วันจันทร์, 28 ตุลาคม 2567

หลวงปู่มหาอินทร์ ถิรเสวี วัดศรีจันทร์ อ.เมือง จ.ขอนแก่น

ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่มหาอินทร์ ถิรเสวี

วัดศรีจันทร์
อ.เมือง จ.ขอนแก่น

พระเทพบัณฑิต (หลวงปู่มหาอินทร์ ถิรเสวี) วัดศรีจันทร์ อ.เมือง จ.ขอนแก่น

หลวงปู่มหาอินทร์ ถิรเสวี ท่านเป็นอดีตเจ้าอาวาสรูปที่ ๙ ของวัดศรีจันทร์ อ.เมือง จ.ขอนแก่น หลวงปู่มหาอินทร์ ท่านเป็นพระผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ผู้ใฝ่หาความเพียร กระทั้งปีนเขาดอยสุเทพ เพื่อไปศึกษาธรรมกับหลวงปู่ใหญ่มั่น ภูริทัตโต แม้องค์ท่านจะเป็นครูสอนปริยัติ แต่ก็ยังใฝ่หาการปฏิบัติ หาได้มีมานะทิฏฐิไม่ และยังเป็นพระอุปัชฌายาจารย์ของพระมหาเถระอีกหลายรูปเช่น หลวงปู่ท่อน ญาณธโร , หลวงปู่บุญเพ็ง กัปปโก , หลวงปู่ประนอม วิริโย เป็นต้น

หลวงปู่มหาอินทร์ ถิรเสวี ท่านมีนามเดิมชื่อ อินทร์ สินโพธิ์ เกิดเมื่อ วันเสาร์ที่ ๒๔ มกราคม พ.ศ.๒๔๔๕ ตรงกับวันแรม ๑๒ ค่ำ เดือนยี่ ปีขาล ท่านมีภูมิลำเนาเดิมที่บ้านโนนแดงน้อย ต.บ้านแท่น อ.ชนบท จ.ขอนแก่น บิดาชื่อ นายบุญมี สินโพธิ์ มารดาชื่อ นางบุดลี สินโพธิ์ มีพี่น้องร่วมสายโลหิต ๖ คน

เด็กชายอินทร์ สินโพธิ์ บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดสว่างวงษ์ บ้านปอแดง ต.บ้านแท่น (ปัจจุบัน ตำบลปอแดง) อ.ชนบท จ.ขอนแก่น เมื่อ วันที่ ๑๕ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๖๐ อายุ ๑๖ ปี โดยมีพระอธิการท้าวน้อย เป็นพระอุปัชฌาย์ หลังจากบวชแล้วก็ได้ศึกษาการอ่าน เขียน ที่จังหวัดขอนแก่นในสมัยนั้นยังไม่เจริญรุ่งเรืองมากนัก จนในปี พ.ศ.๒๔๖๒ สามเณรอินทร์ จึงได้กราบลาครูบาอาจารย์ ย้ายสำนักไปศึกษาเล่าเรียนอยู่ที่ สำนักเรียนวัดบรมนิวาส พระนคร พร้อมกับสามเณรรุ่นเดียวกันจำนวน ๑๐ รูป

◎ อุปสมบท
เมื่ออายุครบ ๒๐ ปีได้อุปสมบท เมื่อวันที่ ๗ กรกฎาคม พ.ศ.๒๔๖๕ ณ พัทธสีมาวัดบรมนิวาส กรุงเทพฯ โดยมีพระเมธาธรรมรส (เสาร์) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอมราภิรักขิต (ไชย) เป็นพระกรรมวาจารย์ พระครูพินิตวิหารการ (ขำ) เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า “ถิรเสวี” ตั้งแต่อุปสมบทปีแรก ก็ได้มุมานะศึกษาเล่าเรียน จนสอบได้เปรียญธรรมสนามหลวงและได้เป็น “พระมหาอินทร์ ถิรเสวี” พ.ศ. ๒๔๖๕ และสอบเปรียญธรรม ๕ ประโยค ได้ใน พ.ศ. ๒๔๖๗ สำนักเรียนวัดบรมนิวาส หลังจากได้เป็นเปรียญธรรม ๕ ประโยคซึ่งสมัยนั้นนับว่าเป็นผู้มีความรู้ความสามารถเป็นอย่างดี

