ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่สาคร ธัมมาวุโธ
วัดเวฬุวัน
ต.ท่าขนุน อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี
หลวงปู่สาคร ธัมมาวุโธ (พระครูภาวนาสุทธาจาร) มีนามเดิมว่า สาคร แสงมุกดา เกิดเมื่อวันที่ ๒ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๘๖ ตรงกับวันพุธ แรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีมะแม เป็นชาวหนองบัวลำภูโดยกำเนิด
ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง เจ้าอาวาสวัดเวฬุวัน ต.ท่าขนุน อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี และประธานสงฆ์ วัดป่ามณีกาญจน์ ต.ศาลากลาง อ.บางกรวย จ.นนทบุรี
๏ การศึกษาเบื้องต้นและการอุปสมบท
หลังจากจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ ที่โรงเรียนบ้านนาวังเวิน ต.โพธิ์ชัย อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู ได้ออกมาช่วยกิจการทางบ้าน ดูแลบ้านเรือน วัว ควาย ไร่นา เป็นเวลา ๘ ปี เมื่อว่างจากกิจการงานที่ทำแล้ว ได้มีโอกาสไปวัดทำบุญเป็นประจำ ประกอบกับมีญาติพี่น้องได้บวชเรียนเขียนอ่านกันหลายคน ทำให้มีจิตใจฝักใฝ่ในการศึกษาธรรม
ครั้นเมื่อท่านมีอายุครบ ๒๒ ปี บริบูรณ์ จึงได้เข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่อวันที่ ๓ เมษายน พ.ศ.๒๕๐๘ ณ พัทธสีมาวัดมหาชัย ต.หนองบัวลำภู อ.เมือง จ.หนองบัวลำภู โดยมีพระพิศาลคณานุกิจ เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระสมุห์คำบาล เป็นพระกรรมวาจาจารย์
๏ ศึกษาปฏิบัติธรรมและอุปัฏฐากครูบาอาจารย์
หลังจากครองผ้าเหลือง หลวงปู่สาครได้ศึกษาถึงข้อวัตรปฏิบัติและพระธรรมวินัยเป็นอย่างดีแล้ว ท่านได้ออกเดินธุดงค์แสวงหาครูบาอาจารย์ หลวงปู่สาครได้รับความเมตตาให้อยู่ศึกษาปฏิบัติอยู่กับ “หลวงปู่ชอบ ฐานสโม” ที่วัดป่าม่วงไข่ ต.สานตม อ.ภูเรือ จ.เลย
ในปี พ.ศ.๒๕๐๙ ท่านได้มีโอกาสไปอุปัฏฐาก “หลวงปู่หลุย จนฺทสาโร” ที่วัดถ้ำผาบิ้ง ต.ผาบิ้ง อ.วังสะพุง จ.เลย และได้ร่วมออกเดินธุดงค์ไปตามสถานที่ต่างๆ ทั่วจังหวัดเลย รวมทั้งจังหวัดใกล้เคียง เป็นช่วงเวลาที่หลวงปู่สาคร ได้อุปัฏฐากและศึกษาปฏิบัติธรรมอย่างใกล้ชิดกับหลวงปู่หลุย นานถึง ๕ เดือน
จากนั้นท่านได้รับความเมตตาจากหลวงปู่หลุย ชักนำให้ไปศึกษาปฏิบัติธรรมและอุปัฏฐากรับใช้อยู่กับ “หลวงปู่ฝั้น อาจาโร” ที่วัดป่าอุดมสมพร ต.พรรณา อ.พรรรณานิคม จ.สกลนคร ตลอดเวลาที่หลวงปู่สาครได้รับใช้ใกล้ชิดหลวงปู่ฝั้น ท่านได้แบ่งเบาภาระต่างๆ ทั้งกิจการภายในวัดและภายนอกวัด จนเป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจของหลวงปู่ฝั้น
หลวงปู่สาคร ได้อยู่อุปัฏฐากและติดตามหลวงปู่ฝั้น ไปตามกิจนิมนต์ต่างๆ จนกระทั่งหลวงปู่ฝั้นได้มรณภาพลง เมื่อวันอังคารที่ ๔ มกราคม พ.ศ.๒๕๒๐ รวมเป็นระยะเวลา ๑๐ ปีเศษ ทั้งนี้ ท่านได้ยึดหลักปฏิบัติอยู่ ๔ ประการคือ
