วันอังคาร, 26 พฤศจิกายน 2567

หลวงปู่จันทร์ กุสโล วัดเจดีย์หลวง อ.เมือง จ.เชียงใหม่

ประวัติและปฏิปทา
พระพุทธพจนวราภรณ์ (หลวงปู่จันทร์ กุสโล)

วัดเจดีย์หลวง วรวิหาร
ต.พระสิงห์ อ.เมือง จ.เชียงใหม่

พระพุทธพจนวราภรณ์ (หลวงปู่จันทร์ กุสโล)

ถิ่นกำเนิด
ณ เรือนไม้อันร่มรื่นริมน้ำปิง บ้านท่ากองิ้ว ตำบลปากบ่อง อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน ปีพุทธศักราช ๒๔๖๐ นายนาริน และนางต๊ะ แสงทอง ผู้ภรรยา ได้มีโอกาสรับขวัญทายาทเพศชายคนที่ ๖ ท่ามกลางความปิติยินดีของพี่ชายและพี่สาวทั้ง ๕ คน ในวันจันทร์ ขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๑ ปีมะเส็ง ตรงกับวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๖๐ ทารากเพศชายสุขภาพร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ ผิวพรรณสะอาดหมดจด มีนามว่า “เด็กชายจันทร์ แสงทอง

ชีวิตปฐมวัย
หลังจากที่โยมบิดาและโยมมารดาแต่งงานกันไป ได้ไปทำการค้าขายอยู่ที่ตลาดท่ากองิ้ว ตำบลปากบ่อง อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน จนกระทั่งให้กำเนิดบุตรชายคนสุดท้อง (พระพุทธพจนวราภรณ์) เมื่อท่านอายุได้ ๘ เดือน โยมบิดาได้ถึงแก่กรรมด้วยโรคระบาด คือ กาฬโรค หลังจากโยมบิดาเสียชีวิตแล้ว โยมมารดาได้ย้ายถิ่นฐานครอบครัวมาอยู่ในตลาดเมืองลำพูน เพื่อทำกิจการค้าขาย ซึ่งต่อมาเมื่อไม่อาจที่จะดำเนินการค้าขายได้อีกต่อไป จึงได้ย้ายถิ่นฐานอีก ไปอยู่ที่บ้านป่าแดด ตำบลเวียงยอง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน

เนื่องจากมีปัญาและอุปสรรคทางชีวิตครอบครัว คือโยมบิดาเสียชีวิตและต้องย้ายที่อยู่บ่อย จึงทำให้โอกาสทางการศึกษาผ่านไป จนกระทั่งอายุเลยเกณฑ์ภาคบังคับ (โรงเรียนในสมัยนั้น ถ้าเด็กอายุเลยเกณฑ์แล้วจะไม่รับเข้าเรียน) ท่านจึงต้องใช้ชีวิตอยู่แบบชาวบ้าน ที่ไม่มีโอกาสทางการศึกษา ต้องช่วยโยมมารดาทำงานตามฐานะ คือเลี้ยงวัว เลี้ยงควาย ท่านเล่าให้ฟังว่า สถานที่เลี้ยงวัวเลี้ยงควายของท่านในสมัยเด็กๆ นั้นคือบริเวณทางรถไฟตั้งแต่แม่น้ำกวง เรื่อยไปจนถึงบริเวณดอยติ (อนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย ในปัจจุบัน)

เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๗๔ เมื่อท่านอายุย่างเข้า ๑๔ ปี โยมมารดาได้พากันไปฝากเป็นศิษย์วัดป่าแดด ตำบลเวียงยอง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน เป็นศิษย์วัดร่วมกับพี่ชาย (นายบุญปั๋น) ซึ่งบวชเป็นสามเณรอยู่ที่นั่น ท่านได้มีโอกาสเรียนอักษรพื้นเมือง ท่องบทสวดเจ็ดตำนาน และคำขอบวชเพื่อเตรียมตัวบวชเป็นสามเณร ในระหว่างเป็นศิษย์วัด ท่านเล่าให้ฟังว่า ลูกศิษย์ที่เป็นเพื่อนๆ กัน เมื่อพวกเขาได้รับประทานอาหารเช้าเสร็จแล้ว ได้ไปโรงเรียนกันหมด ส่วนตัวท่านไม่ได้ไปเรียน เนื่องจากอายุเลยเกณฑ์ เลยต้องทำหน้าที่ขโยม (เป็นภาษาเหนือ หมายถึง ศิษย์วัด) ไปเก็บอาหารจากชาวบ้านมาถวายท่านสมภาร

ประมาณเดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๔๗๕ ขณะที่ท่านกำลังตัดไม่ไผ่จะทำรั่ว พี่ชายได้มาตามให้ไปอยู่ที่วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากญาติที่อยู่ในเมืองลำพูนจะบวชเป็นสามเณรอยู่ที่นั่น ท่านจึงได้มีโอกาสเข้ามาเป็นศิษย์วัดเจดีย์หลวงฯ โดยได้รับการศึกษาชั้นเตรียม (ก่อนเรียนชั้นประถม) นับเป็นการเริ่มต้นเรียนภาษาไทยของท่าน ที่โรงเรียนพุทธโสภณ (ซึ่งในสมัยนั้นตั้งอยู่ในวัดเจดีย์หลวงฯ ทางด้านเหนือของพระวิหาร ตรงที่เป็นศาลาเอนกประสงค์ในปัจจุบัน) เป็นเวลาประมาณ ๔ เดือน พออ่านออกเขียนได้แล้ว ท่านพระครูสังฆรักษ์ (แหวว ธมฺมทินโน) (ต่อมาได้รับสมณศักดิ์ในราชทินนามที่ พระพุทธโสภณ) เห็นว่าอายุมากแล้ว จึงให้บรรพชาเป็นสามเณร นับว่าเป็นการเริ่มต้นเข้าสู่ร่มเงาในบวรพระพุทธศาสนา

การบรรพชา
ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณรเมื่ออายุได้ ๑๕ ปี ในเดือนตุลาคม พุทธศักราช ๒๔๗๕ ณ วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร จังหวัดเชียงใหม่ โดยมีพระครูนพีสีลพิศาลคุณ วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร เป็นพระอุปัชฌาย์

การอุปสมบท
เมื่อท่านมีอายุครบ ๒๐ ปีบริบูรณ์ ได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุในทางพระพุทธศาสนา เมื่อวันที่ ๖ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๘๐ ณ วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ โดยมี พระพุทธโสภณ (แหวว ธมฺมทินโน) ครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระครูมหาเจติยาภิบาล วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร เป็นพระอุปัชฌาย์, สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (พิมพ์ ธมฺมธโร) ครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระญาณดิลก วัดพระศรีมหาธาตุฯ เขตบางเขน กรุงเทพฯ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ พระครูพุทธิโสภณ (บุญปั๋น) วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร เป็นพระอนุสานาจารย์ ได้รับนามฉายาว่า “กุสโล” ซึ่งแปลว่า “ผู้ฉลาด

การศึกษา
พระพุทธพจนวราภรณ์ ได้เข้าเรียน จนได้รับวิทยฐานะ นักธรรมเอก ในปี พ.ศ.๒๔๘๒ และ เปรียญธรรม ๕ ประโยค ในปี พ.ศ.๒๔๘๒ นอกจากนี้ยังได้รับปริญญากิตติมศักดิ์ ทางด้าน การพัฒนาจากสถาบันอุดมศึกษาที่มีชื่อเสียงหลายแห่งของไทย ได้แก่ ปริญญาศิลปศาสตรบัณฑิต กิตติมศักดิ์ สาขาพัฒนาชุมชน จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ (พ.ศ.๒๕๓๐) ปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขามนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (พ.ศ.๒๕๓๒) ปริญญาพัฒนบริหารศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (พ.ศ. ๒๕๓๕) และปริญญาเทคโนโลยีการเกษตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาการวางแผนและพัฒนาชนบท จากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ (พ.ศ.๒๕๓๘) นอกจากนี้ท่านยังได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติมากมาย อาทิ เป็นศิลปินแห่งชาติ ด้านวัฒนธรรม สาขาภูมิปัญญาชาวบ้าน และพระสงฆ์นักพัฒนาดีเด่น เป็นต้น

ลำดับสมณศักดิ์
วันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๙๖ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตร ในราชทินนามที่ “พระครูวินัยโกศล”

วันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๑๒ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราช ในราชทินนามที่ “พระราชวินยาภรณ์ สุนทรธรรมสาธิต ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี”

วันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๒๖ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ในราชทินนามที่ “พระเทพกวี เมธีธรรมโฆษิต อรรถกิจจาทร ยติคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี”

วันที่ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๓๕ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม เป็นกรณีพิเศษ ในราชทินนามที่ “พระธรรมดิลก ธรรมสาธก วิจิตราภรณ์สุนทร พิพิธธรรมวาที ตรีปิฎกวิภูสิต ธรรมมิกคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี”

วันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๔ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นหิรัญบัฏหรือรองสมเด็จพระราชาคณะ ในราชทินนามที่ “พระพุทธพจนวราภรณ์ อดิศรวุฒิโสภณ วิมลศีลาจารวัตร วิสุทธิธรรมปฏิบัติวินยวาท พุทธศาสน์คณาธิกร ธรรมยุตติกคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี”

ลำดับงานปกครองคณะสงฆ์
พ.ศ.๒๔๘๗ ได้รับการแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการสงฆ์ประจำอำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ และเจ้าคณะอำเภอ จังหวัดเชียงใหม่-ลำพูน-แม่ฮ่องสอน (ธรรมยุต)

พ.ศ.๒๔๘๘ ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระวินัยธรชั้นต้น ภาค ๕ เขต ๑

พ.ศ.๒๔๙๕ ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะธรรมยุตผู้ช่วย จังหวัดเชียงใหม่-ลำพูน-ลำปาง-อุตรดิตถ์

พ.ศ.๒๕๐๒ ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์

พ.ศ.๒๕๑๒ ได้รับการแต่งตั้งเป็นรองเจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวงวรวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

พ.ศ.๒๕๑๔ ได้รับการแต่งตั้งเป็นครูใหญ่โรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา โรงเรียน สามัคคีวิทยาทาน

พ.ศ.๒๕๑๖ ได้รับการแต่งตั้งรักษาการเจ้าอาวาสวัดป่าดาราภิรมย์ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่

พ.ศ.๒๕๒๒ ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่-ลำพูน-แม่ฮ่องสอน (ธรรมยุต)

พ.ศ.๒๕๒๔ ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดป่าดาราภิรมย์ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่

พ.ศ.๒๕๓๐ ได้รับการแต่งตั้งเป็นอนุกรรมการคณะธรรมยุต และเป็นประธานกรรมการโรงเรียน พระปริยัติธรรม และโรงเรียนธรรมสาธิตศึกษา จังหวัดลำพูน

พ.ศ.๒๕๓๔ ได้รับการแต่งตั้งเป็นรองเจ้าคณะภาค ๔-๕-๖-๗ (ธรรมยุต) และเป็นรองเลขาธิการสภาการศึกษามหามกุฎราชวิทยาลัย วิทยาเขตล้านนา

พ.ศ.๒๕๓๕ ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดเจดีย์หลวงวรวิหาร (พระอารามหลวง) อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ และเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิการศึกษา การศาสนา การวัฒณธรรม เขตการศึกษา ๘

พ.ศ.๒๕๓๖ ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้รักษาการแทนเจ้าคณะภาค ๔-๕-๖-๗ (ธรรมยุต)

พ.ศ.๒๕๓๗ ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะภาค ๔-๕-๖-๗ (ธรรมยุต)

พระพุทธพจนวราภรณ์ (หลวงปู่จันทร์ กุสโล)

ตำแหน่งงานอื่นๆ
พ.ศ.๒๕๐๒ เป็นประธานกรรมการมูลนิธิเมตตาศึกษา ได้ก่อตั้งโรงเรียนเมตตาศึกษา ซึ่งเป็นโรง เรียนเอกชนที่รับเด็กเรียนดี แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ และมีความประพฤติเรียบร้อย เข้าเรียนโดยไม่เก็บค่าเล่าเรียน ในระดับมัธยมศึกษาปีที่ ๑-๓ ดำเนินงานมาจนถึงปัจจุบัน โดยอาศัยทุนทรัพย์จากผู้มีจิตศรัทธา ภายใต้การดำเนินงานของมูลนิธิเมตตาศึกษา ตั้งอยู่ที่บริเวณภายในวัดเจดีย์หลวงวรวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

พ.ศ.๒๕๑๗ เป็นประธานกรรมการมูลนิธิศึกษาพัฒนาชนบท โดยจัดตั้งมูลนิธิศึกษาพัฒนาชนบท ซึ่งมีสำนักงานตั้งอยู่ที่วัดป่าดาราภิรมย์ (พระอารามหลวง) เลขที่ ๕๑๔ หมู่ที่ ๑ ตำบลริมใต้ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่

พ.ศ.๒๕๑๘ เป็นประธานคณะกรรมการส่วนภูมิภาค ภาค ๕ ของสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย (ฝ่ายบรรพชิต), เป็นประธานชมรมศาสนิกสัมพันธ์เชียงใหม่