พ.ศ.๒๔๗๐ ได้ถูกส่งให้ไปช่วยกิจการคณะสงฆ์ที่วัดมะกอก อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี เป็นเวลาหลายปี จนกระทั่งพระอริยคุณาธาร (อุ่น สุวณฺโณ) ซึ่งขณะนั้นปฏิบัติศาสนกิจอยู่ที่วัดเจดีย์หลวง จังหวัดเชียงใหม่ ได้รับคำสั่งให้ไปรับตำแหน่งรองเจ้าคณะมณฑลอุดร จึงได้นิมนต์ พระมหาอินทร์ ถิรเสวี เปรียญธรรม ๕ ประโยค ไปเป็นครูสอนแทนที่วัดเจดีย์หลวง อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๗๓-๒๔๗๗ ซึ่งในขณะที่ท่านเป็นครูสอนปริยัติธรรมที่วัดเจดีย์หลวงก็ได้มีโอกาสพบกับ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ได้รับการแนะนำในข้อวัตรปฏิบัติแบบกรรมฐานเป็นอันมาก

◎ พบท่านพระอาจารย์มั่น
จากประวัติท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต พระบูรพาจารย์ใหญ่ฝ่ายพระกัมมัฏฐาน ท่านได้เคยรับอาราธนาท่านเจ้าคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ (หลวงปู่จันทร์ สิริจันโท) พระมหาเถระที่ท่านพระอาจารย์มั่น เคารพนับถือ ให้ขึ้นมาบำเพ็ญสมณธรรมที่วัดเจดีย์หลวง จ.เชียงใหม่ ท่านพระอาจารย์มั่นได้มาพำนักอยู่วัดเจดีย์หลวงประมาณ พ.ศ. ๒๔๗๒-๒๔๗๓ ได้รับแต่งตั้งเป็นพระคูรวินัยธร ฐานานุกรมในท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ และ ในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวงเพียง ๑ พรรษา พอออกพรรษา ท่านเดินธุดงค์ปฏิบัติกัมมัฏฐานตามป่าเขาภาคเหนือ ในช่วงที่ท่านพระอาจารย์มั่น มาบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ที่วัดเจดีย์หลวงนั้น หากมีโอกาส ท่านพระอาจารย์มั่นก็จะขึ้นไปภาวนาอยู่บนดอยสุเทพ โดยท่านปีนเขาขึ้นไปทางวัดสวนดอก ดังปรากฏในประวัติของหลวงปู่มหาอินทร์ ถิรเสวี ดังนี้

หลวงปู่มั่น ท่านไม่ชอบอยู่ที่ไหนนาน ๆ จึงออกไปวิเวกที่พระธาตุดอยสุเทพ ซึ่งต้องปีนภูเขาทางวัดสวนดอก และบนดอยสุเทพนี่เอง ซึ่งหลวงปู่มหาอินทร์ ได้รับการฝึกอบรมจิตตภาวนาจากท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถร “ท่านให้ภาวนา พุท-โธ ทำจิตให้สงบ ไม่วุ่นวายกับอารมณ์ภายนอก ทำใจให้สบายๆไม่ยอกย้อนถอนตัวตน ไม่ลุ่มหลง ไม่ห่วงใย ตัดขาดจากทุกๆสิ่ง แม้ชีวิตของตัวตนไม่มีทั้งสิ้น…”

แค่วันแรกหลวงปู่มหาอินทร์ ก็เข้าใจอำนาจกัมมัฏฐาน มันสบายใจ เยือกเย็น มองอะไรเห็นด้วยจิตไม่ข้องแวะ ท่านพระอาจารย์มั่น ท่านว่า…