๑. นอนทีหลัง
๒. ตื่นก่อน
๓. กินทีหลัง
๔. อิ่มก่อน
การอยู่อุปัฏฐากรับใช้และติดตามครูบาอาจารย์นี้ กลายเป็นสิ่งที่ท่านภาคภูมิใจและซาบซึ้งใจเป็นอย่างมาก ที่ได้รับความเมตตาจากครูบาอาจารย์ซึ่งมีคุณธรรมอันวิเศษสุด
ในปี พ.ศ.๒๕๒๑ หลังจากเสร็จงานพระราชทานเพลิงศพหลวงปู่ฝั้น อาจาโร ณ วัดป่าอุดมสมพร หลวงปู่สาครได้มีโอกาสกลับไปอุปัฏฐากหลวงปู่หลุย จนฺทสาโร อีกครั้งหนึ่ง เป็นเวลาประมาณ ๕ เดือน จึงขอโอกาสกราบลาเพื่อไปแสวงหาที่ปฏิบัติธรรมต่อไป โดยท่านเลือกที่จะมาหาแสวงหาความสงบวิเวก และปฏิบัติกัมมัฏฐานแถบจังหวัดกาญจนบุรี เพราะเป็นสถานที่ที่ยังไม่ค่อยมีพระนักปฏิบัติธรรมมาพักอยู่ในแถบนี้
๏ สร้างวัดเวฬุวัน
ในพรรษาแรก หลวงปู่สาครได้พักอยู่ที่ถ้ำแก่งกะโต่ง ต่อมาท่านได้พิจารณาหาสถานที่ที่เหมาะสม โดยชักชวนคณะศรัทธาญาติโยมก่อสร้างวัดขึ้นในพื้นที่ ต.ท่าขนุน อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี (ใกล้ที่ว่าการอำเภอทองผาภูมิ) ปัจจุบัน คือ “วัดเวฬุวัน” นั่นเอง
๏ สร้างวัดป่ามณีกาญจน์
สืบเนื่องจากเมื่อช่วงเดือนธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๕ คราวเตรียมงานฉลองเจดีย์พิพิธภัณฑ์หลวงปู่เสาร์ กนฺตสีโล ณ วัดดอนธาตุ บ้านทรายมูล ต.ทรายมูล อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี หลวงปู่สาคร ธัมมาวุโธ เจ้าอาวาสวัดเวฬุวัน ได้รับมอบหมายจากคณะทำงานคราวนั้น ให้รับหน้าที่ติดต่อประสานงานทั้งระหว่างหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และองค์พระเถรานุเถระที่เมตตารับนิมนต์มาร่วมพิธีในคราวนั้น
ในการนี้หลวงปู่สาคร ต้องเดินทางระหว่างจังหวัดกาญจนบุรีกับจังหวัดอุบลราชธานีบ่อยครั้ง อีกทั้งยังต้องติดต่อประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่มีที่ทำการอยู่ในกรุงเทพฯ ท่านจึงต้องพำนักพักแรมในกรุงเทพฯ
ด้วยเหตุความจำเป็นในการที่จะต้องพักแรมในกรุงเทพฯ นี้เอง ท่านพิจารณาเห็นว่าสถานที่พักที่เหมาะสำหรับพระภิกษุสามเณร สังกัดธรรมยุต ในกรุงเทพฯ นั้นมีไม่เพียงพอกับจำนวนพระภิกษุสามเณรที่มีความจำเป็นต้องมาพักแรม ทั้งกรณีอาพาธต้องเข้ารับการรักษาพยาบาล หรือมีกิจนิมนต์ ในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล หรือจังหวัดใกล้เคียง อีกทั้งสถานที่พักส่วนใหญ่ไม่สะดวกในการรักษาข้อวัตรปฏิบัติให้สมบูรณ์ ท่านจึงได้ปรารภเรื่องนี้ในหมู่ลูกศิษย์ของท่าน
เวลานั้นลูกศิษย์ท่านหนึ่ง ทราบความประสงค์อันกอปรด้วยกุศลเจตนาของหลวงปู่สาคร จึงนำความไปปรึกษากับกลุ่มญาติ ซึ่งมีที่ดินอยู่ ณ ต.ศาลากลาง อ.บางกรวย จ.นนทบุรี จำนวน ๙ ไร่ ๒ งาน ที่ซื้อมาเมื่อ ๓๐ ปีที่แล้ว
