่างนั้นแล้วท่านทำอย่างไรต่อ ท่านบอกว่า กำหนดจิตให้ลึกเข้าไปอีก จิตก็จะรวมเข้าลึกลงไป คราวนี้ลง “กึ๊ก” เข้าไปแล้วจะนิ่งเฉยอยู่สบาย (พร้อมกับหัวเราะแหะ ๆ ท่านเป็นคนขบขัน) คราวนี้จะอยู่นานเท่าไรก็อยู่ได้บางทีอยู่นานตั้ง ๓ – ๔ ชั่วโมงก็มี

หลวงตาหล้านับว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญในการเข้าสมาธิองค์หนึ่งในบรรดาผู้เข้าสมาธิทั้งหลาย ท่านบอกว่า กำหนดจิตพิจารณากายแล้วเกิด อสุภะเห็นเป็นของเปื่อยเน่าไปหมดทั้งตัว จนกระทั่งเป็นดิน น้ำ ไฟ ลม ตามสภาพของมัน แล้วจิตจะรวมเข้าเป็นสมาธิ เป็นขั้นหนึ่ง

เมื่อกำหนดเอาแต่จิตที่ไปเห็นอสุภะนั้นอย่างเดียวแล้วจิตจะรวมเข้าไปลึกกว่าเก่า แล้วจะเกิดนิมิตและความรู้ต่าง ๆ หลายอย่าง (ตอนนี้ใช้สมาธิทำงานได้) แล้วเลิกถอนนิมิตแล้วความรู้ต่าง ๆ นั้นเสีย ถือว่าความรู้อันนี้ก็เป็นของหยาบและทำให้จิตวุ่นวาย แล้วกำหนดเอาแต่จิตผู้ไปรู้ไปเห็นอย่างเดียว แล้วก็จะเหลือแต่ ใจ ผู้รู้อย่างเดียวเท่านั้น แล้วใจก็นิ่งเฉยแต่รู้ว่านิ่งเฉย เป็นอันว่าท่านรู้จักใช้จิตเป็น ใช้มันสมควรแก่การณ์แล้วเก็บมาไว้ที่ใจ

บางท่านบางองค์ใช้จิตที่เกิดความรู้อะไรต่างๆ นั้นไม่รู้จักเก็บ เตลิดเปิดเปิงไปไม่มีที่สิ้นสุด ที่เขาเรียกว่า “โมคคัลลาน์หลงทีป” ความจริงพระโมคคัลลานะท่านไม่ได้หลงหรอก โมฆะคนหลวงต่างหาก ไปโทษเอาท่านผู้นั้นยิ่งเป็นโมฆะใหญ่ การรู้จักใช้จิตให้สมควรแก่ภาวะของตนนี้เป็นคุณลักษณะของปราชญ์ไม่มีการเสื่อมไปจากคุณธรรม มีแต่จะเจริญยิ่งๆขึ้นไป

หลวงตาหล้าท่านบวชเมื่อแก่ ท่านไม่ได้ศึกษาเล่าเรียนอะไร แม้แต่หนังสือก็อ่านไม่ได้ เพิ่งมาอ่านหนังสือได้เมื่อบวชแล้วภาวนาเกิดความรู้ขึ้นดังได้อธิบายมาแล้วในเบื้องต้นนั้น ฉะนั้น ในการประพฤติในพระธรรมวินัยที่เป็นของละเอียดอ่านท่านก็ยังมีผิดพลาดอยู่บ้าง เมื่อหมู่เพื่อนตักเตือนท่าน ท่านจึงสงสัยข้องใจ เมื่อมาถามผู้เขียน (หลวงปู่เทสก์) ผู้เขียนได้อธิบายให้ฟ้งแล้วท่านก็สิ้นสงสัย และปฏิบัติตามทุกอย่าง หลวงตาหล้ากับผู้เขียนถูกคอกันดี พูดกันรู้เรื่องกันดี

ในอวสานแห่งชีวิตของท่าน ท่านได้มรณะที่บ้านนาเก็น ตำบลหนองแวง อำเภอน้ำโสม จังหวัดอุดรธานี เมื่อวันที่ ๒๒ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๐ ก่อนจะมรณภาพท่านไปอยู่ที่ถ้ำพระนาผักหอก (วัดถ้ำพระ บ้านกลางใหญ่ อ.บ้านผือ) แล้วเป็นไข้ ลูกศิษย์ของท่านซึ่งเป็นคนบ้านกลางใหญ่ จึงนิมนต์เอาท่านไปรักษาที่บ้านกลางใหญ่ รักษาอยู่ได้ไม่กี่วันทั้งที่ไข้ก็ยังไม่หายดีท่านก็บอกว่า เอาละ ฉันจะไปตายที่บ้านนาเก็น วัดของฉัน ลูกศิษย์ก็อ้อนวอนว่าขอให้หายไข้แล้วจึงค่อยไป พวกผมจะไปส่ง ท่านก็ไม่ฟังเสียงจะไปท่าเดียว

