วันพฤหัสบดี, 24 ตุลาคม 2567

หลวงปู่บุญฤทธิ์ ปัณฑิโต พระอริยสงฆ์ผู้มีจิตตั้งมั่น แห่งวัดสวนป่าบุญฤทธิ์

ประวัติและปฏิปทา หลวงปู่บุญฤทธิ์ ปัณฑิโต

วัดสวนป่าบุญฤทธิ์ (ที่พักสงฆ์สวนทิพย์)
ต.บางพูด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี

หลวงปู่บุญฤทธิ์ ปัณฑิโต

หลวงปู่บุญฤทธิ์ ปัณฑิโต ท่านเกิด เมื่อวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ปี พ.ศ.๒๔๕๗ ตรงกับปีเถาะ ณ บ้านท่าอิฐ ต.ท่าอิฐ อ.พิชัยดาบหัก จ.อุตรดิตถ์

หลวงปู่บุญฤทธิ์ ท่านมีนามเดิมว่า บุญฤทธิ์ จันทรสมบูรณ์ เป็นบุตรชายของหลวงพินิจจินเภท และคุณแส บิดาท่านเป็นคหบดีที่มีชื่อเสียงมากในยุคนั้น ท่านมีพี่น้องร่วมกัน ๑๑ คน

ชีวิตเยาว์วัยโยมมารดา เป็นผู้มีความศรัทธาในบวรพุทธศาสนา วัยสาวเคยเข้ารับการอบรมในวัง ชอบอ่านหนังสือ ทำอาหาร งานศิลปะต่าง ๆ ได้ถ่ายทอดลักษณะนิสัย ระเบียบชีวิต แนวคิดต่าง ๆ ให้หลวงปู่อย่างสมบูรณ์ สอนให้หลวงปู่สวดมนต์ไหว้พระ อ่านหนังสือธรรมะ วารสารความรู้ต่าง ๆ จนติดเป็นนิสัย

พออายุเข้าเกณฑ์เรียน เรียนที่โรงเรียนสตรีประจำจังหวัดอุตรดิตถ์ชั้นประถมมัธยม อายุ ๑๐-๑๑ ขวบ หลวงปู่บุญฤทธิ์ ถูกส่งตัวเข้ามาเรียนที่โรงเรียนเซ็นคาเบรียล กรุงเทพฯ รุ่น ๑ อาศัยอยู่กับคุณพระโสภณเพชรรัตน์ จนจบ ม.๘ (ภาษาฝรั่งเศส) และจบระดับการศึกษาฝรั่งเศสรุ่นแรก การศึกษาครั้งนั้นรวมเวลา ๑๒ ปี (เป็นยุคแห่งสงครามด้วย) หลวงปู่บุญฤทธิ์ เคยได้รับรางวัลเขียนประกวดเรียงความชนะเลิศจาก จอมพล ป.พิบูลย์สงคราม ซึ่งเป็น รมต.กลาโหม สมัยนั้น

ต่อมา หลวงปู่บุญฤทธิ์ ท่านได้สอบชิงทุนจาก อ.ก.พ. หรือที่เราเรียกว่า องค์การข้าราชการพลเรือน ไปศึกษาต่อยังต่างประเทศ ภายใต้การดูแลของ โปรเฟสเซอร์เซเดส หลวงปู่สอบชิงทุน (กพ.) ได้ไปศึกษาต่อที่ฮานอย ประเทศเวียดนาม พ.ศ. ๒๔๗๕

หลังจากนั้น ท่านเดินทางกลับมาประเทศไทย แล้วมารับราชการที่กรมศึกษากร กระทรวงมหาดไทย สำนักปลัดกระทรวงการต่างประเทศ รวมเวลา ๕ ปี หลังจากนั้นระหว่างสงครามโลก ได้รับบัญชาไปรับราชการอยู่ ณ จังหวัดหนองคาย เป็นเวลา ๓ ปี

