วันอังคาร, 26 พฤศจิกายน 2567

หลวงพ่อทูล ขิปปปัญโญ วัดป่าบ้านค้อ ต.เขือน้ำ อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี

ประวัติและปฏิปทา หลวงพ่อทูล ขิปปปัญโญ

วัดป่าบ้านค้อ
ต.เขือน้ำ อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี

พระปัญญาพิศาลเถร (หลวงพ่อทูล ขิปฺปปญฺโญ) วัดป่าบ้านค้อ 

หลวงพ่อทูล ขิปปปัญโญ เกิดเมื่อวันจันทร์ที่ ๒๐ พ.ค.๒๔๗๘ ณ บ้านหนองค้อ ต.บัวค้อ อ.เมือง จ.มหาสารคาม ในสกุล นนฤๅชา

หลวงพ่อทูล เป็นบุตรคนที่ ๕ มีพี่น้องร่วมบิดามารดา ๑๐ คน คือ
๑.นายโฮม นนฤาชา (ถึงแก่กรรม)
๒.นางติ่ง ร่วมจิต
๓.นางปุ่น โสมา (ถึงแก่กรรม)
๔.นางบุญน้อย นามคุณ (ถึงแก่กรรม)
๕.พระอาจารย์ทูล ขิปฺปปญฺโญ
๖.นางบับพา อาร้อน
๗.พระบุญมา สิริธมโม
๘.นายโสภา นนฤาชา
๙.นางบุญหนา ขันธวิชัย
๑๐.นางบัวเงิน กองอำไพ

เมื่ออายุ ๗ ขวบ ครอบครัวอพยพมาอยู่ที่บ้านหนองแวง (แก้มหอม) ต.ไชยวาน อ.ไชยวาน จ.อุดรธานี

เรียนหนังสือและจบการศึกษาชั้นประถมปีที่ ๔ โรงเรียนบ้านหนองแวง แต่ปรากฏว่าเมื่อเรียนจบแล้ว ทางครอบครัวไม่มีเงินให้เรียนต่อในระดับสูงได้

ต่อมาได้บวชเป็นสามเณรอยู่ที่บ้านหนองแวง ๑ ปี ศึกษานักธรรมชั้นตรีจบได้อย่างรวดเร็ว และได้ไปศึกษาต่อจนจบนักธรรมโทและนักธรรมเอกที่ จ.มหาสารคาม ก่อนลาสิกขาออกมาช่วยครอบครัวทำไร่ทำนาหา เลี้ยงชีพ

อายุครบ ๒๐ ปี อุปสมบท จำพรรษาอยู่ที่วัดไชยนาถวราราม อ.ไชยวาน จ.อุดรธานี เป็นพระสายมหานิกาย ได้ไปเห็นวัดป่าสันติกาวาส สายธรรมยุต และได้เห็นข้อปฏิบัติของพระวัดนี้ จนเกิดความเลื่อมใสศรัทธา

หลวง​พ่อ​ทูล​ ข​ิ​ป​ฺป​ปญฺโญ​
วัด​ป่า​บ้าน​ค้อ​ อ.บ้าน​ผือ จ.อุดรธานี

วันที่ ๒๗ ก.ค. พ.ศ.๒๕๐๔ อุปสมบทเป็นพระสายธรรมยุต ที่วัดโพธิสมภรณ์ อ.เมือง จ.อุดรธานี โดยมีพระธรรมเจดีย์ (จูม พันธุโล) เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอุดมญาณโมลี เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และท่านเจ้าคุณจันโทปมาจารย์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายา “ขิปปปัญโญ

จากนั้นย้ายไปอยู่จำพรรษาที่วัดเขมวราราม บ้านโนนสมบูรณ์ อ.บ้านผือ จ.อุดรธานี ช่วงแรกท่านออกปฏิบัติภาวนา จาริกบำเพ็ญสมณธรรมไปยังสถานที่ สัปปายะหลายแห่ง ได้เข้าถวายตัวเป็นศิษย์หลวงปู่ขาว อนาลโย วัดถ้ำกลองเพล

ภายหลังสร้างวัดป่าบ้านค้อ เมื่อวันที่ ๑ ม.ค. พ.ศ.๒๕๒๘ ในเนื้อที่ ๔๑๐ ไร่ ได้พำนักปฏิบัติธรรมและทำหน้าที่เป็นเจ้าอาวาสวัดป่าบ้านค้อมาตลอด

ต้นปี พ.ศ.๒๕๔๐ คณะสงฆ์ในเขตพื้นที่ อ.บ้านผือ อ.น้ำโสม อ.นายูง จ.อุดรฯ ได้ประชุมพิจารณาเสนอให้หลวงพ่อทูล ออกแบบและดำเนินการก่อสร้างพระมหาธาตุเจดีย์ บรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่ได้อัญเชิญมาจากศรีลังกา โดยทางจังหวัดอุดรธานี กำหนดให้เป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๒ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อว่า “พระมหาธาตุเจดีย์เฉลิมพระบารมีพระนวมินทร์” ใช้เวลาก่อสร้าง ๑๕ เดือน งบประมาณ ๗๓ ล้านบาท

