ประวัติและปฏิปทา
หลวงปู่เนย สมจิตโต
วัดป่าโนนแสนคำ
อ.เจริญศิลป์ จ.สกลนคร
ชาติภูมิ
หลวงปู่เนย สมจิตโต นามเดิมชื่อ เนย มูลสรูป เกิดเมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน พ.ศ.๒๔๘๐ ตรงกับวันศุกร์ ขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๑๐ ปีฉลู ณ บ้านกุดแห่ ตําบลกุดเชียงหมี อําเภอเลิงนกทา จังหวัดอุบลราชธานี (ปัจจุบัน คือจังหวัดยโสธร) บิดาชื่อ นายเอี่ยม มูลสรูป มารดาชื่อ นางสุภี มูลสธูป มีพี่น้องร่วม บิดามารดา เดียวกัน รวม ๙ คน ดังนี้
๑. พระครูวิมลศีลาภรณ์ (หลวงปู่เนย สมจิตโต)
๒. พระอาจารย์หนูเมย สิริธโร วัดป่าท่าศรีไคล ตําบลธาตุ อําเภอ วานรนิวาส จังหวัดสกลนคร (เกิดเมื่อวันศุกร์ ขึ้น ๑ ค่ำ วันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๔๘๓ อุปสมบท เมื่อวันที่ ๕ พฤษภาคม ๒๕๐๖ ที่วัดบ้านกุดแห่ โดยมีพระอุปัชฌาย์ คือ พระครูภัทรคุณาธาร (บุญ โกสโส ป.ธ. ๔) วัดพรหมวิหาร พระอาจารย์สิงห์ทอง ปภากโร เป็นพระกรรมวาจาจารย์)
๓. นายเฉลย มูลสรูป
๔. นายเสลึง มูลสรูป
๕. นายอํานวย มูลสรูป
๖. นายโดเวิด มูลสธูป
๗. นายสวาท มูลสธูป
๘. ด.ช.ประเวท มูลสรูป (ถึงแก่กรรมด้วยโรคไข้เลือดออกตอนอายุ ๖ ขวบ)
๙. นางประเภท จากผา (ถึงแก่กรรม)
ปฐมวัย
เมื่ออายุได้ ๗ ปี ได้เข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนบ้านกุดแห่ และเมื่อ อายุ ๘ ปี ท่านป่วยเป็นโรคท้องเรื้อรัง ทําให้ขาดการเรียนอยู่นาน ๓ เดือน หลวงปู่เนย เรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ เมื่ออายุ ๑๑ ปี หลังจากนั้นลาออกจากการเรียน ออกมาช่วยพ่อแม่ทํานา ระบบการศึกษาในสมัยนั้น กําหนดภาคบังคับที่ชั้นประถมศึกษาปีที่ ๔ การจะเรียนต่อให้สูงขึ้น จักต้องเดินทางไปเรียนต่อยังต่างถิ่น หลวงปู่ จึงต้องลาออกจากโรงเรียน เพื่อช่วยบิดามารดาทํานา เมื่ออายุได้ ๑๖ ปี ได้ไปทํางานสวนป่า กับป่าไม้เขตอุบลราชธานี จนกระทั่งอายุได้ ๑๘ ปี จึงได้กลับมาช่วยพ่อแม่ ทํานา ตามเดิม
เข้าสู่แดนธรรม อุปสมบท
เมื่ออายุได้ ๒๐ ปี บิดา มารดา และเจ้าภาพ ผู้ที่จะถวายผ้าป่า นําท่านไปมอบให้เป็นศิษย์ พระอาจารย์ดี ฉันโน ซึ่งเป็นศิษย์รุ่นใหญ่ ของ พระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล และ พระอาจารย์มั่น ภูริทตโต พระอาจารย์ฝ่ายวิปัสสนาธุระที่สําคัญ หลวงปู่ท่านได้ฝึกขานนาค อยู่เป็นเวลา ๓ เดือนเต็ม จึงได้รับการบรรพชาอุปสมบท ในเขตวิสุงคามสีมา วัดป่าสุนทราราม อําเภอเลิงนกทา เมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๐ โดยมีพระอุปัชฌาย์ คือ พระครูภัทรคุณาธาร (บุญ โกสโล ป.ธ. ๔) วัดพรหมวิหาร พระอาจารย์สิงห์ทอง ปภากโร เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระสมุห์อุ้ย เป็น พระอนุสาวนาจารย์
ชีวิตในร่มผ้ากาสาวพักตร์