พอไปถึงวัดป่าบ้านนาเก็น เย็นวันนั้นท่านก็เดินรอบ ๆ วัด ไปเจอะเอาต้นไม้แดงต้นหนึ่งตายยืนต้นอยู่ ท่านก็บอกว่า นี่ฉันตายแล้วให้เอาไม้แดงต้นนี้เผาฉัน และอย่าเอาไว้ให้ข้ามวันข้ามคืน ตายเดี่ยวนั้นก็ให้เอาไปผาเดี๋ยวนั้นเลย พอตกราวสองทุ่มเศษ ๆ ท่านก็จับไข้แล้วก็กำเริบไม่หยุด หนักลงโดยลำดับ โรงพยาบาลก็อยู่ห่างไกล ทางคมนาคมก็ไม่สะดวก เวลาประมาณบ่ายสามเศษท่านก็มรณภาพโดยความสงบเหมือนกับคนนอนหลับหายไปเลย บรรดาลูกศิษย์ (มีหลวงปู่สอ พันธุโล เป็นต้น) โดยถือคำสั่งของท่านจึงพร้อมกันโค่นต้นไม้แดง ต้นที่ท่านชี้บอกนั้นเอามาเผาท่านในคืนวันนั้น แล้วก็เก็บเอากระดูกไปทิ้งลงน้ำ

หลวงปู่บุญมี ปริปุณโณ ได้กล่าวไว้ในประวัติของท่านว่า ในปี พ.ศ.๒๕๐๖ ถ้าไม่ขออนุญาตหลวงตาออกมาเที่ยววิเวกทางถ้ำพระ บ้านกลางใหญ่ อำเภอบ้านผือ จึงได้พบหลวงปู่หล้า ขันติธโร ท่านอยู่กับต๊อบที่มุงบังด้วยฟาง แม้จะเป็นพระเถระผู้ใหญ่แต่เป็นอยู่อย่างสมถะและสงบมาก ตอนนั้นยังไม่รู้จักกิตติศัพท์อันงามของท่าน เห็นเป็นพระกรรมฐานที่อยู่อย่างเรียบง่าย รักความสมถะสันโดษ ในภายหลังจึงได้รับรู้เรื่องราวปฏิปทาของท่านจากครูบาอาจารย์ หลวงปู่หล้ามักจะเก็บตัวมากรูปหนึ่ง มีปฏิปทาที่น่าเคารพเลื่อมใส มีนิสัยเด็ดเดี่ยวอาจหาญ ชอบอยู่และไปคนเดียว ไม่ชอบออกสังคมคนหมู่มาก เรื่องจิตท่านมีนิสัยชอบรู้สิ่งแปลกๆ ได้ดี คือพวกกายทิพย์ มีเทวดา เป็นต้น

หลวงปู่หล้า ขันติธโร เดิมทีท่านเป็นคนลาว แต่เมื่อบวชแล้วจึงมาอยู่ในประเทศไทย ในวาระสุดท้ายท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดป่านาเก็น อำเภอน้ำโสม จังหวัดอุดรธานี ท่านมักจะอยู่ตามเถียงนาตามไร่ตามนาของชาวบ้าน หลวงปู่บุญมีได้กล่าวถุงปฏิปทาของหลวงปู่หล้า ขันติธโร ก่อนที่ท่านจะมาณภาพว่าท่านให้คนทำกองฟอนสำหรับการถวายเพลิงท่านไว้ก่อนแล้ว พร้อมทั้งยังกำชับต่อไปอีกว่ากระดูกท่านให้นำไปโยนลงเหว

ในระยะที่ท่านออกเที่ยววิเวกนั้นมีอาจารย์ประยูร (ปัจจุบันสึกแล้ว) ติดตามไปด้วย โดยได้พากันออกจากบ้านตาดไปทางอำเภอบ้านผือ น้ำโสม เข้าเมืองเลยทางบ้านสานตม ภูเรือ ถึงหล่มสัก น้ำหนาว จังหวัดเพชรบูรณ์ พักภาวนาที่ถ้ำน้ำหนาว แล้วจึงกลับเข้าวัดป่าบ้านตาดเหมือนเดิม

หลวงปู่หล้า ขันติโก วัดป่าขันติยานุสรณ์ บ้านนาเก็น อุดรธานี

หนังสือญาณสัมปันนธัมมานุสรณ์ หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ได้กล่าวถึงประวัติของท่านหลวงปู่หล้า ขันติธโร ไว้ตอนหนึ่งว่า