พ.ศ.๒๕๒๑ เป็นอาจารย์พิเศษของสถาบันอุดมศึกษาต่างๆ ในจังหวัดเชียงใหม่ ทั้งระดับปริญญาตรีและปริญญาโท อาทิ คณะศึกษาศาสตร์, มนุษยศาสตร์, สังคมศาสตร์, พยาบาลศาสตร์ ฯลฯ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสหวิทยาลัยครูเชียงใหม่

พ.ศ.๒๕๒๕ เป็นกรรมการที่ปรึกษาชมรมยาพื้นบ้านล้านนาไทย ซึ่งเป็นการรักษาและอนุรักษ์ยา พื้นบ้านของไทย

พ.ศ.๒๕๒๖ เป็นกรรมการอุปถัมภ์โรงเรียนพุทธิโสภณ

พ.ศ.๒๕๒๗ เป็นกรรมการที่ปรึกษาหน่วยงานสากล ที่ให้การส่งเสริมความร่วมมือ และประสานงานการพัฒนาชนบท ทุกระดับในประเทศไทย, เป็นกรรมการอุปถัมภ์มูลนิธิส่งเสริมโภชนาการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ

พ.ศ.๒๕๓๒ เป็นกรรมอุปถัมภ์ชมรมธรรมานามัยศูนย์เชียงใหม่, เป็นกรรมการวางแผนการศึกษา การศาสนา และศิลปวัฒนธรรม ประจำจังหวัดเชียงใหม่

พ.ศ.๒๕๓๔ ร่วมกับมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กรุงเทพฯ จัดตั้งมหาวิทยาลัยสงฆ์ทางพระพุทธศาสนาขึ้น ณ วัดเจดีย์หลวงวรวิหาร จังหวัดเชียงใหม่ มีชื่อว่า “สภาการศึกษามหากุฎราชวิทยาลัย วิทยาเขตล้านนา”

พ.ศ.๒๕๓๕ เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิการศึกษา การศาสนา และการวัฒนธรรม เขตการศึกษา ๘

ผลงานดีเด่นและเกียรติคุณที่ได้รับยกย่อง
พ.ศ.๒๕๐๒-พ.ศ.๒๕๕๑ ริเริ่มงานพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยระบบมูลนิธิฯ และการจัดการศึกษาในลักษณะแบบให้เปล่าแก่เด็กยากจน ที่ไม่มีโอกาส คือ มูลนิธิเมตตาศึกษาและโรงเรียนเมตตาศึกษา

ได้มีศรัทธาจำนวนมากทั้งส่วนบุคคล และองค์กรทั้งของรัฐและเอกชนในประเทศ และต่างประเทศ ได้ร่วมกันบริจาคสร้างตึกเรียน, หอประชุมมีชื่อว่า “วินยาภรณ์” (ตั้งชื่อเป็นเกียรติแก่พระพุทธพจนวราภรณ์ (จันทร์ กุสโล) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์เป็นพระราชวินยาภรณ์ ด้วยเงินบริจาคจากองค์กร NOVIB ประเทศเนเธอร์แลนด์) และช่วยให้นักเรียนที่นอกจากจะไม่เสียค่าเล่าเรียน และค่าบำรุงใดๆ แล้วยังได้รับความช่วยเหลือตามความจำเป็นด้านต่างๆ อาทิ ค่าอาหารกลางวัน, ค่ารถไปโรงเรียน, ค่าอุปกรณ์การเรียน นอกจากนี้ นักเรียนยังมีโอกาสได้ทำงานพิเศษ เพื่อเสริมรายได้ให้ครอบครัว นอกเวลาเรียน และระหว่างปิดภาคเรียน

ตลอดจนมีโอกาสแข่งขันชิงทุนของมูลนิธิเมตตายามาโมโต (มูลนิธิที่จัดตั้งขึ้นจากข้อตกลงร่วมกันระหว่าง Mr.Munio Yamamoto ชาวญี่ปุ่น ที่ศรัทธาต่อพระพุทธพจนวราภรณ์ (จันทร์ กุสโล) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์เป็นพระธรรมดิลก เมื่อปลายปี พ.ศ.๒๕๒๘) หลังจากที่จบการศึกษาของโรงเรียนในระดับมัธยม ๖ แล้ว เพื่อเข้ารับการศึกษาและฝึกทักษะการใช้ภาษาญี่ปุ่นเป็นเวลา ๑ ปีเต็มในประเทศ หรือบางปีก็ได้ไปเรียนและฝึกงานในบริษัทของผู้ให้ทุนผ่านมูลนิธิฯ มา เช่น ณ ประเทศญี่ปุ่น เป็นเวลา ๖ เดือนเต็ม เป็นต้น ผลสำเร็จสูงสุดของผู้ได้รับทุนนี้คือ ทุกคนได้รับการจองตัวหรือได้งานดี และได้รับเงินเดือนสูงกว่าระดับปริญญา