หลวงปู่บุญฤทธิ์ ปัณฑิโต

ณ ที่จังหวัดหนองคายนี่เอง ท่านได้พบกับหลวงปู่กู่ ธมฺมทินฺโน ซึ่งท่านได้มีโอกาสกราบหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี อีกด้วย เมื่อได้ปฏิบัติตนเป็นที่ปรารถนาแห่งธนรมนั้นแล้ว ท่านจึงได้บรรพชาอุปสมบท ซึ่งอยู่ในระหว่างหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ สงบลง

บรรพชาอุปสมบท
หลวงปู่บุญฤทธิ์ ได้อุปสมบท ในปี พ.ศ.๒๔๘๙ ที่ วัดศรีเมือง จ.หนองคาย โดยมี พระธรรมไตรโลกาจารย์ (หลวงปู่รักษ์ เรวโต) อายุ ๙๕ ปี เป็นพระอุปัชฌาย์

ในปี พ.ศ.๒๔๙๑ หลวงปู่ไปจำพรรษากับท่านพระอาจารย์ลี ธัมมธโร วัดป่าคลองกุ้ง

ในปี พ.ศ. ๒๔๙๒ หลวงปู่ไปจำพรรษาที่วัดเจดีย์หลวงพบ หลวงปู่แหวน สุจิณโณ หลวงปู่ตื้อ อจลธัมโม หลวงปู่ชอบ ฐานสโม

ในปี พ.ศ. ๒๔๙๓ หลวงปู่บุญฤทธิ์ ไปจำพรรษาที่วัดป่าบ้านยางผาแด่น อุปัฏฐากรับใช้หลวงปู่ชอบอยู่หลายเดือน เริ่มจากตี ๕ ถึง ๕โมงเย็น ตักน้ำ ต้มน้ำ ล้างบาตร จัดอาสนะ พอเย็นถวายอาบน้ำ ถวายขัดตัวท่าน กวาดวิหารไม้ไผ่ เตรียมจัดอาสนะให้ท่านนั่ง และออกธุดงค์ปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ในการปฏิบัติ พระป่าต้องมีสติในทุกอิริยาบท

หลวงปู่บุญฤทธิ์ ปัณฑิโต
หลวงปู่บุญฤทธิ์ ปัณฑิโต

หลวงปู่บุญฤทธิ์ ท่านสามารถ พูดภาษาต่างประเทศได้ถึง ๖ ภาษา ได้เป็นพระธรรมทูตเดินทางไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศกว่า ๓๐ ปี เช่นประเทศ เม็กซิโก สวีเดน สวิสเซอร์แลนด์ จีน เยอรมัน อเมริกา ออสเตรเลีย

พุทธภาษิตที่หลวงปู่ได้ถือปฏิบัติจำติดใจมาตั้งแต่เด็ก

“บุคคลพึง สละ กำลังทรัพย์ เพื่อรักษาอวัยวะ”

“บุคคลพึง สละ อวัยวะ เพื่อรักษาชีวิต”

“บุคคลพึง สละ ชีวิต เพื่อรักษาสัจจธรรม”

หลวงปู่บุญฤทธิ์ ปัณฑิโต
หลวงปู่บุญฤทธิ์ ปณฺฑิโต

หลวงปู่บุญฤทธิ์ ปัณฑิโต แห่งวัดสวนป่าบุญฤทธิ์ ได้ละสังขารอย่างสงบเมื่อวันที่่ ๑๔ พ.ย.๒๕๖๑ เวลา ๒๒.๒๒ น. สิริอายุ ๑๐๔ ปี พรรษา ๗๓ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย หลังจากหลวงปู่อาพาธมาเป็นเวลานานก่อนที่ลูกศิษย์จะนำตัวเข้ารักษาที่โรงพยาบาลเมื่อวันที่ ๒๗ ก.ย. พ.ศ.๒๕๖๑ ที่ผ่านมา