“มันมักอยากได้ไม่ท้อถอย จิตใจของคนเรานี่ ขนาดจะตายมันก็ยังอยากมันยังมีตัณหาอยู่ดี ไม่เคยมีความอาจหาญเลย ของดีไม่เอา กัมมัฏฐานสอนบุคคลให้เป็นอริยบุคคลได้จริงแค่ไหน พูดกันไปไม่มีที่สิ้นสุด ต้องการอยากรู้ ต้องปฏิบัติ เปิดใจให้กว้างอย่าขวางทางธรรม พระพุทธเจ้าพูดอะไรไว้ สิ่งนั้นต้องเป็นหนึ่งเสมอ”

หลวงปู่มหาอินทร์ ถิรเสวี ท่านเล่าต่อไปว่า…

“ไปภาวนาอยูบนดอยสุเทพน่ะ หลวงปู่เห็นว่ามันใกล้วัดเจดีย์หลวง อันเป็นสถานที่หลวงปู่คอยสอนหนังสือ จะออกไปให้ไกลกว่านี้ไม่ได้ ท่านพระอาจารย์มั่น ท่านก็เข้าใจความรับผิดชอบของหลวงปู่ดี จึงสอนพระกัมมัฏฐานให้ใกล้ๆ ถ้าเผื่อมีอะไรเร่งด่วนก็ลงไปแก้ไขได้” หลวงปู่มั่นท่านหนักแน่นกับพระกัมมัฏฐานเหลือเกิน ท่านให้เหตุผลว่า “ม้าศึกต้องฝึกอยู่เสมอ ขุนศึกขี้คร้านก็เท่ากับเอาหัวไปให้ศัตรูตัดเล่นเท่านั้นเอง เราไม่รู้จะเกิดศึกสงครามเวลาใด ความตายมาถึงเมื่อไร เราไม่รู้ มารู้ก็ตอนแย่แล้ว…”

นี่เป็นคำสอนที่หลวงปู่ระลึกถึงท่านพระอาจารย์มั่นอยู่เสมอ ท่านเมตตากับหลวงปู่มากยากที่จะลืมเลือน ท่านกลัวหลวงปู่จะหลงกับตำแหน่งที่ตั้งให้ เกรงว่าจะหลงความสุขความสบาย ความห่วงใยที่ท่านพระอาจารย์มั่น มีต่อองค์หลวงปู่นั้นเป็นสิ่งที่หลวงปู่ซาบซึ้งและเคารพเป็นอย่างมาก หลวงปู่ต้องไปกราบเท้าท่านทุกคืนขณะที่พักอยู่ด้วยกันกับท่าน

พระเทพบัณฑิต (หลวงปู่มหาอินทร์ ถิรเสวี) วัดศรีจันทร์ จ.ขอนแก่น

◎ คนสองประเภท
หลวงปู่เคยเข้าไปกราบเรียนถามท่านว่า “ท่านพระอาจารย์ครับ ผมจะปฏิบัติพระกัมมัฏฐานอย่างไรจึงจะพอเป็นไปได้” ท่านพระอาจารย์มั่นได้ยินอย่างนั้นก็หยุดมองหน้าหลวงปู่อยู่ครู่หนึ่ง แล้วพูดออกมาว่า “เอ…ท่านมหานี่ ถามผมเหมือนท่านมหาปิ่น ไม่มีผิดเลย” (หมายถึง พระอาจารย์มหาปิ่น ปญฺญาพโล น้องท่านพระอาจารย์สิงห์ ขนฺตยาคโม)

ท่านพระอาจารย์มั่น ท่านตอบว่า “การปฏิบัติพระกัมมัฏฐานนั้น มีคนอยู่ ๒ ประเภทคือ…
๑. ประเภทที่ไม่เคยได้รับการศึกษาด้านพระปริยัติ แม้ทำสมถกัมมัฏฐาน จิตใจก็จะสงบได้รวดเร็ว และก็เสียเร็วเหมือนกันถ้าไม่ฝึกฝนหรือลุ่มหลง ประเภทนี้จะต้องอยู่ในสำนักของครูบาอาจารย์นานจึงจะพอเป็นไปได้ เพราะการอยู่ใกล้ครูบาอาจารย์ เพราะการอยู่ใกล้ครูบาอาจารย์จะมีความสำรวมระวังอยู่ในข้อวัตร กฎข้อบังคับ จะเหลาะแหละไม่ได้ มีการฝึกฝนนั่งสมาธิทำภาวนา ได้เวลาทำวัตรสวดมนต์ ปรนนิบัติสอบถามปัญหาธรรมอยู่บ่อยๆ ๕ พรรษา ๖ พรรษาจึงจะเอาตัวรอดได้…