ขณะเดียวกัน “หลวงพ่อทูล” ได้อุทิศชีวิตให้กับงานเผยแผ่พระพุทธศาสนามาก ได้เขียนหนังสือธรรมปฏิบัติเป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย อาทิ หนังสือคู่มือชาวพุทธ แนวทางปฏิบัติภาวนา ทวนกระแส ตัดกระแส ข้ามกระแส พ้นกระแสโลก และพบกระแสธรรม หนังสือทั้งหมดนี้มีความเหมาะสมในการปฏิบัติเป็นอย่างยิ่ง อ่านแล้วเข้าใจง่าย มีเหตุผล และเป็นอุบายแนวทางปฏิบัติโดยตรง

ด้านการอบรมธรรมะปฏิบัติ
ท่านได้จัดให้มีกิจกรรมเผยแผ่ธรรมะอีกหลายรูปแบบและในทุกรอบปี มีการจัดบรรพชาอุปสมบทและอบรมธรรมปฏิบัติแก่ นักเรียนนักศึกษา ข้าราชการ และประชาชนทั่วไป อยู่เสมอ
ปี พ.ศ.๒๕๓๐ เริ่มมีการจัดการอบรมปฏิบัติธรรม ณ วัดป่าบ้านค้อ

ปี พ.ศ.๒๕๔๑ เริ่มจัดงานปฏิบัติธรรม สรงน้ำพระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งจัดเป็นประจำทุกปี

ปี พ.ศ.๒๕๔๒ พระสงฆ์ แม่ชี วิทยากร ออกอบรมธรรมปฏิบัติตามแนวทางการสอนของหลวงพ่อทูล ขิปปปญฺโญ ในโครงการปฏิบัติธรรม ขิปปัญญานุสรณ์ในเขตภาคเหนือตอนบน

ปี พ.ศ.๒๕๔๕ จัดอบรมธรรมแก่เยาวชนในโรงเรียนและสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนหลายจังหวัด วัดป่าบ้านค้อ และวัดตาดน้ำพุ ซึ่งเป็นวัดสาขา ทำการอบรมธรรมะแก่เยาวชน มาโดยตลอด โดยเน้นให้เยาวชนรู้จักคุณค่าของตนเอง สามารถแก้ปัญหาด้วยปัญญาของตนได้

เผยแผ่ศาสนธรรมในต่างแดน
ปี พ.ศ.๒๕๓๐ หลวงพ่อทูลท่านได้เริ่มเผยแผ่ธรรมะในต่างแดนโดยท่านเมตตาเดินทางไปโปรดคณะศิษย์ในประเทศสหรัฐอเมริกา ก่อให้เกิดการตื่นตัวในหมู่ผู้ปฏิบัติธรรมเป็นอย่างมาก มีการรวมกลุ่มปฏิบัติธรรม โดยใช้ชื่อกลุ่มว่า “K.P.Y.” ย่อมาจาก KhippaPanYo (ขิปปปัญโญ-ปัญญาไว)

ปี พ.ศ.๒๕๔๓ คณะศิษย์ในซานฟรานซิสโก ร่วมกันถวายศูนย์ปฏิบัติธรรม K.P.Y (KPY Buddhist Monastery,Sanfrancisco USA.)
ปี พ.ศ.๒๕๔๕ คณะศิษย์ในสหรัฐอเมริกาได้ถวายวัดแก่หลวงพ่อ คือ วัดนิวยอร์คธัมมาราม (New York Dhammaram Temple, 33-37 97th Street,Corona, NY.11368) ที่นครนิวยอร์ค

ปี พ.ศ.๒๕๔๖ คณะศิษย์ในสหรัฐอเมริกาได้ถวายวัดแก่หลวงพ่อ ที่นครซานฟรานซิสโกคือวัดซานฟรานธัมมาราม (San Fran Dhammaram Temple, 473 11th Ave., S.F., CA. 94118)

ปี พ.ศ.๒๕๔๗ เริ่มก่อตั้งวัดฮ่องกงธัมมาราม ที่ฮ่องกง

ปี พ.ศ.๒๕๔๘ ตั้งวัดฮ่องกงธัมมาราม (Hong Kong Dhammaram Temple, 118 Tai Tong Street, Yuen Long Town, New Territories, Hong Kong)