พรรษาที่ ๑ (พ.ศ. ๒๕๐๐) ได้จําพรรษากับหลวงปู่ดี ฉันโน ที่ วัดป่าสุนทราราม โดยมีพระอาจารย์สิงห์ทอง ปภากโร เป็นผู้ให้นิสัยรับโอวาทการปฏิบัติธรรม ในพรรษานั้น หลวงปู่เนย ได้ถือธุดงค์ สมาทานวัตร ปฏิบัติ ห้ามภัตตาหารที่นํามาถวาย ภายหลังเป็นวัตร ตลอดทั้งพรรษา
(หมายเหตุ สาเหตุที่ไม่ได้บวชกับหลวงปู่ดี เนื่องจาก ท่านไม่มีตําแหน่งเป็นพระอุปัชฌาย์ ในขณะที่จําพรรษา หลวงปู่เนย ได้รับปฏิปทาจาก หลวงปู่ดี ได้รับการทดสอบทดลองหลายๆ ครั้ง อาทิ ทุกเช้าต้องนําไม้ขีดไฟไปยื่นให้หลวงปู่ดี เวลาท่านเดินออกจากกุฏิ หลวงปู่ดี เคยลืมกระป๋องยาสูบ หลวงปู่เนย ถือตามไปส่งให้ที่กุฏิ พอยื่นให้ หลวงปู่ดี ตบหน้าเบา ๆ แต่ไม่ทราบความหมาย)
พรรษาที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๐๑) ได้จําพรรษากับหลวงปู่ดี ฉันโน ที่ วัดป่าสุนทราราม และถือธุดงค์ สมาทานวัตรปฏิบัติห้ามภัตตาหารที่นํามา ถวาย ภายหลังเป็นวัตร ตลอดทั้งพรรษาเหมือนเดิม
พรรษาที่ ๓ (พ.ศ. ๒๕๐๒) ได้จําพรรษาที่วัดป่าสุนทราราม และถือธุดงค์เนสัชชิก คือไม่นอนตลอดเวลากลางคืน การสมาทานปฏิบัติธุดงค์ ข้อนี้ต้องอดนอนตลอดทั้งวัน แต่ท่านจะอดนอนเฉพาะกลางคืน และกลางวัน พักบ้างตลอดพรรษา เนื่องด้วยสุขภาพไม่แข็งแรง
(หมายเหตุ ในพรรษานี้ หลวงปู่ดี ฉันโน ได้มรณภาพที่ วัดแสนสําราญ อ.วารินชําราบ จ.อุบลราชธานี เมื่อเวลา ๐๕.๓๐ น. วันที่ ๘ เมษายน ๒๕๐๒ ในอิริยาบถท่านั่งอิงหมอนใหญ่)
พรรษาที่ ๔ (พ.ศ. ๒๕๐๓) ได้ขออนุญาต พระอาจารย์สิงห์ทอง ปภากโร ไปจําพรรษาที่วัดถ้ำพระ บ้านคําไหล ตําบลดงเย็น อําเภอมุกดาหาร จังหวัดนครพนม (ปัจจุบันคือ จังหวัด มุกดาหาร) ได้กราบเรียนพระอาจารย์ว่าจะท่องปาฏิโมกข์ให้จบ พอออกพรรษาก็ท่องปาฏิโมกข์จบพอดี
พรรษาที่ ๕ (พ.ศ. ๒๕๐๔) ได้จําพรรษาที่ภูถ้ำพระ
พรรษาที่ ๖ (พ.ศ. ๒๕๐๕) ได้จําพรรษาที่ภูถ้ำพระ
พรรษาที่ ๗ (พ.ศ. ๒๕๐๖) ได้จําพรรษาที่ภูถ้ำพระ
พรรษาที่ ๘ (พ.ศ. ๒๕๐๗) ได้จําพรรษาที่ภูถ้ำพระ
พรรษาที่ 8 (พ.ศ.๒๕๐๘) ได้จําพรรษาที่ภูถ้ำพระเช่นเดิมในพรรษานี้ ท่านได้ประกอบความเพียรด้วยความวิริยะ อุตสาหะ แรงกล้า ไม่จําวัด ตลอดกลางวัน ที่ภูถ้ำพระนั้น หากพระหรือสามเณร รูปใดจําวัด ในเวลากลางวัน จะป่วยเป็นไข้ แต่สําหรับท่านแล้ว ไม่เป็นไข้เลย ตลอดพรรษา
พรรษาที่ ๑๐ (พ.ศ. ๒๕๐๙) จําพรรษาที่ถูกระแต บ้านห้อม ตําบลอาจสามารถ อําเภอเมือง จังหวัดนครพนม ระหว่างพรรษาหลวงปู่ ได้ป่วยเป็นโรคไอ เจ็บหน้าอก ท่านได้เข้ารับการตรวจรักษา ที่โรงพยาบาล ประจําจังหวัดนครพนมแพทย์ลงความเห็นว่าเป็นโรคหลอดลมอักเสบ แพทย์ จัดให้ไปฉีดยาที่ ตําบลอาจสามารถ แต่ท่านไปฉีดยาที่โรงพยาบาลทุกวัน ไม่ไหว เพราะวัดที่จําพรรษาห่างจากตัวเมือง ๘ กิโลเมตร หากไปไม่ทันรถ ก็ต้องเดินไป เมื่อหายเป็นปกติแล้วได้ประกอบความเพียรอย่างจริงจังต่อเนื่อง จนจิตได้รับความสงบนิ่ง ดิ่งเข้าสู่สมาธิ ได้รับความสงบเยือกเย็นในสมาธิ ภาวนาพอสมควร เมื่อออกพรรษาแล้ว ได้ไปพักที่วัดป่าโนนนิเวศน์ อําเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี และเดินทางไปพักบ้านหินฮาว อําเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ ต่อจากนั้นได้เดินทางต่อไปยัง อําเภอโคกสําโรง จังหวัดลพบุรี