๒. อีกประเภทนึงได้รับการศึกษามาดี เช่นพวกท่านมหานี่แหละ แม้ฝึกการทำสมาธินั้นยาก ใจไม่ค่อยจะสงบ ต้องใช้วิปัสสนาไปก่อน คือปัญญาอบรมสมาธิ พิจารณาทบทวนบ่อยๆ ชอบใจธรรมะบทใด พระสูตรบทใด ก็ให้น้อมมาพิจารณาเสมอๆ ทำอยู่อย่างนั้นบ่อยๆ จนกว่าจิตจะยอมรับ อุบายนี้ก็เหมือนคนตัดต้นไม้ ตัดด้วยขวาน จามลงไปในที่เก่านั่นแหละ นานๆเข้าไม้มันทะลุเอง เช่นคนหุงข้าว นึ่งข้าว ดูแต่ไฟอย่าให้มันดับ นี่เป็นหน้าที่ของเรา ส่วนหน้าที่ของไฟทำข้าวให้สุกเอง การปฏิบัติพระกัมมัฏฐานก็เช่นเดียวกัน ต้องทำจริงๆจะทำเล่นๆไม่ได้ คนเดี๋ยวนี้มันไม่ค่อยจะทำจริง เลยไม่ได้ของจริง มันชอบทำเป็นเล่นไปหมด” เมื่อได้อุบายการทำสมาธิของท่านพระอาจารย์มั่นอย่างนี้ ก็พยายามทำ ครั้งแรกตัดอารมณ์ทั้งหมด ดับความอยากต่างๆให้หมด พิจารณาพุทโธ เท่านั้น รับอุบายธรรมจากท่านแล้วก็ต่างคนต่างแยกไปพัก ท่านปักกลดอยู่ไกล หลวงปู่ปักกลดอีกแห่งหนึ่ง

คืนหนึ่ง หลวงปู่จดจำคำบอกเล่าของท่านพระอาจารย์มั่น มาพิจารณา ไม่ยอมให้จิตแวบออกไปภายนอก ไม่สนใจงานจำเจเก่าอีกแล้ว เอาจิตใจวางลงในที่ซึ่งมั่นคง มีสติพร้อม แล้วก็พิจารณาว่า “เอ…เราเคยเรียนมา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเทศน์พระธัมมจักกัปปวัตตนสูตรนี่ พระพุทธเจ้าเทศน์โปรดปัญจวัคคีย์ มีท่านอัญญาโกณฑัญญะ รู้เรื่องอยู่องค์เดียว อีก ๔ องค์น่ะยังไม่รู้เรื่อง หลวงปู่ก็มาพิจารณาว่า เอ…ก็พระธัมมจักกัปปวัตตนสูตรนี้ เราเองก็สวดได้ แปลก็ได้ ทำไมหนอเราจึงไม่มีดวงตาเห็นธรรม มันไปติดไปคาเกี่ยวข้องอยู่ที่ไหน หลวงปู่ก็ทบทวน ท่านอัญญาโกณฑัญญะรู้ธรรม หมดความยึดถือ มีความรู้แจ้งลดสักกายทิฏฐิ ท่านรู้ความจริงอย่างนี้จึงมีดวงตาเห็นธรรม โอ… นี่เรามันยังมีการเหลียวซ้ายแลขวาอยู่ จะได้ดวงตาเห็นธรรมอีหยัง ก็เลยคิดได้ เอาละ จะปฏิบัติให้จิตสงบจนได้”