กลุ่มญาติทั้งหมดอันประกอบด้วย มรว.วรรณี มณีกาญจน์, นายสันติ มณีกาญจน์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดเลยและจังหวัดหนองคาย, นางสาวชูพักตร์ มณีกาญจน์, นางบุญล้อม มณีกาญจน์ และลูกๆ ของนายประสิทธิ์ มณีกาญจน์ มีความเห็นพ้องต้องกันว่า สมควรถวายที่ดินผืนดังกล่าวเพื่อก่อสร้างวัดในสังกัดธรรมยุต เพื่อเป็นสถานที่พักปฏิบัติธรรมและประกอบศาสนกิจในบวรพระพุทธศาสนาต่อไป ซึ่งหลวงปู่สาครได้ให้ชื่อวัดแห่งนี้ เพื่อเป็นที่ระลึกแก่กุศลธรรมของญาติโยมที่มีจิตศรัทธาถวายที่ดินว่า “วัดป่ามณีกาญจน์”
การดำเนินการก่อสร้างจึงได้เริ่มขึ้น เมื่อวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๖ โดยรวบรวมจตุปัจจัยจากผู้มีจิตศรัทธา ภายในวัดมีเสนาสนะ อาทิเช่น ศาลาเอนกประสงค์ ขนาดกว้าง ๑๔ เมตร ยาว ๑๖ เมตร และกุฏิที่พักสงฆ์ ขนาดกว้าง ๒.๕ เมตร ยาว ๓ เมตร เป็นต้น
ครั้นต่อมา หลวงปู่สาครได้กราบปรึกษาหลวงปู่เหรียญ วรลาโภ เรื่องการขยายเนื้อที่ของวัดป่ามณีกาญจน์ เพื่อให้เพียงพอแก่การสร้างที่พัก ทั้งของพระภิกษุสงฆ์และฆารวาส ตลอดจนคนขับรถ พร้อมทั้งที่จอดรถที่สามารถจุรถได้มากเพียงพอแก่การใช้งานจริง
โดยเฉพาะพ่อแม่ครูบาอาจารย์จากทุกจังหวัด จะได้รับความสะดวกใช้เป็นสถานที่พำนักอาศัยและปฏิบัติธรรม ทั้งในกรณีที่ท่านเดินทางเข้ามาเพื่อประกอบศาสนกิจหรือรักษาอาการอาพาธ อีกทั้ง ยังเป็นการช่วยลดอุบัติเหตุอันอาจจะเกิดขึ้นแก่พ่อแม่ครูบาอาจารย์ ในกรณีที่คนขับรถไม่มีที่หลับที่นอน ทำให้เกิดเหตุคนขับรถหลับในได้ ตลอดจนเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ศรัทธาญาติโยมที่สนใจการปฏิบัติธรรม ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งในการนี้หลวงปู่เหรียญ วรลาโภ รับเป็นประธานสงฆ์
ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๗ คณะศิษยานุศิษย์และคณะศรัทธาญาติโยมได้ร่วมกันจัดซื้อที่ดินเพิ่มเติมเพื่อขยายเนื้อที่ของวัด อีกจำนวน ๑๕ ไร่ ดังนั้น ปัจจุบันเนื้อที่ของวัดป่ามณีกาญจน์ จึงมีรวมทั้งหมดจำนวน ๒๔ ไร่ ๒ งาน
๏ เจริญรอยตามวัตรปฏิบัติของครูบาอาจารย์
หลวงปู่สาคร เป็นพระเถระที่ยึดมั่นในหลักธรรมคำสอน ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ เจริญรอยตามวัตรปฏิบัติของครูบาอาจารย์โดยเคร่งครัด กอปรด้วยความกตัญญูกตเวทิตาอย่างมิรู้เสื่อมคลาย เป็นพระสายกัมมัฏฐานที่สาธุชนกราบไหว้ได้โดยสนิทใจแท้
ปัจจุบัน พระครูภาวนาสุทธาจาร (หลวงปู่สาคร ธัมมาวุโธ) เจ้าอาวาสวัดเวฬุวัน ต.ท่าขนุน อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี เจริญอายุวัฒนมงคลครบ ๗๕ ปี พรรษา ๕๕ (พ.ศ.๒๕๖๓)
โอวาทธรรมคำสอน หลวงปู่สาคร ธัมมาวุโธ
“..คนไม่เก่ง สอนให้เก่งได้ คนที่เก่งแต่หาความซื่อสัตย์ไม่ได้ อย่าเอาไว้ ต้องหลีกให้ห่างไกล ไล่ไปให้ไกล..”