พ.ศ.๒๕๐๒-พ.ศ.๒๕๕๑ ใช้ความสามารถเชิงกวีนิพนธ์ เชิงปลูกฝังคุณธรรม ที่ให้ข้อคิดในการดำรงชีวิตประจำวันของคนทั่วไป โดยได้เริ่มเผยแพร่ออกสู่สายตาประชาชนในรูปของกวีนิพนธ์ “มงคลชีวิตประสิทธิ์พร” ที่จัดพิมพ์ลงในบัตรส่งความสุขในแต่ละปี เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๐๔ เป็นต้นมา คำพรข้อคิดสั้นๆ ที่พระพุทธพจนวราภรณ์ (จันทร์ กุสโล) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์เป็นพระเทพกวี ได้ร้อยกรองขึ้นนี้ มีผู้กล่าวขวัญและนิยมกันมาก คือ ได้มีผู้รวบรวมจัดพิมพ์เผยแพร่ในลักษณะของจุลสาร, หนังสือชำร่วยที่แจกในโอกาสต่างๆ และได้นำออกรายการข้อคิดประจำวันทางสถานีวิทยุทหารอากาศ และสถานีวิทยุประชาสัมพันธ์เชียงใหม่ ทุกวัน และในปี พ.ศ.๒๕๓๑ ได้มีผู้นำกวีนิพนธ์ “มงคลชีวิตประสิทธิ์พร” มาแปลเป็นภาษาอังกฤษ ทำให้ผลงานเชิงกวีนิพนธ์ที่เป็นคติเตือนใจหรือสอนใจนี้ แพร่หลายเป็นที่นิยมยกย่องในต่างประเทศอีกด้วย

การมรณภาพ
พระพุทธพจนวราภรณ์ (หลวงปู่จันทร์ กุสโล) ได้มรณภาพลงอย่างสงบด้วยโรคถุงลมโป่งพอง และโรคปอด เมื่อวันที่ ๑๑ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๑ เวลาประมาณ ๑๘.๓๕ นาฬิกา หลังจากรักษาอาการอาพาธมาเป็นเวลานาน โดยคณะแพทย์จากโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ได้ย้ายการรักษาจากโรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ มาถวายการรักษาอยู่ ณ กุฏิจันทร์ กุสโล ภายในวัดเจดีย์หลวงวรวิหาร ตั้งแต่วันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๑ เป็นต้นมาจวบจนวาระสุดท้ายของชีวิต

สิริอายุรวมได้ ๙๑ ปี พรรษา ๗๑

ท่ามกลางความโศกเศร้าอาลัยเป็นยิ่งนักของบรรดาคณะสงฆ์ คณะศิษยานุศิษย์ และสาธุชนทั่วไปที่ไปเคารพศพอย่างเนืองแน่น

อัฐิธาตุ ในหอธรรม หลวงปู่จันทร์ กุสโล
ภายใน โรงเรียนเมตตาศึกษา ในพระราชูปถัมภ์

โอวาทธรรม พระพุทธพจนวราภรณ์ (หลวงปู่จันทร์ กุสโล)
“..สำรวมจิตพิศแจ้ง ทางธรรม
ดวงจิตได้ดื่มด่ำ ธรรมรส
ได้ปัญญาอุปถัมภ์ รู้ชัด
พระธรรมจะปรากฏ สว่างจ้าผ่านพ้นนิวรณ์..”

“ถ้าหวังพึ่งแต่คนอื่น
จะต้องกลืนน้ำตาตัวเอง”

“ให้ทุกคนปรับปรุงตัวเอง
ทำตัวเองให้ดีก่อนอื่น
เมื่อปรับปรุงตัวเองให้ดีแล้ว
เท่ากับได้ปรับปรุงคนอื่นพร้อมกันไปด้วย
เพราะการสอนที่ดี
คือการทำให้ดูเป็นตัวอย่างนั่นเอง”

“สิ่งที่ได้มาเปล่า คือ ความเฒ่าชรา
สิ่งที่ต้องแสวงหา คือ คุณค่าของชีวิต”

คาถากันความทุกข์
“..เมื่อได้ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ให้เสกคาถาว่า เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เมื่อสิ่งเหล่านี้เสื่อมสิ้นไปจะได้ไม่ทุกข์ใจ..”