ท่านหลวงปู่บุญฤทธิ์ ท่านเป็นศิษย์กัมมัฏฐานของหลวงปู่กู่ ธมฺมทินฺโน ท่านพ่อลี ธมฺมธโร และออกป่าติดตามหลวงปู่ชอบ ฐานสโม นานถึง ๙ ปี ท่านใช้ชีวิตส่วนใหญ่ธุดงค์อยู่ในป่าในเขา เคยธุดงค์ลงใต้ ไปสร้างวัดอยู่ในป่าลึกเขตจังหวัดสตูล ท่านล้มป่วยจนถูกหามออกมารักษาในเมือง ท่านธุดงค์อย่างอุกฤษฏ์ ในป่าเขาเขตจังหวัดเลย และหลังสุดท่านมาสร้างวัดป่าแม่ฮ่องสอน แล้วได้รับบัญชาให้ไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่ประเทศออสเตรเลีย เมื่อบั้นปลายชีวิตของท่านได้พำนักจำพรรษาอยู่ ณ ที่พักสงฆ์สวนทิพย์

รูปเหมือน หลวงปู่บุญฤทธิ์ ปัณฑิโต ภายใน สำนักสงฆ์สวนทิพย์
ปณฺฑิโตเจดีย์ หลวงปู่บุญฤทธิ์

สังขารไม่เที่ยง
คำสอนสุดท้าย หลวงปู่บุญฤทธิ์ ปณฺฑิโต ก่อนมรณะภาพ

ทางลูกศิษย์จึงได้เปิดเทปบันทึกคำสอนของท่านเมื่อปี พ.ศ.๒๕๕๒ ซึ่ง หลวงปู่บุญฤทธิ์ ได้สอนภาวนาครั้งสุดท้าย โดยพูดเรื่องของ สังขาร ไว้ดังนี้

“ตอนที่พระเทศน์ สอน และนำปฏิบัติภาวนานั้น เทวดา ทั้งหลายก็จะลงมาฟังและร่วมปฏิบัติภาวนาด้วยเช่นกัน เทวดานั้นมี “สังขาร” เช่นเดียวกับ มนุษย์ ทั้ง อสุรกาย สัตว์ ยักษ์ มนุษย์ เทวดา ไปจนถึง พรหม สรรพสิ่งที่เวียนวนอยู่ในวัฏสงสาร ก็ล้วนแต่มี “สังขาร” ทั้งสิ้น หรือในอีกแง่หนึ่งก็คือ “การปรุงแต่งของจิต” ในสังสารวัฏตั้งแต่ชั้นล่างสุดถึงชั้นบนสุด ทุกระดับชั้น ระดับจิต ก็ล้วนแล้วแต่มีการปรุงแต่งในจิตทั้งสิ้น

จะปรุงแต่งแบบหยาบ (เป็นกาย เป็นธาตุขันธ์) หรือปรุงแต่งแบบละเอียด (เป็นอรูป) จะปรุงแต่งไปโดยอกุศล (นรก เดรัจฉาน) หรือ ปรุงแต่งไปโดยกุศล (สวรรค์) ก็ยังเป็นการปรุงแต่ทั้งสิ้น พูดง่ายๆ คือ “ไม่มีสภาวะจิตใดที่ไม่ปรุงแต่ง เว้นจากจิตแห่งอริยะบุคคล” การทำให้เราเท่าทันและพ้นไปจากอำนาจการปรุงแต่งของจิต ตัดวงจรแห่งความทุกข์ และการเกิด แก่ เจ็บ ตาย นั้นมีเพียงการภาวนาเท่านั้น จะเป็น 1 ชม. จะได้ครึ่งชั่วโมง หรือทำได้แค่ ๑๐-๑๕ นาทีก็ต้องเพียรพยายามที่จะทำให้ได้”

โอวาทธรรม หลวงปู่บุญฤทธิ์ ปัณฑิโต

“..มีสติ ฝึกภาวนา เป็นอริยทรัพย์
ติดตัวไปได้หลายหมื่นชาติ
ส่วนทรัพย์สมบัติทางโลก
ชาติเดียว ยังเอาไปไม่ได้..”

“..มีสติ ฝึกภาวนา เป็น อริยทรัพย์ ติดตัวไป ได้หลายหมื่นชาติ ส่วน สมบัติทางโลก ชาติเดียว ยังเอาไปไม่ได้..”