ราวปี พ.ศ.๒๔๙๓ หลังเสร็จสิ้นงานประชุมเพลิงหลวงปู่มั่น ท่านได้ไปพักอยู่กับท่านพระอาจารย์หล้า ขันติธโร (วัดป่าขันติยานุสรณ์ บ้านนาเก็น อำเภอน้ำโสม จังหวัดอุดรธานี) ในเขาลึกราวครึ่งเดือน ที่พักเป็นป่าเขา อาศัยอยู่กับชาวไร่ บิณฑบาตพอเป็นไปวันหนึ่งๆ เดินจากที่พักออกมาหมู่บ้าน กว่าจะพ้นจากป่าก็เป็นเวลา ๓ ชั่วโมง ๒๐ นาที ถึงหมู่บ้านก็ร่วม ๔ ชั่วโมง ครั้งนั้นท่านได้มีโอกาสสนทนาธรรมกับท่านพระอาจารย์หล้าเกิดความซาบซึ้งจับใจในธรรมของท่านมาก ดังนี้

“… ท่านอาจารย์หล้าเป็นศิษย์ผู้ใหญ่ของท่านพระอาจารย์มั่น ภูมิลำเนาเดิมอยู่เวียงจันทน์ ท่านไม่รู้หนังสือเนื่องจากไม่เคยเรียนมาก่อน นับแต่อุปสมบทแล้ว ท่านอยู่ที่ฝั่งไทยตลอดมาจนวันมรณภาพ เพราะทางฝั่งไทยมีหมู่คณะและครูอาจารย์ทางฝ่ายปฏิบัติมาก

ท่านอาจารย์หล้าเริ่มฉันหนเดียว และเที่ยวกรรมฐานอยู่ตามป่าตามเขากับท่านพระอาจารย์มั่นและท่านพระอาจารย์เสาร์มาแต่เริ่มอุปสมบท ไม่เคยลดละข้อวัตรปฏิบัติและความเพียรทางใจตลอดมา ..

ท่านอาจารย์หล้าอธิบายปัจจยาการ คืออวิชชาได้ดี ละเอียดลออมาก ยากจะมีผู้อธิบายได้อย่างท่าน เพราะปัจจยาการเป็นธรรมละเอียดสุขุมมาก ต้องเป็นผู้ผ่านการปฏิบัติภาคจิตตภาวนามาอย่างช่ำชอง จึงจะสามารถอธิบายได้โดยละเอียดถูกต้อง เนื่องจากปัจจยาการหรืออวิชชาเป็นกิเลสประเภทละเอียดมาก ต้องเป็นวิสัยของปัญญาวิปัสสนาขั้นละเอียดเท่าๆ กัน จึงจะสามารถค้นพบและถอดถอนตัวปัจจยาการคืออวิชชาจริงได้ และอธิบายได้อย่างถูกต้อง ..

ท่านอาจารย์หล้ามีนิสัยเด็ดเดี่ยวอาจหาญ ชอบอยู่และไปคนเดียว ท่านมีนิสัยชอบรู้สิ่งแปลกๆ ได้ดี คือพวกกายทิพย์ มีเทวดา เป็นต้น พวกนี้เคารพรักท่านมาก ท่านว่าท่านพักอยู่ที่ไหนมักมีพวกนี้ไปอารักขาอยู่เสมอ

ท่านมีนิสัยมักน้อยสันโดษมากตลอดมา และไม่ชอบออกสังคมคือหมู่มาก ชอบอยู่แต่ป่าแต่เขากับพวกชาวป่าชาวเขาเป็นปกติตลอดมา ท่านมีคุณธรรมสูงน่าเคารพบูชามาก คุณธรรมทางสติปัญญารู้สึกว่า ท่านคล่องแคล่วมาก ..

เวลาท่านจะจากขันธ์ไป ก็ทราบว่าไม่ให้ใครวุ่นวายกับท่านมาก เป็นกังวลไม่สบาย ขอตายอย่างเงียบแบบกรรมฐานตาย จึงเป็นความตายที่เต็มภูมิของพระปฏิบัติ ไม่เกลื่อนกล่นวุ่นวาย… “

เจดีย์พิพิธภัณฑ์ หลวงปู่หล้า ขันติธโร
วัดป่าขันติยานุสรณ์ บ้านนาเก็น ต.หนองแวง อ.น้ำโสม จ.อุดรธานี
อัฐิธาตุของท่าน ภายในเจดีย์พิพิธภัณฑ์ หลวงปู่หล้า ขันติธโร
รูปเหมือนบูชา ภายในเจดีย์พิพิธภัณฑ์ หลวงปู่หล้า ขันติธโร

หลวงปู่หล้า ขันติธโร เป็นพระอาจารย์ของ หลวงปู่สอ พันธุโล วัดบ้านหนองแสง ต.สิงห์ อ.เมือง จ.ยโสธร (หลวงปู่สอ หลวงพ่อเจ็ดกษัตริย์)

จากหนังสืออัตตโนประวัติ พระราชนิโรธรังสี คัมภีระปัญญาวิศิษฏ์ (เทสก์ เทสรังสี) วัดหินหมากเป้ง

เรื่องที่เกี่ยวข้อง