หลวงปู่มหาอินทร์ ถิรเสวี วัดศรีจันทร์ จ.ขอนแก่น

◎ รู้วาระจิต
ต่อมาความคิดของหลวงปู่ไม่ทราบว่าท่านพระอาจารย์มั่น องค์ท่านล่วงรู้ได้ด้วยวิธีใด ตอนบ่าย ๓-๔ โมง ท่านพระอาจารย์มั่น เดินมาจากที่พัก มาถามหาหลวงปู่ ท่านว่า “เอ๊ะ… ท่านมหาอินทร์ ไปไหน ขอคุยสักหน่อยเถิด…” หลวงปู่ได้ยินก็ครองจีวรไปหาท่าน พอเห็นหน้าหลวงปู่ ท่านพระอาจารย์มั่น ก็พูดออกมาว่า “ทำอย่างที่คิดนั่นแหละถูกแล้ว จงพยายามทำจริงๆ อย่าทำเล่นนะ…”

ท่านพระอาจารย์มั่น ท่านมีความเมตตาหลวงปู่มากเป็นพิเศษก็ว่าได้ ท่านคงรู้วาระจิตที่หลวงปู่ อยากได้ธรรมะจากท่านจริงๆ มิใช่ว่าจะทดลองภูมิอะไรกับท่านเลย แม้หลวงปู่จะได้เปรียญธรรม ๕ ประโยค นั่นมันเป็นเพียงตัวหนังสือ ได้จากการท่องจำ เหมือนเด็กเล็กอ่าน ก.ไก่ – ฮ.นกฮูก จำได้คล่อง พูดได้เจื้อยแจ้ว แต่ก็อาศัยจดจำไม่เก่งเท่าคนที่เขาสร้างตัวอักษร

แต่การภาวนามันผิดกับการได้ศึกษาเล่าเรียนมาทั้งสิ้น ท่านจึงเมตตาเราด้วยดีตลอดมา “ท่านพระอาจารย์มั่น ท่านให้ของวิเศษแก่หลวงปู่ไว้มาก จึงไม่มีความหวั่นวิตกอะไร ก็ปล่อยมันเป็นไป หน้าที่ของเราก็ทำดีไว้ก็แล้วกันเคยทำจิตให้เป็นสมาธิ ก็ควรทำดีตลอดอย่าได้ว่างเว้น ถ้าเราจะเลิก ท่านพระอาจารย์มั่น ท่านมีญาณหยั่งรู้ จะตำหนิเอาได้ ต่อหน้าท่านเราทำความดีได้ เมื่ออยู่ลับหลัง เราไม่ขยันทำความดีก็ไม่มีอาจารย์ไหน ๆ จะสั่งสอนเช่นท่านพระอาจารย์มั่น

ครั้งหนึ่ง หลวงปู่คิดในใจว่า “นรกสวรรค์น่ะมีจริงไหมหนอ ทำอย่างไรจะได้รู้ได้เข้าใจบ้าง เราน่าจะไปกราบเรียนถามท่านพระอาจารย์มั่นน่ะ…” สมัยนั้นวัดเจดีย์หลวงยังเป็นป่าดงมีต้นไม้รกครึ้มไปหมด ขณะที่หลวงปู่กำลังเดินผ่านเจดีย์เท่านั้น ท่านก็พูดขึ้นดัง ๆ ว่า “ถ้าหากมีคนละก็ ต้องมีแน่นอน เรื่องนรก เรื่องสวรรค์น่ะเป็นเรื่องของคน พระอริยบุคคลหมดโลก นรกก็ดี สวรรค์ก็ดี หมดไม่เหลือ…” พอได้ยินเสียงท่านพูดจบมันมีความรู้สึกว่าเหมือนมีใครเอาน้ำเย็นมารดซู่จากศรีษะมาปลายเท้า ความสงสัยเป็นอันว่าหมด ไม่มีอะไรที่จะคิดเป็นอื่นกับท่านอีกเลย ท่านสร้างความอัศจรรย์ให้หลวงปู่ได้รู้ว่า… “ผู้ฝึกฝนมาดีแล้ว ย่อมฝึกจิตให้คล่องวิ่งไว ความรู้รวดเร็วฉับพลัน เหมือนแสงสุริยันผ่านพ้นกลุ่มเมฆถึงพื้นธรณีทันทีฉันนั้น…”

ภายหลังหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ท่านออกวิเวกบำเพ็ญสมณธรรมอยู่ที่เชียงใหม่ไปในที่ต่าง ๆ นานถึง ๑๑ ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๗๒ – ๒๔๘๒ จนบรรลุอรหัตผล เมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๘ ณ ถ้ำดอกคำ ต.น้ำแพร่ อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ แล้วจึงกลับลงมาทางภาคอีสาน สั่งสอนอบรมลูกศิษย์ จนเป็นเพชรน้ำหนึ่ง ๆ ดังที่เรา ๆ ได้ทราบกันอยู่

ในส่วนท่านพระอาจารย์มหาอินทร์ ถิรเสวี ก็ได้กลับลงมาอยู่ทางภาคอีสาน และได้พำนักอยู่ที่วัดศรีจันทร์ จ.ขอนแก่น ได้เป็นพระอุปัชฌายาจารย์ให้กับพ่อแม่ครูอาจารย์อยู่หลายรูป เช่น หลวงปู่ท่อน ญาณธโร , หลวงปู่บุญเพ็ง กัปปโก , หลวงปู่ประนอม วิริโย เป็นต้น

ภาพพิธีต้อนรับสมณศักดิ์ หลวงปู่อินทร์ ถิรเสวี เป็น พระพิศาลสารคุณ
พระเทพบัณฑิต (หลวงปู่มหาอินทร์ ถิรเสวี) วัดศรีจันทร์ จ.ขอนแก่น

◎ ฝ่ายปกครอง
พ.ศ. ๒๔๘๐ เป็น เจ้าอาวาสวัดศรีจันทร์ (วัดราษฏร์)
พ.ศ. ๒๔๘๐ เป็น ผู้ช่วยเจ้าคณะจังหวัดขอนแก่น
พ.ศ. ๒๔๘๒ เป็น พระอุปัชฌาย์
พ.ศ. ๒๔๘๓ เป็น เจ้าคณะจังหวัดขอนแก่น (ทั้งสองนิกาย)
พ.ศ. ๒๔๙๔ เป็น เจ้าคณะจังหวัดขอนแก่น (ธ)
พ.ศ. ๒๕๑๙ เป็น รองเจ้าคณะภาค ๙ (ธ)
พ.ศ. ๒๕๒๑ – ๒๕๓๕ เป็น เจ้าอาวาสวัดศรีจันทร์ พระอารามหลวง
ฝ่ายการศึกษา
พ.ศ. ๒๔๗๓ – ๒๔๗๗ เป็น ครูสอนปริยัติธรรมที่วัดเจดีย์หลวง
พ.ศ. ๒๔๗๘ เป็น ครูสอนพระปริยัติธรรมที่วัดศรีจันทร์

◎ สมณศักดิ์
พ.ศ. ๒๔๘๔ เป็น พระครูสัญญาบัตร ที่ พระครูพิศาลสารคุณ
๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๒ เป็น พระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ พระพิศาลสารคุณ
๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๙ เป็น พระราชาคณะชั้นราช ที่ พระราชพิศาลสุธี ศรีปริยัติคุณาภรณ์ ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี
๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๑ เป็น พระราชาคณะชั้นเทพ ที่ พระเทพบัณฑิต วิจิตรธรรมภาณี ตรีปิฎกลังการวิภูสิต ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี

พระเทพบัณฑิต (หลวงปู่มหาอินทร์ ถิรเสวี) วัดศรีจันทร์ จ.ขอนแก่น

◎ การมรณภาพ
หลวงปู่มหาอินทร์ ถิรเสวี องค์ท่านได้มรณภาพด้วยโรคหัวใจล้มเหลว ในเวลาเช้าของวันที่ ๒๔ มกราคม พ.ศ.๒๕๓๖ ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันเกิดท่านพอดี ที่วัดศรีจันทร์ จ.ขอนแก่น สิริรวมอายุได้ ๙๑ ปี ๗๑ พรรษา รวมเวลาที่ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดศรีจันทร์ ๕๕ ปี

คัดลอกจากหนังสือ “บูรพาจารย์ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถร” ; หน้า ๒๖๓ – ๒๖๗ ; พิมพ์ครั้งที่ ๓ เมื่อ กรกฎาคม ๒๕๔๕