ด้านการบำเพ็ญสาธารณประโยชน์
หลวงพ่อทูล ท่านได้ทำนุบำรุงวัดวาอารามและพระภิกษุสามเณร โดยได้เมตตาเป็นองค์ประธานรวบรวมคณะศรัทธาทอดถวายกฐินและผ้าป่าตามเทสกาลให้แก่วัดและสำนักสงฆ์ที่ขาดแคลน ในเขตจังหวัดอุดรธานี หนองคาย หนองบัวลำภู และจังหวัดใกล้เคียงอย่างสม่ำเสมอ ตลอดทั้ง สนับสนุนการก่อสร้างซ่อมแซมเสนาสนะ รวมถึงการสนับสนุนปัจจัย ๔ ด้านอื่น ให้แก่วัดวาอารามต่างๆ เป็นการดำรงไว้ซึ่งพระพุทธศาสนาให้คงอยู่สืบไป

ทางด้านการส่งเสริมกิจการของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ท่านได้จัดตั้งกองทุนกลุ่มสตรีประจำหมู่บ้าน ช่วยหาทุนสร้างโรงพยาบาล แจกจ่ายเครื่องนุ่งห่มและเวชภัณฑ์ให้หมู่บ้านใกล้เคียงเพื่อให้หน่วยงานเหล่านั้น ดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสามารถรองรับนโยบายของหน่วยงานภาครัฐ เป็นการช่วยเหลือสังคมและงานภาครัฐอีกทางหนึ่งด้วย

หลวงพ่อทูล ท่านให้การสนับสนุนต่อกิจการคณะสงฆ์อย่างมิได้ขาด โดยได้เป็นเจ้าภาพด้านสถานที่ในการประชุมพระสังฆาธิการและตรวจธรรมสนามหลวงชั้นตรี ณ วัดป่าบ้านค้อ ปี พ.ศ.๒๕๔๖

จากการที่ท่านได้บำเพ็ญประโยชน์ให้แก่สังคมเป็นอเนกประการ บำเพ็ญศาสนกิจ,ศาสนกิจน้อยใหญ่ เปี่ยมด้วยเมตตาธรรม, กรุณาธรรม ให้กับประเทศชาติและพระศาสนาเป็นเนืองนิจ

ดังนั้นในวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ๑๒ สิงหาคม ๒๕๔๗ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรึณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสมณศักดิ์ เป็นกรณีพิเศษ เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ “พระปัญญาพิศาลเถร

หลวงพ่อทูล ขิปปปัญโญ
ได้รับแต่งตั้งเป็นพระราชคณะ สมณะศักดิ์ พระปัญญาพิศาลเถร
เมื่อวันที่ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๔๗

หลวงพ่อทูล เน้นย้ำเสมอว่า การปฏิบัติที่ถูกต้องเริ่มจากการมีสัมมาทิฏฐิ ซึ่งเกิดขึ้นจากการฝึกปัญญาให้ใจเห็นจริงตามไตรลักษณ์

ในส่วนของการเผยแผ่ และการบริการชุมชน ทางจังหวัดอุดรธานี กำหนดให้วัดป่าบ้านค้อ เป็นศูนย์พัฒนาจิตเฉลิมพระเกียรติประจำจังหวัดอุดรธานี จัดให้มีการบรรพชาอุปสมบท อบรมกลุ่มปฏิบัติธรรมแก่นักเรียน ข้าราชการและประชาชนทั่วไป อีกทั้งยังมีฆราวาส ทั้งชาวไทยและต่างประเทศ เข้าพักรับอุบายธรรมภาคปฏิบัติอยู่อย่างสม่ำเสมอ

หลวงพ่อทูล ขิปปปัญโญ

หลังจากอุทิศตนรับใช้พุทธศาสนามาอย่างยาวนาน ในช่วงบั้นปลายชีวิต ด้วยความไม่เที่ยงของสังขาร วันที่ ๑๑ พ.ย. พ.ศ.๒๕๕๑ หลวงพ่อทูล ท่านได้มรณภาพลงอย่างสงบ ด้วยอาการปอดติดเชื้อ

สิริรวมอายุ ๗๓ ปี พรรษา ๔๘

ได้รับพระราชทานเพลิงศพ เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๕๒ ณ วัดป่าบ้านค้อ

อัฐิธาตุ ของท่าน หลวง​พ่อ​ทูล​ ข​ิ​ป​ฺป​ปญฺโญ​

ภายหลัง อัฐิธาตุของหลวงพ่อทูล ได้แปรสภาพเป็นพระธาตุ เป็นเครื่องประกาศคุณธรรมที่บริสุทธิ์ เป็นพระอริยบุคคลอีกท่านหนึ่งที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ สมดังความมุ่งมั่นตามที่ท่านได้ตั้งสัจจะในครั้งออกบวชว่า

“ท่านจะขอมอบกายและถวายชีวิตเพื่อบูชาคุณพระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า และพระสงฆ์เจ้า จะทำประโยชน์ตนและประโยชน์ท่านให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท”