พรรษาที่ ๑๑ (พ.ศ. ๒๕๑๐) ท่านได้จําพรรษาที่ วัดกลางสนาม บ้านหนองสง อําเภอคําชะอี จังหวัดนครพนม (ปัจจุบันคือ จังหวัดมุกดาหาร) พระอาจารย์กงแก้ว ขันติโก เป็นเจ้าอาวาส พระอาจารย์กงแก้ว ได้กล่าวว่า “เวลาจิตเป็นสมาธิอยากให้ท่านทั้งหลายได้เห็นด้วย มันมีความสุขสงบที่สุด ไม่มีอะไรเหมือน สุขใดในโลกไม่เท่าสุขของสมาธิ” ในพรรษานี้ หลวงปู่เนย ตั้งใจประกอบความเพียรอย่างแรงกล้า จนเป็นลมถึง ๒ ครั้ง เนื่องจากฉันอาหารน้อย บางวันถึงกับอดอาหาร แต่ก็ทําให้การประกอบความเพียรเป็นไปได้ด้วยดี ไม่ต้องวิตกกังวลกับเหตุการณ์ภายนอก จิตมุ่งอยู่แต่ภายใน ร่างกาย ต่อสู้กับกิเลส ขันธมาร ตลอดเวลาอย่างไม่ย่อท้อ ท่านได้ตั้งสัจจะอธิษฐานว่าถ้าจะตาย ขอให้ตายไปเลย อย่าได้เดือดร้อนญาติโยม หรือโรงพยาบาลเลย ท่านปรารถนาจะไม่ให้ใครเดือดร้อนลําบาก ด้วยเรื่องของสังขารของท่าน แม้ในปัจจุบันท่านก็รักษาร่างกายด้วยตัวท่านเอง ด้วยยา แผนโบราณ
หลวงปู่เคยพิจารณาที่จะปฏิบัติสมาธิแบบอุกฤษฎ์ คือหวังจะสําเร็จ มรรคผลนิพพานภายใน ๗ วัน ถ้าไม่สําเร็จก็จะยอมตายถวายชีวิตเป็นเดิมพัน แต่ได้รับการขอร้องจากโยม บิดา มารดา ให้เลิกคิดที่จะปฏิบัติเช่นนั้นเสีย แต่ขอร้องให้หลวงปู่ปฏิบัติแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อจะได้อยู่อบรมญาติโยมนาน ๆ เพื่อนําเพื่อนร่วมโลกเดินตามทางที่พระศาสดาทรงวางไว้ให้ได้มาก เท่าที่จะทําได้ หลวงปู่กล่าวว่า กว่าที่จะได้เกิดในภพภูมิความเป็นมนุษย์ได้ นั้นแสนลําบากยากเข็ญ แต่คนส่วนใหญ่มักมัวเมาลุ่มหลงด้วยถูกทรมานมา “คนสาหัสจากภพภูมินรก ภูมิสัตว์เดรัจฉาน ทําให้หลงลืมที่จะรักษาความเป็นมนุษย์ไว้ ภพภูมิมนุษย์เท่านั้นที่จะสามารถนําไปสู่นรก สวรรค์ พรหมโลก นิพพานได้ ภพภูมิอื่นๆ ล้วนต้องอาศัยความเป็นมนุษย์เท่านั้นที่จะบําเพ็ญไปสู่ภพนั้นๆ แม้แต่เทวดาจะไปนิพพานต้องจุติมาเกิดในโลกมนุษย์
ปัจจุบัน พระครูวิมลสีลาภรณ์ (หลวงปู่เนย สมจิตฺโต) ละสังขารอย่างสงบ ด้วยโรคไตวายเฉียบพลัน เมื่อเวลา ๑๖.๓๒ น. วันศุกร์ที่ ๔ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๕ สิริอายุ ๗๔ ปี ๗ เดือน ๑๗ วัน พรรษา ๕๔
ตามพินัยกรรม หลวงปู่เนย สมจิตฺโต ท่านสั่งห้ามไม่ให้มีการกระตุ้นหัวใจ หรือต่อเครื่องช่วยหายใจ เมื่อมรณภาพแล้ว ท่านห้ามไม่ให้ฉีดยาฟอร์มาลีน ห้ามไม่ให้เก็บสรีระไว้ที่หีบแช่เย็น และห้ามไม่ให้จุดธูปเทียนบูชา สำหรับการจัดงานประชุมเพลิง ท่านสั่งห้ามไม่ให้ขอพระราชทานเพลิง ให้ทำพิธีภายใน ๗ วัน หรืออย่างช้า ไม่เกิน ๕๐ วัน ให้จัดงานให้เรียบง่ายที่สุด