พระมหาธาตุเจดีย์ และ พิพิธภัณฑ์หลวงพ่อทูล ขิปปปัญโญ
ณ วัดป่าบ้านค้อ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี
ภายในพิพิธภัณฑ์ หลวงพ่อทูล ขิปปปัญโญ
ณ วัดป่าบ้านค้อ อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี

โอวาทธรรม หลวงพ่อทูล ขิปปปัญโญ
.รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส เป็นแม่เหล็กใหญ่ของโลก จะดึงให้มาเกิดอีก ตัวแก้คือปัญญา อยู่กับโลกแต่ไม่ติดกับสิ่งเหล่านี้

ความไม่สวยงามในร่างกายนี้ ผู้มีปัญญาเท่านั้นจึงจะรู้ เห็นตามความเป็นจริง ธรรมชาติเดิมของร่างกายแล้ว ไม่มีสิ่งใดเป็นของสวยงาม มีแต่สิ่งสกปรกโสโครก… ความสวยงามนั้นมีอยู่ที่กิเลส สังขาร โมหะ อวิชชา มีความเข้าใจผิด รูปนั้นจึงมีความสวยงาม รูปสวยงามเพราะความรัก รูปสวยงามเพราะความยินดี รูปสวยงามเพราะความใคร่ รูปสวยงามเพราะมีความกำหนัด ถ้าจิตไม่มีความรัก ความใคร่ ความกำหนัดแล้ว รูปนั้นจะไม่มีสิ่งใดเป็นของสวยงามเลย…”

“..ถ้าเรารู้จริงเห็นจริงของสิ่งใด
เราจะละวางเองในของสิ่งนั้น
เหมือนรู้ว่าคนนั้นเป็นโจร
เราก็จะไม่ไปเกี่ยวข้องกับคนนั้น..”

“..ถ้าตายแล้วก็แล้วกันไป ถ้ายังไม่ตายเมื่อตื่นนอนทุกเช้าก็ทำใจไว้ว่า วันนี้กับวันที่ผ่านมาแล้วแต่ละวันๆ จะไม่เหมือนกัน วันนี้เราจะเจอเหตุการณ์อะไรอีก ไม่มีความแน่นอนอะไรเลย เราต้องเตรียมตัวเอาไว้ อะไรจะเกิดก็ต้องเกิด นี่นักปฏิบัติต้องทำอย่างนี้..”

“..การพูดไม่ดีกับคนอื่นอย่างไร
ย่อมพูดได้ แต่อย่าหวังน้ำใจ จากคนอื่น
เมื่อมีความสำคัญได้อย่างนี้
จากนี้ไป ให้ตั้งใจไว้ว่า
เราจะไม่พูดเท็จ พูดส่อเสียด
หรือเราจะไม่พูด ที่ทำให้คนอื่น
มีความเดือนร้อน เป็นทุกข์
ด้วยคำพูดของเรา นับแต่บัดนี้เป็นต้นไป..”

“..การเพ่งดูกาย ก็อาศัยสมมติส่วนที่เราเพ่ง และสถานที่ที่เราจะเพ่งนั้นให้มีส่วนจำกัด ให้มีความตั้งใจด้วยสติจดจ่อจี้ลงในจุดนั้นๆ โดยสำนึกว่า มีความสว่างอยู่ในความสำนึกก่อน ถ้าชำนาญแล้วก็จะรู้เห็นในกายส่วนนั้นๆ เป็นธรรมชาติกำหนดที่รู้เอง ถ้าความเคยชินกำหนดรู้เห็นกายส่วนนั้นๆ อยู่ต่อไป เราก็จะกำหนดกายส่วนนั้นๆ เป็นธรรมชาติที่รู้เอง ถ้าความเคยชินรู้เห็นกายส่วนนั้นอยู่ ต่อไปเราจะกำหนดให้เห็นกายส่วนนั้นๆ เน่าเปื่อยไปทั้งตัวก็ได้ หรือกำหนดให้หลุดออกไปให้เห็นโครงกระดูกก็ได้ ต่อไปก็จะเป็นพื้นฐานได้ดี
การกำหนดดูกายเพ่งกาย ก็เพื่อให้กายได้ตั้งอยู่ในกายส่วนนั้นๆ เพื่อให้ใจได้มีหลัก เหมือนนกที่บินอยู่ในอากาศก็จำเป็นต้องหาต้นไม้เป็นที่จับ เพื่อได้พักผ่อนเอากำลังใจก็เหมือนกัน ก็ต้องหากายส่วนหนึ่งเป็นที่อยู่ของใจ และมีสติกำหนดรู้ในกายส่วนนั้นๆ ใจก็จะไม่ได้คิดนี้เหมือนกับที่เคยเป็นมา..”

เรื่องที่เกี่ยวข้อง